วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา
ยอห์น 3:1-5, 10; 1 โครินธ์ 7:29-31; มาระโก 1:14-20

บทรำพึงที่ 1
การแสเรียกของพระเจ้าในวันนี้
พระเจ้ายังคงเรียกคนในยุคนี้ เหมือนกับที่ทรงเรียกคนในยุคพระคัมภีร์

    เมื่อมาร์กาเร็ต เมห์เรน อายุ 13 ปี เธอเป็นสมาชิกของขบวนการเยาวชนนาซีในประเทศเยอรมนี หลังจากสงครามสิ้นสุดลง เธอจึงรับรู้ถึงการกระทำอันเหี้ยมโหดในค่ายกักกันของนาซี ซึ่งทำให้เธอตกใจมาก เธอตระหนักในทันทีว่าฮิตเลอร์ ไม่ใช่ผู้นำที่เลอเลิศอย่างที่เธอเคยคิดว่าเขาเป็น เธอปฏิญาณว่าเธอจะไม่มีวันเชื่อผู้ใหญ่คนใดอีกเลย

    ด้วยความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ เธอเริ่มไม่มั่นใจในความเชื่อแบบอเทวนิยมของเธอ วันหนึ่งเธอถึงกับภาวนาต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า ถ้าพระองค์มีตัวตนอยู่จริง โปรดประทานเครื่องหมายบางอย่างแก่ดิฉันด้วย”

    ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เธอได้พระคัมภีร์มาเล่มหนึ่ง เธอพยายามอ่านหลายครั้ง แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วคืนหนึ่ง เธอก็หยิบพระคัมภีร์เล่มนี้ขึ้นมาอีก ครั้งนี้เธอเข้าใจได้ เธอบันทึกในเวลาต่อมาว่า “มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับดิฉัน เมื่อดิฉันอ่านพระวาจาของพระเยซูเจ้า ดิฉันรู้ว่าพระองค์ทรงมีชีวิต ... ดิฉันรู้ว่าพระองค์อยู่ที่นั่น แม้ว่าดิฉันไม่ได้ยินหรือเห็นอะไรเลย พระเยซูเจ้าทรงมีตัวตนจริง จริงยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวดิฉัน – ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน หนังสือของดิฉัน หรือต้นไม้ในกระถาง ดิฉันไม่ได้อยู่ตามลำพังอีกต่อไป ชีวิตของดิฉันไม่ได้เป็นทางตันอีกต่อไป”

    อีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อมาร์กาเร็ตอายุ 21 ปี เธอได้บวชเป็นภคินีคณะฟรังซิสกัน ในปัจจุบัน - 25 ปีหลังจากนั้น - เธอทำงานเป็นธรรมทูตสอนนักเรียนชนกลุ่มน้อยในประเทศอัฟริกาใต้

    เรื่องของมาร์กาเร็ต เมห์เรน ทำให้เราเห็นความจริงว่าพระเจ้ายังทรงเรียกมนุษย์ชายหญิงอยู่ในปัจจุบัน เหมือนกับที่ทรงเคยเรียกโยนาห์ในยุคพันธสัญญาเดิม และทรงเรียกยากอบและยอห์นในยุคพันธสัญญาใหม่ ในพระวรสารวันนี้

    เมื่อพูดว่าพระเจ้าทรงเรียกใครให้เป็นประกาศกของพระองค์ หรือพระเยซูเจ้าทรงเรียกใครให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ เรามักใช้คำว่า “กระแสเรียก” ซึ่งมาจากภาษาละตินที่หมายถึง “การเรียก (to call)” เรายังคิดด้วยว่าพระเจ้าทรงเรียกคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความจริงแน่นอน

    ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณคนสำคัญคนหนึ่งในยุคของเรา คือ นักบวชคณะเยสุอิตชาวอินเดีย ชื่อแอนโธนี เด เมลโล โทนี่กล่าวว่าเขารู้สึกได้ว่าพระเจ้าทรงเรียกเขาตั้งแต่เขาเป็นวัยรุ่น เมื่อเขาขอให้บิดาอนุญาตให้เขาบวชเป็นพระสงฆ์ บิดาของโทนี่ไม่ยอม เขามีบุตรอีกเพียงสองคน และทั้งสองคนเป็นหญิง เป็นหน้าที่ของโทนี่ที่จะสืบทอดชื่อสกุลต่อไป

    หลังจากบิดามารดาของเขาไม่มีบุตรมานานถึง 14 ปี มารดาของโทนี่ก็ตั้งครรภ์ เมื่อเขานำตัวเธอส่งโรงพยาบาลเพื่อคลอดบุตร โทนี่วิ่งไปที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ไกลออกไปถึงสี่ไมล์ เมื่อไปถึง เขากระหืดกระหอบถามว่า “ผู้หญิงหรือผู้ชาย” เมื่อบิดาของเขาบอกว่าเป็นผู้ชาย โทนี่ตอบว่า “เยี่ยม! ตอนนี้ผมก็เป็นพระสงฆ์ได้แล้ว” เมื่อเขาอายุ 16 ปี โทนี่ได้เข้าสามเณราลัยที่เมืองมุมไบ และกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในเวลาต่อมา

    แต่พระเจ้าทรงเรียกบุคคลสูงวัยกว่านี้ให้ติดตามพระองค์เช่นกัน อันที่จริงดูเหมือนว่านี่คือแบบแผนใหม่ที่ปรากฏให้เห็น เพื่อให้เห็นได้ชัด ขอให้พิจารณาประวัติย่อของชายห้าคนจากรายชื่อผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่เข้าคณะเยสุอิตเมื่อ ค.ศ. 1987

    คนแรก ชื่อวินซ์ อายุ 33 ปี เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพิทสเบิร์ก และเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาทั้งในระดับมัธยม และวิทยาลัย

    คนที่สอง ชื่อไมค์ อายุ 26 ปี เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานช่วยเหลือบุคคลไร้บ้านในเมืองบัลติมอร์ และทำงานเป็นครูให้กับหน่วยอาสาสมัครของคณะเยสุอิตในแถบแปซิฟิกตอนใต้

    คนที่สาม ชื่อเรเน่ อายุ 27 ปี เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และทำงานเป็นวิศวกรให้กับบริษัท เท็กซัส อินสตรูเมนท์ส

    คนที่สี่ ชื่อเดวิด อายุ 28 ปี เพิ่งเข้าเป็นคาทอลิก เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น อลาบามา เขาใช้เวลาสี่ปีรับราชการในกองทัพเรือ และต่อมาได้ทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด

    คนสุดท้าย ชื่อยอร์จ อายุ 30 ปี เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ และทำงานเป็นผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศอยู่ห้าปี และเคยทำงานให้กับหน่วยอาสาสมัครของคณะเยสุอิตที่สถานีวิทยุในอลาสก้า

    นี่เป็นเพียงห้าตัวอย่างที่สุ่มเลือกจากรายชื่อของชายที่เข้าคณะนักบวชเมื่อ ค.ศ. 1987 ซึ่งทำให้เราเห็นว่าพระเจ้ายังทรงเรียกเรามนุษย์อยู่ในวันนี้ เหมือนกับที่ทรงเคยเรียกโยนาห์ในยุคพันธสัญญาเดิม และทรงเคยเรียกยากอบและยอห์นในยุคพันธสัญญาใหม่

    และพระเจ้าทรงกำลังเรียกทั้งชายและหญิง พระองค์ทรงกำลังเรียกคนทุกวัย

    บัดนี้ เราจะพิจารณาว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร

    ประการแรก ถ้าเราเป็นบิดามารดา เราเคยบอกบุตรของเราหรือไม่ ว่าเขาควรภาวนาวอนขอให้พระเจ้าทรงนำทาง เมื่อเขาถึงเวลาที่เขาต้องเลือกอาชีพ?

    ประการที่สอง เราเองเคยภาวนาต่อพระเจ้าหรือไม่ เพื่อวอนขอให้บุตรคนหนึ่งของเราได้รับเรียกให้รับใช้พระศาสนจักรในฐานะศาสนบริกร?
    และถ้าเราเป็นคนโสด - ไม่ว่าจะอยู่ในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวก็ตาม – เราเคยภาวนาวอนขอให้พระเจ้าทรงนำทางเราในการเลือกอาชีพในอนาคตหรือไม่?

    หรือ เราเคยภาวนาต่อพระเจ้า และเสนอตัวทำงานเป็นศาสนบริกรเพื่อรับใช้พระศาสนจักรหรือไม่?

    หรือ เราเคยคิดหรือไม่ว่าจะถวายเวลาสักหนึ่งปีในชีวิตของเรา เพื่ออาสาทำงานรับใช้พระศาสนจักร เหมือนกับไมค์ วัย 26 ปี ที่เป็นฆราวาสอาสาสมัครทำงานในแถบแปซิฟิกตอนใต้ หรือเหมือนกับยอร์จ วัย 30 ปี ที่ทำงานเป็นฆราวาสอาสาสมัครที่อลาสก้า?

    การอาสาทำงานร่วมกับอาสาสมัครคนอื่น ๆ – ทั้งชายและหญิง – เป็นวิธีหนึ่งที่จะค้นพบว่าชีวิตรับใช้พระศาสนจักรจะเป็นชีวิตที่ทำให้เรามีความสุข หรือทำให้เรารู้สึกอิ่มเต็ม อย่างที่เราแสวงหาหรือไม่

    นี่คือข้อคิดจากบทอ่านพระวรสารวันนี้ ที่บิดามารดาทุกคน หรือคนโสดควรนำไปไตร่ตรอง เพราะพระเจ้าทรงกำลังเรียกคนในยุคของเรา เหมือนกับที่ทรงเคยเรียกคนในยุคพระคัมภีร์ พระองค์ทรงเรียกทั้งชายและหญิง และทรงเรียกคนทุกวัย

     เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยข้อไตร่ตรองของพระคาร์ดินัลนิวแมน

    พระเจ้าทรงมอบหมายงานบางอย่างให้ข้าพเจ้าทำ ซึ่งพระองค์ไม่ทรงมอบหมายให้แก่ผู้อื่น ข้าพเจ้ามีพันธกิจหนึ่ง ... ดังนั้น ข้าพเจ้าจะวางใจในพระองค์ ... พระองค์ไม่ทรงทำสิ่งใดโดยไร้ประโยชน์ ... พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์ทรงกำลังทำอะไรอยู่

    ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบตนเองไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ โดยไม่เก็บสิ่งใดไว้เลย

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 1:14-20

หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ...

    ข้อความนี้บอกเล่าความจริงอย่างเรียบง่าย เรียบง่ายจนเราอาจมองไม่เห็นความสำคัญ อันที่จริง ข้อความนี้อธิบายให้ได้ดีที่สุดว่าพระเยซูเจ้าทรงดำรงชีพท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ชวนให้ระทึกใจอย่างไร มาระโกไม่ได้บอกเราว่าทำไมยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง จึงถูกจับและถูกจองจำ – เขาจะบอกเหตุผลในภายหลัง (มก 6:17-18) ... เป็นความจริงที่บ่อยครั้งผู้ที่กล้าพูดในพระนามของพระเจ้ากลายเป็นคนที่ขัดขวางความสุขของผู้อื่น และถูกมองว่าเป็นตัวก่อกวน พระเยซูเจ้าทรงเจริญรอยตามบุรุษที่เพิ่งถูกจับกุม พระองค์ทรงเห็น และทรงคาดหมายล่วงหน้าได้แล้วว่าอาจเกิดอะไรขึ้นกับพระองค์ได้บ้างในอนาคตภายในระยะเวลาอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น กล่าวคือ ความระแวงและการเบียดเบียน ... จากนั้นก็ความตาย! นั่นคือชะตากรรมเดียวกันกับของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ญาติของพระองค์...
    เรามีความกล้าที่จะต่อต้านกระแสความคิดของสังคม และเผชิญหน้ากับอันตรายในบางครั้งหรือไม่ เพื่อปฏิบัติตามมโนธรรมของเราโดยไม่ประนีประนอม? ... เรากล้าจะแสดงตัวเป็นคริสตชนโดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากหรือไม่?...

    พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเลือกวิถีชีวิตที่ง่าย ... ส่วนเราผู้ภูมิใจกับการเป็นศิษย์ของพระองค์ เราเลือกเหมือนพระองค์หรือเปล่า?...

พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี...

    ภายในข้อความไม่กี่บรรทัด มาระโกกล่าวถึงพื้นที่ปฏิบัติงานของพระเยซูเจ้าถึงสองครั้ง คือ แคว้นกาลิลี คำนี้ไม่ได้มีความหมายทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่สำหรับมาระโก ยังมีนัยสำคัญทางเทววิทยาอีกด้วย พระคัมภีร์เรียกแคว้นนี้ว่า “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” (อสย 8:23, 1 มคบ 5:15, มธ 4:15) ผลจากการรุกรานของชาวอัสสิเรีย และคาลเดีย ทำให้มีประชากรที่ไม่ใช่ชาวยิวอาศัยอยู่ที่นั่นจำนวนมาก ชาวกาลิลีมีสำเนียงพูดที่กระด้างจนสังเกตได้ (มธ 26:73) และชาวยิวอื่น ๆ ดูแคลนและไม่ไว้ใจคนจากแคว้นนี้ ... ดังนั้น การเสด็จมายังแคว้นกาลิลีของพระเยซูเจ้ามีความหมายเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือ การเปรียบเทียบกาลิลีกับกรุงเยรูซาเล็ม – เมืองที่ผู้นำชาวยิว ผู้ยึดถือธรรมประเพณีอย่างเคร่งครัด จะประหารพระเยซูเจ้าในวันหนึ่ง ... ทุกครั้งที่มาระโกเอ่ยถึงเยรูซาเล็ม เขาจะแสดงว่าเมืองนี้เป็นปฏิปักษ์กับพระเยซูเจ้า ด้วยการเลือกเทศน์สอนใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” พระเยซูเจ้าทรงทำหน้าที่ธรรมทูต คือทรงพยายามติดต่อกับมนุษย์ทุกคน มาระโกเขียนพระวรสารของเขาในกรุงโรมภายใต้อิทธิพลของเปโตร และเขียนเพื่อผู้อ่านที่เคยเป็นคนต่างศาสนา เขาจึงย้ำให้เห็นการเลือกของพระองค์...

    จริงหรือไม่ที่บ่อยครั้งเราทำสิ่งที่ตรงกันข้าม? เราปิดกั้นตนเองให้อยู่แต่ในแวดวงคริสตชน เรากลัวที่จะติดต่อสื่อสารกับ “ชาวโลก” ... พระเยซูเจ้าทรงออกไปหาชาวโลกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้ได้ยินพระวรสาร – ทรงแสวงหาสถานที่ที่พระองค์สามารถพบคนแปลกหน้า ชายหรือหญิงที่คิดต่างจากเรา คนที่เราเรียกว่า “คนต่างศาสนา” ... ในประวัติศาสตร์ มีบางช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ช่วงของอารยธรรมคริสต์” เมื่อพระศาสนจักรมีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางสังคม (ไม่ว่าในด้านงานการกุศล การศึกษา ชีวิตสาธารณะ การเมืองการปกครอง) ... แต่วันนี้ ในแทบทุกประเทศ คริสตชนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย และพระศาสนจักรไม่มีบทบาทผู้นำอีกต่อไป ไม่เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งพระศาสนจักรสามารถปลูกฝังอุดมการณ์และบทบัญญัติของพระวรสารไว้ในชีวิตทางโลกของคนทั่วไป ... เกิดอะไรขึ้นเมื่อคริสตชนคนหนึ่งต้องดำเนินชีวิตตามความเชื่อคริสตชนท่ามกลางประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คริสตชน? ความเชื่อของเขาจะถูกคุกคามอยู่เสมอก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ถูกท้าทายให้แข็งกล้ามากขึ้นด้วย ... ในอดีต บุคคลหนึ่งอาจเป็น “คริสตชนโดยบังเอิญ” – โดยไม่ต้องตัดสินใจเลือกทำอะไรด้วยตนเอง หรือโดยไม่มีแม้แต่ความรู้ลึก ๆ เกี่ยวกับความเชื่อของตน ... เขาเพียงเป็น “หนึ่งในฝูง” เท่านั้น แต่ในวันนี้ เมื่อเราเห็นว่าชีวิตของคนต่างศาสนาอาจหมายถึงอะไร เราต้องเลือกติดตามพระเยซูคริสตเจ้า แทนที่จะโอดครวญกับสถานการณ์ เราควรถือว่าสถานการณ์นั้นเป็นคำเชิญ เพราะนี่คือโอกาสให้เราติดต่อกับผู้อื่น และเราจะมองเห็นแผนการของพระเจ้า ผู้ทรงต้องการให้เราประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน...

    แม้ว่าเราไม่เคยทำเช่นนี้ได้ แต่เราก็ไม่สามารถเป็น “คริสตชนเพื่อตนเอง” ได้อีกต่อไป คริสตชนต้องเป็น “คริสตชนเพื่อผู้อื่น” ... บทบาทของพระศาสนจักรต้องไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะพระศาสนจักรถูก “ส่งไปปฏิบัติพันธกิจในโลก” โดยดำเนินชีวิตผ่านทางพระเยซูเจ้า ใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ”..
    พระเจ้าข้า โปรดทรงนำเราไปกับพระองค์ด้วยเถิด!

    กาลิลีเป็นดินแดนแห่งพันธกิจ ... อินเดีย หรือเอเชียเป็นดินแดนแห่งพันธกิจ ... ทั้งโลกก็เป็นดินแดนแห่งพันธกิจ ... นี่คือดินแดนที่พระเยซูเจ้าทรงเลือก!

... ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า...

    นี่เป็นอีกข้อความหนึ่งที่เราอาจมองข้ามความสำคัญ ทุกวันอาทิตย์เราได้ยินการประกาศ “พระวรสาร” เรารู้ว่า พระวรสารหมายถึง “ข่าวดี” แต่เพื่อให้เราค้นพบความหมายที่ครบถ้วนของคำนี้ และเข้าใจว่า “การเทศน์สอน” ของพระองค์ทำให้ประชาชนใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” ตกตะลึงอย่างไร เราควรแปลคำนี้ว่า “ข่าวอันน่ายินดี” พระเยซูเจ้าทรงประกาศข่าวอันน่ายินดี...

    ข้อความนี้ก็มีรากมาจากพระคัมภีร์เช่นเดียวกัน และมีนัยสำคัญทางศาสนาและสำคัญต่อมนุษย์ ระหว่างช่วงเวลาที่ชาวยิวถูกเนรเทศไปอยู่ที่บาบิโลนในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ประกาศกคนหนึ่งได้ประกาศ “ข่าวอันน่ายินดี” แก่ประชาชนในดินแดนเนรเทศ ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานหลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นข่าวของการปลดปล่อยและจุดสิ้นสุดของการเป็นเชลยของเขา (อสย 40:9, 52:7; สดด 96:2)

    สำหรับมาระโก วลีว่า “ข่าวอันน่ายินดีของพระเจ้า” บอกล่วงหน้าถึง “สารปัสกา” ซึ่งจะได้รับการประกาศในแคว้นกาลิลี “เมื่อเรากลับคืนชีพแล้ว เราจะไปยังแคว้นกาลิลีก่อนหน้าท่าน” (มก 14:28, 16:7)

    ความเชื่อของข้าพเจ้าเป็น “ข่าวดี” หรือ “ข่าวอันน่ายินดี” สำหรับข้าพเจ้าหรือเปล่า? ... เมื่อรอบตัวข้าพเจ้ามีแต่ผู้ไม่มีความเชื่อ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตคริสตชนของข้าพเจ้าเสมือนเป็น “ข่าวอันน่ายินดี” – ข่าวอันน่ายินดีเรื่องการปลดปล่อย เรื่องความรอดพ้น เรื่องปัสกา และเรื่องมนุษยชาติผู้ตกเป็นเชลยที่ได้รับอิสรภาพจากบาปและความตาย หรือเปล่า?

“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว

    พระเจ้าทรงครองราชย์ พระองค์ทรงเริ่มต้นปฏิบัติงานของพระองค์แล้ว!

    นี่เป็นอีกคำหนึ่งที่พบเห็นหลายครั้งในพระคัมภีร์ ประกาศกทั้งหลายได้ประกาศถึง “อำนาจกษัตริย์ของพระเจ้าเหนือประชากรของพระองค์” (มคา 2:13; อสย 6:1-3, 43:15; ยรม 3:17, 8:19; อสค 20:33 เป็นต้น) และ “บทสดุดีพระอาณาจักรของพระเจ้า” (สดด 48, 94, 97, 100) ที่ประชาชนขับร้องกัน ก่อนได้รับการปลดปล่อยนี้

    ในข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อทำให้คำสัญญานี้เป็นความจริง แผนการของพระเจ้าจะบรรลุผล เพราะผู้ยากจน ผู้หิวโหย ผู้ที่ร้องไห้ หรือถูกกดขี่ คนบาป และคนป่วย จะได้รับอิสรภาพ (ลก 4:16-30) พระเจ้าประทับอยู่และทรงทำงานในโลก พร้อมกับและในพระเยซูเจ้า

    “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว” ขั้นตอนสุดท้ายของแผนการของพระเจ้าเริ่มขึ้นแล้ว พระเจ้าทรงต้องการให้มนุษยชาติเต็มเปี่ยมด้วยการประทับอยู่ของพระองค์ เป็นความจริงที่ “ความใกล้ชิด” ของพระเจ้า หรือ “พระอาณาจักร” ของพระเจ้านี้ ยังซ่อนตัวอยู่ – แต่ก็ “มาถึง” แล้ว...

จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด

    ความใกล้ชิดของพระเจ้านี้ เป็นพระพรสำหรับมนุษย์ทุกคน เราแต่ละคนสามารถต้อนรับพระองค์ได้ทุกเวลา ด้วยการกลับใจ ด้วยการเปลี่ยนแปลงจิตใจอย่างสิ้นเชิง ... การกลับใจ หมายถึงการสำนึกผิดและเชื่อ นี่คือบทเทศน์ที่สั้นที่สุด ใช้คำกริยาเพียงสองคำ แต่ทั้งสองคำนี้ไม่ใช่การกระทำที่แตกต่างกัน เพราะ “การกลับใจ” ประกอบด้วย “การเชื่อข่าวดี” ... เชื่อในพระเยซูเจ้า...

    มาระโกอธิบายคำกริยาสองคำนี้ด้วย “คำบอกเล่าเรื่องกระแสเรียก” ที่ตามมา

ขณะที่ทรงพระดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นซีโมนกับอันดรูว์น้องชาย กำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง พระเยซูเจ้าตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” ซีโมนกับอันดรูว์ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที

    มาระโกไม่ได้พยายามเขียนประวัติชีวิตของพระเยซูเจ้า เรารู้จากพระวรสารตามคำบอกเล่าของยอห์น ว่าพระเยซูเจ้าทรงพบกับคนเหล่านี้แล้วบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดน

    แต่มาระโกต้องการแสดงให้เราเห็นความสำคัญและเร่งด่วนของการเรียกให้กลับใจ กล่าวคือ เราต้องเริ่มต้น “ติดตาม” พระเยซูเจ้าไม่เหมือนกับรับบี (อาจารย์) หรือธรรมาจารย์หนุ่ม ๆ ที่มาชุมนุมกันเพื่อถกปัญหา ไตร่ตรอง แลกเปลี่ยนความคิด และสั่งสอน “คำสอนที่ถูกต้อง” พระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นเพียง “ผู้นำทางความคิด” แต่ทรงเป็น “ผู้นำด้วยการกระทำ” สิ่งที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากศิษย์ของพระองค์ไม่ใช่เพียงหูที่พร้อมจะฟัง และสติปัญญาที่เฉียบแหลม แต่เขาต้องมีความเข้มแข็งและน้ำใจมากพอที่จะติดตามพระองค์ และเดินไปพร้อมกับพระองค์ ... การประกาศพระวรสารไม่ใช่กิจกรรมที่เงียบสงบและผ่อนคลาย คำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเต็มไปด้วยการเดินทางไปที่นั่นที่นี่ พระเยซูเจ้าทรงเป็นอาจารย์พเนจร...

    เครื่องหมายของการตกลงปลงใจจะติดตามพระเยซูเจ้าก็คือเราต้องละทิ้งบางสิ่งบางอย่าง! ครั้งนี้ชาวประมงเป็นฝ่ายติดอวนของข่าวดี พวกเขาติดกับ – เขาจะไม่มีวันหลุดออกจากอวนนี้ได้เลย พระเจ้าทรงกำลังเตรียมพระศาสนจักรแล้ว...

เมื่อทรงพระดำเนินไปอีกเล็กน้อย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยากอบ บุตรของเศเบดี และยอห์นน้องชาย กำลังซ่อมแหอยู่ในเรือ พระองค์ทรงเรียกเขา ทั้งสองคนก็ละทิ้งเศเบดี บิดาของตน ไว้ในเรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไปทันที

    ยังมีอีกภาพหนึ่งที่เป็นรูปธรรมและน่าพิศวง เป็น “ภาพลักษณ์” ที่เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย กล่าวคือ ความเชื่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำสอนหรือความคิด มากเท่ากับเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลหนึ่ง! ... เมื่อพระเยซูเจ้าทรงขอให้เรา “เชื่อข่าวดี” พระองค์ทรงหมายความว่าเราต้องยึดมั่นในตัวพระองค์ ติดตามพระองค์ สิ่งสำคัญคือเราต้องผูกพันกับพระบุคคลของพระองค์

    ช่างน่าประทับใจเมื่อคิดว่า “พระเจ้าทรงต้องพึ่งมนุษย์” บัดนี้ เรารู้จักชายสี่คนแรกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการความรอดพ้นอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นดำเนินการ เพื่อให้ “พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง” พระเจ้าทรงจำเป็นต้องใช้มนุษย์ ... ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ คริสตชนแต่ละคนควรมองเห็นกระแสเรียกของตน...

    การจับปลาเป็นงานหนัก การประกาศพระวรสาร หรือข่าวดี ก็เป็นงานหนักเหมือนกัน การเป็นชาวประมงหามนุษย์ไม่ใช่อาชีพที่สบาย ขอให้เราอย่าหลอกตนเอง เพราะมนุษย์ไม่ใช่ปลา – มนุษย์เป็นอิสระ ความอดทนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิบัติพันธกิจ ... “พระอาจารย์ พวกเราทำงานหนักมาทั้งคืนแล้ว จับปลาไม่ได้เลย แต่เมื่อพระองค์มีพระดำรัส ข้าพเจ้าก็จะลงอวน” (ลก 5:5)

    แต่ชายที่ชื่อเยซูนี้เป็นใครกัน จึงนำเราเข้าไปสู่การผจญภัยอันยิ่งใหญ่เช่นนั้น ...

    พระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ของเรา พระองค์คือชีวิตนิรันดรของเรา!...