แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
วันอาทิตย์หลังวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์


ลูกา 3:15-16, 21-22
    ขณะนั้น ประชาชนกำลังรอคอย ทุกคนต่างคิดในใจว่ายอห์นเป็นพระคริสต์หรือ ยอห์นจึงประกาศต่อหน้าทุกคนว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำ
พิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมา และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้า และด้วยไฟ”
    ขณะนั้น ประชาชนทั้งหมดกำลังรับพิธีล้าง พระเยซูเจ้าก็ทรงรับพิธีล้างด้วย และขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ท้องฟ้าก็เปิดออก และพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ มีรูปร่างที่เห็นได้ดุจนกพิราบ แล้วมีเสียงจากสวรรค์ว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา”

บทรำพึงที่ 1
ชีวิตศีลล้างบาป
    คำว่า Baptism (ศีลล้างบาป) มาจากภาษากรีก แปลว่าการอาบน้ำ หรือชำระตัวให้สะอาด รูปแบบของพิธีกรรมที่ใช้น้ำ เป็นสัญลักษณ์อันชัดเจนของการชะล้างคราบไคลของพฤติกรรม
ผิด ๆ ในอดีตออกไป เมื่อเราต้องการเข้าสู่สถานะใหม่ของชีวิต ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เรียกร้องให้ประชาชนสำนึกผิดในวิถีชีวิตบาปของตน และแสดงเจตจำนงว่าต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการเข้ารับพิธีล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำจอร์แดน
    น้ำเป็นสัญลักษณ์ที่มีหลายความหมาย เราใช้น้ำล้าง
สิ่งสกปรก และเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างความผิดให้หมดไป น้ำเป็นพลังแห่งความตาย แต่เป็นพลังแห่งชีวิตด้วย น้ำ
ในอุทกภัยนำความหายนะ และความตาย แต่ในแง่ของพลังที่ให้ชีวิต ไม่มีสิ่งมีชีวิตรูปแบบใดที่รอดชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากน้ำ
    พิธีล้างด้วยน้ำของยอห์น กระตุ้นให้เกิดความคาดหมาย
พระเมสสิยาห์ในหมู่ประชาชน แต่ยอห์นรีบบอกให้ประชาชนคอยผู้ที่จะตามหลังเขามา ผู้ที่จะทำพิธีล้างมิใช่ด้วยน้ำเท่านั้น แต่ด้วยพระจิตเจ้า และไฟแห่งชีวิตพระเจ้า
    ต่างจากมัทธิวและมาระโก ลูกาไม่เล่ารายละเอียดของการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าจากยอห์น เขาเพียงแต่บอกว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และให้ความสนใจมากกว่ากับการแสดงพระองค์ของพระเจ้าซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง
    ลูกาบอกเราว่า ขณะนั้น พระเยซูเจ้าทรงกำลังอธิษฐานภาวนา ในบทภาวนาสำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จ เราวิงวอนพระเจ้าให้ทรงเปิดท้องฟ้าและเสด็จมาหาเรา พระเจ้าทรงตอบคำภาวนานี้ ท้องฟ้าเปิดออก และพระเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่าประทับอยู่ที่นั่น ในรูปร่างที่เห็นได้ว่าคล้ายนกพิราบ และด้วยเสียงของพระบิดา พระคัมภีร์แสดงความเคารพเสมอต่อ
พระเดชานุภาพของพระบิดา ผู้ที่ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็น หรือสามารถมองเห็นได้
    ลูกา เป็นผู้นิพนธ์พระวรสารที่มักกล่าวถึงพระจิตเจ้า และการอธิษฐานภาวนา เขาได้บอกเล่าแล้วว่าพระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือพระนางมารีย์ นางเอลีซาเบธ และสิเมโอน ในช่วงต้นของหนังสือกิจการอัครสาวก เขาจะบรรยายภาพเหตุการณ์น่าตื่นเต้น เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาอัครสาวกในวัน
เปนเตกอสเต ในทุกกรณีที่กล่าวถึงนี้ มนุษย์ได้รับอำนาจสวรรค์จากพระเจ้า
    เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระเยซูเจ้า นั่นคือการประกาศอัตลักษณ์พระเจ้าของพระองค์ ว่าพระองค์ทรงเป็น
พระบุตรสุดที่รักของพระเจ้า พระบิดา
    ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง สัญญาว่าพระเยซูเจ้าจะทำพิธีล้างให้ประชาชนด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ เมื่อพันธกิจของพระองค์สิ้นสุดลงแล้ว พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ทรงส่งศิษย์ของพระองค์ออกไปสั่งสอนและทำพิธีล้างให้แก่นานาชาติ เดชะ
พระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิตเจ้า
    “เดชะพระนาม (หรือในนามของ)” เป็นสูตรสำเร็จที่ใช้แสดงถึงการประทับอยู่ และฤทธานุภาพของบุคคลที่เอ่ยนามนั้น ในชีวิตใหม่ ซึ่งใช้น้ำแห่งศีลล้างบาปเป็นสัญลักษณ์ บุคคลหนึ่งจะได้รับการยกขึ้นสู่ความสัมพันธ์ใหม่กับสามพระบุคคลของ
พระเจ้า
    ในน้ำแห่งศีลล้างบาป เราเข้าสู่ความตายของพระเยซูเจ้าเพื่อชำระล้างบาปกำเนิด และบาปต่าง ๆ ที่เราทำก่อนรับศีล
ล้างบาป นักบุญเปาโลมองว่าการจุ่มตัวลงในน้ำแห่งศีลล้างบาป คือการเข้าสู่คูหาฝังศพพร้อมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้น เมื่อเราขึ้นจากน้ำ และสวมใส่เสื้อผ้าสีขาว นั่นหมายความว่าเราได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ และก้าวออกมาจากคูหาฝังศพ คำว่าคริสตชนอาจเคยใช้เป็นฉายาที่เรียกกันเล่น ๆ แต่นี่คือชื่อที่ถูกต้องแล้วสำหรับบุคคลที่บัดนี้ได้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นอวัยวะหนึ่งของ
พระกายที่มีชีวิตของพระองค์บนโลกนี้
    เมื่อพระคริสตเจ้าประทานชีวิตพระเจ้าของพระองค์แก่เรา พระองค์ทรงสอนเราให้เรียกพระเจ้าว่าพระบิดา นักบุญเปาโลเขียนว่า พระจิตเจ้าทรงดลใจให้วิญญาณภาวนาเหมือนเด็กที่ภาวนาต่อ “อับบา พ่อจ๋า”
    พระจิตเจ้าทรงเป็นไฟแห่งชีวิตพระเจ้าในวิญญาณของคริสตชน บุคคลที่สนทนาเป็นประจำทุกวันกับพระจิตเจ้า และร่วมมือกับพระหรรษทาน จะเติบโตขึ้นอย่างพรั่งพร้อมด้วยผลแห่งความรัก ความยินดี สันติสุข ความสัมพันธ์อันราบรื่นกับผู้อื่น และความแข็งแกร่งแต่อ่อนโยนภายใน
    วันฉลองการเข้าพิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นโอกาสให้
คริสตชนเฉลิมฉลอง ที่เราได้มีส่วนร่วมในชีวิตพระเจ้า อาศัยการรับศีลล้างบาปของเรา ขอให้เราได้ยินพระบิดาตรัสกับเราในส่วนลึกของหัวใจว่า “ลูกคือบุตรสุดที่รักของเรา จงยินดีในพระคุณต่าง ๆ ที่เรามอบให้แก่ลูกเถิด”

 

บทรำพึงที่ 2
ดุจนกพิราบ
    มีคำพังเพยที่บอกว่า ภาพวาดบรรยายได้ดีเท่ากับคำพูดนับพันคำ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งเผยให้เห็นความเป็นไปได้มากมาย ซึ่งสมองไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ แม้ว่าได้พยายาม
สุดความสามารถแล้วก็ตาม นกพิราบเชิญชวนให้สมองสร้างความเชื่อมโยง ให้จดจำ และให้ชิมรสชาติของบรรยากาศ
    พระวรสารมักกล่าวถึงนก พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงเลี้ยงดูนกอย่างไร เมื่อพระองค์ต้องการเตือนเราไม่ให้กังวลกับวันพรุ่งนี้มากเกินไป ชีวิตมีค่ามากในสายตาของพระเจ้าจนกระทั่งพระองค์ไม่ทรงมองข้ามนกกระจอกตัวเล็กๆ ที่ขายกันในราคาถูก ๆ ในตลาด
    ในบทสดุดี ผู้แสวงบุญที่เดินทางมาถึงพระวิหารสังเกตเห็นนกกระจอกและนกนางแอ่น ที่ทำรังตามชายคาของอาคารศักดิ์สิทธิ์นี้ และอยากมีสิทธิพิเศษเหมือนนกเหล่านี้ที่พำนักอยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าได้ตลอดชีวิต
    มนุษย์ที่เหน็ดเหนื่อยจากความกังวลใจ และการทำงาน รู้สึกอิจฉาอิสรภาพของนก เราอยากหนีไปให้พ้นแรงกดดันต่าง ๆ และบินเหมือนนกไปยังภูเขาที่มันอาศัยอยู่
    นกผู้ยิ่งใหญ่แห่งขุนเขาคือนกอินทรี ลูกนกอินทรีที่กำลังหัดบินจะต้องบินออกไปจากหน้าผาสูงชันในวันหนึ่ง แต่ปีกเล็ก ๆ ของมันหมดแรงอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าลูกนกจะต้องตกลงไปบนก้อนหินเบื้องล่าง แต่แม่นกที่เฝ้าดูจะโฉบลงมาข้างใต้ และช้อนตัวลูกนกไว้ด้วยปีกที่แผ่กว้างของมัน พระเจ้าทรงเอาใจใส่เราเช่นนี้ เมื่อดูเหมือนว่าโลกรอบตัวเรากำลังพังทลาย “ดังนกอินทรีที่สอนลูกในรังให้บิน บินร่อนอยู่เหนือลูกน้อยของมัน พระองค์ทรงกางปีกรองรับเขาไว้ ให้เกาะอยู่บนปีกของพระองค์” (ฉธบ 32:11)
    นกพิราบที่บินลงมาเหนือพระเยซูเจ้าที่แม่น้ำจอร์แดน ทำให้คิดถึงภาพของพระจิตของพระเจ้าที่พัดอยู่เหนือน้ำในเรื่องการเนรมิตสร้างโลก นี่คือน้ำแห่งชีวิตใหม่ น้ำท่วมในยุคของโนอาห์นำน้ำแห่งการทำลายล้างมาให้มนุษย์ แต่เมื่อมนุษย์กลับคืนดีกับพระเจ้า ทูตผู้แจ้งข่าวดีคือนกพิราบที่คาบกิ่งมะกอกมาให้
    ลูกา บอกเล่าถึงอานุภาพของพระจิตเจ้าว่าเป็นพลังงานที่สนับสนุนพันธกิจของพระเยซูเจ้า และงานแพร่ธรรมของ
พระศาสนจักรในเวลาต่อมา อำนาจเพียงอย่างเดียวสามารถนำไปสู่ความจองหอง และการใช้อำนาจข่มขู่ ดังนั้น จึงต้องถ่วงดุลด้วยการระลึกถึงนกพิราบ ซึ่งเป็นทูตผู้อ่อนโยนแห่งสันติภาพ และการคืนดี
    “ที่รักของฉันเอ๋ย จงมาเถิด
    แม่นกพิราบของฉัน ผู้ซ่อนตัวอยู่ในซอกผา ในที่กำบังบนหน้าผา
    โปรดเผยใบหน้าของเธอ ขอให้ฉันได้ยินเสียงของเธอ
    เพราะเสียงของเธอไพเราะ และใบหน้าของเธองดงาม”
    (เพลงซาโลมอน 2:14)
บทรำพึงที่ 3
    พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา เล่าถึงจุดเริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้า เรียงตามลำดับดังนี้
    1.    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเทศน์สอนว่า “จงเป็นทุกข์กลับใจเถิด ... พระองค์กำลังเสด็จมา” (ลก 3:1-18)
    2.    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างถูกจองจำ (ลก 3:19-20)
    3.    พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง (ลก 3:21-22)
    4.    บรรพบุรุษของพระเยซูเจ้า (ลก 3:28-38)
    5.    พระเยซูเจ้าทรงถูกประจญในถิ่นทุรกันดาร (ลก 4:1-13)
    6.    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอน โดยเฉพาะที่เมือง
นาซาเร็ธ (ลก 4:14-30)
    เราสังเกตได้อีกครั้งหนึ่งว่าเป้าหมายแรกของลูกา คือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์อันเป็น “ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์" ถ้าเรามีพระวรสารของลูกาเพียงฉบับเดียว เราจะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ทำพิธีล้างให้พระเยซูเจ้า เพราะลูกาบอกเราว่ายอห์นถูกจองจำในคุก ก่อนจะกล่าวถึงการรับพิธีล้างของ
พระเยซูเจ้า โดยไม่เอ่ยชื่อของยอห์นเลย ทั้งนี้เพราะผู้นิพนธ์พระวรสาร (ลูกา รวมถึงคนอื่น ๆ) ไม่ได้มองประวัติศาสตร์ในแง่มุมเดียวกับเรา จุดมุ่งหมายของผู้นิพนธ์พระวรสารไม่ใช่การรายงานเหตุการณ์ตามลำดับที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น แต่เพื่อพูดกับจิตสำนึกของผู้มีความเชื่อมากกว่า สำหรับผู้นิพนธ์
พระวรสาร นัยสำคัญของความจริงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้นิพนธ์จึงใช้เทคนิควรรณกรรมที่มักใช้กันในพระคัมภีร์ เพื่อเสนอเรื่องราวการรับพิธีล้างของ
พระเยซูเจ้าให้เป็นทั้งความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ (ดังนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่บอกเล่าในพระวรสารฉบับอื่นเช่นกัน) และเป็น
“การกระทำเชิงสัญลักษณ์” (ดังนั้น พระวรสารแต่ละฉบับจึงมีจุดเน้นต่างกัน)
    การตีความข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งไม่ใช่การปฏิเสธข้อเท็จจริงนั้น แต่หมายความว่าเราเชื่อจริง ๆ ในทุกมิติ เช่นในกรณีนี้ เรามองเห็น “การตีความ” ของลูกาว่า พระเยซูเจ้าทรงกำลังเริ่มต้นยุคใหม่ ยุคพันธสัญญาเดิมสิ้นสุดลงแล้ว ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เป็นตัวแทนคนสุดท้ายของยุคนั้น และเขาหายตัวไปก่อนที่
พระเยซูเจ้าจะทรงเริ่มต้นงานของพระองค์ การตีความประวัติศาสตร์เช่นนี้ เป็นการตีความที่ “แท้จริง” ในระดับของความเชื่อ
    แต่พระวรสารไม่ห้ามเราให้เรียนรู้จากผู้นิพนธ์คนอื่นว่าในความเป็นจริง ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ถูกจองจำหลังจากนั้น
นานหลังจากพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นเทศน์สอน (มก 6:17,
มธ 14:3)
    บทอ่านสำหรับพิธีกรรมวันอาทิตย์นี้นำส่วนแรกของลำดับเหตุการณ์เหล่านี้ (การเทศน์สอนของยอห์น – ลก 3:15-16) และส่วนที่สาม (การรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้า – ลก 3:21-22) มารวมกัน โดยละเว้นข้อความที่บอกเล่าเรื่องยอห์นถูกจองจำ คำอธิบายข้างต้นจะช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลของการละเว้นนี้
    เนื่องจากเราได้อธิบายเรื่องการเทศน์สอนของยอห์นใน
บทรำพึงสำหรับวันอาทิตย์ที่สามในเทศกาลเตรียมรับเสด็จแล้ว วันนี้ เราจึงจะให้ความสนใจกับข้อความที่ตรงกับวันฉลองนี้ (3:21-22)
ขณะนั้น ประชาชนทั้งหมดกำลังรับพิธีล้าง
    เราพบวลี “ประชาชนทั้งหมด” เฉพาะในคำบอกเล่าของลูกา
ผู้ชอบพูดถึงประชาชนโดยรวม (ลก 1:10, 2:10, 3:21) ลูกาเป็นเสมือนโฆษกของพระเจ้า และเขาย้ำวลีนี้เพื่อให้เข้าใจได้ว่าความรอดพ้นเป็นของมนุษย์ทุกคน และพันธกิจของพระเยซูเจ้า ซึ่งจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ทุกคน
    วลีนี้ยังชวนให้คิดด้วยว่า จนถึงเวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตนเหมือนมนุษย์ทุกคน เมื่อพระองค์ปรากฏตัว พระองค์ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนร่วมสมัย หรือจาก “ประชาชนทั้งหมด” พระองค์ทรงเป็นชาวยิวที่ดี และไม่ทรงทำอะไรเพื่อให้ตนเอง
โดดเด่น เมื่อประชาชนทั้งหมดมารับพิธีล้าง พระองค์ก็มารับ
พิธีล้างเช่นกัน
    คำที่ลูกาชอบใช้นี้มีความหมายพิเศษ เมื่อเราเปรียบเทียบ
พระวรสารของเขากับพระวรสารของผู้นิพนธ์คนอื่น
    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับรู้การเผยแสดงนี้ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับรู้ผ่านวลีที่พระองค์ทรงดลใจผู้นิพนธ์พระวรสาร
    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง พระองค์ปฏิบัติตนเหมือนประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้านึกถึงภาพของพระเยซูเจ้าผู้รวมอยู่ในฝูงชน เป็นบุคคลนิรนามท่ามกลางชายหญิงจำนวนมากที่มาเข้าแถวรอรับพิธีล้าง ข้าพเจ้าขอให้การเผยแสดงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาของข้าพเจ้า
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา ...
    รายละเอียดนี้ปรากฏแต่ในคำบอกเล่าของลูกาเช่นกัน เขาชอบเสนอภาพพระเยซูเจ้ากำลังภาวนา (ลก 5:16, 6:12, 9:8, 28:29, 10:21, 11:1, 22:32, 40:46, 23:34, 46)
    บัดนี้ ข้าพเจ้าจะหยุดครู่หนึ่ง และรำพึงภาวนากับรายละเอียดนี้
    ดังนั้น “สิ่งแรกที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำระหว่างชีวิตสาธารณะของพระองค์ก็คือภาวนา นี่เป็นงานแรกที่เราเห็นพระองค์ทรงทำในวัยผู้ใหญ่ ลูกากล่าวถึงการเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์เป็นครั้งแรก โดยบอกเราว่า พระองค์อธิษฐานภาวนา และระหว่างการภาวนานี้ พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ เมื่อลูกาเล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของพระศาสนจักร เขาบอกว่า
พระศาสนจักรก็กำลังภาวนาขณะที่ได้รับพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ (กจ 1:14, 2:1-11)
    ถูกแล้ว การอธิษฐานภาวนาทำให้เรามีที่ว่างสำหรับ
พระจิตเจ้า ให้พระองค์เสด็จมาหาเรา เป็นการสร้างสภาวะที่เหมาะสมที่พระองค์จะเสด็จมา ในอีกตอนหนึ่งของพระวรสาร
ลูกาบอกเราว่าสิ่งดีที่สุดที่เราจะขอได้จากพระเจ้าคือพระจิตเจ้า ราวกับว่าพระองค์จะประทานทุกสิ่งนอกเหนือจากนั้นให้ด้วย พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ” (ลก 11:13)
    ข้าพเจ้าภาวนาเพื่อจุดประสงค์นี้หรือเปล่า ข้าพเจ้าวิงวอนขอการหลั่งชโลมของพระจิตเจ้าหรือไม่ ข้าพเจ้าทูลขอ “ศีลล้างบาป เดชะพระจิตเจ้า” เหมือนกับที่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ประกาศไว้หรือไม่ว่า “เขา (พระเยซูเจ้า) จะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะ
พระจิตเจ้า และด้วยไฟ” (ลก 3:16)
    อะไรคือสถานที่ภาวนาในชีวิตของข้าพเจ้า เพื่อเลียนแบบ
พระเยซูเจ้าผู้ทรงรักการภาวนา อะไรคือสถานที่สำหรับภาวนาเพื่อ “ทูลขอพระจิตเจ้า” ผู้ที่พระบิดาทรงพร้อมจะประทานให้แก่ “ผู้ที่ทูลขอพระองค์”

พระเยซูเจ้าก็ทรงรับพิธีล้างด้วย
    บางครั้ง เหตุการณ์นี้ทำให้เราแปลกใจ พระเยซูเจ้านี้หรือ
ที่รับ “พิธีล้างซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ” (ลก 3:3) พระเยซูเจ้าผู้ปราศจากบาป จำเป็นต้องรับพิธีล้างหรือ
    คำตอบอยู่ในพระวรสารฉบับเดียวกันนี้ “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก ... เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ” (ลก 12:49-50) “การล้าง” ของพระเยซูเจ้าก็คือการสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติ ด้วยการล้างนี้ด้วยทัศนคติของ “ผู้สำนึกผิด” ตลอดชีวิตของพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาเป็นตัวแทนเราคนบาปทั้งหลาย และทรงวิงวอนพระเจ้าให้ทรงช่วยเหลือ และทำให้พระองค์บริสุทธิ์
    พระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จมา “เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น” (ยน 3:17) เมื่อ “พระเยซูเจ้าก็ทรงรับพิธีล้างด้วย” พระองค์จึงไม่ทรงพิพากษาความอ่อนแอของข้าพเจ้าจากเบื้องบน แต่ทรงทำให้พระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับเรา พิธีล้างของพระเยซูเจ้า คือ ศีลล้างบาปของเราคริสตชน
ท้องฟ้าก็เปิดออก และพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์
    มาระโก กล่าวว่าท้องฟ้า “ถูกแหวกออก” (มก 1:10) สำหรับลูกา ท้องฟ้า “เปิดออก” ไม่มีความรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนตามปกติของวรรณกรรมวิวรณ์ แต่เปิดออกอย่างนุ่มนวล
    ยุคใหม่เริ่มขึ้นในองค์พระเยซูเจ้า ยุคพันธสัญญาเดิมผ่านพ้นไปแล้ว ยุคสมัยของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ผู้ขู่มนุษยชาติให้เกรงกลัวพระพิโรธของพระเจ้า (”สัญชาติงูร้าย” (ลก 3:7)) ผ่านพ้นไปแล้ว การสื่อสารแบบใหม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นระหว่างสวรรค์และแผ่นดินโลก สวรรค์ไม่ปิดอีกต่อไป แต่ “เปิดออก” และพระจิตของพระเจ้ ผู้ทรงเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของพระเจ้าที่สามารถถ่ายทอดให้แก่เรามนุษย์ได้ ก็ถูกประทานให้แก่บุรุษที่ชื่อเยซูนี้ ก่อนจะถ่ายเทลงมาอย่างอุดมบริบูรณ์เหนือทุกคนที่ได้รับ “พิธีล้าง
เดชะพระจิตเจ้า” ด้วยเช่นกัน ในทุกวันเปนเตกอสเต และในการโปรดศีลล้างบาปทุกครั้ง
    ข้าพเจ้าให้ความสำคัญแก่ศีลล้างบาปของข้าพเจ้า และ
ศีลล้างบาปของบุตรของข้าพเจ้าเพียงไร
    ข้าพเจ้ายกให้พระจิตอยู่ในตำแหน่งใดในชีวิตจิตของข้าพเจ้า ... พระจิตเจ้า ผู้ที่โลกตะวันตกไม่รู้จัก แต่คริสตชนในโลกตะวันออกกำลังเริ่มนำมาคืนให้เรา
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระจิตเจ้าประทับอยู่ด้วย (ลก 4:1,
14, 18)

มีรูปร่างที่เห็นได้ดุจนกพิราบ
    “เครื่องหมาย” ที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสนี้ถูกตีความต่างกันหลายทาง นี่เป็นการเตือนให้คิดถึงนกพิราบที่ประกาศถึงโลกใหม่ ภายหลังเหตุการณ์น้ำวินาศหรือ (ปฐก 8:8) นี่คือสัญลักษณ์แห่งความรักของพระเจ้าที่กล่าวไว้ในเพลงซาโลมอนหรือ (2:14, 5:2) นี่เป็นสิ่งเตือนใจให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างโลก เมื่อพระจิตของพระเจ้า “พัดอยู่เหนือน้ำ” หรือ (ปฐก 1:1) การตีความแต่ละทางเหล่านี้สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาของเราได้ทั้งสิ้น
    ถูกแล้ว โลกใหม่กำลังเกิดขึ้น ... นี่คือมนุษยชาติที่พระเจ้าไม่ต้องการลงโทษอีกต่อไป เพราะพระองค์ทรงรักมนุษย์ด้วยความรักอันไร้ขอบเขต
แล้วมีเสียงจากสวรรค์ว่า ...
    พระเจ้าตรัสกับพระเยซูเจ้า ... อย่างอ่อนโยน อย่างบิดา และด้วยความรักยิ่ง ...
ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา
    ในคำบอกเล่าของลูกา พระเจ้าตรัสกับพระเยซูเจ้าในฐานะบุรุษที่สอง มัทธิว ซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์เดียวกันนี้ ใช้บุรุษที่สาม “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:17)
    ข้อความใดในสองข้อความนี้ตรงกับความจริงในประวัติศาสตร์ ทั้งมัทธิว และลูกา ไม่สนใจจะตอบคำถามของคนสมัยใหม่เช่นนี้ อันที่จริง ธรรมประเพณียิ่งใหญ่ของชาวยิวยืนยันว่าพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้นี้ตรัส “ด้วยการเปล่งเสียงครั้งเดียว” เสมอ ราชิ (Rachi) อธิบายเรื่องบัญญัติสิบประการ (Decalogue) ไว้ว่า “พระวาจาสิบคำนี้ เอ่ยออกมาด้วยพระวาจาเพียงคำเดียว ซึ่งมนุษย์ทำไม่ได้”)
    พระเจ้าตรัส “คำเดียว” และมนุษย์ได้ยิน “หลายคำ”
ซึ่งหมายความว่ามนุษย์เข้าใจพระวาจาได้หลายทาง
... วันนี้ เราได้ให้กำเนิดท่าน”
    ลูกา ตีความพระวาจาคำเดียวนั้น โดยยกข้อความมาจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ 42:1 และสดุดี 2:7 ข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์นี้จะถูกใช้บ่อยครั้งเพื่อแสดง “ความเป็นพระบุตร
พระเจ้า” หรือ “การเกิดใหม่” ของพระเยซูผู้ทรงกลับคืนชีพ จากปากกาของลูกาคนนี้ (กจ 13:33) และศิษย์อีกคนหนึ่งของเปาโล (ฮบ 1:5, 5:5)
    ขอให้เราใช้การภาวนาของเรานำเราเข้าสู่ธรรมล้ำลึกของ
พระเยซูเจ้า ผู้ที่พระเจ้าทรงให้กำเนิดในวันนี้ เราไม่ได้หมายถึงกำเนิดในครรภ์ของพระนางมารีย์ในวินาทีแห่งการปฏิสนธิ หรือกำเนิดในร่างกายทารกที่พันด้วยผ้าในเมืองเบธเลเฮม แต่หมายถึงกำเนิดของพระเยซูเจ้าขณะที่มีพระชนมายุ 30 พรรษา
    นี่คือสารที่มนุษย์ยุคปัจจุบันจำเป็นต้องรับรู้อย่างเร่งด่วน สารนี้บอกเราว่ามนุษย์ไม่ใช่ลูกกำพร้า มนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุบังเอิญ แต่เกิดขึ้นในพระเยซูเจ้า บุรุษผู้เกิดจากพระเจ้า
ผู้ทรงรักพระองค์
    นี่คือความหมายของศีลล้างบาปของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเกิดมาจากพระเจ้า