วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 7:10-14; โรม 1:1-7; มัทธิว 1:18-24

บทรำพึงที่ 1
กระแสเรียกให้วางใจ
เช่นเดียวกับพระนางมารีย์ และโยเซฟ เราต้องวางใจในพระเจ้า วางใจในกันและกัน และวางในใจตนเอง

    เมื่อหลายปีก่อน นักประพันธ์ชื่อ อาร์ดิส วิทแมน ได้เขียนบทความที่น่าประทับใจชื่อว่า “ความกล้าหาญที่จะวางใจ”

    ในบทความนี้เธอเล่าว่า วันหนึ่งขณะโดยสารเครื่องบิน เธอพบว่าตนเองได้ที่นั่งติดกับ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ด้านตรงข้ามของ ดร. คิง เป็นที่นั่งของชายวัยกลางคนผิวขาวจากทางใต้

    ระหว่างการเดินทาง วิทแมน และคิง พูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว เธอเห็นได้ว่าชายวัยกลางคนจากทางใต้นั้นนั่งฟังคำสนทนานี้อยู่ด้วย แต่เขาไม่พูดอะไรเลย ในที่สุด เขาก็พูดขึ้นว่า “ลูกๆ ของผมจะยอมรับเรื่องเหล่านี้ได้ไม่ยาก ผมเองก็เรียนรู้ที่จะยอมรับ แต่พ่อของผมสิ – เขาไม่มีวันยอมรับได้”

    ดร. คิง หันไปหาชายคนนี้ และพูดอย่างเข้าใจว่า “คุณพ่อของคุณกำลังทำสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องแล้ว”

    ชายคนนั้นพูดกับ ดร. คิง ด้วยความตื้นตันใจว่า “ขอบคุณที่คุณคิดเช่นนั้นกับพ่อของผม”

    อาร์ดิส วิทแมน กล่าวต่อไปว่า ดร. คิง มีความสามารถอันน่าพิศวงที่จะวางใจว่า แม้แต่ศัตรูของเขาก็ยังมีความปรารถนาลึก ๆ ในใจที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง

    ข้าพเจ้าชอบเรื่องนี้ เพราะข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องนี้เข้าถึงหัวใจของบทอ่านประจำวันนี้ โดยเฉพาะบทอ่านจากพระวรสาร ถ้ามีปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับพระนางมารีย์ และโยเซฟ เกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูเจ้า ปัจจัยนั้นคือความวางใจ

    ข้อแรก พระนางมารีย์จำเป็นต้องวางใจว่า แม้พระนางเป็นพรหมจารี แต่พระนางจะมีบุตรด้วยเดชะพระจิตเจ้า และพระนางก็วางใจ และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามคำของทูตสวรรค์

    ข้อที่สอง โยเซฟ จำเป็นต้องวางใจว่าการตั้งครรภ์ของพระนางมารีย์ เกิดขึ้นด้วยเดชะพระจิตเจ้า และไม่ได้เกิดจากบุคคลอื่นใด โยเซฟวางใจ และรับพระนางมารีย์มาอยู่ในบ้านของเขาในฐานะภรรยา

    หนึ่งในสิ่งที่ยากเย็นที่สุดที่เราถูกขอร้องให้ทำในชีวิตก็คือวางใจ และเราต้องวางใจในสามด้าน

    ด้านแรก เราต้องวางใจในพระเจ้า เหมือนกับที่พระนางมารีย์ และโยเซฟวางใจ

    มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมาร์ติน ลูเธอร์ ผู้เป็นนักปฏิรูปโปรเตสแตนท์ เขามักออกไปเดินเล่นตั้งแต่เช้าตรู่ในป่าละเมาะใกล้บ้านของเขา วันหนึ่งมีคนเห็นเขาเปิดหมวกทักทายนกสองสามตัว และพูดว่า “อรุณสวัสดิ์ นักเทววิทยาทั้งหลาย เจ้าตื่นขึ้นมาแล้วก็ร้องเพลง แต่คนโง่ชราอย่างฉัน ตื่นขึ้นมาแล้วก็กังวลกับทุกสิ่งทุกอย่าง แทนที่จะวางใจในความเอาใจใส่ของพระบิดาสวรรค์ของฉัน”

    ดังนั้น บุคคลแรกที่เราต้องวางใจคือพระเจ้า หนังสือสดุดีกล่าวว่า “ผู้ที่วางใจในพระเจ้าย่อมเป็นสุข” (สดด 84:12)

    ด้านที่สอง เราต้องวางใจในกันและกัน เหมือนกับที่พระนางมารีย์ และโยเซฟ วางใจในกันและกัน

    ในบทความของอาร์ดิส วิทแมน เธอเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเธอเป็นเด็กอายุ 8 ปี วันหนึ่ง มารดาของเธอพาเธอไปดูละครสัตว์ เธอตื่นเต้นมากเมื่อเห็นนักกายกรรมโหนชิงช้าไปมาในอากาศ และคว้าตัวกันไว้ได้ในนาทีสุดท้าย ขณะที่กำลังชม เธอหันไปพูดอย่างตื่นเต้นกับมารดาว่า “เขาไม่กลัวหรือคะแม่ เขาไม่กลัวหรือ” ก่อนที่มารดาของเธอจะตอบ ชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในที่นั่งข้างหน้าเธอหันกลับมา และพูดกับเด็กหญิงว่า “เขาไม่กลัวหรอกหนู เขาวางใจในกันและกัน”

    หลังจากทุกคนเงียบสักครู่ ก็มีใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ผู้ชายคนนั้นควรจะรู้ดี เขาเองก็เคยเล่นกายกรรมบนเส้นลวดมาก่อน” ดังนั้น ความวางใจด้านที่สองก็คือ เราต้องวางใจในกันและกัน

    ท้ายที่สุด เป็นการวางใจที่ทำได้ยากที่สุด ยากยิ่งกว่าการวางใจในพระเจ้า และในกันและกัน นั่นคือการวางใจในตนเอง วางใจในความดีของเราเองในฐานะบุคคล วางใจในคุณค่าของตัวเราเอง และวางใจว่าพระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์พิเศษบางอย่าง

    พระนางมารีย์ และโยเซฟ จำต้องแสดงความวางใจที่ยากยิ่งนี้ และทั้งสองท่านก็ทำได้ และพระผู้ไถ่ของโลกก็ประสูติมาในครอบครัวของท่าน เราต้องแสดงความวางใจเช่นนี้เหมือนกัน

    ในหนังสือชื่อ Through Seasons of the Heart (ผ่านฤดูกาลแห่งหัวใจ) ยอห์น เพาเวลล์ ผู้ประพันธ์เขียนไว้ว่า

    พระเจ้าทรงส่งแต่ละบุคคลมายังโลกนี้
    พร้อมกับสารพิเศษให้เขานำมาประกาศ
    พร้อมกับบทเพลงพิเศษให้เขาขับร้อง...
    พร้อมกับกิจการพิเศษแห่งความรักที่เขาต้องกระทำ

    ไม่มีใครสามารถประกาศสารพิเศษของเราได้ ไม่มีใครสามารถขับร้องบทเพลงพิเศษของเราได้ ไม่มีใครสามารถกระทำกิจการพิเศษแห่งความรักที่เราได้รับมอบหมายมาได้ เราต้องทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวเราเอง

    ถ้าเราไม่ประกาศสารของเรา หรือขับร้องบทเพลงของเรา หรือทำกิจการแห่งความรักของเรา ส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้าก็จะไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งของพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าก็จะไม่ปรากฏให้เห็น

    ไม่มีใครในหมู่เราในวัดแห่งนี้ในวันนี้ที่เด็กเกินกว่าจะประกาศสารของเรา หรือชราเกินกว่าจะขับร้องบทเพลงของเรา หรืออ่อนแอเกินกว่าจะกระทำกิจการแห่งความรักของเรา

    ไม่ว่าเราเป็นใคร เรามีพันธกิจในโลกนี้ซึ่งพระเจ้าประทานแก่เราด้วยพระองค์เอง ดังนั้น นอกจากวางใจในพระเจ้า และนอกจากวางใจในกันและกันแล้ว เราต้องวางใจในตนเองด้วย

    เราต้องวางใจในความดีของเราเอง เราต้องวางใจในคุณค่าของตัวเรา เราต้องวางใจว่าพระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์พิเศษบางอย่าง

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาของพระคาร์ดินัล นิวแมน ผู้เป็นปัญญาชน และนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของบริเตน ในศตวรรษที่ผ่านมา นี่คือบทภาวนาที่พระนางมารีย์ และโยเซฟ สามารถภาวนาด้วยความศรัทธาพิเศษ ขณะที่ท่านทั้งสองตกอยู่ในสถานการณ์ที่บอกเล่าไว้ในพระวรสารประจำวันนี้ บทภาวนานี้แสดงออกถึงความวางใจที่เราต้องมีในพระเจ้า ในกันและกัน และในตนเอง

    ขอให้ท่านภาวนาในใจพร้อมกับข้าพเจ้า ดังนี้

    พระเจ้าทรงมอบหมายงานบางอย่างแก่ข้าพเจ้า
    ซึ่งพระองค์ไม่ทรงมอบหมายให้ใครอื่น
    ข้าพเจ้ามีพันธกิจของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าอาจไม่รู้ว่าพันธกิจนี้คืออะไรในชีวิตนี้
    แต่ข้าพเจ้าจะได้รู้ในชีวิตหน้า
    ข้าพเจ้าจะทำความดี...

    ดังนั้น ข้าพเจ้าจะวางใจในพระองค์
    ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเป็นอะไร จะอยู่ที่ใด
    ข้าพเจ้าไม่อาจถูกโยนทิ้งไปได้
    ถ้าข้าพเจ้ากำลังป่วย
    การเจ็บป่วยของข้าพเจ้าอาจรับใช้พระองค์ได้
    ถ้าข้าพเจ้ากำลังโศกเศร้า
    ความโศกเศร้าของข้าพเจ้าอาจรับใช้พระองค์ได้...

    พระเจ้าไม่ทรงทำสิ่งใดที่ไร้ผล
    พระองค์อาจทรงยืดอายุของข้าพเจ้า หรือตัดทอนให้สั้นลง
    พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์กำลังทำอะไร...

    ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า
    ข้าพเจ้าจะมอบตนเองไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
    โดยไม่สงวนท่าทีเลย

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 1:18-24

    พระวรสารภาคปฐมวัยของพระเยซูเจ้าเป็นส่วนที่น่าพิศวง และแตกต่างมากจากส่วนอื่น ๆ ของพระวรสาร มีแต่มัทธิว และลูกาเท่านั้น ที่บอกเล่าเหตุการณ์เหล่านี้ และไม่มีประจักษ์พยานโดยตรง แต่เป็นการรวบรวมความทรงจำที่เก็บรักษาไว้ในแวดวงคริสตชน โดยเฉพาะในครอบครัวของพระเยซูเจ้า ผู้นิพนธ์ทั้งสองได้รวบรวม “ข้อมูลประวัติศาสตร์” เหล่านี้ และนำมาเรียบเรียงให้เป็นรากฐานของอารัมภบททางเทววิทยา เหมือนกับนักดนตรีที่ประพันธ์ “บทโหมโรง” เพื่อนำเสนอทำนองหลักของดนตรีที่เขาจะแต่งต่อไปในภายหลัง...

    แม้ดูเหมือนเป็นคำบอกเล่าซื่อ ๆ แต่ข้อความเหล่านี้เต็มไปด้วยคำสอนลึกล้ำที่เขียนขึ้นภายหลังการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า - และเราต้องอ่านข้อความเหล่านี้ด้วยความเชื่อ ... แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อความเหล่านี้ไม่บ่งบอกเรื่องของมนุษย์

    มัทธิวต่างจากลูกา ตรงที่เขาไม่ได้เขียนให้พระนางมารีย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวปฐมวัยของพระเยซูเจ้า แต่ผู้ที่เป็นศูนย์กลางคือโยเซฟ ดังนี้
-    การลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าตามเชื้อสายของโยเซฟ
-    การประกาศเรื่องการประสูติของพระเยซูเจ้าให้แก่โยเซฟ และการยอมรับบทบาทของเขา
-    โหราจารย์มาเฝ้าพระกุมาร และบทบาทสำคัญของโยเซฟในการคุ้มครองพระกุมารตลอดการหลบหนีไปประเทศอียิปต์
-    การกลับมายังเมืองนาซาเร็ธตามคำสั่งของทูตสวรรค์ที่บอกกับโยเซฟ (มธ 1:1-2:23)

    ในวันอาทิตย์สุดท้ายก่อนวันพระคริสตสมภพ พระศาสนจักรอ่านเรื่อง “การแจ้งข่าวแก่โยเซฟ”

เรื่องการประสูติ (“ปฐมกาล (genesis)”) ของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นดังนี้

    คำว่า genesis แปลว่า “จุดเริ่มต้น” นี่คือคำที่ใช้ในพระคัมภีร์เล่มแรก เพื่อเล่าเรื่องกำเนิดของของจักรวาล

    ชาวซีไมท์คิดว่าตัวตนของมนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิต ต่างจากชาวกรีกที่เชื่อว่าตัวตนมนุษย์คือวิญญาณ ที่เข้ามาเกิดในร่างกาย ... ดังนั้น พระเยซูคริสตเจ้าจึง “เริ่มต้น” ชีวิตของพระองค์ในนาทีที่พระองค์ทรงบังเกิดมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

    เราจึงต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งกับ “ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” กับเหตุการณ์และสถานการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมา

    พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์หมั้นกับโยเซฟ...

    ดูเหมือนว่าทุกคนรู้ประวัติของโยเซฟ! เรื่องของเขากลายเป็นหัวข้อล้อเลียน และบทเพลงหยาบคาย เช่น โยเซฟผู้น่าสงสารคนนั้น ... เขาเป็นเหยื่อผู้ไร้เดียงสา...

    นี่คือการสบประมาทพระวรสาร! เป็นการเข้าใจบุคคลคู่นี้ – คือ โยเซฟ และมารีย์ – ผิดไปอย่างสิ้นเชิง! ไม่มีข้อสงสัยว่าทั้งสองเป็นคู่ครองที่มีความสุขที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นคู่ครองที่ถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์โลกอย่างโดดเด่นกว่าคู่ใด ๆ...

    สถานการณ์ของบุคคลทั้งสองเป็นอย่างไร เมื่อเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ... คนหนุ่มสาวสองคนที่อยู่ในวัย 15-20 ปี ที่วางแผนว่าจะใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากัน ... ลองนึกถึงช่วงเวลาของการหมั้นหมายของตัวท่านเอง ... ลองมองดูคนหนุ่มสาวที่กำลังคบหาดูใจกัน และเริ่มสร้างอนาคตร่วมกันในวันนี้เถิด...

แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า โยเซฟ คู่หมั้นของพระนาง เป็นผู้ชอบธรรม ไม่ต้องการฟ้องหย่าพระนางอย่างเปิดเผย จึงคิดถอนหมั้นอย่างเงียบ ๆ

    นี่คือขั้นที่สอง แผนการของคนทั้งสองต้องเลิกล้มไป ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงสำหรับคนคู่นี้ ... โยเซฟรับรู้ว่าคู่หมั้นของเขากำลังตั้งครรภ์ ความฝันทั้งหมดของเขาถูกทำลาย ... มีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งซ่อนอยู่ในคำบอกเล่านี้ ... ในขั้นนี้ โยเซฟตัดสินใจจะไม่แต่งงานกับพระนางมารีย์ – ซึ่งเป็นการตัดสินใจของบุรุษผู้ชอบธรรม...

    “ความชอบธรรม” ของโยเซฟ ถูกตีความไว้หลายทาง นักบุญจัสตินคิดว่าโยเซฟเป็น “ผู้ชอบธรรม” เพราะเขาต้องการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (ฉธบ 22:23) ส่วนนักบุญเยโรมสรุปว่า โยเซฟเป็น “ผู้ชอบธรรม” เพราะเขาต้องการ “ถอนหมั้นพระนางมารีย์อย่างเงียบ ๆ” แต่ในกรณีนี้ จะถือว่าเป็นความชอบธรรมได้หรือที่จะปล่อยให้สตรีคนหนึ่ง ที่เรารู้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมตามลำพัง...
    เราพบคำตอบที่น่าพอใจได้จากตัวบทพระวรสารเอง ก่อนจะบอกเล่าถึงการถกเถียงในใจของโยเซฟ มัทธิวเสนอไว้อย่างชัดเจนว่า การปฏิสนธิทารกผู้นี้ทั้งที่พระนางมารีย์ยังเป็นพรหมจารีนี้ เป็นเรื่องที่โยเซฟรู้อยู่แล้ว เพราะ “พระนางตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า” ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่าพระนางมารีย์ (หรือมารดาของพระนาง ตามธรรมเนียมของชาวตะวันออกกลาง) ได้บอกความลับนี้ให้คู่หมั้นของพระนางทราบ และเมื่อโยเซฟพิจารณาว่ามนุษย์อย่างเขาสามารถทำอะไรได้บ้างในกรณีนี้ และเข้าใจว่าเด็กคนนี้มาจากพระเจ้า เขาจึงไม่ต้องการอ้างสิทธิในตัวเด็กที่ไม่ใช่บุตรของเขา กล่าวคือ เขายอมรับความเป็นบิดาของพระเจ้า และคิดว่าต้องไม่มีใครคิดว่าเขาเป็นบิดาของเด็กคนนี้ ... ดังนั้น เขาจึงยกเลิกแผนที่จะแต่งงาน เช่นเดียวกับอับราฮัม ผู้เสียสละตนเองเพื่อพระเจ้า โยเซฟเป็น “ผู้ชอบธรรม” เพราะเขาตัดสินใจเสียสละตนเอง...

ขณะที่โยเซฟ กำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าก็มาเข้าฝัน กล่าวว่า “โยเซฟ โอรสกษัตริย์ดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย...
    พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงด้วยพระองค์เองเพื่อเปลี่ยนแผนของโยเซฟ เพื่อเน้นย้ำว่าการตัดสินใจครั้งใหม่ของโยเซฟ เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและกับพระเจ้า มัทธิวจึงนำเสนอการเปิดเผยนี้ในรูปแบบของ “การแจ้งข่าว (annunciation)” ซึ่งเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่รู้จักกันดี คือ เป็นภาษาพระคัมภีร์ที่นำการแทรกแซงของ “ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และ “ความฝัน” มาผนวกไว้ด้วยกัน พระคัมภีร์เอ่ยถึงความฝันบ่อย ๆ และโดยเฉพาะในชีวิตของโยเซฟ (มธ 1:20, 2:13, 2:22)

    ทูตสวรรค์เรียกโยเซฟ ช่างไม้ผู้ต่ำต้อยคนนี้ อย่างสง่าว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิด” เพราะเขาเป็นคนใน “ตระกูลของกษัตริย์ดาวิด” พระเจ้าจึงทรงขอให้เขาเปลี่ยนการตัดสินใจ และรับมารีย์ไว้เป็นภรรยา เขาตัดสินใจก่อนหน้านี้ว่าเขาจะ “ถอนหมั้น” พระนาง ดังนั้น เขาจึงปฏิเสธ “ความเป็นบิดา” ของ “บุตรที่ปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางมารีย์” สถานการณ์ของเขาเหมือนกับสถานการณ์ของอับราฮัม บรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทางความเชื่อ กล่าวคือ อับราฮัม ผู้มีความเชื่อ ยอมถวายอิสอัค บุตรของเขาเป็นเครื่องบูชา และเขาได้รับบุตรชายกลับมาเป็น “ของประทานจากพระเจ้า” (ปฐก 22) ในทำนองเดียวกัน เมื่อโยเซฟปฏิเสธที่จะรับบุตรชายคนหนึ่ง ทูตสวรรค์ของพระเจ้าขอให้เขารับบุตรชายนั้นไว้เสมือนว่าเป็น “ของประทาน” ในความเชื่อ เขาได้ปฏิเสธบุตร “ตามเนื้อหนัง” แต่จะได้รับบุตรคนนี้ในฐานะ “บุตรตามพระสัญญา” (กท 4:23-28)

เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย ท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่า ...

    ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก ส่วนแรกของประโยคเริ่มต้นด้วย gar ซึ่งแปลว่า “เพราะ” และส่วนที่สองเริ่มต้นด้วย “de” ซึ่งแปลว่า “แต่, อย่างไรก็ตาม”

    ดังนั้น ทูตสวรรค์จึงไม่ได้ประกาศแก่โยเซฟเรื่องการปฏิสนธิในครรภ์พรหมจรรย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขารู้อยู่แล้ว แต่ทูตสวรรค์ขอให้เขาตัดสินใจใหม่ โยเซฟไม่ต้องหลีกทางอย่างที่เขาวางแผนว่าจะทำ แต่ตรงกันข้าม พระเจ้าทรงต้องการใช้เขา พระเจ้าทรงมอบหมายสองบทบาทให้แก่โยเซฟ คือ
-    ให้รับพระนางมารีย์มาอยู่ด้วย
-    ให้ “ตั้งชื่อบุตรคนนั้น” บัดนี้ เราเข้าใจแล้วว่าทำไมทูตสวรรค์จึงเรียกโยเซฟ ว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิด” เพราะอาศัยวงศ์ตระกูลของโยเซฟ พระเยซูเจ้าเองจะทรงกลายเป็น “โอรสกษัตริย์ดาวิด” เพื่อให้สำเร็จไปตามพระสัญญาของพระเจ้า (มธ 1:1, 9:27, 12:23, 20:31, 21:9)

    ใครที่เข้าใจความหมายลึก ๆ ของข้อความนี้ย่อมตระหนักว่า โยเซฟไม่มีอะไรเลยที่เหมือนกับบุคคลไร้บทบาท ที่เราเห็นในภาพวาดต่าง ๆ ... โยเซฟเป็น “ผู้ชอบธรรม” อย่างแท้จริง เป็นคนกล้าหาญที่เปลี่ยนการตัดสินใจที่เขาได้กระทำไปอย่างจริงใจ เขาเป็นผู้มีความเชื่อที่ถูกขอร้องให้แสดงความเชื่อให้สมกับเหตุการณ์สำคัญที่กำลังถูกเตรียมการอยู่นี้ และเราต้องเสริมด้วยว่า โยเซฟเป็นสามีที่มีความสนิทสัมพันธ์ในความเชื่ออย่างสมบูรณ์กับคู่ครองของเขา...

    จิตวิทยาสมัยใหม่เน้นแนวคิด “การอยู่เป็นคู่” และ “การร่วมกันรับผิดชอบ” แม้ว่าเราอาจมองความสัมพันธ์ของพระนางมารีย์ และโยเซฟ เพียงระดับผิวเผิน แต่บุคคลทั้งสองมีวิถีชีวิตที่แปลกสำหรับคู่ครองที่ปราศจากพันธะต่อกัน เพราะทั้งสองสื่อสารกันในระดับลึกที่สุด – บุคคลทั้งสองแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า และมีทัศนคติเหมือนกัน คือมองไกลกว่าทรรศนะของมนุษย์ และเชื่อในอนาคตที่พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อหน้าเขาทั้งสอง และเขามีทัศนคติเช่นนี้ทั้งที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายมาก่อน ที่แทรกเข้ามาระหว่างเขาทั้งสอง

    ดังนั้น ในชีวิตของเราก็อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายที่ลิดรอนอิสรภาพของเรา เมื่อดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงทำลายแผนการของเรา และเรียกร้องให้เรายินดีต้อนรับพระประสงค์ของพระองค์ ... แต่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในคืนแห่งความเชื่อ – เหมือนกับความฝันกลางดึก

“ท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสผ่านประกาศกจะเป็นความจริงว่า “หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตรชาย ซึ่งจะได้รับนามว่า ‘อิมมานูเอล’ แปลว่าพระเจ้าสถิตกับเรา”

    สองชื่อนี้บ่งบอกถึงทัศนะเชิงเทววิทยาอันลึกซึ้ง คือ พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น และพระเจ้าสถิตกับเรา

    ระหว่างนี้ โยเซฟพอใจแล้วกับการตั้งชื่อแรก คือ “เยซู-พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” พระเยซูเจ้าจะทรงรับชื่อที่สองหลังจากพระองค์กลับคืนพระชนมชีพ ในบทสรุปแบบวรรณกรรมเซมิติก ในช่วงท้ายของพระวรสารว่า “เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:20)

    เด็กน้อยที่ข้าพเจ้ากำลังจะเฉลิมฉลองในวันพระคริสตสมภพนี้คือพระเยซูคนนี้จริงหรือ...

    ข้าพเจ้าจะต้อนรับพระองค์ในฐานะผู้ปลดปล่อยข้าพเจ้าจากบาปของข้าพเจ้าหรือไม่ ... ข้าพเจ้าจะรับศีลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเครื่องหมายของการปลดปล่อยหรือไม่ ...

เมื่อโยเซฟตื่นขึ้น เขาก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งไว้ คือรับภรรยามาอยู่ด้วย แต่เขามิได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง ต่อมานางให้กำเนิดบุตรชาย โยเซฟตั้งชื่อกุมารนั้นว่าเยซู

    บัดนี้ เราพบเห็นโครงการแต่งงานซึ่งเอ่ยถึงตั้งแต่ตอนต้นของคำบอกเล่านี้อีกครั้งหนึ่ง (“พระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ หมั้นกับโยเซฟ”) ... แผนการที่ล้มเลิกไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเพราะสถานการณ์ที่ยุ่งยากนี้ ... และบัดนี้ กลับมาดำเนินต่อไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ในวิถีทางใหม่ที่ไม่คาดหมาย (โดยไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ “แต่เขามิได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง”)

    ข้อความนี้ชัดเจนที่สุด - เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า เมื่อเรายอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าอาศัยความเชื่อ - โยเซฟจึงได้รับฐานะของบิดาแท้ โดยปราศจากความสัมพันธ์ทางกายภาพ ... ข้าพเจ้าวาดมโนภาพได้ว่าเขาต้องมีความสุขมาก...

    ทั้งหมดนี้เป็นธรรมล้ำลึก เพราะพระเจ้าคือธรรมล้ำลึก ... เช่นเดียวกับการเนรมิตสร้างเป็นธรรมล้ำลึก ... การกลับคืนพระชนมชีพเป็นธรรมล้ำลึก ... และศีลมหาสนิทเป็นธรรมล้ำลึก...