แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ลูกา 13:1-9
    (1)ในเวลานั้น คนบางคนเข้ามาทูลพระเยซูเจ้าถึงเรื่องชาวกาลิลีซึ่งถูกปีลาตสั่งประหารชีวิตในขณะที่เขากำลังถวายเครื่องบูชา พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า  (2)‘ท่านคิดว่าชาวกาลิลีเหล่านี้เป็นคนบาปมากกว่าชาวกาลิลีทุกคนหรือ จึงต้องถูกฆ่าเช่นนี้ (3)มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่าถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน  (4)แล้วคนสิบแปดคนที่ถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิตเล่า ท่านคิดว่าคนเหล่านั้นมีความผิดมากกว่าคนอื่นทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มหรือ  (5)มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่าถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นเดียวกัน’
    (6)พระเยซูเจ้าตรัสเป็นอุปมาเรื่องนี้ว่า ‘ชายผู้หนึ่งปลูกต้นมะเดื่อเทศต้นหนึ่งในสวนองุ่นของตน เขามามองหาผลที่ต้นนั้น แต่ไม่พบ (7)จึงพูดแก่คนสวนว่า “ดูซิ สามปีแล้วที่ฉันมองหาผลจากมะเดื่อเทศต้นนี้แต่ไม่พบ จงโค่นมันเสียเถิด เสียที่เปล่า ๆ”  (8)แต่คนสวนตอบว่า “นายครับ ปล่อยมันไว้ปีนี้อีกสักปีหนึ่งเถิด ผมจะพรวนดินรอบต้น  ใส่ปุ๋ย  (9)ดูซิว่าปีหน้ามันจะออกผลหรือไม่ ถ้าไม่ออกผล ท่านจะโค่นทิ้งเสียก็ได้”’



    พระวรสารวันนี้กล่าวถึงเหตุการณ์รุนแรงสองเหตุการณ์ที่ปราศจากข้อมูลที่แน่นอน เราจึงได้แต่คาดเดาเท่านั้น
    เหตุการณ์แรกเกี่ยวข้องกับ “ชาวกาลิลีซึ่งถูกปีลาตสั่งประหารชีวิตในขณะที่เขากำลังถวายเครื่องบูชา” (ข้อ 1)
    เท่าที่เรามีข้อมูลคือ สมัยที่ปีลาตปกครองแคว้นยูเดียระหว่างปี ค.ศ. 26-36  เกิดขาดแคลนน้ำอย่างหนักในกรุงเยรูซาเล็ม ปีลาตจึงตัดสินใจสร้างระบบส่งน้ำโดยใช้งบประมาณจากเงินในคลังของพระวิหาร
    ต้องยอมรับว่าโครงการของปีลาตดี แต่ชาวยิวยอมรับไม่ได้ที่จะนำเงินจากพระวิหารซึ่งเป็นของพระเจ้าออกมาใช้จ่าย  พวกเขาจึงรวมตัวกันจับอาวุธขึ้นต่อต้าน
    ปีลาตสั่งให้ทหารปลอมตัวโดยสวมเสื้อคลุมทับชุดทหาร พร้อมกับซ่อนตะบองไว้ใต้เสื้อคลุมแทนการใช้ดาบ แล้วให้ทหารปะปนไปกับฝูงชน
    เมื่อได้รับสัญญาณ พวกทหารพยายามสลายฝูงชน  แต่เพราะทำรุนแรงเกินกว่าคำสั่ง จึงมีประชาชนจำนวนหนึ่งต้องสังเวยชีวิตให้กับการต่อต้านครั้งนี้
    คาดว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตคงมีชาวกาลิลีรวมอยู่ด้วย เพราะพวกเขาขึ้นชื่อในเรื่องรักชาติ และพร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบอยู่แล้ว
    คาดกันอีกว่านี่คือชนวนเหตุที่ทำให้ปีลาตกับกษัตริย์เฮโรด อันติพาสซึ่งปกครองแคว้นกาลิลีต้องกลายเป็นศัตรูกัน จวบจนเมื่อปีลาตทราบว่าพระเยซูเจ้าเป็นชาวกาลิลี “จึงส่งพระองค์ไปให้กษัตริย์เฮโรด ซึ่งในขณะนั้นประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 23:7) และหลังจากได้สบประมาทเยาะเย้ยพระองค์จนเป็นที่พอใจแล้ว เฮโรดก็ส่งพระองค์กลับมาหาปีลาต แล้วทั้งคู่ “ก็กลับเป็นเพื่อนกัน” (ลก 23:12)
    เหตุการณ์ที่สองคือ “ชาวยิวสิบแปดคนถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิต” (ข้อ 4) ซึ่งกรณีนี้คลุมเครือมากกว่าเหตุการณ์แรกเสียอีก
    แต่จากคำถามของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ท่านคิดว่าคนเหล่านั้นมีความผิดมากกว่าคนอื่นทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มหรือ” (ข้อ 4) ทำให้เราพอมีร่องรอยให้คาดเดาได้บ้าง เพราะคำว่า “คนเหล่านั้นมีความผิด” ตรงกับภาษากรีก ópheilétēs (โอเฟยเลเตส) ซึ่งแปลว่า “ลูกหนี้”
    เป็นคำเดียวกันกับที่ใช้ในบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ที่ก่อนหน้านี้เราเคยสวดว่า “โปรดยกหนี้ของเรา เหมือนเรายกหนี้แก่เขา” !
จึงเป็นไปได้ว่า ชาวยิวทั้งสิบแปดคนที่ถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิต คงเป็นส่วนหนึ่งของคนงานก่อสร้างระบบส่งน้ำของปีลาต ที่ต่างก็รับเงินจากพระวิหารเป็นค่าจ้าง
คาดว่าอุบัติเหตุที่ทำให้คนงานเสียชีวิตถึงสิบแปดคนนี้ คงก่อให้เกิดเสียงเล่าลือในหมู่ประชาชนทำนองว่า หอสิโลอัมพังทับพวกเขาตายเพราะพวกเขาเป็น “ลูกหนี้” ของพระเจ้า เหตุว่าพวกเขาดันไปรับเงินค่าจ้างที่ชาวยิวถือว่า “ขโมย” มาจากพระองค์
และเพราะเป็นเพียงเสียงเล่าลือ เราจึงไม่มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์รองรับ
    แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงของทั้งสองเหตุการณ์จะเป็นเช่นใดก็ตาม  สิ่งที่ชาวยิวเชื่อและสอนเรื่อยมาคือ “ความทุกข์ยากและความตายเป็นผลของบาป” ?!?
    ดังที่โยบถูกเอลีฟัสเพื่อนสนิทตั้งคำถามว่า “ผู้บริสุทธิ์เคยพินาศหรือ ?” (โยบ 4:7)
    ความหมายของเอลีฟัสคือ “คนดีต้องได้ดี  เพราะฉะนั้นการที่โยบตกทุกข์ได้ยากย่อมแปลว่าโยบได้ทำบาปผิดต่อพระเจ้า”
     เท่ากับว่าคำสอนของชาวยิวคือ “ความทุกข์ยากและความตายเป็นผลของบาป หรือไม่ก็เกี่ยวเนื่องกับบาปชนิดแยกออกจากกันไม่ได้”
    นับเป็นคำสอนที่โหดร้ายและทารุณจิตใจเป็นอย่างยิ่ง !
    เพราะหากเป็นจริงตามคำสอนนี้ ย่อมเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า “เศรษฐีทุกคนคือคนดี และคนจนที่ตกทุกข์ได้ยากทุกคนคือคนชั่ว”….
    หรือพูดง่าย ๆ คือ “คนจนทำบาปมากกว่าคนรวย” !!!
    แน่นอนว่า พระเยซูเจ้ายอมรับคำสอนเช่นนี้ไม่ได้  พระองค์จึงย้อนถามว่า “ท่านคิดว่าคนที่ถูกปีลาตประหารหรือถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิต เป็นคนบาปมากกว่าคนอื่นหรือ ?” (ข้อ 2 และ 4)
    แต่ในเวลาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ทรงเล็งเห็นว่าบาปไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการถูกฆ่าหรือถูกหอล้มทับตาย  พระองค์ยังตรัสย้ำถึงสองครั้งสองคราว่า “ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน” (ข้อ 3 และ 5)
    พระองค์ต้องการสอนอะไรแก่เราหรือ ?...
    เราอาจแยกคำสอนของพระองค์ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
    1.    กรณีบาปของแต่ละคน พระองค์ถือว่า “ไม่จำเป็น” ที่บาปจะต้องเกี่ยวข้องกับความทุกข์ยาก ความยากจน หรือแม้แต่ความตาย
        หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความทุกข์ยาก ความยากจน รวมถึงความตาย ไม่จำเป็นต้องเป็นผลพวงมาจากบาปของเราแต่ละคน
     ตรงกันข้ามพระองค์ทรงสอนว่า “ผู้มีใจยากจน หรือถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3,10; ลก 6:20,22)
      ที่สำคัญ พระองค์ทรงกำหนดเงื่อนไขในการติดตามพระองค์ไว้ว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” (มก 8:34)
         ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงทัศนะของพระเยซูเจ้าว่า ความยากจนก็ดี การถูกเบียดเบียนข่มเหงก็ดี หรือความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นผลของบาปเสมอไป  แต่อาจเป็นกางเขนที่พระเจ้าทรงโปรดประทานแก่เรา “แต่ละคน” ก็ได้ !
    2.    กรณีบาปของชาติ  พระองค์ถือว่าบาปหรือนโยบายที่ผิดพลาดของชาติย่อม “เกี่ยวข้อง” และ “ก่อให้เกิด” ความทุกข์ยาก ความหายนะ หรือแม้แต่ความตายแก่ประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน
         ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า “ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน” (ข้อ 3 และ 5)
        นี่เป็นคำเตือนถึงชาวยิว “ทั้งชาติ” !
        ถ้าชาวยิวไม่เลิกคิดวางแผนก่อการกบฏ สักวันหนึ่งโรมคงส่งกองทัพมาบดขยี้กรุงเยรูซาเล็มและชาวยิวจนพินาศไม่มีอะไรเหลือ
        หรือ ถ้าชาวยิวไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต เลิกทะเยอทะยานแสวงหาอาณาจักรทางโลก แล้วหันกลับมาแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า สักวันหนึ่งพวกเขาก็จะพบกับความพินาศ
         และตามประวัติศาสตร์ หลังจากถูกกองทัพโรมันล้อมอยู่หลายปีจนผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก บางคนถึงกับยอมกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเองเป็นอาหารประทังชีวิตกรุงเยรูซาเล็มก็ถูกทำลายจนพินาศย่อยยับในปี ค.ศ. 70
        ส่วนชาวยิวที่รอดชีวิตก็ตกอยู่ในฐานะสิ้นชาติ  ต้องกระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  จวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่พวกเขาสามารถรวมตัวกันสร้างประเทศอิสราเอลขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
        ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นสมดังคำของพระเยซูเจ้าที่ตรัสไว้ว่า “เมื่อท่านทั้งหลายเห็นกองทัพต่าง ๆ ล้อมกรุงเยรูซาเล็ม ก็จงรู้ไว้เถิดว่าความพินาศของนครนั้นใกล้เข้ามาแล้ว  เวลานั้นผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดียจงหนีไปยังภูเขา ผู้ที่อยู่ในกรุงจงรีบออกไปเสีย ผู้ที่อยู่ในชนบทก็จงอย่าเข้ามาในกรุง  เพราะวันเหล่านั้นจะเป็นวันพิพากษาลงโทษ  ข้อความที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์จะเป็นความจริงทุกประการ  น่าสงสารหญิงมีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อน  ในวันนั้นทุกขเวทนาใหญ่หลวงจะครอบคลุมทั่วแผ่นดินและพระพิโรธจะลงมาเหนือชนชาตินี้  บางคนจะตายด้วยคมดาบ บางคนจะถูกจับเป็นเชลยไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ  กรุงเยรูซาเล็มจะถูกคนต่างศาสนาเหยียบย่ำจนกว่าจะครบเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้” (ลก 21:20-24)
        จากพระดำรัสของพระเยซูเจ้าและจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า ความทุกข์ยากและความพินาศถึงขั้นสิ้นชาติของชาวยิวเกิดจากบาปของชนชาติยิวเอง ที่มุ่งมั่นก่อการกบฏเพื่อปลดแอกจากกรุงโรม โดยหวังจะสร้างอาณาจักรทางโลกที่ยิ่งใหญ่เหมือนในสมัยของกษัตริย์ดาวิด
         หากพวกเขายอมกลับใจและเปลี่ยนชีวิตตามคำเตือนของพระเยซูเจ้า พวกเขาคงไม่ต้องประสบกับความทุกข์ยากและความหายนะปานนี้
        บางคนอาจถามว่า ไม่มีชาวยิวสักคนเลยหรือที่เชื่อฟังพระเยซูเจ้า ยอมกลับใจและเปลี่ยนชีวิตมาแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้า ?
        คำตอบคือ “มีแน่นอน”
        แต่เพราะไม่มีมนุษย์ผู้ใดดำรงชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นเผ่า เป็นชาติ เป็นประเทศ  เมื่อประเทศชาติทำบาปหรือดำเนินนโยบายผิดพลาด ผลแห่งความผิดพลาดนั้นย่อมตกถึงประชาชนแต่ละคนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
         ประเทศไทยก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันนี้….
        หากคนไทยยังยึดติดอยู่กับลัทธิวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมอย่างทุกวันนี้  ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือจะต่อต้านลัทธิเหล่านี้มากเพียงใดก็ตาม  สักวันหนึ่งประเทศชาติจะต้องประสบกับความหายนะ และความทุกข์ยากระดับรากหญ้าก็จะมาเยือนเราทุกคน
        เว้นแต่ เราแต่ละคนซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย จะเริ่มกลับใจและเปลี่ยนชีวิต ก่อนจะไม่มีชีวิตเหลือให้เปลี่ยน !
    จากทั้งสองกรณี เราอาจสรุปหลักการของพระเยซูเจ้าได้ว่า “ความทุกข์ยากไม่ได้เป็นผลของบาปเสมอไป  แต่ชนชาติใดเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า ย่อมอยู่ในหนทางแห่งความหายนะอย่างแน่นอน” !!

---------------------------

    คำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศไร้ผลแสดงให้เห็น “พระพร” มากมายที่พระเจ้าทรงโปรดประทานแก่เรา  และในเวลาเดียวกันก็แฝงไว้ด้วย “คำเตือน” ที่หนักหน่วงด้วยเช่นกัน
     1.    มะเดื่อเทศต้นนี้ได้รับ “โอกาส” มากเป็นพิเศษ เพราะปกติต้นมะเดื่อเทศทั่วไปมักเติบโตในเนื้อดินปนหินตื้น ๆ ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์  น้อยครั้งนักที่เราจะพบต้นมะเดื่อเทศปลูกไว้ในสวนองุ่นซึ่งมีเนื้อดินดีกว่าและอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น
         แต่ทว่ามะเดื่อเทศต้นนี้กลับให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเลย !
        เช่นเดียวกับมะเดื่อเทศต้นนี้ พระเจ้าทรงประทานโอกาสแก่เรามากกว่าผู้อื่น  พระองค์ทรงโปรดให้เราเป็นบุตรของพระองค์  ทรงเรียกเรามาเป็นคริสตชน  ทรงประทานพระพรและความช่วยเหลือนานัปการแก่เรา  ไม่มียุคสมัยใดอีกแล้วที่พระองค์จะประทานโอกาสให้แก่เรามากมายเช่นนี้
     ปัญหาคือเราได้ใช้โอกาสต่าง ๆ เหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบเต็มที่จนบังเกิดผลอุดมสมบูรณ์แล้วหรือ ??
        หรือเราจะปล่อยให้ลงเอยเหมือนมะเดื่อเทศในสวนองุ่นต้นนั้น !
    2.    หากไม่เกิดประโยชน์จะถูกกำจัดทิ้งไป ดังที่เจ้าของสวนคิดจะโค่นต้นมะเดื่อเทศที่ไม่ออกผลเพราะทำให้เสียเนื้อที่สวนไปเปล่า ๆ
        ฟังดูเหมือนเจ้าของสวนเอาแต่ผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง
     อันที่จริง กระบวนวิวัฒนาการของโลกก็ดำเนินไปในลักษณะนี้  เฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้นที่คงอยู่ สิ่งใดไม่มีประโยชน์ก็จะถูกกำจัดหรือค่อย ๆ สูญหายไป ดังเช่นแขนและขาของเรายังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะมันยังมีประโยชน์แก่เรานั่นเอง
         เราแต่ละคนจึงต้องเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่า “เรามีประโยชน์อะไรต่อโลก ต่อประเทศไทย ต่อสังคมรอบข้าง หรือต่อครอบครัวของเรา ?”
    3.    ไม่มีสิ่งใดที่ “รับ” เพียงอย่างเดียวแล้วจะอยู่รอด เหมือนต้นมะเดื่อเทศที่ได้รับน้ำเลี้ยงและอาหารอย่างดีจากสวนองุ่น แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะอยู่รอด
        เว้นแต่มันจะ “ให้” ผลเป็นที่น่าพอใจ !
        จากหลักการนี้ เราอาจแบ่งมนุษย์ออกเป็นสองประเภทด้วยกันคือ พวกที่รับมากกว่าให้ และพวกที่ให้มากกว่ารับ
        เมื่อเกิดมาเรา “ได้รับ” สิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล เทคโนโลยีที่ช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบาย เสรีภาพ หรือแม้แต่ความเชื่อเยี่ยงคริสตชน  ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากความอุตสาหะ ความเหนื่อยยาก ความเสียสละ และหลายครั้งถึงกับต้องเอาชีวิตเข้าแลกของบรรดาบรรพบุรุษของเรา
        เราจึงเป็นหนี้ชีวิตของพวกท่านที่ได้ทุ่มเทและ “ให้” ความเสียสละหรือแม้แต่ชีวิตของตน เพื่อความอยู่รอดและความเจริญก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ
        แล้วเราจะยอมปล่อยให้อนาคตของมนุษยชาติต้องมืดมนลง หรือต้องสิ้นสุดลง เพียงเพราะเราเป็นพวกที่ “รับ” มากกว่า “ให้” กระนั้นหรือ ???
    4.    ยังมีโอกาส  ปกติมะเดื่อเทศใช้เวลาปลูกสามปีก็โตเต็มที่และพร้อมให้ผล แต่ถ้าสามปีแล้วยังไม่เกิดผล ก็มีแนวโน้มว่ามันจะไม่เกิดผลอีกเลย
     กระนั้นก็ตาม เจ้าของสวนยังให้โอกาสต้นมะเดื่อเทศอีกครั้งหนึ่ง !    
        นี่คือหนึ่งใน “ข่าวดี” ที่พระเยซูเจ้าทรงประทานโอกาสแก่เราครั้งแล้วครั้งเล่า ดังที่เปโตรและเปาโลได้ประสบ และต่างก็ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
         ทุกวันนี้พระองค์ยังประทานโอกาสแก่เราทุกคนที่ล้มลง และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาใหม่ !
    5.    โอกาสสุดท้ายจะมาถึง    หากเรา “ปฏิเสธ” พระองค์ซ้ำซากด้วยการปล่อยให้เสียงเรียกและโอกาสต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานแก่เราผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์
     เพราะจะมีสักวันหนึ่งที่จิตใจของเราเย็นชาและแข็งกระด้าง จนกระทั่งตัดขาดตัวเองจากพระองค์
         เป็นตัวเราเองที่เลือกปิดประตูตายจากพระองค์ ไม่ใช่พระองค์ที่ปิดกั้นโอกาสของเรา !
        ขอพระเจ้าโปรดอย่าให้เราปฏิเสธพระองค์โอกาสมหาพรตนี้เลย !