วันอาทิตย์ที่เจ็ด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 6:27-36
    พระเยซูเจ้าตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย
    ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ให้คนบาปด้วยกันยืม โดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืน แล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญู และต่อคนชั่วร้าย
    จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด อย่าตัดสินเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขา แล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
อาณาจักรแห่งความรัก

    พระเยซูเจ้าทรงมีความฝันประการหนึ่ง พระองค์ทรงเรียกความฝันนี้ว่าพระอาณาจักรของพระเจ้า ในความฝันของพระองค์  พระองค์ทรงมองเห็นโลกที่เป็นเสมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนภาพความงามและความรักของพระเจ้า พระองค์เสด็จมาบอกเล่าความฝันของพระองค์ให้แก่ประชาชน ผู้ที่มีความคิดคับแคบจนไม่เคยมองเห็นอานุภาพอันยิ่งใหญ่ของความรัก เขาไม่เคยมองไกลเกินความเจ็บปวดและความอยุติธรรม เขาคอยตะโกนเรียกร้องสิทธิของตน ความรักของเขามีอยู่อย่างจำกัด เพราะความเจ็บปวด หรือการกระทำผิดต่อเขาทุกประการ กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ความรักของเขาไหลออกมาสู่ผู้อื่น

    ปัญญาชนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาได้กำหนดอุดมคติอันสูงส่งขึ้นมา เรียกว่ากฎทอง (Golden Rule) คือ อย่าทำต่อผู้อื่นสิ่งใดที่ท่านไม่อยากให้ผู้อื่นทำต่อท่าน แต่กฎข้อนี้ยังไม่กว้างพอสำหรับพระเยซูเจ้า ประโยคเชิงลบที่กำหนดว่าเราไม่ควรทำอะไรนั้น จำกัดวิสัยทัศน์ของพระองค์เกินไป พระองค์ทรงรู้จักความรักของพระบิดาทั้งความกว้าง ความลึก และความอ่อนโยนของความรักนั้น พระองค์ทรงรู้ว่าความรักเป็นพลัง มิใช่ข้อจำกัด ดังนั้น พระองค์จึงตรัสถึงความรักเสมือนว่าเป็นพลังด้านบวกที่ไม่ควรถูกสกัดกั้นด้วยความเป็นศัตรู และความเกลียดชัง หรือด้วยความไม่สบายใจเนื่องจากวาจา และการกระทำอันไม่สมควร การให้มากกว่าที่ได้รับคือความใจกว้าง ทำให้ท่านมองโลกผ่านดวงตาของพี่น้องชายหญิงของท่าน เมื่อนั้น ท่านจะเข้าใจความเจ็บปวดของเขา และท่านจะไม่รีบประณาม หรือตัดสินลงโทษผู้ใด

    ความรักยิ่งใหญ่กว่าความบาดเจ็บ เหมือนกับที่ความดียิ่งใหญ่กว่าความชั่ว ดังนั้น ความรักจะพบพลังที่จะให้อภัยเสมอ ความรักไม่รอจนกว่าจะมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ความรักไม่พูดว่า  “ฉันจะเริ่มรักเมื่อ ... หรือถ้า ...” ความรักเป็นทัศนคติที่สำคัญเกินกว่าจะถูกยับยั้งไว้เพื่อรอคำตอบจากอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักของพระบิดาเป็นความรักที่สร้างสรรค์ฉันใด ความรักของคริสตชนก็ต้องเป็นฝ่ายเริ่มยื่นมือออกไปให้ผู้อื่น ความฝันของพระเยซูเจ้ามองเห็นโลกที่สะท้อนความรักอันปราศจากเงื่อนไขของพระบิดาให้เป็นที่ประจักษ์ในชีวิตของบุตรทั้งหลายของพระองค์บนโลกนี้ พระองค์ทรงเห็นความระแวงถูกกำจัดไป และมรดกแห่งความเกลียดชังถูกละลายหมดไป พระองค์ทรงเห็นความเจ็บปวดในชีวิตได้รับการเยียวยาจากความสงสาร และบาดแผลแห่งความเข้าใจผิดได้รับการเยียวยาจากการให้อภัย พลังที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้กลายเป็นโลกในความฝันของพระองค์ก็คือความรัก พระองค์ทรงดำเนินชีวิตตามวิสัยทัศน์และพลังนั้น และกฎในชีวิตของพระองค์คือ บทบัญญัติใหม่ คือ จงรักกันและกัน เหมือนที่เรารักท่าน

    นี่คือสารที่หญิงสาววัย 27 ปี ชื่อเอ็ตตี้ ฮิลซัม จำใส่ใจในเวลาที่เธอกำลังรอถูกจับกุม และส่งตัวไปยังค่ายกักกันพร้อมกับชาวยิวเพื่อนร่วมชาติของเธอ เธอบันทึกในสมุดบันทึกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 ว่า “พวกเขาไร้ความปรานี ไม่มีความสงสารเลยแม้แต่น้อย และเรากลับยิ่งต้องมีความเมตตามากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุนี้ ดิฉันจึงสวดภาวนาตั้งแต่เช้าตรู่วันนี้” (An Interruped Life: The Diaries and Letters of Etty Hillesum, 1941-1943, Persephone Books, London)

ข้อรำพึงที่สอง
เปโตรระลึกถึงเหตุการณ์

    ใคร ๆ ก็รู้ว่าข้าพเจ้ามีปัญหากับอารมณ์ของข้าพเจ้าเสมอ ดังนั้น ท่านคงเดาออกว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรเมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มตรัสสอนให้รักศัตรู และหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบ ข้าพเจ้ายอมรับกฎตาต่อตา ฟันต่อฟัน มาโดยตลอด การแก้แค้นในระดับเท่าเทียมกันเป็นนโยบายที่ยุติธรรม ปัญหาเดียวของข้าพเจ้า คือ ข้าพเจ้ามักเป็นฝ่ายแก้แค้นก่อนเสมอ พระเยซูเจ้าทรงมีท่าทีสงบและมั่นใจในสิ่งที่พระองค์ตรัสมากจนข้าพเจ้าคล้อยตามพระวาจาของพระองค์ แม้ว่าวิถีชีวิตของข้าพเจ้าไม่ได้น่าชื่นชมนัก พระองค์ตรัสถึงวิสัยทัศน์ ซึ่งต่างจากที่ข้าพเจ้าเคยคิดไว้มาก พระองค์ทรงมองชีวิตในมุมที่แท้จริง และงดงาม ... หรืออย่างไร้เดียงสากันแน่?

    ข้าพเจ้าต้องคิดถึงเหตุการณ์ในความทรงจำที่เกิดขึ้นหลังจากเวลานั้น ... คิดถึงสูตรสำเร็จที่เราพัฒนาขึ้นภายหลังในกลุ่มคริสตชน พระองค์ทรงหยิบ ทรงถวายพระพร ทรงบิ และทรงประทานให้ นี่คือกิริยาสี่อย่าง ซึ่งเริ่มต้นจากขนมปัง และปลา พระองค์ทรงทำกิริยาเดียวกันนี้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายด้วย

    เมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มตระหนักว่าพระเจ้าทรงทำกิริยาสี่อย่างนี้กับประชากรของพระองค์ในเวลานั้น เราถูกเลือก และหยิบขึ้นมา ในเวลานั้นข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าพร้อมจะก้าวไปถึงขั้นที่สี่แล้ว คือ การให้ ไม่มีเวลาสำหรับขั้นที่สอง และที่สาม แต่ข้าพเจ้าจะมีอะไรไปให้พวกเขา ... มีแต่ซีโมน ... และใครจะต้องการฟังซีโมน ซีโมนมีอำนาจอะไร หลังจากผ่านขั้นถวายพระพร และการบิแล้วเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงมีบางสิ่งบางอย่างจะมอบให้แก่ประชาชน ... นั่นคืออำนาจในพระนามของพระเยซูเจ้า เราเข้าสู่ขั้นของการได้รับพระพร เมื่อเราถูกดึงดูดเข้าสู่วิสัยทัศน์ และคุณค่าชีวิต ที่พระองค์ทรงยกย่อง

    ข้าพเจ้าต้องผ่านความผิดหวัง ความล้มเหลว และถูกบิเหมือนขนมปังหลายครั้ง ก่อนข้าพเจ้าจะสามารถตัดใจจากทุกสิ่งทุกอย่าง และยื่นทุกสิ่งทุกอย่างถวายพระองค์ เมื่อนั้น ข้าพเจ้าจึงมีบางสิ่งบางอย่างจะมอบให้ผู้อื่น ซึ่งอันที่จริง เป็นพระเยซูเจ้าในตัวข้าพเจ้าต่างหากที่มีบางสิ่งบางอย่างจะประทานให้ จนกระทั่งวันหนึ่ง ข้าพเจ้าสามารถพูดออกมาจากความว่างเปล่าและความบริบูรณ์ในตัวข้าพเจ้า กับคนง่อยคนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเงิน ไม่มีทอง แต่ข้าพเจ้ามีอะไรจะให้ท่าน เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ชาวนาซาเร็ธ จงเดินไปเถิด”

    ดังนั้น ข้าพเจ้าขอแนะนำท่านเหมือนกับที่เคยเขียนคำแนะนำนี้ไว้ที่อื่น (เทียบ 1 ปต) ว่า ถ้าพระองค์ทรงขอให้ท่านได้รับความทุกข์ทรมาน อย่าได้กลัวเลย ถ้าท่านสามารถร่วมรับทรมานกับพระคริสตเจ้าได้ ก็จงยินดีเถิด เพราะเมื่อพระองค์ทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจน์ ท่านจะร่วมรับความชื่นชมยินดีกับพระองค์ได้มากยิ่งกว่า จงจำไว้ว่าไม่มีใครทำร้ายท่านได้ ถ้าท่านมุ่งมั่นจะทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง จงรักกันและกัน จงมีความสงสารต่อกัน และเก็บตัวอยู่แต่เบื้องหลัง อย่าตอบโต้ความชั่วด้วยความชั่ว อย่าด่าตอบผู้ที่ด่าท่าน แต่ตรงกันข้าม จงอวยพรเขา เพราะพระเจ้าทรงเรียกท่านมาก็เพื่อให้รับพระพร แล้วท่านจะพบว่าคำอวยพรนั้นย้อนกลับมาหาตัวท่านเองเป็นร้อยเท่าทวีคูณ พระเจ้าจะไม่ทรงยอมให้ใครชนะพระองค์ได้ในเรื่องความใจกว้าง

บทรำพึงที่ 2

แต่เรากล่าวกับท่านทั้งหลายที่กำลังฟังอยู่ว่า จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน

    ทุกสิ่งที่เป็น “ของใหม่” ในพระวรสาร รวมอยู่ในคำสั่งสอนนี้ ซึ่งพระเยซูเจ้าประทานแก่ผู้ที่ยอมฟังพระองค์ เอกลักษณ์ของหลักจริยธรรมของคริสตศาสนาไม่ได้มีแต่ “ความรัก” เท่านั้น เพราะหลักจริยธรรมทั้งปวงของมนุษย์ก็เรียกร้องให้เรารักเพื่อนมนุษย์ แต่พระองค์ทรงสั่งสอนให้ “รักศัตรู” ความรักของคริสตชนเป็นความรักสากล ที่ไม่ยกเว้นใครเลย ... เหมือนกับความรักของพระบิดาสวรรค์ (มธ 5:43-48)

    คำว่า “ศัตรู” ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้นี้ เป็นคำที่แรงมาก และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย เราจะได้ยินบางคนพูดว่า “ฉันไม่มีศัตรู” แต่พระเยซูเจ้าทรงใช้เวลาอธิบายโดยทรงยกหลายตัวอย่างทีเดียว ศัตรูของข้าพเจ้าหมายถึงผู้ที่เกลียดชังข้าพเจ้า ... ผู้ที่กล่าวร้ายข้าพเจ้า ... ผู้ที่ใส่ความข้าพเจ้า ... แม้แต่ผู้ที่ข้าพเจ้ารังเกียจ ... ก่อนจะเข้าใจหลักจริยธรรมที่พระวรสารนี้กล่าวถึงอย่างครบถ้วนได้ เราต้องเข้าใจว่า “ศัตรู” หมายถึงใครบ้างในชีวิตจริง...

    ในระดับบุคคล – พระเยซูเจ้าทรงขอให้ข้าพเจ้ารักผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ข้าพเจ้า ... ผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้ารำคาญใจ ... ผู้ที่ไม่เห็นพ้องกับข้าพเจ้า ... ผู้ที่แสดงความก้าวร้าวต่อข้าพเจ้า ไม่ว่าทางความคิด การแต่งกาย การลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นต้น...

    ในระดับกลุ่มบุคคล หรือสภาพแวดล้อม – พระเยซูเจ้าทรงขอให้ศิษย์ของพระองค์รักผู้ที่เป็นศัตรูกับกลุ่มของเขาอีกด้วย ... ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เบียดเบียนพวกเขา ต่อต้านพวกเขา กลุ่มคนและชนชั้นที่คิดต่างจากเรา...

    คงจะเกิดวิวัฒนาการของความรักครั้งใหญ่ขึ้นในโลก ถ้าคริสตชนแต่ละคนเริ่มปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เราทำอย่างจริงจัง...

    ก่อนจะรำพึงภาวนาต่อไป ข้าพเจ้าจะหยุดพักครู่หนึ่งเพื่อนึกถึงชื่อ และหน้าตาของบุคคลที่พระวรสารหมายถึง และแสดงความปรารถนาให้เขาได้รับสิ่งดี ๆ ... ข้าพเจ้าจะภาวนาอย่างจริงจังเพื่อให้เขามีสุขภาพดีทั้งกาย และวิญญาณ...

ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป

    หลังจากทรงเน้นย้ำทัศนคติภายใน ซึ่งสำคัญที่สุดในความคิดของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงระบุการกระทำภายนอกที่แสดงทัศนคติเหล่านี้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ... เราต้องแสดงความรักต่อศัตรูด้วยการกระทำเชิงบวก ...

    ในที่นี้ พระเยซูเจ้าไม่ทรงมีเจตนาจะกำหนดบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับสี่ประเด็น คือ การตบ เสื้อคลุม การขอ หรือการขโมย ... แต่เป็นเพียงตัวอย่างที่อธิบายให้เห็นภาพของวิถีชีวิตแบบใหม่ ตัวอย่างที่ตั้งใจให้เห็นความขัดแย้งในตัวเอง และจดจำได้ง่าย เราไม่อาจแปลความหมายประโยคที่เป็นภาษาเซมิติกเหล่านี้ตามตัวอักษรโดยไม่ใช้สามัญสำนึก ราวกับว่าเราจำเป็นต้องหันแก้มซ้ายให้แก่ผู้ที่เพิ่งจะตบแก้มขวาของเรา ... พระเยซูเจ้าทรงแสดงตัวอย่างได้ดีที่สุดว่าคำสั่งสอนของพระองค์หมายถึงอะไร เมื่อพระองค์ไม่ทรงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้แก่คนรับใช้ของมหาสมณะที่ตบพระองค์ และตรัสว่า “ถ้าเราพูดถูก ท่านตบหน้าเราทำไม” (ยน 18:23)

    นี่คือตัวอย่างที่ระบุในพระคัมภีร์ ... และพระเยซูเจ้าไม่ทรงขอให้เราทำสิ่งใดที่พระองค์ไม่เคยทำมาก่อน ...

ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด

    นี่คือบทบัญญัติที่เรียกกันว่า “กฎทอง” และเป็นหนึ่งในหลักการที่จำเป็นสำหรับหลักจริยธรรมทั้งปวงด้วย ... ในยุคของพระเยซูเจ้า รับบีฮิลเลล เคยสอนว่า “อะไรที่ท่านไม่ชอบ ก็อย่างทำต่อเพื่อนมนุษย์” และนักปรัชญาสโตอิก ก็เคยสอนว่า “ท่านไม่ต้องการให้ใครทำอย่างไรต่อท่าน ก็จงอย่าทำอย่างนั้นต่อผู้อื่น”...

    แต่พระเยซูเจ้ากำลังประทานบทบัญญัติเชิงบวก คือ เราต้องทำความดีให้มากที่สุดต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา – แม้แต่ต่อศัตรูของเรา...

ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย ถ้าท่านให้ยืมเงินโดยหวังจะได้คืน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังให้คนบาปด้วยกันยืม โดยหวังจะได้เงินคืนจำนวนเท่ากัน แต่ท่านจงรักศัตรู จงทำดีต่อเขา จงให้ยืมโดยไม่หวังอะไรกลับคืน

    เราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เราเป็นคริสตชน แต่บ่อยครั้ง เราก็ไม่ได้ดีไปกว่าผู้อื่น ... ทั้งที่เห็นได้ชัดว่า พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราปฏิบัติตนแตกต่างจากผู้อื่น ... อะไรคือ “ความแตกต่าง” นี้ ... อะไรควรทำให้คริสตชนต่างจากผู้อื่น ... นั่นคือ จงรักคนที่ไม่รักเรา...

    พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ความรักของเราแผ่ขยายออกไปนอกชุมชนธรรมชาติของเรา หมายถึงครอบครัว บุคคลรอบตัวเรา ประเทศชาติของเรา ชนชาติเดียวกับเรา ... คนที่คล้ายกันจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ตามธรรมชาติ และตามสัญชาตญาณ แม้แต่คนบาป ผู้กดขี่ที่ชั่วร้ายและเห็นแก่ตัว ก็อาจเห็นควรว่า “ต้องสามัคคีกัน” เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ และเพื่อร่วมกันต่อสู้กับผู้ที่ต่อต้านกลุ่มของตน

    แต่ความรักของคริสตชนเป็นความรักที่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน ไม่มีอุปสรรค สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 (Ad Gentes ข้อ 12) กล่าวถึง “ความรักเมตตาของคริสตชน” ว่า “ต้องมอบให้แก่ทุกคนอย่างแท้จริง โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สถานะทางสังคม หรือศาสนา และไม่คาดหวังผลประโยชน์ หรือความกตัญญูรู้คุณ”

แล้วบำเหน็จรางวัลของท่านจะใหญ่ยิ่ง ท่านจะเป็นบุตรของพระผู้สูงสุด เพราะพระองค์ทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญู และต่อคนชั่วร้าย

    พระวาจานี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทั่วไปยังอยู่ห่างไกลจากแผนการของพระเจ้าเพียงใด และจำเป็นอย่างไรที่พระจิตของพระองค์ (พระจิตแห่งพระอาณาจักรของพระองค์) จะต้องเปลี่ยนแปลงมนุษย์จากภายใน ... มนุษย์ก่อนสมัยของพระเยซูเจ้าตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง แม้แต่พระคัมภีร์ก็ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” และกำจัดศัตรูให้หมดสิ้น ให้ “เชือดคอ” ตามหลักศาสนาเพื่อปราบศัตรูของพระเจ้า (ฉธบ 7:1-6, 20:10-18, 25:19, ยชว 6:17, กดว 21:2, 1 ซมอ 15:18) ก่อนสมัยของพระเยซูเจ้า มนุษย์เคยภาวนาให้ศัตรูได้รับภัยพิบัติ แม้แต่ในพระคัมภีร์ (สดด 17:13, 28:4, 69:23-29 เป็นต้น) แต่นับจากสมัยของพระเยซูเจ้า บัดนี้ เราต้องอธิษฐานภาวนาเพื่อคนเหล่านี้...

    อุดมคติที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอแก่เรานี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าอุดมคติของพระเจ้าเลย เป็นอุดมคติที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสมอ แม้ว่าเราจะไม่มีวันทำได้อย่างสมบูรณ์เลยก็ตาม นี่คืออุดมคติที่ปราศจากขีดจำกัด...

    พระวาจานี้น่าแปลกใจ! ผู้ที่รักศัตรูของตนจะได้รับบำเหน็จ เขาจะเป็น “บุตรของพระผู้สูงสุด” และนี่คือนามที่มอบให้พระเยซูเจ้าในการประกาศสารต่อพระนางมารีย์ (ลก 1:32) ... “ผู้สร้างสันติ” จะเป็นบุตรของพระเจ้า (มธ 5:9)...

    การรักศัตรูเป็นการกระทำที่เกินกำลังมนุษย์ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำได้ และพระองค์ก็ทรงทำเช่นนี้ไม่ว่างเว้น พระองค์ทรง “เมตตากรุณาต่อผู้ที่ไม่รู้จักบุญคุณ และเห็นแก่ตัว” ดังที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่เรา...

จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด อย่าตัดสินเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขา แล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน ท่านจะได้รับเต็มสัดเต็มทะนานอัดแน่นจนล้น เพราะว่าท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย

    พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงนิสัยแท้ของพระเจ้าแก่เรา พระองค์คือความเมตตา ... พระองค์ทรงเป็นความรักจนถึงที่สุด ... เราไม่อาจย้ำได้บ่อยครั้งพอว่า พระเจ้าไม่ทรงกล่าวโทษผู้ใด ... พระเจ้าให้อภัยคนบาปทุกคน...

    และพระองค์ทรงขอให้เราเลียนแบบพระองค์ พระองค์ถึงกับบอกเราว่าความหนักเบาของคำพิพากษาตัวเรานั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง “ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย ... โปรดประทานอภัยบาปของข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น ...”

    ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงยอมรับการกระทำที่ชั่วร้าย การให้อภัยไม่เหมือนกับการยอมรับความชั่วร้าย ไม่มีสิ่งใดที่เหมือนกัน – และจะไม่มีวันเหมือนกัน - ระหว่างพระเจ้า และความอยุติธรรม ทารุณกรรม เจตนาร้าย ความขลาด ความเห็นแก่ตัว ... ผู้ที่กระทำการเหล่านี้จะไม่อยู่ฝ่ายเดียวกับพระองค์ แต่พระเจ้าไม่ทรงตัดสินและกล่าวโทษ เพราะพระองค์ทรงคาดหวังให้คนเหล่านี้กลับใจ เมื่อเขากล่าวโทษ และทำลายตัวเองด้วยการดื้อรั้นไม่ยอมรับการให้อภัยจากพระองค์ ... พระเจ้าจะทรงหลั่งน้ำตานิรันดร (นี่คือไม้กางเขน) ลงบนผู้ที่ปฏิเสธที่จะรักพระองค์ ... นรกคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระเจ้า นรกไม่ใช่สิ่งสร้างของพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเป็นความเมตตากรุณาเท่านั้น...

    ท่านเล่า ... ท่านอยู่ข้างเดียวกับพระเจ้าหรือเปล่า...