แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบ เทศกาลธรรมดา

ลูกา 12:49-53
    เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ
    ท่านคิดว่าเรามาเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกหรือ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรานำความแตกแยกมาต่างหาก ตั้งแต่นี้ไป คนห้าคนในบ้านหนึ่งจะแตกแยกกัน คนสามคนจะแตกแยกกับคนสองคน และคนสองคนจะแตกแยกกับคนสามคน บิดาจะแตกแยกกับบุตรชาย และบุตรชายจะแตกแยกกับบิดา มารดาจะแตกแยกกับบุตรหญิง และบุตรหญิงจะแตกแยกกับมารดา มารดาของสามีจะแตกแยกกับบุตรสะใภ้ และบุตรสะใภ้จะแตกแยกกับมารดาของสามี

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
เวลาแห่งการทดลอง

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงสัญญากับศิษย์ของพระองค์ว่าทางของพวกเขาจะเป็นทางอันสว่างสดใสด้วยแสงแดดและดอกไม้ ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเตือนว่าพระองค์จะถูกต่อต้าน และเมื่อถึงเวลา พวกเขาก็จะถูกต่อต้านเช่นกัน ก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงส่งศิษย์ 72 คน ออกไปเยี่ยมและมอบสันติสุขให้แก่ทุกบ้าน พระองค์ทรงปรารถนาให้ทุกคนมีสันติสุข แต่พระองค์ทรงรู้ว่าทุกขบวนการย่อมเผชิญกับการต่อต้าน ทุกกระแสก่อให้เกิดการสวนกระแส ผู้ที่ไม่ยอมรับวิถีทางของพระองค์จะต่อต้านอย่างรุนแรง การต่อต้านและความแตกแยกจะเป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อขบวนการนำสันติสุข และความสามัคคีมาให้ ในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ คำเทศน์สองของประกาศกเยเรมีย์ ทำให้เขาถูกโยนลงไปในบ่อน้ำ

    พระเยซูเจ้าตรัสถึงไฟ และน้ำ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของการทดสอบ และการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไฟจะแยกแร่บริสุทธิ์ออกจากวัตถุอื่น ๆ ในเตาหลอม และทำให้สิ่งสกปรกแยกตัวลอยเป็นฝาเหนือเนื้อแยมบริสุทธิ์ น้ำเป็นเครื่องมือชำระล้างสิ่งสกปรก และทำให้สิ่งนั้นสะอาดบริสุทธิ์

    คริสตชนที่เป็นผู้อ่านพระวรสารของลูกา รู้ดีว่าการติดตามพระเยซูเจ้าเป็นงานที่ยาก และต้องเสียสละมาก พวกเขาถูกเบียดเบียน หลายคนต้องเสียใจเพราะคนในครอบครัวปฏิเสธและตัดขาดเขา ไม่มีทางที่ถูกหรือง่ายในการเป็นคริสตชน

    การต่อต้านสามารถนำส่วนที่ดีที่สุดออกมาจากตัวมนุษย์ เราจะเห็นว่าชนกลุ่มน้อยรวมตัวกันเหนียวแน่นอย่างไร ถ้าเขาถูกขอให้ร้องเพลงในวัด ข้าพเจ้ารับรองว่าท่านจะได้ยินเสียงเขาขับร้อง ระหว่างยุคที่คอมมิวนิสต์เบียดเบียนพระศาสนจักร พระสงฆ์คนหนึ่งจากโปแลนด์มาเยือนประเทศไอร์แลนด์ และบอกว่า “เราได้เปรียบที่มีศัตรูที่มองเห็นได้ และท่านเสียเปรียบที่มีศัตรูที่ท่านมองไม่เห็นตัว” ในสังคมของเขา แม้ว่าไม่มีการต่อต้านศาสนาอย่างเป็นทางการ แต่คริสตชนก็ต้องใช้ความกล้าหาญที่จะประกาศยืนยันความเชื่อ และปฏิบัติศาสนกิจ ... แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเขาไปวัด ... กล้าพูดเรื่องการถือความบริสุทธิ์ในความสัมพันธ์ ... สวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนา ... สวดภาวนาในที่สาธารณะ และเข้าร่วมในองค์กรศาสนา แรงเสียดทานอาจมาจากเพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย บุคคลในสังคมเดียวกัน หรือแม้แต่สมาชิกในครอบครัว

    คนทั่วไปอาจอ้างวิทยาศาสตร์ และล้อเลียนผู้มีความเชื่อว่าไร้เดียงสา หลอกง่าย หรือถูกล้างสมอง เขาอาจอ้างเสรีภาพทางความคิด และดูถูกผู้มีความเชื่อว่ายอมเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างในพระคัมภีร์ ... เขาอาจอ้างศาสนสัมพันธ์ และเรียกเราว่าคนหัวโบราณ เพราะเรายึดมั่นในความเชื่อที่ไม่เปลี่ยนไปตามกระแสสังคม

    พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นภาพที่ครอบครัวต้องแตกแยกกันเพราะบางคนต้องการติดตามพระองค์ ความแตกแยกในครอบครัวทำให้นึกถึงระบบการออกเสียงในรัฐสภาประชาธิปไตย เพราะย่อมถึงจุดหนึ่งที่เราจำเป็นต้องยืนขึ้นและแสดงความคิดเห็นของเรา ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งทำให้รัฐบาลแสดงส่วนที่ดีที่สุดของตนออกมา ไม่มีสิ่งใดมีประสิทธิภาพมากกว่าการต่อต้านที่จะทำให้เรากล้าแสดงจุดยืนทางศาสนา

    พระเยซูเจ้าทรงแสดงอารมณ์เมื่อพระองค์ตรัสถึงการเผชิญหน้ากับไฟ และน้ำในพันธกิจของพระองค์ ชาวไอริชส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก ดังนั้น คริสตชนชาวไอริชจึงไม่มีความกระตือรือร้น จนการถือศาสนากลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ และไร้อารมณ์ คนมาร่วมพิธีกรรมโดยนั่งม้านั่งข้างหลัง และคอยมองนาฬิกา เราเอาพระจิตเจ้าไปซ่อนไว้ที่ไหน ความคลั่งไคล้และการร้องเพลงเชียร์ข้างสนามฟุตบอลหายไปไหน การต่อต้านกำลังทำให้ขนาดขององค์กรเล็กลง แต่หวังว่าเรากลายเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และทุ่มเทมากขึ้นในระยะยาว

ข้อรำพึงที่สอง
ประสบการณ์ความขัดแย้ง

    พระเยซูเจ้าทรงมีอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันภายใน พระองค์ทรงรู้สึกว่าอยากส่งไฟเปนเตกอสเตจากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์เร็ว ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ทรงรู้สึกลังเลเมื่อคิดถึงเนินกัลวารีโอ ซึ่งดูเหมือนเป็นวังน้ำวนแห่งความตายที่พระองค์ต้องกระโจนลงไป ภาพลักษณ์ของไฟ และน้ำ แสดงให้เห็นความรู้สึกภายในของพระองค์ หนังสือบุตรสิราบอกเราว่า สิ่งที่ตรงกันข้ามสามารถเสริมพลังให้แก่กันอย่างไร “ทุกสิ่งดำเนินไปเป็นคู่ที่ตรงกันข้ามกัน และพระองค์ไม่ทรงสร้างสิ่งใดที่บกพร่อง สิ่งหนึ่งผนึกกำลังกับอีกสิ่งหนึ่ง ...” (บสร 42:24-25)

    ถ้าสังเกตโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เราจะเห็นว่าในกลางคืนก็มีจุดเริ่มต้นของกลางวัน และกลางวันก็เติบโตกลายเป็นกลางคืน กลางฤดูหนาวก็มีคำสัญญาของฤดูร้อน และถูกเลือกให้เป็นเวลาสำหรับพิธีกรรมเฉลิมฉลองการเสด็จมาของแสงสว่างมายังโลกของเรา

    และวันกลางฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มอับแสง ถูกเลือกให้เป็นวันฉลองนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ผู้ที่แสงสว่างของเขากำลังจะหรี่ลง บางครั้ง เราจำเป็นต้องเดินไปทางหนึ่งก่อนจะเริ่มรู้สึกว่ามีอีกแรงหนึ่งดึงเราไปในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อเราสัมผัสกับความกลัว เราจึงเข้าใจว่าความกล้าหาญคืออะไร
    และเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความมืดยามค่ำเท่านั้น เราจึงมองเห็นแสงของดวงดาวที่อยู่ไกลลิบได้

    เราเรียนรู้ว่าทุกก้าวที่เราเดินออกจากสิ่งหนึ่งจะนำเราเข้าไปใกล้อีกสิ่งหนึ่งมากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง และทุกครั้งที่เราสัมผัสกับความตายจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตในรูปแบบใหม่

    ประสบการณ์ที่ตรงกันข้ามไม่เพียงดำรงอยู่เคียงคู่กัน แต่สิ่งหนึ่งผนึกกำลังกับอีกสิ่งหนึ่ง และดังนั้น ความเศร้าจึงไม่สามารถกำจัดความยินดีแท้ได้ ความเศร้าสามารถทำให้วิญญาณมีความรู้สึกไวมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถของวิญญาณในการรองรับความยินดี เหมือนกับการพักผ่อนช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในการทำกิจกรรม และช่วงเวลาที่เราอยู่อย่างสันโดษช่วยให้เราทำงานช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้น

    เราอาจตกใจเมื่อรับรู้ว่า แม้เรารักพระเจ้ามาก แต่ก็มีความขุ่นเคืองและความโกรธพระเจ้าฉีดพล่านอยู่ในตัวเรา หรือขณะที่เราคิดว่าเราวางใจในพระเจ้าโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่เราก็อาจรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับวิธีการที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อเรา เราจำเป็นต้องมีความอดทน (และได้รับการชี้นำอย่างฉลาด) เพื่อให้รู้จักพิเคราะห์แยกแยะว่าความขัดแย้งในใจกำลังเปิดเผยอะไรแก่เรา

    ทุกวันนี้ เราคาดหมายว่าจะได้รับคำตอบในทันทีทันใด จนกระทั่งเราไม่มีความอดทนที่จะรอคอยให้อารมณ์ด้านตรงกันข้ามเข้ามาถ่วงดุล แต่ถ้าเราวิ่งหนีห้วงเวลาแห่งความเหงา เราจะไม่มีวันค้นพบความงามของความวิเวกเลย

    ถ้าเราไม่สามารถอยู่ร่วมกับช่วงเวลาที่เราหดหู่ใจได้ เราย่อมพลาดโอกาสที่จะไตร่ตรองความจริงในชีวิตให้ลึกซึ้งมากขึ้น ถ้าเรายืนกรานว่าต้องได้ทุกอย่างตามใจเรา เมื่อนั้น เราย่อมพลาดโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความคิดของผู้อื่น

    พระเยซูเจ้าทรงสัมผัสรับรู้ความรู้สึกตรงกันข้ามกัน ระหว่างความกระตือรือร้นและความกลัว ระหว่างความเร่งด่วนและความกังวลใจ ความรู้สึกด้านหนึ่งอบอุ่นเหมือนไฟ และอีกด้านหนึ่งทำให้สำลักเหมือนน้ำ ศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับประสบการณ์ที่ขัดแย้งกันทำนองนี้ และอันที่จริง แบบแผนพื้นฐานของชีวิตคริสตชนก็คือการมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือความตาย และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า

    ไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนมากกว่านักบุญเปาโล “เราแบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราเสี่ยงกับความตายอยู่เสมอเพราะความรักต่อพระเยซูเจ้า เพื่อให้ชีวิตของพระเยซูเจ้าปรากฏชัดในธรรมชาติที่ตายได้ของเรา” (2 คร 4:10-11)

    การอุทิศตนของคริสตชน จะได้รับพลังจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างสองขั้วที่ตรงกันข้ามเช่นนี้

 
บทรำพึงที่ 2

    วันนี้ เราอ่านพบสามประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัสคือ เรื่องของ “ไฟ” ที่พระองค์ทรงกำลังนำมาสู่โลกนี้ เรื่องของ “การล้าง” ซึ่งพระองค์จะได้รับ ... และ “ความแตกแยก” ที่พระองค์ทรงกระตุ้นให้เกิดขึ้น ... สามประโยคนี้ พระองค์คงตรัสไว้ในเวลาต่างกัน เพราะเราพบได้ในพระวรสารฉบับอื่น ซึ่งไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน (มก 10:38; มธ 10:34, 36)

    แต่เมื่อลูกานำมารวมกัน โดยให้พระเยซูเจ้าตรัสระหว่างการเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เขาเสนอให้เราตีความว่าการสิ้นพระชนม์ การกลับคืนชีพ และการประทานพระจิตเจ้า กำลังใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว...

เรามาเพื่อจุดไฟในโลก

    เราต้องไม่ตีความตามตัวอักษร แต่ต้องมองเห็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ เพราะเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน พระเยซูเจ้าไม่ทรงเห็นชอบกับความปรารถนาของศิษย์ของพระองค์ที่จะเรียกไฟจากฟ้าลงมาเผาหมู่บ้านของชาวสะมาเรีย (ลก 9:54-55) ... แต่ในพระคัมภีร์ ไฟเป็นสัญลักษณ์ของอะไร...

    ไฟเป็นเครื่องหมายของการประทับอยู่ของพระเจ้า โมเสสพบพระยาห์เวห์ในพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟในทะเลทราย ... ชาวอิสราเอลได้รับพระบัญญัติของพระเจ้าท่ามกลางลมพายุที่มีฟ้าแลบและฟ้าร้องบนภูเขาซีนาย ... ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม สมณะถวายเครื่องบูชาด้วยการเผาด้วยไฟ – ราวกับว่าให้ “ผ่านพระเจ้า” – ก่อนจะคืนกลับมาให้ใช้กินเป็นอาหาร ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความสนิทสัมพันธ์ ... ที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้น คือ ไฟเป็นเครื่องหมายของการพิพากษาของพระเจ้า ซึ่งเผาผลาญคนชั่ว และชำระผู้ที่ซื่อสัตย์ “จำนวนน้อยที่เหลืออยู่” (ปฐก 19:23-29; ลนต 10:2; อมส 1:4, 7; อสย 66:15-16; อสค 38:22, 39:6) ... ลูกาหยิบยกเรื่อง “การพิพากษาด้วยไฟ” ขึ้นมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง (ลก 3:9-17, 9:54, 17:29)...

    แต่สำหรับลูกา ความหมายแรกของไฟคือ พระจิตของพระเจ้า ผู้เสด็จมาเผาผลาญอัครสาวกในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:3, 10) ไฟนี้เป็นไฟฝ่ายจิตที่ไม่มีวันดับ ส่องสว่างไปทั่วทั้งโลก เป็นการประทับอยู่อันลุกร้อนของพระผู้กลับคืนชีพ ไฟนี้เผาหัวใจของศิษย์ที่เดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส เมื่อเขาฟังพระเยซูเจ้าตรัสสอน แม้ว่าในขณะนั้นเขายังจำพระองค์ไม่ได้ก็ตาม (ลก 24:32, 49; กจ 3:44)

เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ

    พระเยซูเจ้าปรารถนาจะประทานพระจิตเจ้าให้แก่ชาวโลก พระองค์ตรัสว่านี่คืองานหนึ่งเดียวของพระองค์ “เรามาเพื่อการนี้” ขอให้เรามองว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “บุรุษผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา” ทรงมีโครงการใหญ่อยู่ในพระทัย ... พระเยซูเจ้าทรงลุกร้อนด้วยความปรารถนายิ่งใหญ่หนึ่งเดียว คือ พระองค์ทรงต้องการฟื้นฟูโลกขึ้นมาใหม่ทั้งโลก...

    มนุษย์ทุกวันนี้รู้สึกผิดหวังกับภาพลวงตาบ่อยครั้ง แต่พระเยซูเจ้ายังคงเป็นพลังที่ช่วยสร้างความกระตือรือร้นครั้งใหม่ให้หลาย ๆ คน ... แม้ขณะที่กำลังทำงานที่ซ้ำซากจำเจ เราสามารถทำให้ “เปลวไฟรักทรงชีวิต” ลุกโชนขึ้นได้...

    อนิจจา ในพวกเรามีใครบ้างที่ไม่เคยดับไฟของพระจิตเจ้าในบางวัน ... พระวรสารรบกวนจิตใจของเรา ... และอาจนำเราไปไกลเกินกว่าที่เราอยากจะไป ... ดังนั้น เราจึงดับไฟนั้นเสีย ... ไฟจากพระวาจาที่ลุกร้อน และกวนใจเรา...

เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมาก จนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ

    คำว่า “การล้าง” ในที่นี้ (baptisma ในภาษากรีก) หมายถึงการจุ่มตัวในน้ำ หรือการอาบน้ำ ในยุคของลูกา ศีลล้างบาปไม่ได้หมายถึงการหยดน้ำสองสามหยดลงบนหน้าผากเหมือนกับในพิธีโปรดศีลล้างบาปในยุคสมัยของเรา แต่เป็นการจุ่มทั้งตัวลงในบ่อน้ำ ดังนั้น จึงควรแปลประโยคนี้ว่า “เราต้องถูกจุ่มทั้งตัวลงในน้ำ”

    ประโยคนี้ก็เป็นภาษาสัญลักษณ์เช่นกัน พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงพิธีกรรมบางอย่าง พระองค์ทรงคิดถึงพระทรมานของพระองค์ การอาบพระโลหิต – หรือความเจ็บปวดทรมาน และความตายที่เหมือนน้ำท่วม ซึ่งในไม่ช้าจะกลืนกินพระองค์เหมือนกับคนใกล้จมน้ำที่ถูกคลื่นโยนไปมาในทะเล ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นทุกข์กังวลใจกับความคิดนี้ แต่ทรงรู้ว่าเหตุการณ์นี้ต้องเกิดขึ้น “เราต้อง ...” เป็นคำที่พระองค์ใช้เสมอเมื่อตรัสถึงความตายบนไม้กางเขน ซึ่งจะเป็นหนทางให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จเป็นความจริง และเป็นแผนการที่เรามนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยหลักเหตุผลของเรา

    เมื่อลูกานำเรื่องของ “การประทานไฟแห่งพระจิตเจ้า” มารวมกับ “การจุ่มตัวในความตาย” เขากำลังเน้นว่าความรอดพ้นของมนุษย์ทำให้พระเยซูเจ้าต้องทนทรมานอย่างสาหัสเพียงใด...

    ดังนั้น เราแปลกใจหรือที่ชีวิตคริสตชนของเราเรียกร้องให้เรายอมเสียสละบ้าง “เราจงมีมานะวิ่งต่อไปในการแข่งขัน ซึ่งกำหนดไว้สำหรับเรา จงเพ่งมองไปยังพระเยซูเจ้า ... ผู้ทรงอดทนต่อการคัดค้านเช่นนี้ของคนบาป” (ฮบ 12:1-4) สำหรับ ลูกา ผู้เป็นศิษย์ของเปาโล ศีลล้างบาปมีความหมายลึกกว่าที่คนร่วมสมัยของเขาคิด “เราทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปเดชะพระคริสตเยซู ก็ได้รับศีลล้างบาปเข้าร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย ดังนั้น เราถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระองค์อาศัยศีลล้างบาป เพื่อว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:3-4)…

    เราทำให้ศีลล้างบาปด้อยคุณค่าลงหรือเปล่า...

    เมื่อไตร่ตรองพระทรมานของพระเยซูเจ้า ขอให้เราถามตนเองด้วยคำถามของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ว่า “คริสตชนทั้งหลาย ท่านได้ทำอะไรกับศีลล้างบาปของท่าน ... เป็นไปได้อย่างไรที่ชีวิตของท่าน ในฐานะคริสตชนชายหรือหญิง แสดงให้เห็นแต่เพียงความเข้าใจตื้น ๆ ประสามนุษย์ในคำว่า “ผลิบาน (blossoming)” หรือ “บรรลุผล (fulfilment” ... “เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ”...

    แต่ชีวิตของคริสตชนที่รับศีลล้างบาปแล้วยังเป็น “การผลิบาน” และ “การบรรลุผล” ด้วย เพราะเรารักจนถึงที่สุดด้วยความรักที่ยอมพลีทุกสิ่งทุกอย่าง ... ชีวิต “ในพระคริสต์” ทำให้แม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนไร้สาระก็มีความหมาย กล่าวคือ ไม้กางเขนซึ่งเป็นเครื่องหมายของการกำจัด ... การทำลาย ... ความล้มเหลว ... พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงทำให้กลายเป็นเครื่องหมายเชิงบวกของการบรรลุผล ... ของการเสียสละ ... ของประสิทธิผลสูงสุด ... ในทำนองเดียวกัน ศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการฝัง กลายเป็นเครื่องหมายของชีวิตใหม่ ... ความกังวลใจทั้งปวงที่กำลังท่วมตัวเราอาจกลายเป็น “เสียงเรียก” ความเจ็บปวดของเราจะเปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิง ถ้าเรารับความเจ็บปวดนั้นไว้ในความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า “บัดนี้ ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของข้าพเจ้า เพื่อพระกายของพระองค์คือพระศาสนจักร” (คส 1:24)...

ท่านคิดว่าเรามาเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกหรือ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรานำความแตกแยกมาต่างหาก

    สันติภาพเป็นหนึ่งในพระพรที่ชาวอิสราเอลรอคอยมากที่สุดจากพระเมสสิยาห์ (อสย 9:5; ศคย 9:10; ลก 2:14) แต่การเทศน์สอน และการกระทำของพระเยซูเจ้า กลับนำไปสู่ปฏิกิริยาอันรุนแรงจากผู้ต่อต้านพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัว พระองค์ทรงรู้สึกว่าพระองค์ถูกสะกดรอยติดตามจากบุคคลรอบตัว แต่แทนที่จะกลัว และยุติกิจกรรม พระองค์กลับก้าวไปหาความตายด้วยความกล้าหาญอย่างน่าชมเชย และพระองค์ทรงประกาศแก่มิตรสหายด้วยว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับการต่อต้านเช่นนี้เหมือนกัน ... พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่บางฉบับ ถึงกับอ้างว่าพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดอยู่ใกล้เรา เขาอยู่ใกล้ไฟ”...

    เช่นเดียวกับคนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้า เราก็ฝันหาสันติภาพ และอยากอยู่ท่ามกลางความปรองดอง ซึ่งทำให้จิตใจของเราได้พักผ่อน ความปรองดองระหว่างชายและหญิง ระหว่างสามีและภรรยา ระหว่างบิดามารดาและบุตร ระหว่างคนต่างชนชั้น ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ระหว่างมนุษย์และพระเจ้า สันติภาพ หรือ Shalom คือความปรารถนาที่ชาวยิวใช้ทักทายกัน เป็นความจริงที่สันติภาพ คือ อุดมคติที่รวมไว้ด้วยทุกสิ่งที่เราปรารถนา...

    ถ้าเช่นนั้น เหตุใดพระเยซูเจ้าจึงดูเหมือนว่าทรงเทศน์สอนให้เกิดความแตกแยก...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นสันติภาพของโลกนี้มิใช่หรือ...

    ทำไมจึงเกิดความแตกแยกไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด...

    อะไรคือไฟที่จะเผาโลกนี้...

    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงกำลังนำสันติสุขมาให้ “สันติสุขแก่มนุษย์ผู้มีน้ำใจดี” แต่ไม่ใช่สันติสุขที่เกิดขึ้นโดยง่าย ... “เราให้สันติสุขกับท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้” (ยน 14:27)

    มีสันติภาพที่ลวงตา มี “ความปลอดภัย” ที่อันตราย ซึ่งหลอกให้เราตายใจ ซึ่งเกิดจากการประนีประนอม และซ่อนการกดขี่อย่างรุนแรง นี่คือสิ่งตรงกันข้ามกับสันติสุข ประกาศกหลายคนก่อนยุคพระเยซูเจ้าเคยประณามสันติสุขจอมปลอมเหล่านี้ ซึ่งปราศจากกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม หรือศาสนา “ตั้งแต่ประกาศกถึงสมณะ ทุกคนฉ้อฉล เขารักษาแผลให้ประชากรของเราเพียงเล็กน้อย กล่าวว่า ‘สันติสุข สันติสุข’ เมื่อไม่มีสันติสุขเลย” (ยรม 8:10-11, 6:13-14, 14:13-16, 23:16-22; อสค 13:8-16; มคา 3:5)...

ตั้งแต่นี้ไป คนห้าคนในบ้านหนึ่งจะแตกแยกกัน คนสามคนจะแตกแยกกับคนสองคน และคนสองคนจะแตกแยกกับคนสามคน บิดาจะแตกแยกกับบุตรชาย และบุตรชายจะแตกแยกกับบิดา มารดาจะแตกแยกกับบุตรหญิง และบุตรหญิงจะแตกแยกกับมารดา มารดาของสามีจะแตกแยกกับบุตรสะใภ้ และบุตรสะใภ้จะแตกแยกกับมารดาของสามี”

    ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงบังคับคนร่วมสมัยของพระองค์ให้ประจันหน้ากับทางเลือกแท้จริง คือเราต้องเลือกข้าง ... เลือกว่าจะอยู่ข้างเดียว หรือคนละข้างกับพระเยซูเจ้า และความเชื่อในพระอาจารย์จะต้องมาก่อนความผูกพันในครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นความผูกพันที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด...

    ในยุคของลูกา พระศาสนจักรเป็นชนกลุ่มน้อยในโลกของคนต่างศาสนา และต้องทนทุกข์กับการแยกตัวระหว่างผู้มีความเชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อ...

    ในปัจจุบัน เราก็สังเกตเห็นได้ว่าถ้อยคำของพระเยซูเจ้าเป็นความจริงอย่างไร ... “ลูก ๆ ของฉันไม่ยอมปฏิบัติศาสนกิจใด ๆ เลย ... สองคนนั้นปฏิเสธที่จะแต่งงาน ... เขาไม่ต้องการให้ลูกของเขารับศีลล้างบาป ... แทบไม่มีครอบครัว คริสตชนใดในโลกตะวันตกที่รอดพ้นจากความขัดแย้งที่พระเยซูเจ้าทรงเคยประกาศไว้ ครอบครัวคริสตชนในประเทศของเราปลอดภัยจากความขัดแย้งเช่นนี้หรือ – และจะปลอดภัยอีกนานเท่าไร ... ในกรณีเช่นนี้ เรามักอยากกล่าวโทษคนอื่นว่า “ถ้าพระศาสนจักรทำอย่างนี้ ... ถ้าครูอาจารย์สั่งสอนกันอย่างนี้ ... ถ้าฉันทำอย่างนี้ ...”

    เราคงเข้าใจผิด ถ้าคิดว่านี่เป็นปัญหาใหม่ ... ตั้งแต่ 800 ปี ก่อนสมัยของพระคริสตเจ้า ประกาศกมีคาห์ก็บรรยายถึงการกบฏของบุตรต่อบิดามารดาว่าเป็นปัญหาใหญ่ในยุคของเขาแล้ว (มคา 7:6) และวรรณกรรมประเภทวิวรณ์ที่เขียนขึ้นในยุคของพระเยซูเจ้า ก็ถือว่าความขัดแย้งประเภทนี้เป็น “ความทุกข์ยากครั้งใหญ่” ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะได้รับความรอดพ้น และเป็นการประกาศถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์...

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าภาวนาเพื่อทุกครอบครัวที่แตกแยก ถ้าความเชื่อในพระองค์เป็นทางเลือกที่ยากถึงเพียงนี้ โปรดประทานพระจิตของพระองค์แก่เรา เพื่อให้เรารักษาความเชื่อในพระองค์เถิด...

    “พระเจ้าข้า โปรดทรงจุดไฟแห่งพระจิตของพระองค์ขึ้นในใจกลางของโลกเถิด”...