มธ 19:1-9  คำถามเรื่องการหย่าร้าง
(1)เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสเรื่องนี้จบแล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นกาลิลีเข้าไปในแคว้นยูเดีย อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน  (2)ประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ พระองค์ทรงรักษาผู้ป่วยที่นั่น  (3)ชาวฟาริสีบางคนเข้ามาเพื่อจับผิดพระองค์ ทูลถามว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ ที่ชายจะหย่าร้างกับภรรยาเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม” (4)พระองค์ทรงตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่าเมื่อแรกนั้นพระผู้สร้างทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง  (5)และตรัสว่า ดังนี้ ชายจะละบิดามารดาไปสนิทอยู่กับภรรยาของตนและชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน (6)ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย” (7)ชาวฟาริสีจึงทูลถามว่า “แล้วทำไมโมเสสจึงสั่งให้ชายทำหนังสือหย่าร้างแล้วหย่าร้างได้เล่า”  (8)พระองค์ตรัสว่า “เพราะใจดื้อหยาบกระด้างของท่านโมเสสจึงยอมอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่เมื่อแรกเริ่มนั้น หาเป็นเช่นนี้ไม่ (9)“เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง เขาก็ทำผิดประเวณี เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง”
มธ 19:10-12  การสมัครใจไม่แต่งงาน
(10)บรรดาศิษย์ทูลพระองค์ว่า “ถ้าสภาพของสามีกับภรรยาเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะแต่งงานเลย”  (11)พระองค์ตรัสว่า “ไม่ใช่ทุกคนเข้าใจคำสอนนี้ คนที่เข้าใจคือคนที่พระเจ้าประทานให้  (12)เพราะว่า บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกมนุษย์ทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด”

************************************


สถานการณ์ในสมัยพระเยซูเจ้า

การแต่งงานของชาวยิวถือเป็นหน้าที่ศักด์สิทธิ์  ผู้ใดอายุ 20 ปีแล้วยังไม่แต่งงาน ถือว่าขัดคำสั่งของพระเจ้าที่ว่า “จงมีลูกมาก และทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน” (ปฐก 1:28)
ในทางทฤษฎี การแต่งงานของชาวยิวถือว่ามีอุดมการณ์สุดยอด เพราะให้น้ำหนักกับความบริสุทธิ์ในขั้นสูงสุด  พระเจ้าตรัสว่า “เราเกลียดการหย่าร้าง” (มลค 2:16)  พระองค์ยอมทนบาปได้ทุกชนิดยกเว้นบาปที่ผิดต่อความบริสุทธิ์  ชาวยิวต้องพร้อมพลีชีพดีกว่ายอมนับถือพระเท็จเทียม ทำฆาตกรรม หรือล่วงประเวณี
แต่ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงมีสถานภาพไม่ต่างจากสิ่งของหรือสมบัติของสามี  สามีอาจอ้างเหตุผลใด ๆ ก็ได้เพื่อหย่าร้างภรรยาของตนไม่ว่านางจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ต้องคืนสินเดิม (ทรัพย์สินที่ฝ่ายหญิงนำมาเมื่อสมรส) ให้แก่ฝ่ายหญิง เว้นแต่ฝ่ายหญิงทำผิดศีลธรรมชัดเจนก็ไม่ต้องคืนสินเดิม  ส่วนภรรยาอาจอ้างเหตุผลเพื่อขอสามีหย่าได้เพียง 2-3 ข้อ ตัวอย่างเช่น สามีเป็นโรคเรื้อน สามีประกอบอาชีพน่ารังเกียจ (คนฟอกหนัง) สามีบังคับให้ออกจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสามีเสียก่อน
โมเสสออกกฎหมายเรื่องการหย่าไว้ว่า “ชายใดแต่งงานกับหญิงคนหนึ่งและมีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว แต่ต่อมาไม่พอใจที่จะอยู่กับนางเพราะพบว่านางมีข้อบกพร่อง น่าละอาย เขาจะต้องเขียนหนังสือหย่าให้นาง แล้วให้นางไปจากบ้าน” (ฉธบ 24:1) ปัญหาโลกแตกคือ ข้อบกพร่องน่าละอาย นั้นหมายถึงอะไร
รับบี Shammai และศิษย์ตีความแบบเคร่งครัดว่า สิ่งน่าอายหมายถึงการมีชู้เท่านั้น  ส่วนรับบี Hillel และศิษย์ตีความแบบหลวม ๆ  แค่ภรรยาทำอาหารเสียเพียงจานเดียว พูดกับคนแปลกหน้า พูดร้ายถึงพ่อแม่สามี หรือชอบมีปากมีเสียงจนคนข้างบ้านได้ยิน ก็ถือว่าน่าละอายและหย่าได้แล้ว  และซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือรับบี Akiba ซึ่งเป็นศิษย์ของฮิลเลล เน้นที่คำ “ไม่พอใจที่จะอยู่กับนาง” จึงสอนว่าสามีสามารถหย่าภรรยาของตนได้ถ้าเห็นหญิงคนอื่นสวยกว่าและชอบมากกว่า
แน่นอน คำสอนของฮิลเลลย่อมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  นับเป็นโศกนาฏกรรมอย่างยิ่งที่การหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมยิว 
แรกเริ่มหนังสือหย่าเขียนง่าย ๆ แค่มีใจความว่า “นี่คือหนังสือหย่า เพื่อปลดปล่อยคุณให้เป็นอิสระ จะได้แต่งงานกับชายอื่นที่พึงพอใจได้” ก็ใช้ได้แล้ว  ต่อมามีการพัฒนาข้อความในหนังสือหย่าให้ละเอียดซับซ้อนขึ้น  ในสมัยของพระเยซูเจ้า หนังสือหย่าต้องให้รับบีเขียน แล้วส่งศาลอันประกอบด้วยรับบี 3 คนตัดสินก่อน แล้วจึงนำเสนอสภาซันเฮดรินเพื่อรับรอง  แม้ดูเหมือนมีขั้นตอนมาก กระนั้นก็ตามกระบวนการหย่ายังถือว่าเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด และขึ้นกับความพึงพอใจของชายฝ่ายเดียว 
ผู้หญิงจึงไม่อยากแต่งงานเพราะมองเห็นชัดเจนถึงความไม่มั่นคงของชีวิตครอบครัว

คำสอนของพระเยซูเจ้า

1.    หลักการคือ “สามีภรรยาเป็นเนื้อเดียวกัน  แค่หย่า ก็ทำให้ภรรยาล่วงประเวณีแล้ว”   
พวกฟารีสีหวังจับผิดพระเยซูเจ้าด้วยการดึงพระองค์เข้ามาในวังวนของปัญหาโลกแตกทั้งในสมัยของพระองค์ และในสมัยของเราทุกวันนี้ด้วย นั่นคือ “สามีจะหย่ากับภรรยาได้หรือไม่”
ถ้าพระองค์ตอบว่า “ได้” ก็เท่ากับพระองค์กลืนน้ำลายตนเอง เพราะพระองค์เคยตรัสไว้ว่า “มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง  แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย” (มธ 5:31-32)
แต่ถ้าพระองค์ตอบว่า “ไม่ได้” ก็ต้องชนกับกฎหมายของโมเสส โดนข้อหาพยายามลบล้างบัญญัติของพระเจ้าอีกกระทงหนึ่ง
ทางออกของพระเยซูเจ้าคืออ้างหนังสือปฐมกาล 1:27 “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง” และ 2:24 “ชายจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันกับภรรยา และทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน” เพื่อยืนยันหลักการว่า ตั้งแต่สร้างโลก มีเพียงชายหนึ่งหญิงหนึ่ง การหย่าหรือแต่งงานใหม่จึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะไม่มีชายอื่นหรือหญิงอื่นให้แต่งงานใหม่  เพราะฉะนั้น ธรรมชาติของการแต่งงานคือความมั่นคงถาวร และความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกันชนิดไม่มีทางที่จะแยกหรือทำลายลงได้
นอกจากนั้นพระองค์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า โมเสสไม่ได้ “สั่งให้หย่า” แต่ “ยอมให้” ทำหนังสือหย่าร้างกันได้ก็เพราะ “ใจดื้อกระด้างของชาวยิว” ซึ่งอธิบายเหตุผลได้ 2 ประการคือ
1.     ชาวยิวประพฤติผิดศีลธรรม สำส่อนทางเพศ จึงเรียกร้องโมเสสให้อนุญาตให้หย่าร้างกันได้
2.     โมเสสต้องการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เสื่อมทรามมากไปกว่านี้ การยินยอมให้หย่าร้างได้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการออกกฎหมาย เพื่อทำให้กฎการหย่าร้างนั้นยากมากขึ้น และเป็นไปไม่ได้ในที่สุด
ไม่ว่าโมเสสจะยินยอมด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือพระเยซูเจ้าถือว่าโมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้ภายใต้สถานการณ์เฉพาะเจาะจงเท่านั้น หาได้เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ดำรงอยู่ถาวรแต่ประการใดไม่
แก่นแท้ของพระวรสารตอนนี้คือ พระเยซูเจ้าทรงยืนกรานว่า การเสื่อมศีลธรรมทางเพศในยุคของพระองค์ต้องได้รับการเยียวยา  ใครที่คิดแต่งงานเพียงเพราะหวังความสุขทางเพศ ให้คิดใหม่ คิดถึงความรับผิดชอบและความเป็นหนึ่งเดียวกันทางกายและใจด้วย
ข้อความที่มัทธิวเพิ่มเข้ามาภายหลัง
ปัญหาที่ต้องอธิบายอีกประเด็นหนึ่งคือ ทำไมในมาระโกและลูกา พระเยซูเจ้าทรงห้ามหย่าร้างหรือแต่งงานใหม่โดยเด็ดขาด  แต่ในมัทธิวบทที่ 19 ข้อ 9 พระองค์ห้ามขาดการแต่งงานใหม่ แต่ดูเหมือนอนุญาตให้หย่าร้างได้หากแต่งงานไม่ถูกต้อง
“เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง เขาก็ทำผิดประเวณี เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง” (มธ 19:9)
พระองค์จึงตรัสตอบว่า  “ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน” (มก 10:11-12)
‘ทุกคนที่หย่าร้างภรรยาและแต่งงานใหม่ก็ทำผิดประเวณี และผู้ที่แต่งงานกับหญิงที่หย่าร้างแล้วก็ทำผิดประเวณีด้วย” (ลก 16:18)
เป็นที่แน่ชัดว่าต้นฉบับของผู้เขียนพระวรสารทั้ง 3 ท่านถูกต้อง  เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงพออธิบายได้ว่า มาระโกและลูกาตอกย้ำหลักการอันสูงส่งของการแต่งงาน ซึ่งมีอาดัมและเอวาเป็นแบบอย่าง  ส่วนมัทธิวเพิ่มข้อยกเว้น “เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง” ซึ่งที่ถูกกว่าคือ “กรณีมีชู้” เข้ามาภายหลังเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของชาวยิวที่บังคับให้หย่าใน 2 กรณีด้วยกันคือมีชู้หรือเป็นหมันเท่านั้น
นอกจากนี้ มัทธิวยังชี้ให้เห็นว่า ความไม่ซื่อสัตย์ทำให้ความผูกพันอันเกิดจากการแต่งงานสิ้นสุดลง  ไม่ว่ากรณีใดก็ตามการมีชู้ได้ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวไปแล้ว การหย่าเป็นเพียงการยื่นยันข้อเท็จจริงนี้เท่านั้น

2.    เฉพาะคนที่พระเจ้าประทานให้ จึงจะรับหลักการนี้ได้
พวกรับบีพูดถึงการแต่งงานที่ไม่ประสบความสำเร็จไว้ว่า “คนที่มีภรรยาไม่ดี จะไม่มีโอกาสเห็นประตูนรกเลย” (เพราะในโลกนี้เขาทนทุกข์ใช้โทษบาปพอแล้ว) – “คนที่ถูกภรรยาบงการก็เหมือนตายทั้งเป็น” – “ภรรยาเลวทำให้สามีเป็นโรคเรื้อน” ฯลฯ พวกเขาจึงกำหนดเป็นหน้าที่ทางศาสนาให้หย่าภรรยาเลว
มธ 19:10-12 ช่วยยืนยันว่ามัทธิวเพิ่มข้อยกเว้นเข้ามาภายหลัง สำหรับพระเยซูเจ้าแล้วหลักการอันสูงส่งของการแต่งงานย่อมไม่มีข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นบรรดาศิษย์ซึ่งเคยฟังพวกรับบีพูดถึงภรรยาเลวมาก่อน แล้วอยู่ ๆ พระองค์กลับมาสอนว่า “หย่าไม่ได้” พวกเขาจึงกลัวและบ่นว่า “ถ้าสภาพของสามีกับภรรยาเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะแต่งงานเลย”
คำตอบของพระเยซูเจ้ามี 2 ประการคือ
2.1    “ไม่ใช่ทุกคนที่รับคำสอนนี้ได้ คนที่รับได้คือคนที่พระเจ้าประทานให้” พูดง่าย ๆ คือ “เฉพาะคริสตชนเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติตามคำสอนของคริสตชนได้”  เพราะผู้ที่เป็นคริสตชนเท่านั้นที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากพระเยซูเจ้า และได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเช่นกันจากพระจิตเจ้า
อาศัยความช่วยเหลือของพระองค์ คู่บ่าวสาวคริสตชนจึงจะสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจกัน การเข้าใจซึ่งกันและกัน การให้อภัยกัน รวมถึงการคิดถึงความสุขของผู้อื่นก่อนคิดถึงตัวเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ
หากเรายอมรับว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุคคลที่ประเสริฐที่สุด คำสอนของพระองค์ดีที่สุด แล้วหยุดอยู่เพียงเท่านี้ อย่างดีพระองค์ก็เป็นได้เพียงตัวอย่างที่ดีที่สุดและก็ทรมานใจเรามากที่สุดด้วย เพราะเราเห็นตัวอย่างที่ดีแล้วแต่เราทำตามไม่ได้
ต่อเมื่อเรามั่นใจว่าพระองค์ไม่ได้ “ตายแล้วตายเลย” แต่ทรงประทับอยู่กับเราเพื่อคอยช่วยเหลือเราและประคับประคองเราอยู่เสมอนั่นแหละ เราจึงจะปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ได้ ดังที่พระองค์กล่าวไว้ว่า “ปราศจากเรา ท่านทำอะไรไม่ได้เลย”
2.2    “บางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์”  พระเยซูเจ้าทรงแบ่งขันทีออกเป็น 3 ประเภทคือ
ก) ขันทีที่เกิดมาพร้อมกับความพิการหรือความบกพร่องจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
ข) ขันทีที่เกิดจากการถูกตอน เพื่อทำหน้าที่ในราชสำนัก
ค) ขันทีโดยสมัครใจ แต่ต้องไม่เข้าใจตามตัวอักษรแบบ Origen ซึ่งเคยตอนตัวเองมาแล้ว
Clement of Alexandria อธิบายว่า ขันทีโดยสมัครใจที่แท้จริงคือ “ผู้ที่มีความสามารถทางเพศ แต่ไม่ยินดีกับความสุขทางเนื้อหนัง”
มีคำกล่าวว่า “คนที่เดินทางเร็วที่สุดคือคนที่เดินทางตามลำพัง” และข้อเท็จจริงคือมีงานบางประเภทที่ไม่เหมาะจะนำครอบครัวไปด้วย หรือมีงานบางอย่างที่เราอยากทำ มีสถานที่บางแห่งที่เราอยากไป แต่คนรักของเราไม่เต็มใจทำหรือไม่เต็มใจไปกับเราด้วย
หากไม่มีคนสมัครใจเป็นขันทีเพื่อทำงานบางอย่างของพระเยซูเจ้า โลกเราจะเลวร้ายกว่านี้อีกสักเพียงใด ?

แนวทางเพื่อคงหลักการของพระเยซูเจ้าไว้

ชาวยิวเรียกการแต่งงานว่า Kiddushin ซึ่งหมายถึง “การทำให้ศักดิ์สิทธิ์”  ปกติคำ kiddushin ใช้กับทุกสิ่งที่ถูกมอบถวายแด่พระเจ้าและกลายเป็นกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพระองค์ ไม่มีมนุษย์คนใดจะเอากลับคืนมาได้
เมื่อใช้คำนี้กับการแต่งงานย่อมหมายความว่า สามีถูกมอบถวายแด่ภรรยา และภรรยาถูกมอบถวายแด่สามี  ทั้งคู่กลายเป็นกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของกันและกัน  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเอาคืนไม่ได้
สมดังคำของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน”  และผลที่ตามมาจากคำสอนของพระองค์คือ
1.    เพื่อจะเป็น “เนื้อเดียวกัน” ทั้งสามีและภรรยาต้องเป็น “หนึ่งเดียวกันทั้งครบ” หมายความว่าทั้งคู่ต้องพร้อมที่จะทำ “ทุกสิ่ง” ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นหนึ่งเดียวกันเฉพาะเวลามีกิจกรรมทางเพศเท่านั้น  จริงอยู่เพศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการแต่งงาน แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแต่งงานเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่แต่งงานเพียงเพราะต้องการตอบสนองความต้องการฝ่ายเนื้อหนัง ย่อมคาดเดาได้ว่าการแต่งงานของเขาจะล้มเหลว
2.    เพื่อ “เขาจะไม่เป็นสองอีกต่อไป” ทั้งสามีและภรรยาต้องเติมเต็มสิ่งที่แต่ละคนขาด และหล่อหลอมบุคลิกภาพของแต่ละคนเข้าด้วยกัน จนว่าทั้งคู่กลายเป็น “บุคคลเดียวกัน” ที่สมบูรณ์กว่าและมีความสุขมากกว่า ชนิดที่คนโสดจะไม่มีวันมีชีวิตเช่นนี้ได้
แต่สามีภรรยาบางคู่อยู่กันแบบฝ่ายหนึ่งเป็นช้างเท้าหน้า อีกฝ่ายเป็นช้างเท่าหลังโดยดุษฎี  บางคู่ตั้งป้อมหากัน ตึงเคียด เก็บกด  หรือบางคู่เข้าตำรา “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเองอย่าโวย” เรียกว่าพวกเขาอยู่บ้านเดียวกัน แต่คนละครอบครัว  และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ตลอดไป พวกเขาก็ “เป็นสองตลอดไป” นั่นแหละ
3.    เวลาเราเริ่มมีนัดกับคนรัก เราจะพบกันในเวลาที่ต่างฝ่ายต่างดูดีที่สุด แต่งตัวดีที่สุด สวยและหล่อที่สุด การเงินก็ยังไม่เป็นปัญหา  แต่เมื่อแต่งงานแล้ว ต่างฝ่ายต่างพบกันหลังเลิกงาน เหนื่อยล้า เนื้อตัวมอมแมม บิลค่าใช้จ่ายกองเป็นตั้ง ลูกร้องงอแง ฯลฯ
เพื่อให้การแต่งงานประสบความสำเร็จ นอกจากต้องปรับบุคลิกภาพเข้าหากันตามข้อ 2 แล้ว เรายังต้องพร้อม “ร่วมกันเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ในชีวิต” ด้วย
4.    จากที่กล่าวมา 3 ข้อข้างต้น เราอาจสรุปได้ว่าพื้นฐานของการแต่งงานคือ “การใช้ชีวิตร่วมกัน” และพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันคือ “การคิดถึงผู้อื่นก่อนคิดถึงตัวเอง”  และท้ายสุด “ความรัก” คือพื้นฐานของทุกสิ่ง
ความรักช่วยให้เราคิดถึงความสุขของผู้อื่นก่อนคิดถึงตัวเอง  ความรักช่วยให้เราภูมิใจที่ได้รับใช้  ความรักช่วยให้เราเข้าใจและพร้อมจะให้อภัย
ความเห็นแก่ตัวคือเพชฌฆาตความสัมพันธ์ที่ร้ายกาจที่สุด

แนวปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหา

เนื่องจากพระคัมภีร์เป็นหนังสือแห่งชีวิต ไม่ใช่หนังสือกฎหมาย  ทุกคำสอนในพระคัมภีร์จึงไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเพียง “หลักการ” (Principle) ที่เราแต่ละคนต้องตีความและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในชีวิตของเราแต่ละคน ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือและคำแนะนำทั้งของพระเยซูเจ้าและของพระจิตเจ้า
ตัวอย่างเช่น บัญญัติสิบประการกล่าวไว้ว่า “วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใด ๆ” (อพย 20:10) ข้อเท็จจริงคือเราไม่มีทางหยุดงานโดยสิ้นเชิงในวันสับบาโตได้  ไหนบางคนจะต้องเลี้ยงเด็ก ให้อาหารสัตว์ เก็บไข่ไก่ รีดนมวัว บางคนต้องคอยควบคุมน้ำ ไฟ การจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ฯลฯ
เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเข้าใจ “หลักการ” ในพระคัมภีร์ และประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตของเราแต่ละคน
คำสอนเรื่องการหย่าร้างของพระเยซูเจ้าก็เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายตายตัวที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเหมือนกันทั้งหมด แต่พระองค์ทรงสอนเป็น “หลักการ” ที่เราต้องนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเราแต่ละคน
เพราะฉะนั้น แนวปฏิบัติในชีวิตจริงจึงควรเป็นดังนี้
1.    ก่อนอื่นใดหมด ต้องพยายามรักษาอุดมการณ์อันสูงส่งของการแต่งงานไว้ให้ได้ กล่าวคือ การแต่งงานต้องผูกพันชายและหญิงให้เป็นหนึ่งเดียวกันชนิดแยกจากกันไม่ได้  การแต่งงานต้องเป็นการรวมสองบุคลิกภาพเข้าด้วยกัน ทำทุกสิ่งร่วมกัน เผชิญกับทุกสถานการณ์ร่วมกัน จนว่าพวกเขากลายเป็น “เนื้อเดียวกัน” ที่มีความสมบูรณ์มากกว่าและมีความยินดีมากกว่า
2.    ทั้ง ๆ ที่ได้ดูใจกันมานาน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างดี มีความตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะเข้าสู่ชีวิตแต่งงาน แต่ชีวิตแต่งงานก็ใช่ว่าจะราบรื่นไปหมด หลายครั้งสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้อยู่ในแผนการชีวิตก็เกิดขึ้น แล้วกลายเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคของชีวิตแต่งงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เราต้องพยายามเยียวยาอย่างสุด ๆ
ก) ถ้าเป็นปัญหาด้านร่างกาย ให้ไปพบแพทย์
ข) ถ้าเป็นปัญหาด้านจิตใจ ให้ไปพบจิตแพทย์
ค) ถ้าเป็นปัญหาด้านวิญญาณ ให้ไปพบพระสงฆ์
ฯลฯ
3.    เมื่อได้พยายามเยียวยาสุด ๆ แล้ว แต่ชีวิตแต่งงานก็ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ในกรณีเช่นนี้ เราคิดว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกนี้ เพื่อตรากฎหมายออกมาตีตรวนล่ามโซ่สามีและภรรยาให้จมอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายและน่าสงสารนี้ตลอดชีวิตกระนั้นหรือ ?  นี่เป็นจิตตารมณ์ของคริสตชนจริง ๆ หรือ ?
แทนที่เราจะตีตราพวกเขาที่น่าสงสารเหล่านี้ว่าเป็นคนบาปที่หมดหวัง เราต้องพยายามสุดความสามารถที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ตามจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้า
น่าเสียดายที่กฎหมายเข้าไม่ถึงสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้การแต่งงานล้มเหลว เช่น การมีชู้  การมีสองโลก กล่าวคือสังคมยอมรับคนหนึ่งว่าเป็นคนดีน่านับถือ แต่คน ๆ เดียวกันนี้เอง เมื่ออยู่บ้านกลับเย็นชา โหดร้าย เห็นแก่ตัว วิพากษ์วิจารณ์หรือเย้ยหยันอีกฝ่ายตลอดเวลา  ปรากฏการณ์เช่นนี้พบบ่อย ๆ แต่ใช้เป็นข้ออ้างทางกฎหมายไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเผชิญหน้ากับการแต่งงานที่ล้มเหลวโดย
-    ใช้กฎหมายให้น้อยลง และใช้ความรักให้มากขึ้น
-    ประณามให้น้อยลง และเห็นอกเห็นใจให้มากขึ้น
และต้องระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นจิตใจและวิญญาณของมนุษย์
“วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:27-28)