แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สี่ เทศกาลปัสกา


ยอห์น 10:27-30
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักมัน และมันก็ตามเรา เราให้ชีวิตนิรันดรกับแกะเหล่านั้น และมันจะไม่พินาศเลยตลอดนิรันดร ไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือเราได้ พระบิดาของเราผู้ประทานแกะเหล่านี้ให้เรา ทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกคน และไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้ เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน”

 

บทรำพึงที่ 1
แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา
    นักประพันธ์ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แสดงความแปลกกับเสียงเรียก และเสียงผิวปากที่คนเลี้ยงแกะใช้เรียกแกะ และแกะก็ตอบสนองต่อเสียงเรียกเหล่านี้เสมอ อาจมีแกะหลายฝูงมาอยู่รวมกันภายใต้ชายคาเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเช้า คนเลี้ยงแกะสามารถแยกฝูงแกะได้โดยไม่มีปัญหา คนเลี้ยงแกะคนหนึ่งจะส่งเสียงเรียกที่ไม่มีใครเหมือนของเขา และแกะในฝูงของเขาเท่านั้นจะเดินตามเขาออกไปจากคอก เมื่อได้ยินเสียงเรียก แกะที่เป็นหัวหน้าฝูงจะเริ่มขยับตัว และตัวอื่น ๆ ทั้งหมดจะเดินตามมัน พระเยซูเจ้าตรัสว่า “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักมัน และมันก็ตามเรา”
    เราต้องถามตนเองเป็นครั้งคราวว่า ฉันติดตามเสียงของใคร
ฉันพยายามเลียนแบบมาตรฐานของใคร ในปัจจุบันมีเสียงต่าง ๆ ตะโกนเรียกเราจะแหล่งต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากคนในสถานภาพเดียวกัน วัฒนธรรมที่เป็นกระแสนิยม การโฆษณา คำขวัญทางการเมือง โลกีย์วิสัย และสิ่งที่เราเรียกว่า
เสรีนิยม วิถีทางของศิษย์พระคริสต์คือติดตามเสียงขององค์
พระผู้เป็นเจ้า การดำเนินชีวิตตามความเชื่อคือการตอบสนองเสียงเรียก หรือกระแสเรียก แท้ที่จริง พระคัมภีร์ทั้งเล่มบอกเล่าเรื่องราวของการเรียก และการตอบสนอง แม้แต่การเนรมิตสร้างโลกก็อาจเข้าใจได้ว่าพระเจ้าทรงเรียกอาดัม ออกมาจากความว่างเปล่า
    เมื่อเริ่มต้นเรื่องราวการเผยแสดง อับราฮัมได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้าให้ละทิ้งถิ่นฐานด้วยความวางใจ และเขาก็กลายเป็นบิดาของชนชาติต่าง ๆ โมเสสได้ยินเสียงเรียก เขาเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงและนำประชาชนออกไปพบกับอิสรภาพ บ่อยครั้งที่กระแสเรียกส่วนตัวจำเป็นต้องถูกแสดงออกมาภายนอกด้วยการเดินทาง ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเดินทางฝ่ายจิต ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระนางมารีย์ได้รับเรียกจาก
พระเจ้า เมื่อทูตสวรรค์แจ้งสารต่อพระนาง พระนางจึงออกเดินทางในความเชื่อเพื่อไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ
    และในชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ได้รับกระแสเรียกของพระองค์เมื่อพระจิตเสด็จลงมาเหนือพระองค์ที่แม่น้ำจอร์แดน การเดินทางของพระองค์เริ่มต้นเมื่อพระจิตเจ้าทรงนำพระองค์เข้าไปในถิ่นทุรกันดารก่อน แล้วจึงนำทางพระองค์ไปเทศน์สอนในแคว้นกาลิลี พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์ของพระองค์อีกทอดหนึ่ง บางคนพระองค์ทรงเรียกอย่างลึกล้ำมากกว่าผู้อื่น ให้เขาเป็นผู้เลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพประทานพระจิตของพระองค์ให้แก่ศิษย์เหล่านี้ และเรียกเขาให้สานต่อพันธกิจของพระองค์ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” ศิษย์เหล่านี้จะต้องเดินทางด้วยเช่นกันเพื่อตอบสนองกระแสเรียกนั้น
    พระศาสนจักรเป็นชุมชนของผู้มีความเชื่อ ผู้ติดตามเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ พระองค์ดำรงอยู่ต่อไปในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับผู้ที่ติดตามพระองค์ พระองค์ทรงรู้จักเขาแต่ละคน และทรงเรียกแต่ละคนให้มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระองค์ หลายคนได้ยินเสียงเรียกลึก ๆ ในใจ ที่เรียกเขาให้อุทิศชีวิตแก่พันธกิจของพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น บางคนได้ยินเสียงเรียกให้ประกาศพระวาจาของพระองค์ หรือให้ปฏิบัติงานแห่งความเมตตาสงสารของพระองค์ หรือให้รับบุคคลหนึ่งเป็นคู่สมรสและใช้ชีวิตคู่ด้วยความซื่อสัตย์ โดยสะท้อนภาพความรักของพระตรีเอกภาพ ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและสร้างความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกัน
    ข้าวที่ต้องเก็บเกี่ยวมีมาก และคนงานมีน้อย เขตวัดมากกว่าครึ่งหนึ่งในโลกปัจจุบันไม่มีพระสงฆ์ประจำเขตวัด พันธกิจของ
พระเยซูเจ้าจึงต้องการเสียงอีกหลายเสียง ในขณะที่มนุษย์กำลังหิว คนป่วยต้องการความรักและการดูแล ความเมตตาสงสารของพระเยซูเจ้ายังต้องการหัวใจและมือเพิ่มขึ้นอีกมากเพื่อทำงานเหล่านี้ ในขณะที่บ่อยครั้งความซื่อสัตย์ในความรักกลายเป็นสิ่งหายาก โลกต้องการพยานที่ยืนยันว่าการสมรสของคริสตชนเป็นแสงสว่างที่ส่องให้เห็นว่า ความวางใจอย่างปราศจากเงื่อนไขนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ศิษย์แท้ของ
พระคริสตเจ้าต้องดำเนินชีวิตโดยรับฟังเสียงของพระเจ้าผู้ทรงเรียกเขา เราจำเป็นต้องฝึกตนเองให้ไตร่ตรองกิจวัตรประจำวันของเรา เพื่อให้ทราบว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังเรียกเราให้ตอบสนอง และเป็นตัวแทนของพระองค์ในหน้าที่การงานของเราอย่างไร วันอาทิตย์ฉลองกระแสเรียกเป็นโอกาสให้เราไตร่ตรองว่าเรามีประสบการณ์อย่างไรกับกระแสเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า และให้เรากระตุ้นเตือนผู้อื่นให้เข้าใจว่าชีวิตของเขาควรเปิดรับกระแสเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนชีพ
พระคริสตเจ้าทรงมีชีวิตและดำรงอยู่ในปัจจุบันในเสียงเรียกของพระองค์ ที่เรียกศิษย์ทั้งหลายที่มีใจกว้าง ให้เขานำทางผู้อื่นไปข้างหน้าในพระนามของพระองค์

บทรำพึงที่ 2
พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ
    ความคิดว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะได้พัฒนาขึ้นเป็น
บทเพลงสดุดี กลายเป็นบทภาวนาที่เป็นที่นิยมแม้แต่ใน
หมู่ประชากรที่ไม่คุ้นเคยกับชีวิตชนบทเลย
    “พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขาดสิ่งใดเลย” ใครเป็นผู้นำของท่าน ท่านเลียนแบบวิถีทางของใคร ท่านฟังเสียงของใคร ศิษย์ของพระคริสตเจ้าจะติดตามพระองค์ และฟังเสียงของพระองค์ เขาจะเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า เมื่อพระองค์ประทับอยู่ข้างกาย เขาจะไม่ขาดปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิต
    “พระองค์ให้ข้าพเจ้าพักผ่อนในทุ่งหญ้าสดเขียวชอุ่ม”
    เมื่อแดดเริ่มร้อน คนเลี้ยงแกะจะนำฝูงแกะไปหาที่ร่ม
ฝูงแกะจะพักผ่อนที่นั่นระหว่างช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน และเคี้ยวเอื้องอย่างสบายใจ ศิษย์พระคริสต์จะแสวงหาความคุ้มครองจากพระเจ้า ผู้ทรงเป็นร่มเงาสำหรับเขา ให้เขาได้พักผ่อนจากแรงกดดันต่าง ๆ ในชีวิต เขาต้องพักผ่อนอยู่กับ
พระเจ้าทุกวัน และรำพึงตามพระวาจาเหมือนแกะกำลังเคี้ยวเอื้อง และไตร่ตรองด้วยใจสงบในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้น
    “พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปยังธารน้ำนิ่ง
    ให้จิตใจที่อ่อนแรงของข้าพเจ้ากลับมีกำลัง”
    แกะจะมีปัญหาในการดื่มน้ำที่ไหลเชี่ยวจากภูเขา ดังนั้น คนเลี้ยงแกะจึงต้องหาบ่อน้ำนิ่ง หรือขุดขึ้นมาเองเพื่อให้แกะดื่ม
ธารน้ำเปรียบเสมือนกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต พระเจ้าประทับอยู่ทุกแห่งหน และในกิจกรรมของเรา แต่บ่อยครั้ง ชีวิตเร่งรีบจนเราไม่สามารถดื่มการประทับอยู่ของพระองค์ได้ เช่นเดียวกับ
แกะ เราก็จำเป็นต้องมีบ่อน้ำนิ่ง ท่ามกลางความสงบนิ่งของการภาวนา พระองค์จะชุบชูจิตใจที่เหนื่อยล้าของเรา
    “พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางที่ถูก พระองค์ทรงกระทำสมดังพระนามของพระองค์”
    คนเลี้ยงแกะเดินนำหน้าฝูงแกะ แกะก็เดินตามหลังเขา แต่แกะอาจหลงทางได้ ถ้ามันมัวแต่เดินเล็มหญ้าไปในทิศทางที่ผิด
พระคริสตเจ้าผู้ทรงเลี้ยงดูเรา ทรงนำทางเราด้วยพระวาจาและวิถีชีวิตของพระองค์ พระวาจาและกิจการของพระองค์เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐานของความเชื่อ พระองค์ทรงกระทำการสมกับพระนามของพระองค์ คือ ผู้เลี้ยงแกะ เมื่อทรงเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต และเมื่อพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับ
พระบิดา ทางของพระองค์จึงนำเราไปหาพระบิดา
    “ถ้าข้าพเจ้าเดินอยู่ในหุบเขาอันมืดมิด
    ข้าพเจ้าจะไม่กลัวอันตราย
    พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น พร้อมกับตะขอ และไม้เท้าของพระองค์
    ด้วยสิ่งเหล่านี้พระองค์ทรงบรรเทาใจข้าพเจ้า”
    นี่คือการแสดงความเชื่ออันเข้มแข็ง พื้นที่เลี้ยงแกะเป็นภูเขาและเนินเขา ถ้าแกะพลัดตกลงในรอยแยกระหว่างก้อนหิน หรือกระโดดข้ามช่องแคบบนภูเขาไม่พ้น คนเลี้ยงแกะจะใช้ตะขอดึงแกะขึ้นมา ในเงามืดของหุบเขามีสุนัขและสุนัขป่าชุกชุม
ไม้เท้าของคนเลี้ยงแกะจะช่วยป้องกันอันตรายให้แกะ คนเลี้ยงแกะที่ดีจะพร้อมไม่เพียงแต่เสี่ยงอันตราย แต่ถึงกับยอมสละชีวิตเพื่อแกะของตน นี่คือภาพลักษณ์ของความรักที่เสียสละของ
พระเยซูเจ้าต่อเรา ไม่ว่าหุบเขาจะมืด สถานการณ์จะ
น่าหวาดหวั่น หรือสัตว์ร้ายที่น่ากลัวกำลังออกหากิน ศิษย์แท้ของพระคริสตเจ้าจะไม่สูญเสียความวางใจในความรัก และการดูแลที่เขาจะได้รับจากคนเลี้ยงแกะผู้ซื่อสัตย์
    “พระองค์ทรงเตรียมงานเลี้ยงสำหรับข้าพเจ้า
    ต่อหน้าศัตรูของข้าพเจ้า”
    รางวัลของการเดินฝ่าหุบเขาอันมืดมิดคือทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม ก่อนจะปล่อยให้แกะเล็มหญ้าที่นั่น คนเลี้ยงแกะจะกำจัดพืชและพุ่มไม้มีพิษให้หมดไป และโยนพืชเหล่านี้ไว้บนก้อนหินให้แห้งตายภายใต้แสงอาทิตย์ ภายใต้สายตาของศัตรู คือพืชที่มีพิษ
ฝูงแกะจะกินหญ้าอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย งานเลี้ยงของศิษย์พระคริสต์ คือ ศีลมหาสนิท ปังแห่งชีวิต ที่เสริมความเข้มแข็งให้วิญญาณเพื่อต่อสู้กับศัตรูทั้งหลาย
    “พระองค์ทรงเจิมศีรษะของข้าพเจ้าด้วยน้ำมัน
    ถ้วยของข้าพเจ้าล้นปรี่”
    ในเวลาเย็น แกะจะกลับมารวมกับฝูง คนเลี้ยงแกะจะตรวจตราแกะทีละตัว ถ้าพบรอยขีดข่วนและฟกช้ำ เขาจะรักษาด้วยน้ำมันมะกอก เขาจะกดหัวแกะลงในเหยือกน้ำเย็น ให้น้ำท่วมถึงตาเพื่อบรรเทาความระคายเคืองจากฝุ่นละออง
    “ความดี และความเมตตากรุณาจะติดตามข้าพเจ้า
    ตลอดทุกวันในชีวิตของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าจะพำนักในบ้านของพระเจ้า
    ตลอดกาลนาน”

 

บทรำพึงที่ 3
เราเป็น ...
    เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับคำสองคำนี้ในพระวรสารตาม
คำบอกเล่าของนักบุญยอห์น ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงประกาศในหลายโอกาส และด้วยความกล้าอย่างยิ่ง (ยน 4:26, 6:20, 7:29, 8:58, 13:19, 14:20, 17:24, 18:5, 18:6) เรารู้ว่าถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ระลึกถึง “อักษรสี่ตัวที่มนุษย์ไม่สามารถเอ่ยออกมาได้” คือ
พระนามอันเร้นลับที่พระเจ้าทรงเผยแก่โมเสส ด้วยพระองค์เองในทะเลทรายซีนาย
    YHWH หรือเป็นภาษาเขียนว่ายาห์เวห์ ซึ่งชาวยิวอ่านออกเสียงว่า adonai หรือองค์พระผู้เป็นเจ้า (Lord)
    นอกจากข้อความมากมายที่อ้างถึงข้างต้นนี้ พระวรสารของนักบุญยอห์น ยังใช้คำว่า “เราเป็น (I am)” ถึง 13 ครั้ง ทุกครั้งตามด้วยข้อความที่ขยายความหมาย
    “เราเป็นปังแห่งชีวิต” (ยน 6:35, 41, 48, 51)
    “เราเป็นแสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12, 9:5)
    “เราเป็นการกลับคืนชีพ และเป็นชีวิต” (ยน 11:25)
    “เราเป็นเถาองุ่นแท้” (ยน 15:1, 5)
    “เราเป็นประตูคอกแกะ” (ยน 10:7, 9)
    “เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11, 14)
    ตามความคิดเห็นของนักวิชาการพระคัมภีร์  วลีเหล่านี้แสดงถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูเจ้า ... ยอห์นเขียนว่า “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” (1:14)
เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี
    ในที่นี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงใช้ภาพลักษณ์อันงดงามที่พบเห็นได้ตามชนบท แต่ทรงยกวลีจากพระคัมภีร์ที่มีความหมายมากที่สุด กษัตริย์สมัยโบราณทั่วดินแดนตะวันออกกลางเรียกตนเองว่าผู้เลี้ยงแกะผู้ดูแลชนชาติของตน พระยาห์เวห์เองทรงรับบทบาทนี้เมื่อทรงปลดปล่อยชาวยิวออกจากอียิปต์ “พระองค์ทรงนำประชากรของพระองค์เหมือนฝูงแกะ และทรงนำทางเขาในถิ่นทุรกันดารเสมือนฝูงแกะ” (สดด 78:52) ... กษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองยุคแรกของอิสราเอล เป็นผู้เลี้ยงแกะจากเบธเลเฮม (1 ซมอ 17:34-35) กษัตริย์ในอุดมคติที่จะเสด็จมาในอนาคต คือพระเมสสิยาห์ และดาวิดคนใหม่ ได้รับการบรรยายลักษณะเสมือนว่าเป็นผู้เลี้ยงแกะ “เราจะตั้ง
ผู้เลี้ยงแกะผู้หนึ่งไว้เหนือเขา คือดาวิด ผู้รับใช้ของเรา และท่านจะเลี้ยงเขาทั้งหลาย ...” (อสค 34:23)
    ผู้ที่ได้ยินพระวาจาของพระเยซูเจ้า และพระเยซูเจ้าเองกำลังคิดถึงข้อความเหล่านี้ในพระคัมภีร์ และโดยเฉพาะบทที่ 34 อันโด่งดังของหนังสือเอเสเคียล ซึ่งบรรยายไว้ยืดยาวเรื่องผู้เลี้ยงแกะชั่วร้าย (หมายถึงกษัตริย์ในยุคนั้น) ที่ไม่ดูแลฝูงแกะของตน ... ก่อนจะบอกว่าพระเจ้าจะทรงเข้ามาทำหน้าที่แทน “ดังนั้น พระเจ้าตรัสว่า เราจะตามหาแกะของเราด้วยตัวเราเอง และจะตามหามัน ... เราจะช่วยเหลือแกะเหล่านี้ออกมาจากที่ต่าง ๆ ที่พวกมันอยู่อย่างกระจัดกระจาย ... เราจะเลี้ยงดูพวกมันใน
ทุ่งหญ้าอย่างดี ... เราเองจะเป็นผู้เลี้ยงแกะของฝูงแกะของเรา พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า ... เราจะตามหาแกะที่พลัดฝูง” (อสค
34:1-31)
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงอ้างว่าพระองค์เองทรงเป็น
พระเจ้า ...
    อันที่จริง ผู้ที่ฟังพระเยซูเจ้าก็ไม่ได้เข้าใจผิด พวกเขารู้ทันทีว่าพระองค์หมายถึงอะไร ... “หลายคนพูดว่า ‘คนนี้ถูกปีศาจสิง กำลังพูดเพ้อเจ้อ ท่านทั้งหลายฟังเขาทำไม’ คนอื่นพูดว่า ‘ท่านเป็นเพียงมนุษย์ แต่ตั้งตนเป็นพระเจ้า’ “ (ยน 10:20, 33) ด้วยเหตุนี้ เขาจึงหยิบก้อนหินจะขว้างพระองค์ ...
    เราควรใช้เวลานาน ๆ ภาวนาตามภาพลักษณ์ “ผู้เลี้ยงแกะ”
นี้ โดยใช้ข้อความในพระคัมภีร์ เช่นสดุดี 23 “พระเจ้าทรงเป็น
ผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขาดสิ่งใดเลย พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้าพักผ่อนในทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปยังธารน้ำนิ่ง ให้จิตใจที่อ่อนแรงของข้าพเจ้ากลับมีกำลัง...”
    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงนำทางข้าพเจ้า ... ข้าแต่
พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงคอยดูแลข้าพเจ้า ... ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า ...
    นี่ไม่ใช่คำภาวนาด้วยอารมณ์อ่อนไหวที่เราคิดขึ้นมาเอง แต่เราจะเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้เราภาวนาเช่นนี้
แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา ...
เรารู้จักมัน ...
และมันก็ตามเรา ...
    ในปัจจุบัน เรามักมองแกะ หรือฝูงแกะในแง่ลบ เช่น
อย่านิ่งเฉยเหมือนแกะซิ! อย่าเอาแต่จับกลุ่มกัน!
    อันที่จริง ภาพลักษณ์ในพระคัมภีร์มีความหมายตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง คำกริยาสามคำที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เป็นคำที่แสดงออกถึงการกระทำ คือ ฟัง รู้จัก และติดตาม ...
    การฟัง ... นี่เป็นทัศนคติที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล การรู้จักฟังเป็นเครื่องหมายของความรักแท้ ... บ่อยครั้งที่เราไม่ฟังอย่างจริงจัง เราไม่ฟังแม้ขณะที่อยู่กับผู้อื่นเป็นกลุ่ม อยู่รอบโต๊ะ และแม้แต่ระหว่างกิจกรรมที่เราเรียกว่าการเสวนา ... ในพระคัมภีร์ ประกาศกทั้งหลายเชิญชวนชาวอิสราเอลเสมอให้ฟัง “อิสราเอลเอ๋ย จงฟัง” (ฉธบ 6:4, อมส 3:11, ยรม 7:2) ... การฟังเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อ
นักบุญมัทธิวเสนอภาพของพระเยซูเจ้าในฐานะพระวาจา ซึ่ง
พระบิดาตรัสแก่โลก “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา ... จงฟังท่านเถิด” (มธ 17:5)
    -    “การติดตาม” – นี่เป็นอีกทัศนคติหนึ่ง ซึ่งไม่ได้นิ่งเฉยเลย แต่แสดงออกถึงอิสรภาพในการเคลื่อนไหว และการนำตนเองไปแนบชิดกับอีกบุคคลหนึ่ง การติดตามหมายถึงการเลียนแบบ ... พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงตามเรามาเถิด” (ยน 1:43)
    -    “การรู้จัก” – ในพระคัมภีร์ คำนี้ไม่ได้หมายถึงการรู้จักด้วยสติปัญญาเท่านั้น ... ความรักต่างหากที่ทำให้เรารู้จักใครบางคนจริง ๆ จนถึงจุดที่ไม่มีอะไรปิดบัง คำนี้แสดงถึงความ
สนิทสนม ความเข้าใจกันและกัน ความเคารพอย่างลึกซึ้ง ความสนิทสัมพันธ์ของหัวใจ ของจิตใจ และร่างกาย ... ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความรักในชีวิตสมรส (ปฐก 4:1)...
เราให้ชีวิตนิรันดรกับแกะเหล่านั้น และมันจะไม่พินาศเลยตลอดนิรันดร ไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือเราได้
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสถึง “จุดหมายปลายทางเดียวกัน” ของ
ผู้เลี้ยงแกะ และของแกะ จุดหมายปลายทางของพระองค์ และของ “ผู้ที่ได้ยินเสียงของพระองค์และติดตามพระองค์” ... พระองค์ทรงกำลังตรัสถึงการสนิทเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้...
    พระเจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าภาวนา ข้าพเจ้าพยายามวาด
มโนภาพว่าข้าพเจ้าอยู่ “ในพระหัตถ์” ของพระองค์จริง ๆ ...
พระหัตถ์ที่พระองค์ทรงยื่นออกไปสัมผัสผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคของเขา ... พระหัตถ์ที่พระองค์ทรงยื่นออกไปให้เปโตร เมื่อเขากำลังจมลงในทะเล ... พระหัตถ์ที่ถือปังแห่งชีวิตเมื่อคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ... พระหัตถ์ที่พระองค์ทรงเหยียดออกบนไม้กางเขนบนเขากลโกธา ... พระหัตถ์ที่มีรอยแผลจากตะปูที่พระองค์ทรงยื่นให้โทมัสดู ... พระหัตถ์ที่พระองค์ทรงจับลูกไว้อย่างมั่นคง และ
ไม่มีใครแย่งชิงลูกไปจากพระหัตถ์นี้ได้...
    ขอบพระคุณพระองค์ พระเยซูเจ้าข้า
พระบิดาของเรา ผู้ประทานแกะเหล่านี้ให้เรา ทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกคน และไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้
    ดังนั้น เราจึงถูกจับไว้ใน “สองพระหัตถ์”
    … เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่มือข้างหนึ่งจับมือของพ่อ อีกข้างหนึ่งจับมือของแม่ เขายอมให้พ่อแม่จูงเขาด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจ ภาพลักษณ์นี้ช่างงดงามจริง ๆ ...
    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการภาวนาต่อพระองค์โดยเริ่มต้นจากภาพลักษณ์นี้ ... ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ... พระเยซูเจ้า และพระบิดาของเรา ... โปรดทรงจับทุกคนที่ข้าพเจ้ารักให้มั่นเถิด...
    แต่เราก็เดาได้ง่าย ๆ ว่าภาพลักษณ์นี้ไม่ได้มีเจตนาให้เรามองเห็นแต่ภาพผู้เลี้ยงแกะผู้อ่อนหวาน และแกะขนฟูที่เรามักเห็นในภาพวาด ... ผู้เลี้ยงแกะในดินแดนตะวันออกกลางเป็นคนเร่ร่อนที่สมบุกสมบัน เป็นนักรบประเภทหนึ่งที่สามารถปกป้องฝูงแกะของเขาจากสัตว์ป่า สามารถต่อสู้กับหมี หรือสิงโตที่มาขโมยแกะไปจากฝูง (1 ซมอ 7:34-35) ... เมื่อพระองค์ตรัสคำพูดเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงคิดถึงการต่อสู้อันน่าเศร้าที่พระองค์ต้องต่อสู้ระหว่างพระทรมาน ด้วยเกรงว่าศัตรูจะแย่งชิงแกะของพระองค์ไปจากพระหัตถ์ของพระองค์ ... ตรงกันข้ามกับคนรับจ้างเลี้ยงแกะ ที่วิ่งหนีเมื่อเผชิญหน้ากับหมาป่า พระเยซูเจ้าทรงยอมสละชีวิตของพระองค์เพื่อแกะของพระองค์ (ยน 10:2, 15) ...
    ข้าพเจ้าทำเหมือนพระเยซูเจ้า และร่วมมือกับพระเยซูเจ้าในการต่อสู้เพื่อช่วยชีวิตพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้าได้หรือไม่
    “ไม่มีใครแย่งชิงไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาได้”...
    “ไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือเราได้”...
    พระเจ้าข้า แต่กระนั้น ทำไมจึงมีคนที่ละทิ้งฝูง เราพบเห็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์มากมายรอบตัวเรา ... และคนไม่ซื่อสัตย์ที่เราพบเห็นในชีวิตของเราเอง...
    เสรีภาพของเราเป็นธรรมล้ำลึกข้อหนึ่ง ... แต่บัดนี้ เรามั่นใจได้อย่างหนึ่งว่าพระเจ้าจะไม่มีวันเป็นฝ่ายที่ปล่อยเราไป แต่มนุษย์สามารถปล่อยมือจากพระหัตถ์ของพระเจ้าได้ ...
ถึงกระนั้น พระเจ้าก็ยังหาทางติดต่อกับเราต่อไป “ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งพลัดหลง จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบหรือ” (ลก 15:4)
    เราได้วาดภาพจอมปลอมของพระเจ้าขึ้นมาอย่างไรบ้าง เมื่อเราวาดภาพพระองค์เป็นผู้พิพากษาผู้เข้มงวดที่ต้องการแต่จะลงโทษคนบาป ... เราควรพยายามอย่างหนักที่จะทำบาปให้น้อยลงต่อพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักเช่นนี้...
เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน
    พระเยซูเจ้าทรงบอกว่าพระบิดาทรงมอบแกะเหล่านี้ให้พระองค์ แต่แกะก็ยังอยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดาด้วย...
    ถ้อยคำเหล่านี้นำเราไปสู่ความเร้นลับที่ลึกยิ่ง ขณะที่เราไตร่ตรองเรื่องพระบุคคลของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ในตัวของมนุษย์แท้คนนี้ ซึ่งเกิดจากหญิงคนหนึ่งนี้ ในตัวของมนุษย์ผู้เติบโตขึ้น และบัดนี้กำลังจะหลั่งโลหิต และสิ้นใจ – ในตัวของพระเยซูชาวนาซาเร็ธผู้นี้ – มีพระเจ้าผู้ประทับอยู่ พระองค์ตรัส และทำงานอยู่ภายในตัวของพระเยซูเจ้า ... พระเยซูเจ้าคือ
พระเจ้าผู้กำลังเผยแสดงความรักของพระองค์เองต่อมนุษย์...
    “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน” ... สภาสังคายนาทั้งหลายพยายามอธิบาย และกำหนดแนวความคิดในเรื่องนี้ แต่ไม่มีคำพูดใดสามารถทำให้เราเข้าใจธรรมล้ำลึกของพระบุคคลของพระเยซูเจ้าได้เลย ... ความจริงทั้งหมดถูกระบุในประโยคนี้ ซึ่งเราต้องรับฟังด้วยความเชื่ออย่างลึกซึ้ง “เรากับพระบิดาเป็นหนึ่งเดียวกัน ... เรา - เยซู - และพระเจ้า เป็นหนึ่งเดียวกัน ...”
    ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงกล้าตรัสว่าพระองค์เป็นผู้ประทาน “ชีวิตนิรันดร”...
    ด้วยเหตุนี้ ในฐานะพระเจ้า พระองค์สามารถตรัสคำว่า “เราเป็น...”
    ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นพระเจ้า พระองค์จึงถูกจับตรึงกางเขน – แต่พระเจ้าทรงรับรองว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าจริง โดยทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย...