แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    ลูกา 18:9-14
(9)พระเยซูเจ้าตรัสเล่าเรื่องอุปมานี้ให้บางคนที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่นฟังว่า  (10)‘มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นชาวฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี  (11)ชาวฟาริสียืนอธิษฐานภาวนาในใจว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่น ที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี หรือเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้  (12)ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า”  (13)ส่วนคนเก็บภาษียืนอยู่ห่างออกไป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ได้แต่ข้อนอก  พูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด”  (14)เราบอกท่านทั้งหลายว่าคนเก็บภาษีกลับไปบ้าน ได้รับความชอบธรรม แต่ชาวฟาริสีไม่ได้รับ  เพราะว่าผู้ใดที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น’



    ชาวยิวผู้ศรัทธาอธิษฐานภาวนาวันละ 3 ครั้งคือ เก้าโมงเช้า เที่ยง และบ่ายสามโมง โดยเชื่อกันว่าคำอธิษฐานภาวนาจะบังเกิดผลสูงสุดก็ต่อเมื่อกระทำในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม    
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงกำหนดเวลาจึง “มีชายสองคนขึ้นไปอธิษฐานภาวนาในพระวิหาร คนหนึ่งเป็นชาวฟาริสี อีกคนหนึ่งเป็นคนเก็บภาษี” (ลก 18:10)
    คนแรก “ชาวฟาริสี”
     เขาเริ่มต้นด้วยการขอบพระคุณพระเจ้าที่โปรดให้เขาไม่เหมือนมนุษย์คนอื่น ที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี รวมถึงไม่เหมือนคนเก็บภาษีที่ยืนอธิษฐานภาวนาอยู่ข้างเขาด้วย  ต่อจากนั้นเขารายงานพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า” (ลก 18:12)

    อันที่จริงกฎหมายของโมเสสกำหนดให้จำศีลอดอาหารเพียงปีละครั้งเท่านั้นคือ “ในวันที่สิบของเดือนที่เจ็ด ท่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชาวอิสราเอลหรือคนต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่กับท่าน จะต้องจำศีลอดอาหาร และไม่ทำงานใด ๆ  เพราะวันนั้นเป็นวันที่จะมีพิธีถวายบูชาขออภัยบาปสำหรับท่าน เพื่อชำระมลทิน...นี่เป็นข้อกำหนดตลอดไป” (ลนต 16:29–31; 23:27–32)
สำหรับผู้ที่ปรารถนาได้รับบุญกุศลเป็นพิเศษสามารถจำศีลอดอาหารเพิ่มเติมได้ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
น่าสังเกตว่าทั้งวันจันทร์และวันพฤหัสบดีเป็นวันที่มีตลาดนัดในกรุงเยรูซาเล็ม  ผู้คนมากมายพากันเข้าเมือง  ยิ่งผู้จำศีลอดอาหารนิยมแต่งหน้าแต่งตาให้ดูซีดและสวมเสื้อผ้ายับยู่ยี่ด้วยแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่ผ่านไปผ่านมาเพื่อซื้อขายสินค้าเป็นต้องเห็นความศรัทธาของพวกเขาทันที
ฟาริสีที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนเหล่านี้ !
นอกจากจำศีลอดอาหารแล้ว พระยาห์เวห์ยังตรัสสั่งอาโรนว่า “เราให้หนึ่งในสิบจากผลผลิตของแผ่นดินอิสราเอลเป็นมรดกแก่ชนเลวี เป็นค่าตอบแทนการรับใช้ดูแลที่เขาปฏิบัติในกระโจมนัดพบ” (กดว 18:21) และ “ทุก ๆ ปี ท่านจะต้องกันหนึ่งในสิบจากผลิตผลของไร่นาที่ท่านเพาะปลูก” (ฉธบ 14:22)
    จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ถวายเฉพาะหนึ่งในสิบของ “ผลิตผลจากไร่นา” เท่านั้น แต่ฟาริสีผู้นี้กลับถวายหนึ่งในสิบของ “รายได้ทั้งหมด” (ลก 18:12) ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
    อันที่จริงพฤติกรรมของฟาริสีผู้นี้ที่ “ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) นั้นไม่ได้แตกต่างหรือเลวร้ายไปกว่าฟาริสีคนอื่น ๆ เลย เพราะมีการค้นพบบันทึกคำอธิษฐานภาวนาของรับบีคนหนึ่ง ความว่า “ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระองค์ พระเจ้าของข้าพเจ้า ที่ทรงโปรดให้ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของบัณฑิตยสภา ไม่เหมือนกับคนอื่นที่นั่งอยู่ข้างถนน   เพราะว่าข้าพเจ้าตื่นแต่เช้าและพวกเขาก็ตื่นแต่เช้า แต่ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้าเพื่อศึกษาธรรมบัญญัติ ส่วนพวกเขาเพื่อทำสิ่งไร้สาระ   ข้าพเจ้าทำงานและพวกเขาก็ทำงาน แต่ข้าพเจ้าทำงานแล้วได้รับรางวัล ส่วนพวกเขาไม่ได้รับรางวัล   ข้าพเจ้าวิ่งและพวกเขาก็วิ่ง แต่ข้าพเจ้าวิ่งไปสู่ชีวิตในโลกหน้า ส่วนพวกเขาวิ่งไปสู่หลุมแห่งความตาย”
อีกบันทึกหนึ่งเป็นของรับบีซีเมโอนบุตรของโยคัยซึ่งจารึกไว้ว่า “ถ้าโลกนี้มีผู้ชอบธรรมสองคน สองคนนั้นคือข้าพเจ้ากับบุตรของข้าพเจ้า  แต่ถ้ามีเพียงคนเดียว คนผู้นั้นคือข้าพเจ้า”
เห็นได้ชัดว่าฟาริสีในอุปมาเรื่องนี้ไม่ได้ไปพระวิหารเพื่ออธิษฐานภาวนา แต่ไปเพื่อโอ้อวดความดีของตนให้พระเจ้าฟัง !!
คนที่สอง “คนเก็บภาษี”
เขายืนอยู่ห่างออกไป ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ได้แต่ข้อนอก พูดว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” (ลก 18:13)
    กับผู้ที่สำนึกถึงความผิดบาปของตนเยี่ยงคนเก็บภาษีนี้แหละ ที่สามารถถ่อมตนลงร้องขอพระเมตตาจากพระเจ้าได้ !
    และ “ความถ่อมตน” ของเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะพระเจ้าทรงประทานความชอบธรรมแก่เขาจริง ๆ (ลก 18:14)
    สิ่งสำคัญที่เราต้องระลึกอยู่เสมอคือ เฉพาะฟาริสีที่ประพฤติตนโอ้อวดเช่นนี้เท่านั้นที่ไม่ได้รับความชอบธรรม  และเฉพาะคนเก็บภาษีที่สำนึกผิดและถ่อมตนเช่นนี้เท่านั้นที่ได้รับความชอบธรรมจากพระเจ้า
    อย่าเหมารวมว่าฟาริสีทุกคนไม่มีทางรอด  และอย่าเหมารวมว่าคนบาปทุกคนจะลงเอยด้วยดี
    นักบุญเปาโลยอมรับว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นชาวฟาริสี เป็นบุตรของชาวฟาริสี” (กจ 23:6-9; 26:5)
    ใช่ นักบุญเปาโลเคยเป็นฟาริสี แต่ท่านกลับใจและเอาตัวรอดได้ !

     จากอุปมาเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า
    1.    คนหยิ่งจองหองไม่อาจอธิษฐานภาวนาได้  สิ่งที่พวกเขาทำได้คือตัดสินคนอื่น ทับถมคนอื่น แล้วก็โอ้อวดตนเองให้พระเจ้าฟัง
    2.    คนที่ดูหมิ่นคนอื่นไม่อาจอธิษฐานภาวนาได้ เพราะเขายกตนอยู่เหนือมนุษย์ด้วยกันเอง จึงไม่มีทางสำนึกได้เลยว่าตนเองก็เป็นหนึ่งในบรรดามนุษย์ที่ล้วนเป็นคนบาป โศกเศร้า ทนทุกข์ และกำลังคุกเข่าอยู่ต่อหน้าพระเจ้าเพื่อวอนขอพระเมตตาจากพระองค์
    3.    การอธิษฐานภาวนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรานำชีวิตของเรามาเทียบเคียงกับชีวิตของพระเจ้าเท่านั้น
        ไม่มีใครสงสัยเลยว่าฟาริสีในอุปมาเรื่องนี้จำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวันหรือถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดจริงหรือไม่  ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเขาประพฤติตนดีกว่าคนอื่น เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนเก็บภาษีผู้นั้น
        แต่เราจะพอใจเพียงแค่ประพฤติตนดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้นหรือ ?
        เราไม่คิดจะประพฤติตนให้ดีเหมือนพระเจ้าบ้างเลยหรือ ?
        ต่อเมื่อนำชีวิตของเรามาเทียบเคียงกับชีวิตของพระเยซูเจ้านั่นแหละ  คำอธิษฐานภาวนาที่จะหลุดออกมาจากปากของเราก็คือ...“ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” (ลก 18:13)
        และเมื่อนั้น “ผู้ที่ถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น” (ลก 18:14)