แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มาระโก 2:1-12
พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนอัมพาต
    (1)ต่อมาอีกสองสามวัน พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ประทับอยู่ในบ้าน  (2)ประชาชนจำนวนมากจึงมาชุมนุมกันจนไม่มีที่ว่างแม้กระทั่งที่ประตู พระองค์ประทานพระโอวาทสอนประชาชนเหล่านั้น  (3)ชายสี่คนหามคนอัมพาตคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์  (4)แต่เขานำคนอัมพาตนั้นฝ่าฝูงชนเข้าไปถึงพระองค์ไม่ได้ เขาจึงเปิดหลังคาบ้านตรงที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วหย่อนแคร่ที่คนอัมพาตนอนอยู่ลงมาทางช่องนั้น  (5)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้จึงตรัสแก่คนอัมพาตว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว”  (6)ที่นั่นมีธรรมาจารย์บางคนนั่งอยู่ด้วย เขาคิดในใจว่า  (7)“ทำไมคนนี้จึงพูดเช่นนี้เล่า เขากล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น”  (8)ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาด้วยพระจิตของพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายคิดเช่นนี้ในใจทำไม  (9)อย่างใดง่ายกว่ากัน การบอกคนอัมพาตว่า ‘บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว’  หรือบอกว่า ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’  (10)แต่เพื่อให้ท่านรู้ว่า บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้” พระองค์ตรัสแก่คนอัมพาตว่า  (11)“เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่ กลับไปบ้านเถิด”  (12)เขาก็ลุกขึ้นแบกแคร่ออกเดินไปทันทีต่อหน้าคนทั้งปวง ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและพูดว่า “พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย”



    หลังเสร็จสิ้นภารกิจเทศน์สอนตามศาลาธรรมแล้ว  พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมือง คาเปอรนาอุม และเมื่อข่าวการกลับมาของพระองค์แพร่สะพัดไป ประชาชนจำนวนมากพากันมาชุมนุมในบ้านที่พระองค์ประทับอยู่จนไม่มีที่ว่างแม้กระทั่งที่ประตู
    ท่ามกลางฝูงชนที่แน่นขนัด มีชายสี่คนหามคนอัมพาตคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ แต่พวกเขาฝ่าฝูงชนเข้าไปถึงพระองค์ไม่ได้  อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่มีคำว่า “ยอมแพ้”
    หลังคาบ้านในปาเลสไตน์มีลักษณะเป็นพื้นเรียบเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจด้วย นอกบ้านจึงมีบันไดนำขึ้นสู่หลังคาซึ่งทำด้วยคานพาดขวางจากกำแพงด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง โดยทิ้งระยะห่างระหว่างคานแต่ละอันประมาณ 3 ฟุต แล้วใช้กิ่งไม้พาดบนคานเพื่อปิดช่องว่าง อัดกิ่งไม้ให้แน่นด้วยดินเหนียว จากนั้นเคลือบผิวชั้นบนสุดด้วยดินเหนียวผสมปูน  บางส่วนอาจใส่ดินเพิ่มเพื่อใช้ปลูกหญ้าและพืชผลบางชนิดได้
    จึงเป็นการง่ายมากที่จะเจาะหลังคาและนำกิ่งไม้ที่พาดตามคานออกมาโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลังคามากนัก อีกทั้งการซ่อมแซมอุดช่องโหว่บนหลังคาก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด
    “คนทั้งสี่จึงเปิดหลังคาบ้านตรงที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วหย่อนแคร่ที่คนอัมพาตนอนอยู่ลงมาทางช่องนั้น” (ข้อ 4)
    เมื่อเห็นความเชื่อชนิดไม่เห็นอุปสรรคอยู่ในสายตาเช่นนี้ พระองค์คงยิ้มด้วยความพอพระทัยพร้อมกับตรัสแก่คนอัมพาตว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (ข้อ 5)
    วิธีรักษาโรคของพระองค์ดูออกจะแปลกประหลาดสำหรับบ้านเรา !?
    แต่เราต้องเข้าใจว่า ในสมัยพระเยซูเจ้า ชาวยิวนำ “บาป” และ “ความทุกข์ยาก” มาเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันชนิดแยกออกจากกันไม่ได้  ถ้าใครตกทุกข์ได้ยากหรือเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นหมายความว่าเขาได้ทำบาปอย่างแน่นอน  ส่วนคนดีย่อมมั่งคั่งร่ำรวย ไร้ทุกข์ ไร้โศก เอลีฟาสเพื่อนของโยบถึงกับกล่าวว่า “มีคนดีที่ไหนที่รู้จักตาย ?” (โยบ 4:7)
    พวกรับบีสอนว่า “ไม่มีผู้ป่วยรายใดหายจากโรคได้ หากบาปของเขาไม่ได้รับการอภัยเสียก่อน”
    แม้คาทอลิกสมัยก่อนก็ไม่กล้าไปรับศีลมหาสนิทเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย  เพราะเชื่อว่าพระเจ้ากำลังรังเกียจพวกเขาอันเนื่องมาจากบาป !!!
    สำหรับชาวยิว พวกเขายิ่งเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก “คนป่วยคือคนที่พระเจ้าทรงพิโรธ” ความเจ็บป่วยเป็นผลเนื่องมาจากบาป  การยกบาปคือเงื่อนไขแรกของการรักษาโรค
    ในกรณีของคนอัมพาตนี้ เป็นไปได้ว่าเขารู้ตัวว่าเป็นคนบาป และจิตใต้สำนึกนี้ส่งผลกระทบถึงสุขภาพร่างกายของเขาด้วย
    นักจิตวิทยาในปัจจุบันได้อ้างอิงกรณีของเด็กหญิงคนหนึ่ง  เธอเป็นคนเล่นเปียโนในยุคที่ภาพยนตร์ยังไม่มีเสียงในฟิล์ม  ปกติเธอเล่นเปียโนได้ดีมาก แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ปิดไฟฟ้าในโรงภาพยนตร์พร้อมกับมีกลิ่นบุหรี่โชยมา เธอจะตัวเกร็งจนทำอะไรไม่ได้เลย  ผลตรวจทางการแพทย์ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ
    อาศัยการสะกดจิต นักจิตวิทยาพบว่า ขณะที่เธอเป็นทารกอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์และกำลังนอนอยู่ในอู่ที่มีซุ้มโค้งตกแต่งอย่างประณีตบรรจงด้วยผ้าลูกไม้  มารดาก้มลงจูบเธอทั้ง ๆ ที่กำลังสูบบุหรี่อยู่  ไฟเกิดไหม้ผ้าลูกไม้  แต่นางก็สามารถดับไฟได้อย่างรวดเร็วโดยที่ตัวเธอไม่ได้รับอันตรายแต่ประการใด
    แต่ทว่าความตกใจกลัวนี้ได้ฝังอยู่ใต้จิตสำนึกของเธอตั้งแต่บัดนั้น และถูกปลุกขึ้นมาทุกครั้งที่ไฟดับและมีกลิ่นบุหรี่ จนเธอกลายเป็นอัมพาตแบบถาวรไปในที่สุด
    หากคนอัมพาตในพระวรสารวันนี้เชื่อมั่นว่าความเจ็บป่วยของเขาเป็นผลมาจากบาป  นี่ย่อมหมายความว่า
พระเยซูเจ้าคือหมอที่เข้าใจคนป่วยดีที่สุด !
เพราะพระองค์ตรัสว่า “ลูกเอ๋ย พระเจ้าไม่โกรธลูกแล้ว” ซึ่งเท่ากับว่า “แอกหนักอันเกิดจากความกลัวพระเจ้าและความห่างเหินจากพระองค์” ถูกยกออกไปแล้ว
เมื่อจิตใจสบาย ร่างกายก็เป็นสุข !!!
กระนั้นก็ตาม มีคนกลุ่มหนึ่งไม่เป็นสุขด้วยเลย คนกลุ่มนี้คือพวกธรรมาจารย์ซึ่งเป็นผู้นำของชาวยิว
สภาซันเฮดริน (Sanhedrin) เป็นสภาสูงสุดของชาวยิว มีหน้าที่สำคัญคือปกป้องความเชื่อของศาสนายิว  เมื่อมีฝูงชนจำนวนมากติดตามฟังคำสั่งสอนของพระองค์ พวกเขาจึงต้องส่งธรรมาจารย์บางคนมาเป็นสายสืบ และแน่นอนว่าสายสืบเหล่านี้ต้องอยู่แถวหน้าสุดเพื่อจะได้มองเห็นและจับผิดพระองค์ได้อย่างเต็มตา
แล้วพวกเขาก็ต้องตะลึงงันแบบสุด ๆ เมื่อได้ยินพระองค์ตรัสว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” เพราะแก่นแท้ของความเชื่อในศาสนายิวคือ มีพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถอภัยบาปได้
ผู้ใดก็ตามอ้างว่าตัวเองสามารถยกบาปได้ ผู้นั้นกำลังดูหมิ่นและสบประมาทพระเจ้า ซึ่งมีโทษสถานเดียวคือ “ทุ่มหินให้ตาย” (ลนต 24:16)
แม้พวกเขาจะยังไม่กล้าจับกุมพระองค์ต่อหน้าฝูงชนที่เลื่อมใสศรัทธาพระองค์เช่นนี้ แต่พระองค์ทรงทราบความคิดของพวกเขา และทรงท้าทายสายสืบเหล่านั้นด้วย “หลักการ” ของพวกเขานั่นเอง
หลักการของพวกเขาคือ “ต้องอภัยบาปก่อนจึงจะรักษาคนป่วยให้หายได้”  พระองค์จึงย้อนรอยหลักการนี้ด้วยคำถามว่า “อย่างใดง่ายกว่ากัน การบอกคนอัมพาตว่า ‘บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว’  หรือบอกว่า ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’” (ข้อ 9)
การพูดว่า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” เป็นเรื่องง่าย นักต้มตุ๋นคนไหน ๆ ก็พูดได้ เพราะไม่มีทางพิสูจน์ว่าคำพูดของเขาบังเกิดผลจริงหรือเป็นเพียงการหลอกลวง
แต่การสั่งคนอัมพาตให้ “ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด” ก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ จึงยากที่จะหลอกลวงผู้อื่น
เพราะฉะนั้น หากพระองค์ทำเรื่องยากคือรักษาคนอัมพาตให้เดินได้ ตามหลักการของพวกรับบี จึงไม่มีทางสรุปเป็นอย่างอื่นนอกจาก...
พระองค์มีสิทธิ์และอำนาจที่จะยกบาปได้ !
และเพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์มีสิทธิอำนาจยกบาปจริง พระองค์จึงตรัสแก่คนอัมพาตว่า “เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่ กลับไปบ้านเถิด” เขาก็ลุกขึ้นแบกแคร่ออกเดินไปทันทีต่อหน้าคนทั้งปวง” (ข้อ 11-12)
“ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” แต่พวกธรรมาจารย์กลับไม่รู้สึกเช่นนั้น พวกเขาเดือดดาลสุด ๆ ที่ต้องเสียหน้าจนปัญญาด้วยหลักการของพวกเขาเอง เข้าตำรา “หมองูตายเพราะงู”
หากพวกเขาปล่อยให้พระองค์ดำเนินการเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ  อำนาจในการกำกับดูแลศาสนายิวของพวกเขาคงต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ แน่
เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นเสมือน “ใบสั่งฆ่า” ที่พระองค์เองทรงรู้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี
ในเมื่อพระองค์ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อพิสูจน์ว่าทรงสามารถอภัยบาปของเราได้แล้ว…..
เรายังจะเย็นเฉยอยู่อีกหรือ ?