แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่หนึ่ง เทศกาลมหาพรต


ลูกา 4:1-13
    พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ทรงพระดำเนินจากแม่น้ำจอร์แดน พระจิตเจ้าทรงนำพระองค์ไปยังถิ่นทุรกันดาร ทรงถูกปีศาจประจญเป็นเวลาสี่สิบวัน ตลอดเวลานั้น พระองค์มิได้เสวยสิ่งใดเลย ในที่สุด ทรงหิว ปีศาจจึงทูลพระองค์ว่า “ถ้าท่านเป็นบุตร
พระเจ้า จงสั่งให้หินก้อนนี้กลายเป็นขนมปังเถิด” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น”
    ปีศาจจึงนำพระองค์ไปยังที่สูงแห่งหนึ่ง แสดงให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรต่าง ๆ ของโลกทั้งหมดในคราวเดียว และ
ทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะให้อำนาจและความรุ่งเรืองของอาณาจักรเหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้ผู้ใดก็ได้ตามความปรารถนา ดังนั้น ถ้าท่านกราบนมัสการข้าพเจ้า ทุกสิ่งจะเป็นของท่าน” พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น’“
    ปีศาจนำพระองค์ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม วางพระองค์ลงที่
ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงกระโจนลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘พระเจ้าจะทรงส่งทูตสวรรค์ให้พิทักษ์รักษาท่าน’ และยังมีเขียนอีกว่า ‘ทูตสวรรค์จะคอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน’“ แต่พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘อย่าทดลองพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย’”
    เมื่อปีศาจทดลองพระองค์ทุกวิถีทางแล้ว จึงแยกจากพระองค์ไป รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

 

บทรำพึงที่ 1
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
    มหาพรตเป็นช่วงเวลา 40 วันที่พระจิตเจ้าทรงนำทางเราให้พิจารณาตนเองอย่างซื่อตรง พิจารณาจุดอ่อนของเรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เราถูกประจญ และให้เราทำอะไรสักอย่างกับจุดอ่อนนี้
    การทดลองของพระเจ้าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นเป้าหมายของเราอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้จิตใจของเราเข้มแข็ง
    ในการทดลองพระเยซูเจ้าในทั้งสามด้านนี้ พระองค์ทรงปฏิเสธสามรูปแบบของงานอภิบาลซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสีย
ต่อพันธกิจของพระองค์ กล่าวคือ พระองค์จะไม่ซื้ออาหารเลี้ยงประชาชน พระองค์จะไม่แสวงหาอำนาจด้วยการลดหลักการของพระองค์และร่วมมือกับคนชั่ว และพระองค์จะไม่ทำให้ประชาชนประทับใจด้วยการแสดงอภินิหาร
    การประจญสามด้านนี้เป็นประเด็นที่พระองค์จะถูกกล่าวหา และเป็นความขัดแย้งที่พระองค์จะต้องเผชิญในอนาคต ขณะที่
ลูกาเขียนพระวรสาร เขารู้ว่าคริสตชนที่กำลังถูกเบียดเบียนในสมัยของเขากำลังถูกดึงเข้าไปสู่ความขัดแย้ง และแรงกดดันเหล่านี้เช่นเดียวกัน
    ข้อขัดแย้งประการแรกเป็นเรื่องของอาหาร พระวรสารของลูกามักกล่าวถึงการกินอาหาร และการร่วมงานเลี้ยง กล่าวกันว่าเขามักเสนอภาพของพระเยซูเจ้าขณะกำลังร่วมโต๊ะอาหาร กำลังเสด็จไปที่โต๊ะอาหาร หรือกำลังลุกจากโต๊ะอาหาร เราระลึกถึงงานเลี้ยงที่จัดขึ้นต้อนรับบุตรล้างผลาญที่กลับมาบ้าน งานเลี้ยงที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญไปร่วม หรืออาหารมื้อที่เสวยร่วมกับมาร์ธาและมารีย์ พันธกิจของพระเยซูเจ้าเป็นการคาดหวังถึงงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายของพระเมสสิยาห์ มื้ออาหารเหล่านี้กลายเป็นประเด็นให้พระองค์ถูกกล่าวหาว่าทรงต้อนรับ และ
ร่วมโต๊ะอาหารกับคนบาป (ลก 15:3) พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่าเป็น “นักกินนักดื่ม เป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป” (7:34) เมื่อเห็นได้ชัดว่า พระเยซูเจ้าทรงโปรดการเสวยอาหาร การจำศีลอดอาหารของพระองค์ก่อนเริ่มปฏิบัติพันธกิจจึงมีนัยสำคัญ
ในการจำศีลอดอาหาร พระองค์ทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกวัย ที่ไม่มีโอกาสได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรมจากผลิตผลอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน
    ลูการะบุความเชื่อมโยงระหว่างการประจญครั้งแรกนี้ และการทดลองที่พระเยซูเจ้าจะต้องประสบในภายหลัง โดยกล่าวว่าปีศาจแยกจากพระองค์ไปเพื่อจะกลับมาอีกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซาตานกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ และเข้าสิงยูดาส เพื่อประจญให้เขาแยกตัวไปจากการ
กินอาหารร่วมกันฉันมิตรกับพระเยซูเจ้า
    ลูกาเขียนพระวรสารสำหรับกลุ่มคริสตชนที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิต เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับพระเยซูเจ้า ขนมปัง (อาหาร) ควรเป็นการแสดงออกถึงการแบ่งปันภายในที่ชุมนุมของคริสตชน แต่บางครั้ง อาหารกลับแสดงให้เห็นการแบ่งแยกระหว่างคนที่มี และคนที่ไม่มี นอกจากนี้ ขณะที่จักรวรรดิโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจ กรุงโรมมีนโยบายแจกขนมปัง และจัดแสดงละครสัตว์เพื่อความบันเทิง และหันเหประชาชนไปจากความคิดที่จะก่อความวุ่นวายหรือการกบฏ คำสั่งสอนของคริสตศาสนา
ท้าทายระบบนี้ ซึ่งดูหมิ่นจิตตารมณ์ของมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น ชีวิตยังต้องการอะไรที่มากกว่าความบันเทิง

    การประจญด้านที่สอง แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธความเย้ายวนของอำนาจทางการเมือง และชื่อเสียง พระองค์ทรงปฏิเสธความพึงพอใจส่วนตัวซึ่งเกิดจากการมีอำนาจ เพราะพระองค์ทรงต้องการนมัสการพระบิดาแต่ผู้เดียว แทนที่จะเป็นฝ่ายให้ผู้อื่นรับใช้ และสรรเสริญเยินยอ ซึ่งเป็น
ผลพวงที่ตามมาจากการมีอำนาจ พระองค์ทรงเลือกเป็นฝ่ายรับใช้ เมื่อประชาชนต้องการจะบังคับให้พระองค์เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาระหว่างที่พระเยซูเจ้าทรงถูกพิพากษา พระวาจาของพระองค์ถูกบิดเบือนจนกลายเป็นข้อกล่าวหาว่าพระองค์ทรงปลุกระดมให้ประชาชนเป็นกบฏ ว่าพระองค์ทรงคัดค้านการเสียภาษี และว่าพระองค์ทรงอ้างตัวเป็นกษัตริย์
    ในยุคสมัยที่ลูกาเขียนพระวรสาร ประชาชนมักถูกเบียดเบียนเพราะไม่ยอมนับถือจักรพรรดิเสมือนเป็นเทพเจ้า คริสตชนจึงได้รับพละกำลังจากคำตอบของพระเยซูเจ้าว่า
“จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น”
    การประจญด้านที่สาม เป็นการท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูเจ้าและพระบิดา “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงกระโจนลงไปเบื้องล่างเถิด” การประจญนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์อยู่ต่อหน้าสภาซันเฮดริน และเขาถามพระองค์ว่า “ถ้าท่านเป็นพระคริสต์ จงบอกเราเถิด”
    ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในยุคเดียวกับลูกา อาจต้องถูกประหารชีวิตถ้าพวกเขาไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์กับพระเยซู
คริสตเจ้า พระเจ้าไม่ทรงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เขา
ถูกคมดาบ หรือทรงดับไฟที่เผาพวกเขา มนุษย์ที่ไม่มีความเชื่อเท่านั้นที่เรียกร้องเครื่องหมาย ผู้มีความเชื่อที่เข้มแข็งมั่นคงจะ
ไม่มีวันทดลองพระเจ้า
    ดังนั้น การทดลองพระเยซูเจ้าจึงแสดงให้เห็นลักษณะของพันธกิจของพระองค์ การประจญเหล่านี้ทำนายล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรงถูกกล่าวหาอย่างไรเมื่อทรงถูกนำตัวไปพิพากษา วิธีรับมือกับการประจญ และชัยชนะขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นแนวทาง และเป็นความหวังสำหรับคริสตชนทุกยุคสมัยในการรับมือกับความขัดแย้งกับผู้ที่ต่อต้านพวกเขา

 

บทรำพึงที่ 2
หิว ไร้อำนาจ และถูกทดลอง
    พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทรงหิว พระองค์ทรงเข้าร่วมในชะตากรรมเดียวกันกับคนทั้งหลายที่ไม่มีอาหารเพียงพอจะประทังชีวิต หรือคนที่ต้องดิ้นรนอยู่เสมอเพื่อหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว ความหิวจะดีได้อย่างไร ความหิวมีประโยชน์ ถ้าสามารถทำให้เราคิดได้ว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าการตอบสนองความอยากของตนเอง และเราไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น การจำศีลอดอาหารและการรู้จักควบคุมความอยากของเราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจเลือกจิตวิญญาณก่อนร่างกาย สังคมทุกวันนี้เผชิญกับความเจ็บป่วยหลากหลายรูปแบบ เพราะมนุษย์ไม่ควบคุมความอยากของตน นโยบายเศรษฐกิจที่เห็นแก่ตัวทำให้มนุษย์ครึ่งโลกไม่มีอาหารเพียงพอ ในขณะที่อีกครึ่งโลกผลิตอาหารได้เกินความต้องการ แต่ไม่ยอมแบ่งปัน การปรนเปรอตนเองด้วยบุหรี่ สุรา หรืออาหารไขมันสูงเป็นสาเหตุของหลายโรค และทำให้เราทำลายจิตใจ และร่างกายด้วยยาเสพติด การใช้ชีวิตหมกมุ่นในกามารมณ์ทำลายความมั่นคงของครอบครัว และบัดนี้ กำลังคุกคามสังคมด้วยโรคที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถ้าเราหว่านเมล็ดพันธุ์ท่ามกลางลมแรง เราจะต้องเก็บเกี่ยวท่ามกลางลมพายุ เมื่อใดที่เราปล่อยให้ความอยากกลายเป็นสัตว์ร้ายที่กดขี่เรา เมื่อนั้น ศักยภาพของ
จิตมนุษย์ย่อมถูกสกัดกั้น เราต้องฟังคำตอบของพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง คือ มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น
    พระเยซูเจ้าทรงต่อสู้กับการประจญให้แสวงหาอำนาจและชื่อเสียง พระองค์ทรงยอมรับความยากไร้เหมือนกับมนุษย์ที่ถูกกดขี่ ถูกแสวงหาประโยชน์ และจากการเป็นเหยื่อ สภาพไร้อำนาจจะดีได้อย่างไร สภาพไร้อำนาจจะมีประโยชน์เมื่อทำให้บุคคลหนึ่งไม่จองหอง หรือถือว่าบางสิ่งเป็นของตนเอง ทั้งที่ควรถวายคืนให้แก่พระเจ้า เมื่อสภาพไร้อำนาจช่วยบุคคลหนึ่งไม่ให้แสดงความยโส ซึ่งจะกดขี่ผู้อื่น อำนาจเป็นสิ่งที่จัดการอย่างเหมาะสมได้ยาก อำนาจจะกลายเป็นสัตว์ดุร้ายที่ไม่รู้จักอิ่ม และคอยแต่จะสร้างกำแพงขึ้นป้องกันตนเอง หรือเป็นฝ่ายโจมตีก่อน เราอยู่ในโลกที่ตั้งงบประมาณสูงมากสำหรับซื้อหาอาวุธ สูงจนไม่สมดุลกับงบประมาณสำหรับการศึกษา และศิลปะ
    บัดนี้ ความกระหายอำนาจสามารถเรียกใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงจนเกินจินตนาการ น้อยครั้งที่มนุษย์จะเข้าใจว่าอำนาจอาจเป็นความท้าทายให้รับใช้ก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่เกิดจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า หรืออำนาจทางการเงิน พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธวิถีแห่งอำนาจ และการปรนเปรอตนเอง พระองค์ทรงเลือกนมัสการพระเจ้า และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียว
    พระเยซูเจ้าทรงถูกท้าทายเรื่องอัตลักษณ์ทางศาสนาของพระองค์ และทรงถูกทดลองว่าพระองค์ทรงเชื่อมั่นในพระบิดาหรือไม่ พระองค์ทรงเข้าร่วมในชะตากรรมของมนุษย์ทุกคน ที่เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มของเขาผ่านดินแดนแห่งความเชื่ออันหม่นมัว มากกว่าภายใต้แสงสว่างอันเกิดจากเครื่องหมายที่เขาได้รับจากพระเจ้า การทดสอบความเชื่อ และการท้าทายความวางใจจะดีได้อย่างไร พระเจ้าอาจจำเป็นต้องล้างภาพของพระเจ้า ที่เราสร้างขึ้นมาเองอย่างที่เราอยากเห็น เรามักอยากเปลี่ยนขั้นตอนดั้งเดิมด้วยการสร้างพระเจ้าขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของเรา และให้พระองค์เหมือนกับเรา เราจะใช้
พระเจ้า แต่ไม่ยอมให้พระเจ้าทรงใช้เรา และ “การใช้พระเจ้าก็คือการฆ่าพระองค์” (เอ็คฮาร์ท) เราต้องยอมรับพระเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็น มิฉะนั้น ศาสนาย่อมจะผิดเพี้ยนไปตามความปรารถนาของเรา เมื่อนั้น มนุษย์จึงสามารถทำสงครามและ
ฆ่าฟันได้ในนามของศาสนา รัฐบาลหรือธุรกิจที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตอาจใช้ศาสนาเคลือบตนเองให้ดูน่านับถือ ความคิดว่าศาสนา
ของตนดีกว่าผู้อื่นเป็นรากฐานของการเหยียดเชื้อชาติ และ
ทิฐิ การยึดถือตัวบทกฎหมายอย่างเลือดเย็นย่อมฝังเมตตาจิต และการยึดหลักศีลธรรมอย่างบ้าคลั่งก็ทำให้มนุษย์รู้สึกผิด และเสียสติ บางครั้ง แม้แต่การภาวนาก็ถูกสั่งสอนด้วยความเชื่อ
โชคลางเหมือนครั้งดึกดำบรรพ์ พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธที่จะทดลองพระเจ้า พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะตั้งเงื่อนไขให้พระเจ้าปฏิบัติตาม พระองค์ทรงยอมรับอย่างนอบน้อมทุกสิ่งที่พระบิดาทรงส่งมาให้พระองค์
    พระเยซูเจ้าประทับนั่งร่วมโต๊ะกับคนหิว ทรงร่วมต่อสู้กับ
ผู้ไร้อำนาจ และทรงเดินตามทางแห่งการทดลองไปยัง
กรุงเยรูซาเล็ม ถ้าเราเดินร่วมทางไปกับพระองค์ด้วยพลังอันเกิดจากการควบคุมตนเอง ด้วยความเข้มแข็งอันเกิดจากการภาวนา และภายใต้แสงสว่างจากพระคัมภีร์ เมื่อนั้น เราจะมีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์

 

บทรำพึงที่ 3
หลังจากรับพิธีล้าง พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ทรงพระดำเนินจากแม่น้ำจอร์แดน พระจิตเจ้าทรงนำพระองค์ไปยังถิ่นทุรกันดาร...
    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นวิถีชีวิตใหม่ นี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของพระองค์ เมื่อสองสามวันก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงเป็น
ช่างไม้คนหนึ่งในหมู่บ้านในเมืองนาซาเร็ธ เมื่อรับพิธีล้าง พระองค์ทรงได้รับมอบอำนาจให้เป็นประกาศก พระองค์ทรงได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ก่อนเริ่มต้นงานอภิบาล พระองค์ทรงรู้สึกว่าจำเป็นต้องปลีกตัวไปแสวงหาความวิเวกในทะเลทราย พระองค์ทรงต้องการอธิษฐานภาวนา ไตร่ตรอง และเลือกเครื่องมือในการทำงานของพระองค์
    มนุษย์เราไม่สามารถทำกิจการสำคัญ หรือเจริญชีวิตจิตแท้
จนประสบความสำเร็จ เว้นแต่จะสละเวลาเพื่อไตร่ตรอง อยู่ตามลำพังท่ามกลางความเงียบภายในวิญญาณ ระหว่างเทศกาลมหาพรตที่เพิ่งเริ่มขึ้นนี้ ข้าพเจ้าจะสละเวลาสักสองสามนาทีในแต่ละวันเพื่อทำเช่นนี้ได้หรือไม่ หรือสละเวลาสักสิบห้านาทีในแต่ละสัปดาห์ ให้เป็นเวลาสำหรับอธิษฐานภาวนา ไตร่ตรอง เพื่อให้เห็น “ภาพ” ที่ชัดเจนมากขึ้น
    ข้าพเจ้ามองเห็นพระเยซูเจ้าในมโนภาพ พระองค์กำลังเสด็จออกจากหมู่บ้านและคนในหมู่บ้าน พระองค์เสด็จลึกเข้าไปในทะเลทราย บนเนินเขาที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ ไม่มีน้ำ ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ พระองค์ทรงเดินไปเรื่อย ๆ...
    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะกล้าติดตามพระองค์ไป และสละเวลาสักเล็กน้อยอยู่ “ในถิ่นทุรกันดาร” หรือไม่

ทรงถูกประจญเป็นเวลาสี่สิบวัน
    ตามคำบอกเล่าของ ลูกา “การประจญ” พระเยซูเจ้าเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ในทะเลทราย คือ 40 วัน ช่วงเวลาของการภาวนายังเป็นเวลาของ “การทดสอบ” ด้วย
    คำว่า “ทดสอบ (testing)” เน้นด้านบวกของ “การประจญ” เราทดสอบตนเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เราทดสอบเครื่องจักรเพื่อให้รู้คุณค่าแท้จริงของมัน
    “การประจญ” “การทดสอบ” จะเป็น “การทดลอง” ด้วย ความรักที่ผ่านการทดสอบมาแล้วจะยั่งยืนอยู่ได้เมื่อพบกับวิกฤติการณ์ เราเชื่อได้ว่าความรักนี้จะมั่นคง... เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้วิงวอนพระบิดาว่า “โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ” พระองค์ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดพ้นจากการประจญ แต่ให้เราสามารถชนะมันได้ ขออย่าให้เราล้มลง พ่ายแพ้ และเป็นทาสของความชั่วร้าย
    พระเยซูเจ้าทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เองว่าการทดสอบนั้นรุนแรง แต่มีประโยชน์ ประสบการณ์นี้จะช่วยให้ความรักของเราเพิ่มพูนขึ้น การประจญที่พระองค์ประสบด้วยตนเองแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพระบิดามากเพียงไร

ตลอดเวลานั้นพระองค์มิได้เสวยสิ่งใดเลย ในที่สุดทรงหิว
    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจภาพนี้ การอดอาหารหมายถึงความทุกข์ทรมาน ... ความหิวทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ บางทีอาจ
ปวดศีรษะด้วย... พระองค์ไม่บ่น แต่มีความสงบในใจที่เอาชนะความขาดแคลนฝ่ายกาย เพื่อให้มีแรงกระตุ้นฝ่ายจิตมากขึ้น
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของข้าพเจ้าในถิ่นทุรกันดาร
    การสมัครใจจำศีลอดอาหารเป็นกิจกรรมที่กระทำกันในศาสนาใหญ่ ๆ ส่วนมาก อารยธรรมสมัยใหม่ของเราอาจเป็นอารยธรรมเดียวที่ปฏิเสธประสบการณ์ทางศาสนานี้มาตลอดประวัติศาสตร์ เราพูดกันว่า “เราต้องมีความสุขกับชีวิต จะทำให้ร่างกายขาดแคลนสิ่งใดไปทำไม”
    จริงหรือที่ทัศนคติสมัยใหม่นี้ช่วยยกระดับ “คุณภาพชีวิต”
เมื่อมนุษย์คนใด “ปล่อยตัว” ในเรื่องเพศ หรืออาหาร เขามีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะสูญเสียสิ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ “ความสามารถควบคุมตนเอง” เขาจะกลายเป็นมนุษย์ไร้กระดูกสันหลัง เป็นคนไม่เข้มแข็ง เป็นทาสของสัญชาตญาณฝ่ายต่ำของตนเอง ในที่นี้ พระเยซูเจ้าแสดงให้เราเห็นภาพลักษณ์ของบุคคลที่กล้าหาญ สามารถปฏิเสธตนเองได้ และอดอาหารด้วยความสมัครใจ
    ระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ ข้าพเจ้าจะยอมให้การปฏิเสธตนเองและพลีกรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าหรือไม่
การประจญครั้งแรก
ปีศาจจึงทูลพระองค์ว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงสั่งให้ก้อนหินนี้กลายเป็นขนมปังเถิด”
    ชาวอิสราเอลเคยประสบกับการทดสอบด้วย “ความหิว” ในทะเลทราย แต่การประจญให้เรา “ตอบสนองความหิวของเรา” เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เรารู้จักความอยากของร่างกายของเราดี ความอยากนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะพระเจ้าทรงใส่ไว้ในตัวเรา แต่ความอยากอาจเบี่ยงเบนได้ง่าย และกลายเป็นทรราชที่ไม่รู้จักพอ สังคมบริโภคนิยมรอบตัวเราทำให้ความอยากมีอำนาจมากขึ้น “ซื้อช็อกโกแล็ตนี้ซิ...ซื้อขนมหวานรสอร่อยนี้ซิ...” เมื่อมองโดยรวม คนมากมายเท่าไรนอกตัวเราที่บริโภคจนเกินพอดี ในขณะที่คนรอบตัวเราขาดแคลนอาหาร ... นี่คือเวลาที่เราต้องแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับผู้อื่น
พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น”
    “มนุษย์” ข้าพเจ้าชอบได้ยินคำนี้จากพระโอษฐ์ของพระองค์ ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงรักมนุษย์อย่างคลั่งไคล้ พระองค์เสด็จมาประทับท่ามกลางเราเพื่อพัฒนาคุณค่าของตัวมนุษย์ให้ครบทุกมิติ และวันนี้ พระองค์ทรงย้ำกับเราว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น จงอย่าปล่อยตัวตามสัญชาตญาณฝ่ายต่ำของท่าน ท่านไม่มีอะไรทำมากไปกว่าการกิน ดื่ม สูบบุหรี่หรือ... ท่านไม่มีความจำเป็นด้านอื่นหรือ...
    ระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ เราจะรู้หรือไม่ว่า เราควรพัฒนาวิธีสังเกตคุณค่าฝ่ายจิตอย่างไร... เราจะสามารถสมัครใจควบคุม
กิเลสตัณหาที่เรียกร้องเรา และเราจะรู้จักปฏิเสธตนเอง เพื่อฟื้นฟูชีวิตของเราหรือไม่
การประจญครั้งที่สอง
ปีศาจจึงนำพระองค์ไปยังที่สูงแห่งหนึ่ง แสดงให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรต่าง ๆ ของโลกทั้งหมดในคราวเดียว และทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะให้อำนาจและความรุ่งเรืองของอาณาจักรเหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้ผู้ใดก็ได้ตามความปรารถนา ดังนั้น ถ้าท่านกราบนมัสการข้าพเจ้า
ทุกสิ่งจะเป็นของท่าน”
    เห็นได้ชัดว่า ข้อความนี้ไม่ใช่การรายงานเหตุการณ์เหมือนกับนักข่าวบรรยายสถานการณ์ แต่เป็นแนวคิดทาง
เทววิทยา ที่สรุปและสังเคราะห์ “การประจญทุกประเภท” (ดังที่
ลูกาบอกไว้ในตอนท้ายของคำบอกเล่านี้) ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเผชิญอย่างแท้จริงตลอดชีวิตของพระองค์
    ตัวอย่างเช่น เราเห็นได้ว่า “การประจญครั้งที่สอง” หรือการประจญของ “อำนาจฝ่ายโลก” เป็นการประจญที่พระเยซูเจ้าต้องเผชิญอยู่เสมอ พระองค์ทรงต้องปฏิเสธความเย้ายวนใจของ “การเป็นพระเมสสิยาห์ฝ่ายโลก” หลายครั้งหลายหน ตามที่ประชาชนในสมัยนั้นต้องการให้พระองค์เป็น พวกเขาต้องการให้พระองค์เป็นผู้นำทางการเมือง ต้องการให้พระองค์เป็น “กษัตริย์ของโลกนี้” เหมือนกษัตริย์ดาวิด เพื่อยึดอำนาจกลับคืนมาจากกองทัพโรมันที่ยึดครองดินแดนอยู่ในเวลานั้น (ยน 6:15) นับตั้งแต่วันแรกในทะเลทรายนั้น จนถึงลมหายใจสุดท้าย
พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธ “ความเป็นกษัตริย์” ประเภทนี้มาโดยตลอด... เพื่อจะเป็น “คนยากจน” และ “ผู้รับใช้” (ยน 13:1-20)... พระเยซูเจ้าสามารถเกิดมาเป็นคนรวยและมีอำนาจได้ แต่พระองค์ทรงเลือกเป็น “คนอ่อนแอ” (1คร 1:27) ทรงเลือกทางที่นำไปสู่กางเขน “อันเป็นข้อขัดข้องมิให้ชาวยิวรับไว้ได้ และเป็นเรื่องโง่เขลาสำหรับชาวกรีก”…
    การประจญให้แสวงหาอำนาจเป็นการประจญสำหรับเราเช่นกัน คือ ประจญให้เราแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น และเป็นคนที่ค้ากำไรเกินควร...
พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่
ผู้เดียวเท่านั้น’”
    พระเยซูเจ้าทรงตอบโต้การโจมตีของซาตานสามครั้งด้วยข้อความจากพระคัมภีร์ (ฉธบ 8:3, 6:3, 6:13) พระเยซูเจ้าทรงกำลังประสบกับการประจญ เหมือนกับที่ประชากรของพระองค์เคยประสบในทะเลทรายเป็นเวลา 40 ปี คือการประจญเรื่องมานนา (อพย 16)... การประจญเกี่ยวกับรูปเคารพ และลูกโคทองคำ (อพย 32)... และการประจญเรื่องอัศจรรย์น้ำจากหิน (อพย 17)…
    การประจญชาวอิสราเอล ... การประจญพระเยซูเจ้า ... การประจญมวลมนุษยชาติ... ทั้งหมดนี้เป็นการประจญสำหรับเราด้วย กล่าวคือ ทำให้เราไม่มั่นใจในพระเจ้า เพราะพระเจ้าไม่แสดงพระองค์แก่เรา และทำให้เราหันไปวางใจใน “สิ่งอื่น”
    คำตอบของพระเยซูเจ้า คือ ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า
    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าต้องการติดตามพระองค์ และไม่ต้องการ “กราบนมัสการ” และไว้วางใจในเงินทอง หรือสิ่งบันเทิงใจ ในอำนาจ หรือลัทธิต่าง ๆ ในความสำเร็จ หรือแฟชั่น ข้าพเจ้าต้องการกราบนมัสการเบื้องหน้าพระเจ้าเท่านั้น
    ทรัพย์ฝ่ายโลกไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่การทำให้ทรัพย์เหล่านี้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างนับว่าเป็นภาพลวงตาที่น่าเศร้า
พระเยซูเจ้าผู้เดียวทรงสามารถปลดปล่อยเราจาก “พระเจ้าเท็จเทียม” ทั้งปวงที่ชักนำให้เราหลงทาง...

การประจญครั้งที่สาม
ปีศาจนำพระองค์ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงกระโจนลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘พระเจ้าจะทรงสั่งทูตสวรรค์ให้พิทักษ์รักษาท่าน’ และยังมีเขียนอีกว่า ‘ทูตสวรรค์จะคอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน’” (สดด 91:11, 12)
    นี่คือการประจญอันยิ่งใหญ่และต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นกับ
พระเยซูเจ้าตลอดชีวิตของพระองค์ “ทำอัศจรรย์ซิ ... แสดงเครื่องหมายจากสวรรค์ซิ ... แสดงว่าท่านเป็นพระเจ้า ... ท่านมีเครื่องหมายอะไรแสดงให้เรารู้ว่าท่านมีอำนาจ ... ท่านกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ใดเพื่อพวกเราจะได้เห็น และจะได้เชื่อในท่าน ... จงลงมาจากไม้กางเขนเดี๋ยวนี้” (ลก 11:29, 11:16, 21:7; ยน 2:18, 6:30, 12:37, มธ 27:42, 43)...
    แม้แต่ในปัจจุบัน เราก็ร้องขอเช่นนี้จากพระเจ้าไม่ใช่หรือ
    ลูกา จัดให้การประจญในกรุงเยรูซาเล็มอยู่ในลำดับสุดท้าย
(ซึ่งเป็นการประจญ “ครั้งที่สอง” ในพระวรสารของมัทธิว) เพื่อ
ย้ำให้เห็นลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะในกรุงเยรูซาเล็ม พระเยซูเจ้าจะต้องผ่าน “การทดสอบ” ที่รุนแรงที่สุด นั่นคือการประจญให้พระองค์ปรารถนาจะหลบหนีความตาย “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” (ลก 22:42)
    พระเยซูเจ้าไม่ทรงได้รับการ “พิทักษ์รักษา” จากทูตสวรรค์ ดังนั้น การประจญที่เกิดขึ้นในยามทุกข์ยากเจ็บปวด จึงมีจุดมุ่งหมายให้ทรงสูญเสียความวางใจในพระบิดา... พระเยซูเจ้าไม่ทรงได้รับการพิทักษ์รักษา พระบาทของพระองค์ “เจ็บปวดจากการเหยียบย่ำก้อนหินตามทาง” พระองค์ไม่เคยใช้อำนาจพระเจ้าของพระองค์เพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากอันเกิดจาก “สภาพมนุษย์ผู้รู้จักตาย” ของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงยอมใช้วิธีการที่น่าตื่นเต้นในการปฏิบัติพันธกิจ แต่ทรงยอมใช้แต่ “เครื่องมือที่ยากไร้”…
    ด้วยความนบนอบเชื่อฟังพระบิดาโดยสิ้นเชิง และแม้เมื่อทรงรู้สึกว่าพระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ (มธ 27:46) พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นได้ดีที่สุดว่าพระองค์ทรงเป็นพระเอกบุตรแน่นอน พระองค์จะทรง “รอดพ้นจากความตาย” อาศัยการกลับคืนชีพของพระองค์ แต่ต้องหลังจากพระองค์ได้แสดงความรัก “จนถึงที่สุด” แล้วเท่านั้น
    ดังนั้น ถ้าเราประสบกับการประจญแบบเดียวกัน ก็อย่าได้สงสัยเลย นี่เป็นการประจญที่ร้ายแรงที่สุดในบรรดาการประจญทั้งปวง คือ ประจญให้เรา “ละทิ้งพระเจ้า” เป็นการประจญของบุคคลที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า “ถ้า ‘พระเจ้าผู้พระทัยดี’ มีจริง การทดลองเช่นนั้นก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับฉัน”
แต่พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจว่า  “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า
‘อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย’”
    เราก็ไม่ควร “ทดลองพระเจ้า” เหมือนกัน บางครั้ง เราต้องการให้พระเจ้าทำตามความต้องการของเรา “ถ้าพระองค์
มีตัวตนอยู่จริง ถ้าฉันเป็นบุตรของพระองค์...พระองค์ต้องรักษาฉันให้หายจากโรคนี้...ขอให้ฉันหลุดพ้นจากความยากลำบากครั้งนี้...ขอให้ฉันสอบได้ ... ถ้าพระองค์ไม่ทำตามเงื่อนไขของฉัน ฉันจะไม่สนใจพระองค์อีกต่อไป – ฉันจะถือว่าพระองค์ไม่มีตัวตนอยู่จริง ...”
    เรารู้ดีว่าปัญหาจาก “ความชั่วร้ายในโลก” เป็นสาเหตุของวิกฤติด้านจิตวิญญาณส่วนใหญ่ และทำให้หลายคนสูญเสียความเชื่อ ... แต่เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้า “ประทับอยู่กับเรา” พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกที่ชนะการประจญนี้ เมื่อพระองค์ยังจงรักภักดี และซื่อสัตย์ต่อพระบิดาต่อไป แม้ในขณะที่พระองค์ทรงถูก
ตอกตะปูตรึงกับไม้กางเขน...

เมื่อปีศาจทดลองพระองค์ทุกวิถีทางแล้ว จึงแยกจากพระองค์ไป
รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม
    การประจญที่บอกเล่าข้างต้นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
พระเยซูเจ้าจะทรงถูกประจญอีก ซาตานดูเหมือนจะนัดหมายว่าจะมาพบพระองค์ในกรุงเยรูซาเล็ม และที่นั่นจะเป็นสถานที่ของการเผชิญหน้ากันอย่างแท้จริง...ระหว่างพระทรมานของพระองค์ (ลก 22:3)…