วันอาทิตย์ที่ 34 เทศกาลธรรมดา (วันสมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล)
เฉลยธรรมบัญญัติ 7:13-14; วิวรณ์ 1:5-8; ยอห์น 18:33-37

บทรำพึงที่ 1
เจ้าชายและยาจก
พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นกษัตริย์ เสด็จมาเกิดเป็นมนุษย์เหมือนเรา และสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เราจะทำอะไรเพื่อตอบแทนพระองค์บ้าง?

    เมื่อได้ยินชื่อ มาร์ค ทเวน เรามักคิดถึงหนังสือเรื่องทอม ซอเยอร์ และฮักเคิลเบอรี่ ฟินน์ แต่มาร์ค ทเวน ได้เขียนหนังสือเรื่อง “เจ้าชายและยาจก (The Prince and the Pauper)” ด้วย และเมื่อมองจากบางแง่มุม เจ้าชายและยาจก อาจเป็นหนังสือที่สำคัญกว่า ทอม ซอเยอร์ หรือฮักเคิลเบอรี่ ฟินน์

    หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของเด็กชายสองคนที่เกิดในประเทศอังกฤษ เด็กคนแรกเกิดมาในราชวงศ์ และเป็นทายาทคนที่หนึ่งของบัลลังก์ประเทศอังกฤษ เขาได้รับยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ และต่อมาได้เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 มาร์ค ทเวน บรรยายสภาพการเกิดของเขาว่า

    “ประเทศอังกฤษรอคอยเขามานาน และหวังว่าเขาจะเกิดมา และอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อเขา และบัดนี้เมื่อเขาเกิดมาจริง ๆ ประชาชนยินดีจนแทบคลั่ง ... ประชาชนทุกคนหยุดทำงาน และทุกคนไม่ว่าชนชั้นสูงและชนชั้นต่ำ คนรวยและคนจน ล้วนเลี้ยงฉลอง เต้นรำ และร้องเพลง”

    ในวันเดียวกับที่เจ้าชายเกิดมาในพระราชวังในกรุงลอนดอนนั้น เด็กอีกคนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนในชุมชนแออัดของกรุงลอนดอน เขาได้รับชื่อว่าทอม แคนที่ และต่อมาเขาก็กลายเป็นเด็กขอทาน มาร์ค ทเวน บรรยายสภาพการเกิดของเขาว่า

    “เขาเป็นเด็กที่ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครรอคอยเขา ไม่มีใครหวังว่าเขาจะเกิดมา ไม่มีใครอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อเขา และบัดนี้เมื่อเขาเกิดมาในโลกนี้ ก็ไม่มีใครเลี้ยงฉลอง ไม่มีใครเต้นรำ ไม่มีใครร้องเพลง”

    เด็กทั้งสองคนเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งสองมองเห็นโลกต่างกัน แต่ทั้งสองมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน เด็กทั้งสองเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่น ความกระตือรือร้น อย่างที่เราพบเห็นในตัวเด็กชายทุกคนที่กำลังย่างเข้าวัยรุ่น

    วันหนึ่ง ทอม แคนที่ มายืนอยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง เขายืนงงกับความงามของวังนี้ ขณะที่เขาเดินเข้ามาใกล้ประตูวังเพราะอยากมองเห็นให้ชัด ๆ ทหารยามก็จับตัวเขาและโยนเขาลงบนพื้นดิน

    ในเวลาเดียวกัน เจ้าชายน้อยมาพบเหตุการณ์นี้โดยบังเอิญ และเขาวิ่งเข้ามาช่วยทอม จากนั้นเจ้าชายก็ทำให้ทหารยามตกใจเมื่อเขาเชิญทอมเข้าไปในห้องพักที่หรูหราของเขา ทอมตกตะลึง เขาไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนในชีวิต และเจ้าชายก็พอใจกับความจริงใจและไม่เสแสร้งของเพื่อนใหม่ของเขา

    จากนั้น ขณะที่เจ้าชายพาทอมไปดูกระจกบานใหญ่ในห้องของเขา เด็กสองคนไม่อยากเชื่อภาพที่เขาเห็นในกระจก นอกจากเสื้อผ้าขาด ๆ และใบหน้าที่มอมแมม ทอมเหมือนกับเจ้าชายราวกับฝาแฝด เมื่อเห็นรูปร่างหน้าตาที่เหมือนกันเช่นนั้น เจ้าชายพูดกับทอมว่า “เธอมีผม ดวงตา และเสียงเหมือนฉัน มีรูปร่างและหน้าตาเหมือนฉัน ถ้าเราสองคนไม่สวมเสื้อผ้า ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าคนไหนเป็นเธอ และคนไหนเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์”

    เขาทั้งสองมีความคิดเหมือนกัน คงจะสนุกถ้าเขาจะสับเปลี่ยนตัวกัน และล้อทุกคนเล่น ดังนั้นเจ้าชายจึงสวมเสื้อผ้าขอทานของทอม และออกไปเดินเร่ร่อนในย่านสลัมของกรุงลอนดอน พูดคุยกับคนจนและผู้ด้อยโอกาส ในเวลาเดียวกัน ทอมก็สวมเสื้อผ้าของเจ้าชาย และพูดคุยกับคนรวยและผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย

    เวลาผ่านไประยะหนึ่ง เด็กทั้งสองก็เบื่อเกมของเขา เจ้าชายกลับมาที่พระราชวัง และพยายามจะเข้าไปภายใน แต่ทหารยามจับตัวเขาไว้ เมื่อเขาไม่ยอมไปไหน ทหารยามก็จับเขาขังในคุกของพระราชวัง ไม่ว่าเขาอธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อว่าเขาคือเจ้าชายแห่งเวลล์ตัวจริง และไม่ว่าทอมจะพยายามแก้ไขสถานการณ์อย่างไรก็ไม่สำเร็จ

    แต่เรื่องก็ลงเอยด้วยดีในที่สุด แต่เจ้าชายก็ได้พบเห็นด้วยตนเองว่าคนจนได้รับการปฏิบัติอย่างไร และถูกกดขี่อย่างไรจากบุคคลที่มีอำนาจ เมื่อเจ้าชายขึ้นครองราชย์ในที่สุด เขาเป็นกษัตริย์ที่เมตตากรุณามากที่สุด และเป็นผู้ที่ประชาชนรักมากที่สุดพระองค์หนึ่งในบรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่ครองบัลลังก์แห่งประเทศอังกฤษ

    เรื่อง เจ้าชายและยาจก ก็ไม่ต่างจากเรื่องของพระเยซูคริสตเจ้า และเราแต่ละคน เราคือเด็กขอทาน พระเยซูเจ้าทรงเป็นเจ้าชาย ที่วันหนึ่งจะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองสิ่งสร้างทั้งมวล

    พระเยซูเจ้าทรงสลับที่กับเรา พระองค์ทรงถอดเสื้อคลุมแห่งพระเทวภาพ และมาสวมเสื้อสกปรกขาดวิ่นแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา

    เหมือนกับเจ้าชายในเรื่องของมาร์ค ทเวน พระเยซูเจ้าทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เองว่าการอยู่ร่วมกับคนยากจน และผู้ที่ถูกกดขี่นั้นเป็นอย่างไร แต่ต่างจากเจ้าชายในเรื่องของมาร์ค ทเวน พระเยซูเจ้าทรงกระทำบางสิ่งที่สำคัญมาก พระองค์ทรงยอมสิ้นพระชนม์ด้วยมือของประชากรของพระองค์เอง ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และบัดนี้ ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสวรรค์และแผ่นดิน

    นี่คือธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่ที่เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้ เราเฉลิมฉลองความจริงที่ว่า พระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสวรรค์และแผ่นดินผู้นี้ ทรงเข้าใจสถานการณ์ของเรา พระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา และทรงสัมผัสกับประสบการณ์ต่าง ๆ ของเราด้วยพระองค์เอง พระองค์ยังทรงทำมากกว่านั้น พระองค์ทรงยอมรับความเจ็บปวดทรมาน และสิ้นพระชนม์เพื่อเรา

    ในเวลาใกล้เคียงกับเวลาที่มาร์ค ทเวน เขียนเรื่องเจ้าชายกับยาจกนี้ อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีของอเมริกา ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 เขาถูกลอบสังหารในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

    ร่างของเขาถูกนำมาตั้งไว้ในขบวนรถไฟ เพื่อนำไปฝังที่สปริงฟิลด์ รัฐอิลินอยส์ รถไฟจะหยุดตามเมืองใหญ่ ๆ ตามเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามาคำนับศพของท่านประธานาธิบดี

    ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ หญิงผิวดำที่ยากจนคนหนึ่งพาบุตรชายเล็ก ๆ ของเธอมาเข้าแถวรอคำนับศพด้วย เมื่อทั้งสองมาอยู่เบื้องหน้าร่างของท่านประธานาธิบดี หญิงคนนี้อุ้มบุตรชายของเธอขึ้นมา และบอกเขาว่า “ลูกรัก มองเขาให้เต็มตา ชายคนนี้ตายเพื่อลูก”

    ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์เช่นกัน พระองค์ไม่ใช่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสวรรค์และแผ่นดิน และเหมือนกับหญิงผิวดำคนนั้นพูดกับบุตรชายเล็ก ๆ ของนางในวันนั้น ผมขอพูดกับคุณแต่ละคนในวันนี้ว่า “จงมองให้เต็มตา ชายคนนั้นยอมตายเพื่อคุณ”

    ถ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ยอมสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ผู้เป็นยาจกของโลกนี้ เราควรทำอะไรเพื่อตอบแทนพระองค์บ้าง?

    และดังนั้น วันฉลองพระคริสตเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาลนี้ จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่ผมจะชี้ไปที่ไม้กางเขนในวัดแห่งนี้ และกล่าวว่า “พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย จงมองให้เต็มตา ชายคนนั้นยอมตายเพื่อคุณ”

    และคงเป็นการเหมาะสมถ้าคุณจะตอบสนองด้วยการตั้งคำถามสามข้อกับตนเอง

    ฉันเคยทำอะไรเพื่อชายคนนี้ในอดีต?
    ฉันกำลังทำอะไรเพื่อเขาในเวลานี้?
    ฉันจะทำอะไรเพื่อเขาในอนาคต?

บทรำพึงที่ 2
มาระโก 18:33-37

    วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของปีพิธีกรรม หลังจากทรงกล่าวคำปราศรัยครั้งสุดท้าย – และในคำปราศรัยนั้น พระองค์ประกาศว่าพระองค์จะเสด็จมาในเวลาที่เกิดทุกขเวทนาครั้งใหญ่ เพื่อรวบรวมมนุษย์ทุกคนสำหรับ “ฤดูร้อนอันสวยงาม” – พระเยซูเจ้าก็มาถึง “กาลอวสาน” ของพระองค์เอง ทรงเข้าสู่พระทรมาน ซึ่งเป็นทั้งบทสรุปและจุดสุดยอดของ “ข่าวดีตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก” ซึ่งเราได้อ่านมาตลอดปี
    สำหรับวันอาทิตย์สุดท้ายนี้ เราจะอ่านคำบอกเล่าของผู้นิพนธ์พระวรสารอีกท่านหนึ่ง คือนักบุญยอห์น แต่เรายังอยู่ในบริบทเดิม และมาถึงบทสรุปเดิม ยอห์นไม่เคยระบุว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “กษัตริย์” ก่อนพระทรมานอันโหดร้าย แต่เป็นชัยชนะของพระองค์ แต่แล้วเขาก็กล่าวถึงตำแหน่งนี้ขึ้นมาในทันใด และย้ำคำว่า “กษัตริย์” และ “พระอาณาจักร” อีกหลายครั้ง (ยน 18:33, 36, 37, 39; 19:3, 12, 14, 15, 19, 21) – แต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ถูกตรึงกางเขน และมงกุฎของพระองค์ทำด้วยหนาม และเขาถวายตำแหน่งนี้แด่พระองค์เพื่อเย้ยหยัน

    ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า “ความเป็นกษัตริย์” ของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ตำแหน่งกษัตริย์ของอาณาจักรในโลกนี้

ปิลาตถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ต้องหา! พระเยซูเจ้าทรงขึ้นศาล! นี่คือการพิพากษาที่โด่งดังที่สุดตลอดมาทุกยุคสมัย!

    ผู้พิพากษาคือปิลาต ผู้นำของกองทัพโรมันที่ยึดครองแผ่นดิน เขาเป็นตัวแทนของหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปกครองโลก และสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ได้ ขณะนั้นโรมมีอำนาจปกครองอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ส่วนหนึ่งของเยอรมนี ออสเตรีย ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย กรีซ ตุรกี ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ อียิปต์ ลิเบีย ตูนีเซีย อัลจีเรีย และโมรอคโค ประมุขของโรมในเวลานั้นคือทีเบเรียส ผู้สืบทอดบัลลังก์ต่อจากจักรพรรดิออกัสตัส ปิลาตเป็นผู้พิพากษาที่ได้รับมอบอำนาจให้ยับยั้งการลุกฮือของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะในหมู่ชาวยิว ผู้รักชาติทั้งหลายถูกจับตรึงกางเขนที่ประตูเมือง คนจำนวนนับพันถูกตรึงกางเขนมาแล้ว เพื่อแสดงอำนาจของโรม...

    “ผู้ต้องหา” ในวันนั้นคือ “ชายคนหนึ่งชื่อเยซู” เมื่อสามปีก่อนเขาเป็นเพียงช่างไม้ที่ไม่มีใครรู้จัก เขามาจากหมู่บ้านนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ “เจ้าหน้าที่ทางการ” ไม่รู้จัก ... และหน่วยทหารลาดตระเวนของโรมแทบไม่เคยผ่าน...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจชายสองคนที่กำลังเผชิญหน้ากัน ... ปิลาต และพระเยซูเจ้า – ผู้พิพากษา และผู้ต้องหา...

พระเยซูเจ้าตรัสถามว่า

    ไม่น่าเชื่อ!  บัดนี้ ผู้ต้องหากลับเป็นฝ่ายถามผู้พิพากษา ... ชายคนนี้ช่างอวดดีนัก! เขาเป็นใครกัน?...

“ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”

    พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าผู้พิพากษาคนนี้มีอำนาจล้นเหลือ แต่พระองค์ยังเสนอความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวแก่เขา และทรงพยายามดึงเขาออกจากการโต้ตอบในการพิจารณาคดี และให้เขาแสดงจุดยืน ที่บังคับให้เขายอมรับว่าเขามีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไร “ปิลาต ท่านกำลังพูดเองหรือว่าเราเป็นกษัตริย์?”

    เราเห็นปัญหาส่วนใหญ่ของโลกของเราได้จากความพยายามของพระเยซูเจ้า ที่จะก้าวออกจากความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้พิพากษาและผู้ต้องหา” และก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์และมนุษย์” เรากำลังเล่นเกมและสวมหน้ากากตลอดเวลาในความสัมพันธ์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ ระหว่างพ่อค้าและลูกค้า ระหว่างนักสังคมสงเคราะห์และผู้รับประโยชน์ ระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส ระหว่างบิดามารดาและบุตร ระหว่างครูและนักเรียน ระหว่างพระศาสนจักรผู้สั่งสอนและพระศาสนจักรผู้เรียนรู้...

    จงถอดหน้ากากของท่านออกเถิด ปิลาต! จงมองตาเราตรง ๆ! แล้วบอกเราว่าท่านคิดว่าเราเป็นใคร! อย่าท่องคำพูดที่ท่านได้ยินจากคนอื่น ๆ ท่านต้องแสดงจุดยืนของตนเอง ท่านต้อง “ประกาศยืนยันความเชื่อ” ของท่าน...

ปิลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะ มอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด”

    เราเห็นความขุ่นเคืองที่ก่อตัวขึ้นในใจของผู้พิพากษาคนนี้ เขาเริ่มก้าวร้าว เขาไม่ยอมให้จิตสำนึกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของเขาถูกท้าทาย และเขายึด “บทบาท” และ “หน้ากาก” ของเขาไว้แน่น ฉันไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อบอกว่าฉันคิดอย่างไร เราจะพิจารณาคดีต่อไป!

    “ท่านทำผิดสิ่งใด” พระเยซูเจ้าพยายามเผชิญหน้ากับตัวตนของเขา แต่ปิลาตต้องการแสดงแต่บทบาทของเขา ถึงอย่างไร เขามีทั้งอำนาจและหน้าที่อยู่ในมือ! ช่างไม้จากนาซาเร็ธ ไม่อาจมีอำนาจเหนือซีซาร์ได้!

    ใครจะกล้าพูดได้ว่า ในวันนั้น ผู้ที่กำหนดทิศทางอนาคตของโลกจะไม่ใช่จักรพรรดิผู้ใช้กำลังบังคับ แต่เป็นช่างไม้คนหนึ่งที่ถูกเหยียดหยาม และปราศจากความสำคัญใด ๆ ... เขาคนนี้จะเป็นต้นกำเนิดของชายหญิงพันธุ์ใหม่ในเวลาต่อมานับพัน ๆ ปี

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว...”

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงตอบคำถามของผู้พิพากษา (“ท่านทำผิดสิ่งใด”) อันที่จริง พระองค์ทรงนำการโต้ตอบนี้ไปสู่หัวข้อที่พระองค์ทรงต้องการบอก พระเยซูเจ้าทรงขจัดความคลุมเครือของตำแหน่ง “กษัตริย์” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ปิลาตสอบถาม การเป็นกษัตริย์เป็นได้สามทาง ดังนี้

    1)    ความเป็นกษัตริย์ทางการเมือง ตามแบบอย่างของโรม คือ การแสดงอำนาจด้วยการกดผู้อื่นลงเป็นทาส
   
    2)    ความเป็นกษัตริย์ของพระเมสสิยาห์ ดังที่ชาวยิวคาดหมายให้พระองค์เป็น คือ ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิดจะกลับคืนสู่บัลลังก์อันชอบธรรมของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และจะได้รับชัยชนะเหนือศัตรูของอิสราเอล และของพระเจ้า ด้วยการทำลายศัตรูเหล่านี้...
   
    3)    ความเป็นกษัตริย์อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการ คือ ความเป็นกษัตริย์ที่ไม่บังคับขู่เข็ญผู้ใดให้ยอมรับ (“ท่านต้องการติดตามเราหรือไม่?” ... “ท่านจะไปจากเราด้วยหรือ?”) นี่คือความเป็นกษัตริย์ที่กระตุ้นให้กษัตริย์พระองค์นี้ทรงยอมให้ศัตรูจับกุมพระองค์โดยไม่ขัดขืน เป็นประธานาธิบดีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยปกป้อง ... นี่คืออาณาจักรที่ปราศจากกองทัพ หรือรถถัง หรือเครื่องบินทิ้งระเบิด ... (ผู้นำโซเวียตคนหนึ่งเคยถามอย่างไร้เดียงสาไม่ใช่หรือว่า พระสันตะปาปาทรงสามารถระดม “กองทัพรถหุ้มเกราะ” ได้เท่าไร?...)

    พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจออกไปจากตัวมนุษย์ พระองค์ทรงต่อต้านความชั่ว พระองค์ทรงบังคับลมพายุ พระองค์ทรงอธิบายธรรมบัญญัติของชาวยิวอย่างทรงอำนาจ ... แต่เมื่อทรงทำสิ่งเหล่านี้ พระองค์ไม่เคยใช้กำลังบีบบังคับผู้ใด ... พระองค์ทรงเป็น “นาย” ผู้ปล่อยให้เราเป็น “อิสระ” อย่างสิ้นเชิง ทรงถึงกับยอม “มอบตัว” แก่เรา ผู้เฆี่ยนตีพระองค์ ... (ข้าพเจ้ารำพึงตามคำว่า “ถูกมอบ” ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ในที่นี้)...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นภาพของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ที่สุด ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่มองเห็นได้ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น (2 คร 4:4) “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:8-11; คส 1:15) “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรเพียงพระองค์เดียว ผู้สถิตอยู่ในพระอุระของพระบิดานั้น ได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18)

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอน - ตามคำบอกเล่าในพระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับ - พระองค์ตรัสเรื่อง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ไม่ได้ขาด ... แต่อาณาจักรนี้ไม่เหมือนอาณาจักรบนโลกมนุษย์! แต่เป็นอาณาจักรที่ซ่อนเร้น เหมือนเมล็ดมัสตาร์ดเล็ก ๆ ที่เจริญเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ... เหมือนเชื้อแป้งหนึ่งกำมือที่หญิงคนหนึ่งผสมกับแป้ง ... เหมือนเมล็ดข้าวสาลีที่ตายในดินเพื่อให้ผลผลิตมากมาย พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ แต่เป็นกษัตริย์ตามความหมายของพระเจ้า! และแน่นอน พระเจ้าไม่ทรงเป็นอย่างที่เราคิดว่าพระองค์เป็น...

    บทสดุดีขับร้องว่า “พระเจ้าทรงครองราชย์” (สดด 46:9, 54:20, 58:14, 92:1, 98:1, 4, 145:10) พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ทูลต่อพระเจ้าว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” ... พระเจ้าไม่ทรงบดขยี้ศัตรูของพระองค์ พระเจ้าไม่ทรงบีบบังคับมนุษย์ให้เชื่อในพระองค์ “พระเจ้าทรงโปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม เหนือผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า และผู้ที่มีความเชื่อ...” (เทียบ มธ 5:43-48) พระเจ้าทรงรักผู้ที่ไม่รักพระองค์ และพระองค์ทรงขอให้เราทำเช่นเดียวกัน...

    พระเจ้าไม่เหมือนกับกษัตริย์ในโลกนี้อย่างแน่นอน!

“อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้

    หลังจากทรงอธิบายว่าความเป็นกษัตริย์ของพระองค์แตกต่างจากกษัตริย์ของโลกนี้อย่างไรแล้ว พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์จริง ๆ เพราะตั้งแต่นี้ไป จะไม่มีใครเข้าใจความหมายของความเป็นกษัตริย์ของพระองค์อย่างผิด ๆ ได้อีก เพราะความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอำนาจบนโลกนี้เลย แต่มาจาก “ที่อื่น” พระองค์ไม่รู้สึกด้วยซ้ำไปว่าจำเป็นต้องอธิบายว่า “ที่อื่น” นั้นคือที่ใด!

    พวกเขาสามารถประหารพระองค์ได้ – และเขากำลังจะประหารพระองค์ในไม่ช้า – แต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นผู้ชนะ! นี่คือความหมายที่ขัดแย้งกันในตัวของคำว่า “ที่อื่น” เพราะความทุกข์ยาก และแม้แต่ความล้มเหลว ไม่อาจแตะต้องพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้ ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ไม่ช่วยให้พระองค์รอดพ้นจากความตายฝ่ายกาย อันที่จริง พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์คือการ “ได้รับการยกขึ้นจากโลก” บนไม้กางเขน และประทับเบื้องขวาของพระบิดา!

ปิลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม”

    ในพระวรสารฉบับภาษากรีก คำพูดที่ออกจากปากของปิลาต มีความหมายมากกว่า เขากล่าวว่า “กษัตริย์ ท่านน่ะหรือ?” – ท่านเป็นคนลวงโลก ... เพียงข้าพเจ้าตวัดปากกาลงนาม ก็สามารถลบท่านออกจากประวัติศาสตร์ได้แล้ว ... ท่านที่ข้าพเจ้ากำลังจะสั่งให้หายไปจากโลก ณ บัดนี้ ... ท่านที่เป็นเพียงนักโทษที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้!...

พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง

    “เรามา” พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์เสด็จมาในโลกนี้ ... พระองค์เสด็จมาจากที่อื่น

    ในบทอ่านที่สองของวันอาทิตย์นี้ เราได้ยินยอห์นระบุว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พยานที่ซื่อสัตย์” คำว่า “พยาน” นี้แปลมาจากคำว่า martus ในภาษากรีก ซึ่งเป็นรากของคำภาษาอังกฤษว่า martyr (มรณสักขี)

    พระเยซูเจ้าทรงจ่ายราคาสำหรับความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ สำหรับ “การเป็นพยาน” ของพระองค์...

ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา”

    ถ้าเช่นนั้น ความเป็นกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าก็คือการรวบรวมทุกคนที่ “อยู่ฝ่ายความจริง” ให้มา “ฟัง” ความจริงเดียวกัน ที่ได้ยินจาก “เสียง” เดียวกัน!

    พระองค์ทรงปกครองผ่านความเชื่อของเราในพระองค์ ผ่านทางความวางใจของเราต่อพระวาจาของพระองค์ ผ่านทางการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา “ตามพระวาจาของพระองค์”...

    ไม่มีใครสามารถหนีพ้นความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ได้ เพราะการเป็นมนุษย์หมายถึงการเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกัน หรืออยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับความจริง...

    ดังนั้น การถวายเกียรติแด่พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ จึงไม่ใช่การถวายกำยานแด่พระองค์ หรือการจัดพิธีหรูหราเหมือนกับการถวายเกียรติแด่กษัตริย์บนโลกนี้ – แต่หมายถึงการ “ฟังเสียงของพระองค์” และปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่เราได้ยินจาก “เสียง” นี้ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว ชีวิตสังคม และในการประกอบอาชีพของเรา...