แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
กันดารวิถี 11:25-29; ยากอบ 5:1-6; มาระโก 9:38-43, 45, 47-48

บทรำพึงที่ 1
เด็กหญิงและนกนางนวล
ผู้ใดชักนำผู้อื่นไปในทางที่ผิด จะถูกลงโทษ ผู้ใดช่วยให้ผู้อื่นค้นพบทางที่ถูก จะได้รับบำเหน็จ

    วิลเลียม ซิดนีย์ พอร์เตอร์ เป็นนักประพันธ์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงเมื่อต้นศตวรรษที่ 1900 เขาเขียนหนังสือโดยใช้นามปากกาว่า โอ. เฮนรี่ เรื่องสั้นของเขาได้รับความนิยมมาก สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือวิธีที่เขาจบนิยายของเขา เขาไม่เคยเขียนตอนจบเหมือนกับนักประพันธ์คนอื่น ๆ นิยายของเขามักจบแบบหักมุม และทำให้ผู้อ่านแปลกใจ

    นิยายเรื่องหนึ่งของเขาเป็นเรื่องของเด็กหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งที่กำพร้ามารดา ตลอดวัน เด็กน้อยจะคอยให้บิดาของเธอกลับมาจากทำงาน เธออยากนั่งบนตักของเขา เพราะเธอกระหายจะได้รับเครื่องหมายที่แสดงความรัก

    แต่บิดาของเธอจะปฏิบัติตนเหมือนกันทุกคืน เขากินอาหาร แล้วก็นั่งลงบนเก้าอี้ตัวโปรด จุดกล้องยาสูบ และอ่านหนังสือจนถึงเวลานอน เมื่อเด็กหญิงขึ้นมานั่งบนตักของเขา เขาจะตอบเหมือนเดิมทุกครั้งว่า “ลูกรัก ลูกไม่เห็นหรือว่าพ่อของลูกกำลังเหนื่อย พ่อทำงานมาตลอดวัน ลูกออกไปเล่นข้างนอกบ้านเถิด” เด็กหญิงจะออกไปนอกบ้าน และเล่นตามถนน พยายามทำให้ตนเองสนุกเท่าที่สามารถทำได้

    แล้วสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็เกิดขึ้น เมื่อเด็กหญิงคนนี้โตขึ้น เธอเริ่มยอมรับการแสดงความรักจากทุกคนที่พร้อมจะเสนอให้แก่เธอ บัดนี้ เธอออกไปเดินตามถนน ไม่ใช่เพื่อไปเล่น แต่ออกไปเร่ขายตัว เธอกลายเป็นโสเภณี

    วันหนึ่งเมื่อหญิงสาวคนนี้เสียชีวิต ขณะที่เธอเข้าไปใกล้ประตูสวรรค์ นักบุญเปโตรเห็นเธอเดินมา เขาทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า หญิงคนนี้เป็นคนชั่ว เธอเป็นโสเภณี มีสถานที่เดียวที่เหมาะสำหรับเธอ”

    และนี่คือตอนจบที่น่าประหลาดใจ พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “ให้เธอเข้ามาในสวรรค์เถิด แต่เมื่อบิดาของเธอมาที่นี่ จงให้เขารับผิดชอบชีวิตของเธอ”

    เห็นได้ชัดว่า โอ. เฮนรี่ ต้องการบอกอะไรกับเรา พระเจ้าจะทรงแสดงความเมตตาต่อทุกคนที่ถูกชักนำไปในทางที่ผิด ถ้าเขาเองมีส่วนรับผิดชอบในความผิดนั้นเพียงเล็กน้อย แต่พระเจ้าจะทรงเรียกร้องเอาผิดจากผู้ที่ชักนำเขาให้หลงทาง และเราอาจเสริมได้ด้วยว่า การชักนำผู้อื่นให้หลงผิดนั้นบ่อยครั้งเกิดจากการกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเขา และมิใช่เกิดจากการกระทำบางสิ่งบางอย่างต่อเขา เช่น เมื่อเราไม่แสดงความรักต่อเขา เหมือนกับบิดาในเรื่องของ โอ. เฮนรี่ นี่คือความจริง โดยเฉพาะในกรณีของเด็ก ๆ

    เมื่อหลายปีก่อน นิตยสาร Reader’s Digest ตีพิมพ์บทความหนึ่งที่เขียนโดย เจน ลินด์สตรอม บทความนี้มีชื่อเรื่องว่า “คุณจะรู้ได้อย่างไร ถ้าฉันไม่บอกคุณ”
    ในบทความนี้ ลินด์สตรอมเตือนให้เราระลึกถึงบางสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เธอกล่าวว่า “เด็ก ๆ กระหายให้เรายืนยันด้วยคำพูดว่าเรารักเขาและเราชื่นชมสิ่งที่เขาทำ ความรักที่เก็บไว้ภายในหัวใจของเราไม่อาจส่งไปถึงเขาได้ เหมือนกับจดหมายที่เราเขียน แต่ไม่ยอมส่ง ถ้าเด็กจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ได้ เขาต้องได้ยินเราพูดกับเขาว่า ‘แม่รักลูกนะ แม่ภูมิใจในตัวลูก แม่ดีใจมากที่ลูกเกิดมาเป็นลูกของแม่’ เสียงพูดที่นุ่มนวล ดวงตาที่เป็นมิตร และคำพูดที่อ่อนโยน จะสื่อสารได้ แม้แต่กับทารก”

    ไม่เพียงเด็ก ๆ ที่ต้องการเห็นการแสดงความรักอย่างเป็นรูปธรรม สามีและภรรยาก็ต้องการเช่นเดียวกัน เมื่อเราไม่ยอมแสดงความรัก เราอาจกำลังประจญให้เขาเดินทางผิด และพระเจ้าจะทรงให้เรารับผิดชอบความหลงผิดของเขา เหมือนกับพระเยซูเจ้าทรงกระทำต่อผู้เป็นบิดาในนิยายของ โอ. เฮนรี่

    แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราด้วยว่าบุคคลใดที่นำใครคนหนึ่งที่เคยหลงผิด ให้กลับมาสู่หนทางที่ถูกต้อง บุคคลนั้นจะได้รับพระพรมากมาย (ยก 5:20)

    ไอรีน แชมเปอร์โนน เล่าเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจในหนังสือ “The One and Only Me (ฉันผู้เป็นหนึ่งเดียว) วันหนึ่งเธอกำลังเดินเล่นตามชายหาด เธอพบเด็กเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งกำลังปาก้อนหินใส่นกนางนวลตัวหนึ่ง นกตัวนั้นปีกหัก มันบินไม่ได้

    ไอรีนตกใจกับภาพที่เห็น เธอหยุดเดินและบอกเด็ก ๆ ว่า แทนที่จะทำให้นกบาดเจ็บมากขึ้นไปอีก พวกเขาควรช่วยเหลือมันมากกว่า เด็ก ๆ ดูเหมือนจะเข้าใจ และหยุดปาก้อนหินใส่นก

    ต่อมา เมื่อไอรีนเดินกลับมา เธอเห็นเด็กกลุ่มเดียวกันนี้ พวกเขากำลังมุงรอบนกนางนวล เพียงแต่ครั้งนี้ แทนที่จะปาก้อนหินใส่มัน เขากำลังป้อนอาหารและสร้างเพิงให้มัน ไอรีนแปลกใจที่คำแนะนำของเธอสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ได้ถึงเพียงนั้น เธอคิดว่าคงเป็นเรื่องเศร้า ถ้าเธอไม่สละเวลาเพื่อแนะนำเด็ก ๆ ให้ใช้พลังงานของพวกเขาไปในทางอื่น  

    เรื่องนั้นแสดงให้เห็นว่าคนเพียงคนเดียวสามารถทำอะไรได้บ้าง ไอรีนไม่ยอมทำเหมือนกับคนจำนวนมาก ที่มองเห็นความชั่วแล้วก็ได้แต่บ่น แต่ไม่ยอมทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์

    พระวรสารวันนี้เป็นคำเชิญชวนจากพระเยซูเจ้าให้เราถามตนเองด้วยคำถามสองข้อ ข้อแรก  เรากำลังทำอะไร – หรือกำลังไม่ทำอะไร – ที่อาจเป็นสาเหตุให้คนอีกคนหนึ่งเลือกทางเดินที่ผิด เช่น ถ้าเราเป็นบิดาหรือมารดา หรือเป็นสามี หรือภรรยา เรากำลังรับใช้บุคคลที่เรารักอยู่หรือเปล่า? หรือเรามัวแต่คิดถึงแต่ความเจ็บปวดและเรื่องของเรา จนเราไม่แสดงความรักอย่างที่ผู้เป็นบิดา หรือมารดา หรือคู่สมรส ควรแสดง?

    ข้อที่สอง เราพยายามมากน้อยเพียงไรที่จะช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเดินทางผิดเหมือนกับเด็ก ๆ ในเรื่องของไอรีน? เช่น เราเคยสละเวลา หรือความคิดสร้างสรรค์ หรือเงินทองของเราเพื่อช่วยเหลือคนโชคร้ายทั้งหลายหรือเปล่า? หรือว่าเราได้แต่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ของเขา และไม่ทำอะไรเลยเพื่อทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น?

    นี่คือคำถามสองข้อที่บทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันนี้กำลังเชิญชวนเราให้ถามตนเอง นี่คือคำถามสองข้อที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้เราจดจำใส่ใจ คำถามสองข้อนี้สำคัญมาก เพราะคำตอบของเราอาจเป็นเหตุผลที่พระเจ้าจะทรงใช้พิพากษาเรา เมื่อเราปรากฏตัวเบื้องหน้าพระบัลลังก์ของพระเจ้า เพื่อรายงานสิ่งที่เราได้กระทำในชีวิตของเราบนโลกมนุษย์ เหมือนกับผู้เป็นบิดาในนิยายของ โอ. เฮนรี่

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 9:38-43, 45, 47-48

    ระหว่าง “ทาง” ออกจากเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป (ที่ซึ่งเปโตรได้ประกาศยืนยันความเชื่อของเขา) ผ่านแคว้นกาลิลี (ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงประกาศข่าวดี) ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม (ที่ซึ่งพระองค์จะสิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ) พระเยซูเจ้าไม่ได้เดินทางตามลำพัง “ทางของพระบุตรของพระเจ้า” ยังเป็นทางของศิษย์ของพระองค์ด้วย! เราเองก็กำลังเดินบนทางสายเดียวกันนี้ เมื่อเราติดตามพระคริสตเจ้า ตั้งแต่เราประกาศยืนยันความเชื่อเมื่อเรารับศีลล้างบาป ... ผ่านการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร ... จนถึง “ปัสกา” ของเราเอง คือความตายและการกลับคืนชีพของเรา

    ในคำบอกเล่าส่วนนี้ มาระโกนำคำสั่งสอนจำนวนหนึ่งมารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นพระดำรัสที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนในสถานการณ์ต่าง ๆ และคำถามที่พระองค์ทรงตอบ อาจเป็นคำถามที่ต่างจากที่ปรากฏในคำบอกเล่านี้มาก แต่คำสั่งสอนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคำถามหนึ่งเดียว คือ เราต้องทำอะไรเพื่อแสดง “ความเชื่อในพระเยซูเจ้า” การเชื่อในพระเยซูเจ้าคือ “การติดตามพระองค์ตามทางที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปก่อนแล้ว” แนวทางปฏิบัติของศิษย์ของพระองค์ – หรือหลักจริยธรรมของคริสตชน – ไม่ใช่บทบัญญัติที่บอกว่าอะไรที่เราทำได้ และอะไรที่ห้ามทำ แต่เป็นการมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของพระเยซูเจ้า

ยอห์นทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า เราได้เห็นคนคนหนึ่งขับไล่ปีศาจเดชะพระนามของพระองค์...

    ยอห์นบอกว่าเขาเป็น “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 21:20) เป็นความจริงที่ในบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองคน ยอห์นเป็นศิษย์ที่ดูเหมือนจะเข้าใจพระเยซูเจ้าดีกว่าผู้อื่น และใกล้ชิดพระองค์มากกว่า

    ระหว่างทาง มีเหตุการณ์หนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา เราแสดงความเชื่อของเราในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ผ่านทางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ... เกิดอะไรขึ้นระหว่างทางในวันนั้น?...

    ยอห์นเห็น “คนไล่ปีศาจ” ที่ไม่ใช่คนในกลุ่มของเขา พระวรสารบันทึกประสบการณ์ของบรรดาศิษย์ที่ เมื่อไม่กี่วันก่อน พยายามขับไล่ปีศาจโดยที่พระเยซูเจ้าไม่ได้ประทับอยู่กับเขา และเขาทำไม่สำเร็จ (มก 9:18)

    เมื่อชื่อเสียงของพระเยซูเจ้ากระจายออกไป เราสามารถนึกภาพได้ว่าอาจมีคนอื่น ๆ ที่พยายามขับไล่ปีศาจเช่นกัน เรารู้จากวรรณกรรมโบราณว่ามีชาวยิวและคนนอกศาสนาในยุคของพระเยซูเจ้าที่ขับไล่ปีศาจ เหมือนกับพวกพ่อมดและแม่มดทำกันในปัจจุบัน ด้วยการใช้เวทย์มนตร์ (กจ 8:18)

    เห็นได้ชัดว่า ถ้าเป็นวันนี้ คำถามของยอห์นคงใช้คำพูดที่ต่างจากนี้ แต่จะเป็นคำถามในทำนองเดียวกัน แม้ดูเหมือนว่าใช้คำพูดต่างกัน ถูกแล้ว วันนี้ก็เหมือนกับในยุคของยอห์น และพระเยซูเจ้า ที่มี “คนขับไล่ปีศาจ” อยู่มากมาย เรารู้จัก “ปีศาจในยุคของเรา” ซึ่งมีมากมายเป็นกองทัพ เช่น ความหย่อนยานด้านศีลธรรม การดูแคลนชีวิต การแสวงหาประโยชน์อย่างไร้ยางอายจากคนอ่อนแอและคนที่ไม่มีทางป้องกันตนเอง พฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติหลากหลายรูปแบบ การกระจายความมั่งคั่งอย่างไม่เป็นธรรม การขาดสำนึกเกี่ยวกับพระเจ้า การบูชารูปเคารพในยุคของเรา ... เมื่อเผชิญกับ “ปีศาจ” เหล่านี้ เราเองก็รู้ - เหมือนกับที่ยอห์นรู้ - ว่ามีบุคคลทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา ที่พยายามสุดความสามารถที่จะขับไล่ และทำลายความชั่วเหล่านี้ด้วยการทำงานตามสาขาชีพของเขา และด้วยการอุทิศตนช่วยเหลือ และสนับสนุนขบวนการบางอย่าง...  

“เราได้เห็นคนคนหนึ่งขับไล่ปีศาจเดชะพระนามของพระองค์ เราจึงพยายามห้ามปรามไว้ เพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา”

    คนเหล่านี้ไม่ใช่คริสตชน! เขาไม่ใช่คนในกลุ่มของเรา หรือไม่ได้อยู่พรรคเดียวกับเรา!

    แสดงใบอนุญาตของคุณให้ฉันดูซิ! คุณไม่ใช่คาทอลิก คุณไม่ใช่คาทอลิกที่ปฏิบัติศาสนกิจ ... หรือคุณไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพของฉัน หรือโรงเรียนของฉัน คุณเป็นพวกฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา ... เป็นพวกอนุรักษ์นิยม หรือพวกหัวก้าวหน้าแบบสุดโต่ง – ดังนั้น ฉันไม่ยอมฟังคุณแน่นอน ... ถ้าทำได้ ฉันจะปิดปากคุณด้วย ฉันจะขัดขวางไม่ให้คุณทำอย่างนี้...

    นี่คือความจริง เรายังพบเห็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้แต่ในพระศาสนจักร! เหมือนกับการแบ่งพรรคแบ่งพวกในกลุ่มอัครสาวกสิบสองคนในยุคนั้น พวกเขาจมปลักอยู่กับการทะเลาะเบาะแว้ง และความอิจฉาริษยา พระเยซูเจ้าทรงประกาศเรื่องพระทรมานของพระองค์ เมื่อพระองค์จะทรงเป็น “คนสุดท้ายและผู้รับใช้ของทุกคน” ... พระองค์เพิ่งจะแนะนำศิษย์ของพระองค์ให้คาดเอวเตรียมตัวรับใช้ และมิใช่พยายามเป็นคนที่หนึ่ง ... แต่นี่คือปฏิกิริยาของยอห์น – ผู้เป็นหนึ่งในศิษย์ที่ดีที่สุด - ซึ่งแสดงความต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น ต้องการแสดงอำนาจและมีเอกสิทธิ์ เขาต้องการเก็บ “อำนาจของพระคริสตเจ้า” ไว้เพื่อตนเองเท่านั้น

    ขอให้เราอย่าด่วนตัดสินบรรดาอัครสาวก ขอให้เราอย่าตัดสินผู้ใดเลย แต่ขอให้เราพิจารณาพฤติกรรมของเราเองเถิด

    ข้อความสั้น ๆ นี้ในพระวรสารกำลังตอบประเด็นร้อนที่สุดในยุคของเรา คือ พระหรรษทานแห่งความรอดพ้นของพระคริสตเจ้าทำงานภายในพระศาสนจักรเท่านั้นหรือ? พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามที่มีอยู่ทุกยุคสมัยอย่างไร? 

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อย่าห้ามเขาเลย ไม่มีใครทำอัศจรรย์ในนามของเรา แล้วต่อมาจะว่าร้ายเราได้ ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา”

    เปล่าเลย อัครสาวกสิบสองคนไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ได้รับพระจิตของพระเจ้า พระจิตเจ้าเสด็จไปทุกสถานที่ เหมือนลมที่พัดไปในที่ซึ่งลมต้องการ (เทียบ ยน 3:8)

    นับแต่ยุคของโมเสสมาแล้วที่มีคนจำนวนมากได้รับพระจิตแห่งการประกาศพระวาจา (กดว 11:25-29) แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ “อยู่ในค่าย” และไม่มีใครห้ามคนเหล่านี้ประกาศพระวาจาได้ โมเสสปรารถนาให้พระจิตเจ้าประทานพระพรของพระองค์ให้แก่ทุกคน “เราปรารถนาจะให้องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานพระจิตของพระองค์แก่ประชากรทั้งปวง และให้เขาทุกคนเป็นประกาศกด้วย”

    ขอให้ “มนุษย์ผู้มีพระจิตเจ้าประทับอยู่ในตัว” จงเกิดขึ้นบนโลกนี้เถิด!

    ไม่มีใครผูกมัดพระจิตเจ้าได้ พระองค์ทรงเป็นอิสระ และไม่มีพิธีการใดพันธนาการพระองค์ได้ พระองค์ทรงทำงานนอกขอบเขตโครงสร้างต่าง ๆ ของเรา พระองค์ทรงปลุกเร้าประกาศก แม้เขาจะอยู่นอกกลุ่มของเรา อยู่นอกพระศาสนจักร พระดำรัสของพระเยซูเจ้า (“อย่าห้ามเขาเลย”) หมายความว่าผู้ปกครองของพระศาสนจักร – ซึ่งพันธกิจแท้ของเขาคือพิทักษ์รักษาความเชื่อเที่ยงแท้ – ต้องเคารพการทำงานของพระจิตเจ้าในตัวมนุษย์ทุกคนที่รับศีลล้างบาปแล้ว – และแม้แต่ในตัวมนุษย์ชายหรือหญิงแต่ละคน ที่ไม่ได้อยู่ภายในโครงสร้างที่มองเห็นได้ของพระศาสนจักร

    เรารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงมีพระทัยกว้าง เมื่อทรงพบกับทุกรูปแบบของการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการไม่ยอมอดทนต่อกัน จิตประเภทใดที่ดำรงอยู่ในตัวเรา? จิตนั้นเป็นพระจิตของพระเยซูเจ้าจริงหรือ?...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานจิตที่ใจกว้าง มีสติปัญญา และเข้าใจผู้อื่นแก่เราเถิด ใจกว้างเหมือนกับพระจิตของพระเจ้า ใจกว้างเหมือนพระจิตของพระองค์ ... พระจิตของพระองค์พัดจากสุดปลายแผ่นดินข้างหนึ่ง ไปถึงสุดปลายแผ่นดินอีกข้างหนึ่ง เพื่อเผาผลาญทัศนคติของเราที่รักแต่พวกพ้อง พระเจ้าข้า โปรดทรงทำให้เราเป็น “คาทอลิก” โดยแท้ กล่าวคือ ให้เรามี “ความเป็นสากล” ให้เราเข้าใจความแตกต่างทั้งหลาย อย่างที่สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง เตือนเราว่า ให้เรา “บำรุงเลี้ยงความเคารพต่อกันและความปรองดองภายในพระศาสนจักร ด้วยการยอมรับความหลากหลายที่ถูกทำนองคลองธรรม ... หัวใจของเราต้อนรับพี่น้องและชุมชนทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดำเนินชีวิตในความสนิทสัมพันธ์กับเราอย่างสมบูรณ์ ... และทุกคนที่ยอมรับนับถือพระเจ้า และผู้ที่รักษาขนบธรรมเนียมของตน ซึ่งเป็นองค์ประกอบอันมีค่าของศาสนาและมนุษยชาติ” (Church in Modern World, 92)

    ท่านคงจำคำสั่งสอนแรกของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในวันที่พระองค์ทรงรับตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ “อย่ากลัวเลย! จงเปิดชายแดนของท่านเถิด!”

    เรายังติดนิสัยชอบประณามผู้ที่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับเรา ผู้ที่คิดต่างจากเรา ไม่ใช่หรือ? เราสามารถชื่นชมยินดีกับส่วนหนึ่งของสัจธรรมที่ศัตรูของเรายึดมั่น และความสำเร็จของศัตรูของเราหรือไม่?
    “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49)

“ผู้ใดให้น้ำท่านดื่มเพียงแก้วหนึ่ง เพราะท่านเป็นคนของพระคริสตเจ้า เราบอกความจริงกับท่านว่า เขาจะได้บำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน”

    “น้ำดื่มเพียงแก้วหนึ่ง” แทบไม่มีค่าเลย นี่คือสัญลักษณ์ของการรับใช้ที่เล็กน้อยที่สุดที่สามารถมอบให้แก่ผู้อื่นได้ – ให้น้ำดื่มเพียงแก้วเดียว!...

    นี่คือศักดิ์ศรีพิเศษของศิษย์ของพระเยซูเจ้า เพราะเขา “เป็นของพระคริสตเจ้า” คนที่ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาผู้มีความเชื่อ คือ ผู้แทนของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าพระองค์เองคือโลกของคริสตชน

    มัทธิวจะกล่าวถึงหัวข้อนี้ในคำปราศรัยครั้งสำคัญเกี่ยวกับการพิพากษาครั้งสุดท้าย (มธ 25:31-45) “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา”... นี่คือความสำคัญของการกระทำที่เล็กน้อยที่สุด ... ไม่มีสิ่งใดที่เล็กน้อยเลย ... ข้าพเจ้าพลาดโอกาสมาแล้วกี่ครั้ง?

“ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดา ๆ ที่มีความเชื่อเหล่านี้ทำบาป ถ้าเขาจะถูกผูกคอด้วยหินโม่ถ่วงในทะเลก็ยังดีกว่ากระทำดังกล่าว”

    หลังจากทรงแนะนำสิ่งที่ควรทำ (“ให้น้ำดื่มเพียงแก้วหนึ่ง”) นี่คือคำเตือนว่าสิ่งใดไม่ควรทำ (“อย่าทำตัวเป็นที่สะดุด อย่าทำให้ผู้อื่นตกในบาป”) อันที่จริง นี่คือพฤติกรรมเดียวกัน กล่าวคือ ให้เราเอาใจใส่ผู้อื่น

    เราค้นพบอีกแง่มุมหนึ่งของบุคลิกภาพของพระเยซูเจ้า นอกจากทรงมีพระทัยกว้างแล้ว จุดยืนของพระองค์หนักแน่นไม่คลอนแคลน และทรงสงสารเห็นใจผู้อื่น ความอดทนอดกลั้นของพระเยซูเจ้าไม่ใช่การเมินเฉยต่อความชั่ว พระองค์ทรงขอให้เราอดทนอดกลั้นเมื่อเห็นบุคคลนอกกลุ่มของเรากระทำความดี และพระองค์ไม่ต้องการให้เราชักนำผู้อื่นให้ทำความชั่ว

“ถ้ามือข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ... ถ้าเท้าข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ... ถ้าตาข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันออกเสีย ... ท่านจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าโดยมีมือข้างเดียว หรือมีเท้าพิการ หรือมีตาข้างเดียว ยังดีกว่าต้องถูกโยนลงนรก...

    พระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงมีสิทธิตรัสข้อความที่เหลือเชื่อนี้ พระองค์เท่านั้นทรงรู้ว่า “บาป” คืออะไร สำหรับพระองค์ บาปเป็นเรื่องร้ายแรง และน่าอนาถใจ ชีวิตนิรันดรมีค่าสูงพอที่เราไขว่คว้ามาด้วยการยอมสละทุกสิ่ง

    เราสามารถเลือกอย่างเด็ดขาดเช่นนี้ได้หรือไม่? ... แม้เรารู้ว่าชาวยิวมักใช้ภาษาที่รุนแรงเกินจริง แต่เราก็ไม่ควรเจือจาง ทำให้ข้อความนี้อ่อนลง