สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า


ลก 2:16-21
    เขาจึงรีบไปและพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่
คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่ คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
    เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรรภ์ของพระมารดา

บทรำพึงที่ 1
พระชนนีพระเป็นเจ้า
มารดา และแบบอย่าง
พระนางมารีย์ทรงเป็นมารดาของเรา และทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเราด้วย พระนางแสดงให้เราเห็นว่าเราควรวางใจในพระเจ้าอย่างไร
    พระสงฆ์องค์หนึ่งจัดการเข้าเงียบ เมื่อใกล้จะจบการเข้าเงียบ หญิงสาวคนหนึ่งยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้เขา เขาใส่จดหมายนั้นไว้ในกระเป๋าแล้วก็ลืมเสียสนิท หลังจากการเข้าเงียบ เขาจึงพบจดหมายฉบับนั้น และเปิดออกอ่าน ข้อความในจดหมายนั้นบอกว่า
    “ระหว่างแปดเดือนที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้เข้ารับการบำบัดจิต โดยที่มีคนรู้อยู่ไม่กี่คน เมื่อดิฉันเป็นเด็ก ดิฉันเคยประสบกับความกลัวอย่างสาหัสมาก่อน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังและการทำร้ายร่างกาย จุดประสงค์หลักของชีวิตดิฉันในเวลานี้ คือ เอาชนะและเปลี่ยนความกลัวนั้น คงไม่จำเป็นต้องเล่ารายละเอียด สาเหตุสำคัญของความกลัวของดิฉันคือแม่ของดิฉัน มันทำให้ดิฉันเกลียดหญิงทั้งหมายที่เป็นแม่ จนดิฉันจงใจปฏิเสธความรักของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า
    หลังจากได้ฟังคุณพ่อพูด ดิฉันออกไปเดินข้างนอก และ
รู้สึกว้าเหว่ที่สุด ดิฉันวิงวอนขอพระหรรษทานที่จะช่วยให้
ดิฉันทลายกำแพงที่กั้นไม่ให้ดิฉันไว้ใจใคร ดิฉันอยากร้องไห้
แต่ก็ร้องไห้ไม่ได้มานานหลายเดือนแล้ว
    คุณพ่อคงเห็นอาคารทรงกลมหลังเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้สุสาน ความอยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยประจำตัวของดิฉัน ดิฉันเดินไปที่นั่น และเปิดประตูเข้าไป เมื่อมองเข้าไปภายใน ดิฉันกลัวมาก
มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของพระนางมารีย์ตั้งอยู่ที่นั่น สัญชาตญาณแรกบอกให้ดิฉันวิ่งหนีด้วยความโกรธ แต่บางสิ่งบางอย่างดึงดูดดิฉันให้เดินช้า ๆ ไปที่แท่นสำหรับคุกเข่าที่ตั้งอยู่แทบเท้า
พระนาง ดิฉันคุกเข่าลง และร้องไห้น้ำตาหยดลงบนชายเสื้อของพระนาง หลังจากนั้น ดิฉันรู้สึกว่าตนเองสะอาดหมดจด และกลายเป็นคนใหม่ ดิฉันรู้สึกอยากจะเป็นบุตรที่ไว้วางใจ ที่สำคัญกว่านั้น ดิฉันรู้สึกว่าความรักของมารดาคนหนึ่งได้สัมผัสดิฉัน
ทำให้ดิฉันมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะให้อภัยแม่ของดิฉัน”
    เรื่องอันน่าประทับใจนี้เหมาะสมกับวันฉลองพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าในวันนี้ การฉลองนี้เน้นคุณสมบัติสองประการของพระนางมารีย์
    ประการแรก พระนางทรงเป็นมารดาของเรา พระนางไม่ได้เป็นเพียงพระมารดาของพระเยซูเจ้า ผู้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้
เมื่อ 2,000 ปีก่อน พระนางยังเป็นมารดาของเรา ผู้ยังมีชีวิตอยู่
ในวันนี้ด้วย และพระนางต้องการให้ความช่วยเหลือฉันมารดาแก่เรา จากที่ประทับของพระนางในสวรรค์
    ประการที่สอง พระนางมารีย์ทรงเป็นแบบฉบับของเรา
พระนางเป็นบุคคลที่เราสามารถชื่นชมและเลียนแบบได้ ขอให้ลองพิจารณาอุปนิสัยอย่างหนึ่งของพระนาง คือ ความวางใจของพระนางในพระเจ้า
    เมื่อทูตสวรรค์แจ้งต่อพระนางมารีย์ว่าพระนางจะตั้งครรภ์บุตรชายคนหนึ่งด้วยอานุภาพของพระจิตเจ้า พระนางรู้ว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นสาเหตุให้โยเซฟถอนหมั้นพระนาง และเขาก็เกือบจะทำเช่นนั้นจริง แต่พระนางก็ยังวางใจในพระเจ้า
    และเมื่อคนเลี้ยงแกะเล่าเรื่องที่ได้ยินจากทูตสวรรค์
พระนางมารีย์ไม่เข้าใจเรื่องที่พวกเขาพูด แต่พระนางก็วางใจในพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
    ต่อมา เมื่อพระนางมารีย์ และโยเซฟ นำพระกุมารมาถวายที่
พระวิหาร สิเมโอนบอกพระนางมารีย์ว่า “ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน” (ลก 2:35) นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระนางมารีย์ไม่เข้าใจ แต่พระนางก็วางใจในพระเจ้า
    หลังจากนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าอายุได้ 12 ปี พระองค์ไม่ตามบิดามารดากลับไปบ้าน แต่รั้งรออยู่ในพระวิหาร เมื่อพระนางมารีย์ถามเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” พระนางมารีย์ไม่เข้าใจอีกเช่นกัน แต่พระนางก็วางใจในพระเจ้า
    ดังนั้น ในวันนี้พระนางมารีย์จึงสามารถช่วยเราให้รู้จักไว้วางใจในพระเจ้า ขอให้เรานึกถึงเรื่องของหญิงสาวที่มาเข้าเงียบนั้น เธอเคยผ่านประสบการณ์ที่น่ากลัวในวัยเด็ก ซึ่งทำลายความสามารถของเธอที่จะวางใจผู้อื่น เธออยากจะกลับมาไว้วางใจได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ทำไม่ได้
    แล้ววันหนึ่ง โดยเหตุบังเอิญ เธอพบตนเองอยู่แทบเท้าของ
พระนางมารีย์ และตัดสินใจวิงวอนขอความช่วยเหลือจาก
พระนาง เธอพูดว่า “ดิฉันวิงวอนขอพระหรรษทานที่จะช่วยให้ดิฉันทลายกำแพงที่กั้นไม่ให้ดิฉันไว้ใจใคร” พระนางมารีย์ทรงรับฟังคำวิงวอนของเธอ และหญิงสาวผู้นี้ก็สามารถไว้ใจผู้อื่นได้อีกครั้งหนึ่ง
    พระนางมารีย์สามารถช่วยเราให้ไว้วางใจได้เหมือนกับที่พระนางช่วยเหลือหญิงสาวที่มาเข้าเงียบนั้น เช่น เราอาจเป็นบิดา หรือมารดาที่กำลังห่วงใยบุตรชาย หรือบุตรสาวคนหนึ่ง บางทีบุตรของเราอาจเลิกไปวัด หรือกำลังมีความสัมพันธ์ที่อันตราย และดูเหมือนว่าการภาวนา การแสดงแบบอย่างที่ดี หรือการอธิบายด้วยเหตุผลก็ช่วยอะไรไม่ได้
    สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือภาวนา และวางใจ และพระนางมารีย์จะช่วยเราให้ทำเช่นนี้ได้
    หรือเราอาจเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังกังวลกับชีวิตในอนาคต เราไม่แน่ใจว่าเราต้องการทำอะไร เราไม่แน่ใจว่าพระเจ้าต้องการให้เราทำอะไร เราได้พูดคุยกับบิดามารดา และที่ปรึกษาแล้ว เราถึงกับภาวนาขอคำแนะนำ แต่เราก็ยังมืดแปดด้าน
    สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือภาวนา และวางใจ และพระนางมารีย์จะช่วยเราให้ทำเช่นนี้ได้
    หรือเราอาจกำลังกังวลเรื่องความเชื่อของเรา เรารู้ว่าความเชื่อของเราไม่มั่นคง และเรากังวลเรื่องนี้ เราได้ภาวนาขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแล้ว แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ได้ยิน
คำภาวนาของเรา เราถึงกับเริ่มสงสัยว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่
    สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือภาวนา และวางใจ และพระนางมารีย์จะช่วยเราให้ทำเช่นนี้ได้
    ดังนั้น การฉลองวันนี้จึงเตือนใจเราถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจลืมไป คือ เตือนเราว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นแบบอย่างและเป็นมารดาของเรา พระนางเป็นผู้ที่เราขอความช่วยเหลือได้ในยามคับขัน พระนางสามารถช่วยเราได้ และพระนางต้องการช่วยเรา สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือหันไปพึ่งพระนาง
    ถ้าเรากำลังคิดว่า เราควรกำหนดข้อตั้งใจว่าจะทำอะไรใน
ปีใหม่นี้ คงไม่มีอะไรดีกว่าการแสดงความตั้งใจให้พระนางมารีย์
มีบทบาทให้มากขึ้นในชีวิตของเรา
    เราจะสรุปด้วยบทภาวนาที่นักบุญเบอร์นาร์ด เคยภาวนา
ทุกวันต่อพระนางมารีย์
    “โปรดระลึกเถิด โอ้พรหมจารีมารีย์ ผู้โอบอ้อมอารี
    แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่เคยได้ยินเลยว่า
    ผู้ที่มาพึ่งท่าน มาขอความช่วยเหลือคุ้มครองจากท่าน
    ถูกท่านทอดทิ้ง
    ข้าพเจ้าวางใจดังนี้ จึงวิ่งมาหาท่าน
    พรหมจารีแห่งพรหมจารีทั้งหลาย
    ข้าพเจ้าคนบาป คร่ำครวญเฉพาะพักตร์ของท่าน
    พระมารดาแห่งพระวจนาตถ์
    โปรดอย่าเมินเฉยต่อคำวิงวอนของข้าพเจ้า
    แต่โปรดสดับฟัง และโปรดด้วยเถิด อาแมน.


บทรำพึงที่ 2
พระชนนีพระเป็นเจ้า
ยังแสวงหา
พระนางมารีย์เคยทำอะไร เราก็ควรทำอย่างนั้น คือยอมให้
พระเยซูเจ้าบังเกิดมาในโลกของเรา ผ่านทางตัวเรา
    เมื่อหลายปีก่อน มีละครเพลงบรอดเวย์ซึ่งเป็นที่นิยมมากเรื่อง “สตรีแห่งปี” เป็นเรื่องของพิธีกรรายการทอล์กโชว์ทางทีวีคนหนึ่งชื่อ เทส ฮาร์ดิง
    ในละครนี้ เทสเป็นที่อิจฉาของสตรีชาวอเมริกันทุกคน เธอรู้จักคนดังทุกคนในยุคนั้น ตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐไปจนถึงดารานักร้องเพลงร็อก ที่สามารถเรียกแฟนเพลงมาฟังเต็มสนามกีฬาได้
    เทสจะสัมภาษณ์ และพูดคุยกับคนดังเหล่านี้ในรายการของเธอ เหมือนกับเราพูดคุยกับเพื่อน อาชีพของเทสรุ่งเรืองที่สุดเมื่อเธอได้รับเลือกให้เป็น “สตรีแห่งปี (Woman of the Year)” ในฉากหนึ่งของละคร เทสทิ้งจดหมายไว้ให้เลขานุการของเธอ บอกว่าเธอออกจากสำนักงานเพื่อไปสัมภาษณ์ผู้นำลัทธิหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมาก เธอปิดท้ายจดหมายด้วยอารมณ์ขันว่าถ้าเธอไม่กลับมาภายในสามวัน เลขานุการของเธอควรไปตามหาเธอที่สนามบินที่ ซึ่งเขาจะพบเธอกำลังแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ศาสนา
    ละครเวทีบรอดเวย์เรื่องนี้ และฉากขำขันนี้ เป็นคำนำที่เหมาะสมสำหรับการฉลองในวันนี้ วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ผู้ที่เราถวายเกียรติในวันนี้ไม่ใช่ “สตรีแห่งปี” หรือ “สตรีแห่งศตวรรษ” แต่เป็น “สตรีแห่งประวัติศาสตร์”
    เราจะพบเหตุผลที่เรายกย่องพระนางมารีย์ให้เป็น “สตรีแห่งประวัติศาสตร์” ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนในเมืองเล็ก ๆ ทางใต้แห่งหนึ่ง พระสงฆ์คาทอลิก และนักเทศน์นิกายโปรเตสแตนท์ประจำเมืองนั้นคิดว่าถ้าจะตั้งฉากเหตุการณ์ประสูติของพระเยซูที่จัตุรัสกลางเมืองได้ก็คงจะดี
    ดังนั้น ทั้งสองจึงจัดทำรายชื่อนักธุรกิจที่แต่ละคนจะ
ขอบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการนี้ นักธุรกิจคนหนึ่งในรายชื่อของพระสงฆ์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
รายสัปดาห์ของเมืองนี้ เมื่อพระสงฆ์ไปพบบรรณาธิการผู้นี้ และบอกเขาว่า “ลูกหลานของเราคงได้รับแรงบันดาลใจที่เห็นเราให้เกียรติพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และโยเซฟ ที่จัตุรัสกลางเมืองของเรา”
    บรรณาธิการกล่าวว่า “ผมเห็นด้วย แต่ขอให้ตัด
พระนางมารีย์ออกไปจากฉากนี้ เพราะการให้ความสำคัญกับ
พระนางมากเช่นนี้ที่จัตุรัสใจกลางเมืองอาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเรากำลังเข้าข้างนิกายคาทอลิก”
    พระสงฆ์ตอบว่า “ผมยินดีจะตัดพระนางมารีย์ออกไปจากฉากนี้ ถ้าคุณจะอธิบายให้ลูกหลานของเราเข้าใจได้ว่า
พระเยซูเจ้าเกิดมาได้อย่างไรโดยปราศจากพระนาง”
    พระนางมารีย์สมควรได้รับตำแหน่ง “สตรีแห่งประวัติศาสตร์” เพราะพระนางทรงให้กำเนิดพระเยซูเจ้า เรายกย่องพระนางเช่นนี้เพราะพระนางเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า เราให้เกียรติพระนางมารีย์ เพราะถ้าปราศจากพระนาง
พระเยซูเจ้าย่อมไม่สามารถมาบังเกิดในโลกของเราได้ พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระองค์ พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระบุตรนิรันดรของพระเจ้า
    ยังมีเหตุผลข้อที่สองที่ทำให้ละครเวทีบรอดเวย์ เรื่องสตรีแห่งปี เป็นเรื่องที่เกริ่นนำที่เหมาะสมสำหรับวันฉลองในวันนี้
    ในบทละครเรื่องนี้ เทส ฮาร์ดิง บอกเลขานุการของเธอว่าถ้าเธอไม่กลับมาจากการสัมภาษณ์ภายในสามวันเขาจะพบว่าเธอกำลังแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ศาสนาอยู่ที่สนามบิน ที่เป็น
คำยอมรับกลาย ๆ ว่า แม้เธอจะประสบความสำเร็จ แต่เธอยังไม่พบกับความอิ่ม
    แม้ว่าเทสได้รับการประกาศให้เป็น “สตรีแห่งปี” แต่เธอยังแสวงหาบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยให้ชีวิตของเธอมีความหมายที่ลึกมากขึ้น เธอยังแสวงหาบางสิ่งบางอย่างนอกจากชื่อเสียงทางโลก และทรัพย์สินเงินทอง
    เธอเหมือนกับ เจอรี่ แครเมอร์ ผู้ได้รับเลือกให้อยู่ใน
ทีมฟุตบอลมืออาชีพถึงสี่ครั้ง แม้ว่าเขาได้รับเกียรติมากเช่นนี้ เขาก็ยังเขียนในหนังสือของเขาชื่อ Instant Replay ว่า “ผมสงสัยบ่อย ๆ ว่าจุดประสงค์ของการที่ผมอยู่ในโลกนี้คืออะไร นอกเหนือจากการเล่นเกมโง่ ๆ ที่ผมเล่นอยู่ทุกวันอาทิตย์”
    เราทุกคนมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกับตัวละครชื่อเทส ฮาร์ดิง และบุคคลที่มีตัวตนจริง ๆ อย่างเจอรี่ เครเมอร์ เราเองก็กำลังมองหาอะไรอื่นที่มากกว่าเกียรติยศที่ไม่จีรังที่เป็นผลพลอยได้จากชื่อเสียงและเงินทอง เราเองกำลังแสวงหาบางสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้น
    ชีวิตของพระนางมารีย์มีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น เมื่อ
พระนางตกลงยินยอมให้พระเยซูเจ้ามาบังเกิดในตัวพระนาง
พระนางตอบทูตสวรรค์กาเบรียลว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38)
    ถ้อยคำของพระนางมารีย์คือกุญแจที่เปิดเผยความหมายที่ลึกยิ่งกว่าที่เราทุกคนกำลังแสวงหา ชีวิตของเราจะมีความหมายที่ลึกยิ่งกว่าเพียงเมื่อเราทำอย่างที่พระนางมารีย์ทรงกระทำ คือยินยอมให้พระเยซูเจ้ามาบังเกิดในตัวเรา
    เมื่อเราหันทิศทางชีวิตของเราไปหาพระเจ้า และยินยอมให้
พระเยซูเจ้าบังเกิดในตัวเราเท่านั้น ชีวิตของเราจึงจะมีความหมายที่ลึกยิ่งขึ้น วันใดที่เราพูดกับพระเจ้าอย่างที่
พระนางมารีย์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า” วันนั้น เราจะพบความหมายที่ลึกยิ่งกว่าที่เรากำลังแสวงหา
    ถ้าเรากำลังอยากรู้ว่าจะกำหนดข้อตั้งใจอะไรสำหรับปีใหม่นี้ เราจะไม่พบสิ่งใดที่ดีกว่าการตั้งใจว่าจะเลียนแบบพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า เพราะชีวิตของเราจะมีความหมายที่ลึกยิ่งขึ้นเพียงเมื่อเราทำอย่างที่พระนางเคยทำ และยอมให้
พระเยซูเจ้าบังเกิดในตัวของเรา
    ถ้าเราทำเช่นนั้น วันหนึ่ง เราจะสามารถภาวนาได้เหมือนกับที่
พระนางเคยภาวนาว่า :
    จิตใจข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า ...
    ตั้งแต่นี้ไปชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข
    พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า
    พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ ...
    พระองค์ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์
    และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น
    พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก
    ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า (ลก 1:46-53)

 

บทรำพึงที่ 3
อัฐมวารพระคริสตสมภพ – สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า
บทอ่านที่ 1 - กันดารวิถี 6:22-27 
    พระยาเวห์ตรัสสั่งโมเสสให้บอกอาโรมและบรรดาบุตรว่า “ท่านทั้งหลายจะต้องอวยพรชาวอิสราเอลดังนี้ ท่านจะต้องกล่าวว่า ขอพระยาห์เวห์ทรงอวยพรท่าน และพิทักษ์รักษาท่าน ขอ
พระยาห์เวห์ทรงสำแดงพระพักตร์แจ่มใสต่อท่าน และโปรดปรานท่าน ขอพระยาห์เวห์ทรงผินพระพักตร์มายังท่าน และประทานสันติแก่ท่านด้วยเทอญ สมณะจะต้องเรียกขานนามของเราให้ลงมาเหนือชาวอิสราเอลเช่นนี้ แล้วเราจะอวยพรเขาทั้งหลาย”
คำอธิบาย    หลังจากการอพยพออกจากแผ่นดินอียิปต์ และหลังจากพระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาบนภูเขาซีนาย กับประชากรเลือกสรรแล้ว พระเจ้าทรงสั่งให้โมเสสแยกชนเผ่าเลวีออกจากชนเผ่าอื่น ให้ชนเผ่าเลวีทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาและประกอบพิธีกรรมในนามของ และเพื่อชนเผ่าอื่น ๆ ผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากอาโรน ซึ่งเป็นผู้นำของชนเผ่าเลวี จะเป็นสมณะที่เป็นผู้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาและประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ ส่วนชาวเลวีอื่น ๆ ที่เป็นชายจะมีหน้าที่ช่วยเหลือสมณะ พิธีกรรมอย่างหนึ่งของสมณะคือต้องอวยพรประชาชนหลังจากถวายเครื่องบูชาแล้ว และในโอกาสพิเศษอื่น ๆ การอวยพรนี้เป็นรางวัลที่ประชาชนปฏิบัติตามพันธสัญญา และเป็นประกันว่า
พระพรที่ทุกชนชาติจะได้รับผ่านทางอับราฮัมจะกลายเป็นจริงในวันหนึ่งข้างหน้า
    คำอวยพรที่พระเจ้าทรงบอกกับโมเสสนี้ บันทึกไว้ในหนังสือกันดารวิถี ที่นำมาอ่านในพิธีมิสซาวันนี้
    พระยาห์เวห์ทรงอวยพรท่านและพิทักษ์รักษาท่าน – การอวยพรของพระเจ้าหมายถึงสันติสุข และความเจริญรุ่งเรืองบนโลกนี้ และเป็นการรื้อฟื้นความหวังว่าเราจะได้รับพระพรยิ่งใหญ่ในอนาคต
    ทรงสำแดงพระพักตร์แจ่มใสต่อท่าน – หมายความว่า ขอให้พระเจ้าทรงเป็นมิตรกับท่าน
    และโปรดปรานท่าน – ขอให้พระองค์ประทานพระคุณต่าง ๆ แก่ท่าน
    ทรงผินพระพักตร์มายังท่าน และประทานสันติแก่ท่าน – ขอให้ท่านเป็นผู้ที่พระองค์โปรดปรานต่อไป และขอให้พระองค์คุ้มครองท่านให้ปลอดภัยจากศัตรูทั้งปวง เพื่อท่านจะดำรงชีวิตท่ามกลางสันติสุข
    เราจะอวยพรเขา – ข้อความนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความปรารถนาของสมณะในนามของประชาชน แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระองค์จะประทานให้เมื่อเขาวิงวอนขอพระองค์ตามที่พระองค์ทรงสั่ง
คำสั่งสอน ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำต่อประชากรเลือกสรรแห่งพันธสัญญาเดิม การเรียกอับราฮัม การอพยพ พิธีกรรม และการอวยพรแบบพิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้าเพื่อเตรียมทางสำหรับกิจการอันเป็นพระพรยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ที่จะเกิดขึ้น คือ การเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าจะเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์เพื่อให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า คำสัญญาทั้งปวงของพระเจ้า การดูแลเอาใจใส่ฉันบิดาของพระเจ้าต่อประชากรเลือกสรร และพระพรต่าง ๆ ที่พระองค์ประทานแก่มนุษย์ตลอดหลายศตวรรษต่อมา ได้กลายเป็นความจริง และบรรลุถึงจุดสูงสุดเมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาบนโลกมนุษย์
    และมนุษย์คนเดียวที่ได้รับพระพรต่าง ๆ ตามคำสัญญาอย่างสมบูรณ์ก็คือพระนางพรหมจารีมารีย์ เมื่อพระนางตรัสว่า “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” เพราะในเวลานั้นเอง พระนางก็ทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าในครรภ์ของพระนาง คำพูดของทูตสวรรค์กาเบรียลเมื่อมาแจ้งข่าว เป็นหลักฐานยืนยันความจริงข้อนี้ ทูตสวรรค์ทักทาย
พระนางว่าพระนางเป็น “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” กล่าวคือ
พระนางเป็นมิตรกับพระเจ้าอย่างแท้จริง พระองค์โปรดปรานพระนาง “ทรงผินพระพักตร์มายังพระนาง” พระองค์ประทับอยู่กับพระนางเหมือนเป็นเพื่อนสนิท “พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน” และเสริมอีกด้วยว่า “ท่านผู้มีบุญกว่าหญิงใด ๆ” เพื่อแสดงว่าไม่เคยมีหญิง (หรือชาย) คนใดเคยได้รับพระพรอย่างสมบูรณ์เช่นนี้จากพระเจ้าจนกระทั่งบัดนี้
    พระยศที่พระศาสนจักรถวายแด่พระนาง และเป็นพระยศที่ได้รับการรับรองจากสภาสังคายนาที่เอเฟซัส (431) ว่า “พระชนนีพระเป็นเจ้า” แสดงความจริงทั้งหมดนี้ พระนางทรงกลายเป็นพระมารดาของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และ
พระบุตรของพระเจ้า นี่คือเกียรติยศ และศักดิ์ศรีที่ไม่มีมนุษย์
คนใดคิดว่าเป็นไปได้ แต่ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้
    ดังที่พระนางเองได้กล่าวไว้ในบทเพลงสรรเสริญของ
พระนางว่า “พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า” และเราไม่ควรลืมว่าเมื่อพระองค์ประทานเกียรติแก่พระนางมารีย์ ผู้ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา พระองค์ก็ประทานเกียรติแก่เราทุกคนด้วย อาศัยกิจการแห่งความรัก และการถ่อมพระองค์ลงมาของพระเจ้า ซึ่งทำให้พระคริสตเจ้าทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ได้ มนุษยชาติทั้งมวลที่มีพระนางมารีย์เป็นแบบอย่างอันสมบูรณ์ที่สุด ก็ได้รับการยกย่องขึ้นสู่สถานภาพใหม่ เป็นสภาพเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ เราได้กลายเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นน้องของพระคริสตเจ้า และเป็นทายาทแห่งสวรรค์
    วันนี้ ขอให้เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระหรรษทานทั้งปวงที่พระองค์ประทานแก่พระนางมารีย์ ซึ่งเราทุกคนได้รับประโยชน์จากพระหรรษทานเหล่านี้ด้วย เมื่อพระนางทรงเป็นพระมารดาของพระคริสตเจ้า พระนางก็เป็นมารดาของเราเช่นกัน พระนางจะไม่ลืมเรา พระนางทรงสนใจในสวัสดิภาพแท้ของเรามากกว่ามารดามนุษย์ใด ๆ จะสนใจได้ และพระนางจะทรงช่วยเราระหว่างการเดินทางไปสู่สวรรค์ ถ้าเรามอบตนเองให้พระนางทรงดูแลอย่างมารดา
บทอ่านที่สอง - กาลาเทีย 4:4-7
    เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง เกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตร
บุญธรรม ข้อพิสูจน์ว่าท่านทั้งหลายเป็นบุตรก็คือ พระเจ้าทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงอันดังว่า “อับบา พ่อจ๋า” ดังนั้น ท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร ถ้าเป็นบุตรก็ย่อมเป็นทายาทตามพระประสงค์ของพระเจ้า
คำอธิบาย – ชาวกาลาเทีย ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในเอเชียน้อย
(ส่วนหนึ่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ได้กลับใจหลังจากฟัง
คำเทศน์สอนของนักบุญเปาโล ระหว่างการเดินทางธรรมทูตครั้งที่สองของเปาโล (50-55)ชาวกาลาเทียยอมรับความเชื่อของคริสตศาสนาอย่างเต็มใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งมีผู้นิยมลัทธิยิวบางคนเข้ามาก่อความวุ่นวายโดยบอกชาวเมืองว่า คำสั่งสอนของเปาโลเป็นคำสอนที่ผิด และธรรมบัญญัติเดิมยังมีผลบังคับอยู่ และคริสตชนต้องยอมรับด้วย เปาโลต่อต้านความคิดนอกรีตนี้โดยเขียนจดหมายจากเมือง
เอเฟซัส และอธิบายว่าการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าทำให้ธรรมบัญญัติเดิมสำเร็จไป และไม่มีผลบังคับอีกต่อไป เงามืดถูกขับไล่ให้พ้นไปจากความเป็นจริงแล้ว คริสตชนเป็นอิสระจากการเป็นทาสของธรรมบัญญัติเดิม เพราะบัดนี้ พวกเขาได้กลายเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว
    เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ – ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์
บนโลกนี้ โดยเฉพาะช่วงเวลาของพันธสัญญาเดิม เป็นช่วงเวลาของคำสัญญา และการเตรียมการ เวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ตั้งแต่นิรันดรกาล เพื่อทำให้คำสัญญาเหล่านี้เป็นจริง มาถึงเมื่อ...
    พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ – นับตั้งแต่วันที่
พระคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพปรากฏพระองค์แก่เปาโล ตาม
ทางสู่เมืองดามัสกัส (กจ 9:1-19) เปาโลมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า
พระคริสตเจ้าผู้ทรงดำรงชีพในปาเลสไตน์ และสิ้นพระชนม์
บนไม้กางเขน ทรงเป็นพระบุตรแท้ของพระเจ้า และยังเป็น
พระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะส่งมาด้วย
    ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง – เปาโลไม่ได้เอ่ยชื่อ
พระนางมารีย์ เขาไม่สนใจจะกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่รู้กันแล้วในกลุ่มคริสตชนใหม่ สิ่งที่เขาเน้นย้ำคือความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้า เขาได้กล่าวถึงพระเทวภาพของพระองค์แล้ว และโดยเฉพาะเขากำลังเน้นย้ำถึงการถ่อมพระองค์ลงมาของพระบุตรพระเจ้า ผู้ทรงยอมมาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่งเหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป
    เกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ – นี่ก็เป็นความอัปยศอีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงเป็นผู้ตั้งธรรมบัญญัติ แต่เพื่อให้เป็นไปตาม
คำทำนายในพันธสัญญาเดิม พระองค์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์จากเชื้อสายคนหนึ่งของอับราฮัม และกลายเป็นหนึ่งในชนชาติที่ได้รับเลือกสรร
    เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ – เนื่องจากคำสัญญานั้นกระทำต่อ “ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ” คือประชากรเลือกสรร ดังนั้น พระวรสารแห่งการไถ่กู้จึงถูกเสนอให้คนเหล่านี้ก่อน
    ทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม – ผลลัพธ์จากการเสด็จมาของ
พระคริสตเจ้า คือ มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเป็นชาวยิว หรือคนต่างศาสนา สามารถกลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า ทุกคนที่ยอมรับพระคริสตเจ้าจะได้รับการยกชูขึ้นสู่สถานภาพใหม่ ชีวิตเหนือธรรมชาติใหม่ เมื่อเขารับศีลล้างบาป
    อับบา (พ่อจ๋า) – เมื่อเราเป็นบุตรบุญธรรม เราจึงสามารถเรียกพระเจ้าว่าพระบิดาได้อย่างเต็มปาก เหมือนกับที่
พระคริสตเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้เรียกพระเจ้าเช่นนั้น พระจิตของพระบุตร หรือพระจิตเจ้าที่เราได้รับเมื่อรับศีลล้างบาป ทำให้เราได้รับเอกสิทธิ์นี้
    ดังนั้น ท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร ถ้าเป็นบุตรก็ย่อมเป็นทายาทตามพระประสงค์ของพระเจ้า – เอกสิทธิ์อันเป็นผลตามมาจากการเป็นบุตรนี้ ทำให้เรากลายเป็นทายาทที่สมควรได้รับความสุขของพระองค์ คือความสุขสวรรค์ – ในฐานะมนุษย์ เราไม่มีวันไขว่คว้าเอกสิทธิ์เช่นนั้นมาได้ด้วยตัวเราเอง แต่การเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าทำให้เราได้รับ
เอกสิทธิ์นั้น และนี่คือกิจการอันเกิดจากความรักแท้ของพระเจ้า
คำสั่งสอน – ชาวกาลาเทียเป็นคนต่างศาสนาที่เปาโลเทศน์สอนให้กลับใจเป็นคริสตชนได้ไม่นาน ชาวกาลาเทียกำลังถูกก่อกวนความเชื่อโดยกลุ่มผู้นิยมลัทธิยิว ซึ่งหมายถึงชาวยิวที่แสร้งทำตัวเป็นคริสตชน แต่ไม่ได้เป็นจริง ชาวยิวเหล่านี้บอก คริสตชนใหม่ว่าศาสนาคริสต์ไม่ใช่ศาสนาใหม่ แต่เป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของศาสนายิว ดังนั้น คริสตชนใหม่เหล่านี้จึงต้องเข้าสุหนัตและยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ของธรรมบัญญัติเดิม
ในจดหมายของเปาโล เขาตอบโต้ความเท็จนี้อย่างรุนแรง เขาบอกว่าศาสนาคริสต์ไม่ใช่ศาสนายิวปฏิรูป แต่มาแทนที่ศาสนายิว ศาสนายิวเป็นเพียงการเตรียมตัว ส่วนศาสนาคริสต์คือความสำเร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ธรรมบัญญัติเดิมเป็นเพียงเงาของสิ่งที่จะมาถึง ศาสนาคริสต์คือความเป็นจริง
    “เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้” ช่วงเวลาของการเตรียมการและ
คำสัญญาจึงสิ้นสุดลง มนุษย์ไม่เป็นทาสของธรรมบัญญัติ หรือเป็นทาสของศาสนาที่นับถือเทพเจ้าต่าง ๆ และประเพณีเดิมของตน บัดนี้ พวกเขาเป็นอิสรชน และเป็นมนุษย์ใหม่ เป็นบุตรของพระเจ้า บัดนี้ เขาสามารถเรียกพระเจ้าว่า “อับบา พ่อจ๋า”
ได้อย่างแท้จริง เพราะ “พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” พระบุตรเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์แล้ว มนุษย์จึงไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้นอีกต่อไป แต่ได้รับชีวิตใหม่จากศีลล้างบาป บัดนี้ พวกเขาได้มีส่วนร่วมในชีวิตพระเจ้า เพราะพระคริสตเจ้าทรงมาร่วมรับชีวิตมนุษย์กับเขา
    เราคริสตชนทุกวันนี้เข้าใจเอกสิทธิ์ที่เราได้รับจากการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าหรือไม่ เราตระหนัก
อย่างแท้จริงหรือไม่ ว่าศาสนาคริสต์ของเรามีความหมายอย่างไรสำหรับเรา เมื่อเราสวดว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์” เราเข้าใจบ้างไหมว่าเรากำลังพูดอะไร ถ้าเราได้รับอนุญาตให้เรียกพระเจ้าว่าพระผู้สร้างของเรา ก็ควรเตือนใจเราว่าเราเป็นหนี้พระองค์มากมายเพียงไร และเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างไร แต่การมีสิทธิเรียกพระองค์ว่า
พระบิดา พระบิดาผู้ทรงรักเรามากจนทรงยอมรับเราเป็นบุตรของพระองค์ และทรงพร้อมจะแบ่งปันความสุขนิรันดรกับเรา
นี่คือเอกสิทธิ์อันยิ่งใหญ่จนเราไม่อยากเชื่อ
    แต่นี่แหละคือผลลัพธ์ของธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ของ
ความรักของพระเจ้า คือการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของ
พระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นข้อความเชื่อหลักของศาสนาคริสต์ วันฉลองพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าในวันนี้ เตือนเราให้คิดถึงความจริงอันเป็นพื้นฐานของความเชื่อข้อนี้ของเรา
“พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิง
ผู้หนึ่ง” หญิงผู้นี้คือพระนางมารีย์ ผู้ที่ เวิร์ดสเวิร์ธ บรรยายว่าเป็น “ข้ออวดอ้างเพียงอย่างเดียวของธรรมชาติเปื้อนมลทินของเรา”
ในบรรดาบุตรหญิงชายทั้งหลายของมนุษย์ พระนางมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดที่สุดกับของขวัญที่พระเจ้าประทานแก่เรา คือการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า พระนางปฏิสนธิ
พระคริสตเจ้าในธรรมชาติมนุษย์ในครรภ์ของพระนาง พระนางทรงอุ้มพระองค์ไว้ในครรภ์เป็นเวลาเก้าเดือน และทรงให้กำเนิดพระองค์ในเมืองเบธเลเฮ็ม พระนางให้พระองค์ดื่มนมเมื่อพระองค์ยังเป็นทารก พระนางดูแล และเลี้ยงดูพระองค์เมื่อทรงเป็นเด็กและวัยรุ่น ท้ายที่สุด พระนางทรงถวายพระองค์บน
เนินเขากัลวารีโอเพื่อเรา และพระบุตรของพระนางนี้เองทรงเป็น
พระบุตรของพระเจ้ามาตลอดนิรันดร
    เราคริสตชนได้รับเอกสิทธิ์ให้เป็นบุตรของพระเจ้าผ่านทางการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า แต่เป็นเอกสิทธิ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่ามากมายนักสำหรับบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็น
พระมารดาของพระเจ้า และเป็นมนุษย์ที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักที่สุด เป็นผู้ช่วยเหลืองานในธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระองค์เพื่อเรา พระเจ้าทรงรักเรา เราไม่สงสัยข้อนี้เลย พระนางมารีย์ก็รักเราเช่นกัน เพราะเราเป็นน้องของพระบุตรของพระเจ้า ผู้ที่พระนางรักมากที่สุด พระนางต้องการให้เราได้รับรางวัลจากการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นกิจการที่พระนางแสดงบทบาทสำคัญ รางวัลนั้นคือการมีส่วนร่วมในความสุขของพระเจ้าตลอดนิรันดร เมื่อถึงเวลาพิพากษาของเรา พระนางจะทรงขอรางวัลนี้มาประทานแก่เรา ถ้าเราได้พยายามรักและเคารพพระนางในชีวิตของเรา ถ้าเราสวดบทภาวนาที่พระศาสนจักรสอนเราอย่างศรัทธา ครุ่นคิดบ่อยครั้งว่า “สันตะมารีย์
พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้” เพื่อให้เราสามารถเผชิญหน้ากับยามที่เรา “จะตาย”
ได้อย่างมั่นใจ อาแมน


พระวรสาร -    ลูกา 2:21
    เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่
ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา
คำอธิบาย - ดูคำอธิบายข้อ 16-20 จากพระวรสารสำหรับมิสซาเช้าวันพระคริสตสมภพ
    เมื่อครบกำหนดแปดวัน – การเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายภายนอกของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับอับราฮัม และลูกหลานของเขา (ดู ปฐก 17:12 และ ลนต 12:3) เด็กชายทุกคนต้องเข้าสุหนัตหลังจากเกิดมาได้แปดวัน เพื่อจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเลือกสรร ในพิธีนี้ เด็กจะได้รับการตั้งชื่อ
    เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู – เยโฮชูวา (Joshuah) ในภาษาฮีบรู หมายความว่าพระยาเวห์ ทรงช่วยให้รอดพ้น ในพระวรสารของมัทธิว ทูตสวรรค์อธิบายความหมายของพระนามนี้แก่โยเซฟ ว่า “เขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21)
    เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิ
ในพระครรภ์ของพระมารดา – ทูตสวรรค์กาเบรียล ได้บอก
พระนางมารีย์ว่าบุตรที่พระนางจะให้กำเนิดจะชื่อว่าเยซู และบอกว่า และพระองค์จะเป็นพระเมสสิยาห์ ผู้ไถ่กู้ประชากร
(ลก 1:30-33)
คำสั่งสอน – เรื่องของคนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยแห่งเบธเลเฮม ที่
มาพบพระเยซูเจ้า “มีผ้าพันกายนอนอยู่ในรางหญ้า”
เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในบทอ่านประจำมิสซาเช้าของวัน
พระคริสตสมภพ และอ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ เพราะเรากำลังฉลองความเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้าของพระนางมารีย์ และเป็นการฉลองพระคริสตสมภพอีกครั้งหนึ่ง เป็นการฉลองการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระผู้ไถ่ของเรา แต่วันนี้ พระศาสนจักรเน้นที่บทบาทของพระนางมารีย์ ในธรรมล้ำลึกแห่งความรัก
อันน่าพิศวงของพระเจ้าต่อมนุษย์
    คริสตชนบางคนไม่เห็นความสำคัญของบทบาทของ
พระนางมารีย์ในการไถ่กู้มนุษยชาติ ทั้งที่พระเจ้าเองทรงเป็น
ผู้เลือกพระนางตั้งแต่นิรันดรกาลให้มารับบทบาทนี้ และผู้ถือสารของพระเจ้าเป็นผู้ประกาศว่าพระนางทรงเป็น “ผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” พระนางเป็นเพื่อนคนพิเศษของพระเจ้า เพราะ “พระเจ้าสถิตกับพระนาง” คนเลี้ยงแกะผู้ต่ำต้อยตามหาพระผู้ไถ่ “ผู้ที่
พระเจ้าทรงบอกข่าวดีเรื่องการประสูติของพระองค์ให้พวกเขารู้” คนเลี้ยงแกะพบพระนางมารีย์ก่อน แล้วก็พบโยเซฟ (ผู้มีบทบาทสำคัญมากในแผนการของพระเจ้า รองจากพระนางมารีย์) จากนั้น จึงพบ “พระกุมารซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า”
    เมื่อเราเชื่อคำพูดที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ใน
พระวรสารของมัทธิว และลูกา ผู้ย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของพระนางมารีย์ในการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของ
พระคริสตเจ้า และเชื่อในคำสั่งสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกนับแต่นั้นมา เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะลดพระเกียรติ และความกตัญญูที่เราควรแสดงต่อพระเจ้า ถ้าเราให้เกียรติพระนางมารีย์ในฐานะมารดาของเรา เพราะพระเจ้าทรงให้เกียรติพระนางก่อน โดยทรงเลือกให้พระนางเป็นพระมารดาของพระบุตรของพระองค์ นอกจากนี้ สิ่งสุดท้ายที่พระผู้ไถ่ของเราทรงกระทำก่อนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนก็คือทรงตั้งพระมารดาของพระองค์ให้เป็นมารดาของเรา โดยมีนักบุญยอห์นเป็นผู้แทนของเรา เมื่อพระองค์ตรัสว่า “นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:27) และคงจะถือได้ว่าเราไม่นบนอบต่อพระคริสตเจ้า ถ้าเราไม่ยอมรับพระนางเป็นมารดาของเรา และจะเป็นการไม่นบนอบต่อพระวาจาของ
พระเจ้าที่เผยแสดงต่อเรา ถ้าเราปฏิเสธความความเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้าของพระนาง พระเจ้าทรงเลือกพระนางเป็น
พระมารดาของพระเมสสิยาห์ พระผู้ไถ่ ผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระองค์
    พระนางมารีย์ เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นมนุษย์ที่
พระเจ้าทรงคัดเลือกไว้ให้เป็นพระมารดาของธรรมชาติมนุษย์ของพระผู้ไถ่ ธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรของพระองค์ต้องรับไว้เพื่อไถ่กู้ และยกชูมนุษย์ขึ้น พระนางมารีย์ได้รับศักดิ์ศรีนี้ มิใช่เพราะบุญบารมีของพระนาง เกียรติยศนี้เป็นของประทานจากพระเจ้าโดยแท้ พระนางเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักและประกาศความจริงข้อนี้ เมื่อพระนางตรัสว่า พระเจ้า “ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์” (ลก 1:48) เมื่อเราถวายเกียรติแด่
พระนาง แท้จริงแล้วเรากำลังถวายพระเกียรติ และขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ประทานพระพร และเอกสิทธิ์อันน่าพิศวงนี้แก่บุคคลหนึ่งที่เป็นมนุษย์เหมือนเรา
    พระเจ้าทรงสามารถส่งพระบุตรของพระองค์มายังโลกนี้ได้ โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากมารดาคนหนึ่งที่เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงสามารถเนรมิตสร้างธรรมชาติมนุษย์โดยตรงให้
พระบุตรจุติมาในวัยฉกรรจ์ได้ แต่พระองค์กลับทรงทำให้
พระบุตร “เหมือนกับเราทุกประการยกเว้นบาป” และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พระองค์จึงต้องเกิดจากมารดาที่เป็นมนุษย์ ดังที่
นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” หญิงนั้นคือพระนางมารีย์ ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ พระนางทรงเป็นผู้รับใช้ที่ได้รับเอกสิทธิ์ของพระเจ้า และเมื่อเราให้เกียรติเอกสิทธิ์นั้น เราก็ให้เกียรติพระเจ้าผู้ทรงถ่อมพระองค์ลงมาหาเราด้วยความรัก พระองค์ไม่ทรงคิดว่าการส่งพระบุตรของพระองค์ลงมาให้เราก็เพียงพอแล้ว แต่ยังทรงกำหนดให้พระบุตรบังเกิดมาจากมนุษย์ที่อ่อนแอ ผู้ซึ่งพระองค์ประทานพระหรรษทานที่จำเป็นให้มาโดยตลอด
    ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตร ขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ประทานบทบาทอันมีเกียรติให้แก่ “หนึ่งในมนุษย์อย่างเรา” ในการแสดงความรักของพระองค์ ขอให้เรามีคุณค่าสมควรได้รับพระพรแห่งความรัก
อันไร้ขอบเขตที่พระองค์ประทานแก่เราเสมอไปเทอญ