แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สมโภชพระตรีเอกภาพ
อพยพ 34:4-6, 8-9; 2 โครินธ์ 13:11-13; ยอห์น 3:16-18

บทรำพึงที่ 1
พระตรีเอกภาพ
พระธรรมชาติพระเจ้ามีเอกภาพที่ประกอบด้วยสามพระบุคคล คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

    ครูสอนศาสนาคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมอธิบายเรื่องพระตรีเอกภาพให้นักเรียนฟัง หลังจากอธิบายแล้ว เธอให้การบ้าน โดยให้นักเรียนเขียนเรียงความตอบคำถามว่า “พระบุคคลใดในพระตรีเอกภาพที่เธอรู้สึกใกล้ชิดมากที่สุดในชีวิตช่วงปัจจุบันของเธอ”

    ข้าพเจ้าขอเสนอคำตอบของนักเรียนสามคนที่ตอบคำถามนี้ เด็กชายคนหนึ่งเขียนว่า “คุณพ่อของผม และผมมีความสัมพันธ์ไม่ดีเลย ขณะนี้ผมกำลังต้องการมีพ่อสักคน และเมื่อผมไม่สามารถพึ่งพ่อของผมได้ ผมจึงหันไปหาพระบิดาในสวรรค์ บางครั้ง ผมก็พูดกับพระองค์เรื่องปัญหาต่าง ๆ ของผม เหมือนกับที่ผมอยากจะพูดกับพ่อของผมเอง”

    เด็กหญิงคนหนึ่งเขียนว่า “พี่ชายของฉันอยู่กับพ่อของฉัน และฉันอยู่กับแม่ ตั้งแต่พ่อกับแม่หย่ากันเมื่อสองปีก่อน เราแทบไม่ได้พบหน้ากันเลย ฉันไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะคิดถึงพี่ชาย แต่ฉันก็คิดถึงเขาจริง ๆ ดังนั้น เวลานี้ ฉันจึงถือว่าพระเยซูเป็นพี่ชายคนหนึ่งของฉัน”

    เด็กชายอีกคนหนึ่งเขียนว่า “ผมเริ่มสวดภาวนาถึงพระจิตเจ้าเมื่อไม่นานมานี้ ผมจะไปศึกษาต่อระดับวิทยาลัยภายในหนึ่งปีข้างหน้า และผมไม่รู้เลยว่าผมต้องการเรียนสาขาใด ผมหวังว่าพระจิตเจ้าจะประทานความสว่างแก่ผม ผมวอนขอคำแนะนำจากพระองค์”

    ข้าพเจ้าคิดว่าคำตอบเหล่านี้จริงใจอย่างน่าประหลาด และยังทำให้ข้าพเจ้าถามตนเองว่า “พระบุคคลใดในพระตรีเอกภาพที่ข้าพเจ้ารู้สึกใกล้ชิดมากที่สุด” ดังนั้น ในวันสมโภชพระตรีเอกภาพปีนี้ จึงอาจเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะไตร่ตรองธรรมล้ำลึก และคำสอนเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพ

    ถ้าจะพูดให้ชัด ๆ ธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพบอกเราว่า พระธรรมชาติของพระเจ้ามีเอกภาพที่ประกอบด้วยสามพระบุคคล คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า

    พระบิดาทรงเป็นพระเจ้า พระบุตรทรงเป็นพระเจ้า และพระจิตก็ทรงเป็นพระเจ้า แต่พระเจ้าไม่ได้มีสามองค์ แต่มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว

    เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเรื่องพระตรีเอกภาพ นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ยกเรื่องของคอร์ดดนตรีเป็นตัวอย่าง หนึ่งคอร์ดประกอบด้วยหลายโน้ต แต่ดีดออกมาเป็นเสียงเดียว

    นักประพันธ์สมัยใหม่ยกเรื่องของน้ำเป็นตัวอย่าง น้ำมีสามรูปที่ต่างกัน คือ ไอน้ำ น้ำแข็ง และฝน คืออยู่ในรูปของก๊าซ ของแข็ง และของเหลว ... แต่ละรูปมีส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกัน

    แม้ว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ห่างไกลจากความเป็นจริง แต่ก็อาจช่วยเราให้เข้าใจธรรมล้ำลึกอันซับซ้อนของพระตรีเอกภาพได้มากขึ้น

    ข้อความในพระคัมภีร์ที่อ้างถึงพระตรีเอกภาพที่เรารู้จักกันมากที่สุดคือวรรคสุดท้ายของพระวรสารของมัทธิว เมื่อพระเยซูเจ้าทรงบัญชาศิษย์ของพระองค์ว่า “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต”

    ภาพลักษณ์ของพระตรีเอกภาพที่ปรากฏชัดเจนที่สุดในพระคัมภีร์ คือ ในการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้า ลูกาบันทึกว่า “ขณะที่ (พระเยซูเจ้า) ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ท้องฟ้าก็เปิดออก และพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ มีรูปร่างที่เห็นได้ดุจนกพิราบ แล้วมีเสียงจากสวรรค์ว่า ‘ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา’ ” (ลก 3:21-22)

    พระวรสารที่เอ่ยถึงพระตรีเอกภาพบ่อยที่สุด คือพระวรสารของยอห์น เช่น พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระบิดา และพระจิตว่า “เราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17)

    ข้อความทำนองนี้ทำให้ผู้นำชาวยิวโกรธมาก จนตัดสินใจจะฆ่าพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์ “ทรงเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาของพระองค์อีกด้วย ซึ่งเป็นการทำตนเสมอพระเจ้า” (ยน 5:18)

    เราพบเทววิทยาเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพที่น่าทึ่งที่สุดได้ในพระวรสารของลูกา และหนังสือกิจการอัครสาวก ซึ่งลูกา เป็นผู้เขียน  ลูกามองประวัติศาสตร์ความรอดพ้นว่าแบ่งออกเป็นสามยุค ยุคของพันธสัญญาเดิม คือ “ยุคของพระบิดา” ยุคพระวรสาร คือ “ยุคของพระบุตร” และยุคหลังพระวรสาร ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันเปนเตกอสเต คือ “ยุคของพระจิตเจ้า”

    นอกจากนี้ เรายังพบเห็นข้อความพาดพิงถึงพระตรีเอกภาพ เช่นในคำอวยพรของเปาโล ในบทอ่านที่สองของวันนี้ “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า ความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้า สถิตอยู่กับทุกท่านเทอญ” (2 คร 13:13)

    เราพบการอ้างอิงถึงพระตรีเอกภาพได้มากมายในพิธีกรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    เราได้รับศีลล้างบาป และศีลกำลัง “เดชะพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต”

    พระศาสนจักรเจิมผู้ป่วย และยกบาปให้ผู้สารภาพบาปที่สำนึกผิด “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต”

    แต่เราเอ่ยถึงพระตรีเอกภาพบ่อยที่สุดในพิธีมิสซา นอกจากเริ่มต้นและจบลงด้วย “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” แล้ว พิธีมิสซายังเต็มไปด้วยคำภาวนาต่อพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า โดยเฉพาะบทสัญลักษณ์ของอัครสาวก ซึ่งเริ่มต้นจากพระบิดาผู้ทรงเป็นพระผู้สร้าง ตามมาด้วยพระบุตรผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ และจบลงด้วยพระจิตผู้ประทานชีวิต

    เราจะย้อนกลับมาพิจารณาคำถามที่ครูคนนี้ถามนักเรียนว่า “พระบุคคลใดในพระตรีเอกภาพที่เธอรู้สึกใกล้ชิดมากที่สุด”

    พระบุคคลที่เรารู้สึกใกล้ชิดมากที่สุดคือพระบิดาผู้ทรงสร้างเราขึ้นมา และทรงรักเรามากกว่าเรารักตนเอง ใช่หรือไม่ ... หรือเรารู้สึกใกล้ชิดกับพระบุตร ผู้ทรงดำรงอยู่ท่ามกลางเรา และทรงแสดงความรักต่อเราด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเรา ... หรือเรารู้สึกใกล้ชิดกับพระจิต ผู้ที่พระบิดาและพระบุตรทรงส่งลงมาช่วยเหลือเรา เพื่อนำเราไปตามทางแห่งความจริงและความศักดิ์สิทธิ์ ... หรือว่าเรารู้สึกใกล้ชิดกับทั้งสามพระบุคคล โดยคิดแต่เพียงว่าทุกพระองค์คือพระเจ้า

    เราจะสรุปบทรำพึงของเราด้วยบทคัดย่อจากบทข้าพเจ้าเชื่อของอาธาเนเซีย ซึ่งเริ่มใช้สวดในศตวรรษที่ 4

    นี่คือความเชื่อคาทอลิก ... เรานมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวผู้มีสามพระบุคคล และมีสามพระบุคคลในพระเจ้าหนึ่งเดียว โดยไม่ปะปนหรือแบ่งแยกพระเทวภาพ เพราะพระบิดาทรงเป็นพระบุคคลหนึ่ง พระบุตรทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่ง และพระจิตทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่ง แต่มีพระเจ้าพระองค์เดียว คือพระบิดา พระบุตร และพระจิต ทรงเท่าเทียมกันในพระสิริรุ่งโรจน์ และพระเดชานุภาพนิรันดร ... นี่คือความเชื่อแท้ที่เราเชื่อ นี่คือความเชื่อคาทอลิก

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 3:16-18

    พระศาสนจักรต้องจัดสังคายนาข้อความเชื่อนานถึงสามศตวรรษ ก่อนจะนิยามความหมายของพระตรีเอกภาพได้ถูกต้อง ทั้งที่พระวรสารได้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้วตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะพระวรสารของนักบุญยอห์น ... คำสนทนากับนิโคเดมัส (ซึ่งส่วนหนึ่งของบทสนทนาเป็นบทอ่านประจำวันนี้) ทำให้เราค้นพบประเด็นสำคัญ กล่าวคือ “การอภิปราย” ไม่มีประโยชน์ เราต้อง “ติดตาม” พระเยซูเจ้าและเชื่อในพระองค์ ... นิโคเดมัสเป็นตัวแทนของปัญญาชนชาวยิว เขาเป็น “อาจารย์ของชาวอิสราเอล” (ยน 3:10) แต่กระนั้น เขาก็ยังไม่เข้าใจ...

    พระตรีเอกภาพไม่ใช่ปัญหาให้เราใช้ “ลับสมอง” แต่เป็นความเป็นจริงที่ไม่ซับซ้อน พระเจ้าทรงเป็นความรัก และความรักนี้มี “รูปร่างหน้าตา” คือพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ... ยอห์นเป็นคนเดียวในบรรดาอัครสาวกที่กล้ายืนมอง “ความรักอย่างบ้าระห่ำ (Mad Love) ของพระเจ้า” เมื่อเขาเฝ้ามองโศกนาฏกรรมบนเขากลโกธา ... และตลอดชีวิตของยอห์น เขารำพึงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าผู้ “ถูกยกขึ้น” ต่อหน้าต่อตาเขา ... และในบทอ่านนี้ เขาถ่ายทอดผลของการรำพึงของเขาให้แก่เรา ... ในเวลาเดียวกัน นี่คือความจริงลึกล้ำที่สุดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพระเยซูเจ้าอีกด้วย...

พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก...
    ก่อนอ่านประโยคนี้ต่อไป ข้าพเจ้าปล่อยให้ถ้อยคำเหล่านี้ซึมซาบลงในจิตใจ และความคิดของข้าพเจ้า...

    ดังนั้น หัวข้อของบทอ่านนี้จึงเป็น “ความรัก” ... และเป็นความรักที่สามารถทำ “สิ่งที่บ้าระห่ำ” ได้ดังที่เราเห็นได้จากคำว่า “มาก”...

    ชาวอิสราเอลยอมรับมานานแล้วว่าพระเจ้าทรงรักเขา พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเป็นหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ บทอ่านของวันนี้เป็นการเผยแสดงต่อโมเสส ในทะเลทรายซีนายว่า “เราเป็นพระยาเวห์ พระเจ้าผู้เมตตาและกรุณา ไม่โกรธง่าย เปี่ยมด้วยความรักมั่นคง และความซื่อสัตย์” (อพย 34:4-9)...

    พระคัมภีร์ทั้งเล่มยอมรับในความรักของพระเจ้าอย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครคาดหมายเลยว่าความรักนั้นพร้อมจะเสียสละจนถึงขั้นไหน...

พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก...

    ในพระวรสารของนักบุญยอห์น บ่อยครั้งที่เขาใช้คำว่า “โลก” (หรือ Kosmos ในภาษากรีก) ในความหมายที่เหยียดหยาม แต่ในบริบทนี้ เราควรเข้าใจว่า “โลก” หรือทั้งเอกภพนี้เป็นที่รักของพระเจ้า ... พระเจ้าทรงรักโลกที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น เราย่อมรักสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แต่เราก็ยินดีที่ได้ยินเช่นนี้...

    พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ... พระเจ้าทรงรัก “นาย ก.” และ “นาง ข.” ... ข้าพเจ้าเติมชื่อของบุคคลที่ข้าพเจ้ารัก ... หรือไม่ชอบหน้า ... พระเจ้าทรงรัก ก. พระเจ้าทรงรัก ข.

พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทาน...

    ข้อความภาษากรีกนี้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้คำกริยาที่เป็นอดีตกาล ดังนั้น จึงหมายถึงการกระทำหนึ่งที่มีกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจน และการแสดงความรักนี้ก็เกิดขึ้นจริง ... เกิดขึ้นในตัวของมนุษย์แท้คนหนึ่งชื่อเยซู ชาวนาซาเร็ธ เป็นบุตรของหญิงคนหนึ่งชื่อมารีย์ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมื่อ 20 ศตวรรษก่อน ในสถานที่หนึ่งที่ห่างไกลของอาณาจักรโรมัน ... และเป็นเหตุการณ์ที่พลิกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ...

    ข้อความเชื่อของเราไม่ใช่ลำดับความคิด แต่เป็นลำดับของ “เหตุการณ์” กล่าวคือ พระเจ้าทรงสร้าง ... พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิด้วยเดชะพระจิตเจ้า ทรงรับทรมาน และกลับคืนพระชนมชีพ...

    พิธีกรรมของเราไม่ได้เฉลิมฉลองความคิด เราไม่ได้เฉลิมฉลองความยุติธรรม ภราดรภาพ หรือแม้แต่ความเชื่อ ... “การเฉลิมฉลองความเชื่อ” เป็นวลีที่ทำให้เข้าใจผิดได้ ... พระวรสารไม่ใช่ตำราคำสอน แต่เป็นคำบอกเล่าเหตุการณ์ ... ผู้กระทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้คือพระเจ้า ... พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำการ ... พระองค์ทรงรัก ... พระองค์ประทาน...

พระองค์ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์...
    เมื่ออ่านประโยคนี้อย่างฉาบฉวย เราจะคิดถึงแต่การเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้า พระเจ้าประทานพระบุตรของพระองค์แก่เรา ... แต่เราไม่ควรมองข้ามคำว่า “เพียงพระองค์เดียว” ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์อาจคิดว่าคำนี้เป็นคำธรรมดา แต่คำว่า “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ทำให้ผู้ฟังชาวยิวรำลึกถึงข้อความจากพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมที่ชาวยิวทุกคนจำได้ อับราฮัม ซึ่งเป็นบิดาของผู้มีความเชื่อ ได้ยอมถวาย “บุตรของเขา ... บุตรคนเดียวของเขา” เป็นเครื่องบูชา (ปฐก 22:2, 6)

    ดังนั้น นักบุญยอห์นจึงชี้ให้เราเห็น “ของถวายอันครบถ้วน” บนเนินกลโกธา ซึ่งเป็นการแสดงความรักสูงสุด ในประโยคก่อนหน้านั้น ยอห์นบอกเราว่า “โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น” (ยน 3:14) และนักบุญเปาโลก็เขียนว่า “พระองค์มิได้ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32)

    ความรักนี้ยิ่งใหญ่ และ “บ้าระห่ำ” จริง ๆ

เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร

    พระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเริ่มต้น พระเจ้าทรงรักเราก่อน ... ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากพระองค์...

    แต่เราก็รู้ว่า คำประกาศ เครื่องหมาย หรือข้อเสนอจากฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจทำให้ความรักนั้นเป็น “ความรักแท้” แต่ต้องมีการยอมรับ และตอบสนองจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ... ความเชื่อคือการตอบสนองของมนุษย์ต่อการประกาศความรักของพระเจ้า เรามอบความเชื่อของเราให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เราวางใจ และมีความมั่นใจในอีกฝ่ายหนึ่ง...

    เดิมพันในความเชื่อนี้สำคัญอย่างยิ่ง เป็นเรื่องของ “ชีวิต” หรือ “ความตาย” ทีเดียว ... เรามีทางเลือกสองทาง ถ้าเลือกทางหนึ่ง เราจะไม่มีชีวิต ถ้าเลือกอีกทางหนึ่ง เราจะมีชีวิต ... ไม่มีทางสายกลาง ... เราจะยอมรับ “ของประทานจากพระเจ้า” และเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ซึ่งเป็นชีวิตของพระเจ้าเพียงผู้เดียว ... หรือเราจะยังอยู่ในระดับมนุษย์ ซึ่งลงเอยด้วยความตาย ... เราไม่มีทางหลบเลี่ยงการตัดสินใจนี้ ... เราต้องตอบ “รับ” หรือ “ปฏิเสธ” ข้อเสนอของพระเจ้า ... นักประพันธ์ชื่อเบอร์นาโนส บอกว่าซาตานอยากให้เราทั้งตอบรับและปฏิเสธในคำเดียวกัน คือ ตอบรับ แต่ก็เริ่มต้นปฏิเสธ

เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น

    ความคิดนี้ของพระเยซูเจ้าเป็นการปฏิวัติความคิดของคนในยุคนั้น ศาสนายิวมักประกาศว่าพระเจ้าจะเสด็จมาทำลายโลกที่จมอยู่ในบาป เอกสารกุมรานเต็มไปด้วยแนวความคิดนี้ คือ กล่าวถึงการสู้รบอย่างไร้ความปรานี เมื่อบุตรแห่งแสงสว่างจะทำลายบุตรแห่งความมืด ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ก็แสดงความคิดในทำนองนี้ เขากำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ ผู้เสด็จมาพิพากษา และล้างแค้นคนบาป (มธ 3:10-12)...

    แต่แนวความคิดของศาสนาคริสต์เกี่ยวกับโลกมีความสมดุลกว่ามาก เพราะไม่ใช่การมองแต่ในแง่ดี ปิดตาไม่มองความชั่ว และปิดหูไม่ฟังเสียงเรียกร้องให้สร้าง “โลกที่ดีกว่าเดิม” ... อีกทั้งไม่มองแต่ในแง่ร้ายโดยย้ำเตือนตลอดเวลาว่าโลกเป็นสิ่งชั่วร้าย หากแต่มองด้วยความต้องการจะช่วยเหลือ โดยยอมรับว่าความชั่วมีอยู่จริงในโลก “ไม่ใช่ต้องการตัดสินลงโทษโลก แต่ต้องการช่วยให้รอดพ้น”...

    นี่คือพระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ผู้น่าพิศวงของเรา ... แต่เราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าพระองค์นี้หรือ ... เรารักโลกอย่างที่พระเจ้าทรงรักโลกหรือเปล่า เราต่อสู้กับความเชื่อ และบาปในโลก เพื่อช่วยโลกให้ได้รับความรอดพ้นหรือเปล่า...

    ความรักของเราเป็นความรักที่อยากช่วยให้รอดพ้นหรือเปล่า คือ มองเห็นข้อบกพร่อง และบาปที่ทำลายโฉมหน้าของพี่น้องของเรา (และของตัวเราเอง) แต่ก็มีใจเมตตา และช่วยเขาให้หลุดพ้นจากบาป และให้โอกาสเขาได้รับชีวิตใหม่...

    ข้าพเจ้ารำพึงตามสองวลีนี้เป็นเวลานาน ... มิใช่เพื่อตัดสิน ... แต่เพื่อช่วยให้รอดพ้น...

ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ...

    พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราว่าความเชื่อจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการตัดสินลงโทษ ในปัจจุบัน การตัดสินโทษได้ถูกมอบหมายไว้ในมือมนุษย์ ... มนุษย์กำลังพิพากษาโทษของตนเอง และพระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าความเชื่อคือการพิพากษานี้ “ผู้ที่เชื่อจะได้รับความรอดพ้น ... ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว”...

ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว...

    ประโยคนี้หมายถึงบุคคลที่ไม่ยอมเชื่อ บุคคลหนึ่งจะถูกตัดสินลงโทษเพียงเพราะเขาไม่รู้ได้อย่างไร...

    แต่กระนั้น เราก็พบว่าถ้อยคำเหล่านี้รุนแรงมาก เมื่อเราคิดถึง “ผู้ไม่มีความเชื่อ” จำนวนมากในครอบครัวของเรา หรือในหมู่เพื่อนฝูงของเรา และในโลกอันกว้างใหญ่ ซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่ยังไม่มีทางรู้จักพระเยซูเจ้า...

    เราไม่สามารถปิดบังประโยคที่รุนแรงเหล่านี้ในพระวรสาร ซึ่งท้าทายมนุษย์ให้เลือกว่าจะ “รับ” หรือ “ปฏิเสธ” ... แต่เราจำเป็นต้องแยกแยะดังนี้

    1)    สำหรับคริสตชนที่ครั้งหนึ่งเคย “ประกาศยืนยันความเชื่อ” นี่คือคำเตือนมิให้ปฏิเสธคำปฏิญาณที่เคยให้ไว้ และเป็นคำเรียกร้องให้รื้อฟื้นคำประกาศยืนยันความเชื่อนี้เสมอ โดยเลือก “ดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้า” ทุกวัน ซึ่งหมายถึง “การยอมมอบชีวิตของตนด้วยความรักเหมือนที่พระองค์ทรงเคยทำ”...

    2)    สำหรับชายและหญิงอื่น ๆ ทุกคนที่ไม่เคยมีโอกาสตัดสินใจเลือกพระเยซูเจ้าด้วยตนเอง โดยรู้ตัว และในฐานะผู้ใหญ่ ... เนื่องจากเรารู้เรื่องความรักของพระเจ้า (ผู้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในโลกนี้ “มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น”) ทำให้เรามีความหวังว่า แม้คนจำนวนมากไม่ได้ “ติดตาม” พระเยซูเจ้า แต่เขาอาจติดตามพระองค์โดยไม่รู้ตัว โดยดำเนินชีวิต “ตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสตเจ้า” กล่าวคือ “ยอมมอบชีวิตของตนด้วยความรัก เหมือนที่พระองค์ทรงเคยทำ”...

... เพราะเขามิได้มีความเชื่อในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า

    เราได้ยินอีกครั้งหนึ่งว่าการตัดสินใจเลือกนี้เร่งด่วนเพียงไร เพราะเราต้องตัดสินใจเลือกตั้งแต่บัดนี้...

    แต่กระนั้น ในอีกข้อความหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน พระเยซูเจ้าตรัสถึง “ระยะเวลาผ่อนผัน” เพราะพระวาจาของพระเยซูเจ้าจะตัดสินลงโทษผู้ที่ไม่ยอมรับพระวาจาของพระองค์ “ในวันสุดท้าย” (ยน 12:47-50) ... ข้อความนี้ไม่ได้ทำให้ความเร่งด่วนลดน้อยลงเลย เพราะตลอดชีวิตของเรา ทุกวันในชีวิตของเรา คือการตัดสินลงโทษเรา...

    เมื่อเรารำพึงจนถึงช่วงสุดท้าย เราจะเข้าใจได้แจ่มชัดขึ้นว่าเหตุใดข้อความนี้จึงถูกเลือกเป็นบทอ่านสำหรับวันสมโภชพระตรีเอกภาพ พระวรสารบอกเราว่าพระตรีเอกภาพไม่ใช่หัวข้อทางเทววิทยาที่เป็นนามธรรม ซึ่งต้องนำมาถกเถียงกัน แต่เป็นความเป็นจริงของความรัก และเราเข้ามาอยู่ในความเป็นจริงนี้ตั้งแต่วันนี้แล้ว ด้วยความเชื่อของเราในพระเยซูเจ้า