แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า


ข่าวดี    มัทธิว 3:1-12


การเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
(1) ในครั้งนั้น ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างมาประกาศสอนในถิ่นทุรกันดารแห่งยูเดีย (2) ยอห์นกล่าวว่า “จงกลับใจเถิดอาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว” (3) ยอห์นผู้นี้คือผู้ที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวถึงว่า
คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า
“จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด”
(4)ยอห์นนุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่าเป็นอาหาร (5)ประชาชนจากกรุงเยรูซาเล็ม จากทั่วแคว้นยูเดีย และจากทั่วเขตแม่น้ำจอร์แดนพากันไปพบเขา  (6)รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตน (7)เมื่อยอห์นเห็นชาวฟาริสีและสะดูสีหลายคนมารับพิธีล้าง จึงกล่าวว่า “เจ้าสัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำเจ้าให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง (8)จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด  (9)อย่าอวดอ้างเองว่า “เรามีอับราฮัมเป็นบิดา” ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้  (10)บัดนี้ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่เกิดผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ  (11)ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย เพื่อให้สำนึกผิดกลับใจ แต่ผู้ที่จะมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและไฟ  (12)เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”

***************************************


เป็นเวลา 400 ปีมาแล้วที่ชาวยิวไม่ได้ยินเสียงของประกาศกเลย  แต่เมื่อยอห์นปรากฏตัวมาเทศน์สอนและทำพิธีล้าง ประชาชนต่างพากันเชื่อว่าท่านเป็น “ประกาศก”
“ยอห์นนุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว” นี่เป็นเครื่องแต่งกายของประกาศกเอลียาห์ (1 พกษ. 1:8) ซึ่งชาวยิวเชื่อกันว่าท่านจะกลับมาอีกครั้งเพื่อเตรียมทางเสด็จให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค. 4:5)
นอกจากนั้นมัทธิวยังนำยอห์นไปเชื่อมกับคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด” (อสย. 40:3)
สภาพถนนในปาเลสไตน์ไม่ต่างอะไรกับทางเกวียน เป็นดินแข็ง ขรุขระ ไม่มีอิฐหรือหินปกคลุม  โยเซฟุสเล่าว่ามีถนนที่มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพียงบางเส้นเท่านั้นที่กษัตริย์โซโลมอนสร้างขึ้นโดยปูด้วยหินบะซอลท (basalt) ที่เกิดจากภูเขาไฟ มีสีดำ เนื้อละเอียด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญ และเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่และร่ำรวยของพระองค์  ถนนเหล่านี้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์และเพื่อกษัตริย์ จึงเรียกกันว่า “ทางส่วนพระมหากษัตริย์” (the king’s highway) และจะได้รับการซ่อมแซมก็ต่อเมื่อกษัตริย์จะเสด็จผ่านเท่านั้น โดยจะมีคนส่งข่าวให้ประชาชนทราบและเตรียมถนนหนทางเหล่านี้ให้พร้อมล่วงหน้า
ยอห์นจึงเป็นประกาศกที่มาเตรียมทางรับเสด็จพระเยซูเจ้า ผู้เป็นพระเมสสิยาห์และกษัตริย์
ข่าวที่ท่านประกาศให้ประชาชนทราบแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

คำขู่

ยอห์นอาศัยอยู่ในทะเลทรายเป็นเวลานาน ท่านคงเคยเห็นงู แมงป่อง หรือสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่อาศัยอยู่ในพงหญ้าหรือพุ่มไม้ในทะเลทรายกระเสือกกระสนหนีตายเวลาไฟป่าลามมาถึง  เพราะฉะนั้นเวลาเห็นพวกฟาริสีและสะดูสีหลายคนมารับพิธีล้าง ท่านจึงกล่าวว่า “เจ้าสัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำเจ้าให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง”
นอกจากจะตำหนิพวกฟาริสีและสะดูสีว่าทำตัวเหมือนงูร้ายหนีตายแล้ว ท่านยังห้ามพวกเขาอวดอ้างว่า “เรามีอับราฮัมเป็นบิดา” ด้วยชาวยิวพากันปักใจเชื่อว่าอับราฮัมคือสุดยอดแห่งคนดี เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปรานมากจนว่าบรรดาลูกหลานของท่านคือชาวยิวทุกคนก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโมเสสที่ได้ขึ้นสวรรค์ไปรับธรรมบัญญัติก็ดี หรือดาวิดที่พระเป็นเจ้าทรงสดับฟังคำวอนขอเสมอก็ดี ฯลฯ ล้วนเป็นผลแห่งกุศลกรรมของอับราฮัมทั้งสิ้น
เรียกว่า ใครเกิดมาเป็นยิวก็รอดแล้ว
สำหรับยอห์น ความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความดีของบรรพบุรุษ แต่ขึ้นอยู่กับการ “ประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้ว” ต่างหากถึงจะเป็นต้นไม้ที่เกิดผลดี ไม่ถูกขวานโค่นและโยนใส่กองไฟ
สำหรับคริสตชนก็เช่นเดียวกัน เราจะอวดอ้างคุณธรรมความดีของบรรดานักบุญหรือบุญราศีที่เรารู้จักหรือศรัทธาโดยที่ตัวเราเองไม่ “กลับใจ” ไม่ได้ หาไม่แล้วเราคงเป็นได้แค่ต้นไม้ที่ไม่เกิดผลดี
เมื่อไม่เกิดผลดีก็ไม่มีประโยชน์  และผู้ใดก็ตามที่ไม่มีประโยชน์ต่อพระเป็นเจ้าหรือต่อเพื่อนมนุษย์ย่อมอยู่ในอันตรายที่จะ “ถูกโค่นและโยนใส่ไฟ” อย่างยิ่ง

คำสัญญา

แม้ยอห์นจะได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชนในฐานะประกาศก แต่ท่านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวท่านเอง ตรงข้ามท่านกลับชี้ไปยังอีกคนหนึ่งที่สำคัญกว่า “ผู้ที่จะมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา” พร้อมกับสัญญาว่า “เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและไฟ”
เนื่องจากยอห์นเป็นชาวยิว เราจึงต้องเรียนรู้ความคิดเรื่อง “พระจิต” ของชาวยิวคือ
1.    ตามรากศัพท์ฮีบรู ruach หรือกรีก pneuma มีความหมายเหมือนกันคือ “ลมหายใจ” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ “ชีวิต” นั่นคือยอห์นสัญญาว่าผู้ที่จะมาภายหลังท่านจะเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ที่เหน็ดเหนื่อย สิ้นหวัง หรือท้อแท้ในชีวิต
2.    หมายถึง “ลม” ซึ่งบ่งบอกถึง “อำนาจ” ผู้ที่กำลังจะเสด็จมาจะช่วยลดความอ่อนแอของเราอาศัยอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า เราจะสามารถทำสิ่งที่เราไม่เคยทำได้ เราจะทนสิ่งที่เราไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าทนได้ และเราจะกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเคยหลบหน้าอยู่เสมอ
3.    เมื่อครั้งสร้างโลก พระจิตของพระเจ้าล่องลอยอยู่เหนือน้ำ ทรงเปลี่ยนสิ่งที่โกลาหลวุ่นวาย ไม่มีระเบียบ ให้เป็นสิ่งที่มีระเบียบและกลายเป็นพิภพจักรวาล  พระองค์จะช่วยจัดระเบียบชีวิตที่สับสนวุ่นวายของเราให้สอดประสานกับชีวิตของพระเป็นเจ้า
4.    พระจิตช่วยนำความจริงของพระเจ้ามาสู่มนุษย์ พระองค์จะนำความรู้ที่เราเคยสงสัย เคยคาดเดา หรือไม่เคยล่วงรู้มาก่อน มาบอกเรา
5.    และสุดท้าย พระองค์จะช่วยให้เราเข้าใจความรู้ที่เราได้รับมาอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยอห์นสัญญาว่าผู้ที่จะมาภายหลังท่าน จะนำมาประทานแก่พวกเราทุกคน

คำสัญญาและคำขู่

1.    ผู้ที่จะมาภายหลังยอห์นนอกจากจะทำพิธีล้างด้วย “พระจิตเจ้า” แล้ว พระองค์ยังใช้ “ไฟ” อีกด้วย  และเมื่อพูดถึง “ไฟ” ยอห์นหมายถึง
1.1    แสงสว่าง เหมือนแสงสว่างจากประภาคารที่ช่วยชาวเรือนำเรือเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย พระเยซูเจ้าก็จะเป็นแสงสว่างที่ช่วยนำเราไปสู่ความจริง และนำทางเรากลับบ้านไปหาพระบิดาของเรา
1.2    ความอบอุ่น พระองค์จะนำความอบอุ่นแห่งความรักต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์มาสู่หัวใจของเรา
1.3    การทำให้บริสุทธิ์ เหมือนทองที่ถูกเปลวไฟหลอมละลายสิ่งเจือปนให้ไหลออกไป คงเหลือไว้แต่ทองคำบริสุทธิ์ฉันใด พระองค์ก็จะช่วยกำจัดความเลวร้ายในจิตใจของเราออกไปฉันนั้น แม้จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดรวดร้าวบ้าง แต่ถ้าเราเชื่อว่าพระองค์ทรงทำทุกสิ่งเพื่อความดีของตัวเราเอง เราก็จะได้ดื่มด่ำกับความสะอาดบริสุทธิ์ในจิตใจของเรา จนว่าเราสามารถมองเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าได้

2.    นอกจาก “ไฟ” แล้ว ผู้ที่จะเสด็จมาภายหลังยอห์นยัง “จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”
เวลานวดข้าว ฟางจะถูกแยกออกจากข้าว  เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมามนุษย์เราก็จะถูก “แยก” เช่นเดียวกัน
เมื่ออยู่ต่อหน้าพระองค์ เราจำเป็นต้องเลือกระหว่างตัวเลือกเพียง 2 ตัวคือ “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” พระองค์
และการเลือกครั้งนี้ จะกำหนดชะตากรรมชีวิตของเราชั่วนิรันดร !

คำเรียกร้อง

“จงกลับใจเถิด” นอกจากจะเป็นคำเรียกร้องของยอห์นแล้ว (มธ. 3:2) พระเยซูเจ้าเองก็ทรงเรียกร้องเช่นเดียวกัน “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (มก. 1:15)
สำหรับชาวยิว การกลับใจคือหนทางเดียวที่จะนำเรากลับมาหาพระเป็นเจ้าได้  ตามความคิดของชาวยิว การกลับใจคือ
1.    ตามรากศัพท์ฮีบรู shub (คำนามคือ teshubah) หมายถึง “หมุน, หัน” (to turn) การกลับใจจึงหมายถึงการหันจากบาปกลับมาหาพระเป็นเจ้าพร้อมกับเปลี่ยนแปลงการกระทำและการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม “พระเจ้าตรัสว่า เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราไม่พอใจในความตายของคนอธรรม แต่พอใจในการที่คนอธรรมหันจากทางของเขาและมีชีวิตอยู่ จงหันกลับ จงหันกลับจากทางชั่วของเจ้า” (อสค. 33:11)
การกลับใจจึงไม่ใช่เพียงความรู้สึก “เสียใจ” แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราจริง ๆ
2.    การกลับใจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่แม้ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราจะเป็นคนชั่วช้าเพียงใดก็ตาม (อสค. 33:12)
3.    เมื่อเราดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นในที่สาธารณะ เราจำต้องขอโทษเขาในที่สาธารณะที่สมน้ำสมเนื้อกัน  แต่กับพระเป็นเจ้าเราสามารถกลับใจและขอโทษพระองค์สองต่อสองในที่ลับตาคนได้
4.    โดยธรรมชาติ พระเป็นเจ้าไม่มีทางหลงลืม แต่หากเรากลับใจ พระองค์พร้อมจะลืมความผิดบาปทั้งหมดของเรา (มีคาห์ 7:18; สดด. 85:2)
5.    การชดใช้ความเสียหายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีควบคู่กับการกลับใจ
6.    การกลับใจที่แท้จริงจำเป็นต้องมีความสุภาพที่พร้อมจะยอมรับและสารภาพความผิดของตน (สภษ. 28:13; สดด. 32:5; ยรม. 2:35)
7.    ไม่มีใครหมดหวังที่จะกลับใจไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แม้แต่กษัตริย์มนัสเสห์ที่หันไปนับถือพระบาอัลและเผาลูก ๆ ของตนเองถวายแด่เทพเจ้าโมลอกที่หุบเขาฮินโนม พระเจ้าก็ยังฟังคำภาวนาของเขา (2 พศด. 33:13)
การกลับใจจึงเป็นศูนย์กลางความเชื่อของชาวยิว และก็เป็นศูนย์กลางความเชื่อของเราคริสตชนด้วย
เพราะการกลับใจคือการหันจากบาปกลับมาสู่พระเป็นเจ้า และมาสู่ชีวิตที่พระองค์ทรงปรารถนาให้เราดำเนิน !