แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพระคริสตสมภพ


ลูกา 2:1-20
    ครั้งนั้น พระจักรพรรดิออกัสตัส ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกนี้มีขึ้นเมื่อ คีรินีอัส เป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย
ทุกคนต่างไปลงทะเบียนในเมืองของตน โยเซฟออกเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีไปยังเมืองของกษัตริย์ดาวิด ชื่อเบธเลเฮม
ในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด ท่านไปลงทะเบียนพร้อมกับพระนางมารีย์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ ขณะที่อยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดเวลาที่พระนางมารีย์จะมีพระประสูติกาล พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงให้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย
    ในบริเวณนั้นมีคนเลี้ยงแกะกลุ่มหนึ่งอยู่กลางแจ้ง กำลังเฝ้า
ฝูงแกะในยามกลางคืน ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าปรากฏองค์ต่อหน้าเขา และพระสิริของพระเจ้าก็ส่องแสงรอบตัวเขา คนเลี้ยงแกะมีความกลัวอย่างยิ่ง แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่เขาว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมาบอกท่านทั้งหลาย เป็นข่าวดีที่จะทำให้ประชาชนทุกคนยินดีอย่างยิ่ง วันนี้ ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด
พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระ
ผู้เป็นเจ้า ท่านจะรู้จักพระองค์ได้จากเครื่องหมายนี้ ท่านจะพบกุมารคนหนึ่งมีผ้าพันกายนอนอยู่ในรางหญ้า” ทันใดนั้น ทูตสวรรค์อีกจำนวนมากปรากฏมาสมทบกับทูตสวรรค์องค์นั้น ร้องสรรเสริญพระเจ้าว่า
    “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด
    และบนแผ่นดิน สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน”
    เมื่อบรรดาทูตสวรรค์จากเขากลับสู่สวรรค์แล้ว คนเลี้ยงแกะเหล่านั้นจึงพูดกันว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็นเหตุการณ์นี้ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้” เขาจึงรีบไป และพบพระนาง
มารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนาง
มารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่ คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยิน และได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้

 

บทรำพึงที่ 1
การพบกัน
    คืนนี้เป็นคืนแห่งการพบกันระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน และระหว่างพระเจ้าและมนุษยชาติ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยนับแต่นั้นมา จักรพรรดิออกัสตัส บุคคลสำคัญที่สุดของโลก ได้ออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของบุคคลไม่สำคัญสองคนที่อยู่ในชนบท
อันห่างไกลความเจริญ คือ โยเซฟและมารีย์ กรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของโลกทางการเมือง ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเมืองเล็ก ๆ ชื่อเบธเลเฮม ซึ่งแปลว่าบ้านขนมปัง (house of bread) เมื่อเวลาผ่านไป โรมจะตระหนักว่าตนมีบุญเพียงไรที่ได้พบกับเบธเลเฮมในครั้งนั้น ในบริเวณชานเมืองมีคนเลี้ยงแกะกลุ่มหนึ่งกำลังเฝ้า
ฝูงแกะอยู่กลางทุ่งนา ในศาสนาที่มีธรรมบัญญัติควบคุมสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด คนที่อาศัยอยู่ตามทุ่งนาเหล่านี้เป็นบุคคลที่ถูกเหยียดหยาม แต่ความยิ่งใหญ่โอฬารแห่งสวรรค์
มาเยี่ยมสู่ทุ่งนาของเขา และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าส่องสว่างค่ำคืนของเขา ความกลัวของเขาบรรเทาลงเมื่อได้ยินคำพูดที่นำสันติสุข และความยินดี
    ความเงียบสงัดยามราตรีถูกทำลายเมื่อทูตสวรรค์จำนวนมากขับร้องสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และมอบพรแห่งสันติสุข ทูตสวรรค์ชี้ทางให้คนเลี้ยงแกะไปยังเบธเลเฮม เหตุการณ์ชวนให้คิดถึงดาวิด คนเลี้ยงแกะที่กลายเป็นกษัตริย์ เพราะคนเหล่านี้ได้พบกษัตริย์ผู้กลายเป็นคนเลี้ยงแกะ บัดนี้ คนเลี้ยงแกะเป็นผู้เบิกตัวพระผู้ตรัสถึงบทบาทของพระองค์ว่า ทรงเป็นคนเลี้ยงแกะที่มาตามหาแกะหลงฝูง
    เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของรสชาติของเรื่องราวที่
ลูกาบอกเล่า เมื่อพระเจ้าเสด็จเข้ามาอยู่ในเรื่องราวของมนุษยชาติ มนุษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นเป็นคนยากจนและ
ถูกรังเกียจในแวดวงศาสนา เขาเป็นคนต่ำต้อยของโลก ... เป็นคนที่ว่างเปล่าพอจะรับ เงียบพอจะฟัง และใจเปิดกว้างพอจะรู้สึกพิศวง แต่ไม่มีที่สำหรับเขาในห้องพักแรม ซึ่งมีคนมากเกินไป อึกทึกเกินไป และไม่ยอมมองเห็นสิ่งอัศจรรย์บนท้องฟ้า
    ลูกาเป็นนักประพันธ์ที่มีพรสวรรค์ในการเข้าถึงความรู้สึกและปฏิกิริยาในใจของมนุษย์ ปฏิกิริยาแรกของคนเลี้ยงแกะคือกลัว เราย่อมกลัวที่จะพบกับพระเจ้าเสมอ ถ้าเราคอยคิดแต่ว่าเราต้องเป็นคนดีพอจึงจะพบพระองค์ได้ ทูตสวรรค์ต้องบอกพวกเขาให้ละทิ้งความกลัว หลังจากนั้น ความน่าพิศวงของค่ำคืนนั้นจึงเริ่มซึมซาบเข้าสู่วิญญาณของเขา พวกเขาเล่าเรื่องที่เขาได้ยินมา ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจ บุคคลที่รู้จักความต่ำต้อยของตนเองเท่านั้นที่เปิดใจมองเห็นความน่าพิศวงของความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า พระนางมารีย์ ผู้ทรงคิดว่าตนเองต่ำต้อยกว่าใครทั้งหมด ทรงเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ในใจ และคำนึงถึงอยู่
พระนางรู้ว่าพระนางไม่สามารถซึมซับความพิศวงทั้งหมดไว้ได้ในทันทีทันใด แต่ขณะนั้น คนเลี้ยงแกะเชื่อในบทเพลงของ
ทูตสวรรค์ และตอบสนองต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยการถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้า
    คืนนั้นเป็นคืนแห่งการพบกัน เมื่อความยิ่งใหญ่ของสวรรค์มาพบกับทุ่งนาที่มีขอบเขตจำกัดของโลก เมื่อความมั่งคั่งของสวรรค์รุกเข้ามาในความยากจนของถ้ำเลี้ยงสัตว์และรางหญ้า เมื่อเสียงขับร้องของทูตสวรรค์เข้ามาแทนที่ความเงียบยามราตรี คืนนั้น เป็นคืนที่นำพาวันแห่งการถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้ามาให้เรา

 

บทรำพึงที่ 2
ความรักมั่นคง หรือความสงสาร ของพระเจ้า
    มิสซาที่สองในวันพระคริสตสมภพ ใช้คำพูดของนักบุญเปาโลในจดหมายถึงทิตัส ว่า “เมื่อพระเจ้าพระผู้ไถ่ของเราทรงแสดงพระทัยดี และความรักต่อมนุษย์ พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดพ้น มิใช่เพราะกิจการชอบธรรมใด ๆ ที่เรากระทำ แต่เพราะความรักมั่นคงของพระองค์”
    มนุษย์ต้องการพระผู้ไถ่ และผู้เยียวยารักษา แต่มนุษย์ไม่มีวันมีบุญ หรือสมควรได้รับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันพระคริสตสมภพนั้น การเสด็จมาของพระบุตรพระเจ้าเพื่อมารับสภาพมนุษย์เหมือนเรา เป็นกิจการที่เกิดจากพระทัยดีและความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ นักบุญเปาโลกล่าวถึงความรักมั่นคงเพื่อแสดงว่าพระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเริ่มต้นช่วยเหลือเรา เมื่อความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเรา บีบบังคับให้พระองค์เป็นฝ่ายเข้ามาหาเรา ความรักมั่นคงหรือความสงสารนี้หมายความว่าพระเจ้าในองค์พระเยซูเจ้าต้องสวมเนื้อหนังมนุษย์ของเรา ดำเนินชีวิตเหมือนเรา มองโลกผ่านตาของเรา ทรงสัมผัสกับความรักและความเจ็บปวดเมื่อทรง
ถูกปฏิเสธด้วยหัวใจที่เหมือนกับหัวใจของเรา พระองค์จะทรงดำรงชีวิตแบบเดียวกับเรา รู้จักความชื่นชมยินดีเหมือนเรา ร้องไห้เหมือนเรา ทนรับความอัปยศ และขอบพระคุณพระเจ้าเมื่อประสบความสำเร็จเหมือนเรา พระองค์จะทรงรู้สึกด้วยอารมณ์เหมือนเรา คิดด้วยความคิดเหมือนเรา กลัวเหมือนเรา และทรงยืนหยัดด้วยความกล้าเหมือนเรา
    พระองค์ทรงเกิดมาเป็นทารก เติบโตเป็นเด็ก ย่างเข้าสู่
วัยผู้ใหญ่ และตายเหมือนเรามนุษย์ เพราะความรักมั่นคง พระองค์จึงถ่อมพระองค์ลงมาหาเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดในชีวิตมนุษย์ของเรา บัดนี้ เรารู้แน่แล้วว่าเราไม่มีทางซ่อนตัวจาก
พระเจ้าได้ แม้ว่าในความโง่เขลาอันเกิดจากบาป เราอาจคิดว่าเราหนีพระองค์พ้นแล้ว หรือเพราะความมืดมนอันเกิดจากความคิดว่าตนเองสำคัญ เราอาจพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง หรือเพราะความโกรธซึ่งเกิดจากความจองหอง เราอาจคิดว่าเราได้กบฏต่อพระองค์ พระองค์ทรงเอื้อมลงมาหาเราด้วยความรักมั่นคง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดในชีวิตของเรา เพื่อสัมผัส
เนื้อหนัง และรักษาโรคเรื้อนของเรา และยกชูเราขึ้น พระองค์ทรงยกชูเราขึ้นสู่ชีวิตอันสูงส่งเกินความคาดหมาย หรือบุญกุศลของมนุษย์สามารถบรรลุถึงได้ “ผู้ใดที่ยอมรับพระองค์ พระองค์จะประทานอำนาจให้ผู้นั้นกลายเป็นบุตรของพระเจ้า” (ยน 1:11)
    ด้วยความรักมั่นคง พระเจ้าจึงทรงร่วมรับชีวิตมนุษย์ เพื่อให้เราสามารถร่วมรับชีวิตพระเจ้ากับพระองค์ บทเพลงพิธีกรรมโบราณสรรเสริญการแลกเปลี่ยนอันน่าพิศวงนี้ ซึ่งทำให้เรา
มีส่วนร่วมในพระเทวภาพของพระองค์ ผู้ทรงถ่อมพระองค์ลง
มารับสภาพมนุษย์ของเรา
    สิ่งที่เราต้องการเพื่อจะได้รับความรักมั่นคงของพระเจ้าในเทศกาลพระคริสตสมภพ คือ ถ้ำและรางหญ้า เราจะมีถ้ำแห่งความว่างเปล่า เมื่อใดที่เรายอมรับว่าเราเป็นคนบาป และมองเห็นว่าเรามีความต้องการพระผู้ไถ่ ส่วนรางหญ้านั้นมีอยู่ในหัวใจที่กระหายหาการประทับอยู่ของพระเจ้า กระหายหา
พระประสงค์ของพระองค์ และความงามของพระองค์
    ถ้ำและรางหญ้าแห่งแรกอยู่ที่เมืองเบธเลเฮม ซึ่งแปลว่าบ้าน
ขนมปัง ศีลมหาสนิทแต่ละแผ่นคือบ้านขนมปังหลังใหม่ หรือ
เบธเลเฮมใหม่ เป็นการพบกับพระเจ้า ผู้ถ่อมพระองค์ลงมาหาเราด้วยความรักมั่นคงของพระองค์ เพื่อยกเราขึ้น

บทรำพึงที่ 3
วันพระคริสตสมภพ (มิสซาเช้า)
    พิธีกรรมทั้งหมดของวันพระคริสตสมภพประกอบด้วย
สี่มิสซา ดังนั้น จึงมีบทอ่านพระวรสารสี่ตอน
1.    มิสซาเวลาเย็น – บทอ่านเรื่องการลำดับพระวงศ์ของ
พระเยซูเจ้า และการแจ้งข่าวแก่โยเซฟ (มธ 1:1-25)
2.    มิสซากลางคืน - บทอ่านเรื่องพระนางมารีย์ และโยเซฟ
ไม่มีที่พักแรมในเมืองเบธเลเฮม และต้องไปอาศัยใน
คอกสัตว์ และประสูติพระเยซูเจ้า คนเลี้ยงแกะได้รับแจ้งข่าวดีที่จะทำให้ประชาชนยินดีเป็นอย่างยิ่ง คือ พระผู้ไถ่ประสูติแล้ว (ลก 2:1-14 – อ่านคำอธิบายได้จาก “พระวรสารประจำวันอาทิตย์สำหรับปี B”)
3.    มิสซาเช้า - บทอ่านเรื่องปฏิกิริยาของคนเลี้ยงแกะ
พระนางมารีย์ และคนทั้งหลาย ที่ได้ยิน “ข่าว”
อันน่าประหลาดใจ พวกเขาทำให้ “พระวจนาตถ์” เป็นที่รู้จัก และใคร่ครวญเรื่องนี้ (ลก 2:15-20)
4.    มิสซาระหว่างวัน - บทอ่านจากบทรำพึงอันยิ่งใหญ่ของนักบุญยอห์น เรื่องกำเนิดแห่งนิรันดร (ยน 1:1-18)
เมื่อบรรดาทูตสวรรค์จากเขา (คนเลี้ยงแกะ) กลับสู่สวรรค์แล้ว ...
    ข้าพเจ้าชอบคำบรรยายสั้น ๆ ตอนนี้ของนักบุญลูกา ถ้อยคำที่ทำให้มองเห็นภาพได้นี้ เตือนเราให้คิดถึงความจริงสำคัญข้อหนึ่งคือ การปรากฏตัวของทูตสวรรค์เกิดขึ้นเพียงครู่เดียว ... สวรรค์เปิดออกสำหรับเราเพียงช่วงเวลาไม่กี่วินาที ผ่าน “รอยฉีกในม่าน” นานเท่ากับช่วงเวลาสายฟ้าฟาด นานเท่ากับ “คำพูด” หนึ่งคำ หรือการสื่อ “สาร” หนึ่งข้อ
    คำว่าทูตสวรรค์ในภาษากรีก (angelos) แปลว่า “ผู้นำสาร”
    บางคนที่คิดอย่างหยาบ ๆ ด้วยหลักเหตุผล บอกเราว่า
“ทูตสวรรค์” ไม่มีจริง เมื่อเราพยายามวาดภาพให้ทูตสวรรค์
มีร่างกาย และคาดหมายว่าทูตสวรรค์ต้องมีปีก เราจะมองไม่เห็นเมื่อทูตสวรรค์มาเยือน เพราะพระเจ้าทรงส่ง “สาร” มาให้เรา
ทุกวัน และมี “ผู้นำสาร” ของพระเจ้าอยู่รอบตัวเราทุกคน บางทีสวรรค์อาจเปิดออกสำหรับเราด้วยเช่นกัน แม้จะเพียงชั่วแวบเดียว ถ้าเราสนใจกับคำแนะนำต่าง ๆ ที่เราได้รับอยู่ทุกวัน ถ้าเราไม่คิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างเพียงในแง่วัตถุ
    ท่านคิดว่าท่านปิดกั้นตนเองให้อยู่ภายในโลกแคบ ๆ ของท่านหรือไม่
    ถ้าท่านต้องการ และอาศัยความเชื่อ โลกของท่านอาจเปิดออกสู่สิ่งที่ตามองไม่เห็น
    เรากลายเป็นคนที่ไม่สามารถได้ยินสารที่สุนัขจิ้งจอกบอกแก่เจ้าชายน้อยเกี่ยวกับดอกกุหลาบ ที่แม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกก็สวยงามว่า “นี่คือความลับของฉัน มันเรียบง่ายที่สุด คือ เรามองเห็นชัดด้วยหัวใจของเราเท่านั้น แก่นแท้เป็นสิ่งที่ตามองไม่เห็น เวลาที่เธอยอมเสียไปเพื่อดอกกุหลาบ ทำให้ดอกกุหลาบนั้นสำคัญมากเช่นนั้นสำหรับเธอ” (Saint-Exupery)
คนเลี้ยงแกะเหล่านั้นจึงพูดกันว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮม กันเถิด จะได้เห็นเหตุการณ์นี้ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้
    ถ้าแปลจากภาษากรีกตามตัวอักษร ข้อความนี้แปลว่า “เราจงไปเมืองเบธเลเฮมกันเถิด จะได้เห็น วาจาที่ได้เกิดขึ้นนี้ ที่
พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้” – “ได้เห็นวาจา” เป็นวลีที่น่าแปลกใจใช่ไหม
    เราจะเข้าใจได้ชัดเจน ถ้าเรารู้ว่า คำว่า rema ในภาษากรีก และแปลเป็นภาษาฮีบรูว่า Dabar นั้น หมายความได้ทั้ง “วาจา” และ “เรื่อง/สิ่ง” หรือ “เหตุการณ์” ตามแนวคิดของชาวเซมิติก
ที่เอ่ยเป็นคำพูดในพระคัมภีร์ คำว่า “วาจา” และ “ความเป็นจริง” เป็นคำที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ไม่มีวาจาใดที่ไม่เป็นความจริง และไม่มีความเป็นจริงใดที่ไม่ใช่วาจา ทุกสิ่งทุกอย่าง “พูดได้” เมื่อเรารู้ว่าจะฟังอย่างไร การพูดก็คือการลงมือทำ การกระทำคือการสื่อสาร และพระวาจาของพระเจ้าทำให้สิ่งที่ตรัสนั้นกลายเป็นความจริง พระเยซูเจ้าทรงเป็น “วาจา” ที่กลายเป็น “ความเป็นจริง”
    ถูกแล้ว เราจงไปเมืองเบธเลเฮม กันเถิด ไปดูพระวาจาที่เสด็จมานี้
    เราจงไปเมืองเบธเลเฮม กันเถิด ไปดูสิ่งที่เราได้รับแจ้งให้รู้
    การตีความเช่นนี้อาจดูเหมือนอิงวิทยาศาสตร์เกินไป อันที่จริง ข้อความเหล่านี้เปิดเผยสิ่งต่าง ๆ มากมายแก่เรา และไม่ชักนำเราให้หลงไปจากธรรมล้ำลึกของเหตุการณ์พระคริสตสมภพ “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” ท่านบอกว่าทารกที่นอนอยู่ในอู่นั้นพูดไม่ได้หรือ ลองไปดูสิ แล้วจะเห็น ... หรือท่านไม่รู้ว่าจะฟังอย่างไร ... สำหรับเรา การประสูติของพระองค์ และสถานการณ์แวดล้อมการประสูตินี้เป็นวาจาที่จริงแท้ และชัดเจนยิ่งกว่าคำพูด คำนินทา และเสียงจอแจทั้งหลาย
    จงฟังความเงียบที่บอกเราว่า “พระเจ้าทรงเป็นอย่างนี้ ... พระเจ้าคือ ‘สิ่งนี้’ ที่นอนอยู่ในอู่”
เขาจึงรีบไป...
    เช่นเดียวกับความยินดี “การรีบ” เป็นหนึ่งในเครื่องหมายของบุคคลที่ค้นพบข่าวดี พวกเขาเร่งรีบ ... พวกเขาวิ่ง (ลก 1:39, 19:5; ยน 20:2; กจ 3:11, 8:30, 12:14)
    การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าก็เป็นสัญญาณให้เริ่มต้นวิ่งแข่งอย่างแท้จริง ...
... และพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ใน
รางหญ้า
    เขาวิ่งไปพิสูจน์ว่าสารของทูตสวรรค์เป็นความจริงหรือไม่
“พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์
พระผู้เป็นเจ้า” ทูตสวรรค์ระบุพระยศของพระองค์ถึง
สามตำแหน่ง และคนเลี้ยงแกะพบเพียงคนฐานะยากจนใน
คอกสัตว์ เขาพบครอบครัวสามัญชนที่ “ฐานะต่ำกว่ามาตรฐาน” ครอบครัวที่หาที่พักไม่ได้ในหมู่บ้าน ทารกน้อยที่นอนบนฟาง
ในรางหญ้า
    ถ้าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่พูดอะไรกับท่านเลย ก็นับว่าเป็นเรื่องเศร้า...
    คำว่าเบธเลเฮมในภาษาฮีบรู แปลว่า “บ้านขนมปัง” นี่คือเหตุบังเอิญหรือ แต่ถ้าเป็นความจริงที่พระเจ้าประทานพระองค์เองให้เรากินเสมือนเป็นขนมปังคุณภาพดีชั้นหนึ่งเล่า ... “นี่เป็นกายของเราที่มอบเพื่อท่าน จงรับไป และกิน”
    พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ผ่านทางภาพลักษณ์ของครอบครัว คนเลี้ยงแกะพบหญิงสาวผู้เป็นมารดา พร้อมกับสามี และทารกแรกเกิดของนาง
    พระเจ้าทรงยากจน พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ผ่านทางภาพลักษณ์ของความขัดสน อู่นอนที่สร้างขึ้นจากไม้เนื้อหยาบนี้ก็ถือว่าเป็นกางเขนแล้ว จากอู่นอนจนถึงไม้กางเขน พระเจ้าทรงเผยแสดงธรรมล้ำลึกแก่เรา
    พระเจ้าทรงแสดงว่าพระองค์เป็นพวกเดียวกับคนยากจน
ขัดสน คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ... ฉันกำลังหิว ฉันกำลังกระหาย ฉันป่วย ฉันอยู่ในคุก ฉันอยากให้มีใครมาเยี่ยม ...
    วันพระคริสตสมภพ ไม่อาจเป็นเรื่องหวาน ๆ ที่บอกเล่าท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย...
    วันพระคริสตสมภพ ไม่อาจเป็นเพียงอาหารมื้อใหญ่ และการกินดื่มอย่างตะกละ...
    วันพระคริสตสมภพ ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่ทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย และค่าใช้จ่ายที่ไร้ประโยชน์...
    ประจักษ์พยานกลุ่มแรกของเหตุการณ์พระคริสตสมภพครั้งแรก ตอบสนองอย่างไร
เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร
    เราทุกคนมีความเข้าใจฝังลึกว่าคนเลี้ยงแกะนมัสการ
พระกุมาร ศิลปินยิ่งใหญ่หลายคนวาดภาพชื่อ “การนมัสการของคนเลี้ยงแกะ”
    แต่พระวรสารไม่ได้เอ่ยเรื่องนี้เลย แต่บอกว่าคนเลี้ยงแกะ “เทศน์สอน” พระนางมารีย์ และโยเซฟ เขาบอกเล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร กล่าวคือ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ ทรงเป็นพระคริสต์ และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ... คนเลี้ยงแกะทำให้พระวจนาตถ์เป็นที่รู้จัก...
    ในประโยคนี้ ลูกาจงใจย้ำคำว่า rema ซึ่งเราทราบแล้วว่ามีความหมายหลากหลายอย่างไร เราต้องอ่านสองประโยคต่อไปนี้ต่อเนื่องกัน
    -    เราจะได้เห็นวาจาที่เกิดขึ้นนี้ที่พระเจ้าทรงแจ้งให้เรารู้
    -    เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าวาจาที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับ
พระกุมาร
    เห็นได้ชัดว่าลูกา เชื่อว่าการฉลองวันพระคริสตสมภพ หมายถึงการรับพระวาจา และประกาศพระวาจานั้น ความเชื่อของคริสตชนจะต้องประกาศให้ผู้อื่นรู้ หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงความเชื่อจอมปลอม ... ความเชื่อจะเป็นความเชื่อจริงแท้ได้ก็ต้องประกาศให้ผู้อื่นรู้
    ส่วนท่าน ท่านบอกเล่าพระวาจาที่ท่านได้รับมาให้แก่ผู้อื่นหรือเปล่า ท่านกำลังพูดถึงข่าวดีอยู่หรือเปล่า
    ความเชื่อมีอยู่สามลักษณะ
    1.    ความเชื่อต้องไม่ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้น แต่ได้รับผ่านการเผยแสดง กล่าวคือ ความเชื่อเป็นพระพรอย่างหนึ่ง
    2.    ความเชื่อต้องไม่อยู่นิ่ง เราต้องยอมรับความเชื่อ และ
นำความเชื่อไปใช้งาน
    3.    ความเชื่อต้องไม่เป็นใบ้ เราต้องพูดถึงความเชื่อนั้นออกมา
    คนเลี้ยงแกะได้ยินสารจากสวรรค์ ... พวกเขาเร่งรีบไปพิสูจน์ความจริง ... เขาบอกเล่าสารที่เขาได้รับมาว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ ทรงเป็นพระคริสต์ และทรงเป็นองค์พระผู้
เป็นเจ้า
    ท่านก็เช่นกัน ท่านต้องเปิดปาก ประกาศพระวรสาร และ
ขับร้องสรรเสริญความเชื่อของท่าน
    แต่ก่อนอื่น ท่านต้องทำให้ชีวิตประจำวันของท่านพูดได้อย่างแท้จริง ท่านต้องทำให้ชีวิตของท่านเป็น “วาจา”
ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง
    ลูกาใช้คำว่า “ประหลาดใจ” หลายครั้ง (ลก 4:22, 8:25, 9:43, 11:14-15, 20:26) เราจึงไม่ควรประเมินผลคำนี้ต่ำเกินไป เราเองก็ควรประหลาดใจเช่นกัน ขอให้ความเชื่อของเราเต็มเปี่ยมด้วยความยินดี องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำสิ่งน่าพิศวง จงสรรเสริญพระองค์เถิด
ส่วนพระนางมารีย์ ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดนี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่
    เราพบคำว่า rema อีกครั้งหนึ่งในประโยคนี้ ซึ่งแปลว่า “เรื่อง” แต่หมายถึง “วาจา-เรื่อง/สิ่ง-เหตุการณ์” เดียวกัน
    คนเลี้ยงแกะ “ได้รับ” พระวาจาของพระเจ้า
    พวกเขา “ประกาศ” พระวาจานี้ให้ผู้อื่นรู้
    ผู้ที่ได้ยินต่าง “ประหลาดใจ”
    ส่วนพระนางมารีย์เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ และนำมารำพึงไตร่ตรอง ดังนั้น พระนางจึงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา
    ในวันพระคริสตสมภพนี้ ลูกาชี้ให้เราทุกคนพิจารณาหัวใจของสตรีผู้เป็นแบบอย่างสำหรับผู้มีความเชื่อ พระนางพยายามเจาะความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่บอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้า โดยใช้สติปัญญา อำเภอใจ และหัวใจ ทั้งตัวตนของพระนาง หรือตามสำนวนที่เราพูดกันบางครั้งว่า พระนาง “ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต”
    พระเจ้าทรงต้องการบอกอะไรแก่ข้าพเจ้าผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ผ่านเหตุการณ์ที่มีความหมายนี้ ผ่านสถานการณ์ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย หรือสถานการณ์ในอาชีพของข้าพเจ้า หรือผ่านสถานการณ์ของโลก
คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยิน และได้เห็นตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
    ในวันนั้น มีเด็กอื่น ๆ มากมายหลายคนที่เกิดมาบนโลกของเรา ทำไมเด็กคนนี้ – พระเยซูผู้นี้ – จึงยังสร้างความประทับใจให้แก่คนจำนวนมากตราบจนทุกวันนี้ พระองค์เป็นใคร
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นใครสำหรับท่าน
    บอกข้าพเจ้าซิว่า ท่านเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าหรือไม่
ชุดที่ 6.
ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
(วันอาทิตย์ในอัฐมวารพระคริสตสมภพ)
    โยเซฟ พร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้า เคยขึ้นไปยัง
กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ
สิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดา
ไม่รู้ เพราะคิดว่าพระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ใน
หมู่ญาติและคนรู้จัก เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น
    ในวันที่สาม โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ใน
พระวิหาร ประทับอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม เมื่อโยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์เห็นพระองค์ก็รู้สึกแปลกใจ พระมารดาจึงตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก” พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส
    พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดาและ
เชื่อฟังท่านทั้งสอง พระมารดาทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้ามนุษย์
บทรำพึงที่ 1
ซ่อนพระองค์ในครอบครัว
    พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตซ่อนเร้นของพระองค์ที่นาซาเร็ธเป็นเวลา 30 ปี ก่อนทรงออกไปเทศน์สอนและปฏิบัติภารกิจ
ต่อหน้าสาธารณชนเป็นเวลาสามปี พระองค์ทรงใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว 10 ปีต่อทุกหนึ่งปีของชีวิตสาธารณะของพระองค์ ท่ามกลางความสงบเงียบของชีวิตครอบครัว พระองค์คงต้องได้รับการสั่งสอนจากพระเจ้าให้ทรงเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และงานที่เป็นกิจวัตร
    มือที่จะรักษาโรค และบรรเทาใจ ไม่ได้หยิ่งเกินกว่าจะ
ถอนวัชพืชในสวน หรือจับสิ่งเซาะร่องไม้ พระบุตรของพระบิดานิรันดรพอพระทัยให้ทุกคนรู้จักพระองค์ในนามของบุตรชายของโยเซฟและมารีย์ พระวจนาตถ์ ผู้ทรงเป็นภาพลักษณ์อันสมบูรณ์ของพระบิดา จำเป็นต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ในฐานะบุตร พี่ชายน้องชาย เพื่อนบ้าน และเด็กหนุ่มคนหนึ่งในละแวกบ้าน เรา
คงต้องคาดเดาเองว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญการเล่นแบบเด็กท้องถิ่นหรือไม่ พระองค์มีงานอดิเรกที่โปรดปรานหรือไม่ ครูของพระองค์มองว่าพระองค์เป็นเด็กอย่างไร หรือเคยมีเด็กหญิงคนใดต้องการเรียกร้องความสนใจจากพระองค์หรือไม่ พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้า และกับมนุษย์ทั้งหลาย
    ครอบครัวเป็นโรงเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพระองค์ วิชาเอกที่พระองค์ทรงเรียนรู้จากโรงเรียนนี้คือมนุษย์ เราเรียนรู้ที่จะให้ผู้อื่นเลี้ยงดู อยู่เพื่อผู้อื่น และอยู่ร่วมกับผู้อื่น การให้ผู้อื่นเลี้ยงดูหมายถึงการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่น การวางใจผู้อื่นเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่บทแรกที่เราเรียนรู้ภายในครอบครัว และผู้เรียนที่สอบตกในวิชานี้จะมีปัญหาทางอารมณ์ขั้นร้ายแรงตลอดชีวิตของเขา การเรียนรู้ที่จะวางใจในผู้อื่นทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระบิดา ผู้ที่เราต้องพึ่งพาอาศัยในกิจการสร้างสรรค์อันต่อเนื่องของพระองค์ น่าสังเกตว่าในบทภาวนาของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเรียกพระเจ้าว่า “อับบา”
ซึ่งเป็นคำที่เด็กใช้เรียกพ่อของตน ภาษาในการภาวนาของพระองค์คงพัฒนามาจากประสบการณ์การพึ่งพาอาศัย และความวางใจ ที่พระองค์ทรงเรียนรู้ในครอบครัวที่นาซาเร็ธ
    การอยู่เพื่อผู้อื่น เป็นวิธีที่เราตอบแทนความช่วยเหลือที่ได้รับจากผู้อื่น บุคคลที่เคยเป็นผู้รับเมื่อครั้งเป็นเด็ก จะรู้จักแบ่งปัน และรู้จักให้ เมื่อเขาเติบโตขึ้น พระเยซูเจ้าทรงเจริญวัยขึ้นเป็นชายหนุ่มที่มีอุดมการณ์ในการรับใช้ มากกว่าให้ผู้อื่นรับใช้พระองค์ และพลีชีวิตของพระองค์เพื่อผู้อื่น พระองค์ทรงกลายเป็นบุคคลที่อยู่เพื่อผู้อื่น
    ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราจำเป็นต้องรู้จักทั้งการรับ และการให้ในเวลาที่เหมาะสม การให้และการรับนี้เป็นวิธีการแสดงออกของพระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็นความรักที่ผูกพันระหว่างการให้ของพระบิดา และการตอบแทนของพระบุตร ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
    พลวัตของชีวิตครอบครัวเตรียมเราให้พร้อมที่จะเข้าสู่ชีวิตภายในของพระเจ้า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่เสมอตลอดนิรันดร การยอมเชื่อฟังมนุษย์อย่างโยเซฟและพระนางมารีย์ ได้เตรียม
พระเยซูเจ้าให้พร้อมที่จะเชื่อฟังการเรียกร้องครั้งสุดท้ายของ
พระบิดา
บทรำพึงที่ 2
หายไป และได้พบ
    คำบอกเล่าของลูกาเรื่องเหตุการณ์ในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อ
พระเยซูเจ้าอายุ 12 ปี เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตใน
วัยเด็กเข้ากับชีวิตสาธารณะของพระองค์ และเชื่อมระหว่างการนบนอบเชื่อฟังผู้ใหญ่ในครอบครัว และการนบนอบเชื่อฟัง
พระประสงค์ของพระบิดาในเวลาต่อมา
    เมื่อเด็กชายชาวยิวอายุ 12 ปี เขาจะถึงวัย บาร์มิทซวาห์ (bar mitzvah) ซึ่งหมายความว่าเขาได้กลายเป็นบุตรของ
ธรรมบัญญัติอย่างเต็มตัว ครอบครัวของเขาฉลองเหตุการณ์นี้ด้วยการแสวงบุญไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา ลูกา บอกเล่าเรื่องนี้เป็นหัวข้อย่อยซึ่งเสริมหัวข้อใหญ่ที่เขาจะบอกเล่าต่อไป การปฏิบัติภารกิจในชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้าจะกลายเป็นการเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และพระองค์จะเสด็จไปถึงที่นั่นระหว่างเทศกาลปัสกาอีกเช่นกัน ในที่นั้น พระองค์จะพบกับผู้เชี่ยวชาญธรรมบัญญัติ แต่ความประหลาดใจของคนเหล่านี้ต่อพระองค์ในวัยเด็กจะกลายเป็นการปฏิเสธพระองค์เมื่อคนเหล่านี้พบพระองค์ในวัยผู้ใหญ่ ในแต่ละเรื่อง พระเยซูเจ้าทรงหายไปเป็นเวลาสามวัน ความยินดีของบิดามารดาของพระองค์เมื่อพบพระองค์ในวันที่สาม เป็นเสมือนลางบอกเหตุว่าการกลับคืนชีพในวันที่สามของพระองค์ก็จะเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นยินดีเช่นกัน คำอธิบายของเยซูน้อยว่าพระองค์ต้องทำธุรกิจของ
พระบิดา ก็ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่พระคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพทรงบอกให้ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปเอมมาอุส ว่า “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26)
    เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 12 พรรษา พระเยซูเจ้าไม่ใช่เด็กแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พระองค์อยู่ในระยะที่หายไปและได้พบ ระยะที่ออกจากวัยหนึ่งและเข้าสู่อีกวัยหนึ่ง ระยะ
ที่ต้องปล่อยวางบางสิ่งและยอมรับภาระหน้าที่ เหตุการณ์ใน
พระวิหารทำให้เราเห็นว่าจะต้องเกิดอะไรต่อไป เราต้อง
ปล่อยวางจากความสัมพันธ์วัยเด็ก ถ้าจะยอมรับความรับผิดชอบอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง ความใกล้ชิดสนิทสนมของคนในครอบครัวเดียวกันจะต้องขยายวงออกไปพบกับความแปลกใหม่ของชุมชนที่ใหญ่กว่า การเชื่อฟังของบุตรต่อบิดามารดามนุษย์จำเป็นต้องหลีกทางให้แก่ผู้มีอำนาจมากกว่า คือ พระบิดาสวรรค์ นี่คือ
คำสั่งสอนของพระองค์ในเวลาต่อมา คือ มนุษย์ต้องยอมสละชีวิตเพื่อจะได้พบชีวิต ขนมปังจะต้องถูกบิก่อนจะแบ่งปันกันได้ และชีวิตมนุษย์ของพระเยซูเจ้าต้องสิ้นสุดลงก่อนที่พระจิตของพระองค์จะกลับคืนชีพ
    เมื่อทรงมองเห็นอนาคตได้แวบหนึ่งแล้ว พระเยซูเจ้าทรงกลับไปนาซาเร็ธพร้อมครอบครัวของพระองค์ พระองค์ทรง
รอคอยเสียงเรียกจากพระเจ้า ทรงเจริญขึ้นทั้งในปรีชาญาณ
พระชนมายุ และพระหรรษทาน เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้ามนุษย์


บทรำพึงที่ 3
โยเซฟ พร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้า เคยขึ้นไปยัง
กรุงเยรูซาเล็ม ในเทศกาลปัสกาทุกปี
    ลูกา บอกเราให้รู้ว่าพระนางมารีย์ และโยเซฟ ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่ออย่างไร ด้วยการระบุว่าท่านทั้งสองเดินทาง
แสวงบุญ “ทุกปี” พระเยซูเจ้าทรงเจริญวัยขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติของพันธสัญญาเดิมทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม และศาสนา “ชายทุกคนจะต้องมาต่อหน้าพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่านปีละสามครั้ง” (อพย 23:14-17) ประชาชนต้องละทิ้งบ้านของตนปีละสามครั้ง อย่างน้อยครั้งละหนึ่งสัปดาห์ และเดินทางมุ่งหน้าไปหาพระเจ้า (เขาเชื่อว่าพระเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม) และ
ขับร้องบทสดุดีระหว่างทางว่า “ข้าพเจ้ายินดี เมื่อได้ยินเขาพูดว่า ‘เราจงไปที่พระนิเวศของพระเจ้ากันเถิด’ “ (สดด 121)
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟ พร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม ตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น
    ในอิสราเอล เด็กจะเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่เมื่ออายุ 12 ปี หลังจากได้ศึกษาคำสอนทางศาสนาแล้ว เราจะเป็น
“บาร์ มิทสวาห์” หรือ “บุตรแห่งธรรมบัญญัติ” ในวันนั้น เขาจะ
ถูกเรียกให้ขึ้นไปยังแท่นอ่านพระคัมภีร์ในศาลาธรรม และอ่านคัมภีร์โทราห์
เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้ เพราะคิดว่าพระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติ และคนรู้จัก
    เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ นี่คือช่องว่างระหว่างวัยระหว่างพระเยซูเจ้าและบิดามารดาของพระองค์หรือ
    แม้ว่าเราอาจพยายามมองว่านี่เป็นเหตุการณ์เล็กน้อย แต่เราก็อดนึกเปรียบเทียบไม่ได้กับวิกฤติการณ์ภายในครอบครัวในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องบังเอิญหรือที่รายละเอียดหนึ่งเดียวที่เรารับรู้เกี่ยวกับชีวิตซ่อนเร้นนาน 30 ปี ของพระเยซูเจ้ากลายเป็นเรื่องของเด็กที่หนีพ่อแม่ และทำให้ท่านเดือดร้อน เห็นได้ชัดว่าการกระทำของพระเยซูเจ้าไม่มีเจตนาร้าย ลูกา บอกเล่าเหตุการณ์นี้ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาของวัยรุ่นเลย บิดามารดาที่วิตกกังวลกับพฤติกรรมของบุตรคงรู้สึกเบาใจเมื่อรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ แม้แต่กับพระนางมารีย์ และโยเซฟ
    ในส่วนของพระเยซูผู้อยู่ในวัยรุ่น เราเห็นได้ว่าพระองค์
มีเสรีภาพมาก เพราะกว่าบิดามารดาของพระองค์จะรู้ว่าพระองค์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เดินทาง เวลาก็ผ่านไปแล้วหนึ่งวันเต็ม ๆ พระองค์จะต้องคุ้นเคยกับการอยู่กับผู้อื่น และมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้อื่น บิดามารดาของพระองค์ไม่ได้จับตามองพระองค์ตลอดเวลา ท่านทั้งสองไว้ใจพระองค์
เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น
    คำบอกเล่านี้ใช้คำว่า “ตามหา” ถึงสี่ครั้ง ในประโยคนี้เป็นการตามหาทางกายภาพ แต่พระคัมภีร์มักใช้คำว่า “แสวงหา – ตามหา” เมื่อพูดถึงการแสวงหาพระเจ้า ผู้ทรงเป็นแกนกลางแห่งชีวิตของผู้มีความเชื่อทุกคน ความเชื่อก็คือ “การตามหา”
    พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เรา “พบ” อยู่เสมอ แต่แล้วก็ “สูญเสีย” พระองค์ไป เพื่อจะออก “ตามหา” พระองค์อีก พระเจ้าทรงเป็น
ผู้ที่ไม่มีใครครอบครองได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือเรา และทรงอยู่ไกลเกินเอื้อม ทรงเป็นผู้ที่ไม่มีใครจับไว้ได้ ทรงไม่อยู่ภายในขอบเขตที่มนุษย์ต้องการกักขังพระองค์ไว้ พระเจ้าทรงอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง
    เราคงจำอุปมาอันละเมียดละไมและอ่อนหวานในบทเพลง
ซาโลมอนได้ “ฉันตามหาเขาผู้ที่วิญญาณของฉันรัก ฉันตามหาเขา แต่ไม่พบเขา” (พซม 3:1-3)
    ข้าพเจ้าเป็น “ผู้แสวงหาพระเจ้า” หรือไม่
ในวันที่สาม โยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ พบพระองค์ ...
    เห็นได้ชัดว่า ลูกามองเหตุการณ์นี้เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัสกา มีเครื่องหมายหลายอย่างที่ชี้นำหัวใจของผู้มีความเชื่อไปสู่การเพ่งพินิจต่อไปนี้
    1.    ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ “ขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มใน
เทศกาลปัสกา” และวันหนึ่งพระเยซูเจ้าก็จะเสด็จ “ขึ้นไปยัง
กรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 18:31)
    2.    การหายตัวไปของพระเยซูเจ้า และเขาพบพระองค์อีกครั้งหนึ่งสามวันต่อมา ทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเทศกาลปัสกาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์จะกลับคืนพระชนมชีพ “ในวันที่สาม”
    3.    ลูกาจะใช้ประโยคว่า “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” บ่อยครั้ง เพื่อแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงนบนอบเชื่อฟังพระบิดาอย่างไร และทรงปฏิบัติตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้อย่างไรระหว่างพระทรมาน (ลก 4:43, 9:22, 17:25, 13:33, 22:37,
24:26, 44)
    4.    “ความไม่เข้าใจ” มักถูกเชื่อมโยงกับพระทรมาน ประโยคว่า “พวกเขาไม่เข้าใจ” ปรากฏขึ้นหลายครั้งเพื่อแสดงว่าบรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้า (ลก 9:45, 18:34, 24:25-26)
    5.    เมื่อเขาพบพระเยซูเจ้า พระองค์ “ประทับอยู่ในบ้านของพระบิดา” เปรียบเทียบกับการเสด็จขึ้นสวรรค์ ซึ่งพระเยซูเจ้าจะ “ประทับเบื้องขวาของพระบิดา”
    6.    ท้ายที่สุด คำตำหนิว่า “พ่อแม่ตามหาลูกทำไม” ชวนให้คิดถึงพระวาจาที่ทรงตำหนิบรรดาสตรีใจศรัทธาที่มองหาพระศพของพระเยซูเจ้าในพระคูหาว่า “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า” (ลก 24:5)
    ถ้าเราต้องการพบพระเยซูเจ้า และเข้าใจว่าพระองค์ทรงเป็นใคร เราต้องเดินทางไปกับพระองค์ตามทางแห่งปัสกา
ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำพระองค์ไปหาพระบิดา เมื่อพระองค์ตรัสถึงความตายของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า “เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 13:33, 14:2, 14:28, 16:5, 16:28)
    ถ้าผู้เป็นบิดามารดาทั้งหลายต้องการค้นพบแง่มุมอันลึกล้ำของปัสกา ในเหตุการณ์อันเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวของเขาในปัจจุบัน เขาไม่จำเป็นต้อง “หลบหนี” จากความเป็นจริงของชีวิต อาจเป็นไปได้ว่า วันนี้เช่นเดียวกับในยุคของ
พระนางมารีย์และโยเซฟ ความเชื่อของผู้เป็นบิดามารดา
ในธรรมล้ำลึกปัสกา - ซึ่งหมายถึงความเชื่อว่าชีวิตเกิดขึ้นจากความตาย - จะทำให้เขาเกิดความหวังขึ้นในใจว่า “เขาไม่ได้สูญเสียบุตรของเขาไปตลอดกาล” วิกฤติการณ์ที่เรากำลังจมอยู่ในปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาอันเจ็บปวดของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่
พระเจ้าข้า เราคาดหมายว่าจะถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์แห่ง
“การพบกันอีกครั้งหนึ่ง”
ในวันที่สาม โยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ พบพระองค์ในพระวิหาร ประทับอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการ
ตอบคำถาม
    ผู้มีความเชื่อในศาสนายูดาย ถือว่าพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระเจ้า
    ข้อความนี้บรรยายภาพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นเด็กที่โต
เกินวัย ฉลาด และใฝ่รู้ และทรงมีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ดีมาก พระองค์ทรงมีคุณสมบัติสองประการที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ คือ พระองค์ทรงรู้จักฟัง และพระองค์ทรงพร้อมจะเรียนรู้ ทรงรู้จัก
ไต่ถาม
เมื่อโยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ เห็นพระองค์ก็รู้สึกแปลกใจ
พระมารดาจึงตรัสถามพระองค์ว่า “ลูกเอ๋ย ทำไมจึงทำกับเราเช่นนี้ ดูซิ พ่อกับแม่ต้องกังวลใจตามหาลูก”
    ก่อนหน้านี้ เราเห็นว่าบิดามารดาของพระเยซูเจ้ายอมให้พระองค์มีเสรีภาพในระดับหนึ่ง บัดนี้ เราเห็นว่าทั้งสองไม่ได้
ละทิ้งความรับผิดชอบของตน ท่านทั้งสองไม่ยอมแพ้ และตามหาพระองค์นานสามวัน และบัดนี้ พวกท่านขอคำอธิบาย ด้วยคำพูดที่แสดงความรัก แต่ทว่าเด็ดขาด
    พระนางมารีย์ทรงเป็นผู้ตั้งคำถาม พระนางต้องทนทรมานใจอย่างสาหัส เพราะความรักฉันมารดาของพระนาง ก่อนหน้านั้น ลูกากล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่าเป็น “พระกุมาร” (paisใน
ภาษากรีก) แต่บัดนี้ พระนางมารีย์เรียกพระองค์ว่า “ลูก” (teknon ในภาษากรีก) ซึ่งแสดงให้เห็นความเจ็บปวดในหัวใจของมารดาคนหนึ่ง
    วันทา พระแม่มารีย์ ท่านผู้ทรงเข้าใจความรู้สึกของมารดาทั้งหลายที่ชอกช้ำใจเพราะบุตรของตน โปรดภาวนาเพื่อเราเทอญ
พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”
    นี่คือข้อความแรกที่พระเยซูเจ้าตรัสในพระวรสาร เป็น
ครั้งแรกที่เราได้ยินพระองค์ตรัสภายในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งนับว่านาน พระเจ้าไม่พูดเรื่องไร้สาระ
    แต่พระวาจาแรกของพระเยซูเจ้ามุ่งหมายจะเผยแก่เราว่า พระองค์ทรงตระหนักดีว่าพระองค์ทรงเป็นใคร เมื่อ
พระนางมารีย์เอ่ยถึง “พ่อ” ของพระองค์ พระนางหมายถึง
“โยเซฟ” แต่เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสตอบ พระองค์หมายถึงใครบางคนที่พระองค์ทรงเรียกว่า “พระบิดาของลูก” และพระองค์ทรงรู้สึกว่าพระองค์ “อยู่ในบ้าน” ภายในพระวิหารอันสง่างามนี้ เมื่อพระองค์ทรงรับพิธีล้าง พระวาจาแรกของพระบิดาคือ “ท่านเป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (ลก 3:22)
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงหันไปหาพระบิดาเสมอ การ
เผยแสดงนี้นำพาเราเข้าสู่ธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพ
พระเยซูเจ้าทรงเคารพพระบิดาตั้งแต่พระองค์ยังอยู่ในวัยเยาว์ และคงไม่ผิดถ้าเราจะนึกเห็นภาพพระองค์ภาวนาด้วยความรักเป็นเวลานาน “ในบ้านของพระบิดาของพระองค์” เมื่อทรง
อายุเพียง 12 ปี พระวรสารบอกเราในเวลาต่อมาว่าพระเยซูเจ้าทรงภาวนาตลอดทั้งคืน (ลก 6:12) และพระวาจาประโยคสุดท้ายของพระองค์คือ “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46)
    เราเคยกล่าวถึงคำว่า “ต้อง” (dei ในภาษากรีก) คำที่เป็นภาษาพระคัมภีร์นี้บอกเราบ่อยครั้งว่าพระเยซูเจ้าทรงยึดมั่นในพระประสงค์ของพระบิดาอย่างไร “บุตรแห่งมนุษย์จำเป็นต้องรับการทรมานอย่างมาก” (ลก 17:25) “ถ้อยคำในพระคัมภีร์จะต้องเป็นความจริง” (ลก 22:37) “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) “ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรา ... จะต้องเป็นความจริง” (ลก 24:44) นักบุญเปาโล กล่าวถึง “ความเชื่อฟัง” ของพระเยซูเจ้า ซึ่งช่วยเราให้รอดพ้น (รม 5:19, ฮบ 10:5, ฟป 2:8) นี่คือหนึ่งในเคล็ดลับของบุคลิกภาพของพระเยซูเจ้า
    ส่วนเราเล่า เรายกให้พระเจ้าสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิตของเราหรือเปล่า “ข้าพเจ้าต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของข้าพเจ้า”
โยเซฟ พร้อมกับพระนางมารีย์ไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส
    ทั้งสองตามหาพระองค์จนพบ แต่ยังต้องแสวงหาพระองค์ต่อไป เพราะไม่เข้าใจพระองค์
    ทั้งสองเข้าใจเหตุการณ์อันน่าพิศวงเมื่อพระองค์ประสูติในเมืองเบธเลเฮมอย่างไร พระนางมารีย์จำได้ไม่ใช่หรือว่าเมื่อ
ทูตสวรรค์แจ้งข่าวต่อพระนาง เขาบอกว่า “เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และพระเจ้าสูงสุดจะทรงเรียกเขาเป็นบุตรของพระองค์”
    เมื่อเรายกให้ชีวิตของพระนางมารีย์เป็นแบบอย่าง เราต้องเข้าใจว่าพระนางมารีย์เองก็ต้องแสดงความเชื่อของพระนาง
พระนางก็ไม่เคยเห็นพระเจ้า การตอบรับพระประสงค์ของ
พระเจ้าเมื่อทูตสวรรค์แจ้งข่าวจะสมบูรณ์เพียงเมื่อพระนางตอบรับพระประสงค์ของพระเจ้าในเวลานี้ ท่ามกลางคืนมืดแห่งความเชื่อ โดยปราศจากความเข้าใจ แม้จะได้รับการเผยแสดงจาก
ทูตสวรรค์ แต่การแสดงความเชื่อก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปที่เมืองนาซาเร็ธกับบิดามารดา และเชื่อฟังท่านทั้งสอง พระมารดาเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย
พระเยซูเจ้าทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และ
พระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้ามนุษย์
    “พระนางทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” วันหนึ่งหลังจากนั้น แสงสว่างจะฉายส่อง นี่คือความหวัง
    พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตครอบครัวปกติอีก 18 ปีต่อมาท่ามกลางความเงียบของพระเจ้า นี่แสดงให้เห็นคุณค่าของ “กิจวัตรประจำวัน” ของชีวิต “ปกติ” และของชีวิต “ครอบครัว”