แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา
เยเรมีย์ 31:7-9; ฮีบรู 5:1-6; มาระโก 10:46-52

บทรำพึงที่ 1
นักศึกษาแพทย์
พระเจ้าและคนอื่น ๆ พร้อมจะช่วยเหลือเรา มากกว่าที่เราพร้อมจะร้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์และจากผู้อื่น

    ถ้าคุณเคยใช้บริการสายการบินอเมริกัน แอร์ไลนส์ ระหว่างเดือนตุลาคม 1988 คุณอาจได้เห็นนิตยสาร American Way (วิถีอเมริกัน) ที่แจกบนเครื่องบิน และได้อ่านบทความหนึ่งที่เขียนโดยนายแพทย์เกษียณ ชื่อ ดร. เฟรด ซี. คอลลีเออร์

    เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 เฟรดเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ทำงานในหน่วยฝึกพิเศษของกองทัพ เขามาจากครอบครัวชาวแคนซัสที่ไม่มีเงินพอจะส่งเสียให้เขาศึกษาในโรงเรียนแพทย์จนจบได้ ดังนั้นเมื่อเขาถูกปลดประจำการจากกองทัพ เขาจึงไม่รู้ว่าเขาจะหาทางศึกษาจนจบได้อย่างไร

    แล้ววันหนึ่งเขาได้หยิบนิตยสารฉบับหนึ่งขึ้นมาอ่านในร้านตัดผม ในนั้นมีบทความหนึ่งที่กล่าวถึงความเมตตากรุณาของ อีลีเนอร์ รูสเวลท์ ภรรยาของประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลท์ ผู้ถึงแก่กรรมเมื่อสองสามเดือนก่อนหน้านั้น

    บทความนั้นทำให้เฟรดเริ่มคิด เขาไปที่ห้องสมุดท้องถิ่น และด้วยความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เขาสามารถค้นหาที่อยู่ของนางรูสเวลท์จนพบ จากนั้นเขาก็นั่งลงและเขียนจดหมายฉบับหนึ่งบอกเล่าปัญหาของเขา เขาเขียนอยู่หลายครั้ง แก้ไขจนกระทั่งเขาเขียนได้อย่างที่ต้องการ เมื่อเขานำจดหมายไปทิ้งที่ตู้ไปรษณีย์ แม้แต่ภรรยาของเขาก็ยังสงสัยว่ามันจะคุ้มค่าเวลาที่เสียไปและค่าแสตมป์หรือไม่

    แต่แล้วเฟรดก็ต้องประหลาดใจมาก นางรูสเวลท์ยอมให้เขาไปพบเธอ เมื่อเขาได้พูดคุยกับเธอแล้ว เธอสัญญาว่าจะช่วยเหลือเขา ตลอดเวลาหลายเดือนและนานเป็นปีต่อจากนั้น เฟรดได้รับเช็คจากแหล่งต่าง ๆ กัน ผ่านทางนางรูสเวลท์ รวมทั้งเช็คส่วนตัวของเธอด้วย ส่วนเฟรดก็คอยรายงานความก้าวหน้าในการศึกษาของเขาต่อเธอ และทำสำเนารายงานทางวิชาการที่เขาเขียนและส่งให้เธอทุกครั้ง เลขานุการของเธอบอกในภายหลังว่าเธออ่านรายงานเหล่านั้นด้วยความสนใจเสมอ

    หลังจากนั้นนางรูสเวลท์ได้ไปเยี่ยมสามีภรรยาคู่นี้ในห้องเช่าที่แทบไม่มีเครื่องเรือน เจ้าของห้องเช่าแทบเป็นลม เมื่อจำผู้มาเยี่ยมที่มีชื่อเสียงได้

    เมื่อเฟรดเรียนจบ เขาบอกนางรูสเวล์ทว่าเขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถตอบแทนบุญคุณของเธอได้อย่างไร เธอบอกเขาว่าเขาไม่จำเป็นต้องตอบแทน และเธอก็ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน แล้วเธอก็เสริมว่า “ฉันจะได้รับการตอบแทนอย่างคุ้มค่า ถ้าวันใดเมื่อคุณมีสถานภาพทางการเงินที่มั่นคงแล้ว คุณจะช่วยเหลือคนอื่นที่อาจสมควรได้รับความช่วยเหลือ อย่างที่คุณสมควรได้รับ”

    เรื่องของเฟรดมีหลายส่วนที่คล้ายกับเรื่องของชายตาบอดในพระวรสารวันนี้ เขาเหมือนกับชายตาบอดคนนี้ตรงที่เขามีปัญหาที่เขาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เขาเหมือนกับชายตาบอดคนนี้ตรงที่เขาหันไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และเฟรดเหมือนกับชายตาบอดคนนี้ตรงที่เขาได้รับความช่วยเหลืออย่างที่เขาคิดไม่ถึง ข้อคิดที่เราได้จากเรื่องของเฟรดกับนางรูสท์เวลท์ และเรื่องของพระเยซูเจ้ากับชายตาบอด คือ มีบางเวลาที่เราทุกคนต้องการความช่วยเหลือ และต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือจากพระเจ้า

    เราจะพิจารณาข้อคิดแรกของการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เหมือนกับที่เฟรดร้องขอจากนาง รูสท์เวลท์

    พระสงฆ์หนุ่มคนหนึ่งกำลังสอนในโรงเรียนมัธยมปลายในถิ่นคนจนในเมืองชิคาโก โรงเรียนไม่มีงบประมาณสำหรับตกแต่งห้องเรียน วันหนึ่ง ขณะที่พระสงฆ์กำลังลงมือทาสีห้องเรียนด้วยตนเอง นักเรียนคนหนึ่งอาสาช่วยเขา นักเรียนคนนั้นใช้เวลามากกว่า 40 ชั่วโมงช่วยพระสงฆ์ หลังจากตกแต่งห้องเรียนเรียบร้อย พระสงฆ์ไปเยี่ยมบิดาของเด็กชายคนนั้น และถามว่าเขาจะหาอะไรเป็นของขวัญตอบแทนน้ำใจของเด็กคนนี้ได้บ้าง บิดาของเด็กตอบว่า “อย่าหาอะไรมาให้ลูกชายของผมเลย ขอให้เขาได้รับเกียรติที่เขาได้แสดงความดีในหัวใจของเขาออกมาด้วยการช่วยเหลือคุณพ่อ และโรงเรียนของเขาเถิด นั่นเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่คุณพ่อจะมอบให้เขาได้”

    มีคนจำนวนมากในโลกนี้ที่เหมือนกับพ่อลูกคู่นี้ เขาเต็มใจจะช่วยผู้อื่น และเขาจะช่วยเพราะความดีที่อยู่ในใจของเขา เหมือนกับที่นางรูสท์เวลท์ได้ทำ – และเหมือนกับที่เราจะทำ ถ้ามีใครร้องขอจากเรา

    ข้อคิดที่สอง คือ การขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า

    มีบางเวลาในชีวิตของเรา ที่เราไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และผู้อื่นก็ไม่สามารถช่วยเราได้ด้วย ในเวลาเช่นนี้ เราต้องเข้าขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เหมือนกับชายตาบอดคนนี้ร้องขอความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า

    พระเยซูเจ้าเองทรงแสดงแบบอย่างของการร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ในสวนเกทเสมนี พระเยซูเจ้าทรงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยคำภาวนาต่อไปนี้ถึงสามครั้ง “พระบิดาเจ้าข้า พระองค์ทรงทำทุกสิ่งได้ โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มก 14:36)

    พระเยซูเจ้าทรงเสนอความจำเป็นของพระองค์ต่อพระบิดา โดยตรัสว่า “พระองค์ทรงทำทุกสิ่งได้” แต่แล้วพระองค์ก็ทรงเสริมว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” และพระเจ้าก็ทรงช่วยเหลือพระองค์ในยามทุกข์ยากนี้ พระเจ้าไม่ได้ขจัดความทุกข์ทรมานของพระองค์ แต่ได้ประทานพละกำลังให้พระเยซูเจ้าทรงทนรับความทุกข์ทรมานนั้นได้

    บ่อยครั้งที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือเราในลักษณะเดียวกันนี้ พระเจ้าไม่ทรงตอบสนองคำวอนขอของเราอย่างที่เราคาดหมายเสมอไป แต่พระองค์ทรงตอบสนองในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งเหมาะสมมากกว่า

    ดังนั้นพระวรสารวันนี้จึงเตือนใจเราว่า มีบางเวลาในชีวิตของเราที่เราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และจากพระเจ้า เหมือนกับเฟรดและชายตาบอดคนนี้ และถ้าเราร้องขอด้วยจิตใจสำรวมในการภาวนา เราจะได้รับความช่วยเหลือ และความช่วยเหลือที่เราได้รับอาจงดงามเกินความคาดหมายของเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาที่เราเคยได้ยินมาก่อน ซึ่งแสดงว่าบ่อยครั้งพระเจ้าทรงตอบสนองคำภาวนาของเราด้วยวิถีทางที่เราไม่คิดว่าจะเป็นไปได้

    ข้าพเจ้าวอนขอสุขภาพ เพื่อข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
    แต่ข้าพเจ้าได้รับการเจ็บป่วย เพื่อให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งที่ดียิ่งกว่า...
    ข้าพเจ้าวอนขอความร่ำรวย เพื่อข้าพเจ้าจะมีความสุข
    แต่ข้าพเจ้าได้รับความยากจน เพื่อให้ข้าพเจ้ามีสติปัญญา...
    ข้าพเจ้าวอนขออำนาจ เพื่อข้าพเจ้าจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์
    แต่ข้าพเจ้าได้รับความอ่อนแอ เพื่อให้ข้าพเจ้ารู้ตัวว่าข้าพเจ้าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า...
    ข้าพเจ้าวอนขอทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสุขกับชีวิต
    แต่ข้าพเจ้าได้รับชีวิต เพื่อให้ข้าพเจ้ามีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่าง...
    ข้าพเจ้าไม่ได้รับสิ่งใดที่ข้าพเจ้าวอนขอแม้แต่อย่างเดียว
    แต่ข้าพเจ้าได้รับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวัง
    ข้าพเจ้าจำต้องยอมรับว่า คำภาวนาที่ข้าพเจ้าไม่ได้เอ่ยออกมา ได้รับการตอบสนอง
    ข้าพเจ้าเป็นคนที่ได้รับพระพรอย่างมั่งคั่งที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย  

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 10:46-52

เยรีโค...

    เยรีโคเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่ำที่สุดในโลก บนแอ่งที่เรียกว่า กอร์ (Ghor) ที่ระดับ 250 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ทะเลตาย ท่ามกลางภูมิประเทศที่แห้งแล้ง เป็นโอเอซิสที่สวยงาม เขียวชอุ่มด้วยต้นปาล์ม

    เมืองนี้ยังเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย นักโบราณคดีบอกเราว่า เมืองนี้มีประชากรอาศัยอยู่ตั้งแต่ 7800 ปีก่อนคริสตกาล เขาค้นพบซากป้อมปราการซึ่งมีอายุย้อนกลับไปถึงปี 7000 ก่อนคริสตกาล เมืองนี้ถือว่าเป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่ยุคของอับราฮัมแล้ว

    ในพระคัมภีร์ เมืองเยรีโคเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ดินแดนพันธสัญญาของชาวอิสราเอลหลังจากข้ามแม่น้ำจอร์แดน สำหรับผู้แสวงบุญที่เดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองปัสกา สำหรับกองคาราวานที่เดินทางมาจากแคว้นกาลิลีผ่านทางจอร์แดน เยรีโคเป็นสถานที่หยุดพักจุดสุดท้าย เพราะอยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียง 35 กิโลเมตร สำหรับพระเยซูเจ้า นี่คือเส้นทางไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม ในวันพรุ่งนี้ (มก 11:1) พระองค์จะเสด็จเข้าสู่นครศักดิ์สิทธิ์ อย่างผู้มีชัยเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเสวยอาหารค่ำมื้อสุดท้าย เพื่อรับพระทรมาน – และเพื่อกลับคืนพระชนมชีพ

    คำว่าเยรีโคในภาษาฮีบรู แปลว่า “เมืองแห่งดวงจันทร์” ซึ่งอาจตั้งชื่อตามลัทธิโบราณที่นับถือเทพเจ้าแห่งรัตติกาล!  พระเยซูเจ้าจะทรงทำอัศจรรย์ครั้งสุดท้ายที่นี่ พระองค์จะทรงพิชิตรัตติกาล ซึ่งคุมขังชายตาบอดคนนี้เป็นนักโทษ...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นแสงสว่างของเรา ... โปรดส่องแสงขับไล่ความมืดในยามค่ำคืนของเราด้วยเถิด!...

ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ และประชาชนจำนวนมาก...

    ระหว่างหลายวันก่อนหน้านี้ มาระโกบอกเราว่า (บทที่ 8 ถึง 10) ศิษย์กลุ่มเดียวกันนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขา “มืดบอด” เพราะเขาไม่ยอมรับชะตากรรมที่แท้จริงของพระเยซูเจ้า เขายังใฝ่ฝันถึงเกียรติยศและความสำเร็จประสามนุษย์ (มก 10:37) แม้ว่าพระองค์ได้ประกาศเรื่องกางเขนของพระองค์มาแล้วถึงสามครั้ง (มก 8:31, 9:31, 10:34) บทอ่านประจำวันอาทิตย์หกสัปดาห์ที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่าบรรดาศิษย์ขาดความเข้าใจ และเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะติดตามพระเยซูเจ้า พระวรสารบอกเราว่า เราต้อง “ยอมเสียชีวิต” (8:35) ... ต้อง “ทำตนเป็นคนสุดท้าย” (9:35) ... ต้อง “ควักดวงตา ตัดมือ ตัดเท้า” ถ้าอวัยวะเหล่านั้นจะทำให้เราตกในบาป (9:47) ... ต้องซื่อสัตย์ต่อคู่สมรสของตน (10:9) ... ต้อง “ขายทุกสิ่งที่มี มอบเงินให้คนยากจน” (10:21) ... ต้อง “ดื่มถ้วยที่พระองค์จะทรงดื่ม และรับการล้างที่พระองค์จะทรงรับ” และทำให้ตนเองเป็น “ผู้รับใช้ทุกคน” (10:38-44)

    พระเจ้าข้า ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ด้วยพละกำลังของตนเอง แม้ว่าเขาจะเป็นศิษย์ของพระองค์ก็ตาม...

บารทิเมอัส บุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอด นั่งอยู่ริมทาง

    มีคนตาบอดจำนวนมากในประเทศยากจนในดินแดนตะวันออกกลาง ก่อนที่เบรลจะสอนให้คนตาบอดอ่านหนังสือด้วยนิ้วมือ คนตาบอดทำได้อย่างเดียวคือขอทาน และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ในพระคัมภีร์ สภาพตาบอดถือว่าเป็นความยากจนอย่างหนึ่ง เขายากจนเพราะเขาถูกทอดทิ้งให้ต่อสู้ตามลำพัง...

    เราจงมองดูภาพนี้ นี่คือภาพของมนุษย์คนหนึ่ง นี่คือภาพของตัวท่านเอง! ตาที่มองไม่เห็น มือยื่นออกไปข้างหน้า นั่งอยู่ริมทาง ... ตาบอด เดินไม่ได้ด้วยตนเอง และต้องพึ่งผู้อื่น ... แต่ขอทานตาบอดคนนี้จะกลายเป็นต้นแบบสำหรับเราทุกคน เขาจะเป็นต้นแบบสำหรับบรรดาศิษย์ ผู้คิดว่าตนเองมองเห็น (ยน 10:39-40)

    ชายคนนี้ชื่อบารทิเมอัส มาระโกเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารคนเดียวที่ระบุชื่อของเขา เป็นไปได้ว่าบารทิเมอัสคนนี้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มคริสตชนยุคแรกในเวลาที่มาระโกเขียนพระวรสารของเขา เขาเป็นคนที่ทุกคนรู้จักดี เขาเป็นคนที่พระเยซูเจ้าทรงรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์...

    ท่านรู้ตัวหรือไม่ว่าพระเจ้าทรงรู้จักชื่อของท่าน และพระองค์ทรงรักท่านด้วยความรักเป็นส่วนตัว ท่านไม่ใช่บุคคลนิรนามสำหรับพระองค์?...

เมื่อได้ยินว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกน

    มาระโกเล่าเรื่องอย่างชัดเจน เราเห็นเหตุการณ์นี้ราวกับกำลังชม “ภาพยนตร์เรื่องสั้น” ซึ่งรายละเอียดทุกอย่างมีความหมายเชิงสัญลักษณ์

    เรารู้ว่าคนตาบอดมีประสาทหูไวมาก หูของบารทิเมอัสบอกเขาว่าพระเยซูเจ้า “ชาวนาซาเร็ธ” อยู่ที่นั่น เขานั่งอยู่ที่ประตูเมืองเยรีโค เขาได้ยินกลุ่มประชาชนเดินผ่านหน้าไปและพูดกันเสียงดัง เขาได้ยินว่านี่คือพระเยซูเจ้า

    “ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหน้าพระองค์ แต่คนที่รู้จักพระองค์เล่าเรื่องของพระองค์ให้ข้าพเจ้าฟัง นับแต่วันนั้น ข้าพเจ้าหวังเสมอว่าพระองค์จะเสด็จผ่านมาทางนี้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินว่า วันนี้ พระองค์จะเสด็จมา”

    เราเองก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับชายตาบอดคนนี้ เราไม่เคยเห็นพระพักตร์พระเยซูเจ้า แต่ด้วยความเชื่อ เราเชื่อในคำพยานของผู้ที่รู้จักพระองค์ เรากำลังรอคอยให้พระองค์เสด็จมา และวันหนึ่งเราจะได้เห็นพระองค์!

เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”

    ความหวังอย่างเสียสติผุดขึ้นมาจากเบื้องลึกของความมืดของเขา แล้วเขาก็ส่งเสียงร้อง เขาตะโกนคำวิงวอนของเขา “โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” คำที่เขาตะโกน คือ Kyrie, eleison ในภาษากรีก นี่คือคำภาวนาอันเก่าแก่ ที่พระศาสนจักรจารีตตะวันออกสอนนักพรตของประเทศกรีก รัสเซีย เลบานอน ซีเรีย อียิปต์ แคปปาโดเซีย และในทะเลทราย ... เป็นคำภาวนาเพื่อชำระตนเองให้บริสุทธิ์ เพียงด้วยการสวดบทภาวนาที่เขาเรียกว่า “บทวอนขอพระเยซูเจ้า (the Jesus Prayer)” ซ้ำไปมาโดยใช้คำพูดว่า “Jesus, have mercy (พระเยซูเจ้าข้า โปรดเมตตาเทอญ)” คำในพระวรสารภาษากรีกของมาระโก คือ “Iesou, eleison”

    เราต้องสวดคำแรกพร้อมกับหายใจเข้า และสวดคำที่สองพร้อมกับหายใจออก จังหวะทางกายจะช่วยให้คำภาวนานี้แทรกเข้าไปทั่วตัวตนของเรา ด้วยวิธีนี้ ผู้ภาวนาสามารถ “เชิญพระเยซูเจ้าเข้ามาในหัวใจพร้อมกับลมหายใจ” เป็นเวลานานนับชั่วโมงได้ นี่คือการอธิษฐานภาวนาที่เรียบง่ายและงดงาม และเป็นของขวัญที่เราได้รับจากคริสตชนจารีตตะวันออก และ “การภาวนาพร้อมกับหายใจ” อันเรียบง่ายนี้เหมือนกับการฝึกโยคะ ซึ่งมีเทคนิคยุ่งยากกว่ามาก

    “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” วันพรุ่งนี้ ฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็มจะถือใบปาล์มและโห่ร้องต้อนรับพระเยซูเจ้าด้วยข้อความเดียวกันนี้ (มก 11:10) ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา “ความลับของพระเมสสิยาห์” อีกต่อไป เพราะความตายของกษัตริย์ ผู้เป็นโอรสของดาวิด ใกล้เข้ามาแล้ว และไม่มีใครสามารถอธิบายความหมายทางการเมืองที่กำกวมเกี่ยวกับความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ได้

    ชาวยิวคาดหมายว่าพระเมสสิยาห์จะสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ในอิสราเอล และขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ประชาชนคิดว่าพระองค์เสด็จไปที่นั่นเพื่อยึดอำนาจ แต่พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ตามความหมายของโลก (มก 10:42, มธ 27:11; ยน 18:33-36) มงกุฎของพระองค์ทำด้วยหนาม โอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้เกิดที่เมืองเบธเลเฮมเหมือนบรรพบุรุษของพระองค์ จะครองราชย์เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิดในกรุงเยรูซาเล็ม – แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่ประชาชนคาดหมาย พระองค์จะทรงเป็นคนที่หนึ่ง ด้วยการทำให้พระองค์เองทรงเป็นคนสุดท้าย และเป็นทาสรับใช้ทุกคน

หลายคนดุเขาให้เงียบ แต่เขากลับตะโกนดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”

    มีคนที่พร้อมจะปิดปากคนจนเสมอ ... ชายหญิงบางกลุ่มจะพบเสมอว่าไม่มีใครต้องการฟังเขา คนกลุ่มนี้ คือ ผู้อพยพ คนตามชายขอบของสังคม คนพิการ เหยื่อทุกรูปแบบ ... เสียงตะโกนของบารทิเมอัสยังดังก้องอยู่จนถึงทุกวันนี้

พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ”

    ข้อความนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อย แต่เราไม่ควรมองข้าม พระเยซูเจ้าทรงให้ศิษย์ของพระองค์รับใช้คนยากจน พระเยซูเจ้าทรงส่งสารของพระองค์ผ่านทางศิษย์ของพระองค์ พระเจ้าจำเป็นต้องใช้มนุษย์ทำงานแทนพระองค์ ... ถูกแล้ว พระเจ้าทรงสื่อสารกับมนุษยชาติผ่านทางพระศาสนจักร – และ “พวกเรา” คือพระศาสนจักร!

    เราสนใจเสียงตะโกนที่ดังอยู่รอบตัวเราหรือไม่? เราสะท้อนเสียงเรียกของพระเยซูเจ้าให้พี่น้องชายหญิงของเราได้ยิน เพื่อนำเขาไปหาพระผู้ไถ่เพียงพระองค์เดียวหรือเปล่า? ... เราอาจอภิปรายได้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพระศาสนจักรควรแสดงบทบาทอย่างไรในโลกปัจจุบัน แต่เรามีคำตอบอยู่ที่นี่แล้ว คือ จงฟังเสียงตะโกนของชาวโลก ... จงเรียกมนุษยชาติในพระนามของพระเยซูเจ้า...

เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว”

    “ลุกขึ้น” คำนี้ในภาษากรีกเป็นคำที่รู้จักกันดีว่าใช้กล่าวถึงการกลับคืนชีพ egeire แปลว่า “ตื่นขึ้น ... ลุกขึ้น ... พยุงให้ลุกขึ้น” (มก 2:9-11; 3:3, 5:41, 9:27, 10:49)

    นี่คือสารที่พระศาสนจักรมอบให้แก่คนทั่วไป ในพระนามของพระเยซูเจ้า...

คนตาบอดสลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า

    ในพระคัมภีร์ “เสื้อคลุม (mantle)” เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของมนุษย์ (1 ซมอ 18:4, 24:6; 2 พกษ 2:14; นรธ 3:9) การสัมผัสกับเสื้อคลุมของพระเยซูเจ้าทำให้หายจากโรคได้ (มก 5:27, 6:56)

    เมื่อชายตาบอดสลัดเสื้อคลุมของเขาทิ้งไป เขาแสดงออกว่าเขาพร้อมจะ “สลัดอดีตทิ้งไป” ในยุคของมาระโก ผู้รับศีลล้างบาปจะถอดเสื้อผ้าของตนออก และสวมชุดรับศีลล้างบาปชุดใหม่
 
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้”

    ถ้าอ่านข้อความนี้โดยไม่ไตร่ตรอง เราจะพบว่าเป็นคำถามที่แปลก เพราะพระเยซูเจ้าทรงรู้ดีว่าชายตาบอดนี้คาดหมายอะไรจากพระองค์

    แต่เหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของศีลล้างบาปตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้สมัครรับศีลล้างบาปกำลังแสวงหา “ความสว่าง” และเขาต้อง “ประกาศยืนยันความเชื่อ” ส่วนตัวของเขา

“ให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด”

    ในยุคของมาระโก ประชาชนเรียกศีลล้างบาปว่า “การส่องสว่าง (Illumination) นี่คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เปิดตาให้มองเห็น ... พระเจ้าข้า โปรดให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด ... โปรดทรงเปิดตาของข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า!...

พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว”

    ศีลล้างบาปเป็นเส้นทางที่นำเราก้าวออกจากความมืด และเข้าสู่ความสว่าง ... ศีลล้างบาปคือความรอดพ้นของเรา สิ่งใดที่มนุษย์ทำด้วยพละกำลังของตนเองไม่ได้ บัดนี้เขาทำได้แล้ว บัดนี้เขาสามารถติดตามพระเยซูเจ้าได้แล้ว!

    ลูกากล่าวถึงศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังเอมมาอูสว่า “เขาก็ตาสว่าง” ถูกแล้ว เขาตาบอด ทั้งที่ตาของเขาเบิกกว้าง!...

    บารทิเมอัสจะไม่มีวันลืมใบหน้าแรกที่เขามองเห็น เมื่อเขาตาสว่าง ... พระเจ้าข้า เมื่อใดเราจะตาสว่างเสียที?

    เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้าข้า!