วันสมโภชพระจิตเจ้า
กิจการอัครสาวก 2:1-11; 1 โครินธ์ 12:3-7, 12-13; ยอห์น 20:19-23

บทรำพึงที่ 1
หอคอยคู่
พระจิตเจ้าเสด็จมาทำให้เราเป็นครอบครัวเดียวกัน และเราทุกคนมีบทบาทให้แสดงในภารกิจนี้

    หอสัญญาณโทรทัศน์ขนาดยักษ์ถูกก่อสร้างขึ้นมาให้สูงตระหง่านในเขตเบอร์ลินตะวันออก ภายใต้ยอดหอสัญญาณนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารที่หมุนได้รอบตัว เจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ต้องการให้หอนี้เป็นสิ่งที่ใช้อวดโลกตะวันตก แต่ความบังเอิญในการออกแบบทำให้หอยักษ์นี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้ทางการกระอักกระอ่วนใจ

    ทุกครั้งที่แสงอาทิตย์ส่องบางมุมของหอแห่งนี้ ทั้งหอจะกลายเป็นกางเขนขนาดมหึมาที่เป็นประกายระยิบระยับ เจ้าหน้าที่พยายามทาสีทับเพื่อกลบกางเขน แต่ก็ไม่ได้ผล

    เหตุการณ์บางอย่างที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม หลังจากการตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหวังว่าความตายบนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าจะล้มล้างขบวนการคริสตชนให้หมดไป แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ขบวนการคริสตชนเริ่มแผ่ขยายราวกับไฟไหม้ป่า และขยายตัวอย่างน่าประหลาดใจจนกระทั่ง ค.ศ. 64 ขบวนการนี้กลายเป็นพลังที่ทรงอำนาจในกรุงโรมที่ห่างไกล

    ขบวนการนี้ทรงพลังจนกระทั่งเนโร จักรพรรดิโรมัน ถือว่าเป็นเป้าหมายที่จะต้องเบียดเบียนในทุกรูปแบบ

    เป็นไปได้อย่างไรที่คริสตศาสนาเติบโตจากประกายไฟเล็ก ๆ จนกลายเป็นกองไฟมหึมาได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 30 ปี เรื่องราวน่าทึ่งนี้ได้รับการบอกเล่าในหนังสือกิจการอัครสาวก และจุดเริ่มต้นของเรื่องราวน่าทึ่งนี้ก็คือเหตุการณ์ที่บอกเล่าในพระวรสารประจำวันนี้ พระจิตเจ้าผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่าจะส่งลงมาช่วยเหลือศิษย์ของพระองค์ ได้เสด็จลงมาเหนือพวกเขาในวันเปนเตกอสเต และทำให้เขาเปลี่ยนไป

    กลุ่มบุคคลผู้กำลังสับสนนี้เปลี่ยนไป และกลายเป็นกลุ่มผู้มีความเชื่อในคริสตศาสนาที่กล้าหาญ – กลุ่มบุคคลที่ไร้ระเบียบนี้เปลี่ยนไป และกลายเป็นองค์กรหนึ่งเดียวของพยานทั้งหลาย ซึ่งบัดนี้เราเรียกว่าพระศาสนจักร

    แต่พระศาสนจักรเป็นมากกว่ากลุ่มบุคคลผู้มีความเชื่อเดียวกัน เพราะนี่คือพระกายของพระคริสตเจ้าที่มีส่วนร่วมในชีวิตเดียวกัน นักบุญเปาโลเขียนว่า “พระศาสนจักรคือพระกายของพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:23)

    นักบุญเปาโลบอกด้วยว่า “(พระคริสตเจ้า) ทรงเป็นศีรษะของร่างกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร พระองค์ทรงเป็นต้นกำเนิดชีวิตของร่างกายนี้” (คส 1:18)

    จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องเหมาะสมว่า วันเปนเตกอสเตคือวันเกิดของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระกายที่กลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าที่สามารถมองเห็นได้

    เราจำเป็นต้องเน้นสองประเด็นเกี่ยวกับวันเปนเตกอสเต

    ประเด็นแรก เปนเตกอสเตเป็นวันฉลองสำคัญของชาวยิว – เป็นวันฉลองเพื่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้น ผนวกกับการขอบพระคุณสำหรับพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำบนภูเขาซีนาย เปนเตกอสเต แปลว่า “วันที่ 50” และเฉลิมฉลองกันหลังจากปัสกาผ่านไปได้ 50 วัน

    เพราะเหตุนี้ จึงมีชาวยิวจากทุกแคว้นมารวมตัวกันในกรุงเยรูซาเล็ม เรากำลังเฉลิมฉลองวันฉลองสำคัญของชาวยิว

    นี่คือคำอธิบายว่าทำไมจึงมีชาวยิวที่พูดภาษาต่าง ๆ มารวมตัวกันในเวลาเดียวกัน

    ประเด็นที่สอง เราต้องมองเปนเตกอสเต โดยคำนึงถึงเรื่องราวของหอบาเบล ในพันธสัญญาเดิมก่อนจะสร้างหอบาเบล มนุษย์ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน (ปฐก 11:1) แต่เมื่อมนุษย์ถูกความจองหองเข้าครอบงำ และเริ่มต้นสร้างหอนี้ พระเจ้า “ทรงกระทำให้ภาษาทั่วแผ่นดินสับสนวุ่นวาย และทรงทำให้มนุษย์กระจัดกระจายไปทั่วแผ่นดิน” (ปฐก 11:9)

    การเสด็จมาของพระจิตเจ้าในวันเปนเตกอสเตได้พลิกกลับสถานการณ์นี้ หลังจากพระจิตเสด็จมา ประชาชนที่พูดภาษาต่าง ๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม สามารถเข้าใจว่าบรรดาศิษย์กำลังพูดอะไร

    เหตุการณ์นี้มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน สิ่งใดที่บาปทำให้แตกแยก บัดนี้ พระจิตเจ้าทรงประสานให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกขึ้นใหม่ และทำให้โลกกลายเป็นสิ่งสร้างใหม่

    ทั้งหมดนี้ทำให้เราแต่ละคนสำนึกว่างานที่พระจิตเจ้าทรงเริ่มต้นไว้ในวันเปนเตกอสเต เราต้องสานต่อจนกว่าจะสำเร็จ

    เช่นเดียวกับบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ เราแต่ละคนได้รับพระจิตเจ้าเป็นส่วนตัว เมื่อเรารับศีลล้างบาป และศีลกำลัง

    และเช่นเดียวกับบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า เราได้รับพระจิตเจ้าเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง คือเราต้องออกไป และประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารให้แก่นานาชาติ ดังที่เปาโลกล่าวไว้ในบทอ่านที่สองประจำวันนี้ เราต้องนำชนทุกชาติทุกภาษา “มารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน” ของพระคริสตเจ้า เพราะเราทุกคนต่าง “ได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน”

    ข้อความนี้หมายความว่าอย่างไรสำหรับเราแต่ละคนในวัดนี้ – หมายความว่าเราต้องมีส่วนร่วมในงานของพระศาสนจักรในการเทศน์สอนพระวรสารให้แก่คนทั่วไป หมายความว่าเราต้องสนับสนุนงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักรทั้งด้านเงินทอง และคำภาวนา

    และยังหมายความด้วยว่า เราต้องเทศน์สอนพระวรสารด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา สิ่งใดที่เราประกาศยืนยันในวันอาทิตย์ เราต้องปฏิบัติจริงระหว่างอีกหกวันของสัปดาห์นั้น ถ้าเราทุกคนทำเช่นนั้น จะมีคนจำนวนมากพากันมาชุมนุมพร้อมกับเราในวัดในวันอาทิตย์

    ตัวอย่างต่อไปนี้จะช่วยให้เข้าใจว่าข้าพเจ้ากำลังพูดถึงอะไร อับราฮัม ลินคอล์น เขียนในสมุดบันทึกของเขาเกี่ยวกับสงครามกลางเมือง ว่า

“ในบรรดากิจการเมตตาจิตและความกรุณาที่แสดงออกในหลากหลายรูปแบบ ที่มองเห็นได้ในหอผู้ป่วยที่แออัดในโรงพยาบาลต่าง ๆ กิจการของภคินีคาทอลิกบางคนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าพวกเขามาจากที่ไหน และมาจากคณะใด ภาพที่สวยงามยิ่งกว่าภาพศิลปะใดที่ข้าพเจ้าเคยเห็น คือภาพของภคินีผู้สงบเสงี่ยมเหล่านั้น ที่ปฏิบัติงานแห่งความเมตตาของตนท่ามกลางคนที่กำลังเจ็บปวด และคนใกล้ตาย

พวกเขาอ่อนโยนอย่างสตรีแท้ แต่กล้าหาญเหมือนทหาร ... พวกเขาเดินจากเตียงหนึ่งไปยังอีกเตียงหนึ่ง ... พวกเขาคือเทวดาแห่งความเมตตาอย่างแท้จริง”

    เปนเตกอสเต เชิญชวนเราแต่ละคนให้เป็นพยานเช่นเดียวกันนี้ในทุกด้านของชีวิตของเรา

    พระจิตเจ้าประทานอำนาจให้เราแต่ละคนเป็นพยานเช่นนี้

    ศีลล้างบาป และศีลกำลังของเราเรียกร้องท่าน และข้าพเจ้าให้เป็นพยานเช่นนี้

    นี่คือสารของวันสมโภชพระจิตเจ้าสำหรับเราแต่ละคนในที่นี้

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:19-23

ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์

    พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นกล่าวว่า ในตอนค่ำของวันปัสกานั้นเอง – หลังจากพระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ – อัครสาวกก็ได้รับพระจิตเจ้า ... และพระศาสนจักรก็เกิดขึ้นมาจากลมหายใจของพระเยซูเจ้า...
    ถ้าเราเปรียบเทียบคำบอกเล่านี้ กับคำบอกเล่าของนักบุญลูกา ในหนังสือกิจการอัครสาวก เราพบว่าพระเยซูเจ้าดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญกว่าพระจิตเจ้า ... เรารู้ว่าเราต้องค้นหาในพระวรสารของนักบุญยอห์น เพื่อจะพบความคิดทางเทววิทยาอันลึกล้ำ ซึ่งแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ที่ใช้ในพระคัมภีร์...

    “ในวันต้นสัปดาห์” โลกใหม่เริ่มต้นขึ้น ... การเนรมิตสร้างครั้งใหม่เกิดขึ้น ... นี่คือปฐมกาลครั้งใหม่ พระเจ้าทรงอุ้มมนุษย์ขึ้นมาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และทรงปั้นเขาใหม่ด้วย “ดินเหนียว” ใหม่...

    นับจากวันนั้น  คริสตชนมาชุมนุมกันมิได้ขาดตั้งแต่ “วันต้นสัปดาห์” จนถึง “วันต้นสัปดาห์” – จากวันอาทิตย์ถึงวันอาทิตย์ ... แม้แต่วันนี้ พระศาสนจักรก็กำลังเกิดขึ้นจากการชุมนุมกันเป็นระยะนี้ตลอดหลายปี หลายศตวรรษ...

    ต้องใช้เวลาหลายวันอาทิตย์ เพื่อสร้างคริสตชนขึ้นมาหนึ่งคน ... เป็นกระบวนการที่ก้าวหน้าเรื่อย ๆ ตามจังหวะของ “การเสด็จมา” ของพระเยซูเจ้า ... เราก้าวมาไกลมากแล้วจากการ “ไปร่วมมิสซาวันอาทิตย์เพราะเป็นหน้าที่” เพราะมิสซาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา ... เราจำเป็นต้องหายใจ ... และเราต้องหายใจไม่เพียงปีละครั้ง...

ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว...

    ความกลัว ... เราสร้างโลกของเราขึ้นมาบนความกลัวเสมอ...

    “อาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านการโจมตี” หมายถึงการสร้างความกลัวขึ้นในใจของผู้อื่น...

    ก่อนจะรำพึงภาวนาต่อไป ข้าพเจ้าต้องเผชิญหน้ากับความกลัวในชีวิตของข้าพเจ้าเอง ... เพราะสถานที่ซึ่งบรรดาศิษย์ปิดประตูขังตนเองอยู่ภายใน ก็คือสถานที่แห่งความกลัวของเขา...

    ข้าพเจ้า “ขังตนเอง” ไว้ในสถานการณ์ใด ... มีสถานการณ์ใด บาปใด ความกังวลใดที่เป็นคุกขังข้าพเจ้า...

    นักบุญเปาโลตระหนักในความเป็นจริงนี้ จึงเปรียบเทียบความกลัวกับความตายว่า “ดังนั้น ความตายกำลังทำงานอยู่ในเรา ... เราไม่ท้อถอย แม้ว่าร่างกายภายนอกของเรากำลังเสื่อมสลายไป จิตใจของเราที่อยู่ภายในก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในแต่ละวัน ความทุกข์ยากลำบากเล็กน้อยของเราในปัจจุบันนี้กำลังเตรียมเราให้ได้รับสิริรุ่งโรจน์นิรันดรอันยิ่งใหญ่หาที่เปรียบมิได้” (2 คร 4:12, 16-17)

พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง

    ยอห์นมีจุดประสงค์ที่เขานำการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้ามาเชื่อมโยงกับการประทานพระจิตเจ้า ในบทข้าพเจ้าเชื่อ (ของสังคายนานีเชอา) เราประกาศยืนยันว่าพระจิตเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าผู้ประทานชีวิต” พระเยซูเจ้าทรงได้รับการประทานชีวิตนี้ก่อน การแย่งชิงพระเยซูเจ้ามาจากอำนาจของความตายเป็นผลงานชิ้นเอกของพระจิตของพระเจ้า...

    ตัวของเราที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และไม่มีธรรมชาติพระเจ้า ดังนั้นจึงมีข้อจำกัด “จิต” และ “ร่างกาย” ถูกพันธนาการไว้ด้วยกันทั้งยามสุข และยามทุกข์ ... แต่ไม่ว่าจิตจะเข้มแข็งปานใด จิตในตัวเราก็ต้องประสบกับความล้มเหลวขั้นสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้จิตไม่สามารถยึดเหนี่ยวร่างกายไว้ได้อีกต่อไป การเป็นมนุษย์หมายถึงการรู้จักตายด้วย...

    แต่ต่างจากเอกภพที่ถูกสร้างขึ้น และดังนั้นจึงรู้จักตายนี้ พระคริสตเจ้าไม่ได้ทรงมีแต่จิตมนุษย์ที่มีข้อจำกัด แต่ทรงมีจิตของพระเจ้าซึ่งไร้ขีดจำกัดอีกด้วย จิตในองค์พระคริสตเจ้าแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากจิตมนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของความตาย พระองค์ทรงครอบครองพระจิตเจ้าอย่างสมบูรณ์ และพระจิตเจ้าพระองค์นี้ทรงเป็นพระเจ้า และผู้ประทานชีวิต

    พระเยซูเจ้าทรงทำลายสิ่งกีดขวางทั้งปวง ... การปรากฏพระองค์ในทันทีทันใดท่ามกลางศิษย์ที่ปิดประตูขังตนเองอยู่นี้ เป็นเครื่องหมายแสดงว่าไม่มีอุปสรรคใดสามารถยับยั้งไม่ให้พระองค์เสด็จมาอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์ ... เช้าวันนี้ พระองค์ทรงได้รับลมหายใจ “ใหม่” แห่งชีวิต ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเป็น “ร่างฝ่ายจิต (spiritual body)” คือร่างกายที่เคลื่อนไหว และมีชีวิตด้วยชีวิตของพระจิตเจ้า ... (1 คร 15:44) ... ทรง “กลับคืนพระชนมชีพ ... ทรงได้รับการเทิดทูนให้ประทับเบื้องขวาของพระเจ้า พระองค์ทรงได้รับพระจิตเจ้าจากพระบิดาตามพระสัญญา” (กจ 2:33) ... และพระเยซูเจ้าก็ประทานพระจิตเจ้าให้แก่มิตรสหายของพระองค์ทันที...

    ถูกต้องแล้ว การกลับคืนพระชนมชีพเป็นผลงานของพระจิตเจ้า...

พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์ และด้านข้างพระวรกาย

    ท่านกำลังสงสัยอยู่หรือว่าการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้นที่ใด ... ท่านรู้สึกว่ายากที่จะพิเคราะห์แยกแยะการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าหรือ ... ถ้าเช่นนั้น ลองพยายามค้นหาว่าแผลเป็นและรอยแผลของท่านอยู่ที่ใด – ในหัวใจของท่าน ในชีวิตของท่าน รวมถึงในชีวิตของโลก หรือในพระศาสนจักร...

“สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ... เมื่อบรรดาศิษย์เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี

    ความกลัวเปลี่ยนเป็นความยินดี – ผ่านทางสันติสุข...

“พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”

    พวกเขาปิดประตูขังตนเอง – บัดนี้ เขาถูก “ส่งไป”...

    การส่งออกไปปฏิบัติพันธกิจนี้ไม่ได้มองจากมุมขององค์กรใด ไม่มีกระบวนการประชาสัมพันธ์ที่วางแผนมาอย่างดี และพระเยซูเจ้าไม่ทรงคำนึงถึงเครื่องมือในทางปฏิบัติใด ๆ ที่พระศาสนจักรจะต้องใช้เพื่อเป็น “ธรรมทูต” เลย ... สำหรับพระเยซูเจ้า สิ่งเดียวที่สำคัญคือต้นกำเนิดของพันธกิจ ซึ่งเป็น “ความผูกพันอันใกล้ชิดที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา” ... ท้ายที่สุด ย่อมมีพันธกิจหนึ่งเดียวเท่านั้น คือพันธกิจของพระบิดา ซึ่งเป็นพันธกิจของพระบุตร และกลายเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร...

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย...

    ในที่นี้ ยอห์นใช้คำศัพท์ที่ใช้ในพระคัมภีร์ ซึ่งมาจากสองข้อความที่โด่งดังมาก :
-    การเนรมิตสร้างครั้งแรก “พระเจ้าทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้าในจมูกของเขา” (ปฐก 2:7)...
-    การเนรมิตสร้างครั้งสุดท้าย “เป่าลมเหนือผู้ถูกฆ่าเหล่านี้ เพื่อให้เขามีชีวิต” (อสค 37:9)...

    การเนรมิตสร้างเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง “ในอดีต” คือกำเนิดของชีวิตเป็นครั้งแรก ณ จุดเริ่มต้นของกาลเวลา ... และจะมีการเนรมิตสร้าง “ในอนาคต” คือการกลับคืนชีพอย่างเด็ดขาดในวันสุดท้าย – แต่ก็มีการเนรมิตสร้างที่เกิดขึ้นจริงตลอดเวลาอีกด้วย เพราะ “ลมหายใจ” ของพระเจ้ากำลังทำงานอยู่...

    ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า พระเจ้าผู้ประทานชีวิต...

    “ลมแห่งชีวิต” – นับว่าเป็นความชาญฉลาดที่บรรยายการประทับอยู่ และการทำงานของพระเจ้าในโลก ด้วยกิริยาอาการที่ธรรมดาสามัญ แต่จำเป็นที่สุด คือ การหายใจ ... ตั้งแต่จุลินทรีย์จนถึงสัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปภายในตนเองเหมือนกัน และเป็นก๊าซที่มีอยู่ทั่วไปบนโลกของเรา ข้าพเจ้าเองก็หายใจด้วยการสูดอากาศเหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป...

    นี่คือภาพลักษณ์อันเด่นชัดของพระเจ้าหนึ่งเดียว ผู้ทรงทำให้เราทุกคนมีชีวิต ... พระเยซูเจ้าได้ทรงอธิบายแก่นิโคเดมัสมาแล้ว โดยทรงใช้ภาพลักษณ์ของ “ลม” ซึ่ง “พัดไปในที่ลมต้องการ” และให้ชีวิต (ยน 3:6-8)...

“จงรับ...

    ข้าพเจ้าได้รับร่างกายของข้าพเจ้าและความรักจากบิดามารดา ... เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ ข้าพเจ้าต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งต่าง ๆ นับพัน ต้องพึ่งบุคคลนับพัน และสถานการณ์นับพัน...

    “จงรับไปกิน นี่คือกายของเรา” – แต่เราต้องรับพระกายนี้! เราต้องรับ และยอมรับ พระเยซูคริสตเจ้าเป็นพระผู้ไถ่ของเรา!

    “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” ... เราต้องรับพระจิตเจ้าองค์นี้...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานพระหรรษทานให้เราต้อนรับ – และยอมรับ – ของประทานที่พระองค์ทรงเสนอแก่เราเถิด...

“... พระจิตเจ้า” ...

    มนุษยชาติต้องรับจิตซึ่งดำรงอยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตร : จิตที่เป็นหลายพระบุคคล แต่เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน...

    เราค้นพบในพันธกิจของพระศาสนจักรว่าไม่ได้มีแต่พระบิดา และพระบุตรผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา แต่ยังมีธรรมล้ำลึกที่เกี่ยวกับสามพระบุคคลอีกด้วย...

    คำสั่งสอนของสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 บอกเราว่า พระศาสนจักรคือการประทานความรัก ซึ่งรวมสามพระบุคคลไว้ด้วยกัน ให้แก่มนุษย์...

“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”

    บทบาท และพันธกิจของพระศาสนจักร คือ ประกาศเรื่องการให้อภัย การคืนดีกับพระเจ้า และความรอดพ้น

    เราเห็นลำดับความคิดของนักบุญยอห์น ในพระคัมภีร์หน้านี้อย่างเด่นชัด :
-    มนุษย์กลุ่มหนึ่งมีประสบการณ์ในการรับรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ...
-    ผลของประสบการณ์นั้น คือ คนกลุ่มนี้ถูกส่งไปปฏิบัติพันธกิจ...
-    พันธกิจนี้สามารถปฏิบัติได้ด้วยการประทานพระจิตเจ้า...
-    พันธกิจนี้ คือ การมอบความรอดพ้น การให้อภัย ความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้อื่น...

    ดังนั้น งานของพระศาสนจักรก็คือ “การปลดปล่อย”! คือการเสนอความรักอันไร้ขอบเขตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์...

    ประโยคที่ใช้คำเชิงลบนี้ไม่ได้หมายความว่าพระศาสนจักรสามารถใช้อำนาจวินิจฉัยได้โดยพลการ...

    เราไม่เคยต้องถามว่า “พระเจ้าจะให้อภัยฉันหรือไม่” เพราะไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าได้ตอบคำถามข้อนี้แล้ว...

    แต่ยังเหลืออีกคำถามหนึ่ง คือ “ฉันจะยอมรับการให้อภัยนี้หรือไม่”...