แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
อิสยาห์ 42:1-4, 6-7; กิจการอัครสาวก 10:34-38; มาระโก 1:7-11

บทรำพึงที่ 1
ความรับผิดชอบร่วมกัน
เราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของสังคม ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่ง

    คุณคงไม่คาดหมายว่าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกาจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องบาป แต่นั่นคือสิ่งที่ ดร. คาร์ล เมนนิงเกอร์ ทำในหนังสือของเขาชื่อ “Whatever Became of Sin?”

    ดร. เมนนิงเกอร์ ไม่สบายใจมากที่เห็นคนที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำเป็นบาปส่วนตัว เขาไม่สบายใจมากยิ่งกว่าเมื่อคนเหล่านี้ไม่ยอมรับว่าตนเองได้ทำบาปทางสังคม

    เมนนิงเกอร์หมายถึงอะไร เมื่อเขาพูดถึงบาปทางสังคม เขาหมายถึงบาปที่กระทำโดยสังคม เขาหมายถึงบาปที่กระทำโดยกลุ่มบุคคล หรือแม้แต่ประเทศชาติ

    ตัวอย่างของบาปทางสังคม คือ การที่คนทั้งเมืองละเลยคนยากจน การสะสมอาวุธกันทั่วประเทศ การทำลายสภาพแวดล้อมกันทั่วโลก

    สิ่งที่น่าวิตกเกี่ยวกับบาปทางสังคมเหล่านี้ก็คือ เมื่อปัจเจกชนเช่นคุณและผม ไม่คิดว่าตนเองต้องรับผิดชอบ เราไม่คิดว่าเรามีความผิดในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น  เราจึงไม่ต้องการยุ่งเกี่ยว ซึ่งแตกต่างมากจากทัศนคติของพระเยซูเจ้าในเรื่องการยอมรับผิดชอบต่อบาปทางสังคม

    เราจะรู้ได้ว่าทัศนคติของพระเยซูเจ้าเป็นอย่างไร เมื่อเราอ่านพระวรสารวันนี้ และถามตัวเราว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงเสด็จลงไปในแม่น้ำจอร์แดน เพื่อให้ยอห์นทำพิธีล้างให้พระองค์

    ยอห์นก็สงสัยเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเขาเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จลงไปในน้ำ มัทธิวบอกเราว่าเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมารับพิธีล้าง “ยอห์นพยายามชักชวนพระองค์ให้เปลี่ยนพระทัย เขาพูดว่า ‘ข้าพเจ้าควรรับพิธีล้างจากท่าน แต่ท่านกลับมาพบข้าพเจ้า’ ” (มธ 3:14)

    ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระเยซูเจ้าจึงเสด็จมาที่แม่น้ำจอร์แดนเพื่อรับพิธีล้างจากยอห์น เพราะยอห์นระบุอย่างชัดเจนแล้วว่าคนบาปเท่านั้นสมควรรับพิธีล้างจากเขา ผู้ที่ควรรับพิธีล้างก็คือบุคคลที่ได้หันหลังให้พระเจ้า

    ถ้าพระเยซูเจ้าไม่เคยทำเช่นนี้ พระองค์เสด็จมารับพิธีล้างทำไม

    คำถามนี้นำเราย้อนกลับสู่เรื่องบาปทางสังคมที่ ดร. เมนนิงเกอร์ พูดถึง หมายถึงบาปที่กระทำโดยกลุ่มบุคคล หรือประเทศชาติ

    เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาบังเกิดในโลกของเรา พระองค์ทรงถือว่าพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่ตกในบาป พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่บทสดุดีบอกว่า “ทุกคนเดินนอกทาง ทุกคนชั่วร้ายเช่นเดียวกัน ไม่มีใครทำความดี ไม่มีแม้แต่คนเดียว” (สดด 14:3)

    เพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงเสด็จลงไปในแม่น้ำจอร์แดน เพื่อรับพิธีล้างจากยอห์น ไม่ใช่เพราะพระองค์ทรงเป็นคนบาป และจำเป็นต้องกลับใจ แต่เพราะพระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่ตกในบาป และจำเป็นต้องกลับใจ

    พระองค์ทรงต้องการบอกเราว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษยชาติแล้วโดยสิ้นเชิง และพระองค์ไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ – แม้แต่แยกตัวจากบาปของมนุษยชาติ

    พระองค์ทรงต้องการยอมรับว่ามนุษยชาติที่พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งนี้ จำเป็นต้องยอมรับว่าตนเองได้ทำบาป และจำเป็นต้องกลับใจ

    เราควรนำเหตุการณ์นี้มาไตร่ตรองชีวิตส่วนตัวของเรา เหตุการณ์นี้พูดอะไรกับเราในวันนี้

    ประการแรก เราทุกคนเป็นสมาชิกของมนุษยชาติเหมือนกับพระเยซูเจ้า

    ประการที่สอง เราทุกคนต้องเป็นสมาชิกของมนุษยชาติที่รู้จักรับผิดชอบ เราไม่สามารถบอกตนเองว่า “ฉันไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์ทำกัน แต่ฉันไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านั้น”

    เมื่อคนทั้งเมืองละเลยคนจน จนถึงกับเพิกเฉยและเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนจนเหล่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ เราต้องรับผิดชอบ เพราะเราเป็นพลเมืองของเมืองนั้น

    เมื่อประเทศชาติของเราสะสมอาวุธจนมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ เราต้องรับผิดชอบ เพราะเราเป็นพลเมืองของประเทศนี้

    เมื่อมีการทำลายสภาพแวดล้อม จนกระทั่งชั้นโอโซนถูกทำลาย นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ เราต้องรับผิดชอบ เพราะเราเป็นพลเมืองของดาวเคราะห์ดวงนี้

    ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามข้อใหญ่ว่า เราจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับบาปเหล่านี้ เราทำได้อย่างน้อยสามทาง

    ทางแรก เราสามารถยอมรับว่าบาปและสถานการณ์เหล่านี้มีอยู่จริง เราต้องต่อต้านความรู้สึกอยากปิดหูปิดตา และแสร้งทำเป็นว่าบาปเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง หรือคิดว่าสถานการณ์เหล่านั้นจะสูญสลายไปเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ร้ายยิ่งกว่า การยอมรับและเผชิญหน้ากับสถานการณ์บาปเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และเราต้องทำ นี่คือจุดเริ่มต้นที่จำเป็น

    ทางที่สอง เราสามารถพูดต่อต้านบาปทางสังคม การทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิทธิของเรา แต่เป็นหน้าที่ของเราด้วย

    ทางที่สาม เราทุกคนสามารถภาวนาวอนขอให้พระเจ้าทรงนำทางเราเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น เพราะเราต้องพึ่งพาอาศัยการนำทางทั้งหมดที่เราสามารถหามาได้ เพื่อจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และหาทางแก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ

    แบบฉบับของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ เรียกร้องให้เราต่อสู้ เป็นเสียงเรียกให้เรายอมรับว่าเราเป็นสมาชิกของมนุษยชาติ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเป็น

    นี่คือเสียงเรียกให้เรายอมรับว่าเราต้องรับผิดชอบต่อบาปทางสังคม เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำ

    นี่คือเสียงเรียกให้เราทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพูดต่อต้านสถานการณ์เหล่านั้น ภาวนาวอนขอการนำทาง หรือเข้าร่วมแก้ไขปัญหาโดยตรง

    ถ้าเราผู้เป็นสมาชิกของพระกายของพระคริสตเจ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง แล้วใครจะทำ นี่คือกระแสเรียกจากพระวรสารวันนี้

    เป็นกระแสเรียกที่เราต้องไตร่ตรองในการภาวนา และเป็นกระแสเรียกที่เราทุกคนต้องตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:6-11

    เพื่อระลึกถึงธรรมล้ำลึกของพระคริสตสมภพ และพระคริสตเจ้าแสดงองค์ เราได้ใช้บทอ่านจากพระวรสารของลูกา และมัทธิว ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์เพียงสองคนที่กล่าวถึงปฐมวัยของพระเยซูเจ้า ... บัดนี้ เราจะย้อนกลับมาใช้บทอ่านจากพระวรสารของมาระโก

    มาระโกเริ่มต้นคำบอกเล่าด้วยเหตุการณ์ ณ จุดเริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้า ดังนั้น เราจึงเข้าสู่เรื่องราวในวัยผู้ใหญ่ของพระเยซูเจ้าตั้งแต่ต้น ขณะนี้พระองค์ทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 ปี

ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เทศน์สอนในถิ่นทุรกันดารว่า “มีอีกผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า ...
    ในพระวรสารของมัทธิวและลูกา ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เทศน์สอนโดยประกาศถึงการพิพากษาครั้งสุดท้ายว่าจะมาถึงในไม่ช้า “สัญชาติงูร้าย ... จงกลับใจ ... บัดนี้ ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ...” (มธ 3:7-10; ลก 3:7-9) แต่มาระโก ตัดคำเทศน์สอนประเภทนี้ออกไปจนหมด เหลือไว้แต่เพียงการประกาศถึง “ผู้ที่กำลังมา” ... และพิธีล้างของพระองค์ ... ในพระวรสารฉบับนี้ ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ประกาศเรื่องพระเยซูเจ้าเท่านั้น ...

    “ผู้ที่กำลังมาภายหลังข้าพเจ้า เป็นผู้ที่ท่านทั้งหลายกำลังรอคอย” พระองค์ใกล้จะเสด็จมาแล้ว จงเตรียมตัวให้พร้อมเถิด ...

ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะก้มลงแก้สายรัดรองเท้าของเขา

    มาระโกเตือนเราตั้งแต่เริ่มต้นคำบอกเล่าของเขาแล้วว่ามีความลึกลับเกี่ยวกับพระเยซูผู้นี้ ประชาชนกำลังรอคอยอย่างตื่นเต้นตั้งแต่ก่อนพระองค์เสด็จมา และความตื่นเต้นชี้ให้เห็นบุคลิกภาพที่พิเศษของพระองค์ พระองค์เป็นใครกัน ถ้าแม้แต่ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ยังไม่กล้า “ก้มลง” เบื้องหน้าพระองค์ ...

ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้า

    ในบทแรกนี้ มาระโกเอ่ยถึงพระจิตเจ้าถึงสามครั้ง (1:8, 1:10, 1:12) การย้ำเช่นนี้ควรปลุกเราให้ตื่น และตั้งใจฟัง ประชาชนที่ฟังยอห์นเทศน์สอน ไม่อาจสำคัญผิดได้เลย พวกเขาไม่ได้เพิกเฉย (เหมือนที่เราเพิกเฉย) ต่อคำทำนายเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ได้รับพระจิตเจ้า (อสย 11:1-3, 42:1, 61:1) และพระองค์จะทรงหลั่งพระจิตลงมาเหนือมนุษยชาติในยุคพระเมสสิยาห์ (อสย 32:15, 44:3, 59:21; อสค 11:19, 36:25-29, 37, 39:29; ยอล 3:1 ...) ดังนั้น การเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง จึงประกาศถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ว่าจะมาถึงในเร็ววัน และพระองค์จะทรงหลั่งพระจิตลงมาเหนือมนุษยชาติ และก่อกำเนิดมนุษยชาติใหม่ ...

    “เขาจะทำพิธีล้างให้ท่าน เขาจะจุ่มท่านลงในพระจิตเจ้า” เราตระหนักหรือไม่ว่าศีลล้างบาปของเราคริสตชนก็คือการจุ่มตัวลงในพระจิตเจ้า ... เรายังไม่ได้ดำเนินชีวิตให้สมกับที่เราได้รับศีลล้างบาป เนื่องจากลัทธิอเทวนิยมแบบใหม่ที่ห้อมล้อมตัวเรา เราทุกคนจึงมักคิดว่าความรอดพ้นของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับความพยายามของเรา ซึ่งเป็นทัศนคติแบบมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิดที่คล้อยตามวิทยาศาสตร์ และวิชาการ ชักนำเราให้คิดว่ามนุษย์สามารถช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ ขอเพียงให้เราสามัคคีกัน ให้เราผนึกกำลังกันเอาชนะธรรมชาติ ให้เราแบ่งปันทรัพยากรให้มากขึ้น ... ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่การเผยแสดงทั่วไปในพระคัมภีร์ และประสบการณ์แท้ของมนุษย์ บอกเราว่าความหมายสูงสุดของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่ตัวมนุษย์เอง เอกภพนี้ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่สักเพียงไร ก็ไม่พบเป้าหมายในตัวเอง มนุษย์จะเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ได้เพียงด้วยการเปิดรับความเป็นจริงที่สูงกว่า คือ พระจิตของพระเจ้า

    ดังนั้น คำตอบสุดท้ายสำหรับคำถามสำคัญทุกข้อจึงไม่อาจพบได้ในตัวมนุษย์ มีประโยชน์อะไรที่มนุษย์จะควบคุมเอกภพ และเดินบนดวงจันทร์ได้ ถ้าเขาจะฆ่าตัวตายในภายหลัง มิติของอุตรภาพกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น และมากขึ้น อันเดร มัลโร เขียนว่า “ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของคริสตศาสนา หรือมิฉะนั้น ก็อยู่ไม่ได้” ...

ครั้งนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จจากเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี และทรงรับพิธีล้างจากยอห์น ในแม่น้ำจอร์แดน

    พระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์เป็นครั้งแรกในพระวรสารของมาระโก

    ชายที่ไม่มีใครรู้จักนี้ดำรงชีวิตมานานสามสิบปี ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีการเอ่ยถึงในพระคัมภีร์ คัมภีร์ปัญจบรรพ ประวัติศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ ก่อนที่ชายที่ชื่อเยซูนี้จะทำให้ชื่อนี้โด่งดังไปทั่วโลก ... นักโบราณคดีค้นพบว่าในเวลานั้นนาซาเร็ธ เป็นที่ตั้งของบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือนเท่านั้น ดังนั้น จึงมีประชากรเพียงประมาณ 100 คน ...

    หมู่บ้านที่ไม่มีใครรู้จักนี้ จะเป็นต้นกำเนิดของหนึ่งในขบวนการยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ...

    ถ้าเช่นนั้น ชายที่ชื่อเยซูนี้เป็นใครกัน ... สำหรับเวลานี้ พระองค์ดูเหมือนเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง พระองค์ถึงกับเสด็จมารับพิธีล้างเพื่อแสดงการกลับใจ

ทันทีที่พระองค์เสด็จขึ้นจากน้ำ ก็ทรงเห็นท้องฟ้าถูกแหวกออก ...

    “แหวกออก” คำภาษากรีกที่ใช้นี้ รุนแรงและชัดเจนมากกว่าคำที่มัทธิว และลูกา ใช้

    เมื่อเราพูดถึงศีลล้างบาปของเราก่อนหน้านี้  เราระลึกว่ามนุษย์มักปิดขังตนเองไว้ภายในความเป็นมนุษย์ พระเยซูเจ้าคือผู้ที่เสด็จมา “แหวก” โลกที่ปิดอยู่นี้ นับแต่นี้ไป มนุษย์จะพบช่องทางในพระองค์ที่เขาจะใช้ติดต่อกับโลกของพระเจ้าได้ ...

    คำที่บรรยายจนมองเห็นภาพที่มาระโกใช้นี้ สอดคล้องกับลีลาการเขียนที่ชัดเจนของเขา แต่เราก็อาจเห็นด้วยว่านี่คือการอ้างอิงหนังสือประกาศกอิสยาห์ ในเวลาที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากแสนสาหัส เมื่อความเงียบของพระเจ้าทำให้ความกังวลและความหดหู่ใจของพวกเขาเพิ่มขึ้น ประกาศกคนหนึ่งวอนขอพระเจ้าให้ทรงทำลายความเงียบของพระองค์ เหมือนเมื่อครั้งที่ทรงปลดปล่อยชาวยิวจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ ประกาศกคนนี้ภาวนาโดยร้องตะโกนว่า “เหตุไฉนพระองค์จึงไม่ทรงแหวกท้องฟ้า และเสด็จลงมาเล่า” (อสย 63:19)

... พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบ

    ตามคำบอกเล่าของมาระโก นี่คือฉากแรกของชีวิตของพระคริสตเจ้า

    ผู้นิพนธ์พระวรสารบอกว่ากิจการแรกของพระเยซูเจ้าคือภาพนิมิต และเขาบอกเราว่าพระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงเห็น “รอยแหวก” ที่เปิดทางให้พระจิตเสด็จลงมา ดังนั้น เรากำลังอ่านเรื่องราวของเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่คนอื่น ๆ ในที่นั้นมองไม่เห็น ภาพนิมิตนี้จึงเป็นการแสดงออกถึงจิตสำนึกภายในของพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงรับรู้ถึงความเป็นพระบุตรของพระเจ้า และพันธกิจของพระองค์

    เราไม่อาจคาดเดาสภาพจิตใจของพระเยซูเจ้า พระองค์ไม่ได้ทรง “กลายเป็น” พระบุตรของพระเจ้าโดยอาศัยวิวัฒนาการใด ๆ เพราะทรง “เป็น” พระบุตรของพระเจ้าตลอดนิรันดรกาล ... แต่เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นมนุษย์แท้ด้วย  จึงจำเป็นที่จิตสำนึกของพระองค์ต้องพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับวัยที่เจริญเติบโต และประสบการณ์ชีวิต วันนี้ เราจะพูดถึงการหยั่งรู้มากกว่าภาพนิมิต แต่คำพูดที่เราใช้ก็ยังไม่สามารถบรรยายความเป็นจริงของพระเจ้าได้ ...

    พันธสัญญาเดิมแสดงให้เราเห็นบ่อยครั้งว่าพระจิตของพระเจ้าจะเข้าครอบครองตัวมนุษย์คนหนึ่งเพื่อให้เขาปฏิบัติพันธกิจบางอย่าง (อสย 11:2; วนฉ 6:34, 14:19, 15:14) อันที่จริง เราสามารถจินตนาการได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงรับรู้อย่างมั่นใจในทันทีทันใดถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของพระองค์

    พระจิตทรง “แสดงพระองค์” ในลักษณะใด? เราสังเกตได้ว่าข้อความนี้บอกว่า “ดุจ (like)” นกพิราบ ในศัพท์วิวรณ์ คำสันธานนี้ถูกใช้เพื่อบ่งบอกสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา “สวมอาภรณ์ขาวดุจหิมะ ผมบนศีรษะขาวดุจขนแกะ” (ดนล 7:9)

    เพราะนี่คือการเผยแสดงพระองค์ของพระเจ้า (theophany) จึงเป็นธรรมล้ำลึกที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยหลักเหตุผล พระเจ้าไม่สามารถปรากฏพระองค์ได้ยกเว้นในลักษณะที่ท้าทายมนุษย์ ซึ่งเกินสมรรถภาพของมโนทัศน์และจินตนาการของเรา เราจึงต้องยอมรับ “รอยแหวก” นี้ และปล่อยให้ตัวเราจมอยู่ในรอยแหวกนี้เหมือนกับอยู่ในเหวลึก ...

และมีเสียงมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านเป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา”

    ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงเป็นประสบการณ์ของความสนิทชิดใกล้อันเปี่ยมด้วยความรัก พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นที่รักของพระเจ้า คนเพียงไม่กี่คนที่ใกล้ชิดพระเยซูเจ้าค้นพบว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้า เมื่อทรงอธิษฐานภาวนา พระองค์ตรัสกับพระเจ้าผู้ที่มนุษย์มองไม่เห็นด้วยความคุ้นเคยอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดกล้าแสดงออกมาก่อน พระองค์ทรงเรียกพระเจ้าว่า อับบา หรือ “พ่อจ๋า” (มก 14:36) ...

    พระองค์ทรงดำเนินชีวิตนานหลายปีในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครรู้จักชื่อนาซาเร็ธ ด้วยความรักฉันบุตรต่อบิดา และบัดนี้ ความรักนี้ระเบิดออกมาราวกับเสียงระฆังในพระหฤทัยของพระองค์ว่า “ท่านเป็นผู้เป็นที่รักของเรา ท่านคือพระบุตรองค์เดียวของเรา เรามีความปิติยินดีในตัวท่าน” ...

    ถ้อยคำเหล่านี้เป็นข้อความที่มาจากพระคัมภีร์แน่นอน เราพบว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้ข้อความเหล่านี้รำพึงภาวนา และพระองค์ทรงเอ่ยข้อความเหล่านี้ในพระทัยมานานหลายปีในการภาวนาของพระองค์ ในศาลาธรรม หรือในชีวิตประจำวันในบ้านหลังเล็ก ๆ ร่วมกับพระนางมารีย์ และระหว่างการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ ... ท่านเคยรู้สึกบางครั้งหรือไม่ว่าท่านได้รับความรัก และท่านตอบสนองต่อความรักนี้ ... ความรักนี้แรงกล้าและอ่อนโยน และเติมเต็มเวลาทั้งหมดของเราด้วยสันติสุข และความสุข ...

    "เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา” (2 ซมอ 7:14) ...

    พระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว” (สดด 2) ...
    “นี่คือผู้รับใช้ของเรา ซึ่งเราเชิดชู เราเลือกเขา เพราะเราพอใจเขา” (อสย 42:1) ...

    “เยรูซาเล็มเอ๋ย เขาจะไม่เรียกเจ้าว่า ‘ผู้ถูกทอดทิ้ง’ ... แต่เขาจะเรียกเจ้าว่า ‘ความยินดีของเราอยู่ในเธอ’ ” (อสย 62:4) ...