วันอาทิตย์ที่สอง เทศกาลมหาพรต


ลูกา 9:28-36
    พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยอห์น และยากอบ ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของ
พระพักตร์เปลี่ยนไป และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า ทันใดนั้น
บุรุษสองคน คือ โมเสสและประกาศกเอลียาห์ มาสนทนากับพระองค์ ทั้งสองคนปรากฏมาในสิริรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก เมื่อตื่นขึ้นก็เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์ ขณะที่บุรุษทั้งสองคนกำลังจะจากพระเยซูเจ้าไป เปโตรทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศก
เอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร ขณะที่เขากำลังพูดอยู่นั้น
เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ เมื่ออยู่ในเมฆ เขากลัวมาก เสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” เมื่อสิ้นเสียงนั้นแล้ว ศิษย์ทั้งสามก็เห็นพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ได้บอกเรื่องที่เห็นให้ผู้ใดรู้เลยในเวลานั้น

 

บทรำพึงที่ 1
อยู่กับพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์
    ภูเขาเป็นสถานที่อันน่าพิศวง ทำให้เรามองเห็นทิวทัศน์ ทุกก้าวที่สูงขึ้นไปทำให้มองเห็นโลกเบื้องล่างได้กว้างไกลมากขึ้น เราเห็นรูปร่างของฟาร์มและป่าไม้ เห็นขอบชายฝั่งทะเล เห็นถนน และแม่น้ำที่คดเคี้ยว และเชื่อมต่อสถานที่ต่าง ๆ ก้อนหินที่สึกกร่อนบอกเราว่ามันตากแดดตากลมมานานนับพันปี เทือกเขาบอกเรื่องราวที่ผ่านมานับล้านปี สถานที่กว้างใหญ่ และเวลาอันยาวนานในอดีต เชิญชวนให้เรามองชีวิต และทิศทางชีวิตในแง่มุมใหม่
    เปโตร ยากอบ และยอห์น เป็นเหมือนคนแคระที่ถูกนำตัวออกมาจากป่าฝนอันมืดครึ้มแห่งชีวิตที่จำเจ และถูกพาขึ้นไปบนภูเขาที่มองเห็นทิวทัศน์กว้างไกล ความเจิดจ้าของจิตที่เขาไม่คุ้นเคย ทำให้ตาฝ่ายกายของเขาแสบ สำนึกในกาลเวลาของเขาขยายตัวกว้างขึ้น ช่วงเวลานั้นถูกเชื่อมเข้ากับความรุ่งโรจน์แห่งอดีตในยุคธรรมบัญญัติและประกาศก ซึ่งมีโมเสส และเอลียาห์เป็นตัวแทน เขารับรู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับอนาคตด้วย เมื่อเขาได้ยินทั้งสองกล่าวถึงการจากไปของพระเยซูเจ้าใน
กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาได้รับช่วงเวลาแห่งความสว่างนี้เพื่อให้เขามีกำลังสำหรับต่อสู้ในวันข้างหน้า ศิษย์ทั้งสามคนนี้คือ
เปโตร ยากอบ และยอห์น จะอยู่กับพระเยซูเจ้าในเวลาอันมืดมนในสวนเกทเสมนี และสามคนนี้จะร่วมรับความทุกข์ทรมานของพระศาสนจักรในศตวรรษที่หนึ่งมากกว่าศิษย์คนอื่น ๆ เปโตรจะต้องการพละกำลังที่ได้จากความทรงจำ เพื่อเป็นศิลาค้ำจุนผู้อื่น ยากอบเป็นอัครสาวกคนแรกที่เป็นมรณสักขี และต้องการพละกำลังจากความหวังว่าร่างกายของเขาจะเปลี่ยนสภาพอย่างรุ่งโรจน์ ยอห์นจะมีชีวิตยืนยาวกว่าศิษย์อื่น ๆ และจะเป็นผู้เขียนพระวรสารฉบับที่สี่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการรำพึงไตร่ตรองอย่างล้ำลึกเกี่ยวกับการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของ
พระวจนาตถ์ วันแห่งแสงสว่างและความมั่นใจนี้ถูกประทานให้แก่ศิษย์ทั้งสามล่วงหน้าเป็นเวลานานหลายปี เพื่อเป็นจุดหนึ่งในความทรงจำที่พวกเขาจะย้อนกลับไประลึกถึงได้เสมอ เปโตรต้องการจับและเก็บรักษาช่วงเวลานั้นไว้ในเพิงนัดพบ แต่
เพิงหนึ่ง หรือสามเพิงก็ไม่สามารถเก็บกักการพบกันระหว่าง
พระเจ้าและมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในองค์พระเยซูเจ้า ความ
ทรงจำของคริสตชนเท่านั้นสามารถรักษาช่วงเวลานั้นไว้ใน
ทุกเวลาและทุกสถานที่ หนึ่งในผู้เขียนพระคัมภีร์เน้นย้ำถึงความเข้มแข็งของความเชื่อ ที่เกิดจากความทรงจำของเปโตรว่า “เมื่อเราประกาศให้ท่านรู้ถึงพระฤทธานุภาพ และการเสด็จมาของ
พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรานั้น เรามิได้พูดตามนิยายงมงายที่สร้างขึ้น แต่เราประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ... เราอยู่กับพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น” (2ปต 1:16-18)
    มหาพรตหมายถึงการเดินทางของชีวิต บางครั้งวันเวลาของเราเหมือนกับเราอยู่กับพระเยซูเจ้าในถิ่นทุรกันดารแห่งความขัดแย้ง บางครั้ง พระองค์ทรงนำเราขึ้นไปอยู่บนภูเขาแห่งการภาวนา และเข้าสู่ประสบการณ์แห่งแสงสว่าง ทัศนวิสัย ความกว้างไกล ความเชื่อมโยง และความมั่นใจ เมื่อพระเจ้าประทานช่วงเวลาแห่งความเข้าใจอันลึกล้ำ พระองค์ประทานให้เพื่อเป็นกำลังสำหรับการต่อสู้ในอนาคต วันบนภูเขาเป็นวันเวลาที่เราควรทะนุถนอมไว้ บางคนได้รับกำลังใจมากจากการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นพระพรที่เขาได้รับมาในชีวิต เมื่อพระเจ้าทรงเผยแสดงความสว่าง และการประทับอยู่ของพระองค์ เราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำได้เพื่อน้อมรับช่วงเวลานั้น รับรู้ และเก็บไว้เป็นของเรา เราควรประกาศให้ผู้อื่นทราบเรื่องพระพรของพระเจ้าด้วยการสรรเสริญและความกตัญญูรู้คุณ เช่นเดียวกับ
พระนางมารีย์ ผู้เป็นผู้เพ่งพิศภาวนาผู้ยิ่งใหญ่ เราต้องทะนุถนอมช่วงเวลานั้นไว้ในใจ และไตร่ตรองเรื่องราว และรักษาไว้ในความทรงจำ

 

บทรำพึงที่ 2
ง่วงนอนมาก
    เปโตร ยากอบ และยอห์น ผู้น่าสงสาร ทั้งสามคนมีปัญหาเสมอเมื่อต้องตื่นเฝ้าอยู่กับพระเยซูเจ้า พวกเขา “ง่วงนอนมาก” ขณะที่อยู่บนภูเขาแห่งแสงสว่าง ต่อมา เมื่อเขาอยู่ที่เชิงเนินเขาอีกลูกหนึ่ง และพระเยซูเจ้าทรงต้องการมีคนอยู่เป็นเพื่อน พระองค์ทรงพบพวกเขา “หลับอยู่เพราะความโศกเศร้า” พลังงานเป็นสิ่งที่แปลก เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เราจะเติมพลังได้อย่างไร และมันสูญหายไปได้อย่างไร นี่เป็นข้อบ่งชี้ถึงสภาพชีวิตภายในของเราได้แน่นอน เมื่อเราพูดว่าใครบางคนกำลัง “ตื่นตัวเต็มที่” เรายอมรับว่าสภาพนี้เกิดจากพลังงานมากกว่าเพราะเขา
มีสุขภาพแข็งแรง และรู้ว่าความเหน็ดเหนื่อยทางกายไม่ใช่สาเหตุเดียวของความอ่อนล้า ผู้ฝึกสอนนักฟุตบอลรู้ดีว่าไม่มีอะไรช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อที่เหนื่อยล้าได้ดีเท่ากับแรงจูงใจ ความอ่อนล้าอาจเกิดจากความเหน็ดเหนื่อยทางกาย หรือทางจิตใจ หรือทางอารมณ์ก็ได้
    มนุษย์แสดงความกระตือรือร้นออกมาด้วยอาการต่าง ๆ ที่ต้องใช้พลังงาน เช่น แสดงความสนใจออกมาทางดวงตา ความสว่างสดใสของใบหน้า ความแข็งแรงของเสียงพูด และกิริยาท่าทาง และแสดงความอ่อนล้า และความหดหู่ใจออกมาด้วยความกระวนกระวาย ความเบื่อหน่าย และความเกียจคร้าน ความหมายดั้งเดิมของความกระตือรือร้น (enthusiasm) คือการอยู่ในพระเจ้า (living-in-God) เมื่อปราศจากความกระตือรือร้นจึงหมายถึงการขาดความรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในพระเจ้า นักประพันธ์หนังสือฝ่ายจิตในยุคกลางวาดภาพของคนบาปว่า เป็นคน
หลังค่อมที่ก้มลงมองเท้าตนเอง และไม่สามารถมองเห็นโลกของ
พระเจ้าได้ และเข้าใจว่าการสำนึกผิดก็คือกระบวนการที่มนุษย์ยกสายตาขึ้น ทำให้มองเห็นความจริง ความงาม และความดีของพระเจ้าในโลกได้กว้างไกลขึ้น ความเกียจคร้านตรงกันข้ามกับความกระตือรือร้น และธรรมประเพณีถือว่าเป็นหนึ่งในบาปต้นเจ็ดประการ เคยมีผู้อธิบายความหมายของพระคัมภีร์บางคนตีความว่า บาปกำเนิดคือความเกียจคร้าน โดยให้เหตุผลว่า อาดัมและเอวาไม่ยอมใช้ความสามารถของตนในการไตร่ตรองด้วยเหตุผล และยอมให้ปีศาจคิดแทนตน ความจริงที่ว่ามนุษย์คนหนึ่งยังมีลมหายใจอยู่ไม่ใช่หลักฐานที่พิสูจน์ได้เพียงพอว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิต ที.เอส. เอเลียต เขียนบรรยายสตรีแห่ง
แคนเตอเบอรี ในยุคของเบ็กเก็ต ว่า “มีชีวิต และมีชีวิตเพียงบางส่วน” สตรีเหล่านี้ดำรงชีวิตไปเรื่อย ๆ ผ่านฤดูกาลต่าง ๆ แต่พยายามหลีกเลี่ยงผลจากความเป็นจริง และ “ไม่ปรารถนาให้เกิดอะไรขึ้นเลย” พระเยซูเจ้าทรงเผชิญหน้ากับชีวิตตั้งแต่ในถิ่นทุรกันดารที่แห้งแล้งที่สุด จนถึงภูเขาอันรุ่งโรจน์ที่สุด พระองค์เสด็จมาเพื่อให้เรามีชีวิตและมีชีวิตอย่างบริบูรณ์ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดบนใบหน้าของบุคคลที่มีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอยู่ในตัวมนุษย์ที่มีชีวิต และชีวิตบริบูรณ์สำหรับมนุษย์อยู่ที่การมองเห็นพระเจ้า” (นักบุญ อิเรนีอัส)
    แสงสว่างบนใบหน้าของนักบุญเกิดจากการมองเห็นพระเจ้าในชีวิต แม้แต่ในสิ่งที่น่าเกลียดในชีวิต คนบาปหลังค่อมตกอยู่ในเงาและความมืด ใบหน้าที่แสดงความเบื่อหน่ายและไหล่ลู่ของคนจำนวนมากในปัจจุบันเป็นพยานถึงความว่างเปล่าของวัฒนธรรมวัตถุนิยม และมีคนจำนวนมากที่ชอบชีวิตกลางคืนและนอนในเวลากลางวัน จนดูเหมือนว่าพวกเขากลัวแสงสว่าง
    พลังงานเกิดจากวิสัยทัศน์และเป้าหมาย ความเกียจคร้านและความอ่อนล้าเกิดจากการขาดพลังงาน อาจเป็นเพราะพลังงานนั้นรั่วไหลออกไปเพราะนำไปใช้กับเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอื่น ๆ หรือไม่สามารถเก็บพลังงานไว้ได้โดยปราศจากปัจจัยกระตุ้นภายนอก บางครั้ง ความมืด และความหดหู่ในใจ เกิดจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย หรือโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาจเกิดขึ้นเพราะเราใช้อารมณ์มากเกินไปอย่างที่เรียกกันว่า “สภาพหมดไฟ” แต่มีบางครั้งที่ความรู้สึกแห้งแล้งนั้นเกิดขึ้นเพราะพระเจ้าทรงกำลังทำงานในวิญญาณนั้น ซึ่งในกรณีนี้ ความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้ฉลาดรอบคอบเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักตนเองมากพอจะเข้าใจสถานการณ์ และประสบการณ์ ที่เป็นต้นกำเนิดของพลังงานในตัวเรา และคอยตรวจสอบว่าเมื่อใดที่พลังงานของเรารั่วไหลจนทำให้เกิดความเฉื่อยชา เกิดความกลัวจนไม่กล้าทำอะไร เกิดความวิตกกังวลไปหมดทุกเรื่อง ขาดความมั่นใจในตนเอง มีแต่ความหวาดระแวง ขาดสมาธิ และหงุดหงิด มนุษย์สามารถปิดบังอาการเหล่านี้ด้วยการไม่ยอม
ลุกจากเตียงนอน ด้วยกิจกรรมที่หันเหความสนใจ หรือดื่มสุรา หรือใช้สารเคมีอื่น ๆ แต่เมื่อถึงเวลา เขาควรเผชิญหน้ากับสาเหตุของปัญหาจะดีกว่า
    ชาวประมงสามคนที่แข็งแรงมากพอจะพายเรือ และ
ลากอวนได้ตลอดคืน กลับพบว่าตนเอง “ง่วงนอนมาก” และ “หลับอยู่เพราะความโศกเศร้า” ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนัก บางครั้ง ชีวิตภาวนาของเราต้องเป็นการพบกับพระเจ้า โดยเปิดใจกับ
จิตตาธิการที่มีความรู้ ผู้สามารถช่วยเราให้เข้าใจว่าความเหนื่อยของเราหมายถึงอะไร

 

บทรำพึงที่ 3
พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยอห์น และยากอบ ...
    บทอ่านวันนี้มาจากพระวรสารของนักบุญลูกา และเริ่มต้นจากกลางประโยค ท่อนแรกของประโยคกล่าวไว้ว่า “หลังจาก
พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องนี้ประมาณแปดวัน...” พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับเน้นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ ”พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์” เข้ากับการ “ตรัสเรื่องนี้” (มธ 17:1, มก 9:2, ลก 9:28) มีเพียงไม่กี่ครั้งที่พระวรสารเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้าโดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์
    เปโตร ยากอบ และยอห์น จำพระวาจาที่พระองค์ตรัสในโอกาสนั้นได้อย่างแน่นอน แปดวันก่อนหน้านั้นพวกเขาได้สนทนากับพระองค์ ซึ่งเป็นคำสนทนาที่เขาไม่มีวันลืม และแบ่งเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงถามเขาว่า “ท่าน
ล่ะว่าเราเป็นใคร” เปโตรตอบคำถามนี้เองโดยประกาศความเชื่อของเขาว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสต์ของพระเจ้า... หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงการสิ้นพระชนม์ที่ใกล้จะเกิดขึ้นว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพ” ทั้งหมดนี้คือพระวาจาที่พวกเขาจำได้ขึ้นใจ
    เหตุการณ์สำแดงพระองค์นี้เชื่อมโยงกับพระทรมาน และการกลับคืนชีพของพระองค์...
    สองสามสัปดาห์ต่อมา พระเยซูเจ้าจะทรงพาเพื่อนทั้ง
สามคนนี้ไปกับพระองค์ยังสวนเกทเสมนี (มธ 26:37, มก 14:33)
พระพักตร์ที่ศิษย์ทั้งสามเห็นว่าสว่างเจิดจ้าในวันนี้ ในวันนั้น เขาจะเห็นว่าเต็มไปด้วยพระเสโทที่ตกลงบนพื้นดินประดุจโลหิต
(ลก 22:44) ถูกตบ (ลก 22:64) และถูกถ่มน้ำลาย (มธ 25:67)
    ก่อนหน้านั้น พระเยซูเจ้าทรงบอกศิษย์ของพระองค์ด้วยว่า เขาต้อง “แบกกางเขนของตนทุกวันและติดตามพระองค์”
(ลก 9:23) พระองค์ตรัสด้วยว่า “บางท่านที่ยืนอยู่ที่นี่จะไม่ตาย จนกว่าจะเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 9:27) การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นภาพลักษณ์ของพระอาณาจักร
อันเร้นลับ หมายถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าที่ผลิบานในตัวมนุษย์ ไม่ใช่หรือ
    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะกล้าหวังได้อย่างไรว่าจะได้ชื่นชมความยินดีแห่งปัสกา โดยไม่ผ่านเส้นทางนี้ด้วยตนเองก่อน

    สัปดาห์ที่สองเริ่มขึ้นแล้ว สำหรับข้าพเจ้า นี่คือเวลา
“เดินไปสู่กางเขน ด้วยใจชื่นชมยินดี”
    พระทรมาน และการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ คือ
ธรรมล้ำลึกหนึ่งเดียวกัน
ทรงพาเปโตร ยอห์น และยากอบ ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา
    ศิษย์สามคนนี้โชคดีจริง ๆ ... เขาได้ร่วมอธิษฐานภาวนากับ
พระเยซูเจ้า เขาได้เฝ้าดูพระองค์อธิษฐานภาวนา
    แต่เราจะเห็นในไม่ช้า จากพฤติกรรมของเขาในเวลานั้น ว่าเขาไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษเช่นนี้เลย เพราะขณะที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา พวกเขานอนหลับ...
    แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “บุรุษผู้รักการภาวนา” อย่างแท้จริง พระองค์ทรงติดต่อสื่อสารกับพระบิดาสวรรค์ของพระองค์เสมอ
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาในช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของพระองค์เสมอ (ลก 3:21, 5:16, 6:12, 9:18, 9:28, 10:21, 11:1, 22:32, 22:41-42, 23:34, 23:46) ตลอดพระวรสารของนักบุญลูกา เขาบอกเราว่าพระเยซูเจ้ามักทรงแสวงหาสถานที่สันโดษเพื่อสนทนาอย่างจริงใจกับพระบิดา พระเยซูเจ้าทรงมีความลับอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลที่พระองค์ทรงเรียกว่า “พระบิดาของเรา” พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่หันไปหาพระบิดาเสมอ นี่คือส่วนสำคัญของอัตลักษณ์อันลึกซึ้งที่สุดของพระองค์ “พระบิดา” เป็นคำที่เราได้ยินพระองค์ตรัสเป็นครั้งแรกในพระวิหารเมื่อพระองค์อายุ 12 ปี
(ลก 2:49) และจะเป็นคำสุดท้ายในชีวิตของพระองค์ เมื่อพระองค์ใกล้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (ลก 23:46)
    ข้าพเจ้าจัดสรรเวลาสำหรับอธิษฐานภาวนาในชีวิตของข้าพเจ้าระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้หรือไม่
ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไป และฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า
    ดูเหมือนว่าลูกาหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำศัพท์เดียวกันกับมัทธิว (17:2) และมาระโก (9:2) ที่ใช้คำว่า “จำแลง” (transfiguration) ผู้อ่านพระวรสารของลูกา เคยเป็นคนต่างศาสนาที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมกรีก และอาจคิดว่า “การจำแลงกาย” นี้เหมือนกับการปรากฏตัวของเทพเจ้าในตำนาน แต่เขาใช้คำศัพท์ที่เข้าใจง่าย กล่าวคือ ระหว่างอธิษฐานภาวนา พระพักตร์ของพระเยซูเจ้า “เปลี่ยนไป” อันที่จริง เมื่อเราเฝ้ามองชายหรือหญิงบางคนที่กำลังอธิษฐานภาวนาอย่างจริงจัง และกำลังติดต่อกับพระเจ้า เราอาจเห็นว่าใบหน้าของเขาสว่างสดใสเหมือนกับมีแสงส่องอยู่ภายใน เขายังเป็นมนุษย์คนเดิมแน่นอน แต่เราสามารถเห็นได้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่ผิดธรรมดากำลังส่องทะลุตัวเขาออกมาภายนอก
    “ฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า” เป็นเครื่องหมายของชาวสวรรค์ (ดนล 7:9, 10:5-6) และคริสตชนรุ่นแรกใช้คำบรรยายนี้กับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ (วว 1:13, ลก 17:23, 24:4) เสื้อขาวที่ทารกสวมใส่เมื่อรับศีลล้างบาป เสื้อสีขาวของเจ้าสาวในวันเข้าพิธีสมรส เสื้อที่พระสงฆ์สวมใส่ประกอบพิธีบูชามิสซา เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของปัสกา เป็นเครื่องหมายที่ทำให้บรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้านึกถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ (วว 3:45, 3:18, 4:14, 6:11, 7:9, 7:13)
    ลูกาให้กำลังใจเรา เมื่อเขาบรรยายว่าพระพักตร์ของ
พระเยซูเจ้าเปลี่ยนไปเมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานภาวนา ในเวลาที่ความทุกข์ยาก ความล้มเหลว และบาปของเราทำให้เราหดหู่ใจ การสวดภาวนาเท่านั้นจะเปลี่ยนสภาพของเราได้ เพราะเมื่อนั้น เราเองก็กำลัง “เปลี่ยนไป” และกลายเป็นภาพในกระจกเงาที่สะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า (2คร 3:18)
บุรุษสองคนคือโมเสส และประกาศกเอลียาห์ มาสนทนากับพระองค์ ทั้งสองคนปรากฏมาในสิริรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม
    ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารคนเดียวที่เปิดเผยหัวข้อของการสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้า และพยานสำคัญสองคนจาก
ยุคพันธสัญญาเดิม เขากำลังพูดถึงการจากไปของพระองค์ หรือการอพยพ (exodus ในภาษากรีก)
    เราไม่ตระหนักว่าพระองค์ทรงคิดถึงความตายบนไม้กางเขนบ่อยครั้งเพียงไรตลอดชีวิตของพระองค์ ยอห์นเรียกว่า “การผ่าน หรือการข้าม” (passage, Pasch) ของพระองค์ (ยน 13:1) ส่วน
ลูกาใช้คำว่า พระองค์จะถูกยกขึ้น (being carried up) (ลก 9:51, 24:51) พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ถวายตนเองเป็นเครื่องบูชา พระองค์ทรงรู้ว่าทำไมพระองค์จึงเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และทรงรู้ว่าพระองค์กำลังจะไปที่ใด พระองค์กำลังจะไปหาพระบิดา “พระองค์เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ผ่านทางความตาย” และทรงนำมวลมนุษย์ติดตามพระองค์ไปด้วย
    ธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้าในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นเรื่องย่อของประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เป็นบทสรุปของชะตากรรมของเรา ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราก็กำลังเดินบนทางที่นำเราไปหาพระเจ้าผ่านทางความตายของเรา เรากำลังอยู่ในสภาพของ “การอพยพ” กล่าวคือ กำลังออกจากความเป็นทาส ไปสู่ดินแดนพันธสัญญา...
    ในวันพุธรับเถ้า ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลมหาพรต
พระศาสนจักรเตือนให้เราระลึกถึงจุดหมายหลายทางของเรา “มนุษย์เอ๋ย จงระลึกว่าท่านเป็นฝุ่นดิน และจะกลับเป็นฝุ่นดิน (Remember, man, you are dust, and to dust you will return)” แต่การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เปลี่ยนชะตากรรมของเราให้กลายเป็นความคาดหวังว่าจะได้รับสิริรุ่งโรจน์ คือเมื่อเรากลับเป็นฝุ่นดิน เรากำลังข้ามไปหาพระเจ้า
    ความเชื่อในพระเยซูเจ้าทำให้เรามองโลกในแง่ดี พระองค์ทรงเป็นแสงสว่างสำหรับมนุษย์ และเรากำลังเดินทางมุ่งหน้าไปหาพระเจ้า
เปโตร และเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก เมื่อตื่นขึ้นก็เห็น
พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์ ขณะที่บุรุษทั้งสองคนกำลังจากพระเยซูเจ้าไป เปโตร
ทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกอีลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร
    แม้ในขณะที่อัครสาวกกำลังเห็นนิมิตอันยิ่งใหญ่นี้ เขาก็ยังไม่เข้าใจ พวกเขางุนงง ครึ่งหลับครึ่งตื่น และพูดโดยไม่คิด การได้อยู่ใกล้สิ่งฝ่ายสวรรค์ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นภาษาที่ชัดเจน เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อโมเสสและเอลียาห์จากไปแล้ว พวกเขาจึงเริ่มพูด แม้จะพูดไม่รู้เรื่องก็ตาม ในสวน
เกทเสมนี ศิษย์สามคนนี้ก็จะนอนหลับอีกเช่นเดียวกัน...
    โมเสส และเอลียาห์ เป็นบุรุษแห่งซีนาย (หรือโฮเรบ) “ภูเขาของพระเจ้า” (อพย 33:13-22, 1พกษ 19:9-14) ทั้งสองคนมีจิตใจเร่าร้อนหลังจากได้พบกับพระเจ้า ทั้งสองพยายามปลดปล่อยประชาชนของตนให้หลุดพ้นจากพระเจ้าเท็จเทียม ที่อาจเข้ามาแทนที่พระเจ้าเที่ยงแท้ พระเยซูเจ้าทรงคุ้นเคยกับประกาศก
ผู้ยิ่งใหญ่ในพระคัมภีร์
    ระหว่างเทศกาลมหาพรตนี้ ข้าพเจ้าหาเวลาเปิดพระคัมภีร์ออกอ่านบ้างหรือเปล่า
ขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้
เมื่ออยู่ในเมฆ เขากลัวมาก
    ต่างจากมาระโกและมัทธิว ลูกาเล่าว่าศิษย์ทั้งสามถูกเมฆ
ปกคลุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กับพระเจ้าเสมอ เมื่อศิษย์เหล่านี้ไม่เข้าใจเลยว่าเหตุการณ์ที่เขาเพิ่งเห็นนี้หมายถึงอะไร พระเจ้าจึงทรงเป็นฝ่ายเริ่มการเผยแสดงขั้นที่สอง การเข้าไปหาพระเจ้าจำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน เราสังเกตได้อีกครั้งหนึ่งว่าบุคคลที่อยู่กับพระเจ้าจะมีความยำเกรง อันที่จริง ศิษย์ทั้งสามนี้จะไม่สามารถพูดอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้เลย นี่เป็นครั้งหนึ่งที่พวกเขาปิดปากเงียบ
    คำนิยามตามความเชื่อ และตามหลักเหตุผล ที่เรากำหนดขึ้นสำหรับพระเจ้า ส่วนใหญ่เป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า และอาจทำให้เข้าใจผิด เพราะพระเจ้าทรงอยู่เหนือแนวความคิดใด ๆ
    ถูกแล้ว พระเจ้าข้า เราได้แต่เรียกพระองค์ว่า พระผู้ที่เราไม่มีวันรู้จัก (The Unknowable)
    ขอให้เราอยู่ท่ามกลางความเงียบในใจของเรา ขอให้เราก้าวเข้าสู่ “เมฆบาง ๆ” โลกในเงามืดที่เรามองเห็นไม่เกินสี่หลา และขอให้เราคลำหาทาง และเดินไปข้างหน้า...
เสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”
    ในประโยคนี้ มัทธิว และมาระโก ใช้คำว่า “สุดที่รัก” (agapetos ในภาษากรีก) ลูกาเท่านั้นที่ใช้คำว่า “เลือกสรร” (eklelegomenos ในภาษากรีก) นักประวัติศาสตร์คงจะถามว่า “เสียงนี้กล่าวอะไรจริง ๆ” ...พระวรสารไม่สนใจความอยากรู้อยากเห็นประเภทนี้... แต่ลูกาใช้คำว่า “เลือกสรร” เพราะ
มีจุดประสงค์ เขาอ้างหลายข้อความจากหนังสืออิสยาห์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้กับชนชาติอิสราเอล หรือใช้กับบุคคลลึกลับที่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า (อสย 42:1, 43:20, 45:4) ลูกาจะใช้คำนี้อีกครั้งหนึ่งระหว่างเหตุการณ์ตรึงกางเขน (ลก 23:35)
    เมื่อเรารับศีลล้างบาป เรากลายเป็นบุคคล “เลือกสรร” ด้วยเช่นกัน การเลือกสรรนี้หมายความว่าเราถูก “แยกไว้” เพื่อให้รับใช้ผู้อื่น... พระเจ้าทรงเลือกข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงคาดหวังบางสิ่งบางอย่างจากข้าพเจ้า... บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร
เมื่อสิ้นเสียงนั้นแล้ว ศิษย์ทั้งสามก็เห็นพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ได้บอกเรื่องที่เห็นให้ผู้ใดรู้เลยในเวลานั้น
    เงียบไว้ดีกว่า... เพราะเวลานั้น พวกเขายังไม่เข้าใจอะไรเลย
    แต่เขาจะเข้าใจในภายหลัง เมื่อพระเยซูเจ้าจะทรงเป็น “ผู้รับใช้” เป็น “บุคคลเลือกสรร” ในปัสกาของพระองค์... ในการอพยพของพระองค์