วันอาทิตย์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 56:1, 6-7; โรม 11:13-15, 29-32; มัทธิว 15:21-28

บทรำพึงที่ 1
ตำนานเก่าแก่ของชาวยิว
ความเชื่อหมายถึงการทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถทำได้ และวางใจว่าพระเจ้าจะทรงจัดการกับส่วนที่เหลือ

    เด็กหญิงวัยหกขวบคนหนึ่งไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านเพื่อนของเธอ เมื่อทุกคนมานั่งโต๊ะพร้อมหน้ากันแล้ว เธอก้มศีรษะและรอให้เขาสวดภาวนา แต่ไม่มีใครภาวนา เธอยิ้มเขิน ๆ และพูดว่า “พวกคุณเหมือนกับหมาของหนูเลย คุณเริ่มกินกันทันที”

    ชาวยิวก็รู้สึกเช่นนี้กับคนต่างศาสนา ชาวยิวคิดว่าคนต่างศาสนาไม่แสดงความเคารพต่อพระเจ้าและศาสนา พวกเขามองว่าคนต่างศาสนาเป็นเสมือนสุนัขด้านจิตวิญญาณ เหมือนในบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้

    ผู้ศึกษาพระคัมภีร์สังเกตว่าคำภาษากรีกที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เปรียบเทียบกับหญิงคนนี้หมายถึงสุนัขตัวเล็ก ๆ คือสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยง มิใช่สุนัขจรจัด

    อาจมองได้ด้วยว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงใช้คำนี้ในเชิงดูหมิ่น ปฏิกิริยาของหญิงชาวคานาอันต่อพระเยซูเจ้าแสดงว่านางเข้าใจความหมายของพระองค์เช่นกัน นางอาจถึงกับยิ้มเมื่อนางโต้ตอบพระองค์ว่า “แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย”

    หรืออีกนัยหนึ่ง นางกำลังบอกพระเยซูเจ้าว่า “ดิฉันรู้ว่าท่านต้องช่วยเหลือชาวยิวก่อน แต่ท่านจะแอบโยนเศษขนมปังให้ดิฉัน เหมือนกับเด็กน้อยโยนให้สัตว์เลี้ยงของเขาเมื่อบิดามารดาของเขาไม่ทันเห็นไม่ได้หรือ”

    พระเยซูเจ้าตรัสตอบนางว่า “หญิงเอ๋ย ความเชื่อของเจ้ายิ่งใหญ่” และด้วยพระวาจานี้ พระองค์ทรงรักษาโรคให้บุตรสาวของนาง

    ความกล้าพูดกล้าทำของหญิงคนนี้ในบทอ่านจากพระวรสารสำหรับวันนี้ แสดงให้เราเห็นความจริงสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อ นั่นคือความเชื่อย่อมไม่นิ่งเฉย แต่จะกระทำการบางอย่าง ความเชื่อไม่ได้หมายถึงการนั่งรอให้พระเจ้าเป็นฝ่ายทำงาน ไม่ใช่การนั่งรอ และวางใจว่าพระเจ้าจะทรงทำงาน

    แต่หมายถึงการลุกขึ้น และร้องขอให้พระเจ้าทรงทำงาน จนถึงกับว่า ถ้าจำเป็น เราก็ต้องตื้อเพื่อให้พระเจ้าทรงทำงาน ขอให้ดูหญิงในพระวรสารวันนี้เป็นตัวอย่าง

    เธอเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของคนตื้อ ท่านจะเข้าใจว่านางทำตัวน่ารำคาญเพียงไร ถ้าท่านรู้ว่าชาวยิวถือว่าชาวคานาอันเป็นศัตรูมาโดยตลอด หญิงคนนี้กระทำสิ่งที่ชาวคานาอันที่รักศักดิ์ศรีจะไม่มีวันยอมทำ นางมาขอความช่วยเหลือจากชาวยิวคนหนึ่ง

    และนางทำมากยิ่งกว่านั้นอีก นางเข้ามากราบและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากชาวยิวคนนี้ นางถึงกับกล้าต่อปากต่อคำกับพระเยซูเจ้า และบอกว่าทำไมพระองค์จึงควรช่วยนาง

    บทอ่านจากพระวรสารสำหรับวันนี้สอนเราว่าความเชื่อหมายถึงความกล้าพูดกล้าทำ เหมือนกับคำพังเพยโบราณที่บอกว่า “พระเจ้าทรงช่วยผู้ที่ช่วยเหลือตนเองก่อน”

    นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา เคยกล่าวว่า “จงภาวนาราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระเจ้า แต่จงทำงานและห้าวหาญ ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา” นี่คือคำอธิบายความหมายของความเชื่อที่ชัดเจน

    ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างว่าข้าพเจ้าหมายถึงอะไรเมื่อกล่าวว่าห้าวหาญ

    มีตำนานโบราณของชาวยิวเกี่ยวกับโมเสส ซึ่งเล่าว่าเมื่อโมเสสยื่นไม้เท้าออกไปเหนือทะเลแดง อย่างที่พระเจ้าทรงบอกให้เขาทำ น้ำทะเลไม่ได้แยกออกเป็นทางให้ประชาชนเดินข้ามไปได้ อัศจรรย์ยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้น จนกระทั่งสองสามีภรรยาชราชาวยิวก้าวลงไปในทะเล และเริ่มต้นเดินลุยข้ามไป

    เรื่องนี้ต้องการบอกเราว่าความเชื่อจำเป็นต้องประกอบด้วยความวางใจและการทำงานของเรา และไม่ได้หมายถึงการนั่งรอให้พระเจ้าทรงทำงานเพียงฝ่ายเดียว แต่หมายความว่าเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น เหมือนกับสามีภรรยาชราคู่นั้นในตำนานของชาวยิว

    ความจริงข้อนี้สำคัญมากจนข้าพเจ้าต้องการอธิบายด้วยเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ย้ำประเด็นเดียวกันนี้ แต่นำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่ง ท่านอาจเคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แต่เรื่องนี้ตรงกับประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึง จนสมควรนำมาเล่าซ้ำที่นี่

    วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิได้เกิดอุทกภัยร้ายแรงในพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่ง และหญิงชราคนหนึ่งติดเกาะอยู่ในบ้านของเธอเอง ขณะที่เธอยืนอยู่ที่หน้าบ้าน ชายคนหนึ่งพายเรือมาหา และพูดว่า “ผมมาช่วยคุณ” หญิงชราตอบว่า “ไม่ต้องหรอก ฉันวางใจในพระเจ้าเต็มเปี่ยม ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด พระองค์จะทรงช่วยฉันเอง”

    วันต่อมา น้ำท่วมจนถึงชั้นที่สองของบ้าน ขณะที่หญิงคนนี้ยืนอยู่ที่หน้าต่างห้องนอน ชายคนหนึ่งพายเรือเข้ามา และพูดว่า “ผมมาช่วยคุณ”  หญิงชราตอบว่า “ไม่ต้องหรอก ฉันวางใจในพระเจ้าเต็มเปี่ยม ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด พระองค์จะทรงช่วยฉันเอง”

    วันต่อมา น้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้าน หญิงชราหนีน้ำขึ้นไปนั่งบนหลังคา ชายคนหนึ่งขับเฮลิคอปเตอร์เข้ามาหา และบอกว่า “ผมมาช่วยคุณ” หญิงชราตอบอีกว่า “ไม่ต้องหรอก ฉันวางใจในพระเจ้าเต็มเปี่ยม ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด พระองค์จะทรงช่วยฉันเอง”

    วันต่อมา น้ำก็ท่วมบ้านทั้งหลัง และหญิงคนนั้นจมน้ำตาย เมื่อเธอไปถึงสวรรค์ เธอถามนักบุญเปโตรว่า “ก่อนที่ดิฉันจะเข้าไปข้างในนั้น ดิฉันมีเรื่องจะร้องเรียน ดิฉันวางใจว่าพระเจ้าจะทรงช่วยดิฉันให้รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม แต่พระองค์ทรงทำให้ดิฉันผิดหวัง”

    นักบุญเปโตรมองหญิงคนนี้อย่างงง ๆ และกล่าวว่า “ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าพระเจ้าจะช่วยอะไรเธอมากกว่านี้ได้ ในเมื่อพระองค์ทรงส่งเรือสองลำ และเฮลิคอปเตอร์หนึ่งลำไปช่วยเธอแล้ว”

    บทอ่านจากพระวรสารวันนี้ย้ำความจริงที่สำคัญว่าพระเจ้าไม่ทรงปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นหุ่นกระบอก พระองค์ทรงปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นหุ้นส่วน

    ดังนั้น เราจึงไม่ควรนั่งรอ และคาดหมายให้พระเจ้าทรงหยิบเชือกขึ้นมาเชิดหุ่น เพื่อช่วยเราทุกครั้งที่เราประสบปัญหา

    หรืออีกนัยหนึ่ง พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้เราได้แต่นั่งรอ และวางใจ พระองค์ทรงต้องการให้เราถลกแขนเสื้อ และลงมือทำงานด้วย พระองค์ทรงคาดหมายให้เราวางใจในพระองค์และทำงานไปด้วยพร้อมกัน นี่คือคำสั่งสอนในพระวรสารวันนี้

    และดังนั้น ถ้าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ในโลกของเรา ถ้าคนอดอยากรอบตัวเราจะได้รับอาหาร ถ้าคนไร้บ้านรอบตัวเราจะมีที่อยู่อาศัย ถ้าคนไม่มีเสื้อผ้ารอบตัวเราจะมีเสื้อผ้า ถ้าครอบครัวจะเป็นสถานที่ที่มีแต่ความรัก ถ้าบุตรของเราจะเติบโตขึ้นเป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้ เราต้องทำมากกว่าหันไปพึ่งพระเจ้าด้วยการภาวนาและวางใจ เราต้องถลกแขนเสื้อและลงมือทำงานด้วย

    พระเจ้าประทานทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตแก่เราแล้ว เมื่อใดที่ทรัพยากรเหล่านี้ขาดแคลน เราควรหันไปวอนขออัศจรรย์จากพระเจ้า และเมื่อนั้น เราต้องวอนขออย่างห้าวหาญ เหมือนกับหญิงชาวคานาอันในพระวรสารวันนี้

    เราอาจสรุปคำสั่งสอนจากพระวรสารวันนี้ได้ว่า เราควรวางใจราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระเจ้า แต่เราต้องทำงาน และห้าวหาญราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา


บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 15:21-28

พระเยซูเจ้าเสด็จจากที่นั่น ...

    เราได้เห็นแล้วว่าในบั้นปลายชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงต้องหลบหนีไปยังต่างแดน ... คงมีหลายเหตุผลที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจทำเช่นนี้ อย่างไรก็ดี นี่คือจุดพลิกผันของงานอภิบาลของพระองค์ ... นับตั้งแต่การทวีขนมปัง พระเยซูเจ้าทรงรับรู้อย่างชัดเจนถึงความเข้าใจผิดที่เกิดจากความคาดหวังของประชาชน เพราะคนเหล่านี้ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของพันธกิจของพระองค์ ... นับตั้งแต่นี้ไป พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงฝูงชน และทรงหันมาอุทิศเวลาและแรงกายให้แก่การอบรมสั่งสอนศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ ของพระองค์ ... นอกจากนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้จักเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจเหมือนกับเราทุกคน ดังนั้น พระองค์จึงต้องการหาความสงบเพื่อพักผ่อน และอธิษฐานภาวนาในสถานที่ห่างไกลจากฝูงชน

พระองค์ทรงมุ่งไปเขตเมืองไทระและเมืองไซดอน ทันใดนั้น หญิงชาวคานาอันคนหนึ่งจากเขตแดนนี้ร้องว่า...

    เพื่อแสวงหาความสงบ พระเยซูเจ้าทรงข้ามเข้าไปในเขตแดนของคนต่างชาติ บัดนี้ พระองค์ทรงเดินไปตามชายฝั่งทะเลอันสวยงามทางตอนใต้ของเลบานอนที่เต็มไปด้วยสวนและผลไม้รสอร่อย ...ในดินแดนนี้ - ซึ่งมีการต่อสู้ระหว่างคนตระกูลเดียวกันบ่อยครั้ง ทั้งที่สามารถเป็นที่หลบภัยที่สงบสุขได้ - พระเยซูเจ้าทรงพบกับคนต่างศาสนา...

    เมืองไทระและไซดอนอยู่นอกอาณาเขตของอิสราเอล สองเมืองนี้เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าขายสำคัญ และมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ... แต่ชื่อเสียงของพระเยซูเจ้าเลื่องลือข้ามพรมแดน หญิงคนหนึ่งเริ่มร้องตะโกน มัทธิว ระบุชัดเจนว่านางเป็น “ชาวคานาอัน” เพื่อให้ระลึกถึงศัตรูพวกแรกของชาวอิสราเอล เมื่อพวกเขาอพยพเข้าสู่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ... นางร้องตะโกนว่า

“โอรสกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด บุตรหญิงของข้าพเจ้าถูกปีศาจสิง ต้องทรมานมาก”

    มัทธิวทำให้คำวอนขอนี้ฟังดูเหมือนคำวิงวอนในพิธีกรรม “โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า” คำว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิด” เป็นสมญาหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดของพระเมสสิยาห์...

    เราเห็นความจริงที่ขัดแย้งในตัวอย่างน่าประหลาดใจในพระวรสารตอนนี้ พระเยซูเจ้าทรงเพิ่งจะถกเถียงกับบรรดาธรรมาจารย์ และชาวฟาริสีที่มาจากกรุงเยรูซาเล็ม และบัดนี้ ขณะที่ทรงอยู่ในดินแดนของคนต่างชาติ พระองค์ทรงได้ยินคำวอนขอด้วยความเชื่อ ...  จากหญิงคนหนึ่ง...

    พระเยซูเจ้าเคยตรัสว่า “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ ... จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” (มธ 7:7) ... พระองค์จะทรงตอบสนองคำวิงวอนอันไพเราะ จริงใจ และน่าสงสารนี้อย่างไร...

แต่พระองค์มิได้ตรัสตอบประการใด
    ทำไมพระองค์ไม่ทรงตอบคำวอนขอของมารดาที่กำลังเป็นทุกข์คนหนึ่ง ... นี่คือคำภาวนาที่ไม่เห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง นางขอร้องพระองค์ให้ทรงปลดปล่อยบุตรสาวของนางจากเงื้อมมือของปีศาจ ... พระเจ้าข้า ทำไมพระองค์จึงนิ่งเงียบเช่นนี้บ่อยครั้ง เมื่อเราวอนขอพระองค์ให้ทรงปลดปล่อยเรา และบุคคลที่เรารัก...

    ตอนจบของเรื่องคงช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น ระหว่างนี้ ขอให้เราจำไว้ว่าพระเยซูเจ้ามักไม่อยากทำอัศจรรย์ พระองค์ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพระองค์เป็นผู้วิเศษ ... ตามปกติ พระเจ้าจะทรงยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกฎธรรมชาติโดยไม่ทรงยุ่งเกี่ยว หรือขัดขวาง ... การรักษาโรค และอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำมีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่ทรงกระทำไปเพื่อให้เป็นเครื่องหมาย...

    แต่ทุกเครื่องหมายก็ยากจะเข้าใจได้ และจำเป็นต้องมีการตีความ ชาวฟาริสีหลายคนเข้าใจผิดว่าอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าเกิดจากอำนาจของปีศาจ (มธ 12:24) – ในขณะที่ประชาชนมองว่าพระองค์เป็นผู้รักษาโรค หรือนักมายากล ซึ่งขัดกับความปรารถนาของพระองค์ (มธ 14:22) ... เพราะเหตุนี้ บ่อยครั้ง พระเยซูเจ้าทรงสั่งไม่ให้ประชาชนบอกใครเกี่ยวกับอัศจรรย์เหล่านี้ (มก 1:34, 44, 7:36, 8:26, 9:9)...

บรรดาศิษย์จึงเข้ามาทูลพระองค์ว่า “โปรดประทานตามที่นางทูลขอเถิด เพราะนางร้องตะโกนตามหลังพวกเรามา”

    วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด – แต่จะทำให้คำสนทนาโต้ตอบกันยุติลงหรือ ... วิธีนี้จะทำให้ผู้วอนขอไปให้พ้น เหตุการณ์นี้จะจบลง ... ทุกคนก็จะได้อยู่อย่างสงบ...

    บางครั้ง เราก็เหมือนกับอัครสาวกเหล่านี้ไม่ใช่หรือ เราด่วนตัดสินใจ และตัดบทสนทนา...

พระองค์ทรงตอบว่า “เราถูกส่งมาเพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น”

    ในตอนแรก พระเยซูเจ้าไม่ทรงตอบนางเลย ... แต่บัดนี้ พระองค์ทรงปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ทำไม พระเจ้าข้า ... ทำไมพระองค์จึงทรงปฏิเสธผู้ที่วอนขอพระองค์ ... แต่เราก็รู้ว่าพระองค์ทรงมีพระทัยอ่อนโยน และทรงยอมให้พระองค์เอง “รู้สึกสงสาร” (มธ 9:36, 14:14, 15:32)...

    ปฏิกิริยาแรกของเราเมื่อได้ยินคำปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยนี้ น่าจะเป็นความรู้สึกสะดุด ... แต่เมื่อเรารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงรักคนจน เราจึงไม่อาจคิดว่าการปฏิเสธนี้ไม่มีนัยสำคัญ ... ดังนั้น ขอให้เราก้าวข้ามความรู้สึกแรก และค้นหาความหมายของประโยคนี้ “เราถูกส่งมาเพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอล เท่านั้น”...

    ก่อนอื่น ด้วยประโยคนี้ พระเยซูเจ้าทรงแสดงอีกครั้งหนึ่งว่าพระองค์ทรงรักพระประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระบิดาเพียงไร พระบิดาทรงส่งพระองค์ลงมาปฏิบัติงานที่มีขอบเขตชัดเจน ไม่มีใครสามารถอยู่ทุกที่และทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ... พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงวางแผนพันธกิจด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงถูกส่งมา และพระบิดาทรงกำหนดขอบเขตการทำงานของพระองค์ไว้แล้ว ... ซึ่งเป็นงานที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถปฏิบัติได้ระหว่างช่วงชีวิตสั้น ๆ ...
    ส่วนเราเอง แทนที่จะยึดมั่นในความฝันหรือความปรารถนา เราควรยอมรับสภาพว่าเราเป็นเพียง “มนุษย์ที่มีข้อจำกัด ที่อยู่ในสถานที่หนึ่ง” เพื่อทำงานบางอย่างที่เป็นงานของเรา และเราเท่านั้นสามารถทำงานนั้นได้ ... เราย่อมอยากฝัน ... ฝันอยากไปอยู่ที่อื่น ... ฝันอยากจะมีชีวิตเหมือนผู้อื่น...

    อันที่จริง พระเยซูเจ้าแทบไม่เคยเสด็จออกนอกเขตแดนปาเลสไตน์ ยกเว้นในสองสามโอกาสที่มีนัยสำคัญ พระองค์ทรงสงวนงานอภิบาลของพระองค์ไว้ให้พี่น้องชาวยิวของพระองค์ แต่ศิษย์ของพระองค์จะ “ไปสั่งสอนนานาชาติ” (มธ 28:19) ... และพระองค์จะทรงได้รับ “อำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์ และบนแผ่นดิน” – แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น (มธ 28:18)...

    ระหว่างนั้น พระองค์พอพระทัยที่จะรับทำงานเล็ก ๆ ที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายให้กระทำ และพระองค์ทรงนิยามความหมายของพันธกิจของพระองค์ด้วยการสรุปพระวาจาของพระเจ้าที่ทรงบอกว่าพระองค์ทรงเป็นเหมือนคนเลี้ยงแกะที่ดี ที่จะเสด็จมารวบรวม และรักษาแกะที่กระจัดกระจายให้มารวมเป็นฝูงเดียวกัน (อสค 34:1-31)...

    แต่ความหมายเชิงประวัติศาสตร์นี้จะทำให้มารดาผู้น่าสงสารนี้พึงพอใจหรือ แม้ว่านางอาจเข้าใจก็ตาม...

แต่นางเข้ามากราบพระองค์ ทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”

    นางเป็นคนไม่ยอมแพ้จริง ๆ ...

    นี่จะเป็นอีกคำตอบหนึ่ง (นอกจากคำตอบที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้) ที่ตอบคำถามของเราได้หรือไม่...

    การทดสอบความเชื่อของเรา และคำภาวนาของเรา อาจเป็นการชำระให้ความเชื่อของเราบริสุทธิ์ และชี้ให้เห็นอานุภาพของการภาวนาแท้ ... มีการสื่อสารอันน่าพิศวง และเร้นลับ เกิดขึ้นระหว่างหญิงชาวคานาอัน และพระเยซูเจ้า เมื่อมองดูภายนอก ความสัมพันธ์นี้อาจขาดสะบั้นแล้วตั้งแต่พระองค์ปฏิเสธคำวอนขอของนาง – แต่ลึกลงไปในหัวใจทั้งสองดวง สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้กลับช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย ... เหมือนกับที่เขื่อนบนภูเขาดูเหมือนว่ากำลังขวางทางน้ำไหล แต่ในความเป็นจริง เขื่อนนี้ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น และมีพลังมากขึ้น...

    เรารู้จักตีความการทดลองต่าง ๆ ที่เราประสบมาในชีวิตหรือเปล่า ... แทนที่จะปล่อยให้ตนเองหัวเสียกับความทุกข์ยาก เรารู้วิธีที่จะเพิ่มระดับของความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าให้สูงขึ้นหรือไม่...

    พระอาจารย์จะตอบสนองความพากเพียรอันน่าชมเชยของหญิงต่างชาติคนนี้อย่างไร...

พระองค์ทรงตอบว่า “ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน”

    ฟังดูโหดร้ายจริง ๆ ... พระเจ้าข้า ก่อนหน้านี้ไม่นาน พระองค์ทรงทวีขนมปังเพื่อเลี้ยงดูประชาชน แต่บัดนี้ ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ยอมให้แม้แต่เศษขนมปังที่หญิงผู้น่าสงสารนี้กำลังวอนขอ ... ไม่น่าจะเป็นไปได้ใช่ไหม...
นางทูลว่า “ถูกแล้วพระเจ้าข้า แต่แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย”

    หญิงคนนี้ยังไม่ยอมแพ้ ดูเหมือนว่านางเขี่ยลูกบอลกลับไปให้พระเยซูเจ้า ... การเรียกใครบางคนว่า “สุนัข” ถือว่าเป็นการสบประมาทอย่างรุนแรง แต่พระองค์กำลังตรัสถึงสุนัขเลี้ยงที่เป็นสมาชิกของบ้าน เหมือนกับเด็กเล็ก ๆ ไม่ใช่หรือ

พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับนางว่า “หญิงเอ๋ย ความเชื่อของเจ้ายิ่งใหญ่ จงเป็นไปตามที่เจ้าปรารถนาเถิด” และบุตรหญิงของนางก็หายเป็นปกติตั้งแต่บัดนั้น

    นี่คือเป้าหมายของคำบอกเล่า ... เมื่อเราอ่านพระวรสารตอนนี้ เราจะเริ่มมีความหวัง ซึ่งเป็นผลมาจากหญิงต่างชาติคนนี้ ... แม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงจำกัดการทำงานของพระองค์ให้อยู่แต่ในแวดวงชาวอิสราเอล แต่ทรงบอกเป็นนัยในที่นี้ว่าคำสั่งสอน และการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อมนุษย์ทุกคน...

    เราต้องยอมให้พระวรสารนี้ท้าทายเรา ทำไมข้าพเจ้าจึงได้รับสิทธิพิเศษให้มีความเชื่อ ... ทำไมข้าพเจ้าจึงได้รับเชิญให้ “กินอาหารสำหรับบุตรของพระเจ้า” ... บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าลืมไปไม่ใช่หรือว่ามีคนจำนวนมหาศาลที่กำลังรอคอยเศษอาหารจากโต๊ะของพระเจ้า...

    การเลือกทุกครั้งของพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจสากล ... ถ้าพระเจ้าทรงเลือกมนุษย์ “บางคน” ก็เป็นเพราะพระองค์ทรงต้องการส่งเขาไปหาคนอื่น ๆ ทุกคน ... อิสราเอลเป็นประชากรเลือกสรรกลุ่มแรกที่จะได้รับประโยชน์จากการรักษาสัญญาของพระเจ้า ... แต่พระองค์ไม่เคยลืมว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับความรอดพ้น ... พระเจ้าตรัสว่า “แผ่นดินทั้งหมดเป็นของเรา ... ท่านจะเป็นอาณาจักรสมณะ” ... (อพย 19:5-6)