วันอาทิตย์ที่สิบเก้า เทศกาลธรรมดา

ลูกา 12:32-48
    ฝูงแกะน้อย ๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน
    จงขายทรัพย์สินของท่านและให้ทาน จงหาถุงเงินที่ไม่มีวันชำรุด จงหาทรัพย์สมบัติที่ไม่วันหมดสิ้นในสวรรค์ ที่นั่นขโมยเข้าไม่ถึง และแมลงขมวนไม่ทำลาย เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย
    ท่านทั้งหลายจงคาดสะเอว และจุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้ จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับจากงานสมรส เมื่อนายมาและเคาะประตู จะได้เปิดรับ ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะ และจะรับใช้เขาด้วย ไม่ว่านายจะมาเวลาสองยามหรือสามยาม ถ้าพบผู้รับใช้กำลังทำเช่นนี้ ผู้รับใช้เหล่านั้นก็เป็นสุข พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาเวลาใด เขาคงไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตน ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย”
    เปโตรทูลว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ตรัสอุปมานี้สำหรับพวกเรา หรือสำหรับทุกคน” องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ใครเล่าเป็นผู้จัดการที่ซื่อสัตย์และรอบคอบ ซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้อื่น ๆ เพื่อปันส่วนอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับใช้คนนั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังทำดังนี้ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน แต่ถ้าผู้รับใช้คนนั้นคิดว่า ‘นายจะมาช้า’ และเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย นายของผู้รับใช้คนนั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ นายจะแยกเขาออกให้ไปอยู่กับพวกคนที่ไม่ซื่อสัตย์
    ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อมและไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก แต่ผู้รับใช้ที่ไม่รู้ใจนาย แม้ทำสิ่งที่ควรจะถูกเฆี่ยน ก็จะถูกเฆี่ยนน้อย ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ตื่นเฝ้าตลอดคืน

    การเดินทางแห่งความเชื่อเพื่อติดตามพระคริสตเจ้า จะไม่ใช่การเดินทางภายใต้แสงสว่างจนมองเห็นทางได้ชัดเสมอไป ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงให้กำลังใจศิษย์ของพระองค์ไม่ให้พวกเขาหวาดกลัว โดยทรงเตือนใจเขาว่าพระบิดาทรงสัญญาจะประทานพระอาณาจักรให้แก่พวกเขาแล้ว ถ้าเราปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากความโลภในทรัพย์ทางโลก เราจะปรารถนาสวรรค์ และหัวใจของเราจะผูกพันกับสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

    ตัวอย่างที่ดีของความเชื่อในพระคัมภีร์ คือ อับราฮัม และซาราห์ ซึ่งเราได้ยินเรื่องของเขาทั้งสองในบทอ่านที่สองในวันนี้ (ฮบ 11:8) ด้วยความวางใจในคำสัญญาของพระเจ้า ทั้งสองจึงละทิ้งบ้านเรือน และออกเดินทางไปสู่ดินแดนที่เขาไม่รู้จัก พระเจ้าทรงสัญญาว่าเขาจะได้ครอบครองดินแดน และมีบุตรหลานจำนวนมาก แต่เขาต้องทนรออยู่นานหลายปีอย่างมืดมนเพราะเขาไม่มีบุตรแม้แต่คนเดียว แม้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าตรงกันข้ามกับคำสัญญา แต่เขาก็ยังมีความหวังที่เกิดจากความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้า ความเชื่อช่วยให้เขาเดินหน้าต่อไปผ่านความมืด ไปสู่อนาคตตามพระสัญญา

    อุปมาในบทอ่านวันนี้เป็นเรื่องของผู้รับใช้ซื่อสัตย์ที่ได้รับรางวัล เพราะเขาเพียรพยายามตื่นเฝ้าท่ามกลางความมืดเวลากลางคืน

    ระหว่างการอพยพ ประชาชนชาวยิวมีเสาเมฆนำทางเวลากลางวัน และเสาเปลวไฟในเวลากลางคืน การเดินทางแห่งความเชื่อจะได้รับแสงสว่างเพียงพอจากการประทับอยู่ของพระเจ้าเพื่อนำทางเราผ่านกลางคืน ในขณะที่เมฆที่นำทางในเวลากลางวันหมายถึงแผนการอันเร้นลับของพระเจ้าที่เราต้องยอมรับทั้งที่ไม่เข้าใจ ถ้าเรามองดวงอาทิตย์โดยตรง แสง อาทิตย์จะทำให้ตาของเรามืด ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของพระเจ้าผู้ที่เรามองไม่เห็นก็เจิดจ้าเกินความเข้าใจที่มีขีดจำกัดของเรา ดังนั้น จึงกลายเป็นความมืดสำหรับเรา

    บุคคลที่อยู่ท่ามกลางความมืดแห่งความเชื่อจะพบว่าแทบไม่สามารถรวบรวมสมาธิในการภาวนาได้ หรือไม่สามารถกระตุ้นจิตใจด้วยข้อคิดหรือภาพลักษณ์ใด ๆ เขาไม่ได้รับความบรรเทาใจใด ๆ เลย และความรู้สึกภายในก็แห้งแล้ง บางครั้ง เขาอาจได้รับแรงกระตุ้นมากมายที่ขัดแย้งกันจนทำให้สับสน หรือถูกผลักดันเข้าสู่วังวนของการประจญ โดยเฉพาะการประจญที่นำไปสู่ความสิ้นหวัง ความโกรธ หรือความลามก แต่พระเจ้าประทับอยู่ในคืนมืดแห่งความเชื่อ มากเท่ากับประทับอยู่ในความสว่างของกลางวัน ชีวิตจิตดำเนินคู่ขนานไปกับชีวิตที่เราเห็นในธรรมชาติทางวัตถุ เวลาทางโลกก็มีกลางคืนมากเท่ากับกลางวัน ตาของเราจำเป็นต้องพักจากแสงสว่าง พืชเจริญงอกงามถ้ามีแสงสว่างและความมืดในระดับที่สมดุล ดอกสโนว์ดรอปต้องการแสงน้อยกว่าดอกแดฟโฟดิล ซึ่งก็ต้องการแสงน้อยกว่าดอกทิวลิป พืชบางชนิดต้องการความมืดมากกว่าแสงสว่าง เซลล์ของมันต้องการพักผ่อนมากกว่าทำงาน

    โทมัส เมอร์ตัน สังเกตว่าแสงสว่างยามกลางวันช่วยให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตรอบตัวเรา แต่เมื่ออยู่ท่ามกลางความมืดในเวลากลางคืนเท่านั้นเราจึงมองเห็นดวงดาวที่อยู่ห่างไกล ความมืดยืดระยะสายตาของเรา เราจะพอใจยอมรับความพึงพอใจระดับพื้น ๆ ได้โดยง่าย เว้นแต่พระเจ้าจะทรงทำให้เราสะดุ้ง และกระตุ้นให้เราปรารถนาในสิ่งที่เราอาจไขว่คว้ามาได้แม้จะอยู่ไกลสุดสายตา ถ้าเราเข้าใจพระเจ้าได้อย่างถ่องแท้ พระองค์ย่อมไม่ยิ่งใหญ่พอจะตอบสนองความปรารถนานิรันดรของหัวใจเราได้

    ด้วยความเชื่อท่ามกลางแสงสว่าง เราเรียนรู้มากขึ้นว่าพระเจ้าทรงเป็นอย่างไร และด้วยความเชื่อท่ามกลางความมืด เราเรียนรู้ที่จะก้าวไปข้างหน้าในความไม่รู้ นั่นคือเรากำลังเรียนรู้ขีดจำกัดของความรู้ของเรา ในเวลาเช่นนั้น เราจะเรียนรู้มากขึ้นว่าพระเจ้าไม่ทรงเป็นอย่างไร มากกว่าเรียนรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นอย่างไร มีผู้บำเพ็ญฌานหลายคนได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความมืด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นของความเชื่อ ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง คือ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน ซึ่งได้แนะนำไว้ว่า “จงอย่าพึงพอใจแต่เพียงสิ่งที่ท่านเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้า จงบำรุงเลี้ยงตัวท่านเองด้วยสิ่งที่ท่านไม่เข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้า อย่าตั้งความสุข หรือความยินดีของท่านบนสิ่งที่ท่านได้ยิน หรือรู้สึกเกี่ยวกับพระองค์ แต่จงตั้งไว้บนสิ่งที่ท่านไม่รู้สึก หรือไม่ได้ยิน ... เราเข้าใจน้อยเท่าไร เรายิ่งเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นเท่านั้น”
    อับราฮัม และซาราห์ ออกเดินทางผ่านดินแดนที่เขาไม่รู้จักด้วยความเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงบอกศิษย์ของพระองค์ไม่ให้กลัว เพราะพระบิดาพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่พวกเขาแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับความมืด พระองค์ทรงบอกให้เราจุดตะเกียงให้สว่างไว้เสมอ และแต่งตัวเตรียมพร้อมสำหรับทำงาน เราจุดตะเกียงของเราไว้ได้ด้วยการพยายามสวดภาวนา เราแต่งตัวเตรียมพร้อมได้เมื่อเราแสดงความรักต่อบุคคลรอบข้างด้วยการรับใช้ ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด หัวใจของท่านก็อยู่ที่นั่น

ข้อรำพึงที่สอง
พระเจ้าผู้ทรงคาดผ้ากันเปื้อน

    พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงคาดผ้ากันเปื้อน! พระเยซูเจ้าทรงวาดภาพพระเจ้าของข้าพเจ้า โดยทรงพลิกบทบาทมาเป็นนายที่รับใช้บ่าว การกระทำของพระเยซูเจ้าส่งเสียงดังกว่าพระวาจาของพระองค์ เพราะเมื่อพระองค์ทรงเรียกอัครสาวกมาชุมนุมเพื่อรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้ล้างเท้าให้เขาและรับใช้เขา แผ่นปังศีลมหาสนิทที่รอข้าพเจ้าอยู่ในวันนี้เป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์ยังปรารถนาจะรับใช้ข้าพเจ้า และค้ำจุนขาที่อ่อนล้าของข้าพเจ้าให้ก้าวเดินจาริกแสวงบุญต่อไป พระเจ้าของข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าหวาดกลัว หรือทำให้ข้าพเจ้ากลัวบาปจนไม่กล้าทำอะไร พระองค์ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่กดขี่รังแก ผู้จดจำแต่ความผิดพลาดในชีวิตของข้าพเจ้า และพระองค์ไม่ใช่เจ้านายที่เข้มงวด และตะคอกใส่เมื่อข้าพเจ้าทำงานไม่เรียบร้อย พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงมีทัศนคติที่ดีต่อข้าพเจ้า พระองค์พอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรแก่ข้าพเจ้า และไม่ใช่อะไรที่ด้อยกว่านั้น พระองค์ทรงยินดีเมื่อทรงพบว่าข้าพเจ้าเตรียมตัวพร้อมสำหรับต้อนรับพระองค์ ... และพร้อมจะรับสิ่งที่พระองค์จะประทานให้ข้าพเจ้า

    พระเจ้าผู้ทรงคาดผ้ากันเปื้อนของข้าพเจ้า ทรงพลิกระเบียบแบบแผนที่ชาวโลกถือว่าฉลาด พระองค์ไม่วัดความยิ่งใหญ่ ความร่ำรวย หรือยศศักดิ์ ชื่อเสียง หรือเกียรติยศที่เราได้รับ ความยิ่งใหญ่อยู่ที่การรู้ว่าเราควรรับของประทานจากพระเจ้าอย่างไร และสิ่งใดก็ตามที่เราได้รับมาเปล่า ๆ เราควรมอบให้ผู้อื่นต่อไปอีกทอดหนึ่งด้วยความยินดี

    เป็นบุญของศิษย์ที่เรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับใช้ ... ผู้รับใช้ที่มีใจสุภาพถ่อมตนมากพอ จนยอมให้พระเจ้าแสดงความใจกว้าง “เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน”

บทรำพึงที่ 2

“ฝูงแกะน้อย ๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน”

    ลูกาจงใจบอกว่าพระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ระหว่าง “การเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม” และเราก็เดินตามพระองค์มาตลอดหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา พระเยซูเจ้าเสด็จไปสู่ความตาย ไปสู่ “การจากไป” ของพระองค์ (ลก 9:51) ในบางครั้ง เราสามารถคาดเดาอนาคตได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโหร เรารู้ดีว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ... พระเยซูเจ้า และเพื่อน ๆ ของพระองค์ก็เป็นเช่นนี้ระหว่างสองสามสัปดาห์ก่อนเทศกาลปัสกา พระองค์และศิษย์มองเห็นการเผชิญหน้ากับผู้นำทางศาสนาที่เป็นศัตรูที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ในขณะที่ประชาชนก็ผิดหวังและหมดความสนใจในตัวบุคคลที่ไม่ยอมเป็นพระเมสสิยาห์ตามวิถีทางของพวกเขา คือพระเมสสิยาห์ผู้เอาชนะอุปสรรคทั้งปวงได้ สัญญาณทุกอย่างปรากฏชัดเจน ความล้มเหลวใกล้เข้ามาแล้ว ... ความล้มเหลวของแผนการหนึ่ง ความล้มเหลวของชีวิตหนึ่ง...

    แต่กระนั้น ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ พระเยซูเจ้ายังทรงประกาศว่า “ฝูงแกะน้อย ๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย” ... ศิษย์กลุ่มน้อยนี้ช่างอ่อนแอยิ่งนัก พระเยซูเจ้าทรงปลอบโยนเขาด้วยวลีที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักว่า “ฝูงแกะน้อย ๆ”...

    แต่วลีในพระคัมภีร์นี้มีนัยสำคัญทางเทววิทยา ภาพลักษณ์ของฝูงแกะที่มีผู้เลี้ยงแกะคอยนำทางหมายถึงพระเจ้าผู้ทรงรัก และปกป้องประชากรเลือกสรรของพระองค์ (ปฐก 48:15; ยรม 31:10; อสค 34; อสย 40:11, 49:9-10; ฮชย 4:16) “พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสนสิ่งใด พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้านอนลงบนทุ่งหญ้าเขียวสด” (สดด 23)...

    ดังนั้นเราจึงได้ยินคำยืนยันที่อาจหาญที่สุดจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ ว่าศิษย์กลุ่มเล็กที่อ่อนแอ และยากไร้ ไม่มีอิทธิพล หรือวัฒนธรรม ปราศจากความคุ้มครอง หรือความกล้าหาญนี้ คือ “อิสราเอลใหม่” ประชากรใหม่ของพระเจ้า ... ฝูงแกะน้อย ๆ เอ๋ย อย่ากลัวเลย...

    วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงย้ำประโยคเดียวกันนี้กับข้าพเจ้า ในยามที่ข้าพเจ้าถูกทดลอง...

    วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงย้ำประโยคเดียวกันนี้กับพระศาสนจักรร่วมสมัย ในยามที่พระศาสนจักรกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์...

    ข้าพเจ้าฟัง ... ข้าพเจ้าฟังอีกครั้งหนึ่ง - ให้ประโยคนี้ก้องกังวานในหัวใจของข้าพเจ้า...

    ทำไมเราจึงไม่ควรกลัว ... “เพราะพระบิดาของท่านพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่ท่าน” เมื่อชีวิตของท่านเป็นชีวิตในพระเจ้า ชีวิตของท่านจึงมีความหมาย ... แม้จะดูเหมือนว่าท่านกำลังล้มเหลว แม้ว่าเพื่อน ๆ ตีจากท่านไป ศัตรูกดขี่ข่มเหงท่าน ทุกคนเข้าใจท่านผิด ... แม้เมื่อท่านรู้สึกอยากจะพูดว่า “พระเจ้าของข้าพเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทอดทิ้งข้าพเจ้า”...

    ทั้งชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นการประกาศว่าพระเจ้าประทานพระอาณาจักรของพระองค์ให้แก่ “คนยากจน” แก่คนอ่อนแอ ... แม้แต่นักธุรกิจที่ล้มละลาย แม้แต่คู่สมรสที่หย่าร้าง หรือสามี หรือภรรยาที่ถูกทรยศ แม้แต่โสเภณีที่อยู่ในวัยร่วงโรย แม้แต่อาชญากรที่ต้องโทษประหาร ... แม้แต่คนบาปที่ปฏิเสธพระอาจารย์ของเขา แม้แต่บุคคลที่เคยละทิ้งพระองค์ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด – คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสิ้นหวัง ... พระอาณาจักรของพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เราไขว่คว้ามาได้ด้วยกำลังของเราเอง แต่เป็นของขวัญที่พระบิดา “พอพระทัย” จะประทานแก่เรา...

จงขายทรัพย์สินของท่านและให้ทาน จงหาถุงเงินที่ไม่มีวันชำรุด จงหาทรัพย์สมบัติที่ไม่มีวันหมดสิ้นในสวรรค์ ที่นั่นขโมยเข้าไม่ถึง และแมลงขมวนไม่ทำลาย เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย
    นี่คือบทสรุปของคำสั่งสอนทั้งหมดที่เราได้ยินมาข้างต้น ... ขอให้เราระลึกถึงเรื่องของเศรษฐีที่ดินในบทอ่านเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ใดวางใจในพระเจ้า เขาจะพบว่าสมบัติของโลกนี้มีคุณค่าน้อย ... ถ้าเป็นความจริงเช่นนั้น เราจงแบ่งปัน เราจงให้ เราจงรัก โดยไม่หวังกำไร และโดยปราศจากเงื่อนไขเถิด...

    จงให้หัวใจของท่าน เวลาของท่าน สมบัติของท่าน ... ทุกสิ่งเป็นเพียงความเปล่า ... ไม่มีสิ่งใดจริงแท้ นอกจากความรัก

    ใจของท่านอยู่ที่ใด ... ท่านรักหรือไม่...

ท่านทั้งหลายจงคาดสะเอว และจุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้ จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับมาจากงานสมรส เมื่อนายมาและเคาะประตู จะได้เปิดรับ

    เมื่อตัดขาดจากคุณค่าและความสำเร็จที่เป็นภาพลวงตาแล้ว หัวใจของเราจะพบทรัพย์สมบัติของตน จะขับไล่ความกลัวทั้งมวลออกไป และมีความสุข ... อะไรคือเคล็ดลับของความยินดีอันสงบเยือกเย็นแต่จริงแท้ แม้ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ... พระเยซูเจ้าทรงแนะนำให้เราคิดว่าชีวิตของเราเหมือนกับการพบกันด้วยความยินดีของคู่รัก กล่าวคือ เราเตรียมใจของเราสำหรับต้อนรับใครบางคนที่เรากำลังรอคอยอย่างตื่นเต้น...

    พระเจ้าเสด็จมา ... พระองค์ทรงเข้ามาใกล้ ... พระองค์ประทับอยู่ที่นี่แล้ว...

    พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาเมื่อถึงกาลอวสาน พระองค์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์...

    “มารานาธา” เชิญเสด็จมาพระเจ้าข้า ... สำหรับเราแต่ละคน วันตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเราอาจมองได้ว่าเป็นการพบกันแบบหน้าต่อหน้ากับบุคคลผู้ที่เรารัก ... ดังนั้น นักบุญเทเรซาแห่งอาวิลา จึงคิดว่านาทีสุดท้ายของเธอบนโลกนี้คือนาทีที่ “ผ้าคลุมหน้าแห่งการพบกันอย่างอ่อนโยนขาดสะบั้น”

    แม้ในเวลานี้ เมื่อเรายังอยู่ใน “ยามกลางคืน” “ภายใต้ผ้าคลุมหน้า” และแม้ว่าทรงซ่อนเร้นพระองค์ แต่พระเจ้าก็เสด็จมาหาเราอยู่เสมอมิได้ขาด ข้อความในพระวรสารเตือนเราถึง “การเสด็จมา” ของพระเจ้านับครั้งไม่ถ้วน ... แต่บ่อยครั้งเราไม่พบพระองค์ เพราะเรามัวแต่อยู่ “ที่อื่น” และไม่ได้ “ตื่นเฝ้า”...

ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะ และจะรับใช้เขาด้วย ไม่ว่านายจะมาเวลาสองยาม หรือสามยาม ถ้าพบผู้รับใช้กำลังทำเช่นนี้ ผู้รับใช้เหล่านั้นก็เป็นสุข

    นี่คือความสุขแท้ หรือบุญลาภข้อใหม่ ผู้ที่ตื่นตัวเฝ้าระวังย่อมเป็นสุข...

    หัวใจของเราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพระเจ้า เราจะสงสัยอีกหรือว่าทำไมพระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถเติมเต็มความปรารถนาทั้งปวงของหัวใจเราได้...

    แน่นอน ความรักฝ่ายโลกของเราก็ต้องเป็นความรักที่เข้มข้น เหมือนเป็นสัญลักษณ์แรก และเป็นการทำให้ “ความรักอันยิ่งใหญ่” กลายเป็นจริงบนโลกนี้ สามีต้องรักภรรยา และภรรยาต้องรักสามี เพราะ “ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร” (อฟ 5:32) ... การสมรสเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งว่าพระเจ้าทรงสมรสกับมนุษยชาติในพระเยซูคริสตเจ้า ถ้าเราโชคดีมีคนที่เรารัก และมีคนที่รักเรา ขอให้เรายินดีเถิด และขอให้เราอย่าหยุดแสดงความรักของเรา “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า” ... แต่แม้ว่าเรารู้สึกว่าตนเองประสบความล้มเหลว ก็จงใส่ความรักนั้น “ไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”

    เรา “ได้รับเชิญไปร่วมโต๊ะอาหารกับองค์พระผู้เป็นเจ้า” พระองค์ทรงต้องการรับใช้เรา และทำให้เราอิ่ม “ดูเถิด เรากำลังยืนเคาะประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงของเรา และเปิดประตู เราจะเข้าไปกินอาหารร่วมกับเขา เขาจะกินอาหารร่วมกับเรา” (วว 3:20)...

    นั่นไง เสียงเคาะประตู ... เราจงรีบเปิดประตู พระองค์อยู่ที่นั่นแล้ว...

พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาเวลาใด เขาคงไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตน ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย

    “ขโมย” เป็นอีกภาพลักษณ์หนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เป็นตัวอย่าง ... เมื่อพระองค์ตรัสถึงขโมย “งัดแงะเข้ามาในบ้าน” พระองค์ทรงบอกให้เราเข้าใจว่า “การเสด็จมา” ของพระองค์มีลักษณะที่เหนือความคาดหมาย น่าแปลกใจ และไม่อาจเข้าใจได้ ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราด้วยว่าเรากำลังตกอยู่ “ในอันตราย” ถ้าเราไม่ตื่นและเฝ้าระวัง เราต้องสลัดความงัวเงียทิ้งไป นี่คือการรอคอยอันยาวนานในเวลากลางคืน และลมแห่งความเบื่อหน่ายทำท่าว่าจะดับเปลวไฟในหัวใจของเรา...

    ข้าพเจ้า “ตื่นอยู่” หรือ “กำลังหลับ”...

เปโตรทูลว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ตรัสอุปมานี้สำหรับพวกเรา หรือสำหรับทุกคน” องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ใครเล่าเป็นผู้จัดการที่ซื่อสัตย์และรอบคอบ ซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้อื่น ๆ เพื่อปันส่วนอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับใช้คนนั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังทำดังนี้ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน”

    นี่คืออุปมาอีกเรื่องหนึ่งในหัวข้อเดิม คือ “การตื่นเฝ้า” ซึ่งพระองค์ตรัสแก่ผู้นำชุมชนคริสตชนโดยเฉพาะ พวกเขาเป็น “ผู้จัดการ” และไม่ใช่ “นาย” ... พวกเขาต้องมีคุณสมบัติสองประการ คือ ความซื่อสัตย์ และความห่วงใย ... เขามีบทบาทเพียงอย่างเดียวคือหาอาหารเลี้ยงดูทุกคน! ...

    จากข้อความนี้ ข้าพเจ้าจึงต้องภาวนาเพื่อพระสงฆ์...

    ข้าพเจ้ายังเห็นได้จากอุปมาเรื่องนี้ว่า ผู้นำที่รู้จักรับผิดชอบ ไม่ว่าเป็นผู้นำในสาขาใด ควรมีคุณสมบัติอย่างไร...

แต่ถ้าผู้รับใช้คำนั้นคิดว่า “นายจะมาช้า” และเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย นายของผู้รับใช้คนนั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ นายจะแยกเขาออกให้ไปอยู่กับพวกคนที่ไม่ซื่อสัตย์

    เช่นเดียวกับอุปมาอื่นอีกสามเรื่องเกี่ยวกับ “การรอคอย” พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงความล่าช้า และการเสด็จมาโดยไม่คาดหมาย นายจะใช้เวลานานกว่าจะกลับมา ... เขามาสาย บางทีเขาอาจไม่มาเลยก็ได้ – บางที “การเสด็จมาของพระเจ้า” เป็นเพียงภาพลวงตา ถ้าเช่นนั้น เราจงกิน ดื่ม และสนุกสนานกันเถิด ... แม้ว่าเพื่อจะทำเช่นนั้น เราต้องกดขี่ และวางอำนาจ และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม...

    ขอให้เราสังเกตว่าการประจญที่เกิดขึ้นกับ “ผู้จัดการ” คนนี้อาจเป็นการประจญที่จะเกิดขึ้นกับเปโตร และบรรดาอัครสาวกด้วยก็ได้ ... เราได้รับการเตือนแล้ว ศิลปินยุคกลางไม่ลังเลใจเลยที่จะวาดภาพ หรือแกะสลักรูปของพระสันตะปาปา และพระสังฆราชบนกำแพง หรือประตูทางเข้าอาสนวิหาร ให้อยู่รวมกับคนทั้งหลายที่ต้องตกนรกในวันพิพากษาครั้งสุดท้าย

    นี่เป็นคำเตือนที่น่ากลัวสำหรับเรา ... ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษเบื้องหน้าพระเจ้า...

ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อม และไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก แต่ผู้รับใช้ที่ไม่รู้ใจนาย แม้ทำสิ่งที่ควรจะถูกเฆี่ยน ก็จะถูกเฆี่ยนน้อย ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย

    เรายังอยู่ในหัวข้อเดิมคือ “ความรับผิดชอบ” การพิพากษาจะตัดสินตามระดับความรู้ และจิตสำนึกของเรา เราอาจต้องรับผิดชอบเพียงบางส่วน พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ด้วยความเข้าใจ...

    เราเองก็ควรนำหลักการนี้มาใช้ และตัดสินผู้อื่นด้วยความกรุณา ... และตัดสินตัวเราเองตามความจริง!...