วันอาทิตย์ที่ 10 เทศกาลธรรมดา
ปฐมกาล 3:9-15; 2 โครินธ์ 4:13-5:1; มาระโก 3:20-35

บทรำพึงที่ 1
ผู้ขับไล่ปีศาจ
อำนาจของพระเยซูเจ้าเหนือปีศาจเป็นเครื่องหมายแสดงว่าอำนาจของปีศาจเหนือโลกได้ถูกทำลายลงแล้ว

    เมื่อหลายปีก่อน วิลเลียม แบลทตี้ ได้เขียนหนังสือที่โด่งดังมาก ชื่อ The Exorcist (ผู้ขับไล่ปีศาจ) เรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มากเป็นประวัติการณ์

    หนังสือของแบลทตี้เกี่ยวข้องกับการถูกปีศาจสิงเหมือนกับในพระวรสารวันนี้ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยายเสียเลยทีเดียว แต่อ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี ค.ศ. 1949 และเกี่ยวข้องกับเด็กชายวัย 14 ปีจากเมาท์เรเนียร์ รัฐเมรี่แลนด์ นิตยสาร Newsweek รายงานเหตุการณ์ว่า

    “รูปภาพ เก้าอี้ และเตียงนอนของเด็กชายจะเคลื่อนที่ในทันทีทันใด เด็กชายแทบไม่ได้นอนตลอดคืน หลังจากเขาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ... เด็กชายเริ่มกล่าวคำสาปแช่งเป็นภาษาโบราณ และครั้งหนึ่งขณะที่เด็กถูกมัดติดกับเตียงจนขยับเขยื้อนไม่ได้ แต่กลับมีรอยขีดข่วนสีแดงเป็นทางยาวปรากฏให้เห็นบนร่างกายของเขา”

    ในภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist พระสงฆ์หนุ่มถามพระสงฆ์ชราคนหนึ่งว่า “ปีศาจเข้าสิงเพื่ออะไร?” พระสงฆ์ชราตอบว่า “ใครจะรู้ได้? ใครบ้างที่คาดหวังจริง ๆ ว่าเขาจะรู้?”

    สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ก็คือ พระวรสารกล่าวไว้หลายครั้งว่าพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนที่ถูกปีศาจสิง การที่พระองค์ทรงขับไล่ปีศาจ และอำนาจของพระองค์ในการขับไล่ปีศาจ ทำให้ประชาชนในยุคสมัยของพระองค์ถามว่า “นี่หมายความว่าอะไร?" เราจะตีความการกระทำของพระเยซูเจ้าว่าหมายถึงอะไร?

    พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามนี้ในพระวรสารตอนอื่น เมื่อพระองค์ตรัสว่าอำนาจของพระองค์เหนือปีศาจเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงกำลังสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้แล้ว (ลก 11:20) นี่เป็นเครื่องหมายแสดงว่าอำนาจของปีศาจที่ครอบงำมนุษย์กำลังถูกทำลาย หรืออีกนัยหนึ่ง อำนาจของพระเยซูเจ้าเหนือปีศาจเป็นเครื่องหมายแสดงว่าอาณาจักรของซาตาน ซึ่งทำให้โลกตกเป็นทาสนับตั้งแต่บาปแรกของอาดัม บัดนี้กำลังถอยออกไป และเปิดทางให้แก่พระอาณาจักรของพระเจ้า

    เราต้องระลึกว่าบาปแรกของอาดัมได้เปิดประตูให้บาปหลั่งไหลเข้ามาท่วมโลก มนุษยชาติตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบาป อาณาจักรของซาตานมีอำนาจเหนือโลก เมื่อพระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจ พระองค์ทรงระบุชัดว่าอำนาจของซาตานในโลกนี้สิ้นสุดลงแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง พระอาณาจักรของพระเจ้าที่มนุษย์รอคอยมานานได้มาถึงโลกแล้ว และทำให้เกิดคำถามสองข้อ

    ข้อแรก ถ้าพระเยซูเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้าตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน แล้วทำไมเราจึงยังวอนขอในบทข้าแต่พระบิดาว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง”?

    ข้อที่สอง ถ้าพระเยซูเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้าตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน แล้วทำไมจึงยังมีความชั่วอยู่ทั่วไปในโลกของเรา?

    เราจะตอบคำถามข้อแรกดังนี้ พระอาณาจักรของพระเจ้าไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทีละน้อย ต้องใช้เวลา และเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

    พระเยซูเจ้าทรงเปรียบการมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้าว่าเหมือนกับการปลูกเมล็ดพืช หลังจากฝังเมล็ดในดินแล้ว เมล็ดนั้นต้องใช้เวลาเพื่อเจริญเติบโตและออกผล พระอาณาจักรของพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงปลูกพระอาณาจักรนี้ลงในดินแล้ว แต่พระองค์ทรงปล่อยให้เราเป็นผู้รดน้ำ พรวนดิน และใส่ปุ๋ย เรามีหน้าที่คอยดูแลให้พระอาณาจักรผลิตผลตามจุดมุ่งหมายของพระเจ้า

      สำหรับคำถามข้อที่สอง ถ้าพระเยซูเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักรของพระเจ้า ตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน แล้วทำไมจึงยังมีความชั่วอยู่ทั่วไปในโลกของเรา? หรือเราอาจถามได้อีกทางหนึ่งว่า ทำไมพระอาณาจักรของพระเจ้าจึงมาถึงช้าเหลือเกิน? หรือทำไมอาณาจักรของซาตานจึงเสื่อมสลายช้าเช่นนี้?

    คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้เชิญชวนเราให้พิจารณาคำสั่งสอนในพระวรสารวันนี้

    เหตุที่พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงช้า และอาณาจักรของซาตานเสื่อมสลายช้าเช่นนี้ เป็นเพราะเราคริสตชนไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างที่เราสมควรทำ เราไม่ได้ช่วยเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์อย่างที่เราสมควรทำ

    ขอให้พิจารณากรณีหนึ่งเป็นตัวอย่าง พวกเราสักกี่คนที่ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้า ที่ทรงให้เรารักกันและกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา? คุณรู้คำตอบดีพอ ๆ กับผม

    เราไม่ได้รักผู้อื่นเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา เราไม่เพียงไม่รักศัตรูของเราและเพื่อนบ้านของเรา แต่เราไม่รักแม้แต่บุคคลในครอบครัวของเราเอง

    และที่เราไม่รักแม้แต่บุคคลในครอบครัวของเราอย่างที่เราสมควรรัก ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนเลว ไม่ใช่เพราะเราเห็นแก่ตัว แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะเราลืมที่จะรัก เพราะเรามัวแต่สาละวนกับงานในแต่ละวัน จนเรามองข้ามแม้แต่ความต้องการของสมาชิกในครอบครัวของเรา เราลืมไปว่าบุตรของเรา และคู่สมรสของเราเป็นคนน่ารักอย่างไร

    ดังนั้น พระวรสารวันนี้จึงสอนเราว่า เราต้องตระหนักให้มากขึ้นว่าอะไรคือหน้าที่คริสตชนของเรา หน้าที่นั้น คือ เราต้องเสริมสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์ และวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้ เริ่มต้นจากนาทีนี้ คือ พยายามตระหนักให้มากขึ้นว่าพระเยซูเจ้าทรงบัญชาให้เรารักกันและกัน - โดยเฉพาะรักครอบครัวของเรา – เหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

    นี่คือคำสั่งสอนในพระวรสารวันนี้ นี่คือคำท้าทายที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอต่อเราแต่ละคนในพิธีกรรมวันนี้

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 3:20-35

พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ประชาชนมาชุมนุมกันอีกจนพระองค์ไม่อาจเสวย และบรรดาศิษย์ก็ไม่อาจกินอาหารได้

    ถ้าพูดตามประสามนุษย์ พระเยซูเจ้าประสบความสำเร็จเมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นเทศน์สอน ฝูงชน – ซึ่งเป็นประชาชนในสังคมระดับล่าง – เข้ามาห้อมล้อมพระองค์เพื่อฟังพระองค์ตรัส มาระโกเขียนพระวรสารตามคำเทศน์สอนของเปโตร เขากล่าวว่าวันหนึ่งมีคนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก จนเขาไม่มีที่แม้แต่จะกินอาหาร บ้านหลังนี้น่าจะเป็นบ้านของซีโมน เปโตร ที่เมืองคาเปอรนาอุม ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงถือเสมือนว่าเป็นบ้านของพระองค์เอง (มก 1:29, 2:1, 3:20, 9:28, 9:33, 10:10) นักโบราณคดีได้สำรวจซากปรักหักพังของเมืองนี้ และพบฐานรากของบ้านเล็ก ๆ หลังหนึ่งของชาวประมง ซึ่งมีอายุประมาณศตวรรษที่หนึ่ง และได้มีการสร้างวัดที่เก่าแก่มากของคริสต์ศาสนาครอบบ้านหลังนี้ ซึ่งมีร่องรอยข้อความที่ขีดเขียนบนปูนที่ทำให้เชื่อว่านี่อาจเป็น “บ้าน” ที่พระเยซูเจ้าทรงเคยมาพำนักบ่อยครั้ง
 
    นับตั้งแต่พระคริสตเจ้าเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ บ้านของเราได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีใหม่ เราสามารถนึกภาพว่าพระเยซูเจ้าทรงเคยพำนักในบ้านหลังหนึ่ง ... เป็นบ้านที่ยากจนของชาวประมงคนหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ ... ท่ามกลางบ้านเรือนที่ยากจนตามตรอกซอกซอยเล็ก ๆ...

เมื่อพระญาติของพระองค์ได้ยินเช่นนี้ ก็ออกไปคุมพระองค์ไว้ เพราะคิดว่าทรงเสียพระสติ

    คนในครอบครัวของพระองค์กล่าวถึงพระเยซูเจ้าเช่นนี้ “เขาควบคุมตนเองไม่ได้ ... เขาเป็นบ้าไปแล้ว” ... หลังจากทรงดำรงชีพอย่างเงียบ ๆ ถึงสามสิบปีที่นาซาเร็ธ พระองค์ทรงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ... ครอบครัวของพระองค์ต้องรู้ด้วยว่าพระองค์กำลังเป็นที่เพ่งเล็งของผู้นำทางศาสนา “เขากำลังจะทำให้พวกเราเดือดร้อนแน่ ๆ” ... ดังนั้น เขาจึงพยายามจะพาตัวพระองค์กลับไป และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนเดิม...

    เราพร้อมหรือไม่ที่จะยอมรับกระแสเรียกที่ดูเหมือน “บ้า” และอันตราย ... และดูเหมือนไม่มีเหตุผลตามความคิดของมนุษย์ผู้รอบคอบ? ... บางครั้งเมื่อเราติดตามพระเยซูเจ้า เคยมีคนคิดว่าเรา “เป็นบ้า” หรือไม่ ... เพราะเราไม่ยึดถือกฎกติกาปกติของโลกธุรกิจ หรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมโนธรรม หรือในพฤติกรรมส่วนตัว หรือพฤติกรรมทางสังคมของเรา?... 

บรรดาธรรมาจารย์ที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มพูดว่า “เขามีปีศาจเบเอลเซบูลสิงอยู่” และ “ขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง”

    บางคนคิดไกลกว่านั้นเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า และเป็นความคิดเห็นที่อันตรายมากยิ่งกว่า เขาว่าพระองค์ไม่เพียง “เป็นบ้า” แต่ทรง “ถูกปีศาจสิง”

    นี่เป็นการพูดเป็นนัยด้วยเจตนาร้าย ไม่มีใครปฏิเสธว่าอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำนั้นเป็นของแท้ – แต่เขาก็พยายามพูดว่าพระองค์ทรงได้รับ “อำนาจ” มาจากซาตาน ซึ่งชาวยิวในยุคนั้นเรียกอย่างเหยียดหยามว่าเบเอลเซบูล ... และผู้ที่เริ่มหว่านความระแวงนี้ในใจของประชาชนก็คือกลุ่มคนที่มีความรู้สูง คือ พวกธรรมาจารย์...
 
พระองค์จึงทรงเรียกเขาเหล่านั้นเข้ามาพบ ตรัสเป็นอุปมาว่า “ซาตานจะขับซาตานได้อย่างไร ถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยก ครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าซาตานลุกขึ้นต่อสู้กันเองและแตกแยก มันก็อยู่ไม่ได้ ต้องถึงจุดจบ ไม่มีใครเข้าไปในบ้านของคนเข้มแข็ง และปล้นเอาทรัพย์ของเขาได้ ถ้าไม่มัดคนเข้มแข็งนั้นไว้ก่อน เมื่อนั้นแหละจึงจะเข้าปล้นบ้านได้”

    นี่เป็นครั้งแรกที่มาระโกบอกเล่าอุปมาเหล่านี้ ซึ่งบรรยายภาพของการต่อสู้อย่างฉับไวและเด็ดขาด พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์ทรงเข้มแข็งกว่าซาตาน ... การต่อสู้นี้ยังดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ... และพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราเมื่อเราต่อสู้กับความชั่วร้าย

    เมื่อเราเผชิญกับพลังของความชั่วที่ถาโถมใส่เราในโลกปัจจุบัน เราสิ้นหวัง หรือมีความหวัง?...

“เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า มนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการ รวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไป แต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย เขามีความผิดตลอดนิรันดร” พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพราะมีผู้พูดว่า “คนนี้มีปีศาจสิงอยู่”

    สาเหตุที่บาปข้อนี้ไม่อาจให้อภัยได้ ไม่ใช่เพราะลักษณะของความผิด หรือเพราะความเมตตาของพระเจ้ามีขีดจำกัด แต่เพราะมนุษย์ผู้ทำบาปข้อนี้ดึงดันจะทำบาปข้อนี้ ... เราต้องย้ำพร้อมกับพระเยซูเจ้าว่า พระเจ้าไม่ทรงพิพากษาลงโทษใครเลย ... พระเจ้าทรงให้อภัยบาปทุกประการของทุกคน ... แต่มนุษย์บางคนปิดกั้นตนเองและไม่ยอมรับการให้อภัยของพระองค์ – และนี่คือ “การดูหมิ่นพระจิตเจ้า”... ไม่ว่าพระเจ้าทรงให้อภัยมากเท่าไร ก็ยังมีบางคนที่ปฏิเสธการให้อภัยนี้ นรกจะต้องเป็นเช่นนี้ ... ทุกคนที่ไปนรกล้วนไม่ต้องการออกจากนรก – ถ้าเขาต้องการพ้นจากนรก เขาย่อมได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้เขารอดพ้นได้ เพราะพระองค์ “ทรงให้อภัยบาปทุกประการ รวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่เขาได้พูดออกไป”...

    การปฏิเสธอย่างดื้อรั้นจนถึงที่สุดนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือ?...

    ไม่มีใครสามารถพิพากษาเพื่อนมนุษย์ด้วยการดูจากภายนอกได้ แต่ทุกคนต้องพิจารณาตนเอง เราต้องถามตนเองในวันนี้ และเวลานี้ ว่า “ฉันเป็นคนบาปหรือเปล่า?” – เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป (รม 3:23) และถามตนเองว่า “ฉันยินดียอมรับการให้อภัยจากพระเจ้าหรือเปล่า? ... ฉันกำลังดูหมิ่นพระจิตเจ้าหรือเปล่า? ... ฉันกำลังล้อเลียนความรักของพระเจ้าที่สามารถบันดาลความชอบธรรมให้แก่คนบาปทุกคนได้หรือเปล่า? (รม 3:24)

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าผู้เป็นคนบาปด้วยเทอญ...

    นี่คือบทภาวนาต่อพระเยซูเจ้า ซึ่งสัตบุรุษในคริสตจักรจารีตตะวันออกสวดกันอยู่เสมอ...

พระมารดาและพระญาติของพระองค์มาถึง

    มาระโกนำสองเหตุการณ์มารวมกัน คือ บรรดาธรรมาจารย์ปฏิเสธพระเยซูเจ้า และเสียงเรียกร้องจากครอบครัวของพระองค์ มาระโกใช้เทคนิคการเขียนเช่นนี้บ่อยครั้ง เพื่อเชิญชวนเราให้มองหาข้อเชื่อมโยงระหว่างสองสถานการณ์ ประชาชน – แม้แต่ครอบครัวของพระองค์ – ปฏิเสธพระองค์ และเข้าใจพระองค์ผิด...

    ในภาษาฮีบรู คำว่า “พี่น้อง (brothers)” หมายความรวมถึงลูกพี่ลูกน้องด้วย ลูกพี่ลูกน้องของพระเยซูเจ้าได้ไปลากน้าสาวของเขา – ผู้เป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า – เพื่อพยายามนำตัวพระองค์กลับไป ขอให้เราสังเกตความกล้าของมาระโก! นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเอ่ยถึงพระนางมารีย์ – และเขากล้าบอกเล่าเรื่องเช่นนี้ ... พระวรสารไม่พยายามเสริมแต่งเหตุการณ์เลย มาระโกไม่อาจแต่งเติมรายละเอียดเช่นนี้ขึ้นมาได้เอง...

... ยืนรออยู่ข้างนอก ส่งคนเข้าไปทูลพระองค์ ประชาชนกำลังนั่งล้อมพระองค์อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ว่า “มารดาและพี่น้องของท่านกำลังตามหาท่าน คอยอยู่ข้างนอก”

    เราต้องนึกภาพเหตุการณ์นี้ในจินตนาการ ประชาชนกำลังนั่งบนพื้นเป็นวงกลมรอบตัวผู้พูด ... ในพันธสัญญาใหม่ นี่คือท่าทางของศิษย์ที่รับฟังอาจารย์ (ลก 10:39, กจ 22:3) มาระโกเปรียบเทียบครอบครัวของพระเยซูเจ้ากับคนทั้งหลายที่ “อยู่ในบ้าน” เขาบอกสองครั้งว่าครอบครัวของพระองค์ “อยู่ข้างนอก” พระศาสนจักรในศตวรรษที่หนึ่งใช้คำว่า “คนนอก (The people outside)” เรียกบุคคลที่ไม่ใช่คริสตชน (1 ธส 4:12; 1 คร 5:12-13; คส 4:5; 1 ทธ 3:7) มาระโกจะใช้คำทำนองนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาแยกมนุษย์ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือคนที่ฟังพระเยซูเจ้าด้วยความเชื่อ และอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ยังอยู่ “ข้างนอก” ... “พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าให้ท่านทั้งหลายรู้ แต่สำหรับคนที่อยู่ภายนอก ทุกสิ่งแสดงออกเป็นเพียงอุปมา” (มก 4:11)

    เหตุการณ์ที่พระนางมารีย์และลูกพี่ลูกน้องของพระเยซูเจ้ามาหาและพยายามยับยั้งพันธกิจของพระองค์ ควรสะกิดใจให้เรารำพึงไตร่ตรองลักษณะของความเชื่อ ความเชื่อของพระนางมารีย์ก็เหมือนกับความเชื่อของเรา คือไม่ใช่ความเชื่อแบบ “สำเร็จรูป” ซึ่งเกิดขึ้นในทันทีทันใดและคงอยู่ตลอดไป อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อคือความเป็นจริงที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พระนางมารีย์ไม่เข้าใจว่าพระบุตรของพระนางเป็นใครตั้งแต่นาทีที่ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนาง – แม้ว่าพระนางทรงได้รับพระหรรษทานพิเศษก็ตาม ... ลูกาบอกเราเช่นกันว่าบางครั้งพระนางมารีย์ก็ “ไม่เข้าใจ” พระเยซูเจ้า (ลก 2:50)...

พระองค์ตรัสถามว่า “ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา” แล้วพระองค์ทอดพระเนตรผู้ที่นั่งเป็นวงล้อมอยู่ ตรัสว่า “นี่คือมารดาและพี่น้องของเรา ผู้ใดที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิง และเป็นมารดาของเรา”

    มาระโกกล่าวบ่อยครั้งถึง “การทอดพระเนตร” ของพระเยซูเจ้า (มก 3:5; 5:32; 10:21; 11:11; 12:41) การภาวนาที่ง่ายที่สุดสำหรับเราก็คือ ให้เราคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังมองดูเราอยู่ในเวลานี้...

    “ผู้ใดที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิง และเป็นมารดาของเรา” ... พระประสงค์ของพระบิดาเป็นสิ่งที่อยู่ในพระทัยของพระเยซูเจ้าเสมอ พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนรักของพระเจ้า! ... คนทั้งหลายที่รักพระเจ้าย่อมเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระองค์ เขาเป็นครอบครัวเดียวของพระองค์ พระองค์ทรงบอกเราเช่นนี้ ... เมื่อมองในแง่นี้ พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระองค์เป็นสองเท่า! ความยิ่งใหญ่แท้ของพระนางคือ “การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า”

    “นั่งเป็นวงล้อมรอบพระองค์” ... “อยู่ภายใต้สายพระเนตรของพระองค์” ... เราอาจบรรยายภาพของคริสตชนกลุ่มแรกได้เช่นนี้ ระหว่างพิธีมิสซาแต่ละครั้ง เราก็อยู่ในบรรยากาศเช่นนี้ “วจนพิธีกรรม” คือการสอนคริสตศาสนธรรมสำหรับคนทุกวัย

    พระเจ้าข้า โปรดช่วยเราให้ฟังพระวาจาของพระองค์เถิด ... และนำไปปฏิบัติในชีวิตของเราเพื่อเราจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของพระองค์เทอญ...