วันเตรียมสมโภชปัสกา
“ความตายเอ๋ย ชัยชนะของเจ้าอยู่ไหน ความตายเอ๋ย พิษของเจ้าอยู่ไหน” (1 คร 15:55)

    เมื่อสองวันก่อน เราทำการรำลึกถึงพระทรมาน และการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงถูกประหารโดยบุคคลที่ต้องการกำจัดพระองค์ให้พ้นทางตลอดไป แต่พระองค์ไม่มีวันถูกทำลายได้ พระองค์ทรงเอาชนะพลังของบาป และความตาย ความตายจึงพ่ายแพ้ ชัยชนะเป็นของพระคริสตเจ้า อัลเลลูยา! คืนนี้ เราเฉลิมฉลองชัยชนะของชีวิตเหนือความตาย ชัยชนะของความหวังเหนือความสิ้นหวัง ชัยชนะของความดีเหนือความชั่ว ชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด

    เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกำลังทนรับความเจ็บปวดทรมานบนไม้กางเขน ศัตรูของพระองค์เยาะเย้ยพระองค์ว่า “ท่านผู้ทำลายพระวิหาร และสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน จงช่วยตนเองให้รอดพ้น ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงลงมาจากไม้กางเขนซิ” เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบุตรผู้ซื่อสัตย์ของพระเจ้า พระองค์จึงอยู่บนไม้กางเขนต่อไป แต่เมื่อถึงวันที่สามหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงท้าทายศัตรูของพระองค์ การท้าทายนั้นคือการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ภายในเวลาสามวัน พระองค์ทรงสร้างพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่ และด้วยการทำเช่นนี้ พระองค์จึงกลายเป็น “ผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว” พระองค์ทรงพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงมีอำนาจสละชีวิตของพระองค์ และกลับคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง ศัตรูของพระองค์ต้องได้รับความอับอาย ศิษย์ของพระองค์ปลื้มปิติ ทหารยามตกใจกลัว คนที่เคยท้าทายพระองค์กลับพ่ายแพ้ พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งโรจน์

    เหตุการณ์น่าเศร้าบนเนินเขากัลวารีโอทำให้บรรดาศิษย์เสียใจและหวาดกลัว พวกเขาผิดหวังอย่างรุนแรงกับเหตุการณ์ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาไม่เคยคิดว่าพระอาจารย์ของเขา ผู้ทรงมีอำนาจเหนือพลังธรรมชาติ ทรงสามารถรักษาโรคให้ผู้ป่วย และทรงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพได้ จะพบกับจุดจบอันน่าเศร้าเช่นนี้ ถ้าจุดจบของพระอาจารย์ของเขาน่าเวทนาเช่นนี้ จุดจบของพวกเขาก็คงไม่ต่างกัน ด้วยความกลัว เขาจึงหลบซ่อนตัวอยู่เมื่อมารีย์ ชาวมักดาลา มาแจ้งข่าวว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

    ทั้งบรรดาศิษย์ และมารีย์ ชาวมักดาลา ต่างก็ไม่คาดหมายว่าพระเยซูเจ้าจะกลับคืนพระชนมชีพ แต่คำบอกเล่าในพระวรสารแสดงว่าศัตรูของพระเยซูเจ้าคาดหมายเช่นนี้ และได้จัดทหารยามไปเฝ้าพระคูหาที่ใช้ฝังพระศพของพระเยซูเจ้า มารีย์ ชาวมักดาลา มาที่พระคูหาก่อนรุ่งอรุณ มิใช่เพื่อจะมาพบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ แต่มาเพื่อชโลมพระศพด้วยเครื่องหอม พระคูหาที่ว่างเปล่าทำให้นางผิดหวัง แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบแทนความรักอันลึกล้ำของนางด้วยการให้โอกาสนางเป็นบุคคลแรกที่พบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพ นางเป็นบุคคลแรกที่ประกาศเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

    การกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นหลักประกันว่าผู้ตายจะกลับคืนชีพเช่นเดียวกัน ในจดหมายฉบับแรกของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ เขาบอกว่า “ถ้าเราประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว เพราะเหตุใดบางท่านจึงพูดว่าบรรดาผู้ตายจะไม่กลับคืนชีพเล่า ถ้าผู้ตายไม่กลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าก็มิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน” (1 คร 15:12-14) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าคือรากฐานของการกลับคืนชีพของเรา
    ในหนังสือกิจการอัครสาวก นักบุญเปโตรยืนยันว่า “เขาประหารพระองค์โดยตรึงบนไม้กางเขน แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม และโปรดให้พระองค์แสดงพระองค์แก่ ... เราทั้งหลายที่ได้กินและได้ดื่มร่วมกับพระองค์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (กจ 10:39-41) ถ้าเราเดินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างซื่อสัตย์ เราก็จะกลับคืนชีพร่วมกับพระคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ ขอให้การฉลองปัสกาของเราไม่เป็นเพียงโอกาสแสวงหาความสนุกสนาน ขอให้การฉลองปัสกาของเราอย่าจบลงด้วยการเล่นประทัด ตกแต่งวัด รีบไปซื้อหาสุราและเนื้อสัตว์ กินอาหารและเลี้ยงฉลองอย่างฟุ่มเฟือยในบ้านเท่านั้น การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าคือรากฐานของความเชื่อของเรา และเป็นหลักประกันสำหรับการกลับคืนชีพของเรา ถ้าเราติดตามพระองค์อย่างซื่อสัตย์ เราก็จะกลับคืนชีพเหมือนพระองค์ ถ้าเราสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์บนโลกนี้ เราย่อมจะสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในสวรรค์ด้วย ขอให้ความหวังว่าเราจะกลับคืนชีพช่วยเราให้เจริญชีวิตคริสตชนอย่างแท้จริง คือชีวิตที่เคารพความจริงและความยุติธรรม ชีวิตแห่งความรักและความใจกว้าง ชีวิตที่ถ่อมตนและเมตตากรุณา ชีวิตแห่งการรับใช้ผู้อื่นและไม่เห็นแก่ตัว ชีวิตแห่งความยินดีและสันติสุข

    พระคริสตเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นว่าหนทางแห่งกางเขนไม่ใช่หนทางแห่งความตาย แต่เป็นหนทางที่นำไปสู่ชีวิต และสิริรุ่งโรจน์ ดังนั้น เราจงยกกางเขนในแต่ละวันของเราขึ้นแบก และติดตามผู้นำและพระผู้ไถ่ของเราเถิด ขอให้แบบฉบับของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสละชีวิตตนเองเป็นเครื่องบูชาบนไม้กางเขน และกลับคืนพระชนมชีพนี้ช่วยให้เราเข้มแข็ง ทุกคนที่ดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้าไม่มีเหตุผลให้ต้องกลัวความตาย สำหรับคนเหล่านี้ ความตายคือกำไร เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต เป็นประตูทองคำที่เปิดเข้าสู่ชีวิตนิรันดร

    เพื่อนที่รักทั้งหลาย เรามาที่นี่เพื่อพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ เพื่อเพ่งพินิจการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ นี่คือความลับของความยินดีของเรา พระเยซูเจ้าทรงได้รับความเจ็บปวดทรมานและความตายบนโลกนี้ ดังนั้น สำหรับเรา โลกนี้จึงไม่ใช่สถานที่ที่เราจะได้พบความยินดีที่แท้และถาวร เราต้องค้นหาความยินดีเช่นนี้ในที่อื่น พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ไปยังดินแดนแห่งการกลับคืนชีพ ที่ซึ่งจะไม่มีความตายอีกต่อไป พระองค์ทรงเชิญเราไปยังบ้านของพระบิดา ให้เราเข้าร่วมในงานเลี้ยงนิรันดรในฐานะพี่น้องชายหญิงของพระองค์

    เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับปัสกา และสำหรับทุกสิ่งที่ทำให้ปัสกามีความหมายสำหรับเรา เช้าวันปัสกาส่วนตัวของเราคงอยู่ไม่ห่างไกลจากเวลานี้มากนัก ระหว่างนี้ เราอาจพบว่าเรายังต้องปีนเขากัลวารีโออีกสองสามลูก แต่เมื่อผ่านเนินเขาเหล่านี้แล้ว สิ่งที่รอคอยเราอยู่ข้างหน้าคือปัสกาอันรุ่งโรจน์ของเรา องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับมารธา และตรัสกับเราทุกคนว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพ และเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิต และเชื่อในเรา จะไม่มีวันตายเลย” (ยน 11:23)

    หนทางแห่งการเสียสละคือหนทางไปสู่สิริรุ่งโรจน์ ท่านจำ ดร. เกรแฮม สเตนส์ และบุตรชายเล็ก ๆ สองคนของเขาได้ไหม ทั้งสามคนถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในประเทศของเรา และในยุคสมัยของเรา บัดนี้ เขาทั้งสามได้กลายเป็นอมตะไปแล้ว เพื่อนที่รักทั้งหลาย แม้แต่ในวันนี้ พระคริสตเจ้าก็กำลังถูกตรึงกางเขนในตัวของศิษย์ของพระองค์ในหลายภูมิภาคของโลก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศของเราด้วยเช่นกัน พระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนจะกลับคืนพระชนมชีพ จงอย่าเศร้าใจไปเลย ความตายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ เมล็ดข้าวสาลีที่ตกลงสู่ดิน และตายไป จะให้ผลผลิตอย่างบริบูรณ์
    ในจดหมายถึงชาวฟิลิปปี นักบุญเปาโลกล่าวว่า “จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด ... ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่งและประทานพระนามให้แก่พระองค์ พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพจะย่อเข่าลงนมัสการพระนาม ‘เยซู’ นี้ และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าพระบิดา” (ฟป 2:5-11)

    นี่คือคำประกาศพระวาจาของพระเจ้าโดยนักบุญเปาโล และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจริง ท่านเชื่อเช่นนี้หรือไม่ ขอให้เราจงอย่าคลางแคลงใจ อย่ากลัว วันหนึ่งจะมาถึงเมื่อทุกคนในทุกสถานที่ในโลกจะเทิดพระเกียรติพระคริสตเจ้า และประกาศว่าพระองค์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า เรามีชีวิตอยู่ด้วยคำรับรองนี้ คำรับรองสิ่งที่ไม่เห็นด้วยตา เรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวังนี้ ความหวังในสิ่งที่จะมาถึง ถ้าเราตายพร้อมกับพระคริสตเจ้า เราจะกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์ด้วย อาแมน อัลเลลูยา!

บทรำพึงที่ 2
การกลับคืนพระชนมชีพ ตามคำบอกเล่าของมัทธิว
มธ 28:1-10

หลังจากวันสับบาโต เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์...

    นี่คือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่อย่างแท้จริง “เวลาของการกลับคืนพระชนมชีพ” เป็นส่วนหนึ่งของ “สัปดาห์ใหม่” “หลังจากวันสับบาโต” ... วันแรกซึ่งกำลังเริ่มต้นนี้ คือ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งประกาศไว้ในพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม (สดด 109:5, อสย 2:12, 13:6, ยรม 46:10, ยอล 1:15, 1:11, 3:1, ศคย 14:1, เป็นต้น)

    เราให้ความสำคัญกับวันอาทิตย์ของเราอย่างไรบ้าง ... เรามักทำให้วันอาทิตย์เป็นเพียง “วันที่เจ็ด” ของสัปดาห์หรือเปล่า – เป็น “วันสับบาโต” สำหรับพักผ่อนหลังจากทำงานมาตลอดสัปดาห์ ... ถ้ามองในแง่นี้ วันจันทร์จะกลายเป็นวันแรกของสัปดาห์...

    แต่สำหรับคริสตชนยุคแรก วันปัสกาเป็น “วันต้นสัปดาห์” อย่างแท้จริง เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง และนมัสการพระเจ้า “ก่อน” เริ่มต้นทำงาน ... วันอาทิตย์ที่ฉลองกันอย่างคริสตชนอย่างแท้จริงจะเป็นจุดเริ่มต้น และมีอิทธิพลต่อวันต่อๆ มาในสัปดาห์นั้น ... วันสับบาโต (“วันที่เจ็ด”) เป็นจุดสิ้นสุดของอดีต – วันอาทิตย์ (“วันต้นสัปดาห์”) เปิดทางไปสู่อนาคต...

    “สัปดาห์” ที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นขึ้นนี้จะดำเนินต่อไปจนถึง “สิ้นพิภพ” (มธ 28:20) นี่คือ “ยุคขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาพบทุกคนที่กำลังแสวงหาความหมายของชีวิตหลังความตาย...

    ขอให้ชีวิตของเรา – ชีวิตที่ธรรมดา ซ้ำซากจำเจ – ได้รับอิทธิพลจากวันอาทิตย์เถิด...

มารีย์ ชาวมักดาลา และมารีย์อีกผู้หนึ่ง ไปดูพระคูหา

    ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่คนมีความเห็นตรงกันในจุดนี้ คือ สตรีเป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบการกลับคืนพระชนมชีพ ... หลักฐานคงต้องชัดเจนมาก และประทับอยู่ในความทรงจำอย่างลึกล้ำมาก – เพราะการยอมรับเช่นนี้ขัดแย้งกับทัศนคติของคนในยุคนั้น ... และอันที่จริง ลูกาบอกเราว่า ผู้นำกลุ่มคืออัครสาวก 11 คน คิดว่าคำยืนยันของสตรีเหล่านี้เป็นเพียง “เรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11)...

    เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นความจริงสำคัญสองข้อ :
-    ในพระศาสนจักร บทบาทของ “เพื่อนสนิท” ขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความสำคัญสูงสุด และบ่อยครั้งสำคัญกว่าบทบาทของ “ผู้มีอำนาจหน้าที่” ...
-    งานอภิบาลของสตรีเป็นสิ่งสำคัญในพระศาสนจักร ... และงานหลักประกอบด้วย “การประกาศข่าวดี”

    พระศาสนจักรยุคแรกเน้นความจริงข้อนี้มาก กล่าวคือ เราเห็นบรรดาศิษย์ชาย (แม้แต่บุคคลที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกไว้) ได้ทอดทิ้ง ปฏิเสธ และถึงกับทรยศพระเยซูเจ้า แต่พวกสตรีติดตามเหตุการณ์พระทรมาน และคอยดูตลอดเวลาด้วยความรักและใส่ใจ ... พวกนางอยู่ที่เชิงกางเขน (มธ 27:56) พวกนางนั่งรออยู่ที่หน้าคูหาเหมือนกับด้วยความคาดหวัง (มธ 27:61) และบัดนี้ พวกนางเป็นคนกลุ่มแรกที่ไปที่พระคูหาตั้งแต่เช้าตรู่ ที่ซึ่งพวกนางค้นพบ “ข่าวดี” (มธ 28:1) ... และพระเยซูเจ้าทรงส่งสตรีสองคนนี้ – คือมารีย์ ชาวมักดาลา และมารีย์ อีกคนหนึ่ง – ไปเป็น “อัครสาวก” บอกข่าวแก่ “อัครสาวก” ... เป็นผู้เผยแพร่ข่าวดีกลุ่มแรกเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพ (มธ 28:7) ...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจสตรีสองคนนี้ในตอนเช้าของวันปัสกา ... บัดนี้ สตรีสองคนนี้จะได้ยินคำทักทายเป็นครั้งแรกของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ...

บัดนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงจากสวรรค์ เข้าไปกลิ้งหินออกและนั่งบนหินนั้น ใบหน้าของทูตสวรรค์แจ่มจ้าเหมือนสายฟ้า อาภรณ์ขาวราวหิมะ ทหารยามตกใจกลัวทูตสวรรค์จนตัวสั่นหน้าซีดเหมือนคนตาย

    “บัดนั้น” (behold หรือ kai idou ในภาษากรีก) เป็นคำที่หยิบยืมมาจากคำศัพท์ของประกาศก (อสค 1:1, 4, อสย 25:9, 62:11 เป็นต้น) เป็นคำที่ใช้เกริ่นเพื่อเตรียมผู้ฟังให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “การเผยแสดง” ซึ่งบังคับให้ผู้ฟังยอมรับ แต่ไม่อาจอธิบายได้เพราะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ...

    มัทธิวชอบใช้คำนี้เกริ่นก่อนจะเกิดเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ ... เช่น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง (มธ 3:16, 17) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง (มธ 17:3, 5) และเมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ “ทันใดนั้น ม่านในพระวิหารก็ฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง แผ่นดินสั่นสะเทือน” (มธ 27:51) ... และเมื่อพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “บัดนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง” (มธ 28:2) ... เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เพราะได้ทิ้งร่องรอยที่ชัดเจนไว้เบื้องหลัง คือ พระคูหาที่ว่างเปล่า หินถูกกลิ้งออกไปด้านข้าง และความเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงของบรรดาศิษย์ จากมนุษย์ที่กลัวตาย กลายเป็นพยานผู้กล้าหาญ...
    แต่เหตุการณ์นี้ยังอยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์ด้วย กล่าวคือ ไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานเมื่อพระเยซูเจ้า “กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง” อย่างที่ภาพเขียนมากมายพยายามนำเสนอ ... พระวรสารนำเสนอเหตุการณ์นี้อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง เป็นเครื่องหมายหนึ่งที่ยืนยันความจริงแท้ ... แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ จนกระทั่งมัทธิว ต้อง “ตกแต่ง” ด้วยภาพลักษณ์คลาสสิกต่าง ๆ ที่ใช้ในพระคัมภีร์ เพื่อแสดงให้เห็นการมาถึงของ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
-    “แผ่นดินไหว” (อมส 8:8, อสย 2:10, ยอล 2:10 เป็นต้น)
-    “ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เครื่องหมายของสิ่งเหนือธรรมชาติ (ปฐก 16:7, อพย 3:2, ดนล 3:49 เป็นต้น)
-    “สายฟ้า” (ยอล 3:3, อพย 19:6, 2 มคบ 10:30, สดด 76:19, ดนล 10:6 เป็นต้น)
-    “อาภรณ์ขาว” (ดนล 7:9, อสย 9:2, วว 1:13, 4:4, 10:30 เป็นต้น)
-    “ความกลัว” สัญลักษณ์ของความยำเกรงเมื่อพระเจ้าเสด็จมาใกล้ (ยอล 1:15, 2:1, อพย 20:1, อสย 6:5, ดนล 8:17-18, สดด 113:7, วนฉ 6:22, 13:22 เป็นต้น)

    มัทธิวเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพียงคนเดียวที่บอกเล่าเรื่องราวการเปิดพระคูหา ... เขาไม่ได้แสดงภาพของการกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจบรรยายได้ – แต่เขาบรรยายผลงานของสวรรค์ด้วยถ้อยคำที่เป็นรหัสว่า “ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงมาจากสวรรค์” ราวกับจะบอกว่า อย่าได้พยายามปิดพระคูหานี้อีกเลย ... ท่านไม่อาจต่อต้านสวรรค์ได้!...

ทูตสวรรค์กล่าวแก่สตรีทั้งสองคนว่า “อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านกำลังมองหาพระเยซู ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ เพราะทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วตามที่ตรัสไว้ มาซิ มาดูที่ที่เขาวางพระองค์ไว้”

    ทูตสวรรค์เป็นผู้ประกาศสารปัสกา...

    นี่คือเครื่องหมายตามธรรมประเพณีที่แสดงว่าพระเจ้าทรงยื่นมือเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ก่อนอื่น “ผู้นำสาร” ชี้ให้เห็นว่าการกลับคืนพระชนมชีพไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เห็นด้วยตา และจินตนาการได้ ... พระคูหาที่ว่างเปล่ายังไม่ใช่ “ข้อพิสูจน์” แต่เป็นคำถาม หรือเครื่องหมาย ... และเครื่องหมายนี้สามารถตีความได้หลายทาง กล่าวคือ มีคนมาขโมยพระศพ เป็นเรื่องเหลวไหลไม่น่าเชื่อถือ เป็นกลลวง เป็นภาพลวงตา...

    แม้แต่ในปัจจุบัน ก็ยังมีคนยกข้อโต้แย้งนานาประการเพื่อไม่ยอมรับ “คำถาม” นี้ ... เพราะเขาคิดเสมอว่าพระคูหานั้นเป็น “คูหาปิด” ที่ไม่สอนอะไรเลย เป็นสถานการณ์ที่ปล่อยให้มนุษย์เผชิญหน้ากับความตายต่อไป – เหมือนในอดีต...

    ทำไมพระคูหาจึงถูกเปิด และว่างเปล่า...

    คำตอบคือ นี่เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ “ทูตสวรรค์ เป็นผู้ให้คำตอบนี้...

    “ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน” ทรงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นแล้ว พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่นี่ ... แล้วพระองค์อยู่ที่ไหน...

“จงรีบไปบอกบรรดาศิษย์ว่าพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว พระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านไปในแคว้นกาลิลี ท่านจะพบพระองค์ที่นั่น นี่คือข่าวดีที่ข้าพเจ้าแจ้งแก่ท่าน”

    ก่อนการค้นพบพระคูหาที่ว่างเปล่านี้ ดินแดนพันธสัญญาที่มนุษย์จะพบกับพระเจ้าในลักษณะพิเศษ คือ แคว้นยูเดีย ซึ่งมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นจุดศูนย์กลาง ... แต่บัดนี้ มีสถานที่ใหม่แห่งหนึ่งที่เปิดขึ้นสำหรับการพบกันอย่างเหนือคำบรรยายนี้ คือ แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ ... การกลับคืนพระชนมชีพเผยแสดงว่าจะไม่มีข้อจำกัด และขอบเขตปิดกั้นไม่ให้พระเจ้าประทับอยู่กับมนุษย์ ... และมัทธิวจะสรุปพระวรสารของเขาด้วยการสำแดงพระองค์ในแคว้นกาลิลี  ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ... เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:19-20)...

    คริสตชนต้องไม่ได้แต่ “ยืนมอง” พระคูหาที่ว่างเปล่านี้เพราะพระเยซูเจ้าทรงอยู่ “ที่อื่น” ... พระองค์ “ประทับอยู่” ในอีกแบบหนึ่ง – และประทับอยู่ในทุกสถานที่ ... ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด ท่านสามารถพบพระองค์ได้ผ่านทางความเชื่อ พระองค์ทรง “เสด็จล่วงหน้า” ท่าน เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ภาพลักษณ์เชิงพื้นที่ พระเยซูเจ้ามิได้ทรงซ่อนพระองค์ในพุ่มไม้ในแคว้นกาลิลี รอคอยให้เพื่อน ๆ ของพระองค์มาหา และอยู่กับพระองค์ เราต้องเลิกพยายามวาดภาพเหตุการณ์นี้ในจินตนาการในลักษณะที่เป็นรูปธรรม...

    พระเจ้าข้า พระองค์ประทับอยู่ในใจกลางชีวิตของเรา และอาศัยพระองค์เราจึงมีชีวิต...

    ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ประทับอยู่ในใจกลางชีวิตของเรา ทรงประทับอยู่อย่างมีชีวิตอย่างแท้จริง...

สตรีทั้งสองคนมีทั้งความกลัวและความยินดีอย่างยิ่ง รีบออกจากพระคูหา วิ่งไปแจ้งข่าวแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์

    ทูตสวรรค์บอกให้พวกนางรีบไป ... พวกนางรีบวิ่งไป ... เสียเวลาไม่ได้ ... มารีย์ ชาวมักดาลา และมารีย์ อีกคนหนึ่งออกวิ่งในยามเช้าตรู่ พวกนางตัวสั่น แต่ก็ยินดี

ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาพบสตรีทั้งสองคน ตรัสว่า “จงยินดีเถิด”

    เราเห็นแล้วว่ามัทธิวชอบใช้คำว่า “บัดนั้น ... ทันใดนั้น” เพื่อเรียกให้เราตั้งใจฟัง เพราะเหตุการณ์เหนือธรรมชาติบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น...

    “Kairete” หรือจงยินดีเถิด ... พระเยซูเจ้าทรงแสดงความคุ้นเคยอย่างน่าพิศวง...

ทั้งสองคนจึงเข้าไปใกล้ กอดพระบาทนมัสการพระองค์

    มัทธิวแสดงให้เราเห็นทัศนคติ (กราบนมัสการ) ซึ่งปรากฏให้เห็นตลอดชีวิตของพระเยซูเจ้า ในพระวรสารของเขา เช่น โหราจารย์ “คุกเข่าลงนมัสการ” เบื้องหน้าพระกุมารเยซู (มธ 2:11) คนป่วย “กราบลง” เบื้องหน้าผู้ที่ช่วยเหลือเขา (มธ 8:25, 9:18, 15:25) ผู้รับใช้ “กราบพระบาท” พระเยซูเจ้า และทูลอ้อนวอนพระองค์ (มธ 18:26, 20:20) ... และประชาชน “กราบนมัสการ” พระองค์ ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพ หรือเทิดทูน – นี่คือทัศนคติที่สงวนไว้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น (มธ 4:9-10, 14:33, 25:9, 17) ...

    คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในกลุ่มเยาวชน กลับมาเห็นคุณค่าของกิริยาอันงดงามนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อเราคุกเข่าลงกับพื้น ใช้ฝ่ามือและหน้าผากแตะกับพื้น ศาสนาอิสลาม และศาสนาพุธ ก็กราบนมัสการเช่นนี้เหมือนกับศาสนาหลักอื่น ๆ ... เราก็ควรกลับมาใช้กิริยานี้ในการภาวนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เรานมัสการพระเจ้าอย่างจริงใจมากขึ้น (ด้วยการใช้ทั้งร่างกายของเราภาวนา) “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยู่ต่อหน้าพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าต้องการมอบตนเองโดยสิ้นเชิงให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์”...

พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเราให้ไปยังแคว้นกาลิลี”...

    ช่างเป็นภาพที่เรียบง่ายที่สุด ... ต่างจากภาพลักษณ์ฉูดฉาดที่ “ตกแต่ง” การสำแดงตนของทูตสวรรค์ของพระเจ้า ... พระเยซูเจ้าทรงทำตัวปกติมาก พระองค์เพียงแต่ทวนคำพูดของทูตสวรรค์ แต่มีความแตกต่างที่เล็กน้อยมาก ซึ่งเราต้องหัดพิเคราะห์แยกแยะในบทพระวรสาร...

    พระเยซูเจ้าทรงเรียก “ศิษย์” ของพระองค์ว่า “พี่น้อง” ของพระองค์ ... แม้ว่าพวกเขามีข้อบกพร่อง และเคยปฏิเสธพระองค์ แต่เขาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “พี่น้อง” … เราสามารถสัมผัสการกลับคืนพระชนมชีพได้ในพระศาสนจักรเท่านั้น กล่าวคือ คนสนิท (พวกสตรี) เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เห็น ทั้งนี้เพราะพวกนางกระทำการด้วยสัญชาตญาณ ... แต่อัครสาวกสิบเอ็ดคนจะเป็นประจักษ์พยานอย่างเป็นทางการ...