แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 10:25-26, 34-35, 44-48; 1 ยอห์น 4:7-10; ยอห์น 15:9-17

บทรำพึงที่ 1
การให้สามประเภท
ความรักประกอบด้วยการให้สามประเภท คือ ให้ตนเอง ให้อภัย และให้คำขอบคุณ

    มีเรื่องของบุคคลสำคัญทางการเมืองคนหนึ่ง ที่บอกเล่าสืบต่อกันมาตลอดระยะเวลาหลายปี เขาได้ไปร่วมในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1901

    บุคคลสำคัญผู้นี้ได้เป็นประจักษ์พยานนาทีสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อมงกุฎถูกสวมบนพระเศียรของกษัตริย์ เขาได้เต้นรำในงานเลี้ยงฉลองอันหรูหรา และเขาได้พูดคุยกับสมาชิกราชวงศ์และบรรดาแขกผู้มีเกียรติ

    เมื่อเขากลับบ้าน มีคนถามเขาว่ามีช่วงเวลาใด หรือเหตุการณ์ใดระหว่างการไปเยือนประเทศอังกฤษของเขาที่โดดเด่นมากที่สุด เขาตอบว่า “มีครับ” และเล่าต่อไปว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในคืนหนึ่งขณะที่เขากำลังเดินกลับไปยังโรงแรมที่เขาพัก

    คืนนั้นอากาศหนาวมาก เมื่อเขาเดินผ่านอาคารร้างแห่งหนึ่ง เขาเห็นเด็กจรจัดสองคนนั่งกอดกันอยู่ที่ทางเข้าอาคาร คนหนึ่งเป็นเด็กชายอายุประมาณสิบสองปี อีกคนหนึ่งเป็นเด็กหญิงอายุประมาณสี่ปี ซึ่งน่าจะเป็นน้องสาวของเขา

     เด็กชายถอดเสื้อโค้ทของเขาออกมาคลุมไหล่ของน้องสาว เขาถอดหมวกไหมพรมของเขาและนำมาพันไว้ที่เท้าของเธอด้วย

    บุคคลสำคัญคนนี้กล่าวว่า ภาพของเด็กสองคนที่นั่งขดตัวกอดกันอยู่ที่ทางเข้าอาคารนั้น โดดเด่นที่สุดเหนือเหตุการณ์อื่นใดทั้งหมด มันบดบังภาพอันหรูหราทั้งหมดของพิธีราชาภิเษก ความตื่นเต้นในงานเลี้ยงฉลอง และการสนทนากับบุคคลสำคัญอื่น ๆ นี่คือภาพที่เขาจะไม่มีวันลืมชั่วชีวิต

    เรื่องนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของความรักที่บรรยายไว้อย่างงดงามในพระวรสารวันนี้ โดยเฉพาะความรักที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยาย เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) พระองค์ตรัสด้วยว่า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)

    เราสรุปได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความหมายของความรักก็คือการให้ การให้ตนเองหรือการเสียสละ การให้อภัย และการขอบคุณ เราเห็นภาพของการให้ตนเองแล้วจากเรื่องของเด็กชายและน้องสาวของเขา ที่นั่งกอดกันที่ทางเข้าอาคาร บัดนี้เราจะพิจารณาว่าความรักหมายถึงการให้อภัยอย่างไร

    การให้อภัยต้องเป็นส่วนหนึ่งของทุกความสัมพันธ์รักของมนุษย์ เพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงทำผิดต่อกัน และทำร้ายจิตใจกัน แม้แต่บุคคลในครอบครัวของเราเอง เพราะเหตุนี้ พ่อจึงต้องพร้อมจะให้อภัยบุตรชาย และบุตรชายต้องพร้อมจะให้อภัยบิดา มารดาต้องพร้อมจะให้อภัยบุตรสาว และบุตรสาวต้องพร้อมจะให้อภัยมารดา พี่น้องต้องพร้อมจะให้อภัยกันและกัน และเพื่อนก็ต้องพร้อมจะให้อภัยเพื่อน

    และเขาต้องพร้อมจะให้อภัยมิใช่เพียงเจ็ดครั้ง แต่ต้องให้อภัยเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าตรัสสอนว่า “เจ็ดสิบคูณเจ็ดครั้ง”

    บ่อยครั้งเพียงใดที่เราสวดบทข้าแต่พระบิดาระหว่างพิธีมิสซา โดยเฉพาะเมื่อเราเอ่ยคำว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” และบ่อยครั้งเพียงใดที่เรากล่าวคำภาวนานี้ในวันอาทิตย์ แต่ไม่ยอมปฏิบัติในวันอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์ แม้แต่ภายในครอบครัวของเราเอง

    เราลืมไปว่าพระเยซูเจ้าเองได้ตรัสไว้ว่า “เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:14-15)

    ดังนั้น นอกจากหมายถึงการเสียสละ ความรักยังหมายถึงการให้อภัยด้วย และเราจะพิจารณาการให้ประเภทที่สาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรักต่อไป คือ การขอบคุณ

    การขอบคุณเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของความรักของเราต่อพระเจ้า ไม่ทราบว่าคุณเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าสิ่งหนึ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนสามารถถวายแด่พระเจ้าได้ก็คือ การขอบพระคุณ

    เมื่อเราไม่มีสิ่งใดเลยจะถวายแด่พระเจ้า เราก็ยังสามารถถวายคำขอบพระคุณพระองค์ได้ ไม่มีข้อแก้ตัวใดเลยที่เราจะไม่ขอบพระคุณพระเจ้า

    เฮเลน เฮย์ส เป็นนักแสดงฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด  ในหนังสือ A Gathering of Hope ของเธอ เธอนำเราเข้าไปชมเบื้องหลังของความหรูหราและแสงไฟบนเวทีการแสดง และเชิญเราเข้าไปในความคิดและจิตใจของเธอ เช่น เธอรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะนั้นเธออายุเพียง 18 ปี และกำลังแสดงละครบรอดเวย์เรื่อง Dear Brutus วันหนึ่งระหว่างการซ้อมละคร ใครคนหนึ่งวิ่งเข้ามาในโรงละคร และตะโกนแจ้งข่าวว่าสงครามยุติลงแล้ว ทุกคนในโรงละครลืมเรื่องการซ้อม และออกไปหาเครื่องดื่มฉลองกัน

    เฮเลนไม่ได้ไปกับพวกเขา เธอออกจากโรงละครเอ็มไพร์ และเดินตรงไปที่อาสนวิหารนักบุญแพตทริก เธอบรรยายเหตุการณ์ที่เธอเบียดเสียดฝ่าฝูงชนที่กำลังเฉลิมฉลองกันว่า “ดิฉันนึกถึงภาพว่าตนเองคงเป็นคนเดียวในวัดอันโอ่โถงนั้น ที่มาถวายคำภาวนาขอบพระคุณพระเจ้า แต่เมื่อดิฉันไปถึง ที่นั่นเนืองแน่นไปด้วยฝูงชนจนดิฉันองยืนภาวนาอยู่ที่ขั้นบันใด”
    เรื่องอันน่าประทับใจนี้แสดงให้เห็นการให้ประเภทที่สามที่เกิดจากความรัก โดยเฉพาะความรักต่อพระเจ้า และทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า ในความรักของเราต่อพระเจ้ามีการขอบพระคุณพระองค์รวมอยู่มากน้อยเพียงใด?

    สรุปได้ว่า ในความรักต้องมีการให้สามประเภทเป็นส่วนประกอบ คือ

    การให้ตนเอง หรือการเสียสละ ดังที่เราเห็นจากเรื่องของเด็กสองคนนั้น
    การให้อภัย เพราะเราทุกคนทำผิดกันได้ทั้งนั้น และ
    การขอบคุณ ดังที่เราเห็นจากเรื่องของเฮเลน เฮย์ส

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา
   
    พระเจ้าข้า ในวันอันพิเศษนี้
    เราขอบพระคุณพระองค์สำหรับมารดาของเราทั้งหลาย
    โดยเฉพาะสำหรับการแสดงตัวอย่าง
    ให้เราเห็นว่า ในความรักต้องมีการให้อภัยผู้อื่น
    ต้องมีการให้อภัยผู้ที่เคยทำร้ายเรา
    และต้องมีการขอบพระคุณพระเจ้า

    โปรดประทานความกล้าหาญให้เราเลียนแบบมารดาทั้งหลายของเรา
    โปรดทรงช่วยเราให้เป็นพยานต่อหน้าชาวโลก – เหมือนกับมารดาเหล่านั้น
    ว่าในที่สุดแล้ว ความรักก็คือการให้ การให้ตนเอง การให้อภัย และการขอบพระคุณ

 

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 15:9-17

    ตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น ระหว่างเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้มิตรสหายของพระองค์ได้รู้ “แผนการของพระเจ้าสำหรับโลก” ... ความหมายของชีวิตและความตายของพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงเห็น...
พระเจ้าทรงเป็นความรัก

1)    พระบิดาทรงรักพระบุตร        5)    เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงรักพระบิดา
“พระบิดาทรงรักเราอย่างไร...”            “...เหมือนกับที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระบิดา                        และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์...”
2)    พระเยซูเจ้าทรงรักมนุษย์        4)    …และรักพระเยซูเจ้าด้วย
“เราก็รักท่านเช่นกัน            เพื่อให้ความยินดีของเรา        “ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา       
เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย        อยู่กับท่าน และความยินดี        ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา...”
ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่        ของท่านจะสมบูรณ์
กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย”
3)    มนุษย์ต้องรักกันและกัน
“นี่คือบทบัญญัติของเรา
ให้ท่านทั้งหลายรักกัน
เหมือนดังที่เรารักท่าน ...
และผลของท่านจะคงอยู่...”                   

    ข้อความในพระวรสารหน้านี้ของนักบุญยอห์นเป็นบทเพลงสรรเสริญความรัก มีคำว่า “รัก” หรือ “มิตรสหาย” ปรากฏให้เห็นสิบเอ็ดครั้ง โดยสัมพันธ์กับคำว่า “บทบัญญัติ” เพราะสำหรับพระเยซูเจ้า ความยินดีของผู้เป็นที่รัก ก็คือการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระองค์ผู้ทรงรักเขา

    เราอดไม่ได้ที่จะสังเกตพลวัตที่ไหลเวียนอยู่ในพระวรสารหน้านี้ เหมือนกับการเริงระบำภายใน ที่ปรากฏให้เห็น หายไป และกลับมาให้เห็นอีก เหมือนกับคลื่นที่ซัดตามกันมาลูกแล้วลูกเล่า หรือน้ำตกที่ไหลลงมาจากพระเจ้า และไหลย้อนกลับไปหาพระองค์ผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิด

    แต่ศูนย์กลางของทั้งหมดนี้คือความยินดี “เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์”

ในเวลาที่พระเยซูเจ้าใกล้จะออกจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา พระองค์ตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “พระบิดาของเราทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น”

    นี่คือการเปิดเผยความในใจครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้า ในคืนสุดท้ายก่อนพระองค์จะเสด็จจากไป
    สำหรับพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากความลับของพระเจ้า ในห้วงลึกที่เรามองไม่เห็น คือ “แหล่งกำเนิด” ของทุกสิ่งทุกอย่าง ... ในพระเจ้า ไม่มีความวิเวก ไม่มีความเศร้า – มีแต่ความยินดีที่เกิดจากความรักระหว่างสามพระบุคคล ผู้ทรงรักกันเสมอไม่มีวันหยุด เพราะพระเจ้าคือความรัก!... พระบิดาทรงรักพระบุตร และทั้งสองพระองค์ประทานความยินดีอันเกิดจากความรักของพระองค์ ให้แก่พระจิตองค์เดียวกันของพระองค์...

    วันหนึ่ง ความรักที่มองไม่เห็นด้วยตานี้ได้เสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ธรรมล้ำลึกของความรักของพระเจ้าจึงกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ ... ถ้อยคำที่ทำให้หัวใจมนุษย์เต้น คือ “พระบิดาของเราทรงรักเรา...”

เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น

    และบัดนี้ ในพระเยซูเจ้านี้ พลวัตของความรักจึงเริ่มต้นแผ่ขยายออกไปครอบคลุมมนุษยชาติ พระเจ้าทรงแบ่งปันความรักของพระองค์ ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า...

    ขอให้เราอย่าลืมว่าพระเยซูเจ้าทรงแสดงความรักของพระองค์ต่อเราอย่างไร...

ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย

    คำว่า “เรารักท่าน” ของพระเยซูเจ้าแสดงออกมาในรูปของพระทรมาน – เป็นความรักอันแรงกล้าไร้ขีดจำกัด “พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1)...

    “บั้นปลายสุดท้าย” ของความรักคือกางเขนอันรุ่งโรจน์ ... การรักโดยปราศจากเงื่อนไข และไม่สงวนท่าที คือพระสิริรุ่งโรจน์ และความยินดีของพระเยซูเจ้า...

เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป เพราะผู้รับใช้ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย เพราะเราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา

    พระเยซูเจ้าทรงกล้าบอกเราว่า พระองค์ทรงกำจัดเส้นแบ่งแยกระหว่าง “นาย” และ “คนรับใช้” ระหว่าง “พระเจ้า” และ “มนุษย์” ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกต่อไปนอกจากการเป็น “มิตรสหาย” ไม่มีความลับที่ต้องปิดบังต่อกันอีกต่อไป ... ความรักกระตุ้นให้ผู้ที่รักกันแบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่างแก่กัน ให้มอบทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นของส่วนรวม  “เราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา”

    ความรักย่อมไม่ต้องการแสดงอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง แต่จะเคารพเขา และยกย่องเขาให้เท่าเทียมกับเรา เรายังรู้ด้วยประสบการณ์จากความรักระหว่างมนุษย์ด้วยว่า คนสองคนที่รักกันจะทำตัวโปร่งใสต่อกัน ความรักคือการสื่อสารกัน ... ความสนิทสัมพันธ์ระหว่างกัน ฝ่ายหนึ่งจะเปิดเผยตนเองให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้จักเขา ... พระเยซูเจ้าทรงถูกส่งมายังโลกนี้ เพื่อแสดงให้โลกเห็นความรักที่มีอยู่ในพระเจ้า ... “เราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา” ... ในองค์พระเยซูเจ้า พระเจ้าได้ตรัสปัจฉิมวาทะของพระองค์แล้ว! ... ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เราต้องรู้เกี่ยวกับพระเจ้า!…พระเยซูเจ้าทรงบอกทุกสิ่งที่พระองค์สมควรบอกแก่เราเกี่ยวกับพระเจ้าแล้ว...

นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน

    ธารน้ำแห่งความรักของพระเจ้าไม่เคยหยุดไหล เมื่อไหลลงมาถึงพื้นดิน น้ำทรงชีวิตจากน้ำตกอันยิ่งใหญ่นี้ก็ไหลแผ่ออกเป็นวงกว้าง และพวยพุ่งขึ้นมาอีก ... มนุษย์ได้รับความรักจากพระเจ้า มนุษย์จึงควรกลายเป็น “ความรัก” ให้สมกับที่เขาเป็นภาพลักษณ์ของความรักของพระองค์...
-    “พระบิดาของเราทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น”
-    “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน”
   
    เราควรสังเกตคำว่า “เหมือน ... อย่างไร..อย่างนั้น” พระเจ้าข้า พระองค์กำลังพยายามบอกอะไรแก่เรา ... พระองค์ทรงกำลังขอร้องให้เรารักกันและกันถึงเพียงไหน? ... รักจนถึงจุดหมายที่ความรักของพระองค์ทรงนำพระองค์ไปหรือเปล่า? “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย...”

    รักถึงขนาดที่ยอมสละชีวิตของเรา ... “นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่าน ...นี่เป็นโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่าน ... จงทำดังนี้” ... เราไม่อาจวัดขนาดความรักได้ ... ขนาดของความรักคือไม้กางเขน...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ตรัสว่านี่คือบทบัญญัติของพระองค์ – ราวกับว่ามีบทบัญญัติเพียงข้อเดียว ... นี่คือบทบัญญัติในพระทัยของพระองค์ ... เมื่อข้าพเจ้ารักผู้อื่น ข้าพเจ้ากำลังทำสิ่งที่พระองค์เองกำลังกระทำไม่เคยหยุด ... เมื่อเรารักกันและกัน “พระเจ้าประทับอยู่ในบรรยากาศ” เมื่อนั้นย่อมมี “บรรยากาศดี” ท่ามกลางมวลมนุษย์...

    เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าสมควรสำรวจชีวิตของตนเอง ... “รักกันและกัน” ใครคือ “กันและกัน” สำหรับข้าพเจ้า? ข้าพเจ้าต้องรักใคร? ... ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบใคร? ... ใครกำลังคาดหวังบางสิ่งจากข้าพเจ้า?...

    ข้าพเจ้ามีทัศนคติอย่างไรต่อครอบครัวของข้าพเจ้า ต่อเพื่อนบ้าน ต่อเพื่อนร่วมงาน?...

จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา ... ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเรา ถ้าท่านทำตามที่เราสั่งท่าน

    คนจำนวนมากในปัจจุบันรักแต่พี่น้องของตน ... คู่สมรสต้องรักกัน ... แต่ละครอบครัวต้องรักกัน ... ประเทศต่าง ๆ ต้องรักกัน ... นี่คือความรักใน “แนวราบ” เพราะโลกของมนุษย์หดตัวลง เรามองเห็นไม่เกินเส้นขอบฟ้าของโลก...

    สำหรับพระเยซูเจ้า ยังมีความรักใน “แนวตั้ง” สองแนว ที่พาดผ่านตัวมนุษย์ ความรักลงมาหาเราจากที่สูง คือจากพระเจ้า – และจะต้องย้อนกลับไปที่สูง คือกลับไปหาพระเจ้า ... เราต้องทำให้มนุษย์จำนวนมากที่สุดกลายเป็น “ศิษย์ของพระองค์” – ทำให้มนุษย์รู้สำนึกว่าปัจจัยสำคัญสำหรับความรักทางโลก คือ มนุษย์ต้องยอมรับความรัก – ต้องยอมรับพระเจ้า และรักพระองค์...

    เราได้ยินพระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องความรักเช่นนี้จากเราว่า จงซื่อสัตย์ จงดำรงอยู่ในความรักของเรา จงเป็นมิตรสหายของเรา ... ศิษย์ของพระเยซูเจ้า – หมายถึงคริสตชนทั้งหลาย – เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติผู้รักพระเยซูเจ้าอย่างรู้ตัวและเต็มใจ นี่คือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่...

    แม้แต่สัตว์ก็รู้จักรักกัน แต่ทั่วทั้งเอกภพนี้ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ไม่เพียงสามารถแสดงพลวัตของความรักในชีวิตของเขา แต่ยังสามารถรู้ด้วยว่าความรักนี้มาจากที่ใด และจะต้องย้อนกลับไปที่ใด – เขารู้จักขอบพระคุณแหล่งกำเนิดของความรักนี้...

เหมือนกับที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระบิดาของเรา และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์

    ดังนั้น วงจรนี้จึงมาบรรจบกัน ความเคลื่อนไหวอันทรงพลังที่ไหลหลั่งออกมาจากพระบิดา ได้ไหลย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิด – และเรากำลังเพ่งพินิจภาพที่พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นมนุษย์ กล่าวคือ
-    ทรงเห็นมนุษยชาติ ซึ่งเป็นที่รักของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบิดา...
-    ทรงเห็นมนุษยชาติที่ประกอบด้วยพี่น้องชายหญิง ผู้รักกันและกัน...
-    ทรงเห็นกลุ่มศิษย์ของพระองค์ คือพระศาสนจักร ผู้ยอมรับความรักของพระบิดา เขานำความรักนี้ไปปฏิบัติในชีวิต และเทศน์สอนเรื่องความรักนี้

เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์

    ความยินดีของพระเยซูเจ้า คือ การได้รับความรักจากพระบิดา และการรักพี่น้องชายหญิงของพระองค์ ด้วยการทำให้พี่น้องของพระองค์ยอมรับและรักพระบิดา...

    ความยินดีควรเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคริสตชน เพราะนี่คือลักษณะเฉพาะตัวของพระเยซูเจ้า...
   
    บางครั้งมีคนถามเราว่า “การเป็นคริสตชน ทำให้มนุษย์คนหนึ่งเปลี่ยนไปอย่างไร”...