อาทิตย์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 9:36 – 10:8

(36)เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชน ก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง  (37) แล้วพระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด”
(1)พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนเข้ามาพบ ประทานอำนาจให้เขาขับไล่ปีศาจ ให้รักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิด  (2)อัครสาวกสิบสองคนมีนามดังนี้ คนแรกคือซีโมน ผู้มีสมญาว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชายของเขา ยากอบบุตรของเศเบดีกับยอห์นน้องชาย  (3)ฟิลิปและบาร์โธโลมิว  โธมัสและมัทธิวคนเก็บภาษี ยากอบบุตรอัลเฟอัส และธัดเดอัส  (4)ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้ทรยศพระองค์  (5)พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคนนี้ออกไป ทรงสั่งเขาว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย (6) แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน (7) จงไปประกาศว่าอาณาจักรสวรรค์ใกล้เข้ามาแล้ว (8) จงรักษาคนเจ็บไข้ จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย

************************


1. พระเยซูเจ้าทรงสงสารประชาชน
คำ “สงสาร” ตรงกับคำกริยากรีก “สพรากค์นีซอมาย” (splagchnizomai) อันมีรากศัพท์เดียวกันกับคำนาม “สพรากค์นา” (splagchna) ซึ่งหมายถึง “ตับไตไส้พุง”
“สพรากค์นีซอมาย” จึงหมายถึงความรู้สึกเมตตาสงสารที่ถูกขับเคลื่อนออกมาจากส่วนลึกที่สุด นั่นคือตับไตไส้พุงซึ่งอยู่ลึกกว่าหัวใจของเรามนุษย์เสียอีก
นอกจากในนิทานเปรียบเทียบเพียงบางเรื่องแล้ว พระคัมภีร์ไม่เคยใช้คำ “สพรากค์นีซอมาย” กับบุคคลอื่นนอกจากกับพระเยซูเจ้าเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงสงสารประชาชนจากก้นบึ้งแห่งอวัยวะภายในหรือก้นบึ้งแห่งหัวใจ ได้แก่
1.     ความเจ็บป่วย
- “เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร และทรงรักษาผู้เจ็บป่วยให้หายจากโรค” (มธ 14:14)
- “พระเยซูเจ้าทรงสงสาร  ทรงสัมผัสนัยน์ตาของเขา ทันใดนั้น เขากลับมองเห็น และติดตามพระองค์ไป” (มธ 20:34)
2.     ความเศร้าโศกเสียใจ
- “เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นนาง (หญิงม่ายที่เมืองนาอิน) ก็ทรงสงสารและตรัสกับนางว่า ‘อย่าร้องไห้ไปเลย’  แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ ทรงแตะแคร่หามศพ คนหามก็หยุด พระองค์จึงตรัสว่า ‘หนุ่มเอ๋ย เราบอกเจ้าว่า จงลุกขึ้นเถิด’” (ลก 7:13-14)
3.     ความหิว
- พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “เราสงสารประชาชน เพราะเขาอยู่กับเรามาสามวันแล้ว และเวลานี้ไม่มีอะไรกิน เราไม่อยากให้เขากลับบ้านโดยไม่ได้กินอะไร เขาจะหมดแรงขณะเดินทาง” (มธ 15:32)
4.     ความโดดเดี่ยว
- คนโรคเรื้อนซึ่งถูกตัดขาดจากสังคมและต้องอยู่ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยวเข้ามาเฝ้าพระองค์  พระองค์ทรงสงสาร ตื้นตันพระทัย จึงทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด” (มก 1:41)
5.     ความท้อแท้
นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงสงสารประชาชนจากก้นบึ้งแห่งหัวใจในวันนี้ “เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (มธ 9:36)
“เขาเหล่านั้น” คือประชาชนผู้ต้องการพระเจ้าและกำลังแสวงหาพระองค์อย่างสุดหัวใจ  แต่บรรดาคัมภีราจารย์ ชาวฟารีสี ตลอดจนพวกสะดูสี ซึ่งล้วนเป็นเสาหลักของศาสนายิวในสมัยนั้น กลับไม่มีคำแนะนำหรือกำลังใจเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีพลังต่อสู้กับปัญหาในชีวิตเลย
ตรงกันข้าม พวกเขากลับทำให้ประชาชนหลงทางและสับสนด้วยการออกกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ประชาชนท้อแท้และสิ้นหวังอีกด้วย
จากตัวอย่างที่กล่าวมา เราสามารถสรุปแบบฟันธงได้ว่า “ไม่ว่าเราจะมีทุกข์อะไร ทุกข์ของเราคือทุกข์ของพระเยซูเจ้า” !!!

2. ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย
นี่คือมุมมองอันเปี่ยมด้วยความรักยิ่งของพระเยซูเจ้าที่ทรงมีต่อประชาชนคนบาปเช่นเรา  พระองค์ทรงมองคนบาปเป็น “ข้าว” ที่จะต้องเก็บเกี่ยวและรักษาไว้ในยุ้งฉางให้ปลอดภัย อีกทั้งทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนก็เพื่อความรอดปลอดภัยของคนบาปเหล่านี้นี่เอง !
แต่พวกฟารีสีซึ่งถือตนว่าเป็นคนดีกลับมองต่างมุม  พวกเขามองคนบาปเป็นเสมือน “ฟางข้าว” ที่จะต้องถูกเผาและทำลายให้สิ้นซากไปจากโลกนี้
ในเมื่อมี “ข้าว” จำนวนมากให้เก็บก็จำต้องมี “คนเก็บเกี่ยว” จำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย จงวอนขอเจ้าของนาให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์เถิด” (มธ 9:37) ซึ่งบ่งบอกพระประสงค์ได้ชัดเจนว่า “ทรงต้องการเราทุกคน” เพื่อเก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์
ขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ไม่เคยเสด็จออกนอกปาเลสไตน์เลย ข่าวดีของพระองค์จึงถูกจำกัดวงอยู่กับชาวยิวจำนวนไม่มากนัก ในขณะที่คนทั้งโลกต่างเฝ้าคอยข่าวดีนี้ด้วยจิตใจจดจ่อเช่นกัน
แล้วใครล่ะจะเป็นคนนำข่าวดีไปประกาศแก่พวกเขาหากไม่ใช่ “เรา” ?!
ลำพังการบริจาคเงินหรือสวดภาวนาเพื่องานแพร่ธรรมคงไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป เพราะคำภาวนาที่ปราศจากกิจการเป็นคำภาวนาที่ตายแล้ว
ดังนั้น ถ้าจะต้อง “เก็บเกี่ยว” ข้าวในนาซึ่งมีอยู่ทั่วโลก เราทุกคนนั่นแหละต้องเป็น “คนเก็บเกี่ยว”
เว้นแต่เราจะมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจเท่านั้น !

3. อัครสาวกสิบสองคน
มีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับอัครสาวกทั้งสิบสองคนที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกสรร ดังนี้
1.    ทุกคนล้วนเป็นสามัญชน  พวกเขาไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีการศึกษา ไม่มีฐานะในสังคม ส่วนใหญ่เป็นเพียงชาวประมงพื้นบ้านธรรมดา ๆ
เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้สนพระทัยพื้นฐานในอดีตของพวกเขา แต่ทรงมองการณ์ไกลว่าพวกเขาจะสามารถทำสิ่งใดได้บ้างภายใต้การนำทางและพระพรของพระองค์
เราจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าตนด้อยความรู้ ด้อยความสามารถ เกรงว่าจะช่วยงานพระองค์ไม่ได้ เพราะพระองค์สามารถใช้ทุกสิ่งที่เรามอบถวายแด่พระองค์ เพื่อความยิ่งใหญ่ของพระอาณาจักรของพระเจ้าได้
2.    แต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน  ยกตัวอย่างเช่นกรณีของมัทธิวและซีโมน
มัทธิวมีอาชีพเก็บภาษีให้กษัตริย์เฮโรด อันตีพาส ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยโรมและถือว่าเป็นคนของโรม มัทธิวจึงถูกชาวยิวตราหน้าว่าเป็นคนทรยศขายชาติ  ส่วนซีโมนได้รับสมญาว่า “ผู้รักชาติ” (ลก 6:16) และเป็นสมาชิกของกลุ่ม “ชาตินิยม” สุดโต่ง
โยเซฟุสบันทึกไว้ว่าพวก “ชาตินิยม” ถือเป็นหนึ่งในสี่กลุ่มใหญ่ ๆ ของชาวยิว อีกสามกลุ่มคือ พวกฟารีสี (Pharisees) สะดูสี (Sudducees) และเอสซีน (Essenes)
กลุ่มชาตินิยมนับถือพระเจ้าเป็นกษัตริย์เหนือหัวเพียงพระองค์เดียว พวกเขาไม่ยอมให้มนุษย์หน้าไหนทั้งสิ้นมาเป็นกษัตริย์ปกครองพวกเขา  ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงมุ่งมั่นจะปลดแอกปาเลสไตน์จากการเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน โดยพร้อมจะพลีชีพหรือทำทุกสิ่งแม้แต่สังหารคนที่ตนรักเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
แน่นอนว่าถ้าซีโมนพบมัทธิวก่อนเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เขาคงเอามีดปักอกหรือเสียบพุงมัทธิวเรียบร้อยไปแล้ว
และนี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ศัตรูคู่อาฆาตสามารถรักกันได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างรักพระเยซูเจ้า !!
เพราะฉะนั้น หากพระสงฆ์ นักบวช หรือสัตบุรุษไม่สามารถรักกันได้  ต่างฝ่ายต่างต้องหันมาถามตัวเองแล้วว่าเรา “รักพระเยซูเจ้าจริง”...
หรือเพียงใช้พระองค์เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างของเราเองเท่านั้น ?

4. สุดยอดผู้บัญชาการ

ก่อนส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศข่าวดี พระเยซูเจ้าตรัส “สั่ง” พวกเขาว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน” (มธ 10:5-6)
คำว่า “สั่ง” ตรงกับ “พารอังเยลโล” (paraggello) ซึ่งชาวกรีกใช้ใน 4 โอกาสด้วยกันคือ
1.    “ทหารสั่งการ”  พระเยซูเจ้าจึงเป็นเสมือนแม่ทัพที่กำลังสรุปภารกิจก่อนส่งบรรดาขุนพลออกไปปฏิบัติภารกิจ
2.    “เรียกเพื่อนมาช่วย”  พระองค์เป็นเสมือนผู้เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และกำลังเรียกเพื่อนคืออัครสาวกและเราทุกคนมาช่วยกันทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง
3.    “สั่งสอนศิษย์”  พระองค์เป็นครูที่กำลังอบรมบ่มเพาะศิษย์ให้พร้อมออกไปเผชิญหน้ากับโลก
4.    “คำสั่งของจักรพรรดิ”  พระองค์เปรียบเสมือนกษัตริย์ที่กำลังส่งทูตออกไปประกาศข่าวดีและคำสั่งสอนของพระองค์แก่ชาวโลก
การใช้คำ “พารอังเยลโล” จึงบ่งบอกว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้บัญชาการ” ที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งกษัตริย์ แม่ทัพ ครู และเพื่อนของผู้ใต้บังคับบัญชา
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อได้อ่านเนื้อหาของคำสั่งที่ทรงห้ามอัครสาวกไปหาคนต่างชาติแล้ว เราต้องยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นนักวางแผนชั้นยอดจริง ๆ
บางคนอาจแย้งว่าคำสั่งนี้แสดงถึงความคับแคบทางจิตใจของพระองค์  แต่เราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นคำสั่งเฉพาะกิจที่เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่ง ๆ เท่านั้น  ส่วนคำสั่งถาวรคือ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)
สถานการณ์ที่ทำให้พระองค์ทรง “สั่ง” เช่นนี้ คือ
1.    พระองค์ทรงยอมรับว่าชาวยิวมี “สถานภาพพิเศษ” ในแผนการแห่งความรอด  พวกเขารอคอยพระเมสสิยาห์มาเป็นเวลานานแล้ว จึงควรได้รับโอกาสก่อนชนชาติอื่น
2.    บรรดาอัครสาวกยังขาดความพร้อม พวกเขาไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของคนต่างชาติ ไม่รู้เทคนิคการสื่อสารกับคนต่างชาติ  หากส่งพวกเขาไปหาคนต่างชาติในขณะนี้ โอกาสสำเร็จย่อมริบหรี่เต็มที  ต้องรอจนมีคนที่พร้อมดังเช่นนักบุญเปาโลนั่นแหละ ข่าวดีจึงจะเผยแพร่ไปสู่คนต่างชาติอย่างได้ผล
เราจึงควรเลียนแบบอย่างความรอบคอบของพระเยซูเจ้า ด้วยการตระหนักถึงข้อจำกัดของเราเอง และพยายามมองให้ออกว่าเรา “เหมาะ” หรือ “ไม่เหมาะ” ที่จะทำสิ่งใด
3.    เหตุผลหลักของพระองค์คือเรื่องอัตรากำลัง  เมื่อมีกำลังคนน้อย พระองค์จำเป็นต้องลดขอบเขตของภารกิจลงมาให้จำกัดวงอยู่ภายในแคว้นกาลิลีก่อน แล้วค่อยขยายวงออกไปเรื่อย ๆ จนครอบคลุมชนทุกชาติ ทุกภาษาในที่สุด
ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้บัญชาการผู้ปราดเปรื่อง ทรงอำนาจ และเป็นมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้  เราไม่คิดจะมอบชีวิตของเราไว้ภายใต้การบัญชาการของพระองค์ดอกหรือ ?!

5. ทั้งพูดทั้งทำ
เมื่อจำกัดเป้าหมายของภารกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว พระเยซูเจ้าทรงกำหนดเนื้อหาของภารกิจรวม 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ
1.    “จงไปประกาศว่าอาณาจักรสวรรค์ใกล้เข้ามาแล้ว” (มธ 10:7)
จากบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย เราทราบว่า อาณาจักรสวรรค์คือสังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์ และผู้เดียวในโลกนี้ที่สามารถปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ก็คือพระเยซูเจ้า
เพราะฉะนั้น พระเยซูเจ้านั่นเองทรงเป็นอาณาจักรสวรรค์ และมนุษย์สามารถพบอาณาจักรสวรรค์ในโลกนี้ได้ก็โดยการคิดเหมือนพระองค์ ปรารถนาเหมือนพระองค์ และดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์
ดังนั้น ข่าวดีที่เราทุกคนต้องพูดและต้องประกาศก็คือ “อาณาจักรสวรรค์มาถึงโลกนี้แล้ว อย่ามัวรีรอจนถึงโลกหน้าอีกเลย”
2.    “จงรักษาคนเจ็บไข้ จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป” (มธ 10:8)
ภารกิจด้านนี้บ่งบอกว่า เราจะมัวพูดหรือประกาศข่าวดีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องลงมือกระทำด้วย  และสิ่งที่ทรงมอบหมายให้กระทำนั้น เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ
2.1     จงรักษาคนเจ็บไข้  ซึ่งคำกรีก “อาสเธแนโอ” (astheneo) หมายถึง “อ่อนแอ ไม่มีเรี่ยวแรง” แต่ถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงคนเจ็บไข้ในที่สุด
ภารกิจจึงไม่จำกัดเพียงรักษาคนเจ็บป่วยเท่านั้น แต่รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอให้เข้มแข็ง มีกำลังใจ และสามารถสานต่อความตั้งใจของตนให้เป็นความจริงได้  อีกทั้งช่วยค้ำจุนและปกป้องผู้ที่หมดหนทางต่อสู้กับชีวิตแล้วอีกด้วย
2.2     จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ  บาปทำให้เราตายทั้งเป็น เพราะมันทำให้สายตาของเรามืดมัวลงจนมองไม่เห็นความดี หูอื้อจนไม่ได้ยินเสียงของพระเจ้า ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ท้อแท้ สิ้นหวัง และตกอยู่ในอุ้งมือของบาปที่เรากระทำ
ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของเราคือการนำพระเยซูเจ้าไปสู่ผู้ที่ตายในบาป เพราะพระองค์สามารถปลดปล่อยเขาจากอุ้งมือของบาป และทำให้เขากลับมีชีวิตใหม่ที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง
2.3     จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด  คนโรคเรื้อนถือว่าสร้างมลพิษและต้องถูกขับไล่ออกจากสังคม (ลนต 13:46)
บาปทำให้ชีวิตของเราเปรอะเปื้อน  ยิ่งไปกว่านั้น คำพูด การกระทำ และทุกสิ่งที่ออกมาจากคนบาปล้วนก่อให้เกิดมลพิษอันอาจแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้
มีพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่สามารถชำระล้างมลพิษในตัวคนบาปอย่างเราได้  และในเวลาเดียวกันพระองค์ยังทรงเป็นเสมือนยาปฏิชีวนะหรือวัคซีนป้องกันมลพิษของบาปมิให้แพร่ระบาดมาสู่เราอีกด้วย
2.4     จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป  ผู้ถูกปีศาจสิงคือคนที่ตกอยู่ในอุ้งมือของอำนาจชั่วร้ายซึ่งทำให้เขาเป็นทาสของความเคยชินในบาป จนไม่สามารถเป็นนายเหนือตัวเองอีกต่อไป
พระเยซูเจ้าไม่เพียงสามารถยกบาปเท่านั้น แต่ยังสามารถปลดปล่อยเราจากการครอบงำของอำนาจชั่วร้าย และทำให้เราเป็นอิสระจากความเคยชินในบาปอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือภารกิจสองด้านที่ต้องทั้ง “พูด” และ “ทำ” ควบคู่กันไป !!

6. ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย
คำสั่งประการนี้มิใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวยิว พวกเขามีกฎอยู่แล้วว่า เพราะโมเสสได้รับธรรมบัญญัติจากพระเจ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รับบีทุกคนจึงต้องสอนธรรมบัญญัติโดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น
มีเพียงกรณีเดียวที่รับบีจะคิดค่าตอบแทนได้นั่นคือเมื่อสอนเด็ก เพราะการสอนเด็กถือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่  หากพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่นี้ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ทำหน้าที่แทน
ในหนังสือ Mishnah มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า “ผู้ที่คิดค่าตอบแทนจากการทำหน้าที่ผู้พิพากษา ให้ถือว่าคำตัดสินของเขาเป็นโมฆะ  และผู้ที่คิดค่าตอบแทนจากการเป็นพยาน ให้ถือว่าคำยืนยันของเขาเป็นโมฆะ”
รับบีฮิลเลลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวยิวทั่วไปกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดหาผลประโยชน์จากธรรมบัญญัติ ก็ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์”
ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงมิได้เรียกร้องสิ่งใดใหม่ เพียงแต่ทรงย้ำเตือนสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่แล้ว !
ในเมื่อเราได้รับความรักและข่าวดีจากพระองค์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เราน่าจะภูมิใจและถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ได้แบ่งปันความรักและข่าวดีนี้แก่ผู้อื่น “โดยไม่หวังค่าตอบแทน” !!!