แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 2:14, 36-41; 1 เปโตร 2:20-25; ยอห์น 10:1-10

บทรำพึงที่ 1
ผู้เลี้ยงแกะที่ดี
คนเลี้ยงแกะที่ดีต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน มีความห่วงใย และกล้าหาญ

    เมื่อหลายปีก่อน นิตยสารระดับชาติฉบับหนึ่งได้ตีพิมพ์เรื่องของหญิงสาวคนหนึ่งที่ดำเนินชีวิตแตกต่างจากคนทั่วไป เธอชื่อ ลอร่า แบล หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย เธอทำงานเป็นคนต้อนฝูงแกะในรัฐไวโอมิง ลอร่าใช้เวลาสามปีต่อมาทำงานวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน และปีละ 365 วัน เพื่อดูแลฝูงแกะจำนวน 2,000 ตัว

    ตลอดระยะเวลานี้ เธออยู่ตามลำพังอย่างแท้จริง มีแต่ม้าของเธอ สุนัขของเธอ และฝูงแกะ สัปดาห์ละหนึ่งครั้งจะมีคนขับรถออกไปหาเธอบนเนินเขาที่ห่างไกลที่เธอใช้เลี้ยงฝูงแกะของเธอ และนำอาหาร จดหมาย และปลอกกระสุนปืนไรเฟิลไปส่งให้เธอ

    งานของลอร่าสอนให้เธอรู้จักตนเองดีขึ้นมาก การอยู่กับตนเองตามลำพังเป็นเวลานานทำให้เธอมีเวลาใคร่ครวญเรื่องอนาคตของเธอ สิ่งที่เธอสงสัย ความฝันของเธอ และยังทำให้เธอมีเวลาแยกแยะว่าอะไรมีคุณค่าสำหรับเธอ และตั้งเป้าหมายในชีวิต แต่งานของลอร่าให้เธอมากกว่าบทเรียนเกี่ยวกับตนเอง เพราะยังสอนให้เธอรู้จักพระเยซูเจ้ามากขึ้นด้วย

    พระคัมภีร์ใช้ภาพลักษณ์ของคนเลี้ยงแกะเพื่อบรรยายลักษณะของพระเยซูเจ้า และบัดนี้ ลอร่ารู้ด้วยประสบการณ์โดยตรงว่าทำไมพระคัมภีร์จึงใช้ภาพลักษณ์นี้ เธอเรียนรู้โดยตรงว่าคนเลี้ยงแกะที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

    ก่อนอื่น คนเลี้ยงแกะที่ดีต้องอุทิศตนทำงาน คนเลี้ยงแกะต้องอยู่เพื่อฝูงแกะของเขาวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า และเดือนแล้วเดือนเล่า การดูแลฝูงแกะไม่ได้เป็นเพียงงานอย่างหนึ่งเหมือนกับการทำงานในสำนักงาน หรือเป็นเสมียนในร้านขายของ

    การดูแลฝูงแกะไม่ใช่งานเลย แต่เป็นวิถีชีวิต คุณไม่ได้ดูแลแกะเพราะเป็นงานที่คุณทำเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่คุณดูแลฝูงแกะเพราะเป็นงานที่คุณรัก

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าผู้เลี้ยงแกะที่ดี พระองค์ทรงหมายความว่าพระองค์ทรงอุทิศพระองค์ดูแลฝูงแกะของพระองค์วันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน และปีละ 365 วัน

    อีกนัยหนึ่งคือพระองค์ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ และความห่วงใยทั้งหมดให้แก่ฝูงแกะที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายให้ดูแล พระองค์ทรงอุทิศทุกนาทีในชีวิตของพระองค์ให้แก่ฝูงแกะนี้

    ทั้งหมดนี้ทำให้เราคิดถึงคุณสมบัติประการที่สองที่คนเลี้ยงแกะต้องมี นอกจากการอุทิศตนดูแลแกะ คนเลี้ยงแกะยังต้องเป็นคนที่เอื้ออาทรอย่างลึกซึ้งด้วย

    ความพึงพอใจของคนเลี้ยงแกะผูกพันอยู่กับสวัสดิภาพของฝูงแกะ เมื่อฝูงแกะมีความสุข คนเลี้ยงแกะก็มีความสุข เมื่อฝูงแกะเจ็บปวด คนเลี้ยงแกะก็พลอยเจ็บปวดไปด้วย

    มีตำนานเก่าแก่ของชาวยิวที่อธิบายว่าทำไมพระเจ้าจึงทรงเลือกให้โมเสสเป็นผู้ดูแลฝูงแกะของพระองค์ - คือชนชาติอิสราเอล - แทนที่จะเลือกมนุษย์คนอื่น ๆ ในโลก

    ตำนานเล่าว่า วันหนึ่งโมเสสกำลังต้อนฝูงแกะที่เป็นของพ่อตาของเขาคือเจโธร ทันใดนั้น เขามองเห็นลูกแกะตัวหนึ่งวิ่งฝ่าพุ่มไม้ออกไป โมเสสละทิ้งทุกสิ่งและติดตามมันไป เพราะกลัวว่ามันจะถูกสัตว์ป่าฆ่า หรือพลัดหลง

    ในที่สุด เขาก็ตามทันลูกแกะที่ลำธารเล็ก ๆ สายหนึ่ง ลูกแกะเริ่มดื่มน้ำอย่างกระหายจัด เมื่อมันดื่มจนพอ โมเสสอุ้มมันขึ้นมา และพูดว่า “เจ้าตัวน้อย ข้าไม่รู้ว่าเจ้าหนีมาเพราะเจ้ากระหายน้ำมากเช่นนี้ ขาน้อย ๆ ของเจ้าคงเมื่อยมาก” แล้วเขาก็ยกลูกแกะขึ้นแบกบนบ่า และนำมันกลับไปหาฝูง

    เมื่อพระเจ้าทรงเห็นว่าโมเสสมีความรักความห่วงใยอย่างไร พระองค์จึงตรัสกับพระองค์เองว่า “ในที่สุด เราก็พบบุคคลพิเศษที่เราตามหา เราจะตั้งให้โมเสสเป็นผู้ดูแลประชากรของเรา คือชาวอิสราเอล ประดุจดูแลฝูงแกะ”

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลประเภทนี้เช่นกัน คือ อ่อนโยน และห่วงใยสมาชิกแต่ละคนในฝูงแกะของพระองค์

    คุณสมบัติข้อสุดท้ายที่คนเลี้ยงแกะที่ดีจำเป็นต้องมี นอกจากการอุทิศตนดูแลฝูงแกะ และมีใจเอื้ออาทร ก็คือความกล้าหาญ

    หนังสือซามูแอลเล่มที่ 1 เล่าว่า เมื่อเด็กหนุ่มชื่อดาวิด อาสาออกไปต่อสู้กับชาวฟิลิสเตียรูปร่างสูงใหญ่ชื่อโกลิอัท กษัตริย์ไม่ยอมให้ดาวิดต่อสู้ ตรัสว่า “เจ้าเป็นเพียงเด็กหนุ่ม และเขาเป็นทหารมาตลอดชีวิต”

    ดาวิดตอบว่า “ข้าพเจ้าดูแลฝูงแกะของบิดา เมื่อมีสิงโต หรือหมีมาเอาลูกแกะตัวหนึ่งไปจากฝูง ข้าพเจ้าก็ไล่ตามมัน โจมตีมัน และช่วยลูกแกะนั้นกลับมา ... พระเจ้าทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากสิงโต และหมี พระองค์จะทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากชาวฟิลิปเตียคนนี้” (1 ซมอ 17:33-35, 37) เราทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้จบลงอย่างไร ดาวิดชนะโกลิอัท

    ดังนั้น งานที่ไม่เหมือนใครของลอร่าจึงสอนบทเรียนมากมายแก่เธอ ทำให้เธอรู้จักไม่เพียงตนเอง แต่รู้จักพระเยซูเจ้าดีขึ้นด้วย

    งานนี้สอนเธอว่าทำไมพระคัมภีร์จึงเรียกพระเยซูเจ้าว่าผู้เลี้ยงแกะที่ดี เพราะพระองค์ทรงมีคุณสมบัติสามประการซึ่งคนเลี้ยงแกะทุกคนต้องมีในระดับที่สมบูรณ์ พระองค์ทรงอุทิศพระองค์ดูแลฝูงแกะ ทรงมีความเอื้ออาทร และความกล้าหาญ สิ่งเดียวที่พระองค์ทรงห่วงใยก็คือฝูงแกะที่พระบิดาทรงมอบหมายให้พระองค์ทรงดูแล

    งานนี้สอนเธอว่าเหตุใดพระเยซูเจ้าจึงทรงเป็นต้นแบบสำหรับบิดามารดาทุกคน ครูทุกคน และคนอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลบุคคลในปกครองของตน

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้โดยฟังถ้อยคำในบทเพลงสดุดีในมิสซาวันนี้

    พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจดูแลฝูงแกะ
    ข้าพเจ้ามีทุกสิ่งที่จำเป็น
    พระองค์ทรงให้ข้าพเจ้าพักผ่อนในทุ่งหญ้าเขียวขจี
    และทรงนำข้าพเจ้าไปยังบ่อน้ำนิ่ง
    พระองค์ทรงฟื้นฟูกำลังให้ข้าพเจ้า
    พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางที่ถูกต้อง
    ดังที่พระองค์ทรงสัญญาไว้
    แม้ว่าข้าพเจ้าต้องเดินฝ่าความมืดมิด
    ข้าพเจ้าก็ไม่กลัว
    พระเจ้าข้า เพราะพระองค์ประทับอยู่กับข้าพเจ้า
    ไม้ และไม้เท้าคนเลี้ยงแกะของพระองค์ปกป้องข้าพเจ้าไว้

    พระองค์ทรงเตรียมงานเลี้ยงไว้ให้ข้าพเจ้า
    ที่ซึ่งศัตรูทั้งปวงของข้าพเจ้ามองเห็นข้าพเจ้าได้
    พระองค์ทรงต้อนรับข้าพเจ้าเสมือนแขกผู้มีเกียรติ
    และทรงเติมถ้วยของข้าพเจ้าจนเต็มถึงขอบ
    ข้าพเจ้ารู้ว่าความดี และความรักของพระองค์
    จะอยู่กับข้าพเจ้าตลอดชีวิตของข้าพเจ้า
    และบ้านของพระองค์จะเป็นบ้านของข้าพเจ้า
    ตราบจนชั่วชีวิตของข้าพเจ้า

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 10:1-10

    ในวันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา ทุกปีพระศาสนจักรประกาศข้อความจากพระวรสารของนักบุญยอห์นเรื่อง “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” ... และเชิญชวนเราให้ภาวนาเพื่อกระแสเรียก

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่ไม่เข้าคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าทางอื่นก็เป็นขโมย และโจร”

    เรามองเห็นคนเลี้ยงแกะได้ทั่วไปบนเนินเขาในแคว้นยูเดีย และกาลิลี ในเวลากลางวัน เขาจะนำฝูงแกะไปเล็มหญ้าตามจุดต่าง ๆ ที่มีหญ้าขึ้น และมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งบนเนินเขาที่เต็มไปด้วยหิน เมื่อถึงเวลากลางคืน คนเลี้ยงแกะหลายคนจะตกลงกันว่าจะต้อนฝูงแกะของตนมาอยู่รวมกันภายในคอกเดียวกัน คอกนี้มีกำแพงหินล้อมรอบ พระเยซูเจ้าทรงเสนอภาพของสองบุคคลที่ต่างกันมาก คือ คนเลี้ยงแกะ และขโมย...

    ความแตกต่างระหว่างคนสองประเภทนี้คือลักษณะที่เขาเข้ามาในคอก คนหนึ่งปีนกำแพงเข้ามา ในขณะที่อีกคนหนึ่งเข้ามาทางประตู ... ดังนั้น ภาพที่เราเห็นตั้งแต่ต้นนี้จึงแตกต่างจากภาพวาดอันสวยงามภายใต้ชื่อ “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ…

    สำหรับพระเยซูเจ้า “คอกแกะ” ไม่ใช่สถานที่ที่สุขสบายเหมือนที่บรรยายในบทกวี แต่เป็นสถานที่ซึ่งเราต้องปกป้องแกะให้รอดพ้นจากโจร ... ดังนั้น ภาพลักษณ์ของชีวิตคริสตชนจึงเป็นภาพของการต่อสู้เป็นส่วนใหญ่

    เราไม่ควรลืมว่าคำปราศรัยครั้งนี้ของพระเยซูเจ้าเป็นการโต้ปัญหาธรรมะ และเกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิด ชายคนนี้ถูกชาวฟาริสีรังแก เหมือนกับแกะที่ถูกตี เพราะเขาถูกขับไล่ออกจากศาลาธรรม (ยน 9:1-41)...

“ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป บรรดาแกะก็ฟังเสียงเขา”

    ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบ “คนเลี้ยงแกะจอมปลอม” คือ ขโมยและโจร ผู้แสร้งทำเป็นนำทางฝูงแกะโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ กับผู้เลี้ยงแกะแท้ ผู้เข้ามาทางประตูในเวลากลางวัน และคนเฝ้าประตูยอมเปิดประตูให้เขาเข้าไป...

    ขอให้เราอย่ารีบมองข้าม “คนเฝ้าประตู” คนนี้ พระวรสารทั้งฉบับบอกเราว่าเขาเป็นใคร เขาคือพระบิดา ผู้ส่งพระเยซูเจ้ามา (ยน 8:16, 42) และทรงมอบหมายทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ (ยน 3:35, 5:22-26) ... และเป็นผู้มอบแกะของพระองค์ให้พระเยซูเจ้าทรงดูแล (ยน 17:6-9)...

“เขาเรียกชื่อแกะของตนทีละตัว และพาออกไปข้างนอก เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้ แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า”

    ในเวลากลางคืน ฝูงแกะถูกนำมาอยู่รวมกันภายในคอกเดียวกันเพื่อป้องกันขโมย คนเลี้ยงแกะแต่ละคนจะมาเรียกแกะของตนในเวลาเช้า แกะจำเสียงของเขาได้ แกะเหล่านี้รู้ด้วยสัญชาตญาณว่าคนเลี้ยงแกะคนนี้รักมัน มันจะเดินตามเขา มันจะฟังเสียงของเขา...

    ผู้มีความเชื่อแท้คือคนที่ฟังเสียงของพระเยซูเจ้าและติดตามพระองค์ พระวรสารของนักบุญยอห์นใช้คำว่า “ฟัง” ถึง 58 ครั้ง พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระวาจา หรือพระวจนาตถ์” ทรงเป็น “การเผยแสดงของพระเจ้า” ผู้ตรัสแก่เพื่อน ๆ ของพระองค์สิ่งที่พระองค์เอง “ทรงได้ยินมาจากพระบิดา” (ยน 3:31, 8:40, 15:15)...

    ท่านที่กำลังรำพึงตามพระวรสารนี้ ท่านกำลังฟังเสียงของพระเยซูเจ้าอย่างจริงจังหรือเปล่า...

    ท่านใช้เวลามากเท่าไรในการรับฟังอย่างจริงจังต่อพระวาจาของพระเจ้า ต่อเสียงของความรัก และเสียงของความจริง...

พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้ให้คนเหล่านั้นฟัง แต่เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นหมายถึงสิ่งใด

    เขาไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ต้องการเข้าใจ ... เพราะเขารู้สึกว่าตนเองถูกตั้งคำถาม และถูกท้าทาย

    ชาวฟาริสีแสร้งทำเป็นนำทางผู้อื่น แต่ประชาชนหนีไปจากเขา เพราะเขาเป็นคนเลี้ยงแกะที่เลว เป็น “ขโมย และโจร”...

พระเยซูเจ้ายังตรัสกับเขาอีกว่า “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราเป็นประตูคอกแกะ ทุกคนที่มาก่อนหน้าเราเป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น”

    คำอ้างของพระองค์ฟังดูเหมือนอวดดี ถ้าพระองค์ทรงเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ... พระองค์ทรงเสนอว่าพระองค์เองทรงเป็นคนเลี้ยงแกะที่ไม่เหมือนใคร และทรงนำทางมวลมนุษย์ … “ทุกคนที่มาก่อนหน้าเรา” เป็นขโมยและโจร! ชายที่กล่าวคำพูดเหล่านี้ต้องเป็นคนบ้า ... หรือเขาต้องมีสารที่แปลกใหม่ สูงส่ง สมบูรณ์ และปฏิวัติความคิดมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยได้ยินมา...

    อนิจจา เราก็อาจเดินตามผู้นำทางอื่น ๆ และหลายคนแนะนำตัวกับเราว่าเขาเป็น “ผู้กอบกู้แห่งพระญาณสอดส่อง” ... แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราอย่างหนักแน่นว่า ท่านจะ “ถูกฆ่า” และ “ถูกทำลาย” เพราะผู้ให้คำสัญญาที่น่าฟังเหล่านั้นเป็นขโมยและโจร ... วาจาที่เด็ดขาดเช่นนั้นคงทำให้มนุษย์ที่มีความคิดสมัยใหม่อย่างเราตกใจ คนยุคใหม่กระหายหา “ความอดทนอดกลั้น” และใส่ใจกับ “พหุนิยม” อย่างยิ่ง ... ชายคนนี้เป็นใครจึงกล้าพูดอย่างมั่นใจในตนเองเช่นนี้ ... เขาสัญญาอะไร และอะไรทำให้เขาแตกต่างจาก “คนอื่นทั้งหมด”...

“เราเป็นประตู”

    พระเยซูเจ้าทรงชอบเสนอความคิดของพระองค์โดยใช้ภาพลักษณ์ พระองค์ทรงเสนอว่าพระองค์คือ “คนเลี้ยงแกะ” เพียงหนึ่งเดียว และบัดนี้ พระองค์ทรงเล่นกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ เหมือนนักดนตรีเล่นเครื่องดนตรีของตน เมื่อเสียงดนตรีกำลังสอดประสานเข้ากัน พระเยซูเจ้าก็เสนออีกภาพลักษณ์หนึ่ง ซึ่งซับซ้อนและลึกลับกว่า พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นประตู” - ประตูบานหนึ่ง และบานเดียว...
    พระวรสารสหทรรศน์บอกว่า พระเยซูเจ้าตรัสคำเปรียบเทียบนี้เมื่อตรัสถึง “ประตูแคบ” ซึ่งนำไปสู่สวรรค์ (มธ 7:13-14, ลก 13:24) แต่ในกรณีนี้ คำนี้มีความหมายทางเทววิทยาในระดับลึกกว่า และสอดคล้องกับพระวาจาที่พระเยซูเจ้าจะตรัสในไม่ช้าว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้ นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6)...

    พระคัมภีร์เคยบอกเล่าถึงความลึกลับของ “ประตู” มาก่อนแล้ว ในทะเลทราย ยาโคบมองเห็นบันใดซึ่งเป็น “ประตูสวรรค์” (ปฐก 28:17) และพระคัมภีร์บอกเราว่า “ประตูสวรรค์” เปรียบเสมือนทางเข้าสู่ดินแดนแห่งความยุติธรรมและสันติสุข คือ “พระนิเวศของพระเจ้า” (อสย 60:11, สดด 122:2, 118:19-20)...

“ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออก และจะพบทุ่งหญ้า”

    พระเยซูเจ้าตระหนักว่าพระองค์ทรงเป็น “หนทาง” เป็นประตูที่ช่วยให้เข้าถึงสถานที่ใหม่ “พื้นที่สำคัญ” ใหม่นั้น...

    เราจะยินดีที่ได้ยินคำรับรองนี้ของพระเยซูเจ้า ถ้าเราเคยรู้สึกว่าเราถูกกักขังอยู่ใน “ห้องขังเดี่ยว” สักอย่างหนึ่งมาก่อน ถูกแล้ว มนุษยชาติพบว่าตนเองเป็นนักโทษของนิยัตินิยม (determinisms) หรือความเชื่อในพรหมลิขิต กล่าวคือ เราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ... เราต้องผลิตเพื่อบริโภค ... “เราต้องขึ้นรถไฟ หรือรถประจำทางไปทำงาน แล้วกลับมานอน แล้วก็เริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดนี้อีกครั้งหนึ่ง” มนุษย์มองเห็นแต่เพียงวงจรแคบ ๆ นี้เท่านั้นหรือ ... มนุษย์ต้องถูกจำกัดอยู่ในวงจรนี้ไปเรื่อย ๆ จนเขาตายหรือ ... มี “ทางออก” สำหรับมนุษย์หรือไม่...

    พระเยซูเจ้าทรงเข้าแทรกแซงในจุดนี้ เพื่อทรงบอกเราว่าพระองค์เป็นประตู ทรงเป็น “ทางออก” ภาพลักษณ์เหล่านี้ชัดเจนมาก “เขาจะเข้าจะออก” นี่คือภาพลักษณ์ของเสรีภาพ ... “เขาจะพบทุ่งหญ้า” นี่คือภาพลักษณ์ของความสดชื่น และชีวิตชีวา...

    ทำไมเราจึงไม่เดินผ่าน “ประตูเร้นลับ” นี้ และออกไปเดินเล่นท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ และในทุ่งหญ้าที่อบอุ่นด้วยแสงแดดเล่า ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่ามนุษยชาติไม่ได้ถูกกักขังให้อยู่ภายในตนเองอย่างสิ้นหวัง แต่มีพื้นที่หนึ่งที่เปิดออกต่อหน้ามนุษย์ เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไร้ขอบเขต ... เป็นชีวิตที่รอคอยอยู่ข้างหน้า

    พระเจ้าทรงเชิญมนุษย์ให้เข้าไปภายใน “พื้นที่” ของพระองค์เอง ทำไมเราไม่ก้าวผ่านประตูนั้น และเข้าไปสูดอากาศในที่นั้นเล่า ... มันขึ้นอยู่กับตัวเราแต่ละคน ว่าประตูที่ “เปิดออกไปสู่สถานที่กว้างใหญ่ไร้ขอบเขต” นี้ จะเปิดออกสำหรับเราเพียงในวันสุดท้าย ในยามที่เราใกล้ตายเท่านั้นหรือไม่ ... ทำไมเราไม่ก้าวผ่านประตูนี้ที่นำเราไปหาพระเจ้าตั้งแต่บัดนี้เล่า...

“ขโมยย่อมมาเพื่อขโมย ฆ่า และทำลาย”

    พระเยซูเจ้าย้อนกลับมาตรัสถึงทรรศนะด้านลบเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าคำเชิญของพระองค์น่าสนใจอย่างไร...

    มนุษย์ทุ่มเททำงานเพื่อให้เกิดเสรีภาพในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี และคริสตชนทั้งหลายควรสนใจกับงานเหล่านี้ แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า การปลดปล่อยที่แท้จริงหนึ่งเดียว คือการปลดปล่อยที่พระเจ้าทรงเสนอแก่เรา คำสัญญาเกี่ยวกับการปลดปล่อย และคำสัญญาว่าจะให้ความสุขอื่น ๆ ทั้งหมดล้วนเป็น “ของปลอม” ... เป็นการขโมยอย่างหนึ่ง มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้พอใจกับวัตถุต่าง ๆ มากมาย ภาพลักษณ์ของมนุษย์ที่อเทวนิยมนำเสนอเป็นภาพลักษณ์ที่ยอดด้วน ... ในความคิดของพระเยซูเจ้า การเสนอทรรศนะที่มีขีดจำกัดให้มนุษย์เป็นการรัดคอ และทำลายมนุษย์ เพราะมนุษย์จะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์เพียงเมื่อเขาเปิดตนเองยอมรับพระเจ้า...

    และพระเยซูเจ้าทรงเป็นประตูนั้น ... ถ้าใคร “เข้ามาทางประตูนี้” เขาก็จะรอดพ้น ... และถ้าปราศจาก “ทางเข้า” นี้ เขาก็จะหลงทาง...

    “พื้นที่สำคัญ” ที่สุดของมนุษย์คือสภาพแวดล้อมของพระเจ้า ที่นี่เท่านั้นคือพื้นที่สำคัญของมนุษย์ ... ที่นี้เท่านั้นที่มนุษย์จะมีเสรีภาพ ... ที่นี้เท่านั้นที่มนุษย์สามารถหายใจได้อย่างปลอดโปร่ง และขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต...

“เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์”

    นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่นักบุญยอห์นชอบพูดถึง

    พระเยซูเจ้าประทานเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานาอย่าง “สมบูรณ์” ถึง 600 ลิตร (ยน 2:6-7) ... น้ำที่ให้ชีวิตที่เสนอให้หญิงชาวสะมาเรียก็จะไหลออกมา และดับกระหายตลอดไป (ยน 4:14) ... พระองค์ทรงทวีขนมปังจำนวนมาก จนเหลือเศษเก็บได้ถึง 12 กระบุง (ยน 6:10-12) ... การจับปลาอย่างอัศจรรย์ก็ได้ปลามากจนเต็มลำเรือ (ยน 21:6) ... แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพลักษณ์ ... ความเป็นจริงงดงามยิ่งกว่านี้ เพราะ “ชีวิตอันสมบูรณ์” มีอยู่จริง คือ ชีวิตของพระเจ้า...

    เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงเป็นผู้เปิดพื้นที่สำคัญอันไร้ขอบเขตให้แก่มนุษย์ ถ้าปราศจากพระองค์ มนุษยชาติจะถูกกักขังอยู่ภายในตนเอง ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีผู้นำทางการเมืองหรือทางสังคม ไม่มีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถปลดปล่อยเราให้พ้นจากชะตากรรมของการเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง – และดังนั้น จึงไม่รอดพ้นจากการตาย ... แต่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นทั้งมนุษย์ และพระเจ้า ทรงนำเราออกจากสภาพไร้อำนาจของเรา และนำเราเข้าไปอยู่ในโลกของพระเจ้า...

    ประตูนี้เปิดเข้าสู่สิ่งไร้ขอบเขต ... สิ่งที่เป็นนิรันดร์...