วันอาทิตย์ที่สิบสอง เทศกาลธรรมดา

ลูกา 9:18-24
    วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นเอลียาห์ บ้างว่าเป็นประกาศกในอดีตคนหนึ่งซึ่งกลับคืนชีพ” พระเยซูเจ้าตรัสถามเขาว่า “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” พระองค์จึงทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด
    พระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม”
    หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิต ผู้นั้นจะต้องสูญเสียชีวิต แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตเพราะเรา ผู้นั้นจะรักษาชีวิตได้”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
อยู่เพียงลำพัง ... อยู่กับผู้อื่น ... และพระเจ้า

    “พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า” ลูกาเล่าเรื่องอย่างรวบรัดด้วยประโยคนี้ว่าพระเยซูเจ้ากำลังทำอะไรและทำอย่างไร พระองค์ประทับอยู่ตามลำพังกับความคิด ความรู้สึก และเสียงกระตุ้นในใจของพระองค์ แต่พระองค์ประทับอยู่กับศิษย์ของพระองค์ด้วย และอาศัยศิษย์เหล่านี้ พระองค์ทรงรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ๆ ที่พวกเขาได้พบ และเมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์จึงประทับอยู่กับพระบิดา ข้อความนี้เหมาะสมจะนำไปไตร่ตรองว่า สำหรับพระเยซูเจ้า เวลาอธิษฐานภาวนาหมายถึงเวลาที่พระองค์ติดต่อกับความคิด และเสียงกระตุ้นภายใน และติดต่อกับคนรอบตัวด้วย

    พวกเราหลายคนได้รับการอบรมมาให้คิดว่าความคิด และความรู้สึกภายในเป็นอุปสรรคของการสวดภาวนา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า สิ่งต่าง ๆ ที่รบกวนสมาธิกลายเป็นปัญหาในการภาวนา ดูเหมือนเรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าการภาวนาเป็นประสบการณ์บางอย่างที่บริสุทธิ์ และตัดขาดจากโลก จากจินตนาการ ความรู้สึก และเสียงกระตุ้นอันเลือนรางในใจ และคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาพระเจ้าในที่ใดที่หนึ่งนอกโลกของเรานี้ แต่การที่พระเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์เหมือนเราบอกเราว่า เราสามารถพบกับพระองค์ได้ในสถานการณ์ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมในโลกของเรา สิ่งรบกวนสมาธิไม่จำเป็นต้องเป็นอุปสรรคในการภาวนา เพราะอาจเป็นสิ่งที่บอกเราว่าพระเจ้าทรงต้องการนำเราไปที่ใด ผู้ขับร้องบทสดุดีพบว่าประสบการณ์ทุกชนิดของมนุษย์สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาได้ ถ้าการภาวนาของเราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเสียงกระตุ้น และความรู้สึกของเราเลย ก็เป็นไปได้ว่านั่นไม่ใช่การภาวนาที่ออกมาจากชีวิตของเรา สถานที่แรกที่เราพบกับพระเจ้า และรับฟังพระองค์ ก็คือ ในประสบการณ์ในชีวิตแต่ละวันของเรา
    จินตนาการจะพาเราโบยบินอย่างรวดเร็วไปจากสถานที่ที่เราต้องการภาวนา แต่จงเคารพจินตนาการของเรา เพราะมันอาจเป็นรูปแบบเดียวที่เสียงกระตุ้นลึก ๆ ในใจของเราสามารถแสดงตัวออกมาได้ เราคงจำเรื่องต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ เมื่อพระเจ้าทรงใช้ความฝันเพื่อสื่อสารกับมนุษย์ นักบุญเทเรซาเคยบอกว่าจินตนาการเป็นคนโง่ประจำบ้าน แต่ตลกหลวงก็เป็นคนเดียวไม่ใช่หรือที่ได้รับอนุญาตให้ละเมิดกฎ และพิธีรีตองในราชสำนักได้

    เมื่อสิ้นสุดวัน ท่านสามารถนั่งอยู่ตามลำพังกับความคิดของท่าน อยู่เบื้องหน้าพระเจ้า วิงวอนขอความสว่างจากพระองค์ และไตร่ตรองวันที่เพิ่งจะสิ้นสุดลงไปนั้น จากนั้น ถ้ามีความคิดและความรู้สึกบางอย่างผุดขึ้นมา จงรับฟังพระเจ้าผู้ประทับอยู่กับท่านมาตลอดทั้งวัน แม้ว่าท่านไม่ได้ให้ความสนใจกับพระองค์เลยก็ตาม ลองทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และมองเห็นรูปแบบและทิศทางของมัน ไม่ว่าท่านเริ่มมีความรู้สึกอย่างไร จงอยู่กับความรู้สึกนั้นให้นานพอจะให้เวลาเสียงกระตุ้นลึก ๆ ในใจของท่านเผยตัวออกมา เสียงกระตุ้นนั้นเกี่ยวกับความเจ็บปวด ... หรือความไม่พอใจอันรางเลือน ... ความโกรธ ... ความเจ็บปวดที่ท่านไม่เคยให้อภัยหรือเปล่า หรือว่าเป็นความกลัวเหตุการณ์ในอนาคต ... หรือความวิตกกังวลโดยไม่รู้สาเหตุ หรือว่าเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ... เป็นความสุข ... ความยินดีที่รอคอยจะแสดงตัวออกมา ... หรือว่าเป็นความรู้สึกเหนื่อย บางทีอาจเป็นความเหนื่อยล้าที่ไม่ว่าจะนอนหลับนานเท่าใดก็ไม่ช่วยให้หมดไปได้ ... ในการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้า ความเจ็บปวดที่เกิดจากการตรึงกางเขนในอนาคตเริ่มปรากฏขึ้นในความรู้สึกของพระองค์ แต่ก็มีความหวังที่พระองค์จะกลับคืนชีพด้วย เราเห็นด้วยว่าการอธิษฐานภาวนาของพระองค์รวมไว้ด้วยปฏิกิริยาที่คนอื่น ๆ แสดงออกต่อตัวตนของพระองค์ และพันธกิจของพระองค์อีกด้วย

    ขณะที่ท่านไตร่ตรองเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และไม่ว่าจะมีความประทับใจ ความรู้สึก อารมณ์ หรือความคิดใด ๆ ผุดขึ้นมา ให้นำทุกสิ่งเหล่านี้มาตั้งไว้เบื้องหน้าพระตรีเอกภาพ และถวายเกียรติแด่พระบิดาผ่านประสบการณ์ทั้งหมดนี้ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการเดินทางของท่านในวันนี้เพื่อกลับไปหาพระบิดาของท่าน พระบุตรผู้เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ทรงได้สัมผัสกับประสบการณ์ทั้งปวงของเรามนุษย์ พระองค์ทรงเคยผ่านความเจ็บปวดและความยินดี ความวิตกกังวลและความมั่นใจ ความเป็นอริและความรัก ความโกรธและสันติสุข พระองค์ทรงเป็นขนมปังที่ช่วยเหลือค้ำจุนเราในการเดินทางของเรา พระเจ้าประทับอยู่ในตัวเราด้วยการประทานพระจิตเจ้าแก่เรา และพระองค์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอนกับชีวิตภายใน ซึ่งแสดงตัวออกมาผ่านการไตร่ตรองของเรา  “ความสุขสบายหอมหวานสำหรับท่านที่ทำงานหนัก ความเย็นย่อมน่าอภิรมย์ท่ามกลางความร้อน เหมือนกับความบรรเทาท่ามกลางความเศร้า”

    ระหว่างอธิษฐานภาวนาด้วยการไตร่ตรองประสบการณ์ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยู่ตามลำพังกับรสชาติที่หลงเหลืออยู่จากการพบปะกับผู้อื่นในวันนี้ และอยู่ร่วมกับพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

ข้อรำพึงที่สอง
เปโตร ระลึกถึงเหตุการณ์

    แคว้นกาลิลีเป็นถิ่นของเรา แต่เหลือเวลาอีกไม่นานที่เราจะอยู่กับพระเยซูเจ้าที่นั่น แม้ว่าเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ในเวลานั้น บรรยากาศรอบตัวเรามีแต่ความตื่นเต้นซึ่งข้าพเจ้าพอใจมาก ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปเกี่ยวกับตัวพระเยซูเจ้า แต่พวกเขาเห็นพ้องกันในประเด็นหนึ่ง คือ พระอานุภาพของพระเจ้ากำลังมาเยือนโลกนี้ผ่านทางพระองค์ มากเท่ากับ – ไม่ซิ – มากยิ่งกว่า – ในสมัยของเอลียาห์ หรือประกาศกผู้ยิ่งใหญ่คนใดในอดีต

    พระองค์ทรงต้องการให้ศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ ของเราอยู่อย่างสงบเงียบสักสองสามวัน แต่ไม่มีทางหนีให้พ้นฝูงชนได้ พวกเขาเดินทางลงมาจากเมืองต่าง ๆ บนเนินเขาด้วยความอยากรู้อยากเห็น และตื่นเต้น โดยไม่วางแผนล่วงหน้าเรื่องอาหาร หรือที่พัก เราคิดว่าเราได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจนกระทั่งพระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงอาหารทุกคน อย่างน้อย 5,000 คน ด้วยขนมปัง 5 ก้อน และปลา 2 ตัวเท่านั้น ชายคนนี้ไม่รู้จักจนแต้มบ้างเลยหรือ ข้าพเจ้าจดจำความท้าทายในน้ำเสียงของพระองค์ได้เสมอ เมื่อพระองค์บอกเราว่า “ท่านทั้งหลายจงหาอาหารให้เขากินเถิด” ข้าพเจ้ายืนงงพร้อมด้วยมือเปล่าอยู่ที่นั่น ไม่รู้จะหาคำพูดอะไรมาตอบ และหลังจากพระองค์ทรงทวีจำนวนขนมปังและปลาเหล่านั้นแล้ว ยังมีเศษอาหารเหลืออยู่เต็ม 12 ตะกร้า หนึ่งตะกร้าสำหรับเราแต่ละคน และหนึ่งตะกร้าสำหรับตระกูลหนึ่งของชาวอิสราเอล ข้าพเจ้าตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อยอห์นแย้มให้ข้าพเจ้าเห็นนัยสำคัญของเหตุการณ์นี้ เราแต่ละคนได้รับมอบตะกร้าหนึ่งใบที่เต็มไปด้วยขนมปังที่เกิดจากอัศจรรย์ครั้งนี้

    ในที่สุด ประชาชนก็แยกย้ายกันกลับไป และเราได้อยู่กับพระองค์ตามลำพัง นั่นเป็นหนึ่งในเวลาอันแปลกประหลาดเมื่อความสงบที่เราไม่เข้าใจเข้าครอบงำพระองค์ นั่นคือเวลาที่พระองค์อธิษฐานภาวนา พระองค์ประทับอยู่กับเรา แต่เราก็รู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างในใจของพระองค์ที่เราเข้าไม่ถึง พระองค์ตั้งใจฟังเมื่อเราบอกว่าประชาชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อพระองค์ จากนั้น พระองค์ก็ถามเราในทันทีทันใดว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” ข้าพเจ้าตอบออกไปก่อนที่ข้าพเจ้าจะรู้ตัวว่าพูดอะไร “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าไม่มีทางให้คำตอบที่ถูกต้องไปกว่านี้ได้ พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาและรอคอย พระองค์ทรงยอมรับคำตอบของข้าพเจ้าด้วยความพอใจ เหมือนกับครูที่ลูกศิษย์ตอบคำถามได้ถูกต้อง

    แต่ – มีคำว่า “แต่” เสมอทุกครั้งที่พระองค์ทรงมีท่าทีว่ากำลังอธิษฐานภาวนาอยู่ – พระองค์เริ่มตรัสถึงเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับการถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม ด้วยความไม่รู้ของข้าพเจ้าในเวลานั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ยอมเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนั้นขึ้นได้ บัดนี้ หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายปี และได้รู้เห็นเหตุการณ์แล้ว ข้าพเจ้าจึงรู้ว่าพระองค์กำลังบอกอะไรกับเราในเวลานั้น ด้วยความตื่นเต้นของเรา เรากำลังหวังว่าพระองค์จะนำยุคสมัยอันรุ่งเรืองของกษัตริย์ดาวิดกลับคืนมา แต่เรามองข้ามสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นมาก เราไม่อยากคิดถึงเรื่องผู้รับใช้พระเจ้าที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวถึง ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ยังถูกปฏิเสธ แต่บาดแผลของผู้รับใช้คนนี้จะรักษาโรคให้คนจำนวนมาก หรือถ้อยคำของเศคาริยาห์ ที่บอกว่าประชาชนจะมองดูผู้ที่พวกเขาแทงทั้งน้ำตา และพระองค์พูดต่อไปด้วยว่าวันเวลาของเราจะไม่มีแต่ความรุ่งเรือง พระองค์ตรัสถึงเรื่องที่ทำได้ยาก เช่น ความจำเป็นต้องยอมสละประโยชน์ส่วนตน และถึงกับยอมเสียชีวิตเพื่อพระองค์ ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าใจพระวาจาเหล่านี้ในเวลานั้น แต่ต่อมา เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เผยให้เราเข้าใจความหมายของพระองค์ เราผู้รวบรวมขนมปังที่พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ทวีจำนวนได้ถึง 12 ตะกร้า ต้องพร้อมจะยอมให้ชีวิตของเราถูกบิออก และมอบให้ผู้อื่นเหมือนกับขนมปัง

 
บทรำพึงที่ 2

วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว ...

    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นภาวนาทุกครั้งที่ใกล้จะเกิดเหตุการณ์สำคัญ หรือมาถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของพระองค์ เช่น เมื่อทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดน (ลก 3:21) ... เมื่อประชาชนแสดงความกระตือรือร้นรับฟังคำเทศน์สอนของพระองค์เป็นครั้งแรก (ลก 5:16) ... ก่อนเลือกอัครสาวกสิบสองคน (ลก 6:12) ... ก่อนจะขอให้บรรดาอัครสาวกประกาศยืนยันความเชื่อของเขา (ลก 9:18) ... ก่อนจะทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (ลก 9:28) ... ก่อนจะทรงสอนให้ศิษย์ของพระองค์สวดบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” (ลก 11:1) ... เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ต้องเลือกที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาในสวนเกทเสมนี (ลก 22:41) ... และก่อนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (ลก 23:34, 23:46)...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าขณะทรงอธิษฐานภาวนา ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระพักตร์ ... พระโอษฐ์ ... พระหทัยของพระองค์ ...

    ช่วงเวลาอธิษฐานภาวนาเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของพระเยซูเจ้าอย่างแน่นอน ... ถ้าเราคิดว่าการอธิษฐานภาวนาของพระองค์เป็นเพียงการแสดงแบบอย่างให้เราเห็น เราก็กำลังลดความลึกล้ำของการภาวนาของพระองค์ ... อันที่จริง ทุกครั้งที่พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดอย่างยิ่ง ถ้าพูดตามประสามนุษย์ พระองค์ทรงวิงวอนขอพระบิดาจริง ๆ ให้ทรงช่วยพระองค์ปฏิบัติพันธกิจแสนยากของพระองค์ให้สำเร็จ ... พระองค์ไม่ได้กำลังแสดงละครให้ใครดู...

    เช่นในเหตุการณ์นี้ เรามาถึงจุดสำคัญในชีวิตของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งจะแสดงเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ด้วยการทวีจำนวนขนมปังในถิ่นทุรกันดาร (ลก 9:10-17) ประชาชนอยากจะยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับบทบาททางโลกนี้ (ยน 6:15) ซึ่งทำให้ศิษย์หลายคนตีจากพระองค์ไป ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงต้องการหยั่งเสียงอัครสาวกของพระองค์ในระดับลึกมากขึ้น ว่าพวกเขายังจะติดตามพระองค์ต่อไปหรือไม่ ... ไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าพวกเขาจะยังติดตามพระองค์ ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อพวกเขาเหมือนกับที่พระองค์จะทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเปโตร “ให้ความเชื่อของเขามั่นคงตลอดไป” (ลก 22:32)...

    ข้าพเจ้ากำลังภาวนาขอให้ความเชื่อของข้าพเจ้าเข้มแข็งหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าภาวนาทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องตัดสินใจหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าถือว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นให้ข้าพเจ้าสวดภาวนาหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าภาวนาเพื่อคนทั้งหลายที่ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบหรือเปล่า...

    บัดนี้ ข้าพเจ้าจะหยุดรำพึง และใช้เวลานี้อธิษฐานภาวนาเพื่อคนเหล่านี้ ... ทันที...

บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นเอลียาห์ บ้างว่าเป็นประกาศกในอดีตคนหนึ่งซึ่งกลับคืนชีพ”

    หลังจากอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงตั้งคำถาม ... ความเชื่อของมิตรสหายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงตั้งคำถามที่สำคัญยิ่งนี้ทันที พระองค์ทรงรู้วิธีการสั่งสอน พระองค์จึงทรงถามเป็นขั้นตอน ก่อนอื่น พระองค์ทรงถามบางอย่างที่พวกเขาตอบได้โดยไม่ผูกมัดตนเอง และเป็นคำถามที่ตอบได้ง่าย แต่คำถามข้อแรกนี้ยังไม่พอ มันง่ายเกินไปที่จะพูดถึงความคิดเห็นของผู้อื่น เราต้องพูดในสิ่งที่เราเชื่อ เราต้องเลือกข้างว่าเราจะอยู่กับใคร...

    การสำรวจความคิดเห็นได้ผลเป็นเอกฉันท์ ประชาชนมีความคิดเห็นตรงกันเต็มร้อยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ทางศาสนา เป็นประกาศก เป็นผู้พูดแทนพระเจ้า ดังที่ลูกาบอกไว้หลายครั้ง (ลก 4:18, 19, 26, 27, 7:11, 16, 17, 24:19)...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นเอลียาห์คนใหม่ ทรงลุกร้อนด้วยไฟของพระเจ้า

    พระองค์ทรงเป็นโมเสสคนใหม่ ทรงเป็นผู้ปลดปล่อย...

พระเยซูเจ้าตรัสถามเขาว่า “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร”

    การเป็นคริสตชนหมายความว่า เราต้องตอบคำถามที่ท้าทายข้อนี้ เป็นคำตอบจากหัวใจของเราเอง...

    แต่ห้ามโกง ... เราต้องไม่เพียงแต่ท่องบทแสดงความเชื่อ ... ปากของเราอาจพูดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าจากพระเจ้า ทรงเป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง เป็นต้น” และอาจถึงกับยืนยันสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำของเรา การประกาศยืนยันความเชื่อด้วยวาจาเท่านั้นไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ เพราะคำตอบที่แท้จริงของเราก็คือการดำเนินชีวิตทุกวันของเรา...

    ขอให้พฤติกรรมของข้าพเจ้าประกาศว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูเจ้า”...

เปโตรทูลตอบว่า...

    แม้จะมีข้อถกเถียงไม่รู้จบเกี่ยวกับตำแหน่งพระสันตะปาปา และเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ธรรมดาด้วยกันทั้งนั้น ... และแม้พระสันตะปาปาจะมีทั้งคนรักและคนชัง ... แต่เราย่อมมองเห็นบทบาทสำคัญของเปโตรได้ในพระวรสาร ... พระสันตะปาปาหลายองค์ในยุคปัจจุบันทรงต้องการอย่างยิ่งที่จะรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของผู้นำฝ่ายจิตโดยแท้นี้ เมื่อใดที่เกิดความคลางแคลงใจ เมื่อใดที่ประชาชนลังเลใจ เมื่อใดที่ความคิดที่ชัดเจนกลับเลือนหาย และดูเหมือนว่าความเชื่อกำลังอ่อนแรงลง ... จะมีเสียงหนึ่งดังขึ้นในใจกลางของพระศาสนจักร นั่นคือเสียงของเปโตร ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ค้ำจุนความเชื่อให้แก่พี่น้องของเขา (ลก 22:32) ... และพระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภวนาเพื่อเขาด้วย...

    เมื่อได้ยินคำถามแรก เมื่อพวกเขาเพียงแต่ต้องรายงานความคิดเห็นของสาธารณชน เราเดาได้เลยว่าบรรดาศิษย์คงแย่งกันรายงานสิ่งที่เขาได้ยินมา ... แต่บัดนี้ เมื่อต้องให้คำตอบที่ลึกยิ่งกว่า เขาต้องประกาศสิ่งที่เขาเองเชื่อ ... เปโตรเป็นผู้ตอบในนามของศิษย์ทั้งกลุ่ม...

    ข้าพเจ้าภาวนาเพื่อพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ... ข้าพเจ้าจะหาเวลาอ่านสาสน์ของพระองค์ และนำมาไตร่ตรอง...

เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า”

    แน่นอน คำตอบของเปโตรเจาะลึกกว่าคำตอบของฝูงชน ขอให้เราเปรียบเทียบ “การประกาศยืนยันความเชื่อ” อันโด่งดังของเปโตรที่ปรากฏในพระวรสารต่าง ๆ แต่ละชุมชนแสดงออกถึงความเชื่อข้อเดียวกัน แต่ด้วยคำพูดต่างกัน

    -    มัทธิว 16:16     “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”
    -    มาระโก 8:29     “พระองค์คือพระคริสตเจ้า”
    -    ลูกา 9:20        “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า”

    เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเปโตรพูดอะไรออกมาจริง ๆ ... พระวรสารไม่ได้รายงานทุกสิ่งทุกอย่างตรงตามตัวอักษร ลูกาคงรู้สึกว่าจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิวเข้าใจความหมายที่ชัดเจนของคำว่า “พระเมสสิยาห์” ด้วยการเติมคำว่า “ของพระเจ้า” และไม่จำเป็นต้องเตือนความจำว่าคำภาษากรีกว่า Christos ซึ่งแปลว่าผู้ได้รับเจิม ... ผู้ได้รับเจิมจากพระเจ้า ... เป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาฮีบรูว่า พระเมสสิยาห์

    ดังนั้น เปโตรจึงยอมรับสิ่งที่พระเยซูเจ้าเองทรงประกาศในคำปราศรัยครั้งแรกของพระองค์ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18, อสย 61:1) ... หลังจากอยู่อย่างใกล้ชิดกันมาได้หนึ่งปีครึ่ง เปโตรแสดงว่าเขาเชื่อในสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระองค์เอง ... อัตลักษณ์อันลึกล้ำของพระเยซูเจ้าไม่ใช่ความเป็นจริงที่จะอนุมานได้จากข้อสังเกต ซึ่งเกิดจากการใช้เหตุผลล้วน ๆ แต่เราต้องได้รับมาจาก “การเผยแสดง”...

    การเจิมของพระจิตเจ้า การที่พระเจ้าเข้ามาประทับอยู่ในตัวพระเยซูเจ้า เป็นเหตุการณ์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตา...

พระองค์จึงทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด พระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม”
    และความจริงก็เป็นเช่นนี้ ปัสกา - ซึ่งประกอบด้วยสองด้าน ด้านหนึ่งคือกางเขน อีกด้านหนึ่งคือพระสิริรุ่งโรจน์ – เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจได้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร ระหว่างนี้ บรรดาอัครสาวกได้รับคำสั่งให้ปิดปากเงียบเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพระคริสตเจ้า

    แต่การประกาศเรื่องพระทรมานครั้งนี้คงทำให้อัครสาวกสิบสองคนผิดหวังมาก ... มัทธิว และมาระโก เล่าเหมือนกันว่าเปโตรถูกตำหนิที่เขาไม่เข้าใจ

    การประกาศถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนา – หลังจากทรงเตือนพระองค์เองอีกครั้งหนึ่งว่าพระองค์ทรงต้องรับบทบาทของพระเมสสิยาห์ผู้ทนทรมาน พระองค์ทรงมองเห็นความตายของพระองค์ปรากฏขึ้นมาแต่ไกลแล้ว เพราะพระองค์ทรงคิดถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งในการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าจึงตรัสถึงปัสกาของพระองค์ในวันนั้น หลังจากเปโตรประกาศยืนยันความเชื่อของเขา

    ข้าพเจ้าอยากจะคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเตรียมตัวรับความตายมาแล้วเป็นเวลานาน พระองค์ทรงมองว่าความตายของพระองค์ไม่ได้เกิดจากโรคที่รักษาไม่หาย หรือความเสื่อมของร่างกายเนื่องจากวัยชรา (เหมือนกับพวกเราที่เห็นความตายคืบใกล้เข้ามา) แต่เกิดจากความเกลียดชังที่สะสมมากขึ้นของ “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์” พระเยซูเจ้าทรงเตรียมตัวรับความตายอย่างไร ... ด้วยการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้คำว่า “จะต้อง” ที่พระองค์ตรัสจึงมีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้หมายถึงความจำเป็นใด ๆ หรือเป็นชะตากรรมที่พระองค์ทรง “ปลงตกแล้ว” ... แต่เป็นความเห็นชอบกับพระประสงค์ของพระบิดาซึ่งมีจารึกไว้ในพระคัมภีร์...

พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน และติดตามเรา”

    พระเยซูเจ้าตรัส “กับทุกคน” ... กฎของกางเขนเป็นกฎสำหรับคนทั้งโลก ไม่ยกเว้นใครเลย ... หลังจากทรงประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์แล้ว พระเยซูเจ้าทรงประกาศเรื่องความทุกข์ทรมานของเราให้เรารู้ในวันนี้...

    พระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็นถ้อยคำที่รับได้ยาก และเราอาจปล่อยให้ผ่านไปง่าย ๆ ราวกับว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา

    เป็นความจริงที่การเทศน์สอนในอดีตมักเน้นเรื่องการรับทนความทุกข์ทรมานจนทำให้ “การเสียสละ/พลีกรรม” ดูเหมือนมีมนต์ขลัง ดังที่เราพบแม้แต่ในประวัติของนักบุญบางองค์ที่กล่าวไว้ว่า “ต้องการทนทุกข์ทรมานให้มากที่สุดในหุบเขาแห่งน้ำตานี้” ... เราต้องไม่ทำสิ่งที่เกินเลยเช่นนี้ก็จริง แต่เราต้องค้นหาคุณค่าอันลึกล้ำของพระวาจานี้ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเราไม่สามารถลบออกไปจากพระวรสารได้ (และปรากฏให้เห็นถึง 6 ครั้งในพระวรสาร) บุคคลที่พูดถึง และแสวงหาแต่ความสุขสำราญเป็นคนโกหก เป็นพ่อค้าขายภาพลวงตา และเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อให้ทุกคนเห็นแก่ตัว ไม่มีมนุษย์คนใดที่สร้างความสำเร็จในชีวิตได้โดยไม่ต้องเสียสละอะไรเลย!...

    คนที่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะลืมตนเองบ้าง จะไม่มีวันเรียนรู้ที่จะรัก...
    คนที่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะยอมสละตนเอง จะไม่มีวันเรียนรู้ที่จะรัก ...

ผู้ใดใคร่รักษาชีวิต ผู้นั้นจะต้องสูญเสียชีวิต แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตเพราะเรา ผู้นั้นจะรักษาชีวิตได้

    นี่คือความจริงที่ฟังดูเหมือนขัดแย้งในตัวเอง

    เป็นความจริงที่ในแต่ละวัน เราสามารถแสวงหาตนเอง หรือลืมตนเองก็ได้ ... เราสามารถรักษาชีวิตของเรา หรือพลีชีวิตของเราก็ได้ ... เราสามารถเลือกที่จะรัก หรือไม่รักก็ได้ ...

    เราต้องเลือกทางเดินของเราเอง ...