วันอาทิตย์ที่สอง เทศกาลธรรมดา

ยอห์น 2:1-11
    สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลีลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด“ เขาก็ตักไปให้ ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่ผู้รับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา พูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้ว จึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้”
    พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
งานสมรส

    “สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี” เราไม่รู้ชื่อของคู่สมรส แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะงานสมรสแท้จริงที่กำลังเฉลิมฉลองกันในวันที่สามนี้ คือการสมรสที่รวมพระเจ้าและมนุษยชาติให้เห็นหนึ่งเดียวกันในพระเยซูเจ้า ... นี่คืองานสมรสระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน ก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จมา ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและประชากรเลือกสรรของพระองค์ เหมือนการคบหาดูใจกันก่อนสมรส เป็นช่วงเวลาเตรียมตัว ในเรื่องนี้ โอ่งหินหกใบที่ตั้งอยู่ที่นั่นเป็นสัญลักษณ์ของระบบศาสนาเก่า น้ำในโอ่งเป็นน้ำสำหรับชำระตามธรรมเนียม ซึ่งเป็นการเตรียมตัวสำหรับงานเลี้ยง ชาวยิวถือว่าโอ่งหินสะอาดมาก แต่การบีบบังคับมากเกินไปเกี่ยวกับการชำระตามธรรมเนียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ ทำให้ประชาชนมีหัวใจเหมือนโอ่งเหล่านี้ คือหัวใจที่ทำด้วยหิน มีโอ่งตั้งอยู่หกใบ ไม่ถึงเจ็ดใบ ซึ่งเป็นจำนวนของความสมบูรณ์ บัดนี้ น้ำได้ถูกเปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ซึ่งเป็นการบอกว่าช่วงคบหาดูใจได้มาถึงวันสมรสแล้ว และหัวใจหินจะถูกแทนที่ด้วยหัวใจเนื้อ เหล้าองุ่นชั้นดีที่สุดถูกเก็บไว้จนถึงยุคสุดท้าย

    อัศจรรย์ที่คานาเป็นเครื่องหมายแรกที่แสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า การเห็นพระสิริรุ่งโรจน์เป็นแวบแรกนี้ดึงดูดใจศิษย์ของพระองค์ให้เชื่อในพระองค์ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์จะเผยแสดงออกมาอย่างเต็มที่ เวลาของพระองค์จะมาถึง เมื่อพระองค์ทรงถูกยกขึ้นจากพื้นดินบนเขากัลวารีโอ ขณะที่พระองค์เสด็จกลับไปยังบ้านของพระบิดา เมื่อทรงถูกยกขึ้น พระองค์จะทรงดึงดูดทุกคนมาหาพระองค์ จะทรงโอบกอดมนุษย์ทุกคนเสมือนเป็นเจ้าสาวของพระองค์ และรักพวกเขาจนถึงวาระสุดท้าย เมื่อทรงกลับไปยังบ้านพระบิดาของพระองค์ในวันที่สาม พระองค์ทรงนำมนุษยชาติกลับบ้านพร้อมกับพระองค์ด้วยในฐานะเจ้าสาวที่เข้าพิธีสมรสกับพระองค์แล้ว

    การคบหาดูใจกับประชากรในพันธสัญญาเดิมเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับงานสมรสแห่งพันธสัญญาใหม่ ถ้าสัญลักษณ์ของระบบศาสนาเก่าคือน้ำที่ใช้ชำระตามธรรมเนียม สัญลักษณ์ของศาสนาใหม่ก็คือเหล้าองุ่นแห่งงานเลี้ยงฉลอง งานเลี้ยงนี้จัดขึ้นใหม่เสมอในพิธีบูชามิสซา ซึ่งเป็นการระลึกถึงพระเยซูเจ้า การระลึกถึงก็คือการประกาศว่ากิจการของพระเจ้าไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ภายในวันหนึ่งที่จะผ่านพ้นไป แต่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันในนิรันดรกาล ศีลมหาสนิทเป็นความทรงจำอันมีชีวิตของงานสมรสระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน “ข้าแต่พระบิดา โปรดทรงระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรของพระองค์ที่พระองค์ทรงรับทนเพื่อความรอดพ้นของเรา การกลับคืนชีพอย่างรุ่งเรืองของพระองค์ และการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระองค์...”

    งานสมรสที่เราเห็นเป็นครั้งแรกจากการเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานา ได้สำเร็จสมบูรณ์บนเขากัลวารีโอ ในการเดินทางของพระเยซูเจ้าจากความตายเข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ไปหาพระบิดา และเราผู้มาชุมนุมกันในความเชื่อในพิธีศีลมหาสนิท ก็เป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสนั้น

    “ชายหนุ่มสมรสกับหญิงพรหมจารีฉันใด ผู้ที่สร้างเจ้าขึ้นมาก็จะสมรสกับเจ้าฉันนั้น และเจ้าบ่าวยินดีในเจ้าสาวของตนฉันใด พระเจ้าของเจ้าก็จะยินดีในตัวเจ้าฉันนั้น” (อสย 62:5)

ข้อรำพึงที่สอง
พระนางมารีย์

    ในคำบอกเล่าเหตุการณ์ที่คานา และเขากัลวารีโอ พระนางมารีย์ ทรงรับบทบาทคนกลางที่สำคัญอย่างไม่มีใครเหมือน ที่คานา พระวรสารไม่เอ่ยชื่อพระนาง แต่เรียกพระนางว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” และพระเยซูเจ้าทรงเรียกพระนางว่า “หญิงเอ๋ย” สมญาทั้งสองนี้แสดงว่าบทบาทของพระนางกว้างขวางมาก คำว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” หมายถึงพระนางแน่นอน แต่ก็มีความหมายที่กว้างพอให้เข้าใจได้ว่าพาดพิงถึงประชาชนชาวยิว ซึ่งเป็นชนชาติที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมา ตลอดยุคพันธสัญญาเดิมซึ่งไม่สมบูรณ์ และเต็มไปด้วยการรอคอย มาขมวดรวมกันอยู่ในตัวพระนางมารีย์ พระนางกลายเป็นการแสดงออกของชนชาตินี้ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกสรุปไว้ในประโยคอันเรียบง่ายของพระนางว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” ดังนั้นในเรื่องนี้ พระนางมารีย์จึงกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความไม่สมบูรณ์ของชนชาติยิว และความสำเร็จสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า

    พระวรสารของยอห์นเอ่ยถึงพระนางอีกครั้งหนึ่งบนเขากัลวารีโอ คานาและกัลวารีโอ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพราะในสองสถานที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระนางมารีย์ว่า “หญิงเอ๋ย” “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” เมื่อเวลาของพระองค์มาถึงบนเขากัลวารีโอ พระองค์ตรัสกับพระนางว่า “หญิงเอ๋ย นี่คือบุตรของท่าน” ถ้าพระองค์เรียกพระนางว่า “แม่” ในเหตุการณ์ทั้งสองนี้ พระองค์ย่อมกำลังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของพระนางกับพระองค์เท่านั้น การเรียกพระนางว่า “หญิงเอ๋ย” นี้ช่วยขยายขอบเขตของความเป็นมารดาของพระนางให้ครอบคลุมคนทั้งโลก ในฐานะมารดาของมนุษย์ทุกคน พระนางจึงเป็นเอวาคนใหม่ เอวาคนแรกมีส่วนทำให้มนุษยชาติตกต่ำด้วยความไม่นบนอบของนาง แต่พระนางมารีย์ผู้เป็นเอวาคนใหม่ ได้ตรัสคำที่แสดงความนบนอบว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไรก็จงทำเถิด” และในความเชื่อที่แสดงออกด้วยความนบนอบนี้ พระนางจึงสวมบทบาทสำคัญในการคืนดีระหว่างพระเจ้าและมนุษยชาติ ในการสมรสระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน พระนางเสด็จมาร่วมงานสมรสบนเขากัลวารีโอ ในฐานะพระมารดาของเจ้าบ่าว และที่นั่น พระนางทรงกลายเป็นมารดาของเจ้าสาว คือ มารดาของมนุษยชาติทั้งมวล ที่คานา พระนางมารีย์แสดงความเห็นอกเห็นใจ และสัญชาตญาณความห่วงใยฉันมารดา เมื่อพระนางรับรู้ว่าเกิดความผิดพลาดบางอย่าง พระนางทรงค้นพบต้นเหตุที่อาจทำให้คู่บ่าวสาวอับอาย และทรงแจ้งความจำเป็นนี้ให้พระบุตรทราบว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” ในบทบาทของมารดาของมนุษยชาติ พระนางทรงรู้สึกไวมากเกี่ยวกับความต้องการ และความกังวลใจของบุตรของพระนางบนแผ่นดินนี้ เราจึงมั่นใจได้ว่าพระนางจะเสนอวิงวอนเพื่อสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราต่อไป “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว”

    สันตะมารีย์ พระมารดาแห่งความเมตตากรุณา ช่วยวิงวอนเทอญ

บทรำพึงที่ 2

    ยอห์น ผู้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ บอกเล่าเรื่อง “งานสมรสที่หมู่บ้านคานา” และความจริงข้อนี้เป็นหลักประกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงเช่นนี้ แต่ยอห์นก็เหมือนกับผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่น ๆ เขาไม่ต้องการเพียงจะบรรยายเรื่องของงานเลี้ยงสมรสในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในสมัยนั้นเท่านั้น เขาได้ไตร่ตรองเหตุการณ์จริงนี้นานถึง 50 หรือ 60 ปี และการไตร่ตรองนี้ทำให้นักเทววิทยาอย่างยอห์น มีข้อคำสอนจะเสนอ...

    เราก็เช่นกันที่ต้องพยายามมองให้ลึกกว่าระดับคำบอกเล่า และพยายามเข้าใจความหมายเชิงสัญลักษณ์ระดับลึกกว่า เหตุการณ์นี้เป็น “เครื่องหมาย” หนึ่ง และมีนัยสำคัญซ่อนอยู่...

สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานา ในแคว้นกาลิลี

    ในช่วงเวลาที่ยอห์นเขียนพระวรสารของเขา คำว่า “ในวันที่สาม” สำหรับคริสตชนรุ่นแรกมีความหมายเชิงวิชาการ เพราะเตือนให้คิดถึง “วันแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า” คือวันกลับคืนพระชนมชีพ (มธ 16:21, 17:23, 20:19; ลก 9:22, 18:33, 24:7; กจ 10:40)

พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย

    ในพระวรสารของยอห์น เขาเอ่ยถึงพระนางมารีย์ว่าพระมารดาของพระเยซูเจ้าเพียงสองครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อเริ่มเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านคานานี้ และอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระนางยืนอยู่ที่เชิงกางเขน ในที่อื่น ๆ เขาไม่เอ่ยถึงพระนางเช่นนี้เลย เพียงแต่บอกความสัมพันธ์เท่านั้นว่า “พระมารดาของพระองค์”

เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง”

    “เวลาของพระเยซูเจ้า” ก็เป็นวลีที่อ้างถึงปัสกาอีกเช่นกัน (ยน 7:30, 8:20, 13:1, 16:25, 16:32) เวลาพิเศษนี้คือเวลาแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับพระบุตรของพระองค์เถิด เพื่อพระองค์จะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์จากพระบุตร ... โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับข้าพเจ้า พระสิริรุ่งโรจน์ที่ข้าพเจ้าเคยมีร่วมกับพระองค์ตั้งแต่ก่อนสร้างโลก” (ยน 17:1-5)

    เวลาแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นเป็นสามระยะ
-    ไม้กางเขน - เมื่อพระองค์ทรง “ถูกยกขึ้น” ทั้งทางร่างกาย และเชิงสัญลักษณ์
-    การกลับคืนพระชนมชีพ - เมื่อพระองค์ “ถูกยกขึ้น” สู่เบื้องขวาพระบิดา
-    เมื่อพระจิตเจ้าเสด็จมายังผู้มีความเชื่อ ... (ยน 3:14, 8:28, 12:32, 17:11, 13, 7:39) ...

    ถูกแล้ว ช่างไม้จากนาซาเร็ธผู้นี้ได้รับเชิญไปร่วมงานสมรสในหมู่บ้านใกล้เคียง และได้แสดงออกทั้งด้วยวาจาและกิริยา ให้เราเห็นบุคลิกภาพที่ซ่อนอยู่ภายในของพระองค์ ... พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอยู่กับพระองค์ พระองค์ทรงบอกว่า “เวลาของพระองค์” ยังมาไม่ถึง ... แต่จะมาถึง ... เมื่อคู่บ่าวสาวเชิญพระเยซูเจ้ามาในงานสมรส เขากำลังเชิญพระเจ้า พระผู้สร้างความรัก ... แต่ธรรมล้ำลึกข้อนี้ถูกซ่อนไว้ไม่ให้เขาเข้าใจ

พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด”

    ประโยคนี้ดูเหมือนเป็นประโยคธรรมดา แต่นี่คือข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์ “เมื่อประชาชนที่แผ่นดินอียิปต์เริ่มรู้สึกขาดแคลนอาหาร ก็ร้องขออาหารจากพระเจ้าฟาโรห์ พระองค์รับสั่งแก่ชาวอียิปต์ทั้งปวงว่า ‘จงไปหาโยเซฟ เถิด และทำตามที่เขาสั่ง’“ (ปฐก 41:55) ฟาโรห์มองเห็นปรีชาญาณของพระจิตของพระเจ้าในตัวโยเซฟ พระองค์จึงไม่ออกหน้า แต่เสนอโยเซฟให้เป็นผู้กอบกู้สำหรับประชาชนที่กำลังอดอยาก บัดนี้พระนางมารีย์ก็ทรงถอยไปอยู่เบื้องหลัง และชี้ให้คนรับใช้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในที่นี้ “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” ที่นี่ “ขาด” เหล้าองุ่น และอาจขาดความรักอีกด้วย ใครจะรู้!...

    ปัสกาคือการหลบหนีออกจากอียิปต์ และเป็นการปลดปล่อยให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปและความตายอีกด้วย  “เหล้าองุ่นที่ขาดไป” เป็นสัญลักษณ์ของความขาดตกบกพร่องในส่วนลึกของตัวเรา มีหลายสถานการณ์ในชีวิตมนุษย์ที่ “เราทำอะไรไม่ได้เลย” ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าขาดแคลนไปหมด และไม่มีวิธีแก้ปัญหาในระดับของมนุษย์ ... ดังนั้น เราต้องพึ่งใครบางคน ... ใครคนหนึ่งนั้นเป็นผู้เดียวที่ช่วยเราได้ “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด”...

ที่นั่นมีโอ่งหินตั้งอยู่หกใบ เพื่อใช้ชำระตามธรรมเนียมของชาวยิว แต่ละใบจุน้ำได้ประมาณหนึ่งร้อยลิตร พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มถึงขอบ แล้วพระองค์ทรงสั่งเขาอีกว่า “จงตักไปให้ผู้จัดงานเลี้ยงเถิด” เขาก็ตักไปให้ ผู้จัดงานเลี้ยงได้ชิมน้ำที่เปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่นแล้ว ไม่รู้ว่าเหล้านี้มาจากไหน แต่คนรับใช้ที่ตักน้ำรู้ดี

    รายละเอียดทั้งหมดนี้มีความสำคัญ ... ขอให้เราพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้ให้ลึกเถิด

    โอ่งหินหกใบ ... คนโบราณมองว่าตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ เลขเจ็ดเป็นจำนวนที่สมบูรณ์ ดังนั้น โอ่งหินหกใบจึงขาดไปหนึ่งใบ และเป็นภาพลักษณ์ของความไม่สมบูรณ์ของพิธีชำระตนของชาวยิว ... น้ำที่ใช้สำหรับชำระตามธรรมเนียม ... โอ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายของระเบียบในอดีต และของธรรมเนียมทางศาสนาที่ล้าสมัย ... พระเยซูเจ้าเสด็จมาเปลี่ยน และนำศาสนายิว ไปสู่ความสมบูรณ์ น้ำจึงกลายเป็นเหล้าองุ่น ...

    “เขาก็ตักน้ำใส่จนเต็มขอบ” เป็นเครื่องหมายของ “ความฟุ่มเฟือย” และพระคุณต่าง ๆ อันบริบูรณ์จนล้นปรี่ ที่จะได้รับจากพระเมสสิยาห์ และพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นยุคนี้ด้วยกิริยาที่ “ฟุ่มเฟือย” อย่างแท้จริง

    “เหล้าองุ่น” ... เป็นสัญลักษณ์ที่นิยมใช้ในพระคัมภีร์ (วนฉ 9:13, สดด 104:15 เป็นต้น) ผลองุ่นที่ใช้ทำเหล้าองุ่นเป็นผลผลิตจากแผ่นดินที่มนุษย์เห็นคุณค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเหล้าองุ่นทำให้รู้สึกยินดีและมีความสุข “ทำให้หัวใจมนุษย์ปลาบปลื้ม”...

    เราไม่ควรลืมว่ายอห์นเขียนพระวรสารของเขาประมาณ 50 หรือ 60 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่คานา และนานหลายปีมาแล้วที่คริสตชนมาชุมนุมกันเพื่อกินอาหารและดื่มเหล้าองุ่น ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้คิดถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนเหล้าองุ่นให้กลายเป็นพระโลหิตของพระองค์ และเป็นงานเลี้ยงครั้งสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่า “เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า”...

ผู้จัดงานเลี้ยงจึงเรียกเจ้าบ่าวมา พูดว่า “ใคร ๆ เขานำเหล้าองุ่นอย่างดีมาให้ก่อน เมื่อบรรดาแขกดื่มมากแล้วจึงนำเหล้าองุ่นอย่างรองมาให้ แต่ท่านเก็บเหล้าอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้”

    ความเข้าใจผิดครั้งนี้มีนัยสำคัญ ผู้จัดงานเลี้ยงเข้าใจผิดว่าพระเยซูเจ้าคือเจ้าบ่าว ในข้อความหลังจากนั้น ยอห์นจะระบุอย่างชัดเจนว่า เจ้าบ่าวแท้คือพระเยซูเจ้า (ยน 3:29) นี่คือกุญแจในการตีความ “เครื่องหมาย” ที่คานา “นี่คือเหล้าองุ่นแห่งพันธสัญญาใหม่” นี่คือข้อความที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในพิธีบูชามิสซาแห่งความรัก ...

    พันธสัญญาเดิมมีธรรมเนียมอันน่าชื่นชมที่นำเสนอพระเจ้าในฐานะคู่ชีวิตของมนุษยชาติ ในบทอ่านที่หนึ่งของวันอาทิตย์นี้ อิสยาห์ได้ประกาศอีกครั้งหนึ่งถึง “การประกาศความรักของพระเจ้า” ว่าร้อนแรงดังอารมณ์ของคู่รัก “เขาจะไม่ขนานนามเจ้าอีกว่า ‘ถูกทอดทิ้ง’ และเขาจะไม่เรียกแผ่นดินของเจ้าอีกว่า ‘ที่ว่างเปล่า’ แต่เขาจะเรียกเจ้าว่า ‘ความปิติของเราอยู่ในเธอ’ และเรียกแผ่นดินของเจ้าว่า ‘สมรสแล้ว’ ... เพราะชายหนุ่มแต่งงานกับหญิงพรหมจารีฉันใด บุตรชายทั้งหลายของเจ้าจะแต่งกับเจ้าฉันนั้น และเจ้าบ่าวเปรมปรีดิ์เพราะเจ้าฉันใด พระเจ้าของเจ้าจะเปรมปรีดิ์เพราะเจ้าฉันนั้น” (อสย 62:1-5, เทียบ ฮชย 2:21, อสค 16:8)
    พันธสัญญาใหม่ก็ใช้ภาพลักษณ์ของการสมรสนี้เช่นกัน (2 คร 11:2, อฟ 5:25, วว 21:2, 22:17 เป็นต้น)

    นอกจากนี้ ท่านสังเกตหรือไม่ว่าไม่มีการเอ่ยถึงเจ้าสาวในงานสมรสที่คานานี้เลย แปลกใช่ไหม ... แต่งานสมรสนี้ไม่ใช่งานธรรมดา ... ถ้า “เจ้าบ่าว” คือพระเยซูเจ้า “เจ้าสาว” แท้ก็คือสตรีที่พระองค์ทรงเรียกด้วยคำที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า “หญิงเอ๋ย” คู่ชีวิตของพระเจ้าคือชาวอิสราเอล ที่กำลังรอคอยพันธสัญญาใหม่ผ่านคำยอมรับว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” อิสราเอลนี้ – ประชากรที่พระเจ้าทรงหมั้นหมายไว้ในพันธสัญญาใหม่นี้ – จะกลายเป็นพระศาสนจักรในไม่ช้า ... และพระนางมารีย์ทรงเป็นตัวแทนของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ พระนางทรงเป็น “ธิดาของอิสราเอล” และ “ตัวแทนของพระศาสนจักร” ... ถูกแล้ว เจ้าสาวที่ไม่ระบุชื่อของงานสมรสนี้ก็คือพวกเรานั่นเอง พระเจ้าทรงรักท่าน ... พระเจ้าทรง “สมรส” กับมนุษยชาติในพระเยซูคริสตเจ้า ... ไม่ว่าในยามสุข หรือยามทุกข์

    เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ชีวิตสมรสกำลังมาถึงจุดวิกฤติ ดูเหมือนว่าความรักได้สูญเสียความหมายและทิศทางไปแล้ว มีแต่คนที่สนับสนุน “การอยู่กินแบบเสรี” ให้มนุษย์อยู่กินกันโดยไม่เฉลิมฉลองการสมรส ไม่เฉลิมฉลองความรัก ไม่มีการยอมรับผิดชอบต่อคู่ครอง หรือต่อเด็กที่จะเกิดมา ... มี “คู่ครองชั่วคราว” มากมายกี่คู่ที่เริ่มต้นด้วยความหวังว่าความรักแท้จะเบ่งบาน แต่กลับกลายเป็นชีวิตที่เศร้า น่าเบื่อหน่าย และจืดชืดเหมือนน้ำเปล่า ... แต่ในบรรยากาศเช่นนั้น แม้แต่คู่ครองที่เอาจริงเอาจังกับชีวิต ก็ยังไม่เว้นที่จะยอมรับว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” ความรักของเขาถึงจุดจบแล้ว...

    พระเยซูเจ้าเท่านั้นสามารถประทานเหล้าองุ่นได้ คือประทานความรักคืนให้ การดื่มจากถ้วยของพระเยซูเจ้า การดื่ม “เหล้าองุ่น” ของพระองค์ คือการดื่มจากแหล่งกำเนิดของ “ความรักที่ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่าง รักจนถึงที่สุด” (ยน 13:1)

    นักเทววิทยาถกเถียงกันมานานหลายศตวรรษว่าอะไรยิ่งใหญ่กว่ากัน ระหว่าง “ชีวิตสมรส” และ “การถือโสด” เราไม่ควรลืมคำศัพท์ในพระคัมภีร์ที่เรียกพระเจ้าว่า “พระสวามี (husband)” เราควรยอมให้ความรักอันอ่อนโยนของพระเจ้าแผ่ซ่านทั่วตัวเรา ... ถ้าท่านเป็นผู้สมรสแล้ว ความรักของท่านก็เป็น “เครื่องหมาย” หรือ “ศีลศักดิ์สิทธิ์” หรือ “การแสดงออก” ของความรักของพระเจ้า ... ถ้าท่านถือโสด ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านอยู่โดย “ปราศจากความรัก” เพราะท่านสามารถหมั้นหมายกับความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุด ... แต่ท่านใช้ชีวิตสมรสของท่านอย่างไร ... ท่านใช้ชีวิตโสดของท่านอย่างไร ... พระวรสารไม่ได้เอ่ยถึงการสถาปนาศีลสมรส แต่จำเป็นด้วยหรือ สำหรับผู้ที่เข้าใจ “เครื่องหมาย” ของคานา ...

พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรกนี้ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระองค์ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์

    นอกจากบอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ยอห์นยังเสนอการตีความไว้ในคำบอกเล่าของเขาด้วย พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงในอัศจรรย์ครั้งนี้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร และบรรดาศิษย์เริ่มมีความเชื่อ ... “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ... เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดา ในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว” (ยน 1:14)