วันอาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา
เลวีนิติ 19:1-2, 17-18; 1 โครินธ์ 3:16-23; มัทธิว 5:38-48

บทรำพึงที่ 1
คำขอร้องของเจอรี่
สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรารักศัตรูคือการวอนขอพระหรรษทานให้เราทำเช่นนั้นได้ ให้เราภาวนาอุทิศให้พวกเขา และให้เรามองเห็นเขาอย่างที่พระเจ้าทรงมองเห็นเขา

    เมื่อหลายปีก่อน นิตยสารนิวสวีกเสนอบทความหนึ่งที่น่าประทับใจมาก สิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจให้อ่านบทความนี้คือภาพถ่ายประกอบเรื่อง เป็นภาพของเด็กชายสามคนอายุ 7-11 ปี ที่กำลังคุกเข่าอยู่ที่ม้านั่งแถวหน้าสุดในวัด ใต้ภาพมีคำบรรยายว่า “ผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”

    บทความนี้เล่าว่าเด็กชายคนโตชื่อเจอรี่ มักเปิดวิทยุทันทีที่เขาตื่นขึ้นในเวลาเช้า เขาชอบฟังข่าวขณะที่แต่งตัวไปโรงเรียน เช้าวันนั้น เขาได้ยินข่าวร้าย ใครคนหนึ่งได้ซ่อนระเบิดไว้บนเครื่องบินของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 629 เครื่องบินระเบิดกลางอากาศเหนือรัฐโคโลราโด มีผู้เสียชีวิต 44 คน

    เจอรี่ แต่งตัวจนเสร็จ และลงบันใดมาข้างล่าง เขาเห็นยายของเขายืนอยู่ที่เชิงบันใดพร้อมกับพระสงฆ์เจ้าอาวาส

    เจอรี่ มองคนทั้งสอง และพูดว่า “พ่อกับแม่ของผมอยู่บนเครื่องบินลำนั้นใช่ไหมครับ” เจอรี่ เข้าใจถูกแล้ว

    ต่อมาในวันเดียวกัน นักเรียนในโรงเรียนเซนต์กาเบรียล ซึ่งเป็นโรงเรียนของเจอรี่และน้องชายทั้งสอง ได้ขอให้คุณพ่อเจ้าอาวาสจัดสวดภาวนาเพื่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนทั้งสามของเขา คุณพ่อถามเจอรี่ว่ายินดีให้ทำเช่นนั้นหรือไม่ เจอรี่ตอบรับ แล้วเขาก็เสริมขึ้นว่า “เราจะภาวนาให้คนที่ฆ่าพ่อ และแม่ของผมด้วยได้ไหมครับ”

    บทความนี้ช่วยให้เราเข้าใจบทบัญญัติของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ได้มากขึ้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน”

    ข้าพเจ้าคิดว่าบทความนี้น่าสนใจเพราะวีรบุรุษในเรื่องนี้เป็นเด็กคนหนึ่ง เด็ก ๆ ดูเหมือนจะเข้าใจคำสอนยาก ๆ ของพระเยซูเจ้าได้ดีกว่าผู้ใหญ่

    อาจเป็นเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย” (มธ 18:3)

    นี่คือคำถามที่เราทุกคนต้องตอบโดยไม่หลบเลี่ยง หรือหลอกตนเอง เราจะทำอย่างไรถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่มีทางรักศัตรูได้เลย? เราจะทำอย่างไร ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถภาวนาเพื่อใครบางคนที่เคยทำให้เราเจ็บใจมาก? เราจะทำอย่างไร ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถให้อภัยใครบางคนได้?

    มีสามทางที่เราทำได้ ทางแรกคือวอนขอพระหรรษทานเพื่อให้เราให้อภัยบุคคลนั้นได้

    ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คอรี่ เทน บูม เป็นเชลยในค่ายกักกันของนาซีที่เมืองราเวนสบรูก หลังสงคราม เธอเดินทางไปทั่วยุโรป และจัดบรรยายเรียกร้องให้พลเมืองในประเทศคู่สงครามให้อภัยกันสำหรับอาชญากรรมสงคราม

    คืนหนึ่งหลังจากการบรรยายในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเธอ และยื่นมือให้ในลักษณะที่ขอคืนดี เมื่อคอรี่เห็นว่าเขาเป็นใคร เธอถึงกับช็อก เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มทหารยามประจำค่ายกักกันที่เธอถูกขัง ซึ่งพวกเชลยเกลียดที่สุด

    คอรี่ยืนตัวแข็ง ไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไร เธอก็ไม่สามารถยื่นมือออกไปจับมือเขาได้ เธอเริ่มภาวนาว่า “พระเยซูเจ้า ลูกไม่สามารถให้อภัยชายคนนี้ได้ โปรดช่วยให้ลูกให้อภัยเขาด้วยเถิด”

    ขณะนั้นเอง มีพลังอันเร้นลับบางอย่างช่วยให้เธอยื่นมือออกไปจับมือชายคนนั้น และให้อภัยเขาอย่างจริงใจ เหตุการณ์นี้สอนคอรี่ให้เข้าใจความจริงที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง พระเยซูเจ้า ผู้ทรงบัญชาให้เรารักศัตรูของเรา จะประทานพระหรรษทานที่ช่วยเราให้ปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ด้วย สิ่งเดียวที่เราต้องทำก็คือวอนขอ

    ทางที่สองที่เราทำได้ นอกจากวอนขอพระหรรษทานให้เราสามารถให้อภัยศัตรูของเรา ก็คือ เราสามารถภาวนาเพื่อศัตรูคนนั้นได้ เราสามารถทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำบนไม้กางเขน เมื่อพระองค์ทรงภาวนาเพื่อผู้ที่ประหารพระองค์ว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร”

    คนที่เคยภาวนาเพื่อศัตรูของตนยืนยันว่ามีสิ่งที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นระหว่างที่เขาภาวนาเพื่อศัตรู คนหนึ่งบรรยายว่า “เมื่อผมต้องการเปลี่ยนทัศนคติด้านลบต่อใครบางคน สิ่งเดียวที่ผมต้องทำคือเริ่มสวดภาวนาเพื่อเขา หลังจากภาวนาได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทัศนคติของผมต่อคนเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนไป ผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันเกิดขึ้นจริง”

    ทางที่สามที่เราสามารถทำได้ นอกจากการภาวนาวอนขอพระหรรษทานที่ช่วยเราให้อภัยผู้อื่น และนอกจากสวดภาวนาเพื่อสวัสดิภาพของบุคคลนั้นแล้ว เรายังสามารถพยายามมองบุคคลนั้นในแง่มุมอื่น ดังที่ใครคนหนึ่งเคยบรรยายไว้ว่า “ถ้าเราสามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของศัตรูของเรา และดำเนินชีวิตภายในหัวใจนั้น เราจะพบความเจ็บปวด และความเศร้าในที่นั้นมากพอที่เราจะขจัดความเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลนั้นออกไปจากใจของเราได้ตลอดชีวิตของเรา”

    เมื่อนั้น เราจะมองเห็นคนทั้งหลายมิใช่ในฐานะศัตรู แต่ในฐานะมนุษย์ เราจะมองเห็นว่าเขาเป็นบุตรชายหญิงของพระบิดาของเราในสวรรค์ เราจะมองเห็นว่าเขาเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา ผู้มีบทเพลงพิเศษที่เขาต้องขับร้อง มีกิจการแห่งความรักที่เขาต้องกระทำ และมีสารพิเศษของตนเองที่เขาต้องประกาศต่อโลก ... ไม่ต่างจากเราเลย

    เราจะมองเห็นเขาอย่างที่พระเจ้าทรงมองเห็นเขา เมื่อพระองค์ทรงสร้างเขา เราจะมองเห็นเขาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นเขา เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเขา

    ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถรักศัตรูของเรา เราสามารถทำได้สามสิ่ง

    สิ่งแรกคือ วอนขอพระหรรษทานให้เรารักเขา
    สิ่งที่สองคือ เราสามารถภาวนาเพื่อสวัสดิภาพของเขา
    สิ่งที่สามคือ เราสามารถพยายามมองเขาในแง่มุมใหม่ เราสามารถพยายามมองว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา พระเจ้าทรงรักเขามากพอจะสร้างเขาขึ้นมา และเป็นผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงรักมากพอจะยอมสิ้นพระชนม์เพื่อเขา

    เราจะสรุปบทรำพึงด้วยบทภาวนา

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้รักบุคคลที่เรารักได้ยาก
    โปรดประทานพระหรรษทานแก่เขา
    โปรดทรงช่วยเขาให้เปลี่ยนไปเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงต้องการให้เขาเป็น เมื่อพระองค์ทรงสร้างเขา
    โปรดทรงช่วยเราให้มองเห็นเขาผ่านสายพระเนตรของพระองค์
    ให้เรามองเห็นเขาอย่างที่เขาเป็นจริง
    คือเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา และมิใช่ศัตรูของเรา

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 5:38-48

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า ... แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ...”

    บทอ่านนี้ต่อเนื่องจากบทเทศน์บนภูเขา และเป็นบทบัญญัติที่ห้าในหกบท ที่พระเยซูเจ้าทรงแย้ง หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือ ทรงทำให้บทบัญญัติเดิมนั้นสมบูรณ์ พระดำรัสของพระองค์มีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อทรงใช้รูปประโยคแบบกสานต์ (passive) ... ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า ... เพื่อเลี่ยงการเอ่ยชื่อ...

    “ท่านทั้งหลายได้ยินว่า” ทำให้คิดถึงการประกาศธรรมบัญญัติระหว่างการอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม พระเยซูเจ้าทรงกล้าโต้แย้งธรรมบัญญัติคัมภีร์โทราห์ ด้วยพระดำรัสของพระองค์เอง...

    ไม่เคยมีประกาศกคนใดเคยพูดในลักษณะนี้ บทบาทของประกาศกคือถ่ายทอด หรืออธิบายความหมายของสารของพระเจ้า ... “พระเจ้าตรัสดังนี้”…

    บุคคลที่พูดเหมือนกับพระเยซูเจ้าตรัสจะต้องเป็นบ้า ... หรือเป็นพระเจ้า!...

    “พระเจ้าตรัสดังนี้ ... แต่เราบอกท่านดังนี้” ... เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระองค์จึงทรงถูกกล่าวหาว่าทรงดูหมิ่นพระเจ้า

    แต่ข้อความที่ตรัสต่อจากนั้นแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคำสั่งสอนของพระเจ้าอย่างแท้จริง...

“ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่าอย่าโต้ตอบคนชั่ว”

    คนยุคปัจจุบันเข้าใจความหมายของ “กฎการแก้แค้น” นี้ผิดไปมาก  บทบัญญัติของโมเสส ซึ่งเป็นบทบัญญัติของพระเจ้า ประกาศใช้กฎหมายเช่นนี้ได้อย่างไร? อันที่จริง บทบัญญัตินี้นับว่าก้าวมาไกลมากแล้วจากการใช้สัญชาตญาณการแก้แค้นซึ่งเป็นนิสัยของมนุษย์ แม้ว่ากฎการแก้แค้นนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในดินแดนตะวันออกยุคโบราณ (เช่นประมวลกฎหมายของฮัมมูราบี) และมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ทำการแก้แค้นเกินขอบเขต มนุษย์ที่ถูกทำร้ายก่อนมักต้องการแก้แค้นให้หนักยิ่งกว่าที่ตนเองได้รับ ดังที่เราเห็นได้จากบทเพลงของลาเมค “ถ้ากาอินจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดเท่า ลาเมคจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดสิบเจ็ดเท่า” (ปฐก 4:24) ดังนั้น ธรรมบัญญัติจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อระงับความรุนแรง โดยระบุว่าบุคคลหนึ่งสามารถแก้แค้นผู้ที่ทำให้เขาเจ็บปวดได้เท่ากับที่เขาได้รับเท่านั้น (อพย 21:24, ลนต 24:20, ฉธบ 19:21)

    ธรรมบัญญัติข้อนี้ดูเหมือนว่าล้าสมัยสำหรับคนยุคปัจจุบัน และเหมาะสมสำหรับยุคที่สถานการณ์แตกต่างจากยุคของเราเท่านั้น แต่อนิจจา กฎการแก้แค้นไม่อาจทำให้มนุษย์พึงพอใจได้ ... อันที่จริง มีการต่อสู้มากมายทางสังคม การต่อสู้ระหว่างชาติต่าง ๆ หรือการต่อสู้ทางเชื้อชาติที่ไม่ใช้กฎการแก้แค้น แต่ใช้วิธี “เพิ่มความรุนแรง”

    มนุษย์แข่งขันกันเป็นคนที่แข็งแรงกว่า ... ต้องการตอบโต้ให้หนักยิ่งกว่าความเจ็บปวดที่ตนเองได้รับ เราชอบพูดถึง “การถ่วงดุลอำนาจ” แต่ในความเป็นจริง สัญชาตญาณเถื่อนของคนสมัยโบราณยังทำงานอยู่ในตัวเรา

    แต่พระเยซูเจ้าทรงกล้าเชิญชวนมนุษย์ให้มีความรักอันครบครัน พระองค์ทรงบอกเราว่าเราไม่ควรแก้แค้นเลย เราไม่ควร “โต้ตอบ” คนชั่ว ... และเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้เทศน์สอนที่เข้าใจความเป็นจริง พระองค์จึงทรงยกสี่ตัวอย่างดังนี้

“ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย
ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาล เพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย
ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด
ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน”

    พระวรสารไม่เคยเสนอ ... ไม่ว่าในที่นี้หรือที่ใด ... สูตรสำเร็จของศีลธรรม แต่ระบุเป็นจิตตารมณ์มากกว่าเป็นกฎ ... พระเยซูเจ้าเองก็ไม่ทรงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ เมื่อคนรับใช้ของมหาสมณะตบพระพักตร์พระองค์ แต่ทรงรักษาศักดิ์ศรีของพระองค์ และตรัสว่า “ท่านตบหน้าเราทำไม” (ยน 18:23) ... นอกจากนี้ เราไม่มีสิทธิจะอ้างพระดำรัสเหล่านี้ของพระเยซูเจ้าเพื่อส่งเสริมความอยุติธรรม ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับในสังคมโลก ถ้าเราใช้กฎข้อนี้ทางสังคมโลก ย่อมเป็นการกระตุ้นให้คนอยากขอทาน และส่งเสริมความรุนแรง และอาชญากรรม และเป็นข้ออ้างไม่ให้คนชั่วได้รับโทษ...

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการส่งเสริมการกดขี่ ด้วยการขอให้คนอ่อนแอยอมรับชะตากรรมของตน ... เปล่าเลย ในบางกรณี ศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้าจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้ เพราะการยอมรับความอยุติธรรม โดยเฉพาะความอยุติธรรมที่กระทำต่อผู้อื่น เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้าโดยสิ้นเชิง...

    เมื่อเราเข้าใจได้เช่นนี้แล้ว เราต้องยอมให้พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเรา ... เราทุกคนต้องเอาชนะสัญชาตญาณการแก้แค้นที่ฝังอยู่ในตัวเราให้ได้...

    เราไม่อาจเอาชนะความชั่วด้วยการโต้ตอบด้วยความรุนแรงระดับเท่าเทียมกัน เมื่อเราตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว เราจะก้าวเข้าสู่วังวนความชั่วอย่างดื้อรั้น เพราะความชั่วร้ายที่เราตกเป็นเหยื่อนั้นเป็นเพียงศัตรูภายนอกตัวเรา แต่เมื่อเราแก้แค้น ความชั่วชนะอีกครั้งหนึ่ง เพราะมันเข้ามาอยู่ในหัวใจของเราแล้ว ... พระเยซูเจ้าทรงต้องการชี้ให้มนุษยชาติมองเห็นอีกทางเลือกหนึ่ง คือให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ตอบสนองความเกลียดชังด้วยความรัก...

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู”

    ถ้าเรามองหากฎข้อนี้ในพระคัมภีร์ เราจะหาไม่พบ อันที่จริง พระเยซูเจ้ากำลังตรัสถึงทัศนคติของคนส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงความรู้สึกออกมาในบทสดุดีหลายข้อที่ “สาปแช่ง” และแสดงความเกลียดชังบาป จนแทบทำให้มีเหตุผลที่จะทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ... “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าอยากให้พระองค์สังหารคนชั่วเสีย ... ข้าพเจ้ามิได้เกลียดผู้ที่เกลียดพระองค์หรือ ... ข้าพเจ้าเกลียดเขาเข้ากระดูกดำ และนับเขาเป็นศัตรูของข้าพเจ้า” (สดด 139:19-21) ... เอกสารกุมรานระบุกฎว่า “ท่านจงเกลียดบุตรแห่งความมืด”...

    แต่เราต้องตระหนักว่าผู้ที่เราจำเป็นต้อง “เกลียด” ไม่ใช่ศัตรูส่วนตัวของเรา แต่เป็น “ศัตรูของพระเจ้า” กล่าวคือศัตรูของกลุ่มศาสนาที่เป็น “บุตรแห่งแสงสว่าง” ... ดังนั้น “ความเกลียด” นี้จึงหมายถึงการไม่ยอมรับลัทธิความเชื่อของพวกเขา ... ให้เราเกลียดบาป มิใช่เกลียดคนบาป

“แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรม และคนอธรรม”

    นี่คือข้อความที่ทำให้พระวรสารเป็นสิ่งแปลกใหม่ ก่อนสมัยของพระเยซูเจ้า มนุษย์ภาวนา “สาปแช่ง” ศัตรูของตน (สดด 17:13, 28:4, 69:23, 29 เป็นต้น) แต่บัดนี้ เราต้องภาวนา “เพื่อ” เขา คือภาวนาวอนขอให้เขากลับใจ...
    แต่เราต้องระวัง เราไม่สามารถดำเนินชีวิตตามพระวรสารได้ด้วยกำลังของมนุษย์ เพื่อจะปฏิบัติอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราปฏิบัติ เราจำเป็นต้องมีกำลังเหนือมนุษย์ ถ้าพระเยซูเจ้าทรงบอกให้เรารักศัตรูของเรา นั่นเป็นเพราะพระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้ก่อน ... เราควรอ่านข้อความที่นักบุญเปาโลเขียนถึงชาวโรมอีกครั้งหนึ่งว่า “ยากที่จะหาคนที่ยอมตายเพื่อคนชอบธรรม บางครั้งอาจจะมีคนยอมตายแทนคนดีจริง ๆ ได้ แต่พระเจ้าทรงพิสูจน์ว่าทรงรักเรา เพราะพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ขณะที่เรายังเป็นคนบาป” (รม 5:7-8)…

    เมื่อเราต้องแสดงความรัก ซึ่งทำได้ยากมาก หรืออาจถึงกับเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่สามารถคิดในระดับของจิตวิทยา หรือจริยธรรม หรือสังคม แต่เราต้องไปอยู่เบื้องหน้าไม้กางเขน “ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระบิดา พระองค์ทรงต้องการประทานสิ่งดีแก่ผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อพระองค์ ... พระองค์ทรงยอมรับความเจ็บปวดทรมาน และสิ้นพระชนม์เพื่อผู้ที่เป็นสาเหตุให้พระองค์ทรงเจ็บปวดทรมาน และสิ้นพระชนม์” ... ความรักศัตรูต้องมาจากพระเจ้าเท่านั้น ... นี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำตลอดเวลาเมื่อพระองค์ “ทรงโปรดให้ดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือทั้งทุ่งนาของพวกอเทวนิยมที่เบียดเบียนผู้อื่น และเหนือสวนของภคินีคาเมไลท์”...

    ท่านสงสัยใช่ไหมว่าท่านจะรักคนที่ไม่รักท่านได้อย่างไร...

    พระเจ้าทรงรักท่านอย่างไร ... ด้วยการให้อภัยท่านทุกครั้ง ... พระเยซูเจ้าทรงกล้าเรียกร้องให้เรารักศัตรูด้วยความรัก “ที่เป็นไปไม่ได้” นี้ เพราะพระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นเป็นตัวอย่างก่อน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)...

“ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ”

    พระเยซูเจ้าเคยบอกเราแล้วว่าเราต้องเป็น “เกลือดองแผ่นดิน และเป็นแสงสว่างส่องโลก” ดังนั้น พระองค์ทรงเชิญชวนเราให้รับเอาพฤติกรรมใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของมนุษย์อื่น และเป็นพฤติกรรมที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าพูดตามประสามนุษย์ ... เพื่อเลียนแบบพระเจ้า เราต้องพยายามรักโดยไม่หวังความรักตอบแทน “ฉันรักคุณเพราะคุณรักฉัน ฉันทักทายคุณเพราะคุณทักทายฉัน” ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ผู้ไม่มีความเชื่อก็ทำเช่นนี้ ... แต่เมื่อพระเจ้าทรงไม่ได้รับความรัก พระองค์ยังคงทำอย่างที่พระองค์ตัดสินใจจะทำต่อไป คือทรงรักอย่างปราศจากเงื่อนไข...

    พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ความรักต้องไม่ถูกลดคุณค่าให้เหลือเพียงระดับความรู้สึก ความดึงดูดใจ ประสาทสัมผัส และอารมณ์ ... พระองค์ไม่ได้บอกว่าความรักเช่นนั้นเป็นความรักที่ชั่ว เราย่อมต้องการความรักประเภทนี้ ใครบ้างอยู่ได้โดยปราศจากความรู้สึกอ่อนโยนต่อกัน ... แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเราไม่ควรรักแต่ในระดับนี้เท่านั้น...

    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงบอกให้เรารักศัตรูของเรา … แต่เรามักหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ และอาจบอกว่า “แต่ฉันไม่มีศัตรู” ... ก่อนอื่น เราควรยอมรับความสว่างจากพระเยซูเจ้า และเห็นว่าชีวิตมนุษย์ต้องพบกับความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ... ลึก ๆ ในใจ เรารู้สึกว่าทุกคนที่ไม่เหมือนเรา กำลังทำร้ายเรา เขากำลังตั้งคำถามกับเรา และอยากกำจัดเราให้พ้นทาง ... เขากำลังทำให้ฉันประหม่า และ “ฆ่า” ฉัน ... วิธีพูดเช่นนี้ ... พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ฉันอารมณ์เสีย...
    จงอย่ารอจนถึงวันพรุ่งนี้ ... ท่านควรหยุดรำพึงสักครู่ และทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบอกให้ท่านทำ คือภาวนาเพื่อบุคคลที่ทำให้ท่านไม่สบายใจ คนที่เคยทำร้ายท่าน คนที่ท่านไม่ชอบหน้า และคนที่ไม่ชอบหน้าท่าน...

ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด”

    เมื่อเรารักคนที่ไม่ชอบเรา ... เรากำลังเลียนแบบพระเจ้า ... การทำดีต่อบุคคลที่ทำร้ายเรา เป็นการกระทำของพระเจ้า...

    “การเป็นคริสตชน” หมายถึงอะไร ... การเป็นคริสตชนไม่ได้หมายความว่าเราบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดคือมีความรักต่อคนทั้งโลก แต่หมายความว่าเราต้องพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนี้ด้วยการออกแรงพยายามทุกวัน และไม่ใช่หลักศีลธรรมที่คนอารมณ์อ่อนไหวใช้หลอกตนเอง…

    เราเป็นบุตรของพระบิดาผู้ทรงเมตตาทั้งคนดีและคนชั่ว ... เมื่อทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องเช่นนี้ ... พระองค์ทรงถูกตบหน้า ... เสื้อของพระองค์ถูกกระชากออกจากพระกาย ... ทรงถูกตัดสินอย่างอยุติธรรม ... ทรงเดินอย่างเหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวดไปตามทางสู่เขากัลวารีโอ ... พระองค์ทรงเป็น “ผู้ถูกตรึงกางเขนผู้ปราศจากความเกลียด”...