วันอาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 35:4-7; ยากอบ 2:1-5; มาระโก 7:31-37

บทรำพึงที่ 1
พระเยซูเจ้ายังทรงทำงานอยู่ในวันนี้
พระเยซูเจ้าทรงใช้มือของเรา เท้าของเรา เสียงของเรา และหัวใจของเราเพื่อสัมผัสคนทั้งหลายในยุคของเรา

    หลาย ๆ คนยังจำ พอล สตูกี้ ได้ เขาเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกระหว่างทศวรรษที่ 1960 ขณะที่เขาเป็นสมาชิกคณะนักร้องปีเตอร์ พอล และเมรี่

    แต่น้อยคนรู้ว่าพอลต้องใช้เวลาสำรวจจิตใจตนเองนานมากระหว่างที่เขายังเป็นนักร้อง แม้ว่าเขามีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่พอลรู้สึกว่าภายในตัวของเขามีความหิวกระหายฝ่ายจิต

    วันหนึ่งความหิวกระหายนี้รุนแรงมากจนเขาหันไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนนักร้องอีกคนหนึ่ง บุคคลที่เขาปรึกษานี้คือนักร้องชื่อ บ็อบ ดีแลน สตูกี้บอกในภายหลังว่า “ถ้าจะมีใครสักคนที่รู้สภาพวิญญาณของเราในเวลานั้น ใครคนนั้นก็คือ บ็อบ ดีแลน”

    สตูกี้ และดีแลน พูดคุยกันเป็นเวลานาน บทสนทนาของเขาจบลงโดย ดีแลน เสนอคำแนะนำสองข้อ

    ข้อแรก เขาบอกให้สตูกี้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมที่เขาเคยเรียน และให้เดินไปตามระเบียงของโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง และสัมผัสกับรากเหง้าของตนเอง

    ข้อที่สอง เขาบอกให้สตูกี้เริ่มอ่านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะภาคพันธสัญญาใหม่

    สตูกี้ ทำตามคำแนะนำของดีแลน เขากล่าวในภายหลังว่า “ผมเริ่มต้นนำพระวรสารติดตัวไปไหนมาไหนกับผมด้วย ... มันเหมือนกับว่าคุณมีพี่ชายคนหนึ่งอยู่ข้างกายคุณตลอดเวลา” จากนั้นก็เริ่มมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น สตูกี้อธิบายในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งดังนี้

    “ผมเริ่มค้นพบว่าความจริงทั้งหมดที่ผมแสวงหาล้วนมีอยู่ในชีวิตของ (พระเยซูเจ้า)... มันวิเศษมาก พระองค์ทรงแสดงแบบอย่างที่ดี แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริง ๆ”

    แล้วในคืนหนึ่ง ขณะที่สตูกี้กำลังแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองออสติน ในรัฐเท็กซัส ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขาที่ด้านหลังเวที และเริ่มพูดกับเขาเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงบรรยายเป็นคำพูดได้ยาก สตูกี้บรรยายว่า “แล้วผมก็เริ่มต้นสวดภาวนาร่วมกับเขา และผมขอให้พระเยซูเจ้าเข้ามาครอบครองชีวิตของผม แล้วผมก็เริ่มร้องไห้ และเขาก็เริ่มร้องไห้”

    ในคืนนั้น ที่ด้านหลังเวทีในรัฐเท็กซัส พระหรรษทานของพระเจ้าได้สัมผัสสตูกี้อย่างน่าประเหลาดใจ สตูกี้เหมือนกับคนใบ้หูหนวกในพระวรสารวันนี้ หูของเขาเปิด ทำให้เขาได้ยินและเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าในแบบใหม่ และสิ่งที่ขัดลิ้นของเขาก็หลุดออก ทำให้เขาสามารถสรรเสริญพระเจ้า และอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์ในแบบใหม่

    สตูกี้ยังต้องพัฒนาตนเองอีกมาก การเดินทางของความเชื่อของเขาเพิ่งจะเริ่มต้น แต่เพราะชายหนุ่มในเท็กซัสคนนั้น พระหรรษทานของพระเจ้าจึงสัมผัสเขาอย่างลึกล้ำ และเขาจะไม่มีวันกลับมาเป็นคนเดิมอีก

    เรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นประเด็นสำคัญที่เรามักลืมนึกถึง กล่าวคือ พระเยซูเจ้ายังทรงเปิดหูของคนหูหนวกในวันนี้ เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำในยุคพระวรสาร และพระองค์ยังทำให้สิ่งที่ขัดลิ้นของคนในยุคนี้หลุดออก เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำในยุคพระวรสาร ต่างกันเพียงวิธีการที่พระเยซูเจ้าทรงใช้กระทำสิ่งเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ได้ทรงกระทำด้วยพระหัตถ์และพระสุรเสียงของพระองค์เอง แต่พระองค์ทรงกระทำโดยทรงใช้มือและเสียงของผู้อื่น

    เช่น พระเยซูเจ้าทรงใช้ชายหนุ่มในเท็กซัสให้ช่วยเปิดตาและหูของสตูกี้ เพื่อให้เขาสามารถเข้าใจพระวาจาของพระเจ้า และทรงใช้ชายหนุ่มคนนี้ทำให้สิ่งที่ขัดลิ้นของสตูกี้หลุดออก เพื่อให้เขาสามารถอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าได้

    อาจกล่าวได้ว่า พระเยซูเจ้าไม่มีพระบาทที่พระองค์สามารถใช้เดินเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน พระองค์ทรงต้องใช้เท้าของเราเพื่อทำเช่นนั้น เหมือนกับที่ทรงใช้เท้าของชายหนุ่มในเท็กซัส เดินเข้าไปในชีวิตของพอล สตูกี้

    พระเยซูเจ้าไม่มีพระหัตถ์ นอกจากมือของเรา ที่จะยื่นออกไปรักษาหูและลิ้นของมนุษย์ในปัจจุบัน พระองค์ทรงต้องใช้มือของเราทำเช่นนั้น เหมือนกับที่พระองค์ทรงใช้มือของชายหนุ่มในเท็กซัส เพื่อยื่นออกไปรักษาหูและลิ้นของ พอล สตูกี้

    พระเยซูเจ้าไม่มีพระสุรเสียง นอกจากเสียงของเรา ที่จะตรัสกับหัวใจของมนุษย์ในปัจจุบัน พระองค์ทรงต้องใช้เสียงของเราเพื่อทำเช่นนั้น เหมือนกับที่พระองค์ทรงใช้เสียงของชายหนุ่มคนนั้น เพื่อตรัสกับหัวใจของพอล สตูกี้

    เมื่อหลายปีก่อน ก่อนการแข่งขันซูเปอร์โบล ครั้งที่ 16 นักข่าวชื่อ เจอรี่ ไอเซนเบิร์ก จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ ได้สัมภาษณ์ เรกกี้ วิลเลียม จากทีมซินซินนาติ เบงกอลส์ เรกกี้ก็เหมือนกับชายในพระวรสารวันนี้ เขาเกิดมาพร้อมกับปัญหาการได้ยินบกพร่อง แต่ไม่มีใครสนใจ เรกกี้บอกไอเซนเบิร์กว่าครูคนแรก ๆ ของเขาคิดแต่ว่าเขาปัญญาทึบและโง่ แต่ครูเกรดสามของเขา ชื่อมิสแชปแมน ให้ความสนใจในตัวเขาและค้นพบปัญหาของเขา และช่วยให้เขาได้รับความช่วยเหลืออย่างที่เขาควรได้รับ

    เพราะมิสแชปแมน บัดนี้หูของเรกกี้จึงเปิด และเขาได้ยินชัดเป็นครั้งแรกในชีวิต เรกกี้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมโดยติดอยู่ในกลุ่ม 5% ของนักเรียนที่ผลการเรียนดีเด่นที่สุดของชั้นเรียน และเด็กชายที่ทุกคนคิดว่าปัญญาทึบและโง่ ได้เขาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์

    เรกกี้ บอก ไอเซนเบิร์กว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะมิสแชปแมน ผมไม่รู้ว่าชีวิตของผมจะเป็นอย่างไรในวันนี้”
    ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงกำลังเชิญชวนเราแต่ละคน ให้เรายอมให้พระองค์ขอยืมมือของเรา เพื่อพระองค์จะทรงใช้เปิดหูของคนหูหนวก และกำจัดสิ่งที่ขัดลิ้นให้แก่คนใบ้ในปัจจุบัน เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อชายในพระวรสารวันนี้

    พระเยซูเจ้าทรงกำลังเชิญชวนเรา ให้เรายอมให้พระองค์ขอยืมเสียงของเรา เพื่อพระองค์จะสามารถตรัสกับผู้ที่หิวกระหายในยุคของเรา เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อผู้ที่หิวกระหายฝ่ายจิตในยุคของพระองค์

    พระองค์ทรงกำลังเชิญชวนเรา ให้เรายอมให้พระองค์ขอยืมหัวใจของเรา เพื่อพระองค์จะสามารถใช้เสียงของเรา เพื่อสัมผัสชีวิตของคนทั้งหลายในยุคของเรา เหมือนกับที่พระองค์ทรงสัมผัสชีวิตของมนุษย์ในยุคของพระองค์

    นี่คือสารที่เราได้ยินจากพระวรสารในวันนี้ นี่คือธรรมล้ำลึกที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้ นี่คือคำเชิญที่พระเยซูเจ้าทรงเสนอแก่เราแต่ละคนในวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา ดังนี้

    พระเจ้าข้า บทอ่านจากพระวรสารวันนี้ เป็นข้อความที่เราได้ยินมาแล้วหลายครั้ง
    แต่เรามักลืมนึกถึง หรือไม่เข้าใจความหมาย
        โปรดทรงสัมผัส และเปิดหูของเรา
        เพื่อให้เราได้ยินสารนี้ในแง่มุมใหม่
    โปรดทรงสัมผัสลิ้นของเรา และขจัดสิ่งที่ขัดลิ้นออกไป
    เพื่อให้เราสามารถแบ่งปันสารนี้ให้แก่ผู้อื่น
        โปรดทรงสัมผัสหัวใจของเรา
        เพื่อให้เรายอมให้พระองค์ทรงใช้หัวใจของเรา
        เพื่อเปลี่ยนโลกของเรา
        เหมือนกับที่พระบิดาทรงใช้พระองค์
        เพื่อเปลี่ยนโลกของพระองค์

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 7:31-37

พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากเขตเมืองไทระ ผ่านเมืองไซดอน ไปยังทะเลสาบกาลิลี กลางดินแดนทศบุรี

    คำบรรยายการเดินทางครั้งนี้ (ซึ่งยาวเกิน 100 กม.) ไม่ใช่การบรรยายอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ขอให้เราพยายามคิดว่าเราอยู่ในสถานการณ์นี้กับพระเยซูเจ้า

    หลังจากทรงทวีจำนวนขนมปัง (มก 6:31-44) และความล้มเหลวของคำปราศรัยของพระองค์เกี่ยวกับปังแห่งชีวิต พระเยซูเจ้าทรงเห็นว่าประชาชนกลุ่มใหญ่ได้ละทิ้งพระองค์ไป พระองค์ทรงออกจากแคว้นกาลิลี และเข้าไปยังดินแดนของชาวฟีนีเชีย (มก 7:24-26) ซึ่งตั้งอยู่นอกชายแดนทิศเหนือของปาเลสไตน์ ในปัจจุบัน เมืองไทระและไซดอนเป็นเมืองสำคัญสองเมืองในประเทศเลบานอน เมื่อพระองค์เสด็จออกจากดินแดนนั้น พระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จกลับมายังแคว้นกาลิลีอีก พระองค์เสด็จไปยังฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี ผ่านที่ราบสูงโกลันในซีเรีย และทรงเดินทางไปยัง “ทศบุรี” (Decapolis) นี่คือชายขอบของทะเลทรายที่ยื่นเข้าไปในประเทศอิหร่านและอิรัก และเป็นพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันเป็นทางผ่านของท่อส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย

    พระเยซูเจ้าทรงปรับพระองค์ให้เข้ากับสถานการณ์ พระองค์ทรงรู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่พระองค์จะเทศน์สอนให้แก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ ๆ พระองค์จะทรงอุทิศเวลาเพื่ออบรมสั่งสอนศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ ของพระองค์ ซึ่งพระองค์สามารถทำได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่ในต่างแดน

    เราพยายามนึกภาพในใจว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องค้างแรมกลางแจ้งคืนแล้วคืนเล่า และมีผู้ติดตามประมาณ 20 คน ประกอบด้วยอัครสาวก 12 คน และกลุ่มสตรีอีกไม่กี่คน (ลก 8:1-3) พวกเขาพูดคุยกันระหว่างเดินเท้าไปยังที่ต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาเย็น เขาก็หยุดพักแรม และเตรียมหุงหาอาหารรอบกองไฟ และทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

    วันนี้ เมื่อคริสตชนต้องดำรงชีพท่ามกลางคนต่างศาสนา เราจึงเข้าใจทัศนคติของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงทำอะไรบ้างเมื่อพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางประชาชนที่ไม่ใช่ชาวยิว?

มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ ทูลขอร้องให้พระองค์ทรงปกพระหัตถ์

    ชื่อเสียงของพระเยซูเจ้าในฐานะผู้ทำอัศจรรย์ได้แพร่กระจายออกมาถึงนอกดินแดนปาเลสไตน์ ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ หญิงชาวซีโรฟีนีเซียได้มาวิงวอนพระองค์ให้รักษาโรคให้บุตรสาวของนาง บัดนี้ก็มีผู้นำคนใบ้หูหนวกคนหนึ่งมาหาพระองค์ ดูเหมือนว่าคนต่างศาสนาพร้อมจะยอมรับพระบุคคลของพระเยซูเจ้ามากกว่าชาวยิวทั่วไป! หรือว่าพวกเขามี “หูเพื่อได้ยิน” – ในขณะที่ประชาชนชาวกาลิลียังหูหนวกต่อพระวาจาของพระองค์? คนต่างศาสนาจะได้รับเชิญมายังโต๊ะอาหารของพระเจ้า ซึ่งเขาจะได้กินปังแห่งชีวิต ในขณะที่ชาวอิสราเอลปฏิเสธคำเชิญหรือ?...

    เราควรระลึกว่า มาระโกเขียนพระวรสารของเขาให้คริสตชนที่เคยนับถือเทพเจ้าของชาวกรีกและโรมันมาก่อน เขาเป็นเลขานุการของเปโตร เราเข้าใจได้ว่าเหตุใดเขาจึงต้องการเน้นความจริงว่าพระเยซูเจ้าเองทรงเป็นผู้เริ่มต้น “พันธกิจเทศน์สอนแก่คนต่างศาสนา” ข้อความนี้เผยให้เราเห็นทัศนคติที่เป็นสากลของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับพระวรสารเรื่อง “สิ่งที่ไม่มีมลทินและสิ่งที่มีมลทิน” ที่ประกาศเมื่อวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา พระองค์ไม่ทรงปิดกั้นพระองค์เองให้อยู่แต่ภายในวัฒนธรรมของชาวยิวเท่านั้น แต่ทรงเปิดประตูต้อนรับชนทุกชาติ พระศาสนจักรของพระองค์จะเป็นพระศาสนจักร “คาทอลิก” ซึ่งแปลว่า “มีความหลากหลาย เปิดกว้าง เป็นสากล”

    เราเป็นคาทอลิกแท้หรือเปล่า? เรายึดติดอยู่กับทัศนคติที่เหยียดเชื้อชาติหรือคนกลุ่มใดหรือเปล่า?  เราตัดสินคนทั้งหลายอย่างขาดความเมตตาปรานีหรือเปล่า เมื่อเขามีวัฒนธรรมที่ต่างจากของเรา เมื่อเขาสวดภาวนาต่างจากเรา? ... เรายอมปล่อยให้มีที่ว่างสักเล็กน้อยบนโต๊ะอาหารของเราสำหรับคนแปลกหน้าหรือเปล่า?...

พระองค์ทรงแยกคนใบ้หูหนวกคนนั้นไปจากกลุ่มชน ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ยอนหูของเขา ทรงใช้พระเขฬะแตะลิ้นของเขา...

    กิริยาทั้งหมดนี้มีนัยสำคัญ และมีจุดมุ่งหมาย พระเจ้าทรงใช้กิริยาอาการเหล่านี้ตรัสกับเรา ... เราหูหนวกเหมือนกันหรือเปล่า? ... รายละเอียดเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา?

    -    พระเยซูเจ้าทรงนำชายพิการนี้แยกออกไปจากฝูงชน ทำให้เราเห็นว่าพระองค์ต่างจากผู้วิเศษทั้งหลายในโลกของชาวกรีก ที่ต้องการทำให้ประชาชนตื่นเต้น พระเยซูเจ้า “พระเจ้าผู้ซ่อนเร้น” ทรงหลีกหนีสายตาของคนที่เก็บความลับไม่เป็น นับแต่นี้ไป พระองค์จะทรงกลัวฝูงชนที่อยากเห็นอัศจรรย์ และจะทรงซ่อนพระองค์ ... ดูเหมือนพระองค์ทรงกำลังบอกเราด้วยการแยกตัวไปจากกลุ่มชน ว่าพระองค์ทรงกำลังจะทำสิ่งที่เหนือธรรมชาติมนุษย์ เพราะงานของพระเจ้าเป็น “ธรรมล้ำลึก” ... ในที่สุด พระองค์จะพยายามปิดเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความลับ แม้ว่าพระองค์ทำได้ไม่สำเร็จก็ตาม

    -    พระเยซูเจ้าทรงแสดงกิริยาทางกาย ซึ่งพวกจิตนิยมคงไม่ชอบใจ คนยุคปัจจุบันพยายามลบภาพนี้ออกไปจากความคิด ข้อความของนักบุญมาระโกกล่าวไว้ชัดเจนมาก ถ้าแปลตามตัวอักษร เขาบอกเราว่า “พระองค์ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์จิ้มเข้าไปในหูของเขา”...

    ศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็ประกอบด้วยการแสดงกิริยาทางกาย พระเจ้าทรงสามารถประทานพระหรรษทานแก่เรา “จากที่ไกล” ... ทางจิตล้วน ๆ ... ได้แน่นอน แต่พระองค์ทรงต้องการ “ติดต่อ” กับเราผ่านทางธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรของพระองค์

    ถ้าเรารู้สึกอับอายที่จะยื่นมือออกไปสัมผัสกับพระกายของพระคริสตเจ้า นั่นเป็นเพราะเราได้สูญเสียสำนึกในศักดิ์ศรีของร่างกายของเราไปแล้ว ทั้งที่ร่างกายของเราเป็นเครื่องมืออันเยี่ยมยอดที่จะใช้ติดต่อสื่อสารกันและแสดงความรักต่อกัน ในแผนการของพระเจ้า ที่มีการเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง พระองค์ประทานพระหรรษทาน – คือศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประการของพระเยซูเจ้า - ผ่านทางกิริยาของ “ประสาทสัมผัส” อันต่ำต้อยเหล่านี้ ชายใบ้หูหนวกในพระวรสารวันนี้คงไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ แต่เขาน่าจะรับรู้ถึงความรักอันอ่อนโยนของพระเยซูเจ้า ที่ทรงแสดงออกด้วยกิริยาปกติของมนุษย์ ผ่านทางนิ้วพระหัตถ์ที่ยอนหูของเขา และพระเขฬะบน “ลิ้นที่ติดขัด” ของเขา

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า โดยอาศัยพระกายของพระองค์ โปรดทรงบำบัดรักษาหัวใจของมนุษย์ทุกวันนี้ด้วยเทอญ!

    ปิตาจารย์ในพระศาสนจักรยุคแรก สอนคริสตชนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าพวกเราในวันนี้ โดยแนะนำพวกเขา (หลังจากรับศีลมหาสนิทในทั้งสองรูปแล้ว ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้น) ให้นำ “เหล้าองุ่นที่เสกแล้ว” ที่เขาเพิ่งดื่มจากถ้วยกาลิกษ์และยังติดอยู่ที่ริมฝีปากของเขา มาแตะที่ดวงตาและหูของเขาด้วย เพื่อเสกอวัยวะเหล่านี้ให้ศักดิ์สิทธิ์! เราไม่จำเป็นต้องกลับไปทำตามธรรมเนียมของศตวรรษที่หนึ่ง แต่เราก็ไม่ควรเจือจางกิริยาของเราในการรับพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เรา “รับไป” และ “กิน” อย่างที่พระองค์ทรงรับสั่งเถิด เพราะกิริยานี้เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับธรรมชาติมนุษย์ของเรา ซึ่งประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ  

ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเบื้องบน ถอนพระทัย...

    กิริยานี้ชี้ว่าอัศจรรย์นี้จะเกิดจากพระอานุภาพของพระเจ้า และไม่ใช่การรักษาทางแพทย์ตามปกติ

    ส่วนการ “ถอนพระทัย” เราไม่ควรตีความว่าเป็นการแสดงความสงสารของพระองค์ต่อคนพิการนี้เท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกถึง “ความเคลื่อนไหว” ของทั้งพระบุคคลของพระเยซูเจ้า ที่ทรงหายใจลึก ๆ เพื่อเรียกหาพระเจ้า – ด้วยทรงสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมว่านี่เป็นงานที่ยาก และต้องใช้ความพยายามมาก และมีแรงต้านที่รุนแรงมากที่พระองค์ต้องเอาชนะ

    อันที่จริง งานนี้ไม่ได้ด้อยกว่าการ “เนรมิตสร้างขึ้นใหม่” สิ่งที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาก่อน มนุษย์ผู้ด่างพร้อยเพราะบาป กำลังจะพบกับความรุ่งโรจน์ดั้งเดิมของเขาอีกครั้งหนึ่ง

... แล้วตรัสว่า “เอฟฟาธา” แปลว่า “จงเปิดเถิด”

    มาระโกเขียนเป็นภาษากรีก แต่เขาระบุคำภาษาอาราเมอิคที่พระเยซูทรงใช้ ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระองค์ แต่เนื่องจากผู้อ่านไม่เข้าใจภาษาแม่ของพระเยซูเจ้า มาระโกจึงแปลความหมายของคำว่า “เอฟฟาธา” ด้วย

    ขอให้สังเกตว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสกับอวัยวะที่พิการ แต่ตรัสกับชายที่ป่วยคนนี้ “จงเปิดเถิด” หรือแปลให้ถูกต้องกว่าว่า “จงเปิดอีกครั้งหนึ่งเถิด” ... ในบางสถานที่ ยังทำพิธี “เอฟฟาธา” รวมอยู่ในพิธีโปรดศีลล้างบาปให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จนถึงทุกวันนี้

ทันใดนั้นหูของเขากลับได้ยิน สิ่งที่ขัดลิ้นอยู่ก็หลุด เขาพูดได้ชัดเจน

    การทำพิธีนี้ระหว่างโปรดศีลล้างบาป ทำให้เราเห็นว่าพระศาสนจักรยุคแรกเข้าใจอัศจรรย์ครั้งนี้ในระดับสัญลักษณ์ “มนุษย์มีตาแต่ไม่เห็น เขามีหูแต่ไม่ได้ยิน” ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ ... นี่คือสภาพของมนุษย์เบื้องหน้าพระเจ้า! มาระโกจะย้ำหลายครั้งว่า “คนหูหนวกและเป็นใบ้” ก็คือบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้านั่นเอง เพราะพวกเขาไม่เข้าใจอะไรเลย (มก 8:18, 6:52, 7:18)...

    ในศีลล้างบาป พระเยซูเจ้าเองทรงทำงาน ทรงเสด็จมาพบมนุษย์ผู้ขังตัวอยู่ภายในตนเอง และไม่สามารถสื่อสารได้อย่างแท้จริง และทรงช่วยให้เขาสามารถฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง และนำพระวาจานั้นไปบอกผู้อื่นด้วย

    นี่คือปัญหาของความเชื่อแท้ เรามีแนวโน้มมาตั้งแต่กำเนิดที่จะขังตัวอยู่ภายในตนเอง “ปิดกั้น” ไม่ยอมรับพระเจ้า ... ก่อนที่มนุษย์จะต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้า เขาต้องยอมให้พระเยซูเจ้าทรง “เปิด” หูของเขา...

    แม้แต่ในปัจจุบัน คริสตชนจำนวนมากยังปิดกั้นตนเอง และขังตนเองเป็นนักโทษอยู่ภายในโลกประเพณีแคบ ๆ ของเขา ด้วยความเข้าใจขนบธรรมเนียมของตนแต่เพียงเปลือกนอก

    ในพิธีมิสซา เราเป็นคนหนึ่งในวัดที่ไม่เคยแม้แต่เปิดปากเพื่อขับร้อง หรือโต้ตอบผู้ประกอบพิธีหรือเปล่า? ... เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยกล้าพูดถึงพระเจ้า พูดถึงพระเยซูเจ้า และพูดถึงพระวรสารในชีวิตแต่ละวันของเราใช่หรือไม่?...

พระเยซูเจ้าทรงห้ามประชาชนเหล่านั้นมิให้พูดเรื่องนี้กับผู้ใด แต่ยิ่งห้ามก็ยิ่งเล่าลือกันมากขึ้น ต่างก็ประหลาดใจมาก กล่าวว่า “คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น เขาทำให้คนหูหนวกกลับได้ยิน และคนใบ้กลับพูดได้”

    ถ้อยคำแสดงความพิศวงใจเหล่านี้ ทำให้เราระลึกถึงคำบรรยายการเนรมิตสร้างครั้งแรกของพระเจ้า “พระเจ้าทรงเห็นว่าทุกสิ่งทรงสร้างนั้นดีมาก” (ปฐก 1:31)

    การเนรมิตสร้างครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้น ผ่านทางพระเยซูเจ้า มนุษย์ใหม่กำลัง “ถูกสร้างขึ้นมาใหม่” – มนุษย์ใหม่นี้สามารถสื่อสาร และรู้ว่าจะฟังอย่างไร และจะพูดอย่างไร!

    เขารู้จักฟังพระเจ้า ... เขารู้จักพูดกับพระเจ้า

    เขารู้จักฟังพี่น้องของเขา ... เขารู้จักพูดกับพี่น้องของเขา

    พระเจ้าข้า ผลงานของพระองค์เลิศล้ำยิ่งนัก พระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้านาย และอาจารย์แห่งชีวิต!