วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา
1 ซามูเอล 3:3-10, 19; 1 โครินธ์ 6:13-15, 17-20; ยอห์น 1:35-42

บทรำพึงที่ 1
พระองค์ทรงสัมผัสข้าพเจ้า
เราควรแบ่งปันการค้นพบพระเยซูเจ้าของเรากับผู้อื่น เหมือนที่อันดรูว์ทำ

    กล่าวกันว่า ไม่มีสิ่งใดโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ได้มากกว่าเรื่องที่มนุษย์อีกคนหนึ่งค้นพบพระเจ้า เพราะเหตุนี้ เออร์วิง แฮริส จึงจัดทำหนังสือรวบรวมเรื่องของบุคคลต่าง ๆ ที่ค้นพบพระเจ้า เขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า He Touched Me (พระองค์ทรงสัมผัสข้าพเจ้า) เรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของบรูซ ลาร์สัน เขาเป็นนักประพันธ์ นักพูด และเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียง

    ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บรูซต้องสู้รบในทวีปยุโรป เมื่อสงครามสิ้นสุด เขาอยู่ในประเทศเยอรมนีต่อไป และเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ยึดครองประเทศ บรูซบรรยายชีวิตหลังสงครามของเขาในเยอรมนีว่า “ผมรู้สึกเหมือนกับผมกำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเลขยะ ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือขยะนั้นอยู่ภายในตัวผมเอง”

    ขณะที่มีสภาพจิตใจเช่นนี้ คืนหนึ่ง บรูซกำลังทำหน้าที่เฝ้ายามอยู่ในอาคารหลังหนึ่งนอกเมืองสตุทการ์ท อาคารนี้เคยถูกทิ้งระเบิดมาก่อน เขาอยู่ที่นั่นตามลำพัง และเขาหันมาใคร่ครวญสภาพวิญญาณของเขาเอง เขารู้สึกรังเกียจตนเองที่ชีวิตจิตของเขาเสื่อมถอยลงระหว่างที่เขารับราชการอยู่ในกองทัพ

    จากนั้น บรูซได้ทำอะไรบางอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เขาปลดปืนออกจากบ่าและวางปืนพิงกำแพงอิฐ แล้วเขาก็ดับบุหรี่และคุกเข่าลง ขณะที่เขาเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เขาเห็นดาวนับล้านดวงส่องแสงลงมาผ่านไม้จันทันที่ไหม้เกรียมบนหลังคาอาคารที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด เขารวมรวมความเชื่อทั้งหมดที่มีและภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า ถ้าพระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจริง และถ้าพระองค์ทรงห่วงใยผมจริง โปรดเสด็จลงมาและควบคุมชีวิตของผมด้วย” นั่นเป็นช่วงเวลา และคืนที่เขาไม่มีวันลืม

    ระหว่างวันและสัปดาห์ต่อมา บรูซเริ่มพบกับอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในชีวิตของเขา นิสัยวัตถุนิยมของเขา และเป้าหมายทางโลกของเขาเริ่มสลายตัวไป และกลับมีค่านิยมและเป้าหมายฝ่ายจิตเข้ามาแทนที่ เขารู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่จริง ๆ และชีวิตของเขาเริ่มสะท้อนให้เห็นความรู้สึกของเขา เขากล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเขาว่า “ในตอนแรก ผมไม่ได้บอกใครเรื่องนี้ เพราะกลัวว่าจะไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง หรืออาจไม่ยั่งยืน” แต่บัดนี้ บรูซเห็นแล้วว่ามันเป็นของแท้ และยั่งยืน

    คืนนั้น ในอาคารที่เสียหายจากการทิ้งระเบิดในเมืองสตุทการ์ท ประเทศเยอรมนี เขาได้พบพระเยซูคริสตเจ้า เหมือนกับที่อันดรูว์เคยพบในยุคพระวรสาร และเหมือนกับอันดรูว์ เขาถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน” และพระเยซูเจ้าทรงตอบเขาว่า “มาดูซิ”

    ในที่สุดหน้าที่ของบรูซในเยอรมนีก็สิ้นสุดลง เขากลับมาบ้านที่ชิคาโก พร้อมกับทัศนคติใหม่ในชีวิต เขาเขียนว่า “ในเดือนแรก ๆ ในชีวิตใหม่ในฐานะพลเรือนของผม ผมจำได้ชัดเจนว่าผมเดินไปตามถนน ... ผมรู้สึกว่าผมรู้ความลับสูงสุดของชีวิต – ผมรู้ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงต้องการพำนักอยู่ในตัวเรา และอยู่กับเรา และมีส่วนร่วมในชีวิตของเรา... ขณะที่ผมเดินไปตามถนน ผมมองตาของคนแปลกหน้าทั้งหลาย และอยากแบ่งปันความลับที่ผมรู้ให้เขารู้บ้างเหลือเกิน ผมคิดว่าผมคงภาวนาในใจอุทิศให้คนเป็นร้อย ๆ คนที่ผมพบในแต่ละสัปดาห์ ระหว่างที่ผมเดินตามถนนในเมืองชิคาโก”

    ประสบการณ์และความรู้สึกของบรูซ เหมือนกับประสบการณ์และความรู้สึกของอันดรูว์ หลังจากเขาได้พบพระเยซูเจ้า อันดรูว์อยากให้ผู้อื่นรับรู้สิ่งที่เขาค้นพบเช่นกัน ดังนั้น เขาจึงไปหาซีโมนพี่ชายของเขา และเล่าว่าเขาได้ค้นพบอะไร ในที่สุดบรูซก็ทำเช่นเดียวกันนี้ เขาเริ่มแบ่งปันการค้นพบพระเยซูเจ้าของเขาให้แก่ผู้อื่น

    เรื่องของบรูซ และอันดรูว์ ช่วยให้เราเข้าใจประเด็นสำคัญที่เราพบเห็นในทุกเรื่องราวของการกลับใจ นั่นคือ เมื่อคุณค้นพบพระเยซูเจ้าแล้ว – เมื่อคุณค้นพบพระองค์จริง ๆ – คุณจะต้องการแบ่งปันเรื่องราวการค้นพบของคุณให้ผู้อื่นรับรู้

    เราต้องถามตนเองว่า เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร? ความเกี่ยวข้องมีอยู่สองทาง

    ทางที่หนึ่ง เราได้ค้นพบพระเยซูเจ้าแล้ว เหมือนกับที่อันดรูว์ได้ค้นพบในพระวรสารวันนี้ และเหมือนกับบรูซได้ค้นพบในอาคารที่เคยถูกทิ้งระเบิด บางทีการค้นพบของเราอาจไม่น่าตื่นเต้นเหมือนเรื่องของเขาทั้งสอง แต่ก็จริงแท้ไม่ต่างกัน มิฉะนั้น เราคงไม่มาชุมนุมกันรอบโต๊ะอาหารขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันนี้ และเตรียมพร้อมจะเข้าร่วมในงานเลี้ยงของพระองค์

    ทางที่สอง เช่นเดียวกับอันดรูว์ และบรูซ หลังจากค้นพบพระเยซูเจ้าแล้ว เราอยากแบ่งปันสิ่งที่เราค้นพบกับผู้อื่น และเราทำเช่นนี้ด้วยการภาวนาวอนขอให้ผู้อื่นได้พบพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่บรูซภาวนาระหว่างที่เขาเดินไปตามถนนในเมืองชิคาโก และเรายังทำเช่นนี้ได้อีก ด้วยการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการเผยแผ่พระวรสารในโลก

     แต่เราได้ดำเนินการขั้นสำคัญอย่างที่อันดรูว์ และบรูซ ได้ทำหรือเปล่า? เราได้ออกไป และแบ่งปันเรื่องราวของพระเยซูเจ้ากับผู้อื่นด้วยคำพูด หรือแบบฉบับของเราหรือเปล่า?

    พระบัญชาของพระเยซูเจ้าที่ทรงให้สั่งสอนนานาชาติ ไม่ใช่คำบัญชาสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น แต่เป็นคำบัญชาสำหรับเราทุกคน คริสตชนทุกคนต้องเทศน์สอนพระวรสารในทางใดทางหนึ่ง

    ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้ภาวนาอย่างสม่ำเสมอเพื่องานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร ถ้าเราไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างใจกว้างเพื่อสนับสนุนงานประกาศพระวรสารแก่นานาชาติ ถ้าเราไม่ได้เป็นพยานยืนยันพระวรสารด้วยคำพูด หรือแบบฉบับ เมื่อนั้นเรายังไม่ได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระคริสตเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำ เรายังไม่ได้แบ่งปันเรื่องราวการค้นพบพระคริสตเจ้าของเรา ให้ผู้อื่นได้รับรู้ อย่างที่เราสามารถทำได้     

    นี่คือสารจากเรื่องของอันดรูว์ และบรูซ ที่เรานำกลับไปบ้าน และนำไปปฏิบัติได้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาต่อไปนี้

    พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราว่า
    ในโลกนี้ พระองค์ไม่มีเสียงใด นอกจากเสียงของเรา
    เพื่อเทศน์สอนข่าวดีของพระเยซูเจ้าแก่ผู้อื่น

    โปรดทรงช่วยเราให้เผยแผ่ข่าวดี
    มิใช่ด้วยคำภาวนาของเรา
    และด้วยเงินทองของเรา
    แต่ด้วยคำพูดและแบบฉบับของเราเองด้วย

    พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราว่า
    ในโลกนี้ เราคือพระหัตถ์ของพระองค์
    เราคือพระสุรเสียงของพระองค์
    เราคือพระหฤทัยของพระองค์

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 1:35-42

    พระศาสนจักรกำหนดปีพิธีกรรมขึ้นภายในกรอบของสองเทศกาลใหญ่ คือ เทศกาลพระคริสตสมภพ และปัสกา ก่อนจะเข้าสู่ทั้งสองเทศกาลนี้ คริสตชนต้องเตรียมความพร้อมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และเทศกาลมหาพรต และตามมาด้วยวันฉลองอื่น ๆ คือพระคริสตเจ้าแสดงองค์ และเทศกาลปัสกา

    ช่วงเวลานอกเหนือจากเทศกาลเฉลิมฉลองเหล่านี้ ถือว่าเป็น “เทศกาลธรรมดา” ระหว่างนี้วันอาทิตย์จะมีสีสันน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความหมาย ชีวิตของเราไม่ได้มีแต่เหตุการณ์พิเศษ เราต้องมีชีวิตแบบปกติเหมือนกัน

    หลังจากฉลองเทศกาลพระคริสตสมภพและวันขึ้นปีใหม่แล้ว วันนี้ เราเริ่มต้นเทศกาลธรรมดา ซึ่งพระศาสนจักรเชิญเราให้รำพึงตามเหตุการณ์ในชีวิตวัยผู้ใหญ่ของพระเยซูเจ้า       

วันรุ่งขึ้น ยอห์นกำลังยืนอยู่ที่นั่น...

    ข้อความนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิตประจำวัน” ซึ่งเริ่มต้นใหม่ทุกเช้า – ซึ่งดูเหมือนเป็นวันธรรมดาที่น่าเบื่อ ขาดสีสัน ... เป็นการเริ่มต้นใหม่ที่ไม่มีวันจบสิ้น ... นี่เป็นคำเชิญให้เข้าสู่กิจวัตร และความเบื่อหน่ายหรือ?...

    ในสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบนี้ มีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด นั่นคือ พระเจ้า! ... ไม่มีเช้าวันใดที่เป็นเพียงวันเวลาที่จำเจ เพราะพระเจ้าประทับอยู่ในวันนี้ บางสิ่งบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น!

    นักบุญยอห์นบรรยายเรื่องในบทที่หนึ่งของพระวรสารของเขา เหมือนเป็น “สัปดาห์แรก” เราต้องสังเกต “จุดเริ่มต้น” ของพระเยซูเจ้า ดังนี้
    ยอห์น 1:19 – วันที่หนึ่ง, คณะผู้แทนชาวยิวมาสอบถามยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ที่ฝั่งแม่น้ำจอร์แดน
    ยอห์น 1:29 – วันที่สอง, “วันรุ่งขึ้น” ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ชี้ไปที่พระเยซูเจ้า และบอกว่าพระองค์คือลูกแกะของพระเจ้า
    ยอห์น 1:35 – วันที่สาม, “วันรุ่งขึ้น” ยอห์นมอบศิษย์ของเขาให้พระเยซูเจ้า
    ยอห์น 1:43 – วันที่สี่, “วันรุ่งขึ้น” พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์เพิ่มอีกสองคน
    ยอห์น 2:1 – วันที่เจ็ด, “สามวันต่อมา” พระเยซูเจ้าทรงทำอัศจรรย์ครั้งแรกที่งานสมรสที่หมู่บ้านคานา และด้วยอัศจรรย์นี้ พระเยซูเจ้าทรง “แสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ และบรรดาศิษย์เชื่อในพระองค์”

    อาศัยการเรียบเรียงอย่างเป็นขั้นตอนนี้ ยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ได้ประกาศ “ข่าวดี” แก่เรา หน้าแรกของพระคัมภีร์กำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง – นี่คือ “ปฐมกาล” ใหม่ การเนรมิตสร้างครั้งใหม่กำลังเริ่มต้น...

    การเผยแสดงทั้งหมดนี้บอกเราว่า ไม่มี “เวลา” ใดที่ธรรมดา กาลเวลาไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อ เพราะใน “กาลเวลา” มีความใหม่เกิดขึ้น “กาลเวลา” เป็นสถานที่สำหรับการสร้างสรรค์ สำหรับการเนรมิตสร้าง

    ทุกเช้าเป็นสิ่งใหม่สำหรับข้าพเจ้าหรือเปล่า?...

    พระเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าสนใจสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในทันทีทันใด ให้ข้าพเจ้าสนใจเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ และเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยข้าพเจ้าไม่ทันตั้งตัว ... พระเจ้าข้า ทุกวันพระองค์ทรงกำลังรอคอยข้าพเจ้า...

เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป จึงพูดว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า”

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ชี้ไปที่พระเยซูเจ้า – เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ที่เขากำลังประกาศถึงการเสด็จมาของพระองค์ ยอห์นยอมถอยออกมาอย่างถ่อมตน เขายอมปล่อยศิษย์ของเขาให้ไปติดตามอาจารย์อีกคนหนึ่ง ... สมญา “ลูกแกะของพระเจ้า” นี้หมายถึงอะไร – นี่คือสมญาแรกที่มอบให้ชายคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงแต่รู้จักกันว่าเป็นช่างไม้จากนาซาเร็ธ...

    เราขับร้องสมญานี้ในพิธีมิสซาทุกครั้ง เราเข้าใจความหมายของวลีนี้อย่างไร? ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เข้าใจว่าอย่างไร? ... ตามธรรมประเพณีชาวยิว สมญานี้แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านจากพันธสัญญาเดิมเข้าสู่พันธสัญญาใหม่ ประกาศกคนสุดท้ายของยุคพันธสัญญาเดิม กลายเป็นพยานคนแรกที่ยืนยันถึงพระเยซูคริสตเจ้า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?...

    ในวันปัสกา ชาวยิวแต่ละครอบครัวจะถวายลูกแกะตัวหนึ่งเป็นเครื่องบูชา และนำเลือดของแกะมาทาที่กรอบประตูบ้านของเขาระหว่างกินอาหารค่ำ นี่คือสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยชาวยิวจากความเป็นทาส ในภาษาอาราเมอิก ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระเยซูเจ้า คำเดียวกันนี้หมายความได้ทั้ง “ลูกแกะ” และ “ผู้รับใช้” ชาวยิวใจศรัทธาทุกคนย่อมจำคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ได้ (53:7) เขากล่าวถึงผู้รับใช้ที่สมบูรณ์พร้อมของพระเจ้าว่า “เขามิได้ปริปากเหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า” ยอห์นจะใช้ภาพลักษณ์นี้อีกครั้งหนึ่งในหนังสือวิวรณ์ของเขา เมื่อเขาเสนอภาพของลูกแกะผู้ถูกนำออกจากฝูง ผู้ปกป้องพี่น้องของเขา และโจมตีศัตรูจนแตกพ่าย (วว 6:16, 7:17, 17:14) ซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งจากภาพที่เราได้ยินจากบทเพลง หรือภาพที่เราใช้รำพึง ... ลูกแกะของพระเจ้าที่เราขับร้องกันก่อนรับศีลมหาสนิทนั้น ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่อ่อนโยน ไร้พิษสง อย่างที่เรามักคิดกัน แต่เป็นผู้พิชิตที่ได้รับชัยชนะ ที่ร่างกายปกคลุมด้วยเลือดที่เขาหลั่งออกเพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากความชั่ว!...

    นี่คือคำบรรยายลักษณะของพระเยซูเจ้าในวันที่สามของชีวิตสาธารณะของพระองค์

เมื่อศิษย์ทั้งสองคนได้ยินยอห์นพูดดังนี้ จึงติดตามพระเยซูเจ้าไป

    ข้าพเจ้าเห็นภาพเหตุการณ์นี้ได้ในใจ ... พระเยซูเจ้าทรงกำลังเดินอยู่ตามทางบนฝั่งแม่น้ำ ชายสองคนเริ่มเดินตามพระองค์อย่างขี้อาย หัวใจของเขาทั้งสองเต้นแรง ... เขาไม่เคยเห็นพระองค์มาก่อน พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่เขาไม่รู้จัก ... จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?...

    การติดตามบุคคลที่เราไม่รู้จักเช่นนี้นับว่าอันตราย เขาอาจนำท่านไปสู่การผจญภัยก็ได้ ... แต่การเดินทางอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็เริ่มต้นเช่นนี้ เมื่อเส้นทางใหม่ ๆ เผยตัวให้เห็นเบื้องหน้าเรา...

พระเยซูเจ้าทรงหันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นเขากำลังติดตามพระองค์ จึงตรัสถามว่า...

    พระเยซูเจ้าทรงได้ยินเสียงเท้าย่ำลงบนก้อนกรวดเบื้องหลังพระองค์ พระองค์ทรงหันกลับมา...

    ข้าพเจ้าวาดภาพเหตุการณ์นี้ในใจ ... นี่เป็นครั้งแรกที่พระเยซูเจ้าทรงมองดูชายสองคนนี้ที่พระองค์ยังไม่รู้จัก...

“ท่านต้องการสิ่งใด”

    นี่เป็นพระดำรัสแรกของพระเยซูเจ้าในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น พระองค์ตรัสถามมนุษย์ชายหญิงทุกคนด้วยคำถามนี้ – พระองค์ทรงกำลังถามข้าพเจ้าในวันนี้ว่า “ท่านต้องการสิ่งใด? ท่านคิดว่าชีวิตของท่านมีความหมายอย่างไร? ท่านมีความปรารถนา ความใฝ่ฝันอะไร?”

    เราสังเกตว่าพระดำรัสแรกของพระเยซูเจ้าไม่ใช่คำยืนยัน แต่เป็นคำถาม เมื่อเราเข้าไปหาพระเยซูเจ้า เราต้อง “เปิดเผย” – เราต้องไม่ “ปิดกั้นตนเอง” ให้อยู่ภายในระบบปิดใด ๆ เหมือนกับสมณะและพวกเลวี ที่มาหายอห์น ผู้ทำพิธีล้าง (ยน 1:19) แต่ทำให้การเสวนานั้นล้มเหลว เพราะลึก ๆ ในใจของเขา เขาไม่ได้กำลังแสวงหาสิ่งใดเลย ... พระดำรัสแรกของพระเยซูเจ้าบอกเราว่า เงื่อนไขแรกสำหรับจุดเริ่มต้น หรือการพัฒนาความเชื่อ คือการศึกษาคริสตธรรมคำสอน เป็นการแสวงหาและตั้งคำถามว่า “พระองค์เป็นใคร พระเจ้าข้า?” ... ผู้ใดที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองรู้ จะไม่มีวันก้าวหน้า “พระเจ้าไม่มีจริง” – “คุณแน่ใจหรือ?” “พระเจ้ามีจริง และพระองค์ทรงเป็นอย่างนี้ ... อย่างนั้น” – “คุณแน่ใจหรือ?” นักปรัชญาชื่อเดส์การ์ทเคยกล่าวว่า ความสงสัยในระดับหนึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ในทำนองเดียวกัน “การตั้งคำถาม” ในระดับหนึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่ทำให้ความเชื่อเติบโต...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานหัวใจ และวิญญาณที่เปิดกว้าง และพร้อมจะแสวงหา แก่เราด้วยเทอญ!...

เขาทูลตอบว่า “รับบี” แปลว่า พระอาจารย์ “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มาดูซิ”

    การแสวงหา ... การติดตาม ... การอยู่ด้วย ... นี่คือสามทัศนคติที่จำเป็นสำหรับความรัก

    ข้าพเจ้ากำลังแสวงหาพระเจ้าอยู่หรือเปล่า? ... ข้าพเจ้ากำลังเดินตามเส้นทางของพระเจ้าหรือเปล่า? ... ข้าพเจ้าอยู่กับพระเจ้าหรือเปล่า?...

    พระเยซูเจ้าทรงตอบสนองความปรารถนาและการแสวงหาของเขา แต่พระองค์ทรงแสดงความเคารพต่อเสรีภาพของเขา เมื่อพระองค์ตรัสตอบว่า “มาดูซิ” ... พระองค์ไม่ทรงบีบบังคับเรา พระองค์ไม่ทรงใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อ ที่ต้องการเปลี่ยนความคิดมนุษย์โดยใช้ทุกวิถีทาง แม้ว่าต้องใช้กำลังบังคับก็ตาม

    แล้วข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้าใช้วิธีใดกระตุ้นผู้อื่นให้มีความเชื่อ...

เขาจึงไปดู เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง

    ยอห์นใช้คำพูดเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า มิใช่เพราะเขาไม่เก่งในการใช้คำศัพท์ – แต่เขามีเจตนาจะแสดงความจริงทางเทววิทยาและความจริงฝ่ายจิต อาศัยการใช้คำเดิมซ้ำเช่นนี้ เขาบรรยายกระบวนการของการเป็นศิษย์ ว่าประกอบด้วย การแสวงหา (1:38) ... “มาดูซิ” (1:39, 46) ... การเห็น (1:39, 41) ... การพบ (1:41, 45) ... การติดตาม (1:37, 38, 40, 43) ... การพักอยู่กับพระองค์ (1:38, 39)...

    ยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร เป็นหนึ่งในชายสองคนที่ติดตามพระเยซูเจ้าไปในวันนั้น เหตุการณ์นี้ยังตรึงอยู่ในความทรงจำของเขา – เขาบันทึกแม้แต่เวลา – ราวกับเป็นการนัดพบครั้งแรกที่ตรึงอยู่ในความทรงจำของคู่รัก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณบ่ายสี่โมง ... เขาพูดคุยกันเรื่องอะไร ... ชายสองคนนี้คงเล่าประวัติชีวิตของเขา บอกความปรารถนา และการแสวงหาของเขา ... และพระเยซูเจ้าคงบอกแผนการของพระองค์ และความปรารถนาของพระองค์...

อันดรูว์ น้องชายของซีโมนเปโตร เป็นคนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินคำพูดของยอห์นและตามพระเยซูเจ้าไป อันดรูว์พบซีโมน พี่ชาย เป็นคนแรก จึงพูดว่า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า แปลว่า ผู้รับเจิม

    นี่เป็นเอกลักษณ์ของการเรียกของพระเจ้า – หรือกระแสเรียก – คือให้เราได้ยิน นำไปปฏิบัติในความสัมพันธ์กับมนุษย์อื่น ๆ เพื่อจะได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้า เราต้องใส่ใจกับเสียงเรียกของมนุษย์ด้วย ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เรียกอันดรูว์ และยอห์น ... บัดนี้ ยอห์นและอันดรูว์ กำลังเรียกซีโมน และฟิลิปจะเรียกนาธานาเอล...

    ข้าพเจ้าเคยคิดหรือไม่ว่าบางครั้งข้าพเจ้าอาจนำใครบางคนไปพบกับพระเยซูเจ้าด้วยก็ได้? ... ข้าพเจ้าระมัดระวังที่จะไม่เก็บเรื่องราวการค้นพบพระเยซูเจ้าของข้าพเจ้าไว้เป็นความลับหรือเปล่า?...

เขาพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า ‘เคฟาส’ แปลว่า ‘เปโตร’ หรือ ‘ศิลา’

    การเป็นศิษย์พระคริสต์หมายถึงการเปลี่ยนชีวิตของตน ... หมายถึงการเข้าสู่การผจญภัยครั้งใหม่ ... หมายถึงการเป็นคนใหม่ ... นี่คือความหมายของการเปลี่ยนชื่อของซีโมน ศิษย์กลุ่มแรกจำได้ว่าการเปลี่ยนชีวิตครั้งนี้น่าตื่นเต้นอย่างไร ... นี่คือจุดเริ่มต้นของทิศทางใหม่ของชีวิตของเขา – เป็น “การผจญภัย” อย่างแท้จริง ... สำหรับชาวยิว การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ยังหมายความด้วยว่า พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายของซีโมน-เปโตร คนเหล่านี้แสวงหาพระเยซูเจ้า – แต่ท้ายที่สุด พระเยซูเจ้าทรงเป็นฝ่ายแสวงหาพวกเขา ... พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่ริเริ่ม ผ่านทาง “พระหรรษทาน” อันเร้นลับของพระองค์...

    กระแสเรียก หมายถึงเสียงเรียกของมนุษย์ ... และเป็นเสียงเรียกของพระเจ้าด้วย