แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
เศฟันยาห์ 2:3, 3:12-13; 1 โครินธ์ 1:26-31; มัทธิว 5:1-12

บทรำพึงที่ 1
ถ้ำในโอกินาวา
ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา

    เมื่อเดือนเมษายน 1986 ชายผมสีขาวสองคนทักทายกันอย่างอบอุ่นในสนามบินนานาชาติโตเกียว ทั้งสองคนน้ำตาคลอ ชายคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกันชื่อ โพนิช อีกคนหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ อิชิบาชิ ครั้งสุดท้ายที่คนทั้งสองพบกันคือเมื่อ 40 ปีก่อน ในฐานะศัตรู ในถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองโอกินาวา

    ในเวลานั้น ชาวอเมริกัน ซึ่งขณะนั้นคือสิบโทโพนิช กำลังอุ้มเด็กชายชาวญี่ปุ่นวัย 5 ปี อยู่ในอ้อมแขน เด็กคนนั้นถูกยิงทะลุขาทั้งสองข้าง อิชิบาชิเป็นพลแม่นปืนคนหนึ่งในสองคนที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดของถ้ำแห่งเดียวกัน

    ทันใดนั้น อิชิบาชิ และเพื่อนของเขา ก็กระโจนออกมาจากที่ซ่อน และเล็งปืนไปที่โพนิช เตรียมยิงในระยะเผาขน

    โพนิชไม่มีทางทำอะไรได้เลย เขาได้แต่วางเด็กวัยห้าปีคนนั้นบนพื้น หยิบกระติกน้ำของเขาออกมาแล้วเริ่มต้นล้างบาดแผลให้เด็กน้อย

    ถ้าเขาต้องตาย จะมีวิธีใดที่ดีกว่าการตายขณะกำลังทำเมตตากิจ เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา” (มธ 5:7)

    พลแม่นปืนทั้งสองจ้องมองเขาอย่างประหลาดใจ แล้วก็ลดปืนลงช้า ๆ

    อีกไม่กี่นาทีต่อมา โพนิชทำบางสิ่งบางอย่างที่อิชิบาชิไม่มีวันลืม เขาอุ้มเด็กน้อยขึ้นมา ลุกขึ้นยืน แล้วโค้งคำนับชาวญี่ปุ่นทั้งสองอย่างสำนึกในบุญคุณ แล้วจึงนำเด็กชายคนนั้นไปส่งที่โรงพยาบาลสนามของฝ่ายอเมริกา

    ชายสองคนนี้มาพบกันได้อย่างไร หลังจากเวลาผ่านไปนานเช่นนี้

    ใน ค.ศ. 1985 โพนิชเขียนจดหมายไปหาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในโตเกียว เขาขอบคุณประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ทหารสองคนนั้นไว้ชีวิตเขาเมื่อ 40 ปีก่อน ข้างหน้าถ้ำในเมืองโอกินาวา

    อิชิบาชิอ่านพบจดหมายฉบับนี้ และติดต่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซึ่งช่วยจัดการให้บุคคลทั้งสองได้พบกัน ทั้งสองพูดคุยกันเป็นเวลานานด้วยความรักต่อกัน และบอกเล่าให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของตนนับตั้งแต่สงครามยุติ

    โพนิชยังมีงานบางอย่างที่ค้างคาอยู่ บัดนี้ เขากำลังตามหาเด็กชายที่เขาอุ้มอยู่ในอ้อมแขนในถ้ำแห่งนั้น โพนิชกล่าวว่า “เขาเป็นเด็กที่เหลือเชื่อ เขามีรูกระสุนอยู่ที่ขาทั้งสองข้าง และต้องเจ็บปวดมาก แต่เขาไม่ร้องไห้เลย และไม่บ่นด้วย ถ้าผมค้นพบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เรื่องนี้จะจบลงอย่างมีความสุข”

    ใช่ว่าเมตตากิจทุกครั้งจะจบลงอย่างสวยงามเช่นนี้ หรือได้รับความสนใจจากนานาชาติเช่นนี้ แต่เมตตากิจทุกครั้ง - ไม่ว่าจะเล็กน้อยเท่าไร - เป็นการตอกย้ำความจริงอันงดงามและลึกซึ้งในพระวาจาของพระเยซูเจ้าในพระวรสารประจำวันนี้ว่า “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา”

    พจนานุกรมนิยามความหมายของความเมตตากรุณาว่า เป็นการแสดงความสงสารต่อผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ และหมายถึงการแสดงความสงสารของสิบโทโพนิช ต่อเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ และความสงสารที่พลแม่นปืนชาวญี่ปุ่นแสดงต่อโพนิช เมื่อพบเขาในสถานการณ์ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

    คำว่าความสงสาร (compassion) มาจากภาษาละติน แปลว่าการร่วมรับความทุกข์ หรือการมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน

    ภาพยนตร์เรื่อง To Kill a Mocking Bird มีฉากหนึ่งที่น่าประทับใจ เมื่อแอททิกัส ฟินช์ พูดกับลูก ๆ ของเขาว่า “ถ้าลูกต้องการเข้าใจใครสักคน ลูกต้องคลานเข้าไปอยู่ในเนื้อหนังของเขา แล้วเดินไปรอบ ๆ ด้วยร่างกายของเขา” นี่คือคำบรรยายความสงสารได้อย่างยอดเยี่ยม ความสงสารหมายถึงความสามารถเข้าไปอยู่ในตัวผู้อื่น มองผ่านดวงตาของเขา รู้สึกด้วยความรู้สึกของเขา และคิดด้วยความคิดของเขา

    หมายถึงการเข้าไปอยู่ในตัวของเด็กชาวญี่ปุ่นที่บาดเจ็บ และมองด้วยดวงตาของเขา รู้สึกด้วยความรู้สึกของเขา และคิดด้วยความคิดของเขา

    หมายถึงการเข้าไปอยู่ในตัวของสิบโทชาวอเมริกันผู้กำลังติดกับ ขณะที่เขากำลังช่วยเหลือเด็กที่บาดเจ็บ และมองเห็นอย่างที่เขาเห็น รู้สึกอย่างที่เขารู้สึก และคิดอย่างที่เขาคิด

    หมายถึงการกระทำอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าเสด็จมายังโลกนี้ในองค์พระเยซูเจ้า ทรงเข้าไปอยู่ในเนื้อหนังของเรา และดำเนินชีวิตในสภาพเดียวกันกับเรา

    พระองค์ทรงยอมรับสภาพมนุษย์เหมือนเรา พระองค์ทรงมองผ่านดวงตาของเรา ทรงรักด้วยหัวใจของเรา ทรงคิดด้วยความคิดของเรา และทรงรู้สึกด้วยอารมณ์ของเรา

    ชาวฝรั่งเศสมีสุภาษิตว่า “การรู้ทุกสิ่งคือการให้อภัยทุกสิ่ง” สุภาษิตนี้หมายความว่า ถ้าเราสามารถเข้าไปอยู่ในตัวของศัตรูของเรา และผ่านประสบการณ์อย่างที่เขาประสบ เราจะสามารถให้อภัยเขาได้ แล้วเราจะปฏิบัติต่อเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ
    เราจะสามารถปฏิบัติต่อเขาด้วยความสงสาร อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อหญิงที่ถูกจับได้ขณะล่วงประเวณี

    เราจะสามารถปฏิบัติต่อเขาด้วยความสงสาร อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อผู้ร้ายที่ถูกตรึงกางเขน

    เราจะสามารถปฏิบัติต่อเขาด้วยความสงสาร อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อเพชฌฆาต เมื่อพระองค์ตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)

    เช็กสเปียร์กล่าวไว้ในบทละครเรื่องเวนิสวานิช อันโด่งดังของเขาว่า “ความเมตตาเป็นสิ่งดีสองชั้น ทำให้ทั้งผู้ให้ และผู้รับมีความสุข” หมายความว่าเมื่อเราแสดงความเมตตาต่อกัน เราเองก็ได้รับพรจากความเมตตานั้นด้วย

    สิบโทชาวอเมริกัน ได้รับความเมตตาจากพลแม่นปืนชาวญี่ปุ่น เพราะเขาแสดงความเมตตาต่อเด็กน้อย

    บทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้เป็นคำเชิญชวนเราให้แสดงความเมตตาต่อผู้อื่น เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเมตตาต่อเรา และเหมือนกับที่เราอยากให้ผู้อื่นแสดงต่อเรา

    และถ้าเรายอมรับคำเชิญนี้ พระเยซูเจ้าเองทรงสัญญาว่าพระบิดาสวรรค์ของพระองค์จะทรงแสดงความเมตตาต่อเรา พระองค์จะทรงแสดงความสงสารต่อเรา เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงต่อหญิงที่ล่วงประเวณี โจรกลับใจ และเพชฌฆาตผู้ประหารพระองค์ – เป็นความสงสารที่ทหารญี่ปุ่นแสดงต่อสิบโทโพนิช

เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของกวีชาวอังกฤษชื่อ อเล็กซานเดอร์ โป๊ป เกี่ยวกับความเมตตา

    พระเจ้า โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้สึกได้ถึงความทุกข์ของผู้อื่น
    ให้ข้าพเจ้าซ่อนข้อบกพร่องที่ข้าพเจ้าเห็น
    เพื่อว่าข้าพเจ้าแสดงความเมตตาต่อผู้อื่นเช่นไร
    พระองค์จะแสดงความเมตตาต่อข้าพเจ้าเช่นนั้น

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 5:1-12

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย...

    เรารำพึงตามข้อความที่เป็นอารัมภบทของ “บทเทศน์บนภูเขา” มัทธิวแสดงให้เราเห็นภาพของพระเยซูเจ้าขณะที่ทรงเริ่มต้นเทศนาสั่งสอน รอบพระกายของพระองค์เต็มไปด้วยประชาชน ประโยคก่อนหน้านี้บรรยายลักษณะของฝูงชนนี้ว่าเป็น “ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ” (มธ 4:24) พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรด้วยความสงสาร คนทั้งหลายที่ “เหน็ดเหนื่อย และท้อแท้” (มธ 9:36) ทุกคนที่กำลังสิ้นหวัง

    วันนี้ ข้าพเจ้าเห็นพระเนตรของพระเยซูเจ้าคลอด้วยน้ำพระเนตรแห่งความสงสารต่อมนุษย์ทุกคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ทั้งคนป่วย คนเป็นง่อย คนตกงาน หญิงที่ถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี คนยากไร้ทุกประเภท “คนเก็บภาษีและคนบาป” ท่ามกลางมนุษยชาติที่ใกล้จะสิ้นหวัง...

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นคนเหล่านี้ พระองค์ตรัสอะไร ... พระองค์ทรงทำอะไร...

พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า...

    มัทธิวจงใจวาดภาพเหตุการณ์นี้อย่างยิ่งใหญ่และสง่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง แต่ในพระวรสารของมัทธิว พระองค์ยังเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระสิริรุ่งโรจน์” อีกด้วย ทรงเป็นสมณะดังที่เราพบเห็นในภาพวาดของคริสตจักรตะวันออก ภาพของเนินเขาที่เป็นฉากหลังของ “บทเทศน์” นี้ไม่ใช่คำบรรยายทิวทัศน์อันงดงาม แต่เป็นสภาพแวดล้อมอันสง่างามของการประกาศบทบัญญัติใหม่ ... นี่คือภูเขาซีนายใหม่ เป็นภูเขาที่สว่างด้วยแสงฟ้าแลบ ซึ่งพระเจ้าตรัส...

    และพระเยซูเจ้าทรงเป็นโมเสสคนใหม่ ทรงเป็นผู้มอบบทบัญญัติ และผู้ปลดปล่อยแท้จริงสำหรับทุกคนที่เป็นทาส...

    ท่านทั้งหลายที่ถูกบีบคั้นจากสถานการณ์ที่มนุษย์สุดจะทนได้ จงฟังเถิด! พระเจ้าทรงมีบางสิ่งบางอย่างจะบอกท่าน ... ท่านทั้งหลายที่เป็นทุกข์เพราะผิดหวังลึก ๆ ในใจของท่าน จงฟังเถิด! ... ถ้าท่านเข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังจะได้ยินอย่างแท้จริง ชีวิตของท่านจะเปลี่ยนไป...

    จงฟังพระอาจารย์ ... จงฟังพระเยซูเจ้า...

“เป็นสุข ... เป็นสุข ... เป็นสุข ...”

    “เป็นสุข (blessed)” หรือ makarioi ในภาษากรีก ... และ asherei ในภาษาฮีบรู ... หัวข้อของบทเทศน์แรกของพระเยซูเจ้าคือความสุขแท้ ... เป็นการประกาศเรื่องความสุข เป็น “ข่าวดี” และเป็นบทสรุปของข้อความทั้งหมดในพระวรสาร...

    ท่านที่เป็นคนยากจน ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ท้อแท้ ท่านสามารถมีความสุขได้ ... เพราะความสุขแท้ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวย ความสำเร็จ หรือความสนุกสนาน ท่านทั้งหลายที่คิดว่าท่านไม่มีความสุข ... พระเยซูเจ้าทรงบอกท่านว่าท่านสามารถมีความสุขได้ พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ศิษย์ของพระองค์เป็นคนที่มีความสุข

    คริสตชนทั้งหลาย ท่านรู้หรือไม่ว่าท่านมีความสุข ... และถ้าท่านไม่มีความสุข ท่านไม่ควรถามตนเองหรือว่าทำไมท่านจึงไม่มีความสุข...

    แต่เรากำลังพูดถึงความสุขประเภทใด ... ในชีวิตนี้ หรือในชีวิตหน้า...
    ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข...
    ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข...
    ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข...
    ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข...
    ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข…
    ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข...
    ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข...
    ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข...

    ความสุขที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนี้ไม่ใช่ความสุขที่ปราศจากภัยและความเจ็บปวด เราเห็นแล้วว่าพระเยซูเจ้ากำลังตรัสถึงบุคคลที่ใคร ๆ คิดว่าเขาไม่มีความสุข

    บุญลาภ หรือความสุขแท้ ไม่ได้หมายถึงบุคคล หรือความสุขประเภทต่าง ๆ ข้อความที่แตกต่างกันเหล่านี้เผยให้เห็นความคิดหนึ่งเดียว คือ “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่ม และภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา” (มธ 11:28-30)...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้ที่ประชาชนรอคอย” อย่างแท้จริง พระองค์คือผู้ที่ได้รับการประกาศว่าจะทรงนำข่าวดีแห่งความรอดพ้นมาประกาศ ... บ่อยครั้งที่เราลืมไปว่าคำว่า “ข่าวดี” เป็นคำที่พระเยซูเจ้าเองทรงยกมาจากส่วนที่สองของหนังสืออิสยาห์ ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ (Christos – ผู้ได้รับเจิม) ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ...” (อสย 61:1-6, ลก 4:18)...

“... ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”

    ด้วยข้อความเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงให้คำตอบแก่เราว่า ความสุขนี้เป็นความสุขประเภทใด

    ถูกแล้ว ความสุขนี้เป็นของเรา “ตั้งแต่บัดนี้แล้ว” อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา มิใช่คำสัญญาสำหรับอนาคตอันไกล หรือโลกหน้า ... เราต้องตระหนักว่าความคิดของพระเยซูเจ้าเฉียบคม เราจะเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงถ้าเราคิดว่าคำสั่งสอนของพระองค์เป็น “ฝิ่นมอมเมาประชาชน” ด้วยคำสัญญาว่าเราจะได้รับความสุขในโลกหน้าหลังจากความตาย

    พระเยซูเจ้าผู้ไม่มีที่จะวางพระเศียร ทรงบอกเราว่าผู้ที่ถูกกดขี่ในโลกนี้ “สามารถมีความสุข” และ “มีความสุขได้” ตั้งแต่ขณะที่พระองค์ตรัสกับเขา แต่ความสุขนี้ไม่แสดงตัวให้เราเห็นอย่างชัดแจ้ง เราต้องรับรู้ด้วยจิตสำนึก ... ความสุขเป็นสภาวะภายใน สันติสุขและความยินดีภายในไม่สามารถได้มาเพียงด้วยการครอบครองทรัพย์สมบัติ แต่จะได้มาจากทัศนคติที่ไม่ยึดติดกับทรัพย์สมบัติ และจากความปรารถนาจะใช้ทรัพย์สมบัติของเราเพื่อรับใช้คนที่ขัดสน เพราะเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้า
    แต่ไม่ได้ตัดความคิดเรื่อง “โลกหน้า” ออกไป เพียงแต่ว่าความหวังนี้ก็ทำให้ปัจจุบันเปลี่ยนไปได้แล้ว คือทำให้กลายเป็นอนาคตที่มีความสุข ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสัญญากับทุกคนที่กำลังทนทุกข์กับสถานการณ์อันเจ็บปวด ... อนาคตนี้กลายเป็นความจริงในปัจจุบัน เมื่อพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเรา และในมิตรภาพของพระองค์...

    เพราะท้ายที่สุด ความสุขนี้ก็คือ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ... ความรักของพระเจ้า ซึ่งส่องสว่างสถานการณ์อันเจ็บปวดของท่านได้อย่างแท้จริง – และส่องสว่างได้ตั้งแต่วันนี้ ถ้าท่านต้องการให้เป็นเช่นนั้น พระเยซูเจ้าไม่เคยกำหนดคำนิยามของ “อาณาจักรสวรรค์” (เราควรสังเกตว่าในภาษาฮีบรู คำว่าพระราชัย พระอาณาจักร และความเป็นกษัตริย์นี้ใช้คำเดียวกัน) และเป็นความคิดของคนทั่วไปในดินแดนตะวันออกโบราณเกี่ยวกับกษัตริย์ หรือผู้ได้รับเจิม ภารกิจแรกของพระองค์คือปลดปล่อยประชาชนให้หลุดพ้นจากพลังภายนอกทั้งมวลที่กำลังคุกคามพวกเขา และประทานความยุติธรรม และความคุ้มครองให้แก่คนต่ำต้อย และคนยากจน ซึ่งมักถูกคนรวย และผู้มีอำนาจเอารัดเอาเปรียบ...

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่าคนยากจน และผู้ที่ขัดสน เป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงห่วงใยเป็นพิเศษ และอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา และความยุติธรรมอยู่ข้างเขา ... พระองค์ไม่ได้หมายความว่าคนจนเป็นคนดีกว่า และมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงวิธีคิด หรือสภาวะศีลธรรมของคนจน เมื่อทรงประกาศเรื่องความสุขแท้ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็นคุณลักษณะด้านพิเศษของพระเจ้า คือพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี เพราะทรงต้องการทำให้มนุษย์ทุกคนที่ไม่มีความสุขตามประสามนุษย์กลับมีความสุขตามธรรมล้ำลึก ... ซึ่งรวมถึงตัวท่านด้วย ถ้าท่านต้องการมีความสุขเช่นนั้น ...

    ความสุขที่ดูเหมือนขัดแย้งในตัวเองนี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้สำหรับผู้ที่ไม่เคยประสบด้วยตนเอง

    แต่ขอให้เราลองพยายามเถิด ขอให้เราเข้าสู่ความสุขนี้ของพระเจ้า – ตั้งแต่วันนี้

    หลังจากท่านเข้าใจ “ความหมายทั่วไป” ของบุญลาภ หรือความสุขแท้แล้ว ลองมาฟังว่ามัทธิวบอกความหมายว่าอย่างไร การประกาศข่าวดีของอาณาจักรสวรรค์คือโปรแกรมของชีวิตคริสตชน กล่าวคือ ถ้าท่านต้องการมีความสุข ท่านต้องประพฤติตนดังต่อไปนี้...

“ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก”

    คำว่า anawim ในภาษาฮีบรู สามารถแปลได้ว่า “ยากจน” หรือ “อ่อนโยน” ดังนั้น เราจึงเห็นความแตกต่างเล็กน้อยของความเป็นจริงหนึ่งเดียวกัน

    Anawim ทำให้นึกถึงภาพของบุคคลที่ “ก้มตัวลง (bent down)” ซึ่งเป็นทัศนคติของคนอ่อนแอที่ไม่สามารถป้องกันตนเอง และต้องยอมแพ้ผู้ที่แข็งแรงกว่า ... ชายหรือหญิงที่ต้องทนรับความอัปยศ และถูกเหยียดหยาม และดูเหมือนว่าไม่สามารถทำให้ใครเคารพสิทธิของเขาได้ ... “ผู้มีใจอ่อนโยน” หมายถึงบุคคลที่ไม่โกรธเคืองเมื่อเห็นคนเลวร่ำรวย และเขาไม่หมดความอดทน ... พระเยซูเจ้าตรัสถึงพระองค์เองว่าพระองค์ทรง “มีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน” (มธ 11:29, 12:18-21) เมื่อทรงถูกศัตรูรังควาน พระองค์ให้อภัยเขา...
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกที่ประพฤติตามบุญลาภเหล่านี้...

“ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า”

    พระเยซูเจ้าทรงกันแสง ร่วมกับมารธา และมารีย์...

    พระเยซูเจ้าทรงตอบสนองพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็น “ผู้ชอบธรรม”...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นความเมตตาของพระเจ้าต่อคนบาปทั้งหลาย พระองค์ทรงให้อภัยครั้งแล้วครั้งเล่า...

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้มีใจบริสุทธิ์” โดยไม่ยอมเบี่ยงเบนหรืออ่อนข้อ เพราะเจตนาและการกระทำของพระองค์สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์เสมอ...

“ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา”

    พระเยซูเจ้าทรงนำสันติมาประทานแก่เรา...

    เป็นบุญของผู้สร้างสันติ ผู้ทำให้คู่สมรสที่ทะเลาะกันกลับมาคืนดีกัน ผู้ประสานรอยร้าวระหว่างเพื่อน ผู้ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างบิดามารดาและบุตรของเขา ผู้ทำงานเพื่อส่งเสริมให้มนุษย์รับฟังกัน และเข้าใจกัน...

    เราไม่สามารถรับใช้พี่น้องชายหญิงของเราได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ... “เราให้สันติสุขกับท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้” (ยน 14:27)...

“ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”