แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์มหาทรมาน (อาทิตย์ใบลาน)
อิสยาห์ 50:4-7; ฟิลิปปี 2:6-11; มัทธิว 26:14 - 27:66

บทรำพึงที่ 1
เหตุผลสามข้อ
ความตายของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายของความรัก เป็นคำเชิญให้รัก และเป็นการเผยแสดงความรัก

    เมื่อเดือนมีนาคม 1986 นิตยสาร USA Today ได้ตีพิมพ์บทความหน้าหนึ่งเรื่องการตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้า บทความนั้นเขียนขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากบทความของแพทย์คนหนึ่งที่ตีพิมพ์ในนิตยสารการแพทย์ของนิวอิงแลนด์

    หลังจากแสดงความคิดเห็นในมิติด้านการแพทย์ของการตรึงกางเขนแล้ว แพทย์คนนี้ตั้งข้อสังเกตว่าเรามองการตายของพระเยซูเจ้าอย่างโรแมนติกเกินไป เขาบอกว่า ในความเป็นจริง การตรึงกางเขนเป็นการตายที่โหดร้ายที่สุดอย่างหนึ่งเท่าที่เราสามารถจินตนาการได้

    นักประพันธ์ยุคโบราณบอกเราว่า บ่อยครั้งที่นักโทษถูกเฆี่ยนก่อนถูกตรึงกางเขน และการเฆี่ยนก็เป็นการลงโทษที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง บางครั้งเหยื่อถึงกับเสียชีวิตระหว่างถูกเฆี่ยน

    นักประพันธ์ยุคโบราณบอกเราด้วยว่าเหยื่อของการตรึงกางเขนบางครั้งถึงกับเสียสติ คนเหล่านี้ใช้ชั่วโมงสุดท้ายบนโลกนี้อย่างคนบ้า นักประพันธ์ยุคโบราณคนหนึ่งบอกเราว่า หลังจากกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายเมื่อ ค.ศ. 70 กลุ่มนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้ทำการต่อสู้แบบกองโจรกับชาวโรมัน  วันหนึ่งหัวหน้าคนกลุ่มนี้ถูกจับตัวได้ เจ้าหน้าที่โรมันขู่ว่าจะตรึงกางเขนเขาต่อหน้าสมาชิกกลุ่มที่ซ่อนตัวอยู่ตามถ้ำข้างเนินเขาที่สูงชัน สมาชิกกลุ่มกองโจรยอมจำนนเพราะไม่อาจทนเห็นหัวหน้าของตนต้องทนทรมานกับการประหารชีวิตอย่างอัปยศ และสยดสยองเช่นนี้ได้

    ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราต้องถามตนเองว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงยอมรับความตายด้วยการตรึงกางเขน ทำไมพระองค์จึงทรงยอมรับความเจ็บปวดอย่างทารุณเช่นนี้

    คำตอบของคนทั่วไปแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม

    กลุ่มแรก คือ พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ความตายของพระองค์เป็น “เครื่องหมาย” อย่างหนึ่ง พระองค์ทรงต้องการบอกเราอย่างที่ทรงเคยบอกศิษย์ของพระองค์บ่อยครั้งระหว่างทรงมีชีวิตบนโลกนี้ว่า “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)

    กลุ่มที่สอง คือ พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ความตายของพระองค์เป็น “คำเชิญ” พระองค์ทรงต้องการเชิญเราให้ทำตามที่พระองค์ทรงสอนศิษย์ของพระองค์บ่อยครั้งระหว่างทรงมีชีวิตบนโลกนี้ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

    กลุ่มสุดท้าย คือ พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ความตายของพระองค์เป็น “การเผยแสดง” พระองค์ทรงต้องการสอนเราอย่างที่พระองค์ทรงสอนศิษย์ของพระองค์บ่อยครั้งระหว่างทรงมีชีวิตบนโลกนี้ว่า ในความรักย่อมต้องมีความทุกข์ “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มก 8:34)

    ดังนั้นการตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้าจึงเป็นการประกาศข้อความสำคัญสามประการ หนึ่ง เป็นเครื่องหมายแสดงความรักของพระเยซูเจ้าต่อเรา สอง เป็นคำเชิญให้เรารักเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงรัก และประการสุดท้าย เป็นการเผยแสดงว่าเมื่อรักแล้วก็ต้องพร้อมจะยอมรับความทุกข์ที่ตามมา

    ในสามประการนี้ ประการสุดท้ายเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้ยิน โดยเฉพาะในยุคของเรา ในยุคนี้ที่มียาแก้ปวด และการตอบสนองความต้องการอย่างทันอกทันใจ เรามักลืมไปว่าชีวิตต้องรวมไว้ด้วยความทุกข์ เรามักลืมไปว่าเมื่อเรารัก เราต้องยอมรับความทุกข์ที่ตามมา

    เมื่อคืนวันจันทร์ ที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1986 ก่อนการมอบรางวัลตุ๊กตาทอง บาร์บารา วอลเตอร์ส สัมภาษณ์ประธานาธิบดีเรแกนและภรรยา คำถามหนึ่งที่เธอถาม คือ บุคคลทั้งสองทำอย่างไรจึงสามารถประคับประคองความรักให้คงอยู่ตลอด 35 ปีของชีวิตสมรส เมื่อทั้งสองไม่ตอบทันที บาร์บาราพยายามช่วยด้วยการบอกว่า “เป็นเพราะคุณทั้งสองพร้อมจะให้และรับแบบ 50-50 ใช่หรือเปล่า”

    สตรีหมายเลขหนึ่งหัวเราะเบา ๆ และพูดว่า “ชีวิตสมรสแบ่งไม่ได้ลงตัวขนาดนั้นหรอก บางครั้งมันเหมือนกับ 90-10 บ่อยครั้งที่เราฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียสละมากมายกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง” ท่านประธานาธิบดี พยักหน้าเห็นด้วย

    นั่นคือจุดสำคัญของการสัมภาษณ์ เพราะได้ระบุสิ่งสำคัญมากเช่นนั้น คือ เมื่อเรารัก เราไม่สามารถคอยจดคะแนน วันใดที่สามี หรือภรรยาเริ่มจดคะแนนในชีวิตสมรส วันนั้นคือวันที่ชีวิตสมรสเริ่มตาย

    ความรักของสามีภรรยา และความรักระหว่างบุคคลในครอบครัว ตามปกติจะต้องมีความเจ็บปวดรวมอยู่ด้วยเสมอ บางครั้งเป็นความเจ็บปวดสาหัสทีเดียว และความเจ็บปวดนั้นมักแบ่งรับเท่า ๆ กันระหว่างสมาชิกครอบครัวไม่ได้ บ่อยครั้งที่เอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก เช่น 90-10

    เราจะย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของเรา คือ การตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงใช้การสิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวดของพระองค์สื่อสารสามข้อให้แก่เรา

    ข้อแรก พระเยซูเจ้าทรงบอกว่าพระองค์ทรงรักเรา “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย”

    ข้อสอง พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า เราควรรักกัน และกัน “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน”

    ข้อสาม พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า ในความรักย่อมต้องมีความทุกข์ “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา”

    จึงสรุปได้ว่าการตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายของความรัก เป็นคำเชิญให้รัก และเป็นการเผยแสดงเกี่ยวกับความรัก

    การตรึงกางเขนนี้บอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงรักเราด้วยความรักระดับสูงสุด ทรงเชิญชวนเราให้รักผู้อื่นเช่นนี้ และเตือนเราว่าในความรักย่อมมีความทุกข์เสมอ

    นี่คือบทเรียนเกี่ยวกับความรักที่เรานำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรานำกลับไปบ้านจากพิธีกรรมวันนี้ และเป็นบทเรียนที่พระองค์ทรงต้องการให้เราแบ่งปันกับชาวโลก

    พระองค์ทรงต้องการให้เราบอกชาวโลก ด้วยการแสดงความรักของเราเป็นตัวอย่าง ว่าพระองค์ทรงรักเรา ว่าเราควรรักกันและกัน และว่าในความรักย่อมมีความทุกข์เสมอ – บางครั้งเป็นความทุกข์สาหัสทีเดียว

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการสวดบทภาวนาที่เราคุ้นเคย แต่ใช้คำพูดของเราเอง ขอให้ท่านก้มศีรษะ และสวดภาวนาพร้อมข้าพเจ้าในใจ
    พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้รู้จักรัก
    โปรดสอนเราให้รักผู้อื่นอย่างที่พระองค์ทรงรักเรา
    โปรดทรงสอนเราให้รัก โดยไม่จดจำสิ่งที่เรายอมเสียสละ
    โปรดทรงสอนเราให้รัก และไม่สนใจความเจ็บปวด
    โปรดทรงสอนเราให้รัก และไม่เรียกร้องให้เขารักตอบในระดับเท่าเทียมกัน
    โปรดทรงสอนเราให้รัก และไม่ร้องขอรางวัลเป็นพิเศษ
    ยกเว้นเพื่อให้เรารู้ว่า เรากำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 26:14 – 27:66

    ในคำบอกเล่าเรื่องพระทรมาน มัทธิวไม่ได้รายงานเหตุการณ์ หรือเขียนคำอธิบายการพิพากษาคดีระหว่างช่วงเวลา 24 ชั่วโมงสุดท้ายของพระเยซูเจ้า แต่เขาตีความเหตุการณ์สำคัญนี้ทางเทววิทยา ขณะที่เขียนพระวรสารฉบับนี้ มัทธิวรู้แล้วว่าบุรุษที่ถูกตรึงกางเขนนี้ได้กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งแล้ว เขาอ้างข้อความจากพระคัมภีร์สนับสนุนคำบอกเล่าของเขาเพื่อแสดงว่าพระเจ้าทรงกำลังนำทางเหตุการณ์เหล่านี้ เขาไม่พยายามทำให้เราซาบซึ้งใจจนหลั่งน้ำตา แต่ต้องการให้เรานมัสการพระเจ้า และถึงกับละอายใจ พระเยซูเจ้ายังทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ทรงเป็นผู้ควบคุมเหตุการณ์เหล่านี้...

วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ บรรดาศิษย์เข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน” พระองค์ตรัสว่า “จงเข้าไปในกรุง ไปพบชายคนหนึ่ง บอกเขาว่า ‘พระอาจารย์บอกว่า เวลากำหนดของเราใกล้เข้ามาแล้ว เราจะกินปัสกากับศิษย์ของเราที่บ้านของท่าน’ “

    เป็นการเปิดฉากอย่างสง่า .. มัทธิวเน้นว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า “เวลากำหนดของเราใกล้เข้ามาแล้ว” พระองค์ทรงรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น – ทั้งปัสกา ... การเดินทาง...

    การไม่เอ่ยชื่อของชายเจ้าของบ้าน ... เพียงแต่บอกว่าชายคนหนึ่ง ... เชิญชวนเราให้เป็น “ชายคนนั้น” ... ให้เราเป็นเจ้าของบ้านซึ่งพระเยซูเจ้าทรงต้องการ “กินเลี้ยงปัสกา” ร่วมกับศิษย์ของพระองค์...

“เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนหนึ่งในที่นี้จะทรยศต่อเรา” – “เป็นข้าพเจ้าหรือพระอาจารย์” – “ใช่แล้ว”

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงพิพากษา ไม่ทรงประณาม “ใช่แล้ว” ... คนผิดเปิดเผยตัวออกมาเอง – พระเยซูเจ้าทรงเพียงแต่ส่งเขากับไปพิจารณามโนธรรม...

    เราจะได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้อีกสองครั้ง “พระองค์ตรัสตอบหัวหน้าสมณะว่า “ใช่แล้ว” (มธ 26:64) และตรัสตอบปิลาตว่า “ท่านพูดเองนะ” (มธ 27:11) แต่ละคนต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ... เป็นความรับผิดชอบของท่านที่จะเห็น ... เป็นความรับผิดชอบของท่านที่จะตัดสินใจ เราได้รับการบอกเล่าครั้งแล้วครั้งเล่า...

ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ ตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า “ทุกท่านจงดื่มจากถ้วยนี้เถิด นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญา ที่หลั่งออกมาสำหรับคนจำนวนมาก เราบอกท่านทั้งหลายว่า แต่นี้ไป เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นอีก จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่กับท่านในพระอาณาจักรของพระบิดาของเรา”

    พระเยซูเจ้าทรงรู้ดีว่าพระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ นี่คืออาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์ “การดื่มครั้งสุดท้ายเพื่อฉลองมิตรภาพ” พระองค์ตรัสว่า “เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นอีก”...

    แต่ความตายที่ใกล้เข้ามานี้ไม่ทำให้พระองค์หวาดกลัว หรือท้อถอย พระองค์ทรงถวายพระพรแด่พระบิดา ตรัสขอบพระคุณ – พระองค์กำลังถวายบูชาขอบพระคุณ ... พระองค์ตรัสขอบพระคุณพระบิดา ... ทำไม ... ในเวลานั้น อะไรคือสาระสำคัญของ “การขอบพระคุณ” ... ถ้อยคำที่เน้นย้ำในประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัสนี้ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือจุดประสงค์ของ “การสรรเสริญ” ครั้งนี้ ซึ่งระเบิดออกมาจากดวงหทัยของพระองค์ในนาทีสำคัญยิ่งนี้ และทำให้บูชาขอบพระคุณของเรามีคุณค่านิรันดร…

    พระเยซูเจ้าตรัส “ขอบพระคุณ” สำหรับพันธสัญญาอันน่าพิศวงระหว่างพระเจ้า และมนุษยชาติ ... สำหรับผลที่เกิดจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ซึ่งจะช่วยคนจำนวนมากให้รอดพ้น ... สำหรับการอภัยบาปซึ่งจะเกิดขึ้นผ่านทางไม้กางเขนของพระองค์ ... สำหรับพระอาณาจักรที่จะสำเร็จเป็นจริงในวันหนึ่งภายใต้แสงสว่างของพระเจ้า ที่ซึ่ง “จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป” ...

    พิธีบูชาขอบพระคุณเป็น “อาหารของคนบาป” ... เป็นการให้อภัยที่เสนอให้แก่ทุกคน ... พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นคนบาป – ทุกคนกำลังจะทอดทิ้งพระองค์ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังจากเขาเพิ่งจะรับศีลมหาสนิทเป็นครั้งแรก ... พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่า “ชุมชนพระศาสนจักร” ของพระองค์ประกอบด้วยชาย และหญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ – แท้จริงแล้วเป็นการชุมนุมของคนบาป ... คริสตชนก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น ๆ โอกาสเดียวของเขา คือ มาร่วมกินอาหาร และการถวายบูชาที่ถวายเพื่อ “ชดเชยบาป” – เพื่อขออภัยบาปของเรา...

เมื่อขับร้องเพลงสดุดีแล้ว ทุกคนออกจากห้อง เพื่อไปยังภูเขามะกอกเทศ

    เราเองก็ควร “ขับร้องเพลงสดุดี” ด้วยความรัก ... เพลงที่แต่งขึ้นโดยได้รับการดลใจจากพระเจ้านี้เป็นบทเพลงที่พระเยซูเจ้าเองเคยใช้ขับร้อง ... ข้าพเจ้าวาดภาพในจินตนาการว่าพระองค์กำลังขับร้องบทเพลงนี้ในเย็นวันนั้นด้วยพระสุรเสียงที่น่าฟัง ... และข้าพเจ้ายืดเวลาการรำพึงนี้ด้วยการขับร้องบทเพลงเดียวกัน...

    บทเพลงสดุดีที่ใช้ในการทำวัตร คือบทภาวนาของพระเยซูเจ้า...

แล้วพระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ทุกท่านจะทอดทิ้งเราในคืนนี้ ... ในคืนนี้เองก่อนไก่ขัน ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง”

    ศิษย์ทุกคนของพระเยซูเจ้าล้วน “เหน็ดเหนื่อย” ... การทดสอบพิเศษสำหรับศิษย์ของพระเยซูเจ้าคือการทดสอบความเชื่อ พวกเขาจะสะดุดล้มเมื่อพบกับความทุกข์ทรมานของพระคริสตเจ้า ... แม้แต่เปโตร ผู้มีบทบาทเป็นผู้นำ และมีความมั่นใจในตนเอง ก็ยังไม่รอดพ้นจากการทดสอบนี้...

เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ชื่อเกทเสมนี พระองค์ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนาที่โน่น” แล้วทรงพาเปโตรและบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย พระองค์ทรงรู้สึกเศร้าและสลดพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสแก่เขาทั้งสามคนว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้ากับเราเถิด” แล้วพระองค์ทรงพระดำเนินไปข้างหน้าอีกเล็กน้อย ทรงซบพระพักตร์ลงกับพื้นดิน อธิษฐานภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”

    สำหรับมัทธิว การเข้าตรีทูตของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี เป็นเพียงการอธิษฐานภาวนาเป็นเวลานาน เขาเอ่ยคำว่า “อธิษฐานภาวนา” ถึงห้าครั้ง พระเยซูเจ้าทรงเข้าตรีทูตระหว่างอธิษฐานภาวนา – พระเยซูเจ้าทรงเข้าตรีทูตขณะทรงร่วมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาของพระองค์ ... แต่พระเยซูเจ้าทรงต้องการเข้าตรีทูตร่วมกับศิษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ “เสด็จกลับมา” หาพวกเขาสามครั้งเพื่อเชิญชวนเขาให้ “อธิษฐานภาวนา” ร่วมกับพระองค์ ... ให้เขา “ตื่นเฝ้า” ร่วมกับพระองค์ (มธ 26:36, 38, 40)...

ยูดาส ซึ่งเป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน มาถึงพร้อมกับคนจำนวนมาก ถือดาบและไม้ตะบองเป็นอาวุธ ... “เพื่อนเอ๋ย จงทำอย่างที่ตั้งใจทำเถิด” ... “ท่านคิดว่าเราจะอ้อนวอนพระบิดาเจ้าให้ส่งทูตสวรรค์มากกว่าสิบสองกองพลมาช่วยเราบัดนี้มิได้หรือ แล้วพระคัมภีร์ที่เขียนว่าจะต้องเป็นเช่นนี้จะเป็นความจริงได้อย่างไรเล่า”

    มัทธิวจะอ้างหลายข้อความจากพระคัมภีร์ภายในคำบอกเล่าของเขา...

    พระทรมานของพระเยซูเจ้าไม่ใช่ “เหตุบังเอิญ” ในประวัติศาสตร์ ... แต่เป็นไปตามแผนการอันเร้นลับของพระเจ้า ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและแจ้งให้มนุษย์รู้เป็นเวลานานก่อนจะเกิดขึ้นจริง ... ไม้กางเขนไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่พระเจ้าไม่รู้ตัว พระองค์ทรงต้องการ และทรงตัดสินใจให้เป็นเช่นนี้ ... พระองค์จะไม่ทรงส่ง “กองพลทูตสวรรค์” ลงมาช่วย – พระองค์จะไม่หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ด้วยการทำอัศจรรย์...

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะยังคิดอยู่ได้อย่างไรว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ควรเกิดขึ้นอย่างที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ยอมรับการทดลองต่าง ๆ ในชีวิตของเรา และข้อจำกัดของเรา โดยสมัครใจยอมรับพระประสงค์อันเร้นลับของพระบิดา ... ผู้ทรงรักเราไม่เสื่อมคลาย ... ผู้ไม่เคยหยุดรักพระบุตรของพระองค์บนไม้กางเขน ... ผู้ทรงรู้สึกเจ็บปวดทรมานร่วมกับพระบุตร ... และทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นร่วมกับพระบุตร...

หลังจากนั้น ศิษย์ทุกคนละทิ้งพระองค์และหนีไป บรรดาผู้ที่จับกุมพระเยซูเจ้านำพระองค์ไปยังบ้านของคายาฟาส มหาสมณะ บรรดาธรรมาจารย์และผู้อาวุโสชุมนุมกันที่นั่น

    เปโตรติดตามพระองค์ “ไปห่าง ๆ” และเข้าไปถึงลานบ้านของมหาสมณะ คอยดูว่า “เหตุการณ์จะจบลงอย่างไร”

    “พยานเท็จ” ปรักปรำพระเยซูเจ้าว่าพระองค์เคยตรัสว่าพระองค์ “มีอำนาจจะทำลายพระวิหารของพระเจ้า และสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน”...

แต่พระเยซูเจ้าทรงนิ่ง มหาสมณะจึงพูดกับพระองค์ว่า “เราสั่งให้ท่านสาบานโดยอ้างพระเจ้าผู้ทรงชีวิต จงตอบเราว่าท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตหรือ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ใช่แล้ว แต่ยังมีมากกว่านั้นอีก เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์ประทับ ณ เบื้องขวาของพระผู้ทรงอานุภาพ และจะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆบนท้องฟ้า”

    ข้อความนี้ก็เป็นข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์อีกเช่นกัน

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกขอร้องอย่างเป็นทางการให้ระบุว่าพระองค์เป็นใคร พระองค์ทรงตอบด้วยประโยคที่ยกมาจากหนังสือประกาศกดาเนียล (7:13) ... พระองค์ทรงยอมรับว่าพระองค์คือพระเมสสิยาห์ที่ประชาชนรอคอย แต่ทรงเผยโดยนัยว่าพระองค์ไม่ใช่พระเมสสิยาห์ตามความคาดหมายของบุคคลที่กำลังพิพากษาพระองค์ ในสถานการณ์ที่พระองค์กำลังเผชิญหน้ากับโทษประหารชีวิตนี้เองที่พระองค์ทรงกล้าประกาศว่า “ตั้งแต่นี้ไป” การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์จะเกิดขึ้นในไม่ช้า...

    ต่อมาเป็นคำบอกเล่าเรื่องการปฏิเสธและการสำนึกผิดของเปโตร และความสิ้นหวังของยูดาส ... เขาแขวนคอตายเพราะความเสียใจเมื่อเขารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกตัดสินประหารชีวิต และยอมรับว่า “ข้าพเจ้าทำบาปที่ได้ทรยศต่อผู้บริสุทธิ์” ... ยูดาส ผู้น่าสงสาร! พระเยซูเจ้าคงแสดงความกรุณาต่อเขา ถ้าเขาเพียงแต่รู้จักที่จะ “ร้องไห้อย่างขมขื่น” เหมือนเปโตร ... นี่คือธรรมล้ำลึกของเสรีภาพของมนุษย์ มนุษย์มีเสรีภาพที่จะยอมรับความผิดของตน และการยอมรับว่า “ข้าพเจ้าได้ทำบาป” เป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ – แต่มนุษย์ก็มีเสรีภาพที่จะรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังได้เช่นกัน คือเมื่อเขาไม่เชื่อในความเมตตาของพระเจ้า...

    หลังจากการพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยศาลทางศาสนา บัดนี้ มาถึงการพิจารณาคดีครั้งที่สองตามกฎหมาย ต่อหน้าปิลาต ผู้ว่าราชการ ... ต่างจากผู้มีอำนาจชาวยิว คนต่างชาติต่างศาสนาคนนี้พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยพระเยซูเจ้า

-    เขาพยายามปล่อยตัวพระเยซูเจ้า โดยเสนอให้ประชาชนเลือกว่าจะอภัยโทษให้แก่นักโทษคนใด ระหว่างพระเยซูเจ้า และบารับบัส...
-    ภรรยาของปิลาต ขอร้องสามีของนางไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับความตายของพระเยซูเจ้า
-    ในที่สุด ปิลาตก็ล้างมือ ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าเขาไม่ขอรับผิดชอบในอาชญากรรมนี้...

    เมื่อปิลาตหมดหนทางแก้ปัญหานี้ได้แล้ว เขายอมแพ้เสียงร้องตะโกนของฝูงชน เรื่องพระทรมานตามคำบอกเล่าของมัทธิว เช่นเดียวกับในคำบอกเล่าเรื่องพระทรมานในพระวรสารฉบับอื่น ๆ บุคคลสำคัญในเหตุการณ์คือพระเยซูเจ้า แต่เราควรสังเกต “สมญา” ที่ใช้เรียกพระองค์ด้วย...

    พระองค์ถูกเรียกว่า “เยซู” 40 ครั้งในช่วงเวลาสำคัญนี้ ราวกับจะตอกย้ำให้เห็นความหมายทางนิรุกติศาสตร์ของคำนี้ (Yeshoua ในภาษาฮีบรู) ซึ่งทูตสวรรค์แจ้งไว้ตั้งแต่ต้น และแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” (มธ 1:23) ... จากนั้น พระองค์ยังได้รับสมญาด้วยว่า “บุตรแห่งมนุษย์” (มธ 26:63, 27:40, 43, 54) ... และคำว่า “พระบิดาของเรา” ซึ่งเน้นให้เห็นว่าพระองค์ทรงน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดาโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้พระทรมานของพระองค์มีความหมายอย่างสมบูรณ์ (มธ 26:29, 39, 42, 53) ... ท้ายที่สุด เหยื่อผู้ถูกมนุษย์เย้ยหยันถูกเรียกด้วยสมญาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (มธ 26:22) พระเยซูเจ้าไม่เคยละทิ้ง “ศักดิ์ศรีอันศักดิ์สิทธิ์” นี้เลย ไม่ว่าพระองค์จะทรงทำอะไร พระองค์ทรง “รู้” พระองค์ทรง “สั่ง” พระองค์ทรง “ร้องขอ” พระองค์ทรงควบคุมเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ (มธ 26:10, 29, 25, 50, 52, 54)...

    เพื่อแสดงให้เห็น “ความยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย” ของบุรุษผู้ทนรับความเจ็บปวดจนสิ้นใจ มัทธิวกล่าวถึง “แผ่นดินสั่นสะเทือน” เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้มีผลต่อทั้งโลก (มธ 27:51, 54) ... เขาใช้คำเดียวกันนี้ในกรณีอื่นอีกสามครั้งด้วย (มธ 8:24, 21:10, 28:2)...

    ขณะที่เราฟังคำบอกเล่าเรื่องพระทรมาน และรำพึงตามเนื้อเรื่อง ขอให้เราอย่าคิดแต่ในระดับของอารมณ์และความเจ็บปวดของมนุษย์ ... แต่เช่นเดียวกับมัทธิว เราควรยอมให้ตนเองถูกชักนำไปสู่การนมัสการ และขอบพระคุณพระเจ้า...