วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา
สุภาษิต 31:10-13, 19-20, 30-31; 1 เธสะโลนิกา 5:1-6; มัทธิว 25:14-30

บทรำพึงที่ 1
วีรบุรุษของยุคนี้
เราต้องรับผิดชอบว่าเราใช้ความสามารถที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร

    หนังสือ Reader’s Digest เป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 15 ภาษา และขายได้เกิน 28 ล้านเล่มในแต่ละเดือน ถ้าเราสมมุติว่าแต่ละเล่มมีผู้อ่านสี่คน หนังสือนี้จะสัมผัสกับชีวิตของคนหนึ่งร้อยล้านคนทุกเดือน

    หนังสือเล่มนี้มีบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นระยะชื่อ “วีรบุรุษของยุคนี้” เช่น ฉบับเดือนพฤษภาคม 1987 ตีพิมพ์เรื่องของบุคคลสามคนที่ถือได้ว่าเป็นวีรบุรุษในยุคสมัยของเรา

    หนึ่งในวีรบุรุษเหล่านี้ คือ บ๊อบ วีแลนด์ เมื่อบ๊อบไปรบในสงครามเวียดนามในปี 1969 เขาสูงหกฟุต น้ำหนักตัว 200 ปอนด์ เมื่อเขากลับมาจากเวียดนามอีกสองสามปีต่อมา เขาสูงสามฟุตครึ่ง น้ำหนักตัว 87 ปอนด์

    บ๊อบเป็นโรคมาลาเรีย และเป็นไข้สูง 106 องศา เขาถูกมัดตัวติดกับแผ่นไม้ และแช่ตัวไว้ในน้ำแข็ง ต่อมาเขาพูดติดตลกว่า “นอกจากไม่มีขา และร่างกายทรุดโทรมแล้ว สภาพของผมก็ไม่เลวนัก”

    หลังจากนั้นเกือบ 20 ปี บัดนี้เขาอายุ 40 ปี บ๊อบเพิ่งจะเข้าแข่งขันในการวิ่งมาราธอน 26 ไมล์ที่นิวยอร์ก เขาวิ่งตลอดระยะทางนี้โดยใช้มือทั้งสองพาตนเองกระโดดไปข้างหน้าเหมือนกบ

    วีรบุรุษคนที่สองของยุคนี้ของ Reader’s Digest ชื่อ จอห์น เพนน์ เขาเป็นนักธุรกิจเกษียน เขาและภรรยาเป็นมะเร็งในเวลาไล่เรี่ยกัน ภรรยาของเขาเสียชีวิต แต่จอห์นรอดชีวิต และอาการโรคของเขาก็สงบลงด้วย

    ระหว่างที่เขาขับรถไป-กลับโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการบำบัดเป็นประจำ จอห์นสังเกตเห็นว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากรอรถโดยสารที่ป้ายรถประจำทางหน้าโรงพยาบาล บางครั้งอากาศหนาวจัด และเห็นได้ชัดเจนว่าคนเหล่านี้ทรมานมาก และหลายคนเป็นคนชรา

    จอห์นไปร่วมประชุมกับสมาคมมะเร็งแห่งอเมริกา และเสนอว่า “ขอรถยนต์ผมสักคัน และเงินค่าน้ำมันรถเล็กน้อย และผมอาสาขับรถส่งคนเหล่านี้กลับบ้านเอง” จอห์นสละเวลาของเขาทำเช่นนี้มาได้ 10 ปีแล้ว

    วีรบุรุษคนสุดท้ายค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น ๆ เขาคือ บับบา สมิทธ์ บับบาเป็นดาราฟุตบอลตั้งแต่ยังศึกษาในระดับวิทยาลัย จนกลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ต่อมาคนทั้งประเทศรู้จักบับบาได้จากภาพยนตร์โฆษณาเบียร์ทางโทรทัศน์

    เมื่อเดือนตุลาคม 1985 มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนให้เกียรติบับบา โดยแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้นำขบวนพาเหรดในงานคืนสู่เหย้าของมหาวิทยาลัย บับบายินดีมากที่ได้กลับมาเยี่ยมสถาบันเดิมของเขา

    ขณะที่เขานั่งรถยนต์แห่ไปตามถนนที่มีนักศึกษายืนเรียงเป็นแถว นักศึกษาที่ฟากหนึ่งของถนนเริ่มร้องตะโกนว่า “รสชาติยอดเยี่ยม” อีกฟากหนึ่งตะโกนกลับมาว่า “ไม่ทำให้อ้วน” เห็นได้ชัดว่าโฆษณาเบียร์ของบับบาประทับใจเยาวชนจำนวนมาก

    คืนนั้น บับบาไม่สบายใจมาก ระหว่างการแข่งแรลลี่ครั้งหนึ่ง เขาเห็นนักศึกษาเหล่านี้หลายคน เพียงแต่ครั้งนี้พวกเขากำลังเมาเหล้า

    ที่นั่น และเวลานั้น บับบาตัดสินใจว่าเขาจะหยุดโฆษณาเบียร์ บับบาเป็นห่วงว่าโฆษณาของเขามีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวจำนวนมาก เขาบอกว่า “ผมกำลังขายเบียร์ให้เด็ก ๆ”

    การตัดสินใจของบับบา ทำให้เขาสูญเสียรายได้จำนวนมาก แต่บับบามั่นใจว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกว่าเงิน

    เรื่องของบ๊อบ วีแลนด์, จอห์น เพนน์ และบับบา สมิทธ์ ช่วยให้เราเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าตรัสถึงอะไรในพระวรสารวันนี้ เราจะทบทวนเรื่องอุปมาที่พระองค์บอกเล่าอีกครั้งหนึ่ง

    ชายคนหนึ่งกำลังจะเดินทางไกล ก่อนออกเดินทาง เขามอบเงินจำนวนต่าง ๆ กันให้ผู้รับใช้สามคนนำไปลงทุนระหว่างที่เขาไม่อยู่ ผู้รับใช้คนแรกลงทุนได้กำไร คนที่สองก็เช่นกัน แต่คนที่สามไม่ได้ทำกำไรเลย

    อุปมาเรื่องนี้มีความหมายใดซ่อนอยู่หรือ ชายที่เดินทางไกลคนนี้เป็นใคร ... ผู้รับใช้ของเขาเป็นใคร เงินนั้นหมายถึงอะไร

    ชายที่เดินทางไกลคือพระเยซูเจ้า ผู้เสด็จขึ้นสวรรค์หลังจากกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์จะเสด็จกลับมาเมื่อสิ้นพิภพ ผู้รับใช้หมายถึงเราท่านทั้งหลาย ส่วนเงินก็หมายถึงความสามารถต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานแก่เรา เมื่อพระเยซูเจ้าไม่อยู่ พระองค์ทรงคาดหมายให้เราใช้ความสามารถของเราขยายพระอาณาจักรของพระองค์

    น่าสนใจที่ผู้รับใช้ในเรื่องอุปมาที่ได้รับเงิน หรือความสามารถน้อยที่สุด กลับเป็นคนที่ไม่พยายามใช้ความสามารถของตนทำสิ่งใดเลย เขาคงอ้างเหตุผลว่าเขามีความสามารถน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ ดังนั้น เขาจึงไม่มีความผิด

    เขาแตกต่างจาก “วีรบุรุษยุคนี้” สองคนแรกอย่างยิ่ง คือ ทหารผ่านศึกเวียดนาม และผู้ป่วยโรคมะเร็ง ถ้ามีใครสักคนที่มีข้อแก้ตัวที่ฟังได้ที่จะทำงานให้น้อยที่สุดในชีวิตของเขา ก็ควรเป็นสองบุคคลนี้ แต่เขาทั้งสองกำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างเต็มความสามารถ เพราะเหตุนี้ เขาจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตของประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านคน
    บัดนี้ เราจะหันมาพิจารณากรณีของ บับบา สมิทธ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้าม เขาเป็นเหมือนผู้รับใช้ในเรื่องอุปมาที่ได้รับเงินจำนวนมากที่สุด สาเหตุที่ทำให้บับบาเป็นวีรบุรุษก็คือ เขากังวลกับการใช้ความสามารถของเขา เมื่อเขาเห็นว่าเขาอาจใช้ความสามารถของเขาในทางที่ผิด เขาก็ลงมือแก้ไขอย่างกล้าหาญ บับบาอาจแก้ตัวก็ได้ว่า “การดื่มเบียร์ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเด็ก ๆ ที่ขาดวุฒิภาวะต่างหาก” หรือเขาอาจอ้างก็ได้ว่า “ถ้าผมไม่รับแสดงโฆษณามูลค่าหนึ่งแสนดอลลาร์นี้ ก็ต้องมีคนอื่นรับแสดง ถ้าเช่นนั้นผมรับแสดงเองไม่ดีกว่าหรือ นอกจากนี้ ผมจะบริจาคเงินจำนวนหนึ่งให้การกุศลด้วย”

    แต่บับบาไม่ได้ทำเช่นนั้น เขารู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องแสดงออกถึงจุดยืนของเขา ซึ่งเขาคิดว่าสำคัญกว่าชื่อเสียง และเงินทอง

    บ๊อบ วีแลนด์, จอห์น เพนน์ และบับบา สมิทธ์ เป็นวีรบุรุษของยุคนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นพยานที่มีชีวิต ผู้ยืนยันถึงคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้

    การใช้ความสามารถของเขาอย่างรู้จักรับผิดชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทำให้เราต้องถามตนเองว่าเรากำลังใช้เงินตะลันต์ (ความสามารถ) ที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร นี่คือคำถามที่เหมาะสมกับเวลามากขณะที่ปีพิธีกรรมกำลังจะสิ้นสุดลง นักบุญเปาโลอธิบายเหตุผลในบทอ่านที่สองของวันนี้ว่า

    “ท่านรู้อยู่แล้วว่า วันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน ... ดังนั้น เราอย่าหลับใหลเหมือนคนอื่น จงตื่นอยู่เสมอ”

    เราจะต้องรายงานว่าเราใช้เงินตะลันต์ของเราอย่างไร และวันรายงานผลนี้อาจอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงสอนเราให้ใจกว้าง
    โปรดทรงสอนเราให้รับใช้พระองค์อย่างที่พระองค์ทรงสมควรได้รับ
    ให้เรารู้จักให้ โดยไม่คิดถึงจำนวน
    ให้เราต่อสู้ โดยไม่คำนึงถึงบาดแผล
    ให้เราทำงาน โดยไม่แสวงหาการพักผ่อน
    ให้เรายอมเหนื่อยยาก โดยไม่ร้องขอรางวัล
    ขอเพียงให้เรารู้ว่า
    เรากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์
    และกำลังใช้ความสามารถของเราจนสุดความสามารถ

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 25:14-30

“เพราะฉะนั้น จงตื่นเฝ้าระวังไว้เถิด เพราะท่านไม่รู้วันและเวลา อาณาจักรสวรรค์ยังเปรียบได้กับบุรุษผู้หนึ่งกำลังจะเดินทางไกล เขาเรียกผู้รับใช้มามอบทรัพย์สินให้”

    อุปมาเรื่อง “เงินตะลันต์” เป็นเรื่องสุดท้ายในอุปมาสามเรื่องเกี่ยวกับกาลอวสาน ซึ่งมัทธิวนำมารวมไว้ด้วยกันภายใต้หัวข้อ “กาลอวสาน” ... พระเยซูเจ้าทรงขอร้องไม่ให้เราลืมว่า “อวสาน” ของเราจะเป็นอย่างไร มัทธิวเชื่อมโยงการประณาม “ผู้รับใช้เลว” เข้ากับ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” ซึ่งเป็นข้อความต่อจากนี้ (มธ 25:31-46) ... “ท่านไม่รู้วันและเวลา เพราะฉะนั้นจงตื่นเฝ้าระวังไว้เถิด ... เพราะท่านจะต้องรายงานผล”

    กาลเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หมายถึงเวลาที่ “นายไม่อยู่” มนุษยชาติกำลังถูกทดสอบเหมือนกับผู้รับใช้ที่นายมอบหมายความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ... ชีวิตมนุษย์ของเราดำเนินไปภายใต้เครื่องหมายของพระเจ้า ผู้ที่เรารู้สึกว่าไม่ได้ประทับอยู่กับเรา เพื่อให้สิ่งสร้างของพระองค์มีเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินชีวิต ... นี่แสดงให้เห็นความไว้ใจ และความเคารพอันยิ่งใหญ่...

... “ให้คนที่หนึ่งห้าตะลันต์ ให้คนที่สองสองตะลันต์ ให้คนที่สามหนึ่งตะลันต์ ตามความสามารถของแต่ละคน แล้วจึงออกเดินทางไป”

    ในสมัยของพระเยซูเจ้า “เงินตะลันต์” เป็นทองแท่งหรือเงินแท่ง ที่มีมูลค่าเท่ากับหกพันเหรียญ เงินเพียงหนึ่งตะลันต์ก็มีมูลค่าสูงมากแล้ว เพราะเท่ากับค่าจ้างสำหรับการทำงานถึงหกพันวัน (มธ 20:2)...

    พระเจ้าทรงไว้ใจเรา “เขามอบทรัพย์สินให้” ดังนั้น อุปมาจึงเป็นเรื่องของ “การดูแลทรัพย์สิน” เมื่ออยู่บนโลกนี้ เราต้องบริหารจัดการทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระผู้สร้าง ... ความหมายระดับลึกกว่าของเรื่องอุปมานี้ไม่ใช่การใช้ “พรสวรรค์ส่วนตัว” ในทางที่ถูก (แม้ว่าเป็นคำสอนที่มีประโยชน์ก็ตาม) ... สิ่งสำคัญคือเราต้องร่วมมืออย่างแข็งขันในการขยายพระอาณาจักรของพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงมอบหมายพระอาณาจักรของพระองค์แก่เรา ... ทรงมอบหมายทรัพย์สินของพระองค์ ... พระหรรษทานของพระองค์ ซึ่งเราต้องใช้ให้บังเกิดผล...

“คนที่รับห้าตะลันต์รีบนำเงินนั้นไปลงทุน ได้กำไรมาอีกห้าตะลันต์ คนที่รับสองตะลันต์ก็ได้กำไรมาอีกสองตะลันต์เช่นเดียวกัน แต่คนที่รับหนึ่งตะลันต์ไปขุดหลุมซ่อนเงินของนายไว้”

    เราไม่ควรเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น ขณะนี้ เราไม่ได้พูดถึงเงินตะลันต์ของผู้อื่น แต่กำลังพูดถึงความรับผิดชอบของเรา ... ของข้าพเจ้า ... ต่อพระอาณาจักรนี้ ซึ่งพระองค์ทรงมอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแล โดยใช้ “เงินตะลันต์” ที่ข้าพเจ้าได้รับมา เราแต่ละคนมีหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง “พระพรพิเศษมีหลายประการ แต่มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียว ... พระจิตเจ้าประทานถ้อยคำที่ปรีชาแก่คนหนึ่ง พระจิตเจ้าประทานถ้อยคำที่รอบรู้แก่อีกคนหนึ่ง ... ให้อีกคนหนึ่งรู้จักจำแนกจิตต่าง ๆ...” (1 คร 12:4-12)
    เมื่อรำพึงมาถึงจุดนี้ ข้าพเจ้าต้องถามตนเองว่าบทบาทเฉพาะตัวของข้าพเจ้าคืออะไร ความสามารถ (เงินตะลันต์) ใดที่ข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้นสามารถทำให้บังเกิดผลได้ ... ในสายตาของพระเจ้า ไม่มีใครสามารถทำงานของข้าพเจ้าแทนข้าพเจ้าได้ เพราะข้าพเจ้าได้รับความถนัด คุณสมบัติ และพระหรรษทานจากพระเจ้าสำหรับทำงานนี้...

    ข้าพเจ้าจะทำให้ความสามารถเหล่านี้ “บังเกิดผล” เหมือนผู้รับใช้ที่ดี ... หรือจะ “ซ่อนไว้” เหมือนผู้รับใช้เลว...

“หลังจากนั้นอีกนาน”...

    ระยะเวลาที่นายไม่อยู่นั้นนานมาก ... ระยะเวลาที่เราต้องซื่อสัตย์เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ... เราอาจถึงกับคิดว่าพระเจ้า “จะไม่กลับมาอีกแล้ว” หรือ “พระองค์ตายไปแล้ว” หรือ “พระเจ้าไม่มีจริง” ... เราอาจดำเนินชีวิต “ราวกับพระเจ้าไม่มีตัวตน” ... นี่คือความหมายของอุปมาเรื่องอื่นอีกด้วย (มธ 24:37-44, 24:46-51, 25:13)...

... “นายของผู้รับใช้พวกนี้ก็กลับมา และตรวจบัญชีของพวกเขา”

    พระเยซูเจ้าทรงย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่ควรนอนหลับ เพราะคิดว่าพระเจ้าไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดเลวร้ายยิ่งกว่า “การไม่รู้จักรับผิดชอบ” ... พระเยซูเจ้าทรงให้เกียรติเราเมื่อพระองค์ทรง “ตรวจบัญชีของเรา” ทรงปฏิบัติต่อเราในฐานะผู้ใหญ่ที่รู้จักรับผิดชอบ...

“คนที่รับห้าตะลันต์เข้ามา นำกำไรอีกห้าตะลันต์มาด้วย พูดว่า ‘นายขอรับ ท่านให้ข้าพเจ้าห้าตะลันต์ นี่คือเงินอีกห้าตะลันต์ที่ข้าพเจ้าทำกำไรได้’ นายพูดว่า ‘ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด’   คนที่รับสองตะลันต์เข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับ ท่านให้ข้าพเจ้าสองตะลันต์ นี่คือเงินอีกห้าตะลันต์ที่ข้าพเจ้าทำกำไรได้’ นายพูดว่า ‘ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย เราจะให้เจ้าจัดการในเรื่องใหญ่ ๆ จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด’ ”  

    ประโยคเหล่านี้กล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของเขาสิ้นสุดลงแล้ว ผู้รับใช้ได้รับเชิญให้ “มาร่วมยินดีกับนายของเจ้า” เหมือนกับหญิงฉลาดในอุปมาเรื่องก่อนหน้านี้ (มธ 25:1-13) ที่ได้เข้าไปในห้องงานแต่งงานพร้อมกับเจ้าบ่าว...

    เรากำลังรอดูว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ... พระเยซูเจ้าทรงใช้ประโยคเดียวกันสำหรับผู้รับใช้สองคนแรก และกระตุ้นให้ผู้ฟังอยากรู้เรื่องราวต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้รับใช้คนที่สามซึ่งเรารู้แล้วว่าเขาได้ขุดหลุม “ซ่อน” เงินของนายไว้ ... เขาไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎเลย และไม่มีใครสามารถตำหนิเขาได้ ... เขาไม่ได้ขโมยเงินที่นายมอบหมายให้เขา แต่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

    บทเรียนจากอุปมาเรื่องนี้อยู่ที่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับใช้คนที่สามนี้ และคำพูดที่นายของเขาจะพูดกับเขา...

“คนที่รับหนึ่งตะลันต์เข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านเป็นคนเข้มงวด เก็บเกี่ยวในที่ที่ท่านไม่ได้หว่าน เก็บรวบรวมในที่ที่ท่านไม่ได้โปรย’…”

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าบาปที่ร้ายแรงที่สุดคือการบิดเบือนภาพลักษณ์ของพระเจ้า – การคิดว่าพระเจ้าทรงเป็นเหมือนทรราชผู้โหดร้ายและไม่มีใครเข้าถึงได้! ... ความสัมพันธ์ระหว่างเราและพระเจ้าย่อมถูกบิดเบือนเมื่อเราเริ่มระแวงสงสัยพระองค์ นี่คือความคิดที่งูใช้ประจญอาดัมและเอวา (ปฐก 3:1-5)...

    เราเห็นได้ว่านี่คือการประจญ “ดั้งเดิม” ของเราเอง คือการประจญไม่ให้เรามองเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดา” ผู้รักเรามากที่สุด ทรงเป็นพระเจ้าผู้ “ทรงกระทำพันธสัญญากับเรา” ... แต่มองว่าพระองค์ทรงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ผู้คิดถึงแต่ตนเอง และกลัวว่ามนุษย์จะมีความสุข...

    เรามองว่าพระเจ้าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เป็นภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่พระคัมภีร์เปิดเผยให้เรารู้จักพระองค์

“... ‘ข้าพเจ้ามีความกลัว จึงนำเงินของท่านไปฝังดินซ่อนไว้ นี่คือเงินของท่าน’ ”

    นี่คือความเข้าใจผิดเบื้องต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ผูกพันมนุษย์กับพระเจ้า...

    ดังนั้น ผู้รับใช้คนนี้จึงไม่ได้ถูกลงโทษเพราะเขาปฏิเสธที่จะรับใช้ หรือเพราะเขาเกียจคร้าน แต่เพราะภาพลักษณ์ของพระเจ้าในความคิดของเขาเป็นภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับพระองค์ในความเป็นจริง เขา “กลัว” พระเจ้า ดังนั้น เขาจึงต้องเผชิญหน้ากับ “ความยุติธรรมอันเข้มงวด” ... เขาคล้ายกับ “คนงานที่ทำงานตั้งแต่ชั่วโมงแรก” ซึ่งกล่าวหาว่านายจ้างของเขาไม่ยุติธรรม (มธ 20:12) ... หรือเหมือนกับ “บุตรคนโต” ที่คิดว่าเขาเป็นบุตรที่ดีของบิดาเสมอมา (ลก 15:29-30) ... ฉันเป็นฝ่ายถูก ท่านต่างหากเป็นฝ่ายผิด...

    ประการสุดท้าย ผู้รับใช้ที่กลัวนายคนนี้ขาดคุณสมบัติที่จำเป็น กล่าวคือ เขาไม่ชอบนายของเขา แม้เขาจะเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม ... เรามองเห็นทัศนคติของชาวฟาริสี และธรรมาจารย์ได้ในตัวของผู้รับใช้คนนี้...

    แต่เราต้องจำไว้เสมอว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงประณามบุคคล – เหมือนกับที่เรามักอยากประณามชาวฟาริสี – แต่พระองค์ไม่ทรงยอมรับทัศนคติของเขาต่อพระเจ้า ซึ่งอาจกลายเป็นทัศนคติของเราด้วยก็ได้ ... เราเองก็อาจพูดเหมือนกันว่าเราได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างครบถ้วนทุกประการแล้ว ดังนั้น เราจึงปลอดภัย ... ผู้รับใช้คนนี้คิดว่าเขาทำถูกต้องแล้วเพราะเขาได้มอบเงินคืนให้นายของเขาอย่างครบถ้วน ... แต่เขาทำให้นายของเขาผิดหวัง เพราะนายคาดหวังจากเขามากกว่านั้น คือ คาดหวังให้เขากล้าพอจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนาย...

    พระเจ้าทรงคาดหวังให้เรายอมเสี่ยงที่จะเชื่อในพระองค์ เราต้องดูแลผลประโยชน์ของพระเจ้า เราต้องวางทั้งชีวิตของเราเป็นเดิมพันเพื่อพระองค์ เพื่อทำให้ทรัพย์สินของพระองค์ออกดอกออกผล...

    การซ่อนเงินตะลันต์ (ความสามารถ) ของเรา แสดงให้เห็นว่าเราคิดถึงแต่ความปลอดภัย และต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่ถ้าเรามีความเชื่อ เราจะไม่ทำเช่นนั้น พระวรสารจะต้องได้รับการเผยแพร่เหมือนกับการเหวี่ยงแหออกไป ... การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าหมายถึง “การทำให้พระอาณาจักรที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราดูแลบังเกิดผล” ... ผู้ใดที่ต้องการเพียง “เก็บรักษา” ของขวัญที่เขาได้รับมา ก็ทำให้ของขวัญนั้นไม่ออกดอกออกผล เราได้รับมอบพระวรสาร มิใช่เพื่อให้เราเก็บไว้กับตัวเหมือนเป็นขุมทรัพย์ไร้ประโยชน์ เพราะเราต้องรับผิดชอบในการทำให้ขุมทรัพย์นี้บังเกิดผล แล้ววันหนึ่ง เมื่อนายของเราเสด็จมา พระองค์จะทรงขอให้เรารายงานผลงานของเรา...

    อุปมาเรื่องนี้ไม่ได้สอนหลักการเรื่อง “การพัฒนาบุคลิกภาพ” เมื่อพระเยซูเจ้า “เสด็จจากไป” พระองค์ทรงมอบหมายให้เราสานต่อภาระหน้าที่ที่เคยเป็นของพระองค์ นั่นคือการขยายพระอาณาจักรของพระองค์...

“นายจึงตอบว่า ‘ผู้รับใช้เลวและเกียจคร้าน เจ้ารู้ว่าข้าเก็บเกี่ยวในที่ที่ข้ามิได้หว่าน เก็บรวบรวมในที่ที่ข้ามิได้โปรย เจ้าก็ควรนำเงินของข้าไปฝากธนาคารไว้ เมื่อข้ากลับมาจะได้ถอนเงินของข้าพร้อมดอกเบี้ย จงนำเงินหนึ่งตะลันต์จากเขาไปให้แก่ผู้ที่มีสิบตะลันต์ เพราะผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้น และเขาจะมีเหลือเฟือ แต่ผู้ที่มีน้อย สิ่งเล็กน้อยที่เขามีก็จะถูกริบไปด้วย ส่วนผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ จงนำไปทิ้งในที่มืดข้างนอก ที่นั่นจะมีแต่การร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง’ ”

    คำขู่นี้รุนแรงก็เพราะเดิมพันสูงอย่างที่บอกไว้ข้างต้น มนุษย์แต่ละคนกำลังเขียนคำพิพากษาตนเอง...

    ไม่มีมนุษย์คนใดอ้างได้ว่าไม่มีสิ่งใดที่เขาต้องถวายคืนให้พระเจ้า...