วันอาทิตย์ที่ 9 เทศการธรรมดา
เฉลยธรรมบัญญัติ 11:18, 26-28, 32; โรม 3:21-25, 28; มัทธิว 7:21-27

บทรำพึงที่ 1
แสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า
ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นจะได้เข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า

    จี. กอร์ดอน ลิดดี้ เป็นหนึ่งในนักโทษคดีวอเตอร์เกต ที่เป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีนิกสันต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อ ค.ศ. 1973 สจ๊วต อัลซอป คอลัมนิสต์ชื่อดัง เขียนถึงบทบาทของลิดดี้ ในคดีวอเตอร์เกต ไว้ดังนี้

    “น่าสนใจที่ ถ้าเป็นยุคอื่น จี. กอร์ดอน ลิดดี้ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่กล้าหาญที่สุด และดีที่สุด ถ้าเป็นสมัยสงคราม จี. กอร์ดอน ลิดดี้ คงได้รับเหรียญกล้าหาญมากมายแทนที่จะถูกจับขังคุก”

    อาจกล่าวได้ว่า ลิดดี้ได้แสดงบทบาทในเหตุการณ์นี้อย่างที่เขาถูกฝึกสอนมาให้ทำทุกประการ คือเป็นสายลับของรัฐบาล

    หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุกใน ค.ศ. 1977 ลิดดี้บรรยายบทบาทของเขาในคดีวอเตอร์เกตในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาชื่อ Will (อำเภอใจ หรือความตั้งใจ) ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะสมกับชีวประวัติของเขา เพราะตั้งแต่เด็ก ลิดดี้ เป็นคนที่มีความตั้งใจสูงมาก เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้พลังของความตั้งใจเป็นครั้งแรกเมื่อเขา “ฟังพระสงฆ์เทศน์ในมิสซาวันอาทิตย์”

    เขาบรรยายในหนังสือของเขาว่าเขาเคยทำบางสิ่งที่น่าขยะแขยงเพื่อฝึกพลังความตั้งใจของเขา เช่น เมื่อเป็นวัยรุ่นเขาเคยกินหนู และครั้งหนึ่งเขายื่นมือเข้าไปในเปลวไฟ

    ในทศวรรษที่ 1960 ลิดดี้ละทิ้งความเชื่อคาทอลิก แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ 20 ปี ในทศวรรษที่ 1980 เขาก็กลับใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเขาเข้ากลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกับเพื่อน ๆ อดีตเจ้าหน้าที่ เอฟ.บี.ไอ.

    เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ของเขาในการศึกษาพระคัมภีร์ ลิดดี้บอกว่า เขาตระหนักในที่สุดว่าพระคัมภีร์เป็นมากกว่าหนังสือบรรจุภูมิปัญญาของมนุษย์ แต่เป็นการสื่อสารจากพระบิดา ผู้เปี่ยมด้วยความรัก กับบุตรคนบาปของพระองค์

    เขากล่าวต่อไปด้วยว่าเขาตัดสินใจแล้วว่าเขาจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อแสวงหา และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า

    ชาร์ลส์ โคลสัน จำเลยอีกคนหนึ่งในคดีวอเตอร์เกต บอกว่าหลังจากลิดดี้กลับใจ เขาเคยพูดว่า “สิ่งที่ยากที่สุดที่ผมต้องทำในเวลานี้ และทุกวัน คือตัดสินใจว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้า แทนที่จะคิดว่าอะไรคืออำเภอใจของผม พระเยซูเจ้าทรงต้องการอะไร และมิใช่กอร์ดอนต้องการอะไร ดังนั้น บทภาวนาบทแรกที่ผมสวดบ่อยที่สุดคือ “พระเจ้าข้า โปรดบอกลูกว่าพระองค์ทรงต้องการอะไร...” และบทที่สอง คือ “โปรดประทานพละกำลังให้ลูกปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย”

    โคลสันกล่าวต่อไปว่า “ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกอร์ดอน ผมภาวนาเพื่อเขาเป็นประจำ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาได้ทำให้เรารู้ความหมายของการสำนึกผิดแล้ว นั่นคือ การสละอำเภอใจของเรา และยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า”

    เรื่องของลิดดี้เป็นอารัมภบทที่เหมาะสมสำหรับคำอธิบายบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ ในบทอ่านนี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับเราว่า “คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้น มิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้”

    พระเยซูเจ้าทรงย้ำเรื่องการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ในบทภาวนาบทเดียวที่ทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาต่อพระบิดาว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)

    คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าให้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเพียงภาพสะท้อนทัศนคติของพระองค์ต่อพระเจ้า พระองค์ตรัสถึงเหตุผลที่พระองค์เสด็จมาในโลกนี้ว่า “เพราะเราลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อทำตามใจของเรา แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 6:38)

    และเมื่อทรงอยู่ในสวนเกทเสมนี พระเยซูเจ้าทรงภาวนาต่อพระบิดาว่า “แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42)

    ดังนั้น เราจะย้อนกลับมาพิจารณาบทภาวนาที่ลิดดี้สวดบ่อยที่สุด “พระเจ้าข้า โปรดบอกลูกว่าพระองค์ทรงต้องการอะไร”

    พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำอะไร? เราสามารถตอบคำถามนี้ได้สองทาง

    คำตอบแรก และเป็นคำตอบสำคัญที่สุด คือ พระเจ้าทรงต้องการให้เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระบุตรของพระองค์คือพระเยซูเจ้า ในบรรดาคำสั่งสอนต่าง ๆ มีบทเทศน์บนภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า “จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลก 6:27-28)

    นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งสอนเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่าควรให้อาหารแก่ผู้ที่หิว ให้น้ำดื่มแก่ผู้กระหาย ให้ต้อนรับแขกแปลกหน้า และให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้า (มธ 25:31-46)

    คำตอบที่สอง คือ พระเจ้าทรงต้องการให้เราดำเนินชีวิตตามแผนที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เมื่อทรงสร้างเรา

    แผนนั้นเป็นอย่างไร?
    นั่นคือ ให้เราใช้ความสามารถต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานแก่เรา มิใช่เพื่อผลประโยชน์ และความพอใจส่วนตนอย่างเห็นแก่ตัว แต่เพื่อขยายอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้

    ถ้าเราต้องการทำเช่นนี้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง เหมือนกับที่ จี. กอร์ดอน ลิดดี้ กำลังพยายามทำอยู่ในเวลานี้ เราก็ต้องทำสิ่งที่เขากำลังทำ นั่นคือ เราต้องภาวนาเหมือนกับที่เขาภาวนา ทุกวันเราต้องภาวนาวอนขอความสว่าง และความเข้มแข็ง เพื่อจะรู้ และปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้า ... แผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เมื่อทรงสร้างเรา

    และถ้าเราทำเช่นนี้ เราย่อมมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือเราให้เรารู้ และกระทำ สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้เราทำในชีวิตแต่ละวันของเรา

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาที่รู้จักกันดีของนักบุญอิกญาซีโอ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านอาจจะจำข้อความได้ เพราะข้อความนี้ถูกนำไปเรียบเรียงเป็นบทเพลงที่เราใช้ขับร้องบ่อย ๆ ในพิธีกรรม

    ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงรับเสรีภาพทั้งหมดของข้าพเจ้าไว้
    พร้อมกับความทรงจำของข้าพเจ้า
    ความเข้าใจของข้าพเจ้า
    และอำเภอใจของข้าพเจ้า
    ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้ามี และทุกสิ่งที่เป็นของข้าพเจ้า
    พระองค์ได้ประทานทุกสิ่งเหล่านี้แก่ข้าพเจ้า
    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถวายทั้งหมดนี้คืนให้พระองค์
    ทุกสิ่งเป็นของพระองค์
    โปรดทรงกระทำกับทุกสิ่งเหล่านี้ตามพระประสงค์เถิด
    โปรดประทานเพียงความรัก และพระหรรษทานของพระองค์
    เท่านั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับข้าพเจ้า

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 7:21-27

    วันนี้ เราอ่านบทสรุปของบทเทศน์บนภูเขาที่เรารู้จักดี เช่นเดียวกับบทเทศน์ที่เขียนขึ้นอย่างดี หลังจากได้มอบข้อคิดบางอย่างให้ผู้ฟังเทศน์นำไปไตร่ตรองแล้ว ผู้เทศน์จะเชิญให้ผู้ฟังลงมือทำงาน พร้อมกับเสนอคำแนะนำที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ฟังควรปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนชีวิตของตน ... มัทธิวนำคำสั่งสอนต่าง ๆ ของพระเยซูเจ้ามารวมไว้ในบทเทศน์บนภูเขา ซึ่งสอนกฎพื้นฐานในการดำเนินชีวิตจิต กล่าวคือ ความเชื่อที่ปราศจากกิจการ ไม่อาจเป็นความเชื่อที่จริงใจได้ ... นักบุญเปาโลก็เคยลงท้ายจดหมายและคำสั่งสอนของเขาเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ และหลักศีลธรรม ด้วยการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น ๆ

“คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้น มิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ ...”
    วันนี้ เราได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าคำเรียกร้องที่ฟังดูทันสมัยมาก เยาวชนปัจจุบันต้องการ “ความจริงแท้” โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อ พวกเขาไม่สนใจคำปราศรัยที่ใช้สำนวนโวหารอีกต่อไปแล้ว ... “เราไม่สนใจว่าคุณบอกว่าเราควรเชื่ออะไร คุณควรบอกเราว่าตัวคุณเชื่ออะไร และตัวคุณเองมีประสบการณ์กับพระเจ้าอย่างไรบ้าง”

    พระเยซูเจ้าทรงประณามการภาวนาแต่ปาก ทรงเรียกคนที่ปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่มีผลใด ๆ ต่อชีวิตประจำวันว่าเป็นคนหน้าซื่อใจคด และทรงตำหนิคนเคร่งศาสนาทั้งหลายที่เอ่ยพระนามพระเจ้าเสมอ แต่การกระทำของเขาสวนทางกับคำพูด ... พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้ความเชื่อที่เราประกาศในวันอาทิตย์สอดคล้องกับความเชื่อที่เราแสดงออกในการดำเนินชีวิตในวันอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์ ... เราแทบจะตีความพระวาจาของพระองค์ได้ว่า “การไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์ ไม่พอจะช่วยใครให้เข้าอาณาจักรสวรรค์ได้”...

    ถ้าเช่นนั้น เราต้องทำอะไร...

“แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้”

    พระวาจาประโยคเดียวนี้บอกเราสามเรื่อง

-    “การทำ” หรือ “การปฏิบัติ” - เป็นคำเชิญให้เราแสดงความเชื่อของเราออกมาเป็นการกระทำในชีวิตแต่ละวันของเรา ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในยามว่าง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเราต่อสังคม หน้าที่ด้านการเมือง และต่อพระศาสนจักร ... ไม่มีชีวิตด้านใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ...

-    “พระประสงค์ของพระเจ้า” - พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเสมอ จนดูเหมือนว่าพระองค์ทรงคิดถึงแต่พระบิดา และทรงกระทำแต่สิ่งที่พระบิดาพอพระทัยในทุกวินาทีในชีวิตของพระองค์ (ยน 4:32-34, 5:30; 8:29) ... “ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์” (มธ 26:39)...

    “พระประสงค์ของพระบิดา” หมายถึงอะไร...

    พระเจ้าทรงเป็นความรัก ดังนั้น พระองค์ทรงต้องการอะไรจากเรา? พระองค์ไม่ได้ทรงต้องการสิ่งใดเพื่อพระองค์เองแน่นอน แต่ทรงต้องการให้เราได้รับความบริบูรณ์และความสุขอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการเพื่อเรา แต่พระองค์ไม่ทรงยัดเยียดให้เราเพราะพระองค์คือความรัก ... “พระประสงค์ของพระบิดา” คือความสำเร็จของเรา แม้บางครั้งจะแฝงอยู่ในรูปของความล้มเหลว ... ชีวิตของนักบุญทั้งหลายเป็นเรื่องราวของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ เช่นนักบุญแบร์นาแด๊ต แห่งลูร์ด นักบุญเทเรซา แห่งลิซิเออซ์ เป็นต้น

-    “ผู้สถิตในสวรรค์” ... ถูกแล้ว พระเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาของเรา ทรงอยู่เหนือความเข้าใจ และไกลเกินเอื้อมของมนุษย์ พระองค์ประทับอยู่ “ในสวรรค์” นั่นคือ “ทรงอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” ... และการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์บ่อยครั้งเป็นวิถีชีวิตที่ไม่สามารถตามกระแสโลกได้ ในสังคมที่กำลังมึนเมาเพราะคำโฆษณาให้เราใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย การดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าจึงต้องสวนกระแสโลก ... มนุษย์ที่พยายามปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ย่อมไม่สามารถยอมรับความคิดที่สาธารณชนยอมรับ และนิยม (บางครั้งอย่างกว้างขวาง) เกี่ยวกับพระเจ้า พระคริสตเจ้า พระศาสนจักร และมนุษย์ด้วย ... หรือเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ วิถีชีวิตของผู้เป็นบิดามารดา และของพลเมืองทั่วไป

“ในวันนั้น หลายคนจะกล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ประกาศพระวาจาในพระนามของพระองค์ ขับไล่ปีศาจในพระนามของพระองค์ และได้กระทำอัศจรรย์หลายประการในพระนามของพระองค์มิใช่หรือ’ เมื่อนั้น เราจะกล่าวแก่เขาว่า ‘เราไม่เคยรู้จักท่านทั้งหลายเลย ท่านผู้กระทำความชั่ว จงไปให้พ้นหน้าเรา’ ”

    ในข้อความนี้มีบางวลีที่แสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงกล้าบอกว่าพระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาในกาลอวสาน “ในวันนั้น ... พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ... จงไปให้พ้นหน้าเรา” วลีเหล่านี้ตรงกับที่ใช้ในคำบอกเล่าเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้าย (มธ 25)...

    ทุกครั้งที่พระวรสารเอ่ยถึงการพิพากษา เราควรไตร่ตรองถ้อยคำนั้นอย่างจริงจัง วันหนึ่ง พระเจ้าจะทรงเป็นผู้ชี้ขาด ... มนุษย์ไม่สามารถเย้ยหยันพระองค์โดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนได้ พระวรสารฉบับภาษากรีกบางครั้งแปลข้อความนี้ว่า “ท่านผู้กระทำการที่ไม่ชอบธรรม จงไปให้พ้นหน้าเรา” คำว่า “ความชั่ว” ในภาษากรีกใช้คำว่า “anomia” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “สภาพไร้กฎหมาย” เรารู้ดีว่า “กฎหมายของมนุษย์” ควรสอดคล้องกับ “บัญญัติของพระเจ้า” เพราะเป็นบัญญัติแห่งความรัก บุคคลที่ “ไม่มีความรัก” ไม่สามารถฝันว่าเขาจะอยู่กับพระเจ้าได้ ... และการพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเป็นเพียงความตระหนักรู้ว่าชีวิตของเขาเป็นชีวิตที่ “ไร้ความรัก” ... “ท่านผู้ไม่มีความรัก จงไปให้พ้นหน้าเรา เพราะเราคือความรัก”...

    แต่ในพระวรสารตอนนี้ สิ่งที่น่าแปลกใจและน่ากลัวที่สุดก็คือบุคคลที่ถูกพิพากษาโทษยังโต้แย้งกับผู้พิพากษา (เช่นที่ปรากฏในบทที่ 25 ของพระวรสารของมัทธิว) ... ทั้งชีวิตของเขาเป็นเพียงภาพลวงตา จนกระทั่ง “วันนั้น” เมื่อเขามองเห็นความจริง...

    พระเยซูเจ้าทรงถึงกับบอกเราว่ามนุษย์อาจคิดว่าเขาทำกิจการยิ่งใหญ่ในพระนามของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพระวาจา ขับไล่ปีศาจ ทำอัศจรรย์ ซึ่งในความเป็นจริง เป็นกิจการที่ขาดความชอบธรรม ชั่วร้าย ไร้ความรัก และขัดแย้งกับพระองค์ ... พระองค์ทรงบอกเราว่าจะมีคนเช่นนี้จำนวนมาก ... ข้อความนี้น่าตกใจไม่ใช่หรือ...

    คำเตือนนี้ต้องสำคัญมาก พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หลายคน” มีชายหญิงจำนวนมากที่แสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจในศาสนา (การประกาศพระวาจา การขับไล่ปีศาจ อัศจรรย์) แทนที่จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันของตนด้วยความรัก และถ่อมตน ... ชายหญิงจำนวนมาก “ทำตัวเป็นประกาศก” ... หลายคนประกาศทฤษฏีที่โอหัง หลายคนวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือพระศาสนจักร เขาต้องการเปลี่ยนแปลงผู้อื่นแทนที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง ... อนิจจา คนเราอาจ “เคลื่อนภูเขา” และ “ทำอัศจรรย์” ได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ถ้าเขายังเป็นคนไร้ความรัก ดังที่นักบุญเปาโลเขียนไว้ในจดหมาย (1 คร 13:1-2)

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เจริญชีวิตอย่างคริสตชนด้วยความถ่อมตนในแต่ละวัน โดยปราศจากการยกย่อง หรืออวดอ้างตนเอง หรือมักใหญ่ใฝ่สูงเทอญ

“ผู้ใดฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเรา และปฏิบัติตาม”...

    พระองค์ยังเรียกร้องให้เราทั้ง “ฟัง” และ “ปฏิบัติ” ... พระวรสารฉบับภาษากรีกใช้คำว่า poiein ในประโยคนี้เช่นเดียวกับในประโยคก่อนหน้าที่กล่าวว่า “ผู้ที่ ‘ปฏิบัติ’ ตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา”...

    ในภาษาฮีบรู คำว่า shama แปลได้ทั้ง “ฟัง” และ “เชื่อฟัง”...

“... ก็เปรียบเสมือนคนมีปัญญาที่สร้างบ้านไว้บนหิน ฝนจะตก น้ำจะไหลเชี่ยว ลมจะพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้น บ้านก็ไม่พัง เพราะมีรากฐานอยู่บนหิน”

    พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้มนุษย์ทั้งชาย และหญิง เป็นช่างก่อสร้างที่ “หนักแน่นมั่นคง” ผู้สร้างบ้านเรือนบนหินแห่งพระวาจาของพระเจ้าที่เขา “ฟัง และปฏิบัติตาม” ... เมื่อเราสร้างบ้าน เราควรรอบคอบ และตรวจสอบหลายสิ่งหลายอย่าง คู่สมรสหนุ่มสาวรู้เรื่องนี้ดี อาจมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ เช่นฐานรากของบ้านตื้นเกินไป และตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่แน่น การผสมซีเมนต์โดยใช้ส่วนประกอบไม่ถูกต้อง นั่งร้านทำด้วยไม้คุณภาพต่ำ และไม่รอเวลาให้ซีเมนต์แห้งและแข็งตัวก่อนเป็นต้น

    วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ “ตรวจสอบ” ชีวิตความเชื่อของเราเช่นเดียวกัน เรากำลังอยู่ใน “บ้าน” ประเภทใด? เราเลือกกระทำการต่าง ๆ ซึ่งผิดต่อความเชื่อคริสตชน แต่ฉาบผิวไว้ด้วยพระวรสารหรือเปล่า? ... ความเชื่อของเราทำให้เราพร้อมจะติดตามพระคริสตเจ้าผู้ทรงชีวิต ... หรือความเชื่อของเราเป็นเครื่องสำอางที่พอกหน้าเราอยู่ หรือเป็นหน้ากากที่เราใช้ปิดบังใบหน้าแท้จริง...

    ท่านต้องการตัวอย่างหรือไม่? บุคคลที่ไม่ยอมรับลัทธิอเทวนิยมแบบมาร์กซิสถูกส่งไปทำงานหนักในค่ายกักกัน และถูกขับออกนอกประเทศ ... การสมรู้ร่วมคิดกับอเทวนิยมแบบมาร์กซิส ส่งผลให้คนนับล้านถูกฆ่าในประเทศกัมพูชา และในที่อื่น ๆ...

    สำหรับเรา ... การ “ฟังพระเยซูเจ้า และปฏิบัติตามพระวรสารของพระองค์” หมายถึงอะไร...

“ผู้ใดที่ฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเรา และไม่ปฏิบัติตามก็เปรียบเสมือนคนโง่เขลาที่สร้างบ้านไว้บนทราย”

    บ้านบนหิน ... บ้านบนทราย ... ชีวิตคริสตชนที่มั่นคง ... ชีวิตคริสตชนที่บอบบาง...

    การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องที่เราเลือกว่าจะทำหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย ... บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์เตือนเราว่ามี “สองทาง” ให้เราเลือกได้ (ฉธบ 11:26-28, 30:15-20, ยรม 21:8, ปชญ 5:6-7, สดด 1:5, 118:29-30, 138:24)

    เรายังพบการเปรียบเทียบระหว่าง “ผู้มีปัญญา” และ “คนโง่เขลา” บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้ามักถูกเรียกว่า “คนโง่” (สดด 13:1, 91:7; ปชญ 3:2; มธ 25:2)...

“เมื่อฝนตก น้ำไหลเชี่ยว ลมพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้น มันก็พังทลายลง และเสียหายมาก”

    ดังนั้น เครื่องหมายที่แสดงว่าความเชื่อของเรามั่นคงมากน้อยเพียงไรก็คือความสามารถของเราในการยึดมั่นอยู่กับความเชื่อนั้นได้ เมื่อพบกับการทดลอง...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ต้านทานพลังที่ทำลายล้างได้ด้วยเทอญ...