แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา
เอเสเคียล 2:2-5; 2 โครินธ์ 12:7-10; มาระโก 6:1-6

บทรำพึงที่ 1
ความเข้มแข็งในความอ่อนแอ
เวลาที่เราอ่อนแอที่สุดเป็นเวลาที่เราเข้มแข็งที่สุด เพราะเมื่อนั้นเราจะเปิดใจยอมรับพระอานุภาพอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า

    เมื่อหลายปีก่อน ดับเบิลยู. ทิโมธี กอลเวย์ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Inner Game of Tennis (การเล่นเทนนิสในใจ) ในหนังสือเล่มนี้ กอลเวย์เล่าว่า ในคืนหนึ่งกลางฤดูหนาวที่อากาศหนาวจัด เขาขับรถออกจากรัฐเมน มุ่งหน้าไปยังรัฐนิวแฮมพ์เชียร์ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน และเขาอยู่บนถนนที่ว่างเปล่าในเขตชนบท ทันใดนั้น รถโฟล์กสวาเก้นของเขาก็ลื่นไถลบนทางโค้งที่ฉาบด้วยน้ำแข็ง รถกระแทกเข้ากับกองหิมะข้างทางและหยุดนิ่ง เขาไม่สามารถทำให้เครื่องยนต์ติดได้อีกไม่ว่าจะพยายามมากสักเท่าไร

    ขณะนั้นอุณหภูมิประมาณ -20 องศา และสิ่งเดียวที่ป้องกันเขาจากความหนาวก็คือเสื้อแจ็กเก็ตที่เขาสวมอยู่ เขาขับผ่านเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งมาได้ 20 นาทีแล้ว ระหว่างนั้นเขาไม่เห็นรถคันใดวิ่งผ่านไปเลย เขาไม่เห็นบ้าน หรือแม้แต่เสาโทรศัพท์ เขาไม่มีแผนที่และไม่รู้ด้วยว่าเมืองถัดไปอยู่ไกลเท่าไร

    เขาลงจากรถ และเริ่มวิ่งไปตามถนน แต่ความเย็นทำให้เขาสูญเสียพลังงานอย่างรวดเร็ว จนเขาต้องเปลี่ยนเป็นเดิน เมื่อเขาเดินไปได้ประมาณสองนาที หูของเขาเย็นมากจนเขาคิดว่ามันจะหลุดออกมา เขาจึงเริ่มต้นวิ่งอีกครั้งหนึ่ง แต่เขาก็ต้องเปลี่ยนเป็นเดิน เพราะเรี่ยวแรงหายไปอย่างรวดเร็ว

    เวลานั้นเขาเริ่มเข้าใจความร้ายแรงของสถานการณ์ เขานึกถึงภาพของตนเองนอนอยู่ข้างถนน ปกคลุมด้วยหิมะ และแข็งตาย ความคิดนี้ทำให้เขากลัวจนทำอะไรไม่ถูก

    เวลาผ่านไปสองสามนาที กอลเวย์ก็ได้ยินเสียงตนเองพูดออกมาว่า “ก็ได้ ถ้าถึงเวลาตาย ผมก็จะตาย ผมพร้อมแล้ว” จากนั้น เขาก็หยุดวิตกเรื่องความตาย และเริ่มวิ่งเหยาะไปตามถนน เมื่อเขาวิ่งต่อไปเพียงไม่กี่นาที เขาก็พบว่าตนเองกำลังพิศวงกับความงามของท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาว และทิวทัศน์ชนบทที่ปกคลุมด้วยหิมะ เขาแปลกใจมากที่เขายังวิ่งเหยาะเช่นนั้นต่อไปได้นานถึง 40 นาทีโดยไม่หยุด และเขาหยุดเพราะเขาเห็นแสงสว่างจากบ้านหลังหนึ่ง เขารอดชีวิตมาได้อย่างอัศจรรย์

    หลังจากประสบการณ์ของเขา กอลเวย์ไตร่ตรองเหตุการณ์ และถามตนเองว่า เขาได้พลังงานมาจากไหนจนทำให้เขาวิ่งไม่หยุดได้ไกลเช่นนั้น แล้วเขาก็คิดได้ว่า การปลงใจยอมรับชะตากรรมทำให้เขาสัมผัสกับพลังแปลกประหลาดที่เขาไม่เคยประสบพบพานมาก่อน

    ด้วยการปล่อยวางและไม่ต้องการยื้อชีวิต เขายินยอมให้ “ความห่วงใยตามธรรมชาติของตัวตนระดับลึกกว่าเข้ามาควบคุมตัวเขา” ด้วยการยอมจำนนและยอมรับทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เขา เขาจึงเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับพลังอันแปลกประหลาดที่เขาไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ในตัวเขา

    เขาแสดงความคิดเห็นในหนังสือของเขา เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในการยอมจำนน และปล่อยวาง ดังนี้

    “นี่คือความหมายที่แท้จริงของการไม่ยึดติด หมายถึงการปล่อยมือ ... และปล่อยให้ความห่วงใยตามธรรมชาติของตัวตนระดับลึกกว่าเข้ามาควบคุมตัวเรา นี่คือการใส่ใจโดยไม่ใส่ใจ เป็นความพยายามโดยไม่พยายาม มันเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ของการกระทำของเรา และปล่อยให้พลังงานที่ทวีขึ้นนั้นเข้ามาทำงานเอง ... นี่คือการทำงานโดยไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ของการทำงานนั้น และน่าแปลกใจว่า เมื่อเราบรรลุถึงสภาพนี้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถเกิดขึ้นได้”

    ประสบการณ์ของกอลเวย์ ช่วยให้เราเข้าใจถ้อยคำที่เข้าใจยากของนักบุญเปาโลในบทอ่านที่สองของวันนี้ พระเจ้าตรัสกับเปาโลว่า “พระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” (2 คร 12:9)

    เปาโลตอบว่า “ข้าพเจ้าจึงพอใจความอ่อนแอ ... เพราะข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็ย่อมเข้มแข็งเมื่อนั้น” (2 คร 12:10) นี่เป็นข้อความที่แปลก เปาโลหมายความว่าอะไร เมื่อเขาบอกว่า “ข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด ข้าพเจ้าก็ย่อมเข้มแข็งเมื่อนั้น”?

    เขาหมายความว่าเมื่อใดที่เขาอ่อนแอ เมื่อนั้นเขาจะหันไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และเปิดทางให้พระอานุภาพของพระเจ้าทำให้เขาเข้มแข็ง

    หรืออาจพูดได้ว่า เปาโลกำลังบอกเราว่า ถ้าเขาไม่เคยอ่อนแอเลย เขาย่อมไม่แสวงหาความช่วยเหลือ และเขาจะไม่มีวันค้นพบแหล่งพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถค้นพบได้ คือ พระเจ้า

    คนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจถ้อยคำของเปาโลได้ไม่ยากเลยก็คือ กลุ่มผู้ติดสุรานิรนาม (Alcoholics Anonymous) สมาชิกกลุ่มนี้จะบอกคุณตามตรงว่าสิ่งสำคัญที่พลิกชีวิตของเขาก็คือการยอมรับว่าเขาไม่มีกำลังจะต่อสู้กับแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อนั้นเท่านั้น เขาจึงจะยอมรับอย่างจริงใจว่าเขาต้องพึ่งพาพระเจ้า

    เมื่อนั้นเท่านั้น เขาจึงจะเริ่มก้าวสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา และเปิดใจยอมรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า

    เมื่อนั้นเท่านั้น เขาจะได้สัมผัสกับพลังอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์สัมผัสได้

    เมื่อนั้นเท่านั้น เขาจะตระหนักอย่างแท้จริงด้วยประสบการณ์ของตนเองว่าเหตุใดพระคริสตเจ้าจึงเสด็จมายังโลก พระองค์เสด็จมาเพราะเรายังไม่สมบูรณ์ และเราจำเป็นต้องพึ่งพาความเข้มแข็ง และพละกำลังของพระองค์เพื่อให้เราสมบูรณ์

    เรานำความคิดนี้มาใช้ในชีวิตของเราได้แน่นอน

    เมื่อพบกับความลำบาก หรือเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในชีวิตของเรา ซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เมื่อความทุกข์ยากทำท่าว่าจะทำลายเรา เราไม่ควรสูญเสียกำลังใจ แต่เราควรรู้สึกฮึกเหิม เพราะในเวลาเช่นนั้น เราจะค้นพบว่าเราต้องการพระเจ้า และเราจะเปิดใจต่อพระเจ้าอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน และเมื่อนั้นพระเจ้าจะเสด็จเข้ามาในชีวิตของเรา และให้เราได้สัมผัสกับพระอานุภาพของพระองค์อย่างที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

    นี่คือความหมายอันแปลกประหลาดของถ้อยคำของเปาโล นี่คือข่าวดีในบทอ่านวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกที่เรามาร่วมกันเฉลิมฉลองในพิธีกรรมวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนที่สรุปทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพยายามจะบอก

    ข้าพเจ้าวอนขอสุขภาพ เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้
    แต่ข้าพเจ้าได้รับโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งที่ดีกว่าเดิม...
    ข้าพเจ้าวอนขอความร่ำรวย เพื่อให้ข้าพเจ้ามีความสุข
    แต่ข้าพเจ้าได้รับความยากจน เพื่อให้ข้าพเจ้ามีความฉลาด...
    ข้าพเจ้าวอนขออำนาจ เพื่อข้าพเจ้าจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์
    แต่ข้าพเจ้าได้รับความอ่อนแอ เพื่อให้ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าข้าพเจ้าต้องพึ่งพาพระเจ้า...
    ข้าพเจ้าวอนขอทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อข้าพเจ้าจะได้ชื่นชมชีวิต
    แต่ข้าพเจ้าได้รับชีวิต เพื่อข้าพเจ้าจะได้ชื่นชมทุกสิ่งทุกอย่าง...
    ข้าพเจ้าไม่ได้รับสิ่งใดที่ข้าพเจ้าวอนขอเลย
    แต่ข้าพเจ้าได้รับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวัง
    คำภาวนาที่ข้าพเจ้าไม่ได้เปล่งออกมา กลับได้รับการตอบสนอง
    ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้รับพระพรมากมายที่สุดในมวลมนุษย์

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 6:1-6

พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่น กลับไปยังถิ่นกำเนิดของพระองค์ บรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย

    พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมายังนาซาเร็ธ นี่คือหมู่บ้านของพระองค์ นี่คือ “บ้านเมือง” ของพระองค์...

    การสำรวจสำมะโนประชากรเป็นเหตุให้พระเยซูเจ้าประสูติที่เบธเลเฮม แต่พระองค์ทรงใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นที่นาซาเร็ธ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลถนนสายหลัก ในยุคนั้น หมู่บ้านนี้อาจมีประชากรเพียงหนึ่งร้อยห้าสิบครอบครัว ชีวิตของประชาชนเป็นชีวิตที่เรียบง่าย เขาทำสวนมะกอกและสวนองุ่น ปลูกข้าวสาลี หรือข้าวไรย์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ละครอบครัวเลี้ยงแพะไว้สองสามตัว ขนมปังอบเป็นอาหารที่เขากินเป็นประจำ เมื่อถึงวันเสาร์ทุกคนไปที่ศาลาธรรม ซึ่งเป็นอาคารหลังเล็ก ๆ สำหรับอธิษฐานภาวนา

    ไม่ว่าจะมองในแง่ใด พระเยซูเจ้าก็ทรงเป็นชาวไร่ชาวนา ทรงเป็นชาวชนบทที่ติดดิน พระวรสารเต็มไปด้วยคำบรรยายวิถีชีวิตแบบชนบท เป็นคำบอกเล่าที่เขียนโดยชาวชนบทเกี่ยวกับชีวิตของชาวไร่ชาวนาคนหนึ่ง ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกับประชาชนในชนบท และเขาอธิบายคำสั่งสอนโดยยกภาพลักษณ์ที่ชาวชนบทคุ้นเคยเป็นตัวอย่าง

    ในวิถีชีวิตเช่นนี้ ช่างไม้ทำงานอะไร? เขาคงไม่ได้ผลิตเครื่องเรือนหรือเตียง เก้าอี้หรือบานประตู ชาวชนบทเหล่านี้สามารถผลิตเครื่องใช้ในบ้านได้ด้วยตนเอง พวกเขานั่งบนพื้น และนอนบนเสื่อที่ปูบนพื้นบ้าน พระเยซูเจ้า “ผู้เป็นช่างไม้” ทรงเป็นชาวนาในหมู่ชาวนา พระองค์คงต้องมีทักษะพิเศษบางอย่างที่พระองค์ทรงเรียนรู้จากโยเซฟ พระองค์ทรงเป็นช่างฝีมือที่สามารถซ่อมแอกและคันไถได้ เป็นต้น

    เมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชน พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่แตกต่างจากผู้อื่น ข้าพเจ้ารำพึงตามความจริงข้อนี้   

ครั้นถึงวันสับบาโต พระองค์ทรงเริ่มสั่งสอนในศาลาธรรม

    พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตนเหมือนกับคนอื่น ๆ ในด้านนี้เช่นกัน เราไม่ควรเข้าใจข้อความนี้ผิดไป พระเยซูเจ้าไม่ใช่ “ผู้ประกอบพิธี” พระองค์มิได้ทำหน้าที่สมณะ พระองค์ทรงเป็นเพียงฆราวาสคนหนึ่งในที่ชุมนุมนั้น

    ผู้ใหญ่เพศชายทุกคนในอิสราเอล – เด็กชายอายุ 12 ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย – เป็น “สมณะ” คือเป็นสมาชิกเต็มขั้นของ “ตระกูลสมณะ” เพราะเหตุนี้ ชายทุกคนจึงมีสิทธิประกาศและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความในพระคัมภีร์ นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในวันนั้น พระองค์ทรงลุกจากที่นั่งเพื่อประกาศพระวาจา และเทศน์สอน

    มาระโกไม่ได้บอกเราว่าพระองค์ทรงเทศน์สอนเรื่องใดในวันนั้น

ผู้ฟังมากมายต่างประหลาดใจ และพูดว่า “เขาเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาจากไหน ปรีชาญาณที่เขาได้รับมานี้คืออะไร อะไรคืออัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยมือของเขา”

    ชื่อเสียงของพระเยซูเจ้าเลื่องลือมาจนถึงหมู่บ้านของพระองค์ แทนที่จะภูมิใจในตัวพระองค์ คนในหมู่บ้านเดียวกันกลับไม่พอใจ ข่าวที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระองค์ไม่สอดคล้องกับเรื่องที่เขารู้เกี่ยวกับพระองค์! พวกเขาต้องรู้จักพระองค์ดีกว่าผู้อื่น เพราะเขาเห็นพระองค์มาตั้งแต่เด็ก เขาไปโรงเรียนเดียวกับพระองค์ ... พระองค์ไม่มีสิทธิปฏิบัติตัวผิดไปจากที่เขารู้จักพระองค์!...

    บางครั้ง เราเองก็ติดพันอยู่กับสิ่งที่เรารู้ และไม่ยอมค้นหาความจริงในระดับลึก

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เป็นอิสระจากความคิดแบบจารีตนิยม จากความคิดแบบเดิม ๆ จากสิ่งที่กีดขวางสติปัญญา และจิตวิญญาณของเรา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงนำเราออกจากความเคยชิน ออกจากโลกแคบ ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาห่อหุ้มตัวเรา...

“คนนี้เป็นช่างไม้ ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดา และซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเราไม่ใช่หรือ”

    พระวรสารของมาระโกวาดภาพให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เราเข้าใจเช่นนี้จากคำพูดของชาวไร่ชาวนาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ฝังตัวอยู่ในชนบท ศูนย์กลางชีวิตของคนเหล่านี้คือวงศ์ตระกูลของเขา เขาไม่เคยมองไกลเกินเนินเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้านของเขา เขาสามารถระบุชื่อญาติทุกคนของพระเยซูเจ้า และตามธรรมเนียมของคนตะวันออก เขาเรียกคนเหล่านี้ว่า “พี่น้อง” ของพระองค์ – แต่เขาไม่เอ่ยชื่อญาติผู้หญิง เพราะธรรมเนียมของเขาไม่ถือว่าสตรีมีฐานะใด ๆ ในสังคม!

    บุคคลนี้เป็นใครจึงพยายามเปลี่ยนธรรมเนียมของเรา ทำลายความสงบในโลกใบเล็กของเรา เรารู้จักสถานภาพและความสัมพันธ์ทางสังคมของทุกคนในโลกเล็ก ๆ ของเรา ถูกแล้ว ทุกคนควรอยู่ในที่ทางของตนเอง และแสดงบทบาทของเขาโดยไม่คิดเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในทันทีทันใด!

คนเหล่านั้นรู้สึกสะดุดใจและไม่ยอมรับพระองค์

    พระวรสารสหทรรศน์ทุกฉบับ ทั้งมัทธิว มาระโก และลูกา บอกเล่าความล้มเหลวครั้งนี้ของพระเยซูเจ้า นั่นต้องเป็นช่วงเวลาอันเจ็บปวดสำหรับพระองค์อย่างแน่นอน เมื่อพระองค์ทรงถูก “ปฏิเสธ”

    แม้แต่ทุกวันนี้ก็มีบางคนที่ไม่พอใจคำสั่งสอนของพระศาสนจักร คนเหล่านี้บอกว่าเขาไม่เชื่อฟังเพราะคำสั่งสอนของพระศาสนจักร “ไม่ทันสมัย” ... “ล้าสมัย” ... รบกวนจิตสำนึกของเขา และขัดขวางวิถีชีวิตแบบตามใจตนเองของเขา แต่พระศาสนจักรมีหน้าที่ประกาศสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม และเตือนให้ระวังสิ่งที่ชั่วร้ายและไม่ชอบธรรม ไม่ว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไรก็ตาม เป็นธรรมดาที่การสั่งสอนเช่นนี้รบกวนธรรมเนียมที่มนุษย์กำหนดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่สะดุดสำหรับคนจำนวนมาก เหมือนกับที่คนร่วมสมัยของพระเยซูเจ้ารู้สึกสะดุดกับวิถีชีวิตและคำสั่งสอนของพระองค์

    นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากที่อ้างว่าเขาไม่เชื่อฟังพระศาสนจักร เพราะผู้แทนของพระศาสนจักร เช่นพระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวช ไม่ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี แม้ว่าเราไม่สามารถแก้ตัวได้ในกรณีเหล่านั้น แต่เราต้องเข้าใจว่าบุคคลเหล่านี้ก็อ่อนแอได้เหมือนกับมนุษย์อย่างเรา และเรามีหน้าที่ต้องติดตามพระเยซูเจ้า และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสนจักร แม้ว่าเราเห็นตัวอย่างไม่ดีเหล่านั้นก็ตาม 

พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยาม นอกจากในถิ่นกำเนิด ท่ามกลางวงศ์ญาติและในบ้านของตน”

    ไม่มีใครเข้าใจพระเยซูเจ้าผิด ๆ เท่ากับสมาชิกครอบครัวของพระองค์เอง เพราะเขาไม่รู้ว่าพระองค์เป็นใคร ความคุ้นเคยสามารถกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ได้ การมองพระเจ้าแต่ในมิติมนุษย์ย่อมทำให้เราเข้าใจพระองค์ผิด ความใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริงไม่จำเป็นต้องเป็นความใกล้ชิดทางเนื้อหนัง เราเองก็อาจมีความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับศีลมหาสนิท ถ้าเราคิดว่าการแสดงกิริยาภายนอก และการเข้าร่วมในพิธีกรรม สามารถทำให้เราเป็น “ครอบครัว” ของพระเยซูเจ้าได้โดยอัตโนมัติ

    เรารู้ว่าครอบครัวแท้ของพระเยซูเจ้าไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์ทางสายโลหิต แต่เกิดจากความเชื่อ ... “ผู้ใดทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา” (มก 3:35) พระเยซูเจ้าทรงสร้างครอบครัวใหม่ของพระองค์เอง สมาชิกในครอบครัวใหม่ของพระองค์ก็คือผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้า และปฏิบัติตาม

พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้ นอกจากทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้เจ็บป่วยบางคนให้หายจากโรคภัย

    การเปิดเผยเรื่องนี้น่าประหลาดใจมาก และขัดต่อความคิดของเรา ดูเหมือนว่าการรักษาโรค – แม้ว่าจะเกิดขึ้นจากการปกพระหัตถ์ของพระเยซูเจ้า – ไม่จำเป็นต้องเป็นอัศจรรย์! นั่นหมายความว่า ความเชื่อเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับอัศจรรย์แท้ การรักษาโรคที่ไม่นำไปสู่ความเชื่อ และการยอมรับพระเยซูเจ้า ไม่ถือว่าเป็นอัศจรรย์แท้ เพราะขาดนัยสำคัญที่เป็นเงื่อนไข

    และถ้าจำเป็น นี่คือข้อพิสูจน์ด้วยว่าแม้แต่อัศจรรย์ก็ยังไม่เพียงพอจะทำให้เกิดความเชื่อได้ ชาวนาซาเร็ธกล่าวว่า “อะไรคืออัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยมือของเขาในหมู่บ้านใกล้เคียง” กิจกรรมของพระเยซูเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ชัด แม้แต่อัศจรรย์ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ยังไม่เพียงพอจะเปิดเผยธรรมล้ำลึกของพระบุคคลของพระองค์ได้

    บางครั้งเราก็ยังร้องขอให้พระเจ้าเข้าแทรกแซงช่วยเหลือเรา และ “พิสูจน์ให้เราเห็นว่าพระองค์เป็นใคร” เราได้ยินคำเตือนแล้วว่าเราอาจ “มองแล้วมองเล่า แต่ไม่เห็น ฟังแล้วฟังเล่า แต่ไม่เข้าใจ” (มก 4:12) ในทำนองเดียวกัน “แม้พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์หลายครั้งต่อหน้าประชาชน แต่เขาก็ไม่เชื่อในพระองค์” (ยน 12:37) นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดคริสตชนบางคนจึงไม่ไว้วางใจอัศจรรย์ และเหตุใดพระศาสนจักรจึงต้องรอบคอบมาก – ต่างจาก “พ่อค้าอัศจรรย์” ทั้งหลาย

พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่เขาเหล่านั้นไม่มีความเชื่อ

    การไม่ยอมเชื่อนี้ดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอระหว่างการเทศน์สอนในระยะที่สองของพระเยซูเจ้า เราเห็นพระเยซูเจ้าทรงเผชิญกับปัญหาจากการขาดความเชื่อของประชาชน

    บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ามีแต่คนสมัยใหม่เท่านั้นที่ไม่ยอมเชื่อ – ราวกับว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมาเป็น “ยุคของความเชื่อ” พระศาสนจักรถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่า “ไม่สอนศาสนาอีกต่อไป ... ไม่สอนคริสตธรรมคำสอนอีกต่อไป” แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนคริสตธรรมคำสอนด้วยพระองค์เอง ในหมู่บ้านของพระองค์ – ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ยังบริสุทธิ์ – พระองค์ก็ไม่สามารถกระตุ้นให้ประชาชนมีความเชื่อได้!

    บิดามารดามากมายในปัจจุบันก็เผชิญกับปัญหาเดียวกันนี้กับบุตรของตน พระเยซูเจ้าเองก็ทรงพบผู้ไม่มีความเชื่อในครอบครัวของพระองค์ ไม่ว่าพระองค์จะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์สักเท่าไรก็ตาม!

    สภาพไร้อำนาจของพระเยซูเจ้า เบื้องหน้าความไม่เชื่อของประชาชนในหมู่บ้านของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเคารพเสรีภาพของมนุษย์มาก และนี่คือภาพลักษณ์ของความเคารพของพระเจ้าต่อเสรีภาพที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น “ความอ่อนแอของพระเจ้า” นี้ควรทำให้เราไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ความเชื่อของเราอาจไม่มั่นคงอย่างที่เราคิดก็ได้ ...  ความเชื่อคือความเป็นจริงที่เปราะบางและถูกคุกคามได้ง่าย

พระองค์เสด็จไปทรงสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณนั้น

    นี่คือบทเรียนที่ช่วยให้ข้าพเจ้ารับมือกับความล้มเหลวของตนเอง

    แทนที่จะรู้สึกท้อถอยกับความล้มเหลวอย่างน่าเสียใจของพระองค์ที่นาซาเร็ธ พระเยซูเจ้ากลับทรงเริ่มทำงานอีกครั้งหนึ่ง มาระโกตั้งข้อสังเกตสั้น ๆ ว่า “พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่เขาเหล่านั้นไม่มีความเชื่อ” เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับความล้มเหลว และดึงความรู้สึกดี ๆ ออกมาจากความล้มเหลวนั้นได้โดยไม่หมดกำลังใจ

    บทอ่านทั้งสามบทในวันอาทิตย์นี้ กล่าวถึง “ชีวิตจิตท่ามกลางความล้มเหลว” ประกาศกเอเสเคียล (2:2-5) ได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้ยืนหยัดมั่นคงเบื้องหน้าประชาชนที่ไม่ยอมรับสารของเขา เปาโลยอมรับว่าเขา “มีหนามทิ่มแทงเนื้อหนัง” ของเขา หมายถึงความล้มเหลวที่เขาไม่อาจเอาชนะได้ (2 คร 12:7-10)

    เราจะปล่อยให้ตนเองหมดกำลังใจเพราะความพยายามกลับใจของเราดูเหมือนไม่ก้าวหน้าเลย ... หรือเพราะสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือ?