วันอาทิตย์ปัสกา

 

ยอห์น 20:1-9
    เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ ขณะที่ยังมืด มารีย์ชาวมักดาลา ออกไปที่
พระคูหา ก็เห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว นางจึงวิ่งไปหา
ซีโมน เปโตร กับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรัก บอกว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน”
    เปโตรกับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน เขาก้มลงมอง เห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน
ซีโมน เปโตร ซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหาและเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียร ซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง ศิษย์คนที่มาถึงพระคูหาก่อนก็เข้าไปข้างในด้วย เขาเห็นและมีความเชื่อ เขาทั้งสองคนยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่า พระองค์ต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

บทรำพึงที่ 1
ความเชื่อในวันปัสกา
    ในพระคัมภีร์ไม่มีข้อความใดที่บรรยายนาทีที่พระเยซูเจ้ากลับคืนชีพจริง ๆ เรามีแต่คำบอกเล่าว่ามีผู้พบพระคูหาว่างเปล่า และการแสดงพระองค์ในที่ต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับ
คืนชีพ เรื่องราวของการแสดงพระองค์ดลใจให้รำพึงถึงการประทับอยู่อย่างต่อเนื่องของพระองค์ในชีวิตของบรรดาศิษย์ของพระองค์
    คำบอกเล่าเรื่องพระคูหาว่างเปล่าซึ่งเราอ่านในวันนี้ ดึงเราเข้าไปร่วมอยู่ในประสบการณ์ของศิษย์ทั้งหลายในเช้าวันปัสกา ที่มีทั้งความไม่คาดฝันกับสิ่งที่เขาพบ ความสับสนในใจ ความเร่งรีบ และความตื่นเต้น การตั้งคำถาม จนถึงความเชื่อในที่สุด
    ยอห์น บอกว่าเวลานั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ นั่นคือวันแรกของการสร้างสรรค์ครั้งใหม่
    ขณะนั้นยังมืดอยู่ พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นแสงสว่างส่องโลก ทรงถูกความตายพรากไปจากศิษย์ทั้งหลาย แสงสว่างแห่งวันเวลาที่เขาจะได้เห็นและสัมผัสพระกายของพระองค์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว หินหนัก ๆ ที่ถูกกลิ้งออกไปจากปากพระคูหาบ่งบอกว่าชีวิตในเนื้อหนังมนุษย์ของพระองค์สิ้นสุดลงแล้ว
    จนถึงเวลานั้น คนทั้งหลายได้สัมผัสกับพระเยซูเจ้า และเครื่องหมายที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งทำให้เขาได้เห็น และได้ยิน หรือบางครั้งได้จับต้อง หรือถึงกับลิ้มรส พระเยซูเจ้าประทานเครื่องหมายต่าง ๆ เพื่อช่วยเขาให้ก้าวพ้นเหตุการณ์ทางกายภาพ ไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร
    แต่กระนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นเครื่องหมายเหล่านั้นจะก้าวพ้นประสบการณ์ทางกายภาพได้ บางคนเห็นและเชื่อ แต่บางคนเห็นเครื่องหมายของพระองค์ แต่ยังใจเย็นชาและไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต ในขณะที่บางคนเห็นว่าพระองค์ทรงกระทำสิ่งใดบ้าง แต่กลับวางแผนกำจัดพระองค์ ความเชื่อไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระหรรษทาน “ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา ... ทุกคนที่ได้ฟังพระบิดา และเรียนรู้จากพระองค์ก็มาหาเรา” (ยน 6:44-45)
    เช้าวันปัสกานั้น มารีย์ชาวมักดาลาได้เห็นพระคูหาว่างเปล่า แต่ไม่กล้าทำอะไรมากไปกว่าพูดว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว” เมื่อเปโตรได้เห็นพระคูหาว่างเปล่า และเห็นผ้าพันพระศพที่วางอยู่ เขาเป็นเหมือนนักสืบที่รวบรวมข้อมูลโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้
    ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักก้าวพ้นหลักฐานทางวัตถุ เพราะ “เขาเห็น และมีความเชื่อ”
    ความเชื่อเปิดตาของพวกเขาให้เห็นระเบียบใหม่ของสรรพสิ่ง มีวิธีใหม่ในการเข้าใจชีวิต เหตุการณ์หลังจากนั้นจะทำให้พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งสร้างใหม่หมายถึงการประทับอยู่ขององค์
พระผู้เป็นเจ้าในชุมชนผู้มีความเชื่อ เมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในพระอานุภาพของพระจิตเจ้า
    เมื่อพระเยซูเจ้าแสดงพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาลา พระองค์ทรงบอกนางไม่ให้ยึดเหนี่ยวอยู่กับพระกายของพระองค์ เพราะระเบียบโลกเก่าได้เปลี่ยนไปแล้ว อันที่จริงพระองค์ทรงเชิญให้โทมัสสัมผัสบาดแผลของพระองค์ และพระวาจาที่พระองค์ตรัสในโอกาสนั้นเน้นว่า ยุคหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับคืนชีพแล้วเป็นยุคแห่งพระพรสำหรับคนทั้งหลายที่เชื่อ โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายทางกายภาพมายืนยัน
    หินถูกกลิ้งออกไป และพระคูหาว่างเปล่า พระศพไม่อยู่ที่นั่นแล้ว เพราะบัดนี้ พระองค์ประทับอยู่ทุกหนแห่ง
    พระองค์ไม่ประทับอยู่ให้มองเห็นได้ หรือสัมผัสจับต้องได้ เพราะพระองค์ประทับอยู่ทั่วไปโดยที่เรามองไม่เห็น ไม่ทรงอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ... แต่พระองค์ประทับอยู่ที่นี่ เวลานี้
    คนทั้งหลายที่ถูกชักนำไปหาพระบิดาเห็นได้ว่าพระองค์ประทับอยู่กับเขา นี่คือพระพรแห่งความเชื่อ องค์พระผู้เป็นเจ้า
ผู้กลับคืนชีพประทับอยู่กับเราในเวลานี้ และเสมอไป
    ปัสกาเป็นเวลาที่เราเฉลิมฉลองด้วยการภาวนาที่เราได้รับพระพรแห่งความเชื่อ และรื้อฟื้นคำสัญญาที่เรากระทำไว้กับ
พระเจ้าเมื่อเรารับศีลล้างบาป พิธีกรรมในวันอาทิตย์ปัสกา
เปิดโอกาสให้เรารื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของเรา

 

บทรำพึงที่ 2
เปโตร รำลึกถึงเหตุการณ์
    คูหานั้นเป็นจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่าง ความฝันอันแสนไกล และอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ทั้งหมดของเราถูกขังอยู่ในนั้นพร้อมกับพระกายไร้ชีวิตของพระเยซูเจ้า ความละอายใจทำให้ข้าพเจ้าแสร้งทำเป็นกล้าหาญ ออกมาจากเงามืด และช่วยเขาฝังพระศพ พระศพยับเยินอย่างไม่น่าเชื่อ เต็มไปด้วยบาดแผล รอยฟกช้ำ ขาวซีด และอ่อนปวกเปียก จนข้าพเจ้าแทบจะจำพระองค์ไม่ได้ มีบาดแผลที่พระหัตถ์และพระบาท มีรอยแผลลึกที่สีข้างของพระองค์ บนไหล่และหลังมีรอยบาดลึก หนังแทบจะหลุดออกมา โลหิตจับตัวแห้งกรังบนพระเกศา และเครา ผสมกับน้ำลาย
และฝุ่น
    พวกเราผู้ชายทำหน้าที่หามพระศพ พวกผู้หญิงล้างทำความสะอาดพระศพอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน และใช้พันผ้ารอบ
พระศพ ผ้านั้นแลดูสะอาดและมีกลิ่นหอม จนทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง เราปิดพระเนตรในที่สุด พระเนตรนั้นเคยมองข้าพเจ้าเพียงแวบเดียว แต่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกทั้งเสียใจและยินดีพร้อมกัน ข้าพเจ้าทำงานเท่ากับผู้ชายสองคน ทั้งยกและลากก้อนหิน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องยกก็ได้ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีอะไรทำ มันช่วยบรรเทาความละอายใจของข้าพเจ้า และปิดบังความขลาดของข้าพเจ้าได้ ก้อนหินใหญ่ที่ใช้ปิดปากพระคูหาเป็นงานชิ้นสุดท้าย ข้าพเจ้าผลักดันด้วยไหล่ มันกลมเหมือนล้อเกวียน และกลิ้งเข้าที่อย่างง่าย ๆ สะดุดเล็กน้อย แล้วก็ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง มันปิดทางเข้าพระคูหาได้สนิท แต่เปิดหัวใจอันว่างเปล่าของข้าพเจ้า
    แม้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้นอนเลยตลอดสองวัน แต่คืนนั้นข้าพเจ้าก็นอนไม่หลับ ข้าพเจ้าไม่ยอมอยู่ใกล้ใคร ข้าพเจ้าไม่สมควรได้รับคำปลอบโยนจากใคร คูหานั้นเป็นเหมือนฝันร้ายขณะที่ตื่นอยู่ มันมืด และเย็นชื้น ไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในนั้น แต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระศพ เห็นบาดแผล และ
ยกร่างไร้ชีวิตนั้น ข้าพเจ้าคงร้องไห้จนสลบไปจนกระทั่งถึงเวลาเย็นของวันสับบาโต เมื่อข้าพเจ้าตื่นขึ้นมา พวกผู้หญิงยังดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ และได้เตรียมอาหารไว้ให้ พวกเราผู้ชายได้แต่นั่งล้อมวงพูดคุยกัน การมีเพื่อนช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้บ้าง และเรารื้อฟื้นความทรงจำจากวันที่เรามีความสุข
    กว่าเราจะเข้านอนก็ดึกแล้ว มารีย์มักดาลามาเคาะประตูปลุกเราให้ตื่น ข้าพเจ้าใช้เวลาครู่หนึ่งกว่าจะหายงัวเงีย และ
นางก็พูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย “พระศพ! พระคูหา! เขานำพระองค์ไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน” ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่านางกำลังละเมอฝันร้าย แต่นางแต่งกายเรียบร้อย และเพิ่งกลับมาจากข้างนอก ในที่สุด คำพูดของนางก็ทะลุเข้ามาในสมอง
    จากนั้น ยอห์นและข้าพเจ้าก็ออกวิ่งขึ้นไปบนเนินเขา ข้าพเจ้าวิ่งตามคนหนุ่มอย่างเขาไม่ทัน เป็นความจริงที่หินถูกกลิ้งออกไปพ้นปากพระคูหา ยอห์นมองเข้าไปภายใน แต่ยังยืนอยู่ด้านนอก ข้าพเจ้าวิ่งเข้าไปข้างในทันที พระศพไม่อยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าเห็นแต่ผ้าพันพระศพ ข้าพเจ้าตรวจดูว่าเป็นผ้าที่พวกผู้หญิงใช้พันพระศพจริงหรือไม่ ผ้าที่ปิดพระพักตร์วางอยู่แยกกัน สมองของข้าพเจ้าสับสนไปหมด ใครจะขโมยพระศพไป แล้ว
ยังยอมลำบากแก้ผ้าที่พันพระศพออกด้วย ผ้าลินินนี้ราคาแพง
    ยอห์นก้าวเข้ามาในพระคูหา เขาเงียบมาก เขากระซิบอะไรบางอย่างที่ข้าพเจ้าฟังไม่เข้าใจในตอนแรก “พระองค์กลับคืนชีพแล้ว จำได้ไหม” ข้าพเจ้าแทบสลบเพราะตกใจ “จำลาซารัสได้ไหม ... จำวันนั้นที่เมืองนาอิน จำลูกสาวของไยรัส จำได้ไหม” ข้าพเจ้าจำได้แน่นอน ข้าพเจ้าจำเช้าวันนั้นที่เราจับปลาจำนวนมากได้ในทะเลสาบ จำวันที่เราตื่นขึ้นมาบนภูเขา จำเหตุการณ์ที่ทำให้เรางุนงงนับร้อยเหตุการณ์ เราจะลืมลงได้อย่างไร
    เราต่างหากที่อยู่ในพระคูหา เราต่างหากที่อยู่ในความมืด สิ่งที่ปิดพระคูหาไม่ใช่ก้อนหิน แต่เป็นเมฆมืดทึบแห่งความสงสารตนเอง เช้าวันนั้น ข้าพเจ้าได้รับบทเรียนที่ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืม คูหาไม่มีหรอก เว้นแต่คูหาที่อยู่ในตัวเรา ไม่มีจุดจบของความหวัง และในพระเยซูเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความตายอย่างที่เรารู้จักกัน

 

บทรำพึงที่ 3
เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์
    พระวรสารทั้งสี่ฉบับให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตรงกันในกรณีนี้
    ดังนั้น การกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าจึงเกิดขึ้นในวันหลังจากวันสับบาโตของเทศกาลปัสกา ของชาวยิว ยอห์น ผู้ชอบใช้สัญลักษณ์ มองว่าวันแรกนี้เป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นของโลกใหม่ ... การเนรมิตสร้างครั้งใหม่ สัปดาห์แห่งปฐมกาลใหม่
    ความทุกข์ทรมาน และความตาย เป็นเหตุผลที่ใช้โจมตีความเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง พระเจ้าจะทรงสร้างโลกที่มีความทุกข์ทรมานเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร
    เราไม่มีวันตอบคำถามนี้ได้ ถ้าเราไม่ยอมเชื่อว่า
พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรใน
ยุคโบราณ และคนทั้งหลายที่รำพึงไตร่ตรองพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้ง คิดว่าพระเจ้าคงไม่ “เนรมิตสร้างครั้งแรก” (ซึ่งรวมถึงสภาพที่ต้องตายในปัจจุบันของเรา) ถ้าพระองค์ไม่ทรงมองเห็น “การเนรมิตสร้างครั้งที่สอง” นี้มาตั้งแต่นิรันดรกาล ซึ่งภายในการเนรมิตสร้างครั้งนี้ “จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการ
คร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21:4)
ขณะที่ยังมืด มารีย์ชาวมักดาลาออกไปที่พระคูหา
    ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งที่ฉบับให้ข้อมูลตรงกันในประเด็นนี้ ว่าสตรีเป็นคนกลุ่มแรกที่พบ “เหตุการณ์” นี้ แต่ยอห์น เลือกที่จะเน้นสตรีคนหนึ่ง คือ มารีย์ชาวมักดาลา เขาถึงกับบอกว่า
พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ให้นางเห็นเป็นคนแรก
(ยน 20:11-18)
นางเห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมน เปโตร กับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรัก
    นาง “วิ่ง” รายละเอียดนี้มีนัยสำคัญ นางยังไม่เห็น
พระเยซูเจ้า นางยังไม่เชื่อ นางเพียงแต่ตกใจ และวิ่งไปบอก “ผู้นำที่รับผิดชอบ”
    เราสังเกตว่าพระวรสารไม่ระบุชื่อของศิษย์คนนี้ เพียงแต่บอกว่าเป็น “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ธรรมประเพณียอมรับมาโดยตลอดว่าศิษย์คนนี้คือยอห์น ผู้เขียนคำบอกเล่านี้นั่นเอง
ในบรรดาอัครสาวก 12 คน ยอห์นดูเหมือนได้รับความสนใจจากพระเยซูเจ้ามากเป็นพิเศษ จนมีคนอิจฉา ... รายละเอียดนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นต่อไป แต่เราจะพักประเด็นนี้ไว้ก่อนในเวลานี้
นางบอกเขาว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน”
    ในเวลานั้น นางสันนิษฐานได้เพียงประการเดียว คือ มีคนมาขโมยพระศพ
    ข้อมูลที่เรามีอยู่นี้ทำให้ไม่อาจเชื่อ “คำอธิบายตามหลักเหตุผล” ที่บอกว่าบรรดาศิษย์อยากเห็นพระเยซูเจ้ากลับคืนชีพมากจนเกิดภาพหลอน อันที่จริง ข้อความทั้งหมดบอกเล่าสิ่งที่ตรงกันข้าม
    เห็นได้ชัดว่าคำบอกเล่านี้เขียนขึ้นเพื่อให้เราตระหนักว่า
พระคูหาอันว่างเปล่าไม่สามารถนำเราไปสู่ความเชื่อได้ แต่กระนั้น “พระคูหาว่างเปล่า” อันโด่งดังนี้กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้คนจำนวนมากหาคำอธิบายไม่ได้ ในข้อความหนึ่งเดียวนี้ปรากฏคำว่า “พระคูหา” ถึงเจ็ดครั้ง
เปโตร กับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน
    ยอห์นจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ดีมาก เพราะเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
    แต่ถ้าจะอธิบายว่า เพราะยอห์นหนุ่มกว่าเปโตร เขาจึงวิ่งได้เร็วกว่า ยังเป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอ ในกรณีนี้อีกเช่นกันที่
ยอห์นมองว่าเป็นสัญลักษณ์ เปโตรสามารถถูกแซงหน้าได้ ศิษย์
ที่มีใจร้อนรนกว่าย่อมแซงหน้าเขาได้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คนที่สอง”
แซงหน้า “คนแรก” (ยน 13:24; 18:12, 16; 21:20-23) ทำไมยอห์นจึงย้ำความผิดปกตินี้
เขาก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน
ซีโมน เปโตร ซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหา และเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียร ซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง
    ข้อความที่ยอห์น ผู้เป็นประจักษ์พยาน บันทึกไว้นี้สามารถแปลความหมายออกมาได้ดังนี้ “เขาเห็นผ้าพันพระศพ ‘วางกองอยู่’ และผ้าที่ใช้พันพระเศียรไม่ได้กองรวมกับผ้าพันพระศพ แต่ยังม้วนไว้ และกองอยู่ที่เดิม”
    สรุปสั้น ๆ ได้ว่าไม่มีมืออื่นมาขยับเขยื้อนผ้าเหล่านี้ พระศพเพียงแต่หายไป และผ้าพันพระศพก็หลุดลงมากองอยู่ในที่เดิม ยอห์นถึงกับย้ำว่า “ผ้าพันพระเศียร” (ซึ่งเป็นแถบผ้าที่พันรอบศีรษะและรอบคางเพื่อพยุงขากรรไกร ตามธรรมเนียมฝังศพของชาวยิว) ยังม้วนกองอยู่ที่เดิม
ศิษย์คนที่มาถึงก่อนก็เข้าไปข้างในด้วย – ผู้นิพนธ์ย้ำรายละเอียดนี้
    ดังนั้นรายละเอียดนี้จึงต้องมีนัยสำคัญ

เขาเห็น และมีความเชื่อ
    เปโตรยังไม่เข้าใจ ลูกาบอกเล่าเหตุการณ์ที่เปโตรไปที่
พระคูหาว่า เขาสังเกตเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขากลับไปและ “ประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” (ลก 24:12)
    - มารีย์ ชาวมักดาลา ได้ให้คำอธิบายตามความคิดของมนุษย์คนหนึ่ง ว่า “เขานำพระองค์ไปจากพระคูหาแล้ว”
    - เปโตร ไม่เข้าใจอะไรเลย
    - ยอห์น มองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดกว่า : “เขาเห็น และ
มีความเชื่อ” ... เขาเห็นอะไร
    เขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับที่เปโตรเห็น แต่เปโตร
ไม่รู้จักตีความสิ่งที่เขาเห็น ...
    การมีความเชื่อจำเป็นต้องใช้ดวงตาของหัวใจ คือ ตาแห่งความรัก บัดนี้ เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมยอห์นจึงกล่าวถึง “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” อย่างชัดเจน เพราะความรักนี้เอง ยอห์นจึงวิ่งเร็วกว่า ... ขณะที่อยู่ใกล้ฝั่งทะเลสาบอีกเช่นกันที่ศิษย์ที่
พระเยซูเจ้าทรงรักจำพระเยซูเจ้าได้ก่อนใคร ๆ – ก่อนที่เปโตรจะจำพระองค์ได้ (ยน 21:7)...
    เราเรียนรู้อีกครั้งหนึ่งว่า ความรักเป็นพลังที่กระตุ้นและส่งเสริมความเชื่อ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในพระศาสนจักรไม่มีเอกสิทธิ์ในประเด็นนี้ ดังนั้น แทนที่จะอิจฉาผู้มีอำนาจในพระศาสนจักร เราทุกคนได้รับเชิญให้เป็นที่หนึ่งในด้านความรัก นี่คือสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นทั้งหมด...
เขาเห็น และมีความเชื่อ
    นอกจากพระคูหาอันว่างเปล่าแล้ว สภาพและตำแหน่งของผ้าดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งสำหรับยอห์น เมื่อเขาเห็นผ้าพันพระศพ “กองอยู่” และผ้าพันพระเศียร “พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง” ยอห์นเข้าใจ (ราวกับด้วยสังหรณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสายฟ้าแลบ) ว่าเป็นไปไม่ได้ที่มือมนุษย์จะดึงพระศพออกไป
พระศพจะต้องหายไปจากภายในผ้าพันพระศพ ซึ่งยังวางอยู่ในตำแหน่งเดิมของมัน
    แต่เครื่องหมายเดียวกันนี้ไม่มีความหมายใด ๆ เลยสำหรับเปโตร
    ไม่มีเครื่องหมายใดที่สามารถทำให้มนุษย์คนใดมีความเชื่อได้ ไม่มีเครื่องหมายใดที่มีอำนาจมากเช่นนั้น ... เพื่อจะเชื่อ เราต้องมองให้ไกลกว่าเครื่องหมาย หลังจากนั้นไม่นาน พระเยซูเจ้าเองจะตรัสข้อความที่ทรงพลังยิ่งกว่าว่า “ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข” (ยน 20:29) ดังนั้น ยอห์นจึงเป็นศิษย์ตัวอย่าง เขาเป็นศิษย์ผู้มีความเชื่อ โดยไม่ต้องมองเห็น
    ความเชื่อมีบางสิ่งบางอย่างเหมือนกับความเป็นจริงที่ลึกล้ำที่สุดของมนุษย์ กล่าวคือ เราไม่เห็นความรักของบุคคลที่รักเรา เราเห็นแต่เครื่องหมายของความรักของเขาเท่านั้น แต่เครื่องหมายเหล่านี้เปิดเผยนัยสำคัญให้แก่ผู้ที่รู้จักแปลความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้เท่านั้น กิริยาหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการตีความ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะตีความผิดได้เสมอ “เขาต้องการบอกอะไรแก่ฉัน ฉันควรเข้าใจกิริยานี้อย่างไร”...
    ด้วยเหตุนี้ การพบกันอย่างแท้จริงของมนุษย์จึงสร้างความประทับใจได้เสมอ เพราะทั้งสองฝ่ายต้องเปิดเผย และเอาใจใส่กันและกัน เราทุกคนเคยมีประสบการณ์อันโหดร้าย เมื่อเราแสดงเครื่องหมายบางอย่างที่ผู้อื่นเข้าใจผิด เมื่อเราพูดบางคำออกไปที่ผู้อื่นไม่อยากฟัง เมื่อเราแสดงกิริยาบางอย่างที่ผู้อื่นตีความผิด ๆ ... สิ่งที่ช่วยให้บุคคลสองคนมองเห็นนัยสำคัญของสารที่สื่อให้แก่กัน คือ ความรักอันไร้ขอบเขต
    ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ “พระคูหาว่างเปล่า” และ “ผ้าพันพระศพที่วางอยู่ในตำแหน่งเดิม” จึงเป็นผู้ที่รักมากกว่าเท่านั้น...
    เช่นเดียวกับเครื่องหมายแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์


เขาทั้งสองคนยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่าพระองค์ต้องทรงกลับคืน
พระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
    ความจริง หรือเหตุการณ์ภายนอก ยังไม่เพียงพอจะช่วยให้เข้าใจได้ แต่สำหรับยอห์น พระคูหาว่างเปล่ากลายเป็นเครื่องหมายที่พูดได้ ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเห็นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ทั้งนี้เพราะยอห์นยอมให้พระจิตเจ้าแทรกเข้าไปในใจของเขา และเปิดเผยความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ ... เมื่อเผชิญหน้ากับความจริงที่เขาเห็น ยอห์นระลึกถึงข้อความใน
พระคัมภีร์ที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึง (ฮชย 6:2; สดด 2:7, 15:8;
ยน 2:1)
    เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน เราสามารถเข้าใจเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้งเพียงเมื่อเราไตร่ตรองในพระจิตเจ้า ภายใต้แสงสว่างที่เราได้รับจากการรำพึงตาม
พระวาจาของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ...
    ความรักทำให้เรามองเห็นความจริง...   
    เราต้องมีความรักก่อนจะมีความเชื่อ...