วันอาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 50:4-9; ยากอบ 2:14-18; มาระโก 8:27-35

บทรำพึงที่ 1
พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด
“พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    ชาวยิวมีเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับ รับบีแอชเชอร์ เขามีชีวิตอยู่ในยุโรปในยุคกลาง ระหว่างช่วงเวลานั้นมีคนเถื่อนหลายกลุ่มที่ตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วทวีปยุโรป คนเถื่อนเหล่านี้โจมตีกองคาราวาน และบางครั้งก็โจมตีทั้งหมู่บ้าน ฆ่าชาวบ้าน กวาดต้อนฝูงสัตว์ และปล้นทรัพย์สินมีค่าไป

    วันหนึ่ง รับบีแอชเชอร์ จำเป็นต้องเดินทางไกลตามลำพัง เขารู้ว่าเป็นการเดินทางที่อันตราย แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่น เขาจึงออกเดินทาง โดยนำสิ่งของเพียงสามอย่างติดตัวไป คือ ไก่ตัวผู้หนึ่งตัว ลาหนึ่งตัว และตะเกียงน้ำมันเล็ก ๆ ดวงหนึ่ง

    รับบีนำไก่มาด้วย เพื่อปลุกเขาทุกเช้า เพราะเป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนขี้เซา เขานำลาไปด้วย เพราะเส้นทางขรุขระ และเขาอาจหกล้มและได้รับบาดเจ็บ เมื่อนั้นเขาจะขี่ลาได้ และเขานำตะเกียงน้ำมันมาด้วย เพื่อเขาจะได้อ่านพระคัมภีร์ทุกคืนก่อนเข้านอนได้

    เย็นวันหนึ่ง รับบีเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาหวังว่าจะพักแรมในหมู่บ้านนี้ แต่ชาวบ้านไม่ไว้ใจเขา และขับไล่เขาออกไปจากหมู่บ้าน รับบีไม่โกรธ เขาเพียงแต่บอกตนเองว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    คืนนั้น รับบีต้องพักแรมกลางแจ้งใกล้ลำธารนอกหมู่บ้าน เขาจุดตะเกียงเพื่อจะอ่านพระคัมภีร์ก่อนเข้านอน แต่ลมพัดตะเกียงดับหลายครั้งหลายหน ในที่สุด รับบีก็ยอมแพ้ เขาบอกตนเองว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    ประมาณเที่ยงคืน รับบีตกใจตื่น เขาพบว่าโจรได้มาขโมยลาของเขาไป และเขาพบด้วยว่าสัตว์ป่าได้ฆ่าไก่ของเขาเสียแล้ว รับบีไม่โกรธ เขาเพียงแต่บอกตนเองว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    วันต่อมา รับบีก็ได้ยินข่าวว่า ระหว่างคืนนั้น กลุ่มคนเถื่อนได้เข้าโจมตีหมู่บ้านนั้น ฆ่าชาวบ้าน และกวาดต้อนฝูงสัตว์และปล้นทรัพย์สินของชาวบ้านไปหมด ถ้ารับบีพักอยู่ในหมู่บ้านนั้น คนเถื่อนก็คงฆ่าเขาด้วยเหมือนกัน

    รับบียังได้ยินข่าวด้วยว่าพวกคนเถื่อนได้มาแถว ๆ ลำธารเพื่อมองหาคนเดินทาง ถ้าคนเหล่านั้นเห็นแสงตะเกียง หรือได้ยินเสียงไก่ของเขาขัน หรือได้ยินเสียงลาของเขาร้อง พวกเขาต้องฆ่าเขาและปล้นทรัพย์สินที่เขามีติดตัวเพียงเล็กน้อยไปแน่นอน

    คืนนั้น เมื่อรับบีคุกเข่าลงอธิษฐานภาวนา เขาเงยหน้ามองท้องฟ้า และกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    ชาวยิวเล่าเรื่องนี้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเตือนให้เขาระลึกถึงความจริงที่เขามักจะลืม เรื่องนี้เตือนเขาว่าเขาควรมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยดวงตาแห่งความเชื่อ และเตือนใจเขาว่า รับบีแอชเชอร์ เคยกล่าวว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะในกรณีความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่อิสยาห์กล่าวถึงในบทอ่านที่หนึ่งในวันนี้ และเป็นความจริงโดยเฉพาะในกรณีความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงในพระวรสารวันนี้ เราสามารถแสดงความเชื่อได้มากที่สุดด้วยการทูลพระเจ้าว่า “ลูกไม่รู้ว่าทำไมพระองค์ทรงส่งกางเขนนี้มาให้ลูก แต่ลูกจะยกกางเขนนี้ขึ้นมาแบก เพียงเพราะพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระองค์ ทรงเคยบอกว่าลูกควรทำเช่นนั้น”

    มนุษย์แทบทุกคนสามารถแบกกางเขนได้ถ้าเขารู้เหตุผลว่าทำไมเขาจึงต้องแบก แต่การแบกกางเขนทั้งที่ไม่อาจมองเห็นเหตุผลนั้น จำเป็นต้องมีความรักและความเชื่อมาก เขาจำเป็นต้องมีความรักและความเชื่อมากมายเพื่อจะยกกางเขนขึ้นแบก และพูดเหมือนกับรับบีแอชเชอร์ว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    เมื่อหลายปีก่อน ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ที่สามเณราลัยเซนต์เมรี่ ในชิคาโก หนึ่งปีก่อนรับศีลบวช เขาล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง ก่อนเขาเสียชีวิต เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า

    “บ่อยครั้งที่เราพบกับการประลองในชีวิตของเรา เมื่อเราถูกท้าทาย ... เพื่อให้ความเชื่อของเราทวีขึ้น หรือสูญสิ้นไป ผมรู้สึกว่าประสบการณ์นี้เป็นความท้าทายเช่นนั้น ... ถ้าเราเป็นคริสตชนอย่างที่เราอ้างตัว เราต้องเชื่อว่าทุกส่วนของชีวิตของเรามีคุณค่า รวมถึงการเจ็บป่วยเช่นนี้ด้วย”

    ชายหนุ่มคนนี้ดำรงชีพด้วยความเชื่อ เขากำลังทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เขาทำ เขากำลังยกกางเขนของเขาขึ้นมาแบก เขาดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุด เขากำลังบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีจุดประสงค์ เขากำลังพูดเหมือนกับรับบีว่า “พระเจ้าทรงรู้ดีที่สุด พระองค์ทรงมีเหตุผลเสมอ”

    ความทุกข์ทรมานและความเศร้าก็เหมือนกับการเกิดและการตาย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่มีทางหนีให้พ้นได้ ความทุกข์และความเศร้าจะตามหาเราจนพบเสมอ ไม่ว่าเราเป็นใคร หรืออยู่ที่ใด

    สิ่งสำคัญไม่ใช่ความทุกข์ทรมานและความเศร้าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา สิ่งสำคัญอยู่ที่เราตอบสนองต่อความทุกข์นี้อย่างไร สิ่งสำคัญอยู่ที่เรายอมรับความทุกข์นี้อย่างไร และสิ่งสำคัญอยู่ที่เราใช้ความทุกข์นั้นให้เกิดประโยชน์อย่างไร

    เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมานและความเศร้าได้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ เราสามารถเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ และมิใช่สิ่งที่ทำลายล้าง เราสามารถเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต และมิใช่สิ่งที่นำความตายมาให้ เราสามารถเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นสิ่งที่นำเราเข้าไปใกล้ชิดพระเจ้าให้มากขึ้น แทนที่จะผลักเราออกห่างจากพระองค์

    บทอ่านพระวรสารวันนี้เป็นเสียงเรียกเราเข้าไปหาความเชื่อ

    เป็นเสียงเรียกให้เราทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเคยทำ ให้เราทำอย่างที่รับบีแอชเชอร์เคยทำ ให้เราทำอย่างที่สามเณรหนุ่มนั้นเคยทำ คือ ให้เรายกกางเขนของเราขึ้นมาแบก

    และถ้าเราทำเช่นนั้น ถ้าเราทำตามเสียงเรียกนี้ เราจะค้นพบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงค้นพบ อย่างที่รับบีแอชเชอร์ค้นพบ อย่างที่สามเณรคนนี้ค้นพบ นั่นคือ เราจะค้นพบว่าอีกด้านหนึ่งของกางเขนคือพระพรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวกางเขนเอง

    นี่คือธรรมล้ำลึกที่เราเฉลิมฉลองกันในพิธีกรรมวันนี้ นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาจะแบ่งปันกับเราในวันนี้

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยคำของนักบุญเปาโลที่กล่าวแก่ชาวโรม พวกเขาบ่นเรื่องความทุกข์ทรมานและความเศร้า เปาโลเขียนถึงเขาว่า “เรารู้ว่าพระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์” (รม 8:28)

    เขากล่าวด้วยว่า “จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงมีความอดทนต่อความทุกข์ยาก จงพากเพียรในการภาวนา ... อย่าให้ความชั่วเอาชนะท่าน แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี” (รม 12:12, 21)

    ท้ายที่สุด เขาเขียนว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา” (รม 8:18)

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 8:27-35

    ผู้อธิบายพระวรสารของนักบุญมาระโกทุกคนเห็นพ้องว่าข้อความที่เรารำพึงในวันนี้เป็น “จุดสูงสุด” ของพระวรสารฉบับนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดนี้ มาระโกพัฒนาคำบอกเล่าของเขาในลักษณะที่ต้องการให้เราเห็นว่า ทุกคนไม่แน่ใจว่าพระเยซู ประกาศกจากนาซาเร็ธผู้นี้ เป็นใคร
    -    “นี่มันเรื่องอะไร” (มก 1:27)
    -    “พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย” (มก 2:12)
    -    เขาคิดว่าทรงเสียพระสติ (มก 3:21)
    -    “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ” (มก 4:41)
    -    “ทุกคนที่ได้ฟังต่างประหลาดใจ” (มก 5:20)
    -    “เขาเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาจากไหน” (มก 6:2)
    -    เขาคิดว่าพระองค์เป็นผี (มก 6:49)
    -    “คนคนนี้ทำสิ่งใดดีทั้งนั้น” (มก 7:37)
    เราต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้ว่าบุคคลหนึ่งเป็นใคร แม้ว่าเราอาจอยู่กับเขาเป็นเวลานาน เราต้องใช้เวลานานเช่นเดียวกันนี้กว่าจะมองเห็นพระเจ้าในตัวของพระเยซูเจ้า นี่คือประสบการณ์ของบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์ และสังเกตพระองค์

    เราต้องก้าวเดินทีละก้าวบนทางแห่งความเชื่อ ... ข้าพเจ้ากำลังก้าวไปข้างหน้าหรือเปล่า?

พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า...

    ซีซารียาแห่งฟิลิป – คำบอกเล่าระบุสถานที่ของเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจน พระวรสารไม่ใช่เทพนิยายที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในความฝัน

    เชิงเขาเฮอร์มอนเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม มีลำธารไหลลงมาจากยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ใกล้ ๆ ที่นั้นเป็นต้นน้ำของแม่น้ำจอร์แดน พระเยซูเจ้าทรงนำมิตรสหายของพระองค์ไปที่นั่น ไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ห่างไกลจากฝูงชน พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์ต้องการทำอะไร พระองค์กำลังจะตรวจสอบความเชื่อของศิษย์ของพระองค์

    พระองค์ทรงถามมิตรสหายของพระองค์ พระองค์ทรงถามขึ้นมาในทันทีทันใด ขณะที่เขากำลังเดินเลียบลำธาร พระองค์ทรงเริ่มถามโดยไม่ทรงรอจนกว่าจะมีโอกาส...
   
“คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร”

    ในปัจจุบันมีองค์กรต่าง ๆ ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองทั้งหลาย เกี่ยวกับโรงเรียน หรือผลิตภัณฑ์ ... เราจะยอมให้พระเยซูเจ้าทรงถามความคิดเห็นของเราหรือไม่?...

เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง”

    ประชาชนมีความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง พระองค์อาจเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กลับคืนชีพ – คำพูดนี้มีความหมายมาก เมื่อออกมาจากปากประชาชน! หรือเป็นเอลียาห์ ประกาศกผู้ต้องมาก่อนพระเมสสิยาห์ ... พวกเขามองว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นประกาศกของพระเจ้า...

    แม้แต่ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุรุษผู้โดดเด่นมาก ผู้ที่แสดงความคิดเห็นตรงกันข้าม หรือแสดงท่าทีดูแคลนพระองค์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่ขาดความรู้ เพราะไม่มีชายหญิงที่มีสติปัญญาคนใด ที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้าง จะปฏิเสธได้ว่าพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธได้ทรงจารึกพระนามของพระองค์ไว้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว

พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร”
    วันนี้เรากำลังถูกถามคำถามสองข้อนี้เช่นเดียวกัน

    คนรอบตัวเราพูดถึงพระเยซูเจ้าอย่างไร? ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ... ลองใคร่ครวญประสบการณ์ของท่านระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาในละแวกบ้านของท่าน ในสถานที่ทำงาน ระหว่างช่วงเวลาพักผ่อนของท่าน ... “พระเยซูหรือ? ไม่เห็นเคยได้ยินชื่อ” ... “พระเยซูหรือ? ไม่มีใครสนใจพระองค์หรอก! ท่ามกลางภาวะไร้ศีลธรรมในปัจจุบัน ฉันสงสัยว่าฉันเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า ที่ฉันไม่ยอมทำอย่างที่คนอื่น ๆ เขาทำกัน!”

    แต่ตัวท่านเองเล่า ... ท่านคิดว่าเราเป็นใคร?...

    ในสำนักงาน โรงงาน หรือสโมสร บางครั้งมีคนถามท่านหรือไม่เกี่ยวกับความหมายและสาระของความเชื่อของท่าน? เราอาจไม่ชอบใจที่ถูกถามเช่นนั้น แต่นี่คือความท้าทาย ... หรือว่าวิถีชีวิตของเราไม่สะกิดใจให้มีใครถามเราเช่นนั้น ... นี่คือสัญญาณร้ายหรือเปล่า? ... นั่นหมายความว่าความเชื่อของเราในพระเยซูเจ้าไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา เหมือนกับที่นักบุญยากอบเตือนสติเราเลยหรือ? (ยก 2:14-18)

เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า”

    เพียงบอกเล่าความคิดของผู้อื่นยังไม่พอ เราแต่ละคนต้องตอบคำถามนี้ด้วยตัวเราเอง อะไรคือ “การประกาศยืนยันความเชื่อ” ของเรา?

    เปโตรเป็นผู้พูดแทนอัครสาวกทั้งสิบสองคน คำตอบของพวกเขาต่างจากคำตอบของมวลชน อัครสาวกสิบสองคนนี้เป็นคนกลุ่มน้อย ไม่มีใครคิดถึงอัตลักษณ์นี้ของพระเยซูเจ้า นอกจากคนกลุ่มเล็ก ๆ นี้...

    พระยศ Christos หรือ “ผู้ได้รับเจิมของพระเจ้า” มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มากในอิสราเอล พระองค์คือพระเมสสิยาห์ (Mashiah ในภาษาฮีบรู แปลว่า “ผู้ได้รับเจิม”) พระองค์คือผู้ที่ประชาชนทุกคนคาดหมายให้ “นำประวัติศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จสมบูรณ์” ประกาศกทุกคนทำนายว่าพระองค์จะเสด็จมา พระองค์จะเป็นผู้ทำให้ชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความหมายอย่างแท้จริง...

พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด

    มาระโกมักกล่าวถึง “ความลับของพระเมสสิยาห์” พระเยซูเจ้าทรงขอร้องประชาชนเสมอไม่ให้ประกาศพระยศของพระองค์ (มก 1:34, 1:44-45, 3:11, 5:43, 7:33-36, 8:26, 8:30)

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธพระยศ “พระเมสสิยาห์” ที่เปโตรถวายแด่พระองค์ แต่ทรงเตือนมิตรสหายของพระองค์ไม่ให้กระจายข่าวก่อนถึงเวลาอันควร ความคาดหมายของประชาชนชาวยิวในตัวพระเมสสิยาห์เป็นความคาดหมายที่คลุมเครือ – ดังที่เราจะเห็นได้ในไม่ช้าจากคำพูดของเปโตรเอง! พระเจ้าไม่ได้เป็นดังที่เราคาดหมายให้พระองค์เป็น พระเจ้าไม่ต้องการแสดงตัว แสดงอำนาจอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พระองค์มิได้ทรงแสวงหาความสำเร็จตามความคิดของมนุษย์
    พระเจ้าทรงซ่อนพระองค์! พระเจ้าทรงเงียบ! พระเจ้าทรงถอยไปอยู่ข้างหลังสิ่งสร้างของพระองค์!

    นักบุญเปาโลจะกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็น “ธรรมล้ำลึกที่เก็บเป็นความลับ” (รม 16:25)

พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ”

    นี่คือจุดพลิกผันครั้งสำคัญของพระวรสาร

    พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากแคว้นกาลิลี และบัดนี้พระองค์จะ “เสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม” โดยทรงรู้ดีว่าพระองค์จะถูกประหารชีวิตที่นั่น ไม้กางเขนปรากฏให้เห็นได้รำไรแล้วที่เส้นขอบฟ้าสำหรับพระเมสสิยาห์ของพระเจ้า มาระโกเล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์ถึงสามครั้ง แต่ละครั้งชัดเจนมากขึ้น (มก 8:31, 9:31, 10:33) นี่เป็นเรื่องสะดุดสำหรับมนุษย์จริง ๆ!...

    พระเยซูเจ้าทรงวิเคราะห์อย่างถูกต้องว่าประชาชนจะแสดงปฏิกิริยาด้านลบต่อการเทศน์สอนของพระองค์ พระองค์ทรงมองเห็นล่วงหน้าว่าชีวิตของพระองค์จะจบลงอย่างไร และทรงเดินหน้าอย่างเด็ดเดี่ยวไปสู่การเผชิญหน้ากับผู้นำชาวยิว ในข้อความนี้ พระองค์ทรงกล่าวถึงบุคคลสามกลุ่มภายในสภาซันเฮดริน ซึ่งเป็นศาลสูงสุดในยุคสมัยของพระองค์

    “พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า บุตรแห่งมนุษย์จะต้อง...” พระองค์เริ่มต้นตรัสกับเขาเรื่องความทุกข์ทรมาน การปฏิเสธของประชาชน การสิ้นพระชนม์อย่างทารุณ – และการกลับคืนพระชนมชีพ! ทุกครั้งที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ พระองค์ประกาศเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยเสมอ แต่ดูเหมือนว่าบรรดาอัครสาวกไม่เคยได้ยินคำสุดท้ายนี้

    เราก็ไม่ฟังพระเจ้าตรัสให้จบเช่นเดียวกัน ... เรามัวแต่คิดถึง “ความชั่วในโลกนี้” และความลำบากในชีวิตของเรา ราวกับว่าโลกและความลำบากเหล่านี้จะไม่มีวันสิ้นสุด – ราวกับว่าจะไม่มีการกลับคืนชีพ และ “ชีวิตนิรันดร”! เราจงยอมรับเถิดว่านี่คือทัศนคติของเราจริง ๆ

พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย

    ผู้แปลพระคัมภีร์ใช้คำที่เบากว่าต้นฉบับภาษากรีก ข้อความนี้ควรแปลว่า “พระเยซูเจ้าตรัสพระวาจาด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง”

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจำเป็นต้องรู้ (เพราะนักบุญมาระโกบอกเรา) ว่าพระองค์ตรัสข้อความทั้งหมดนี้ “ด้วยความเชื่อมั่น” โดยปราศจากความกลัว พระองค์ตรัสอย่างกล้าหาญ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องรู้ว่าพระองค์คือพระวจนาตถ์ของพระเจ้า จากข้อความที่หนักแน่นนี้ (เพราะพระองค์เป็นผู้ตรัสพระวาจา) ข้าพเจ้าเดาได้ว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นเพียงนักปราชญ์ อาจารย์ หรือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ – แต่ทรงเป็น “การประทับอยู่” ของพระวจนาตถ์ของพระเจ้า ... “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว” (ยน 1:1)

    “พระเยซูเจ้าตรัสพระวาจา ด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง ว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องถูกประหาร และจะกลับคืนชีพ” คำว่า “จะต้อง” นี้นำเราเข้าไปอยู่ใน “แผนการนิรันดรที่ไม่อาจหยั่งถึงได้” ของพระเจ้า ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์ไม่ทรงคิดเลยว่าการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ เป็นเหตุบังเอิญ แต่เป็นแผนการอันเร้นลับของพระบิดา

    ขอให้เราสังเกตด้วยว่านี่คือข้อความเชื่อประการแรกของเรา – ซึ่งพระเยซูเจ้าเป็นผู้ประกาศด้วยพระองค์เอง

เปโตรนำพระองค์แยกออกไปทูลทัดทาน แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง”

    พระบัญชาให้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับนั้นไม่ได้ไร้สาระ แม้ว่าเปโตรเพิ่งจะถวายพระยศให้แก่พระอาจารย์ของเขา แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจอะไรเลย เขาเองก็กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ผู้ทรงเกียรติ วีรบุรุษผู้จะได้รับชัยชนะ ผู้กอบกู้ทางการเมือง และผู้ปลดปล่อยตามความเข้าใจของมนุษย์...

    แล้วเราเล่า? การสวดบทข้าพเจ้าเชื่อ ไม่ว่าในภาษาใด ก็ยังไม่เพียงพอ บทภาวนาที่เขียนขึ้นอย่างชัดเจนนั้นอาจทำให้เราเข้าใจผิด ในขณะที่ข้อความเชื่อที่ใช้คำพูดต่างจากบทภาวนาของเรา อาจทำให้เราเข้าใจความจริงก็ได้...

    ท่านเชื่อในพระเมสสิยาห์ประเภทใด? ท่านเชื่อในพระเมสสิยาห์ที่เปโตรคาดหวังในวันนั้น หรือเชื่อในบุรุษที่พระเจ้าทรงส่งมา ผู้สามารถสถาปนา “ระเบียบที่ดีงาม” ขึ้นในโลกนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ บุรุษที่เราสามารถมอบความรับผิดชอบของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไว้ในมือของเขาได้?...

“เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์” พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชน และบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้”

    ด้วยความมั่นใจอย่างยิ่ง พระเยซูเจ้าทรงกำลังประกาศเรื่องไม้กางเขน “สำหรับพระองค์เอง”

    พระองค์ทรงประกาศเรื่องไม้กางเขนสำหรับเราด้วย ... สำหรับศิษย์ทั้งหลายของพระองค์ เมื่อทรงถามแล้วว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” บัดนี้พระองค์กำลังถามเราว่า “ท่านคิดว่าตัวท่านเป็นใคร?”

    ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของชีวิตของท่าน? อะไรคือเป้าหมายของชีวิตของท่าน?

    ท่านต้องการรักษาชีวิตนี้ไว้ – หรือสละชีวิต? ... ท่านต้องการมีชีวิตเพื่อจะรัก – หรือเพื่ออะไร?