แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 4:8-12; 1 ยอห์น 3:1-2; ยอห์น 10:11-18

บทรำพึงที่ 1
แป้นเกลียว “เยซู”
พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ยึดโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน

    เมื่อหลายปีก่อน ผมได้อ่านบทความหนึ่งของแคโรลีน โมแรน เรื่อง “แป้นเกลียวที่ยึดชีวิตสมรสของเราไว้”

    เมื่อเห็นชื่อเรื่องอย่างนั้น  คุณคงอดสงสัยไม่ได้ว่าแป้นเกลียวนั้นหมายถึงใคร ในเบื้องต้นผมคิดว่าเธออาจหมายถึงสามีของเธอ เขามีอารมณ์ขันที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ก่อนที่มันจะระเบิด หรืออาจหมายถึงลูกคนหนึ่งของเธอที่ช่วยสลายสถานการณ์ตึงเครียดด้วยการทำเรื่องตลกให้ทุกคนหัวเราะ

    หรืออาจหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง ผู้ชี้ให้เขาทั้งสองมองเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่จะมองแต่ข้อเสียของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีข้อดีมากมาย

    แล้วผมก็ประหลาดใจ เพราะเธอไม่ได้หมายถึงบุคคลเหล่านี้เลย แคโรลีนอธิบายเรื่อง “แป้นเกลียว” ด้วยเรื่องต่อไปนี้

    วันหนึ่ง เธอ และสามีกำลังกินอาหารกลางวันที่บ้านของเขา ในเมืองลอสแองเจลีส พร้อมกับไมค์ ลูกชายของเขาทั้งสอง ไมค์เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ ในกองทัพเรือ และเขาเดินทางจากซานดิเอโก เพื่อมาเยี่ยมพ่อแม่

    ระหว่างกินอาหาร ไมค์ และบิดาของเขาเริ่มคุยกันเรื่องเฮลิคอปเตอร์ที่ไมค์ขับ ไมค์ถามว่า “พ่อรู้ไหมว่า แม้ว่าเฮลิคอปเตอร์เป็นเครื่องจักรที่ซับซ้อน แต่เขายึดใบพัดของมันด้วยแป้นเกลียวรูปหกเหลี่ยมเพียงตัวเดียว”

    เขาหันไปถามมารดาของเขาว่า “และแม่รู้ไหมว่าเขาเรียกแป้นเกลียวนี้ว่าอะไร” มารดาของเขายักไหล่ เธอเดาไม่ถูก เธอบอกว่า “แม่ยอมแพ้ เขาเรียกมันว่าอะไร” ไมค์ยิ้มพร้อมกับตอบว่า “เขาเรียกมันว่า แป้นเกลียว ‘เยซู’ ”

    จากข้อมูลที่ได้ยินจากไมค์ แคโรลีนจึงมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระเยซูเจ้า และแป้นเกลียวนี้

    พระเยซูเจ้าทรงยึดมนุษยชาติไว้ไม่ให้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ฉันใด แป้นเกลียวนั้นก็ยึดเฮลิคอปเตอร์ของไมค์ ไม่ไห้หลุดออกจากกันฉันนั้น

    ในบทความของแคโรลีนเรื่อง “แป้นเกลียวที่ยึดชีวิตสมรสของเราไว้” แคโรลีนมองว่า พระเยซูเจ้าทรงมีบทบาทในชีวิตสมรสของเธอเช่นเดียวกับบทบาทของแป้นเกลียวในเฮลิคอปเตอร์ของไมค์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ยึดชีวิตสมรสของเธอไม่ให้แตกแยก
    ชีวิตสมรสก็ซับซ้อนไม่ผิดจากเฮลิคอปเตอร์ และมีปัญหามากมายที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าถอนพระเยซูเจ้าออกไปจากชีวิตสมรสของเธอ ก็เหมือนกับถอนแป้นเกลียว “เยซู” ออกไปจากเฮลิคอปเตอร์ของไมค์ เครื่องบินย่อมหลุดออกจากกัน

    บทอ่านวันนี้เสนอความคิดเดียวกันนี้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ยึดทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้แยกออกจากกัน บทอ่านที่หนึ่งบรรยายว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเหมือนศิลาหัวมุม

    ในอาคารยุคใหม่ ศิลาหัวมุมสำคัญมาก เพราะช่วยค้ำจุนและยึดตัวอาคารไว้ด้วยกัน ถ้ารื้อศิลาหัวมุมออกไปก็เท่ากับทำลายอาคารนั้น

    ในทำนองเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงช่วยยึดชีวิตสมรสไว้ให้มั่นคง ถ้าถอนพระเยซูเจ้าออกไป ชีวิตสมรสย่อมพังทลาย

    บทอ่านพระวรสารก็ย้ำความคิดเดียวกันนี้ โดยบรรยายว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเสมือนผู้เลี้ยงแกะ ผู้มีหน้าที่รวบรวมแกะให้อยู่รวมกันเป็นฝูง และป้องกันไม่ให้สิ่งใดมาทำร้ายฝูงแกะ พระเยซูเจ้าทรงมีบทบาทเช่นเดียวกันนี้ในชีวิตสมรสของคริสตชน พระองค์ทรงยึดชีวิตสมรสนั้นไว้ให้มั่นคง และทรงปกป้องไม่ให้มีสิ่งใดมากทำอันตรายได้

    ขอให้เราพิจารณาเปรียบเทียบกับชีวิตของเรา  ถ้าชีวิตสมรส หรือชีวิตครอบครัวของเรากำลังประสบปัญหา บางทีอาจเป็นเพราะเราได้ลืมแป้นเกลียวที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวประคับประคองชีวิตของเรา

    บางทีเราอาจลืมคิดถึงพระเยซูเจ้า บางทีเราอาจตัดพระเยซูเจ้าออกไปจากชีวิตของเรา บางทีเราอาจไม่ได้เชิญพระเยซูเจ้าให้เข้ามาประทับในชีวิตสมรสของเรา หรือในบ้านของเรา

    เราควรระลึกว่าแทบทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าได้รับเชิญเข้าไปในบ้านของใครในยุคพระวรสาร พระองค์จะทรงทำอัศจรรย์ช่วยเหลือบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    เมื่อคู่บ่าวสาวเชิญพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของเขา พระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่น

    เมื่อเปโตร เชิญพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของเขา พระองค์ทรงรักษาโรคให้แม่ยายของเขา เมื่อนายร้อยกองทัพโรมันเชิญพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของเขา พระองค์ทรงรักษาโรคให้คนรับใช้ของเขา

    เมื่อหญิงสองพี่น้องเชิญพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของเขา พระองค์ทรงปลุกพี่ชายของเขาให้กลับคืนชีพ เมื่อไยรัส เชิญพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของเขา พระองค์ทรงปลุกบุตรสาวของเขาให้กลับคืนชีพ

    เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราควรถามตนเองว่า ถ้าเราเชิญพระเยซูเจ้าเข้ามาในบ้านของเรา พระองค์จะไม่ทรงกระทำเช่นเดียวกันนี้เพื่อเราหรือ เราคงรู้คำตอบ

    ดังนั้น บทอ่านวันนี้จึงสื่อสารแก่เราอย่างชัดเจน ถ้าชีวิตสมรส หรือชีวิตครอบครัว หรือชีวิตส่วนตัวของเราประสบปัญหา อาจเป็นเพราะเราได้ตัดพระเยซูเจ้าออกไปจากชีวิตของเรา อาจเป็นเพราะเราไม่ได้เชิญพระเยซูเจ้าเข้ามาประทับในชีวิตของเรา

    ดังนั้น บทอ่านวันนี้จึงเชิญชวนเราให้เชิญพระเยซูเจ้ากลับมาประทับในบ้านของเรา และในชีวิตของเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยเรื่องของดอริส ฟอร์แมน เมื่อหลายปีก่อน ครอบครัวฟอร์แมน ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่างสวยงาม สามีของดอริสยืนกรานจะแขวนรูปพระเยซูเจ้าขนาดใหญ่ในตำแหน่งที่โดดเด่นในห้องนั่งเล่นของครอบครัว

นักตกแต่งภายในบอกเขาว่าภาพนั้นไม่เหมาะสมที่จะตั้งอยู่ที่นั่น เพราะดูผิดที่ผิดทาง ดอริสเห็นด้วยกับนักตกแต่งภายในคนนั้น แต่สามีของเธอไม่ยอมย้ายภาพนี้ เขาบอกว่าพระเยซูเจ้าประทานพรให้เขามีบ้านหลังใหม่ และเขาจะให้พระองค์ประทับอยู่ในตำแหน่งที่มีเกียรติในบ้านหลังนั้น

หลังจากเวลาผ่านไปสองสามเดือน ดอริสสังเกตเห็นว่ามีเหตุการณ์แปลก ๆ เริ่มเกิดขึ้น ภาพนั้นเริ่มส่งผลที่น่าประหลาดใจไม่เพียงต่อครอบครัวฟอร์แมน แต่รวมถึงเพื่อนสนิทของพวกเขาด้วย

ภาพนั้นสื่อสารข้อหนึ่งให้แก่ทุกคน เป็นสารที่เรียบง่ายว่า

    แป้นเกลียว ศิลาหัวมุม และผู้เลี้ยงแกะของครอบครัวนี้ คือพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ประคับประคองชีวิตสมรสนี้ ครอบครัวนี้ และบ้านนี้ ให้อยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น พระองค์ยังทรงทำอัศจรรย์ แสดงความรักของพระองค์ท่ามกลางเรา และพระองค์จะทรงทำเช่นเดียวกันเพื่อคุณ ขอเพียงให้คุณเชิญพระองค์เข้ามาในบ้านของคุณ

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 10:11-18

เราเป็น ...

    เราควรอ่านสองคำนี้ซ้ำช้า ๆ ... เราเป็น ...

    ขอให้ฟังพระเยซูเจ้า ผู้ตรัสคำนี้กับท่าน ...

    ทุกคนที่พบพระเยซูเจ้ามักสงสัยว่า “พระองค์เป็นใคร” ... ทุกคนที่ใกล้ชิดพระองค์ระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงชีพบนโลกนี้ สะดุดใจกับบุคลิกภาพที่เป็นปริศนาของพระองค์ พระองค์ทรงกระทำสิ่งอัศจรรย์ ... พระองค์ตรัส “ไม่เหมือนที่ผู้อื่นเคยพูด” ... บางครั้ง ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงทำตัวเป็นพระเจ้าด้วยซ้ำไป...

    เพราะเหตุนี้ หลายครั้ง พระองค์จึงตรัสถ้อยคำที่ถ้าเราอ่านเพียงผ่าน ๆ เราอาจไม่เข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ของข้อความนั้น ๆ เช่น เราเป็นปังแห่งชีวิต ... เราเป็นแสงสว่างส่องโลก ... เราเป็นประตู ... เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ... เราเป็นเถาองุ่น ... เราเป็นการกลับคืนชีพ...

    เราต้องไม่ลืมว่าประโยคเหล่านี้เริ่มต้นด้วยคำว่า “เราเป็น” (ego eimi ในภาษากรีก) พระเยซูเจ้าตรัสเป็นภาษาอาราเมอิก ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาฮีบรู และในภาษาฮีบรู พระนามของพระเจ้าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบด้วยอักษรสี่ตัวคือ Y H W H ศักดิ์สิทธิ์จนไม่มีใครกล้าเอ่ยออกมา และมีความหมายว่า “เราเป็น” (อพย 3:14) ... ในถิ่นทุรกันดาร เมื่อโมเสสอยู่เบื้องหน้าพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ เขาถามพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงพระนามว่าอะไร” และเขาก็ได้ยินคำตอบอันเป็นปริศนาจากกลางพุ่มไม้ว่า “เราคือเราเป็น” นี่คืออักษรสี่ตัวที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งบางครั้งพระคัมภีร์ฉบับปัจจุบันของเรายังรักษาไว้ในรูปแบบเดิมคือ “ยาห์เวห์” (YaH WeH)” ...

    ดังนั้น ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าตรัสด้วยวลีนี้โดยไม่ระบุนามของพระองค์อย่างชัดเจน พระองค์ทรงกำลังกล้าประกาศว่าพระองค์เป็นใคร พระองค์คือพระผู้กอบกู้มนุษยชาติ – ไม่ใช่พระเจ้าเท็จเทียม และผู้กอบกู้จอมปลอมทั้งหลายที่เสแสร้งนำทางมนุษยชาติ – แต่พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะหนึ่งเดียว...

เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ...

    ในดินแดนตะวันออกกลางยุคโบราณ “ผู้เลี้ยงแกะที่นำทางฝูงแกะของเขา” เป็นสัญลักษณ์หมายถึงเทพเจ้าและกษัตริย์ทั้งหลาย พระคัมภีร์ใช้วลีนี้เรียกพระเจ้า “พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจึงไม่ขาดสิ่งใด” (สดด 23:1) ... “เราเองจะเป็นผู้เลี้ยงแกะของเรา” (อสค 34) ... “ดูซิพระยาเวห์ องค์พระผู้เป็นเจ้า เสด็จมาด้วยพระอานุภาพ ... พระองค์ทรงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์เช่นคนเลี้ยงแกะ ทรงรวบรวมลูกแกะไว้ในอ้อมพระกร ทรงอุ้มไว้แนบพระอุระ และทรงนำทางแม่แกะอย่างทะนุถนอม” (อสย 40:10-11)...

    เราไม่ควรลืมว่าชาวยิวทุกคนในยุคนั้น – และโดยเฉพาะพระเยซูเจ้า – ระลึกถึงข้อความจากพระคัมภีร์เหล่านี้เสมอ สำหรับผู้ที่ฟังพระเยซูเจ้า คำประกาศนี้มีความหมายทางเทววิทยาแน่นอน พระเยซูเจ้าทรงกำลังอ้างพระองค์เป็นเมสสิยาห์ ผู้ที่ “พระเจ้าทรงส่งมา” ให้นำทางมนุษย์ไปสู่ชีวิตแท้ น่าเสียดายที่บทอ่านไม่ได้เริ่มต้นจากประโยคก่อนหน้านี้ ซึ่งเสนอข้อความที่พระเยซูเจ้าเป็นผู้ตรัสเอง และเป็นข้อสรุปที่ดีที่สุดของพระวรสารและพันธกิจของพระองค์ว่า “เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10)...

    เรารู้ว่ามนุษย์กำลังแสวงหาผู้นำทางแท้ – บุคคลที่ยำเกรงพระเจ้าที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ วินิจฉัยอนาคต ขับไล่อันตรายที่คุกคาม และนำความมั่นคงปลอดภัยมาให้ ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่ชิงชังถ้อยคำไร้สาระที่เราได้ยินอย่างพร่ำเพรื่อจากวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อมีใครบางคน (ซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา) พูดราวกับว่าเขาเป็นผู้รู้ความจริง และรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่ออนาคต “เราต้องปราบปรามเรื่องนี้ หรือเรื่องนั้น แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง” ... “เราเพียงต้องทำเช่นนี้ก็พอ ...” ... “เป็นความผิดของคนนี้ หรือคนกลุ่มนั้น” ... เมื่อเราได้ยินคำพูดที่ดูถูกผู้อื่นเช่นนี้ คำยืนยันของเปโตรในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ ฟังดูเหมือนเสียงแตรที่เป่าเรียกเราว่า “พระเยซูเจ้าองค์นี้ทรงเป็นศิลา ซึ่งท่านทั้งหลายผู้เป็นช่างก่อสร้างขว้างทิ้งเสีย แต่ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม ไม่มีผู้ใด ... นอกจากนามนี้ ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้” (กจ 4:12)...
“ลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้เลี้ยงแกะ และไม่เป็นเจ้าของแกะ เมื่อเห็นสุนัขป่าเข้ามา ก็ละทิ้งบรรดาแกะ และหนีไป...”

    บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบผู้เลี้ยงแกะที่ดีกับ “ผู้กอบกู้” จอมปลอมทั้งหลายผู้มักสัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เวลาอันตรายคือเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับความจริง กล่าวคือ ผู้เลี้ยงแกะปลอมที่เป็นเพียงลูกจ้าง และทำงานเพื่อเงิน ย่อมแสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตน เขาไม่สนใจสวัสดิภาพของฝูงแกะเลย บางครั้ง เขาถึงกับพร้อมจะหอนร่วมกับสุนัขป่า ... เขาไม่ยอมเสี่ยงชีวิตของตน เพราะสิ่งแรกที่เขาห่วงก็คือการเอาตัวรอด...

“ลูกจ้างวิ่งหนีเพราะเขาเป็นเพียงลูกจ้าง ไม่มีความห่วงใยฝูงแกะเลย เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ... เรายอมสละชีวิตเพื่อแกะของเรา”

    ในข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงสี่ครั้งว่าพระองค์ “ยอมสละชีวิต” ...

    ดังนั้น เราไม่ควรมองเห็นแต่ภาพลักษณ์ที่สวยงามของ “คนเลี้ยงแกะ” เพราะตามความคิดของพระเยซูเจ้า ผู้เลี้ยงแกะต้องพร้อมจะสละชีวิตของตนเพื่อช่วยชีวิตฝูงแกะของเขา...

    นี่คือภาพลักษณ์ที่น่าแปลกใจและถึงกับขัดแย้งกัน เพราะเมื่อผู้เลี้ยงแกะตายไปแล้ว เขาย่อมไม่สามารถปกป้องแกะของเขาได้อีกต่อไป ... ภาษาที่ใช้นี้ลึกลับเป็นปริศนา ... พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอดพ้น – ด้วยความตายของพระองค์ ... พระองค์ทรงเปิดเผยเช่นนี้ในขณะที่ผู้นำศาสนาแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์มากขึ้น หลังจากพระองค์ได้รักษาชายคนหนึ่งที่ตาบอดแต่กำเนิด (ยน 9)...

ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราสมัครใจสละชีวิตนั้น

    ความตายไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่พระเยซูเจ้าไม่รู้ตัวมาก่อน และพระองค์ไม่ได้ทรงยอมรับความตายอันรุนแรงนั้นโดยไม่ทำอะไรเลย แต่พระองค์ทรง “เสนอ” ความตายของพระองค์แก่เราโดยรู้ตัวและเต็มใจ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นกิจการแสดงความรัก – ความรักจนถึงที่สุด “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 13:1, 15:13)...

    พระวรสารฉบับภาษากรีกของนักบุญยอห์น ใช้คำที่รุนแรงกว่าในพระวรสารฉบับแปล เขาเขียนว่า “เรายอมมอบวิญญาณของเรา ... เราพรากชีวิตของเราไปจากตัวเรา” ข้อความแปลก ๆ นี้อ้างถึงกลอนบทที่สี่ของผู้รับใช้พระยาห์เวห์ (อสย 53:10) ผู้ “มอบชีวิตของตนเพื่อชดเชยบาปให้คนจำนวนมาก”...

    ส่วนเราเล่า เราจะเก็บชีวิตของเราและความตายของเรา “ไว้เพื่อตัวเรา” หรือเปล่า ... เราจะถวายความตายของเราเพื่อใคร ... ใครที่เรารักมากจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรายอมมอบของขวัญอันสูงส่งนี้...

เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เรารู้จักแกะของเรา และแกะของเราก็รู้จักเรา

    ต่างจากลูกจ้างเห็นแก่เงิน ซึ่ง “ไม่มีความห่วงใยฝูงแกะเลย”...

    มนุษย์ทุกคนมีค่าในสายตาของพระเยซูเจ้า มีค่าจนพระองค์สามารถเสี่ยงชีวิต และสละชีวิตเพื่อมนุษย์แต่ละคนได้
-    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงถึงกับเสี่ยงชีวิตเพื่อข้าพเจ้าทีเดียวหรือ ...
-    ถูกแล้ว ความรักของข้าพเจ้าต่อพระองค์ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

    คำพูดนี้มีความหมายกว้างมาก “เรารู้จักแกะของเรา” พระคัมภีร์ใช้คำว่า “รู้จัก” (knowing) ซึ่งไม่ได้หมายถึงความรู้ทางสติปัญญาเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารต่อกัน และความสนิทสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่รักกันมาก จนยอมอุทิศตัวให้แก่กัน ซึ่งเหมือนกับเป็นชีวิตใหม่ ดังนั้น สามีจึงบอกภรรยาว่า “บัดนี้ เมื่อผมรู้จักคุณ และดำเนินชีวิตในความสนิทสัมพันธ์กับคุณแล้ว ผมกลายเป็นคนใหม่ – เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่สำหรับผม”

    ดังนั้น “การรู้จัก” นี้จึงหมายถึงการดำรงอยู่อย่างสนิทชิดใกล้ของสองบุคคล เป็นความเข้าใจกัน เป็นความสนิทสัมพันธ์ด้วยทั้งความคิดและหัวใจ หมายถึงการ “ร่วมชีวิต” อย่างอุทิศตนเพื่อกัน...

... พระบิดาทรงรู้จักเราฉันใด เราก็รู้จักพระบิดาฉันนั้น

    นี่คือต้นแบบของการรู้จักกัน กล่าวคือ ความสนิทสนมด้วยความรักไร้ขอบเขตและมอบชีวิตให้แก่กัน ระหว่างพระบิดาและพระบุตร ในพระจิตแห่งความรัก นี่คือธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพนั่นเอง

    ความสนิทชิดใกล้ระหว่างพระเยซูเจ้า และบุคคลที่พระองค์ทรงช่วยให้รอดพ้นโดยอาศัยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ – ผู้ที่พระองค์ทรง “นำไปสู่ชีวิต” โดยอาศัยความตายของพระองค์ – เป็นความสนิทชิดใกล้เดียวกันกับที่ดำรงอยู่ระหว่างพระบุคคลทั้งสามของพระเจ้า...

    ขอให้เราย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าข้อความนี้มีความหมายลึกซึ้งมาก ... เมื่อมารีย์ ชาวมักดาลาได้ยินเสียงเรียกชื่อของนาง นางจำเสียงของพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพได้ (ยน 20:16) พระเยซูเจ้าก็ทรงรู้จักข้าพเจ้าเช่นนี้ ... ทรงรู้จักชื่อของข้าพเจ้า ... ขอบพระคุณ พระเจ้าข้า สำหรับความรักนี้...

เรายังมีแกะอื่น ๆ ซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา จะมีแกะเพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว

    ความรักของพระเยซูเจ้าเป็นความรักต่อคนทั้งโลก...

    นี่คือความสนิทสัมพันธ์ที่จำเป็นต่อชีวิตระหว่างผู้เลี้ยงแกะและแกะของพระองค์ หมายถึงการรู้จักแกะแต่ละตัวของพระองค์อย่างแท้จริง พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงรักมนุษย์ทุกคนเช่นนี้โดยไม่เว้นใครเลย ... นี่คือมิติ “สากล” ของพันธกิจประทานความรอดพ้นของพระองค์ ... คำว่า Oikoumene ในภาษากรีก แปลว่า “ทั่วแผ่นดินที่มีผู้อยู่อาศัย”...

    คำสอนอันลึกลับที่สุดของพระเยซูเจ้าข้อนี้กระตุ้นให้เราถามอีกครั้งหนึ่งว่า “แต่พระเยซูผู้นี้เป็นใคร พระองค์จึงอ้างเช่นนี้ได้” ... พระองค์คือบุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่าช่างไม้ชาวนาซาเร็ธผู้ต่ำต้อย ... ยิ่งใหญ่กว่าชายที่ชื่อเยซู ที่กำลังจะตายอย่างบุคคลที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และจะตายด้วยการประหารอันอัปยศ – เป็นความตายที่ไร้ประโยชน์ที่สุดในสายตาของคนทั่วไปใช่หรือไม่...

    บนหลุมศพของบุคคลหนึ่งในศตวรรษที่สอง มีคำจารึกที่ลงนามว่า Abercius ที่อ่านได้ความว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของผู้เลี้ยงแกะผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีสายตายาวไกลจนพระองค์มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง”...

    พระเยซูเจ้าทรงมีสายตาที่ยาวไกลจริง ๆ ... ชายหรือหญิงทุกคน ไม่ว่าเขาจะหลงทางไปไกลเพียงใด วันหนึ่งเขาจะต้องได้ยิน “เสียงของพระองค์” และรู้ตัวว่าพระองค์ทรงรักเขา...

    เราเห็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของฝูงแกะของพระองค์ แกะฝูงน้อยที่สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เรียกว่า ฝูงชนมากมายมหาศาล

พระบิดาทรงรักเรา เพราะเราสละชีวิตของเรา ... และมีอำนาจจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก นี่คือพระบัญชาที่เราได้รับจากพระบิดาของเรา...

    พระเยซูเจ้าทรงสละชีวิต และเอาชีวิตนั้นกลับคืนมาอย่างง่ายดาย เหมือนกับ “ทรงถอดเสื้อคลุมออก ... และทรงสวมเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง” (ยอห์นใช้คำเดียวกันนี้ (ยน 13:4, 12) บรรยายการล้างเท้าศิษย์ของพระองค์ในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์)...