แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์
กิจการอัครสาวก 1:11; เอเฟซัส 1:17-23; มัทธิว 28:16-20

บทรำพึงที่ 1
ชาลี
พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราทุกวัน จนถึงสิ้นพิภพ

    ขอให้เราอ่านสองประโยคสุดท้ายของบทอ่านจากพระวรสารประจำวันนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วข้าพเจ้าจะตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อความนี้สักสองข้อ ในสองประโยคนี้ พระเยซูเจ้าตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่า เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”

    ข้าพเจ้าขอถามคำถามข้อแรกว่า คำว่า “ท่าน” ในสองประโยคนี้หมายถึงใคร “เราอยู่กับ ‘ท่าน’ ทุกวันตลอดไป”

    เห็นได้ชัดว่าคำนี้ไม่ได้หมายถึงบรรดาศิษย์ที่อยู่กับพระเยซูเจ้าในเวลานั้น แต่ยังหมายถึงบรรดาศิษย์ที่ติดตามพระองค์ หมายถึงพระศาสนจักรของพระองค์ ซึ่งจะสานต่องานของพระองค์หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบิดาแล้ว

    คำถามข้อที่สองตอบยากกว่าเล็กน้อย นั่นคือ ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับพระศาสนจักรของพระองค์จริงหรือ?

    เช่น เมื่อท่านเห็นว่าแม้แต่บรรดาผู้นำของพระศาสนจักรก็ยังไม่ดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับพระศาสนจักรของพระองค์จริงหรือ?

    หรือเมื่อท่านเห็นสมาชิกของพระศาสนจักรเพิกเฉยต่อพี่น้องชายหญิงที่ยากจนของเขา ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับพระศาสนจักร และดลใจให้สมาชิกพระศาสนจักรดำเนินชีวิตด้วยความรัก และอย่างใจกว้างจริงหรือ?

    ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องจริงเรื่องหนึ่งที่อาจช่วยให้ท่านเข้าใจคำถามเกี่ยวกับการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้ากับพระศาสนจักรของพระองค์ นี่คือเรื่องของเด็กชายวัย 9 ปี คนหนึ่งชื่อชาลี ที่อาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก

    วันหนึ่งชาลี และบิดาของเขา ขึ้นรถไฟที่ถนนเลขที่ 111 เพื่อเข้าเมือง และไปยังที่ทำงานของบิดาของเขา เมื่อเขาขึ้นไปบนรถไฟ บิดาของชาลีนำเขาไปดูแผนที่ และใช้นิ้วชี้ไปตามเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเส้นทางของรถไฟเข้าไปในเมือง บิดาของเขาอธิบายว่าเขาจะเปลี่ยนรถไฟที่ถนนเดลานี และอธิบายด้วยว่า เขาจะต้องข้ามสะพานแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงจะลงไปใต้ดิน ในที่สุด เขาก็อธิบายว่ารถไฟจะไม่จอดที่บางสถานีระหว่างชั่วโมงเร่งด่วน

    ในไม่ช้า ทั้งสองคนก็มาถึงที่ทำงาน ชาลีใช้เวลาส่วนใหญ่ในเช้าวันนั้นพบปะเพื่อน ๆ ของบิดา และอ่านนิตยสารในห้องทำงานของบิดา เมื่อถึงเวลาก่อนเที่ยง บิดาของชาลีพูดกับเขาว่า “ชาลี ถึงเวลาที่ลูกต้องกลับไปบ้านแล้ว”
    ชาลีเบิกตากว้าง อ้าปากค้าง และหน้าถอดสี ความคิดที่จะต้องกลับบ้านตามลำพังทำให้เขากลัวมาก บิดาของเขาพาเขาเดินไปที่สถานี ส่งเขาขึ้นรถไฟ ตบศีรษะเขาเบา ๆ และบอกว่า “ลูกทำได้แน่ ชาลี ลูกเพียงต้องทำตามที่พ่อบอกลูกไว้ก่อนหน้านี้”

    ชาลีรู้สึกตื่นเต้นขณะที่รถไฟวิ่งออกจากสถานี แต่ความตื่นเต้นของเขากลายเป็นความกลัว เมื่อสังเกตว่ารถไฟไม่จอดที่บางสถานี แต่แล้วเขาก็นึกขึ้นได้ว่าบิดาของเขาบอกไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับชั่วโมงเร่งด่วน

    ในไม่ช้า รถไฟก็วิ่งลงไปใต้ดิน หัวใจของชาลีเต้นแรงเมื่อเขาเห็นว่ารถไฟเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เขาจำไม่ได้ว่ารถไฟเลี้ยวเช่นนี้เมื่อเช้านี้ ในที่สุดรถไฟก็วิ่งออกมาจากความมืด และวิ่งขึ้นไปบนสะพาน

    บัดนี้ ชาลีประหม่ามากจนเขาแทบจะเปลี่ยนรถไฟที่ถนนเดลานีไม่ทัน แต่เขาก็สามารถลงจากรถไฟได้ทันเวลาพอดี อีกไม่กี่นาทีต่อมา ชาลีถอนใจโล่งอก เขาเริ่มมองเห็นหมายเลขถนนที่เขาคุ้นเคย เลขที่ 107, 109 และ 111 ในที่สุด

    รถไฟจอด ประตูเปิดออก และชาลีก้าวออกไป เขาภูมิใจมากและมีความสุขมาก เขาเดินทางกลับมาบ้านด้วยตนเองจริง ๆ

    แต่สิ่งที่ชาลีไม่รู้ก็คือบิดาของเขาอยู่ในรถไฟคันเดียวกันในตู้ถัดไป และคอยเฝ้ามองเขาตลอดทาง บิดาของเขาอยู่กับเขาตลอดเส้นทาง เผื่อว่าเขาอาจต้องการความช่วยเหลือ

    เรื่องของชาลี และบิดาของเขา มีความคล้ายคลึงมากกับเรื่องของพระเยซูเจ้า และพระศาสนจักรของพระองค์

    ในวันพฤหัสบดีก่อนเสด็จขึ้นสวรรค์ พระเยซูเจ้าประทานคำแนะนำทุกอย่างที่จำเป็นแก่พระศาสนจักรของพระองค์ สำหรับการเดินทางในชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางของเราในสวรรค์ แต่เราก็เหมือนกับชาลี บางครั้งเราสังเกตเห็นว่าพระศาสนจักรกำลังเลี้ยวขวาเลี้ยวซ้าย และบางครั้งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เราวิตก

    เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราควรระลึกถึงเรื่องของชาลี เราควรระลึกถึงคำสัญญาของพระเยซูเจ้าว่าพระองค์จะประทับอยู่กับเราตลอดการเดินทางในชีวิตของเรา แม้ว่าเรามองไม่เห็นพระองค์ เรารู้ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่นั่น พร้อมจะช่วยเหลือเรา เผื่อว่าเราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ

    ดังนั้น วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์จึงเป็นทั้งคำท้าทาย และการปลอบประโลมใจ

    เป็นคำท้าทายในแง่ที่ว่าวันสมโภชนี้เรียกร้องให้เราปฏิบัติตามคำแนะนำที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เราสำหรับการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางของเราในสวรรค์

    และเป็นการปลอบประโลมใจในแง่ที่ว่าวันสมโภชนี้เตือนเราว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราตลอดเส้นทาง พระองค์ประทับอยู่ในรถไฟตู้ถัดไป เผื่อว่าเราต้องการความช่วยเหลือ

นี่คือสารของวันฉลองนี้ นี่คือคำยืนยันที่เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้ นี่คือข่าวดีของวันพฤหัสบดีก่อนวันที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 28:16-20

    คำว่า “เสด็จขึ้นสวรรค์” อาจทำให้เราคริสตชนเข้าใจผิดไปมากทีเดียว ถ้าเราใช้จินตนาการของเราบรรยายภาพเหตุการณ์นี้ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อที่สุดจะหยั่งถึงได้ ... พระวรสารของมัทธิว ต่างจากของลูกา เขาไม่เอ่ยถึงการเสด็จขึ้นสวรรค์เลย แต่กล่าวถึง “การประทับอยู่ในรูปแบบใหม่” ... พระวรสารของมัทธิว เชิญชวนเรามิให้เฉลิมฉลองวันนี้เหมือนกับเป็น “การอำลาเพื่อนคนหนึ่งที่เรารัก ซึ่งเราไปส่งที่สนามบินก่อนที่เครื่องบินจะนำเขาไปจากโลกนี้”...

    ดังนั้น ขอให้เราลืมภาพต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นด้วยจินตนาการของเรา และหันมาฟังพระเยซูเจ้าเถิด พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงการจากไป แต่ตรัสถึง “การประทับอยู่ในทุกสถานที่ทั่วโลก” ... “เราอยู่กับท่านทุกวัน” ... ขอให้เรารับฟังพระวรสารหน้าสุดท้ายของมัทธิว นี่คือบทสรุป และเป็นสาระสำคัญของคำบอกเล่าทั้งหมดของเขา ... ทุกคำมีนัยสำคัญ ขอให้เราอย่ามองข้าม หรือหลงลืมคำใดเลย...

บรรดาศิษย์ทั้งสิบเอ็ดคน...

    พวกเขามีอยู่เพียง “สิบเอ็ดคน” ... เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยนิด ที่ต้องปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ... สิบเอ็ดคน – มิใช่สิบสองคนอย่างที่เราอ่านพบตั้งแต่ตอนต้นของพระวรสาร นี่คือพระศาสนจักรที่ยากจนมากอย่างแท้จริง นี่คือคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีจำนวนลดลงไปอีก เพราะสมาชิกคนหนึ่งละทิ้งเขาไป ... การรั่วไหลของบุคลากร ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น...

    “ศิษย์ทั้งสิบเอ็ดคน” ... มัทธิวเรียกคนเหล่านี้ว่า “ศิษย์” และมิใช่ “อัครสาวก” ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะสิบเอ็ดคนนี้ยังไม่ใช่บุคคลที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่พิเศษ การเป็น “ศิษย์” คือสถานภาพทั่วไปของทุกคนที่ติดตามพระเยซูเจ้า ... ทุกคนที่เป็น “เพื่อน” ของพระองค์...

    ข้าพเจ้าเป็นศิษย์คนหนึ่งหรือเปล่า ... ท่านเป็นศิษย์คนหนึ่งหรือเปล่า ... พวกเราเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าหรือเปล่า

    ขอให้เราอย่าลืมว่ายูดาสพลาดนัดครั้งนี้...

... ได้ไปยังแคว้นกาลิลี...

    การที่มัทธิวย้ำเรื่องสถานที่นัดหมายนี้มีความหมายมาก เขาให้ความสำคัญมากจนเขาไม่ลังเลใจที่จะทำให้การสำแดงพระองค์ครั้งนี้เป็นการสำแดงพระองค์อย่างเป็นทางการเพียงครั้งเดียว – และไม่เอ่ยถึงการสำแดงพระองค์ทั้งหมดในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งบอกเล่าไว้ในพระวรสารฉบับอื่น ๆ...

    กาลิลี ... สถานที่นัดพบซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเลือกไว้เองหลังจากอาหารค่ำมื้อสุดท้าย “เขาเรากลับคืนชีพแล้ว เราจะไปยังแคว้นกาลิลีก่อนหน้าท่าน” (มธ 26:32) ... นี่คือการนัดหมายที่ทูตสวรรค์ย้ำเตือนใกล้พระคูหาที่ว่างเปล่า “จงรีบไปบอกบรรดาศิษย์ว่าพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว พระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านไปในแคว้นกาลีลี” (มธ 28:7)...

    กาลิลี ... มัทธิวบอกให้เราทราบความหมายเชิงสัญลักษณ์ของแคว้นนี้ทันทีที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นเทศน์สอนที่นั่น โดยอ้างคำทำนายดังนี้ “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ ประชาชนที่จมอยู่ในความมืดได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่” (มธ 4:15 = อสย 8:23-9:1)...

    กาลิลี ... แคว้นที่เขียวชอุ่ม สงบสุข และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา...

    กาลิลี ... แคว้นที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติศาสนา ดินแดนที่คนเคร่งศาสนาในกรุงเยรูซาเล็มพากันเหยียดหยาม ดินแดนที่ต้อนรับผู้อื่นและชนต่างชาติ ... ดินแดนที่ผู้มีความเชื่อต่างกัน และแม้แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อ มาพบกัน...

    กาลิลี ... ดินแดนที่พระเยซูชาวนาซาเร็ธ มาพำนักอาศัยตั้งแต่วัยเยาว์ พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนี้ พระองค์ทรงเป็นชาวกาลิลี ทรงมีสำเนียงพูดเหมือนกับคนภาคเหนือทั่วไป “จะมีอะไรดีมาจากนาซาเร็ธได้รึ” (ยน 1:46)...

    ความจริงข้อนี้เชิญชวนเรามิให้ฝันถึง “ที่อื่น” เช่น ฉันอยากจะมีบ้านอีกหลังหนึ่ง ... หรือเรียนในวิทยาลัยอื่น ... หรือทำไมเพื่อนร่วมงานของฉันจึงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ... หรือเขตวัดของฉันไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันอยากให้เป็น...

    พระเยซูเจ้าทรงนัดหมายท่านไปพบพระองค์ใน “กาลิลี” ของท่านเอง...

... ถึงภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดไว้

    ในพระคัมภีร์ “ภูเขา” เป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ที่หมายถึงการพบกับพระเจ้า และการเผยแสดงของพระเจ้า ... เมื่อยืนบนภูเขา เรามองเห็นได้ไกลกว่าเมื่อเรายืนอยู่บนที่ราบ ... บนภูเขา เรามีโอกาสอยู่ “ตามลำพัง” มากกว่า ดังนั้น จึงสามารถได้ยิน “เสียงของความเงียบ” ได้มากกว่า ซึ่งตามปกติจะถูกกลบด้วยเสียงซุบซิบนินทาที่ไร้สาระ ... บนภูเขา เราหายใจได้ลึกมากขึ้น ... และอากาศสะอาดบริสุทธิ์กว่าอากาศในเมืองของเราที่เต็มไปด้วยมลพิษ...

    บนภูเขาซีนาย มนุษย์ได้พบกับพระเจ้าหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรก ... ภูเขาแห่งบุญลาภ (ความสุขแท้) (มธ 5:1) ... ภูเขาแห่งการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (มธ 17:1) ... ภูเขาแห่งการรักษาโรค (มธ 15:29) ... ภูเขาแห่งการอธิษฐานภาวนา (มธ 14:23) ... ภูเขาแห่งการทวีจำนวนขนมปัง และการแบ่งปันอาหาร (มธ 15:32)...
    จะมีสถานที่ใดอื่นอีกที่เหมาะสมสำหรับการแสดงพระองค์ว่าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว นอกจากบนภูเขา...

    ส่วนท่าน ... ท่านไปพบพระเยซูเจ้าตามที่นัดหมายไว้ “บนภูเขาที่พระองค์ทรงเชิญท่านไปพบ” หรือเปล่า...

เมื่อเขาเห็นพระองค์ก็กราบนมัสการ แต่บางคนยังสงสัยอยู่

    นมัสการ ... สงสัย ... สองคำนี้ขัดแย้งกัน แต่มัทธิวนำมาวางไว้เคียงข้างกัน ในประโยคเดียวกัน ... ถูกแล้ว แม้แต่บนภูเขาก็ยังมีโอกาสให้เรายังสงสัย ... ความสงสัยเป็นความจริงอย่างหนึ่ง ... การนมัสการคือชัยชนะเหนือความสงสัย ... ความเชื่อเป็นการแสดงออกโดยสมัครใจ ต่างจากการถูกบังคับให้เชื่อเพราะจำนนต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ... พระวรสารเขียนไว้อย่างรอบคอบ ต่างจากการเข้าภวังค์ และการยกย่องสรรเสริญโดยปราศจากเหตุผล...

    คำบรรยายการสำแดงพระองค์ของพระเยซูเจ้า ภายหลังการกลับคืนพระชนมชีพ ในพระวรสารทุกฉบับมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพไม่ใช่บุคคลที่บรรดาศิษย์จำได้ทันทีที่เห็นพระองค์ ... เพื่อนๆ ของพระองค์ลังเลใจที่จะยอมรับว่าบุคคลนี้เป็นพระองค์จริง ๆ...

    ท่านผู้กำลังสงสัย ท่านผู้กำลังแสวงหา ... ทำไมไม่ลองนมัสการพระองค์เล่า!

พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า...

    “พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้” พระองค์ทรงเป็นฝ่ายเข้ามาหาศิษย์ของพระองค์...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจท่าทีนี้ในใจ มัทธิวบรรยายถึงการเสด็จเข้ามาใกล้เช่นนี้ในอีกหนึ่งเหตุการณ์เท่านั้น คือ การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง ... ระยะทางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์นั้นห่างไกลอย่างยิ่ง จนพระเจ้าต้องเสด็จมาหาเรา ... เราไม่สามารถเชื่อได้ด้วยตัวเราเอง พระเจ้าต้องการทรงเป็นฝ่ายริเริ่ม ... เรามีเสรีภาพที่จะตอบสนองด้วยการนมัสการพระเจ้าผู้เสด็จเข้ามาใกล้เรา...

    เราเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่ามัทธิวบอกเล่าเหตุการณ์หลังปัสกานี้อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง เขาไม่เสนอรายละเอียด แต่บอกเพียงว่าพระเยซูเจ้า “เสด็จเข้ามาใกล้ ตรัสว่า...”

    พระวรสารของมัทธิวเน้นย้ำเรื่องการปราศรัยของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้าในพระวรสารของมัทธิว เป็นพระคริสตเจ้าผู้ตรัสหลายสิ่งหลายอย่าง ... ในคำบอกเล่าของเขามีคำปราศรัยครั้งสำคัญถึงห้าครั้ง...

    เราจึงมาถึงข้อสรุป ... และจุดสูงสุด ... ของพระวรสาร นี่คือคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้า...

“พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิทั้งหมดในสวรรค์ และบนแผ่นดินให้แก่เรา”...

    ประโยคนี้ยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงมีฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้า เพราะตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม พระเจ้าเพียงผู้เดียวทางเป็น “เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน” ... ของโลกที่มองเห็นได้ และมองเห็นไม่ได้...

    โดยไม่ต้องบรรยายเหตุการณ์พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ด้วยถ้อยคำที่ทำให้มองเห็นภาพ ประโยคนี้บอกเราอย่างแน่นอนว่าพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์จริง และนับแต่นั้นมา พระองค์ทรงปกครองทั้งจักรวาล ... แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมองหาพระเยซูเจ้าท่ามกลางดวงดาวบนท้องฟ้า ถ้อยคำเหล่านี้เพียงบรรยายถึงสภาพอันครบถ้วน ไม่มีสิ่งใดที่อยู่นอกเหนืออำนาจของพระเจ้า ... ตั้งแต่นี้ไป พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงเป็นกษัตริย์ปกครองสิ่งสร้างทั้งมวล...

    เมื่อพระองค์ทรงหยิบขนมปัง และเหล้าองุ่น และตรัสว่า “นี่คือกายของเรา ... นี่คือโลหิตของเรา” พระองค์ทรงกำลังประทาน “เครื่องหมาย” ที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นนายของทุกอณูของสากลจักรวาล ... และดังนั้น จึงทรงเป็นนายของเราแต่ละคน เพราะเราได้กลายเป็น “พระกายของพระองค์” แล้วอย่างแท้จริง...

    ในบทอ่านที่หนึ่งประจำวันนี้ นักบุญเปาโลยืนยันถึงความเป็นเจ้าเหนือสากลจักรวาลนี้ ว่า “พระอานุภาพ และพละกำลังนี้ พระองค์ทรงแสดงในองค์พระคริสตเจ้า เมื่อทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และให้ประทับเบื้องขวาของพระองค์ในสวรรค์ เหนือเทพนิกรเจ้า เทพนิกรอำนาจ เทพนิกรฤทธิ์ เทพนิกรนาย และเหนือนามทั้งปวงที่อาจเรียกขานได้ ทั้งในภพนี้ และในภพหน้า พระเจ้าทรงวางทุกสิ่งไว้ภายใต้พระบาทของพระคริสตเจ้า และทรงแต่งตั้งพระคริสตเจ้าไว้เหนือสรรพสิ่ง ให้ทรงเป็นศีรษะของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นพระวรกายของพระองค์” (อฟ 1:17-23)

    เราคือพระกายของพระคริสตเจ้า ... เพราะเหตุนี้เปาโลจึงเขียนว่า พระเจ้า “ทรงบันดาลให้เรากลับมีชีวิตกับพระคริสตเจ้า ... ให้เรากลับคืนชีพพร้อมกับพระคริสตเยซู โปรดให้เรามีที่นั่งในสวรรค์พร้อมกับพระคริสตเจ้า” (อฟ 2:5-6)...

    พิธีกรรมของเราไม่ได้เฉลิมฉลองเพราะเป็นวันครบรอบปี หรือวันรำลึกถึงอดีต แต่ทำให้เราคาดหวังถึงสิ่งอัศจรรย์ต่าง ๆ ในยุคสุดท้าย เปาโลรู้ดีว่าประชาชนที่เขาเขียนจดหมายไปหานั้น ยังไม่ได้ “นั่งในสวรรค์” พวกเขายังถูกกดขี่ข่มเหง และรู้ตัวว่าเขาเป็นมนุษย์ที่รู้จักตาย ... แต่เขาก็คาดหวังแล้วว่าเขาจะ “ขึ้นสู่สวรรค์” เมื่อเขามีความเชื่อในพระคริสตเจ้า...

    ความเชื่อนี้ควรนำเราไปสู่วิถีชีวิตใหม่ และวิถีทางใหม่ในการเฉลิมฉลองพิธีกรรมของเราไม่ใช่หรือ...

“เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา”...

    หลังจากตรัสถึงความครบถ้วนของอำนาจแล้ว บัดนี้ พระองค์ตรัสถึงความครบถ้วนของสนามปฏิบัติงานของพระคริสตเจ้าผ่านพระกายของพระองค์ กล่าวคือ ผ่านบรรดาศิษย์ของพระองค์...

    ครั้งหนึ่ง บนภูเขาแห่งการประจญ พระเยซูเจ้าทรงไม่ยอมรับ “อาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก” จากซาตาน (มธ 4:8-10) ... บัดนี้ ในเวลาที่พระองค์ดูเหมือนว่ากำลังเสด็จจากไป พระเยซูเจ้าผู้อาจหาญนี้กำลังคาดหมายว่าพระองค์ทรงพิชิตสากลจักรวาลด้วยสันติวิธี ผ่านทางชายทั้งสิบเอ็ดคนนี้...
    นานาชาติ ... มนุษย์ทุกคน...

    พระเยซูเจ้าทรงคิดการใหญ่จริง ๆ...

“ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต”...

    ปฏิบัติการขนาดมหึมา ซึ่งนำพามนุษยชาติมา “จุ่มตัว” (รับพิธีล้าง) ลงในพื้นที่ใหม่ คือ พระตรีเอกภาพแห่งสามพระบุคคล ... ความรักระหว่างบุคคลที่โปร่งใสที่สุดเท่าที่เคยมีมา “แม้ว่ามีหลายบุคคล แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวกัน”...

    นี่คือความฝันของทุกคนที่มีความรัก...

“จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน”

    กิจกรรมทั้งมวลของมนุษย์จะต้องอยู่ภายใต้อาณัติของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเป็นศิษย์ไม่ใช่ทัศนคติทางสติปัญญาเป็นสำคัญ ... การสอนคำสอนไม่ใช่การถ่ายทอดความคิดเป็นอันดับแรก แต่เป็นการฝึกดำเนินชีวิตในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรวมไว้ด้วยทุกด้านของชีวิต...

“แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”

    ดังนั้น การประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งแผ่คลุมทุกสถานที่บนแผ่นดิน จึงรวมถึงทุกกาลเวลาด้วย...

    เมื่อเริ่มต้นพระวรสาร ทูตสวรรค์แจ้งแก่โยเซฟว่าพระองค์จะได้รับพระนามว่า “อิมมานูเอล แปลว่า ‘พระเจ้าสถิตกับเรา’ ” (มธ 1:23) ... พระวรสารทั้งฉบับของมัทธิว มาบรรจบกันในแนวคิดนี้...

    นี่คือคำเชิญที่พิเศษอย่างยิ่ง ถ้าพระเจ้าประทับอยู่กับเราทุกวัน ทุกชั่วขณะของกาลเวลา ... เราย่อมพูดได้ไม่ใช่หรือว่า เรา “อยู่เบื้องหน้าพระเจ้าเสมอ” ... ฐากูร (Tagore) กล่าวว่า “ขอให้ข้าพเจ้ารองรับความรักของพระองค์ไว้ในชีวิตของข้าพเจ้า เหมือนพิณโอบอุ้มเสียงดนตรีของมัน”

    ในแต่ละวัน แต่ละนาทีในชีวิตของข้าพเจ้า สามารถได้รับความสว่างจากการอยู่ร่วมกับพระองค์...