กฎทอง


พระวรสาร    มธ 7:12

“ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก”

เมื่อดูต้นฉบับภาษากรีก และฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษบางสำนวน ดังเช่น
Matthew 7:12 Pa,nta ou=n o[sa eva.n qe,lhte i[na poiw/sin u`mi/n oi` a;nqrwpoi( ou[twj kai. u`mei/j poiei/te auvtoi/j\ ou-toj ga,r evstin o` no,moj kai. oi` profh/tai?
KJV Matthew 7:12 Therefore all things whatsoever ye would that men should do to you, do ye even so to them: for this is the law and the prophets.
NJB Matthew 7:12 'So always treat others as you would like them to treat you; that is the Law and the Prophets.
เราอาจแปลเป็นไทยได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและประกาศก” (ไม่มีคำว่า “คำสอนของบรรดา”)
แปลว่านี่ไม่ใช่คำสอนของบรรดาประกาศก แต่เป็นคำสอนใหม่สุด ๆ ของพระเยซูเจ้าเอง ก่อนหน้าพระองค์พวกเขาสอนกันดังนี้
ฮิลเลลสอนว่า “อะไรที่น่ารังเกียจสำหรับท่าน จงอย่าทำแก่ผู้อื่น”
โตเบียสสอนบุตรชายว่า “อะไรที่ท่านเกลียด จงอย่าทำแก่ผู้ใดเลย” (โตบิท 4:16)
ใน The Letter to Aristeas พวกปัญญาชนยิวตอบกษัตริย์อียิปต์ว่า “ตามที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้สิ่งเลวร้ายมาพานพบพระองค์ แต่ทรงปรารถนามีส่วนร่วมในสิ่งดี ๆ  ขอพระองค์ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพสกนิกรของพระองค์ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านพระองค์”
รับบี Eliezer สอนใกล้เคียงพระเยซูเจ้าเข้ามานิดว่า  “จงรักชื่อเสียงของเพื่อนบ้านเหมือนของท่านเอง”
บทสดุดีสอนว่า  “ข้าแต่พระเจ้า ผู้ใดจะอาศัยอยู่ในพลับพลาของพระองค์ ผู้ใดจะอยู่บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ คือผู้ซึ่งไม่ใช้ลิ้นของตนในการนินทาว่าร้าย ไม่กระทำชั่วต่อเพื่อน และไม่ด่าเพื่อนบ้านของตน” (สดด. 15:3)
ขงจื้อสอนว่า “อะไรที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำแก่ผู้อื่น”
มีบทสวดของศาสนาพุทธที่ใกล้เคียงกับพระเยซูเจ้า 
“มนุษย์ทั้งปวงย่อมตัวสั่นต่อหน้าไม้เรียว  มนุษย์ทั้งปวงย่อมกลัวตาย
จงคิดถึงหัวอกผู้อื่น อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือเป็นสาเหตุให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
มนุษย์ทั้งปวงย่อมตัวสั่นต่อหน้าไม้เรียว  มนุษย์ทั้งปวงย่อมรักชีวิต
จงปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบเดียวกับที่ท่านอยากได้รับการปฏิบัติ  อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือเป็นสาเหตุให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต”
พวกกรีกและโรมันก็มีคำสอนคล้ายกัน
“จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านโกรธเมื่อผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน”
“ความทุกข์ยากใดที่ท่านพยายามหลีกเลี่ยง อย่าพยายามหยิบยื่นความทุกข์ยากนั้นให้ผู้อื่น”
“สิ่งซึ่งท่านไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำแก่ท่าน จงอย่ากระทำแก่ผู้อื่น”

ความแตกต่างระหว่างคำสอนก่อนหน้าพระเยซูเจ้ากับ “กฎทอง”
คำสอนก่อนหน้าพระเยซูเจ้าเป็นคำสอนเชิง negative “อย่าทำ” ซึ่งไม่ใช่คำสอนทางศาสนา แต่เป็นเพียง “สามัญสำนึก” (common-sense) ที่สังคมจำเป็นต้องมี เพื่อจะได้ดำรงชีวิตร่วมกันได้  จนบางคนพูดประชดประชันว่า “เราเป็นหนี้บุญคุณทุกคนที่เราพบเห็น เพราะเขาไม่ฆ่าเรา”
คำสอนหรือหลักการที่ว่า “อย่าทำ” - “ห้าม” ไม่ใช่หลักการทางศาสนา แต่เป็นหลักการทางกฎหมาย ซึ่งคนที่ไม่มีศาสนาอยู่ในหัวใจ ก็ต้องปฏิบัติตาม
ความดีอันเกิดจากการ “ไม่กระทำ” ถือว่าตรงข้ามกับคำสอนของคริสตศาสนาอย่างสิ้นเชิง
ส่วนกฎทองของพระเยซูเจ้าเป็นคำสอนเชิงบวก (positive) ที่ทำให้เราเป็น “คนใหม่” มี “ชีวิตใหม่” มี “หลักการใหม่” และมี “ทัศนคติใหม่” ต่อผู้อื่น
มีแต่ “ความรัก” เท่านั้นที่ผลักดันให้เราทำเช่นนี้ได้
กฎหมายอาจห้ามเราขับรถฝ่าไฟแดง หรือขับรถเร็วเกินกำหนดได้ แต่กฎหมายจะบังคับให้เราจอดรถรับคนเดินข้างถนนติดรถไปด้วยไม่ได้
ต้องเป็นมนุษย์ใหม่เท่านั้นจึงจะฝ่ากฎทองได้
มนุษย์ใหม่คือผู้ที่รักพระเยซูเจ้า และมีพระองค์อยู่ในหัวใจ
มนุษย์ใหม่ย่อมให้อภัยผู้อื่น เพราะเขาเองก็อยากได้รับการอภัย
มนุษย์ใหม่ย่อมหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะเขาก็อยากได้รับการ ช่วยเหลือ
มนุษย์ใหม่ย่อมให้เกียรติยกย่องผู้อื่น เพราะเขาก็อยากให้ผู้อื่นยกย่อง
มนุษย์ใหม่พยายามเข้าใจผู้อื่น เพราะเขาย่อมอยากให้ผู้อื่นเข้าใจเขา
ถ้าเราแต่ละคนเป็น “คนใหม่”  เราจะมี “สังคมใหม่” และ “โลกใหม่”

“ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” จึงเป็นสุดยอดของจริยธรรมด้านสังคม
เป็นสุดยอดของบทเทศน์บนภูเขา (มัทธิว บทที่ 5-7)
เป็น “กฎทอง” ของเราอย่างแท้จริง