วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์
ยอห์น  13:1-15

บทรำพึงที่ 1

ก่อนวันฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา...

    อาหารค่ำวันนี้ ... พรุ่งนี้คือวันสิ้นพระชนม์ ... และเช้าวันปัสกา ... ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในธรรมล้ำลึกข้อเดียวกันคือ “งานเลี้ยงปัสกา” ... “เวลา” ของพระเยซูเจ้า

    และในจิตสำนึกของพระองค์ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในความเป็นจริงข้อเดียวคือ “พระองค์จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา” ... เป็นการเดินทางที่ทั้งเจ็บปวด และน่ายินดี...

    พระเจ้าข้า เมื่อเวลาของข้าพเจ้ามาถึง โปรดให้ข้าพเจ้าระลึกถึงความจริงข้อนี้ด้วยเถิด...

พระเยซูเจ้าผู้ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ บัดนี้ ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด

    พระวรสารอธิบายว่าจุดประสงค์หนึ่งเดียวของไม้กางเขนคือความรัก ความรักที่ไม่จบลงเพียงครึ่งทาง แต่รักจนถึงที่สุด...

    ข้าพเจ้าต้องการได้รับความรักเช่นนี้มาโดยตลอด ... ความรักที่ไม่คำนึงถึงบาปทั้งปวงของข้าพเจ้า ... รักแม้ข้าพเจ้าเคยแสดงว่าข้าพเจ้า “ไม่รัก”...

ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำ ... พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว และทรงทราบว่าพระองค์ทรงมาจากพระเจ้า และกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า จึงทรงลุกขึ้นจากโต๊ะ ทรงถอดเสื้อคลุมออกวางไว้ ทรงใช้ผ้าเช็ดตัวคาดสะเอว แล้วทรงเทน้ำลงในอ่าง เริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์

    ต้นประโยค และท้ายประโยคช่างแตกต่างกันอย่างยิ่ง ... พระวรสารกล่าวถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้า และกิริยาอันต่ำต้อยของทาสในประโยคนี้

    “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ทรงทำตนเป็น “ทาส”...

    ยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร ไม่เอ่ยถึงการตั้งศีลมหาสนิทเลยในคำบอกเล่าเหตุการณ์ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูจ้าทรงอยู่บนโลกนี้ ... แต่เขาบรรยายการกระทำนี้ ซึ่งเป็นกิริยาของ “คนรับใช้” พระองค์ทรงทำเช่นนี้โดยเจตนา และอันที่จริงกิริยาของพระเยซูเจ้าแสดงนัยสำคัญอันลึกซึ้งของทั้งศีลมหาสนิท และไม้กางเขน
-    “นี่คือกายของเรา ที่มอบเพื่อท่าน”
-    “เรามอบตนเองรับใช้ท่าน”

“ถ้าท่านไม่ให้เราล้างเท้า ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา”

    เหตุการณ์ที่เปโตรไม่ยอมให้พระเยซูเจ้าล้างเท้า เน้นให้เราเห็นนัยสำคัญนี้ กล่าวคือ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราจะยอมให้พระเยซูเจ้าทรง “ล้าง” เราหรือไม่ แต่อยู่ที่เรายอมให้พระองค์ “ทรงช่วยเราให้รอดพ้น” หรือไม่ ... “ถ้าท่านไม่ยอม ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา ... ท่านไม่สามารถช่วยให้ตนเองรอดพ้นได้ ท่านต้องยอมรับความรอดพ้นที่เราเสนอแก่ท่าน ผ่านทางการถวายเครื่องบูชาของเราบนไม้กางเขน”...

    ในพิธีมิสซาทุกครั้ง เราแสดงออกถึงธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นเดียวกันนี้อีกครั้งหนึ่ง...

“ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในเมื่อเรา ซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน”

    นี่ต้องเป็นทัศนคติของทุกคนที่ร่วมในงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ... ศีลมหาสนิทต้องสร้างเสริมชุมชนที่มีความรักต่อกัน ชุมชนที่สมาชิกแต่ละคนพร้อมจะรับใช้กัน งานเลี้ยงแห่งศีลมหาสนิทคือกระแสเรียกให้รับใช้กันด้วยความรัก

    พระเจ้าข้า ชีวิตของเรายังห่างไกลจากกระแสเรียกนี้มาก...

    ความแตกแยกในกลุ่มคริสตชนเป็นเรื่องสะดุดใจอย่างแท้จริง เป็นการปฏิเสธความต้องการของพระเยซูเจ้า...

    ความเห็นแก่ตัวในชีวิตของคริสตชนเป็นเรื่องสะดุดใจอย่างแท้จริง เป็นการปฏิเสธการรับใช้กันและกันอย่างถ่อมตน และเป็นรูปธรรม อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงรับใช้เราเมื่อพระองค์ “ทรงช่วยเราให้รอดพ้น”...

    ความหมายระดับลึกสุดของศีลมหาสนิทคือการรวบรวมคนทั้งหลาย ผู้มีจิตตารมณ์การรับใช้ ให้มารวมกันเป็นชุมชน...


บทรำพึงที่ 2
อพยพ 12:1-14; 1 โครินธ์ 11:23-26

งานเลี้ยงปัสกา

    นี่คือคำบรรยายศาสนพิธีของชาวยิวเกี่ยวกับ “ลูกแกะปัสกา”

    นี่คือพิธีที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำทุกปีตลอดชีวิตของพระองค์ ... จนถึงวันพฤหัสบดีก่อนพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อพระองค์ทรงกลายเป็น “ลูกแกะผู้ลบล้างบาปของโลก” พระองค์ทรงทำให้งานเลี้ยงนี้กลายเป็น “มิสซา”...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าขณะทรงร่วมโต๊ะอาหารกับมิตรสหายของพระองค์ พระองค์ทรงประกอบพิธีนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์...

“เดือนนี้จะเป็นเดือนแรกของท่านทั้งหลาย”

    ปัสกากลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินของมนุษย์

    ความรอดพ้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง “ในกาลเวลา” ... ในประวัติศาสตร์ของยุคสมัยของเรา ในประวัติศาสตร์ของชีวิตของข้าพเจ้าเอง...

    ปัสกาของข้าพเจ้าในปีนี้จะไม่เหมือนกับปัสกาของปีที่ผ่านมา

    “เดือนนี้จะเป็นเดือนแรกของท่านทั้งหลาย”

    สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของปีใหม่ประเภทใดสำหรับข้าพเจ้า...

“ถ้าครอบครัวเล็กเกินไปจนกินลูกแกะไม่หมด จงเชิญเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงมากินด้วยตามจำนวนคน ... เอาเลือดทากรอบด้านข้าง และด้านบนของประตูบ้านที่จะกินลูกแกะนั้น...”

    นี่คือศาสนพิธีของชุมชน ไม่มีใครสามารถเฉลิมฉลองตามลำพังได้

    นี่คือศาสนพิธีที่เกิดขึ้นจริง และมิใช่การรำลึกถึงอดีต เราไม่เพียงแต่รำลึกถึง “การปลดปล่อยจากประเทศอียิปต์” ในอดีต ... แต่เรากำลังเฉลิมฉลอง “การปลดปล่อยในปัจจุบัน”...

    คนแต่ละรุ่นต้องสืบทอดศาสนพิธีนี้

    ทุกปี แต่ละบ้านต้องทากรอบประตูบ้านด้วยเลือดที่ช่วยเขาให้รอดพ้น

    ปีนี้ แต่ละบ้าน และคริสตชนแต่ละคนต้องมีส่วนร่วมในการถวายเครื่องบูชาของพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าต้องร่วมถวายเครื่องบูชาด้วยการรับศีลอภัยบาป และการรับศีลมหาสนิทในวันปัสกา...

    ข้าพเจ้าควรเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองนี้ให้แตกต่างจากที่เคยทำเป็นกิจวัตร...

    “การปลดปล่อย” … ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าจำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยจริง ๆ หรือเปล่า ... ข้าพเจ้าเชื่อจริงหรือไม่ว่าข้าพเจ้าได้รับการปลดปล่อยแล้ว...

“เราจะลงโทษเทพเจ้าทั้งหมดของประเทศอียิปต์ เราคือพระยาห์เวห์ เลือดที่กรอบประตูจะเป็นเครื่องหมายว่าเป็นบ้านที่ท่านทั้งหลายอาศัยอยู่ เมื่อเราเห็นเลือด เราจะผ่านเลยไป ท่านจะพ้นจากภัยพิบัติที่ทำลาย”

    เลือดซึ่งช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ ... เลือดซึ่ง “ลบล้างบาปของโลก”...

    พระเจ้าข้า ขอให้พระกายของพระองค์รักษาข้าพเจ้า ... ขอให้พระโลหิตของพระองค์รักษาข้าพเจ้า ... โปรดทรงรักษาโรคในหัวใจของมนุษย์ชายหญิงยุคปัจจุบันด้วยเถิด...

“(ท่านทั้งหลายจงกิน) โดยคาดสะเอว สวมรองเท้า และถือไม้เท้า...
ท่านต้องถือเป็นวันฉลองถวายพระเกียรติแด่พระยาห์เวห์ ท่านต้องฉลองเช่นนี้เป็นกฎชั่วลูกชั่วหลาน”

    ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้เดินทาง ที่กำลังเดินทางไปยังดินแดนพันธสัญญา

    ข้าพเจ้าสมัครใจและพร้อมจริง ๆ หรือเปล่า ... ข้าพเจ้าพร้อมหรือยังที่จะเริ่มต้นการอพยพ ซึ่งเป็นผจญภัยอันยิ่งใหญ่

    คืนนี้ เราจะออกจากดินแดนแห่งความเป็นทาส และเราจะเริ่มต้นเดินทางไปยังดินแดนแห่งอิสรภาพ เราจะไปถึงที่นั่นเมื่อใด ... คืนนี้ เราจะออกจากชีวิตบาปของเรา และเริ่มต้นเดินทางไปสู่ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ เราจะไปถึงที่นั่นเมื่อใด...

    สิ่งสำคัญในเวลานี้ไม่ใช่การไปถึงที่นั่น แต่อยู่ที่เรากำลังเดินทาง ... เรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วต่างหาก...

    เราพบสัญลักษณ์ทั้งหมดนี้ได้ในพิธีมิสซาทุกครั้ง...

    ข้าพเจ้าอ่านข้อความทั้งหมดนี้อีกครั้งหนึ่ง และคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งอย่างไรในพิธีมิสซา

บทรำพึงที่ 3

อาหารค่ำมื้อสุดท้าย

(1)    พระเยซูเจ้าทรงร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับอัครสาวกของพระองค์

    วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์เตือนเราให้ระลึกถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวก พระองค์ทรงฉลองปัสกาของชาวยิวร่วมกับศิษย์ของพระองค์เหมือนกับในปีก่อน ๆ แต่ครั้งนี้ การฉลองจะมีเอกลักษณ์ เนื่องจากเป็นปัสกาครั้งสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าทรงเฉลิมฉลองก่อนพระองค์จะเสด็จกลับไปหาพระบิดา และเพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากอาหารค่ำมื้อนี้ ทุกนาทีของอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเผยให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงรู้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในวันต่อมา และเผยให้เห็นความรักของพระองค์ต่อมนุษย์

    การฉลองปัสกาเป็นวันฉลองสำคัญของชาวยิว และตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปลดปล่อยชาวยิวออกจากการปกครองของชาวอียิปต์ “วันนี้จะเป็นวันที่ท่านทั้งหลายต้องจดจำไว้ ท่านต้องถือเป็นวันฉลองถวายพระเกียรติแด่พระยาห์เวห์ ท่านต้องฉลองเช่นนี้เป็นกฎชั่วลูกชั่วหลาน” (อพย 12:14) ชาวยิวทุกคนต้องเฉลิมฉลองวันนี้เพื่อเตือนตนเองให้ระลึกถึงกำเนิดของประชากรของพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงให้ศิษย์คนโปรดของพระองค์ คือ เปโตร และยอห์น เป็นผู้จัดเตรียมการเลี้ยงปัสกา ทั้งสองคนนี้เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วน เขานำลูกแกะตัวหนึ่งไปถวายเป็นเครื่องบูชาที่พระวิหาร จากนั้นก็นำลูกแกะกลับมายังบ้านที่จัดงานเลี้ยงเพื่อย่างลูกแกะนั้น เขายังเตรียมน้ำสำหรับชำระร่างกายตามธรรมเนียม (ยน 13:5) รวมทั้งผักรสขม (เพื่อระลึกถึงรสชาติอันขมขื่นของความเป็นทาส) ขนมปังไร้เชื้อ (เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ไม่มีเวลาอบขนมปัง เพราะต้องรีบหนีออกจากอียิปต์) และเหล้าองุ่น เป็นต้น ศิษย์ทั้งสองพยายามมากเป็นพิเศษในการจัดเตรียมการเลี้ยงครั้งนี้

    การจัดเตรียมการเลี้ยงนี้เตือนใจเราว่าเราควรเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการร่วมพิธีมิสซาแต่ละครั้ง เพราะทุกครั้งที่เรารื้อฟื้นการถวายเครื่องบูชาครั้งนี้ของพระคริสตเจ้า - เมื่อพระองค์ประทานพระองค์เองแก่เรา - เรากำลังทำหน้าที่ศิษย์ของพระองค์เช่นกัน เรากำลังทำหน้าที่ของเปโตรและยอห์น ผู้จัดเตรียมงานเลี้ยงนี้ด้วยความเคารพและพิถีพิถัน เพื่อให้เป็นการฉลองอย่างสมเกียรติ

    อาหารค่ำมื้อสุดท้ายเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ตกดิน พระเยซูเจ้าทรงสวดบทสดุดีด้วยพระสุรเสียงที่หนักแน่น นักบุญยอห์นบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะกินเลี้ยงปัสกาครั้งนี้ร่วมกับศิษย์ของพระองค์ (ยน 13:1)

    มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารบันทึกไว้เพื่อเรา เช่น บรรดาอัครสาวกแก่งแย่งชิงดีกัน โดยเริ่มถกเถียงกันว่าใครเป็นใหญ่ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงแสดงความถ่อมตนและการรับใช้ให้ศิษย์ของพระองค์เห็นเป็นตัวอย่าง เมื่อทรงปฏิบัติหน้าที่อันต่ำต้อยของผู้รับใช้ระดับต่ำสุด ... “พระองค์ทรงเริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์” เราควรพิจารณาเช่นกันว่าพระเยซูเจ้าทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงให้ศิษย์ทั้งหลายได้เห็นความรักของพระองค์ พระองค์ทรงถึงกับเรียกพวกเขาว่า “ลูกทั้งหลายเอ๋ย”... “พระคริสตเจ้าเองทรงปรารถนาจะทำให้การเลี้ยงครั้งนี้มีนัยสำคัญ มีสิ่งที่เป็นความทรงจำมากมาย เป็นเหตุการณ์ที่ประกอบด้วยถ้อยคำและอารมณ์ความรู้สึกที่น่าประทับใจ มีทั้งกิจกรรมและคำสั่งสอน จนเราสามารถนำมารำพึงไตร่ตรองได้ไม่สิ้นสุด อาจกล่าวได้ว่าอาหารค่ำมื้อนี้เป็นอนุสรณ์ เป็นโอกาสแสดงความรักแต่ก็โศกเศร้า และเป็นเวลาเปิดเผยอย่างเร้นลับถึงคำสัญญาของพระเจ้า และวิสัยทัศน์อันยาวไกล นอกเหนือจากนั้น ยังมีสังหรณ์แห่งความตายอันน่าเศร้า ลางร้ายของการทรยศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมกับการทอดทิ้ง การบูชายัญ เสียงสนทนาค่อย ๆ เงียบลงในขณะที่พระเยซูเจ้าตรัสด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน แม้ว่าข้อความที่พระองค์ตรัสนั้นทำให้ผู้ฟังรู้สึกเครียดเพราะเป็นเรื่องของความเป็นความตาย (พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 16, บทเทศน์ วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์, 27 มีนาคม 1975)

    สิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำเพื่อผู้ที่เป็นของพระองค์ สามารถสรุปได้ด้วยข้อความสั้น ๆ ของนักบุญยอห์น ว่า “พระองค์ทรงรักเราจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) วันนี้เป็นวันที่เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การรำพึงกับความรักที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อเราแต่ละคน และเราตอบสนองความรักของพระองค์อย่างไร ในการติดต่อสื่อสารกับพระองค์อย่างสม่ำเสมอ ในการแสดงความรักต่อพระศาสนจักร การใช้โทษบาป การทำเมตตากิจต่อผู้อื่น การเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท และขอบพระคุณสำหรับศีลมหาสนิท ในความปรารถนาของเราที่จะเป็นผู้ร่วมไถ่กู้ของพระองค์ ในความกระหายหาความยุติธรรมของเรา...

(2)    การตั้งศีลมหาสนิท และสังฆภาพ

    และบัดนี้ ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นช่วงท้ายของมื้อ พระเยซูเจ้าทรงแสดงท่าทีเคร่งขรึม ทรงเปิดเผยความจริงอันลึกล้ำด้วยทัศนคติที่อัครสาวกทั้งหลายคุ้นเคย พระองค์ทรงเงียบไปครู่หนึ่ง จากนั้นก็ทรงตั้งศีลมหาสนิท

    องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงทำการถวายเครื่องบูชาล่วงหน้าในรูปของศีลศักดิ์สิทธิ์ ... นี่คือกายของเราที่มอบเพื่อท่าน ... โลหิตของเราที่หลั่งออก ... เป็นการถวายเครื่องบูชาที่จะเกิดขึ้นในวันต่อมาบทเขากัลวารีโอ ก่อนหน้านั้น สิ่งที่เป็นเครื่องหมายยืนยันพันธสัญญาของพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ก็คือลูกแกะปัสกา ซึ่งถูกฆ่าถวายเป็นเครื่องบูชาบนพระแท่นในวันฉลองตามธรรมเนียมของคนทั้งครอบครัว ซึ่งชาวยิวเรียกว่าการกินเลี้ยงปัสกา บัดนี้ ลูกแกะที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาคือองค์พระคริสตเจ้าเอง (1 คร 5:7) และ “โลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง” พระกายของพระคริสตเจ้าคืองานเลี้ยงใหม่ ซึ่งทุกครอบครัวมาร่วมกันกินเลี้ยง “จงรับไปกินเถิด”

    ในห้องชั้นบน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาล่วงหน้าในรูปของศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการถวายเครื่องบูชาเดียวกันกับที่พระองค์จะทรงถวายในวันรุ่งขึ้นบนเขากัลวารีโอ – คือการถวายพระกายและพระโลหิตของพระองค์ – แด่พระบิดาในฐานะลูกแกะเครื่องบูชา และเป็นการเริ่มต้นพันธสัญญาใหม่ระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ และไถ่กู้มนุษย์ทุกคนให้รอดพ้นจากบาปและความตายนิรันดร

    พระเยซูเจ้าประทานพระองค์เองในศีลมหาสนิทแก่เรา เพื่อช่วยเราให้เข้มแข็งในยามที่เราอ่อนแอ เพื่ออยู่เป็นเพื่อนเราในยามที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว และเพื่อให้เราได้ลิ้มรสสวรรค์ล่วงหน้า ขณะที่ทรงกำลังก้าวเข้าสู่พระทรมานและความตาย พระองค์ทรงเตรียมการให้เรามีปังนี้อย่างไม่มีวันขาด จนกว่าจะถึงกาลอวสานของโลก เพราะในคืนนั้น พระเยซูเจ้าประทานอำนาจแก่อัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา คือ พระสังฆราชและพระสงฆ์ทั้งหลาย ให้กระทำการอัศจรรย์นี้ได้จนกว่าจะสิ้นพิภพ “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” (ลก 22:19, 1 คร 11:24) พร้อมกับการตั้งศีลมหาสนิท ซึ่งจะดำรงอยู่จนกระทั่งพระองค์เสด็จกลับมา (1 คร 11:26) พระองค์ทรงตั้งสังฆภาพทางศีลบวชอีกด้วย

    พระเยซูเจ้าประทับอยู่กับเราอย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าในห้องชั้นบนทรงเป็นพระเยซูเจ้าองค์เดียวกันกับพระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่ในตู้ศีล คืนนั้น ศิษย์ของพระองค์ได้ชื่นชมการประทับอยู่ทางกายภาพของพระคริสตเจ้า เมื่อพระองค์ประทานพระองค์เองแก่เขาและแก่มนุษย์ทุกคน คืนนี้ เมื่อเราไปนมัสการพระองค์ที่แท่นพักศีลมหาสนิท (Altar of Repose) เราจะพบกับพระองค์เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงมองเห็นเราและทรงจำเราได้ เราสามารถพูดคุยกับพระองค์เหมือนกับที่อัครสาวกเคยทำ และเล่าให้พระองค์ฟังว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทำให้เราไม่สบายใจ และเรื่องใดที่ทำให้เรายินดีมาก และเราสามารถขอบพระคุณพระองค์ที่เสด็จมาประทับท่ามกลางเรา และเราสามารถอยู่กับพระองค์ในขณะที่ระลึกถึงการมอบพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาอย่างใจกว้าง พระเยซูเจ้าทรงคอยเราอยู่ในตู้ศีลเสมอ

(3)    บทบัญญัติใหม่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

    “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:35)

    พระเยซูเจ้าทรงบอกอัครสาวกว่าพระองค์กำลังจะจากเขาไป พระองค์กำลังเสด็จไปเตรียมที่ให้เขาในสวรรค์ (ยน 14:2-3) ก่อนจะถึงเวลานั้น พวกเราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ได้ด้วยความเชื่อ และอาศัยการอธิษฐานภาวนา (ยน 14:12-14)

    เมื่อนั้น พระองค์ทรงประกาศบทบัญญัติใหม่ ซึ่งได้รับการประกาศมาแล้วในพระวรสารทุกหน้า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) นับแต่นั้นมา เราก็เรียนรู้ว่าความรักเมตตาเป็นหนทางที่เราติดตามพระเจ้าได้ใกล้ชิดที่สุด (นักบุญโทมัส, คำอธิบายจดหมายถึงชาวเอเฟซัส, 5,1) และเป็นหนทางที่นำเราไปพบพระองค์ได้รวดเร็วที่สุด วิญญาณสามารถเข้าใจพระเจ้าได้มากขึ้น เมื่อวิญญาณนั้นปฏิบัติความรักเมตตาในชีวิตมากขึ้น เพราะพระเจ้าทรงเป็นความรัก ความรักเมตตาของเราจะสูงส่งมากขึ้น เมื่อเป็นคุณธรรมตามหลักเทววิทยานี้

    วิธีที่เราปฏิบัติต่อคนรอบข้างเป็นคุณสมบัติเด่นที่ทำให้คนทั้งหลายรู้ว่าเราเป็นศิษย์ของพระองค์ คนทั่วไปจะเห็นได้ว่าเราสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในระดับใดจากความเข้าใจของเราในตัวผู้อื่น และการรับใช้ผู้อื่น “พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงปฏิกิริยาของพวกเขาต่อการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย หรือบทพิสูจน์อื่นใด นอกจากข้อเดียว คือให้ท่านทั้งหลายรักกัน” (นักบุญโทมัส, เรื่องความรักเมตตา) “หลายคนถามตนเองว่าเขารักพระคริสตเจ้าหรือไม่ แล้วก็ออกเสาะหาเครื่องหมายที่จะช่วยให้ค้นพบ และพิสูจน์ว่าเขารักพระองค์ เครื่องหมายที่จะไม่มีวันหลอกใครเลยก็คือความรักฉันพี่น้อง ... ความรักเช่นนี้ยังเป็นเครื่องตวงวัดสภาพชีวิตภายในของเราด้วย โดยเฉพาะชีวิตภาวนาของเรา (B. Baur, In Silence with God)

    “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย” (ยน 13:34) นี่คือบทบัญญัติใหม่เพราะเหตุผลที่พระองค์ประทานบทบัญญัตินี้เป็นเหตุผลใหม่ กล่าวคือ เพื่อนมนุษย์ของเราก็เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เพื่อนมนุษย์ของเราเป็นบุคคลที่พระบิดารักด้วยความรักที่พิเศษ ... เป็นบทบัญญัติใหม่ เพราะเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมนุษย์ และเป็นบทบัญญัติใหม่ เพราะเรียกร้องให้เรารักในระดับใหม่ คือ “เหมือนดังที่เรารักท่าน” นี่คือบทบัญญัติสำหรับประชากรใหม่ที่จำเป็นต้องมีหัวใจใหม่ เป็นบทบัญญัติใหม่เพราะวางรากฐานของระเบียบใหม่ ซึ่งไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน เป็นบทบัญญัติใหม่ เพราะช่วยให้มนุษย์มองกันในแง่มุมใหม่ จากที่เคยพบแต่การถือประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง

    ในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่เรามาถึงช่วงท้ายของการภาวนา เราควรถามตนเองว่าคนรอบตัวเราที่เราใช้ชีวิตร่วมกับเขาเป็นส่วนใหญ่นั้น รู้หรือไม่ว่าเราเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าจากความเป็นมิตร และความเข้าใจที่เราแสดงต่อเขา ... เราพยายามขอคืนดีกับผู้ที่เราเคยทำผิดต่อเขา ... เราเคยแสดงความรักให้คนรอบข้างเห็นหรือไม่ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นแสดงความเป็นมิตร ความเข้าใจ ให้กำลังใจ ตักเตือนเมื่อจำเป็น ยิ้มแย้มให้กัน รับใช้กัน และช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งคนทั่วไปมักไม่สังเกต ... ความรักนี้ไม่ใช่บางสิ่งที่สงวนไว้สำหรับเรื่องสำคัญ แต่ต้องแสดงออกในสถานการณ์ปกติในชีวิตของเรา (สังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2, Gaudium et spes, 38)

    พระทรมานขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราใกล้เข้ามาแล้ว ขอให้เราระลึกถึงความพยายามของพระนางมารีย์ที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าและรับใช้ผู้อื่น ความรักของพระนางต่อมวลมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่จนพระนางสามารถปฏิบัติตามพระวาจาของพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)