แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มาระโก 5:21-43
พระเยซูเจ้าทรงรักษาหญิงตกเลือด ทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้คืนชีพ
    (21)เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงเรือข้ามฟากอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนชุมนุมกันเนืองแน่นรอบพระองค์ขณะที่ยังทรงอยู่ริมทะเลสาบ  (22)หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่งชื่อไยรัสเดินมา เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท  (23)พร่ำวิงวอนว่า “บุตรหญิงเล็ก ๆ ของข้าพเจ้าจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว เชิญพระองค์เสด็จไปปกพระหัตถ์เหนือเขาเถิด เขาจะได้หายจากโรค กลับมีชีวิต”  (24)พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับเขา ประชาชนกลุ่มใหญ่ติดตามไปและเบียดเสียดพระองค์  (25)ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งเป็นโรคตกเลือดมาสิบสองปีแล้ว  (26)ได้รับความทรมานมากจากการรักษาของแพทย์หลายคน เสียทรัพย์จนหมดสิ้น โรคก็มิได้บรรเทา ตรงกันข้ามกลับทรุดหนัก  (27)นางได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระเยซูเจ้า จึงเดินปะปนกับประชาชนเข้ามาเบื้องหลัง และสัมผัสฉลองพระองค์ นางคิดว่า  (28)”ถ้าฉันเพียงได้สัมผัสฉลองพระองค์เท่านั้น ฉันก็จะหายจากโรค”  (29)ทันใดนั้น อาการตกเลือดก็หยุด  นางรู้สึกว่าร่างกายหายจากโรคแล้ว 30)ขณะเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่ามีอิทธิฤทธิ์ออกจากพระองค์ไปจึงทรงหันมายังกลุ่มชน ตรัสว่า “ใครสัมผัสเสื้อของเรา  (31)บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าผู้คนเบียดเสียดกันเช่นนี้ แล้วยังทรงถามอีกหรือว่า “ใครสัมผัสเรา”  (32)พระองค์ทรงหันไปรอบ ๆ เพื่อทอดพระเนตรผู้ที่กระทำเช่นนั้น  (33)หญิงคนนั้นรู้สึกกลัวจนตัวสั่นเพราะรู้ดีว่าอะไรได้เกิดขึ้นแก่ตน จึงกราบลงเฉพาะพระพักตร์และทูลให้ทรงทราบความจริงทุกประการ  (34)พระองค์จึงตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุข หายจากโรคเถิด” (35)ขณะกำลังตรัสอยู่นั้น มีคนมาจากบ้านหัวหน้าศาลาธรรม บอกเขาว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า”  (36)แต่พระเยซูเจ้าทรงได้ยินเขาพูดดังนั้น จึงตรัสแก่หัวหน้าศาลาธรรมว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด”  (37)พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใครติดตามไปนอกจากเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายของยากอบ  (38)เมื่อทุกคนมาถึงบ้านหัวหน้าศาลาธรรม พระเยซูเจ้าทรงเห็นความวุ่นวาย  และเห็นผู้คนร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก  (39)พระองค์เสด็จเข้าไป ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า “วุ่นวายและร้องไห้ไปทำไม เด็กคนนี้ไม่ตาย เพียงแต่นอนหลับไปเท่านั้น”  (40)เขาต่างหัวเราะเยาะพระองค์ พระองค์ทรงไล่เขาออกไปข้างนอก ทรงนำบิดามารดาของเด็กและศิษย์ที่ติดตามเข้าไปยังที่ที่เด็กนอนอยู่  (41)ทรงจับมือเด็ก ตรัสว่า “ทาลิธาคูม” แปลว่า “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น”  (42)เด็กหญิงนั้นก็ลุกขึ้นทันที และเดินไปมา  เด็กนั้นอายุสิบสองขวบแล้ว คนทั้งหลายต่างประหลาดใจอย่างยิ่ง  (43)พระองค์ทรงกำชับอย่างแข็งขันมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด และทรงสั่งให้เขานำอาหารมาให้เด็กนั้นกิน



พระเยซูเจ้าทรงรักษาหญิงตกเลือด
    
ในปาเลสไตน์ โรคตกเลือดพบง่ายแต่รักษายาก  หนังสือ Talmud ที่รวบรวมกฎหมายและธรรมประเพณีของชาวยิวพร้อมคำอธิบาย ได้ให้แนวทางรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 11 วิธี  บางวิธีใช้ยาบำรุง  บางวิธีใช้ยาสมาน  บางวิธีก็ไปนอกลู่นอกทางสุดโต่ง เช่น ให้ห้อยเถ้าถ่านของไข่นกกระจอกเทศไว้กับตัวโดยใช้เศษผ้าลินินห่อในฤดูร้อนและใช้เศษผ้าฝ้ายห่อในฤดูหนาว  หรืออีกวิธีหนึ่งคือห้อยเมล็ดข้าวโพดที่พบในมูลลาเพศเมียสีขาว เป็นต้น
    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหญิงคนนี้ได้ทดลองรักษามาแล้วทุกหนทางจนหมดทรัพย์  แต่นอกจากอาการจะไม่ทุเลาลงแล้ว นางกลับยิ่งมีมลทินมากขึ้นจนเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าและเข้าสังคมกับเพื่อนฝูงก็ไม่ได้อีกด้วย
    โชคดีที่นางได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า แต่โรคของนางน่าอับอายเกินกว่าจะเล่าให้พระองค์ฟังอย่างเปิดเผยท่ามกลางฝูงชนมากมายเช่นนี้ได้ นางจึงตัดสินใจแอบสัมผัสเสื้อของพระองค์โดยไม่บอกกล่าว  แล้วนางก็ดีใจจนเนื้อเต้นเมื่อพบว่าอาการตกเลือดหยุดแล้ว
    หลังจากได้พยายามรักษาโรคทุกวิถีทางเท่าที่วงการแพทย์สมัยนั้นจะหยิบยื่นให้ได้แล้ว  นางจึงหันมาหาพระเยซูเจ้าในฐานะ “ที่พึ่งสุดท้าย” !
    จริงอยู่นางสมควรถูกตำหนิที่มาหาพระองค์หลังสุด  แต่เราต้องไม่ลืมว่าคริสตชนจำนวนมากก็ชอบทำเช่นเดียวกัน...
     ... เราเข้ามาวอนขอความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้าเมื่อจนปัญญาแล้วจริง ๆ
         ... เราต่อสู้กับการประจญจนหมดแรงแล้ว จึงค่อยกางมือวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์
          ... เราอาจดิ้นรนทำงานหนักจนจวนเจียนจะเอาชีวิตไม่รอด จึงค่อยวอนขอพละกำลังจากพระองค์ “พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้ากำลังจะตายแล้ว !”
ทุกคนพึงตระหนักอยู่เสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องรอจน “สถานการณ์บีบบังคับให้มาหาพระเยซูเจ้า” !
และถึงแม้เราจะมาหาพระองค์เมื่อจนตรอกแล้วก็ตาม ไม่มีทางเลยที่พระองค์จะปล่อยให้เรากลับไปมือเปล่า........

การรักษาหญิงตกเลือดครั้งนี้เกี่ยวข้องกับบุคคล 3 ฝ่าย  แต่ละฝ่ายล้วนให้ข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตของเรา
1.    พระเยซูเจ้า  พระองค์ไม่ได้รักษาหญิงตกเลือดแบบไม่มีอะไรต้องสูญเสีย ตรงกันข้าม พระองค์ต้องแลกกับบางสิ่งบางอย่างที่ออกไปจากตัวของพระองค์เอง ดังที่มาระโกเล่าว่า “ทรงรู้สึกว่ามีอิทธิฤทธิ์ออกจากพระองค์” (ข้อ 30)
        เราจึงได้หลักการในการดำเนินชีวิตข้อหนึ่งว่า “เราจะสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เลย หากเราไม่พร้อมจะใส่บางสิ่งบางอย่างของชีวิตเราเข้าไปในผลงานนั้น”
        นักแสดงที่ออกเสียงได้ชัดเจน ฉะฉาน และมีลีลาการแสดงถูกต้องตามที่ผู้กำกับกำหนดจะเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ไม่ได้เลย หากเขาไม่ได้ใส่ชีวิตจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของตนลงไปในการแสดงนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น น้ำตาของเขาต้องเป็นน้ำตาจริง ๆ  และความรู้สึกของเขาต้องเป็นความรู้สึกที่ออกมาจากหัวใจของเขาจริง ๆ
        เช่นเดียวกัน พระสงฆ์ที่ลงจากธรรมาสน์โดยไม่ได้ทุ่มเทชีวิตและวิญญาณของตนลงไปในบทเทศน์ ย่อมไม่สามารถประกาศข่าวดีได้อย่างบังเกิดผล
        หรือผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ย่อมต้องพลีไม่เพียงแต่แรงกายเท่านั้น แต่ต้องพร้อมใส่ชีวิตจิตใจของตนลงไปในความช่วยเหลือนั้น ๆ ด้วย
        ความยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าอยู่ตรงที่พระองค์พร้อมจะพลีทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตของพระองค์เองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น !
2.    บรรดาศิษย์  พวกเขาใช้สามัญสำนึกตัดสินและทูลว่า “พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าผู้คนเบียดเสียดกันเช่นนี้ แล้วยังทรงถามอีกหรือว่า “ใครสัมผัสเรา”” (ข้อ 31)
        ความหมายคือผู้คนมากมายและเบียดเสียดกันเช่นนี้ จะมีคนถูกเนื้อต้องตัวพระองค์บ้างไม่ได้เชียวหรือ ?
        ใช่ พวกเขามีสามัญสำนึกที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้และไม่ได้นึกถึงด้วยซ้ำไปก็คือ พระองค์ต้องเสียสละอะไรไปบ้างเพื่อช่วยเหลือหญิงตกเลือดผู้นี้ !
        นี่เป็นโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวง ที่เรามนุษย์ไม่สามารถหรือไม่สนใจที่จะรับรู้ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของกันและกัน
        ตัวอย่างเช่น คนฉลาดมักจะไม่ตระหนักเลยว่า คนที่ด้อยปัญญากว่าตนต้องใช้ความเพียรพยายามมากสักเพียงใดจึงจะเข้าใจสิ่งที่ตนอ่านหรือฟังเพียงครั้งเดียวก็รู้เรื่อง
        เพราะฉะนั้น เราจึงต้องวอนขอพระเจ้าโปรดให้เรามีทั้งสามัญสำนึกที่ถูกต้อง  และในเวลาเดียวกัน ก็มีจิตใจที่พร้อมจะรับรู้ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของผู้อื่นด้วย
3.    หญิงตกเลือด  มาระโกเล่าว่า “หญิงคนนั้นรู้สึกกลัวจนตัวสั่นเพราะรู้ดีว่าอะไรได้เกิดขึ้นแก่ตน จึงกราบลงเฉพาะพระพักตร์และทูลให้ทรงทราบความจริงทุกประการ” (ข้อ 33)
        การ “สารภาพ” เป็นเรื่องยาก น่ากลัว และต้องมีความสุภาพจริง ๆ จึงจะทำได้  แต่ทันทีที่นางสารภาพความจริงกับพระเยซูเจ้า  ความกลัวจนตัวสั่นก็หมดสิ้นไป คงเหลือไว้แต่ความสุขใจอันเปี่ยมล้น
        อีกทั้งนางยังได้ค้นพบว่าพระเยซูเจ้าทรงพระทัยดีเสียนี่กระไร คำพูดของพระองค์ที่ว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุข หายจากโรคเถิด” (ข้อ 34) คงดังก้องอยู่ในโสตประสาทของนางจวบจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
        จะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรเลยที่จะ “สารภาพ” กับคนเช่นพระเยซูเจ้า !

พระเยซูเจ้าทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้คืนชีพ
    
ประเพณีของชาวยิวถือว่าเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่เมื่ออายุ 12 ปีกับอีก 1 วัน  บุตรหญิงของไยรัสอายุ 12 ปีแล้วจึงกำลังจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  แต่ช่างน่าเสียดายและน่าเศร้าใจจริง ๆ ที่ความตายกำลังจะมาเยือนเธอ
    ไยรัสเป็นหัวหน้าศาลาธรรม  เขาจึงเป็นบุคคลที่สำคัญและได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่งในชุมชน  หน้าที่ของเขาคือเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารศาลาธรรมซึ่งประกอบด้วยบรรดาผู้อาวุโสของชุมชน  เป็นผู้รับผิดชอบจัดให้มีบริการต่าง ๆ ทั้งเรื่องศาสนพิธีและการแจกจ่ายความช่วยเหลือให้แก่ผู้ขัดสน
    แต่เมื่อบุตรสาวของเขาที่กำลังโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเกิดป่วยหนักจวนจะสิ้นใจ  มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้เขาคิดถึงพระเยซูเจ้า
    1.    เขาลืมอคติ  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาหัวหน้าศาลาธรรมล้วนมีอคติต่อพระเยซูเจ้าและถือว่าพระองค์คือ “คนนอก”  เป็นบุคคลอันตรายที่สอนความเชื่อผิด ๆ   และเป็นบุคคลต้องห้ามที่ไม่มีศาลาธรรมแห่งใดยินดีต้อนรับ
        “อคติ” คือ “การตัดสินล่วงหน้า” โดยไม่พิจารณาหลักฐานหรือข้อเท็จจริง
        แต่ไยรัสยิ่งใหญ่พอที่จะละทิ้งอคติที่มีต่อพระเยซูเจ้าในยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์มากที่สุดเช่นนี้
        ตรงกันข้ามกับคนอีกจำนวนมากที่ปล่อยตัวจมอยู่ในอคติ จนจิตใจของเขาปิดตายจากความช่วยเหลือและพระพรอีกมากมายที่พระเจ้าพร้อมจะประทานให้ทันทีแก่ผู้วอนขอ !
    2.    เขาลืมศักดิ์ศรี  ไยรัสเป็นถึงหัวหน้าศาลาธรรมแต่ “เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท” (ข้อ 22) ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นเพียงอาจารย์ที่ร่อนเร่ไปเรื่อยโดยไม่มีหลักแหล่ง
        นาอามานซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของซีเรียก็ยอมละทิ้งศักดิ์ศรี ปฏิบัติตามคำสั่งของประกาศกเอลีชาที่ฝากผ่านคนใช้มาอีกทีหนึ่ง  ผลคือเขาหายจากโรคเรื้อน (2 พกษ 5)
        เราทุกคนจึงต้องพร้อมลืมเรื่องศักดิ์ศรีเพื่อรักษาชีวิตและวิญญาณของเราไว้ !
    3.    เขาลืมความหยิ่งจองหอง  ในโลกนี้ไม่มีใครอยากเป็นหนี้บุญคุณคนอื่น  ยิ่งไยรัสซึ่งเป็นหัวหน้าศาลาธรรมด้วยแล้ว เขายิ่งต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อจะลืมความหยิ่งจองหอง และมีความสุภาพมากพอที่จะเข้ามาขอความช่วยเหลือจากคนชื่อเยซูชาวนาซาเร็ธ
        และนี่คือก้าวแรกของการดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนนั่นคือ การตระหนักว่าเราไม่เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นหนี้พระเจ้า !
    4.    เขาลืมเพื่อน  น่าแปลกที่ไยรัสยอมละทิ้งบุตรสาวที่กำลังจะสิ้นใจเพื่อไปพบพระเยซูเจ้า แทนที่จะส่งคนอื่นไปทูลเชิญพระองค์
        เป็นไปได้มากว่าไม่มีใครเห็นด้วยและไม่มีใครยอมไปพบพระเยซูเจ้า  อีกทั้งคำพูดที่ว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า” (ข้อ 35) ก็ดูเหมือนจะส่อว่าพวกเขาไม่ต้องการให้พระองค์เข้ามาในบ้าน !
        เรียกว่าไยรัสต้องฝืนสู้กับความคิดเห็นของชุมชนและญาติพี่น้องชนิดหัวชนฝา เพื่อจะได้เชิญพระองค์มาช่วยเหลือบุตรสาวของตน
    นี่คือเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งที่ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากสิ่งเดียวคือ “เขาต้องการความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า”  และเพราะเขาลืมได้เช่นนี้เอง เขาจึงระลึกได้ว่า “พระเยซูเจ้าคือพระผู้ช่วยให้รอด” จริง ๆ

     “เมื่อมาถึงบ้านของหัวหน้าศาลาธรรม  พระเยซูเจ้าทรงเห็นความวุ่นวาย และเห็นผู้คนร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก” (ข้อ 38)
    การจัดผู้คนให้มาร่ำไห้พิลาปรำพันเพื่อตอกย้ำความเศร้าสลดอันเนื่องมาจากความตายและการพลัดพรากจากกันนั้น เป็นประเพณีที่จะขาดเสียมิได้ทั้งในโรม กรีก ฟีนีเซีย อัสซีเรีย และปาเลสไตน์  ถึงกับมีข้อกำหนดไว้ว่า “ไม่ว่าจะยากจนเพียงใดก็ตาม สามีต้องจัดให้มีคนเป่าขลุ่ยอย่างน้อย 2 คนในงานศพของภรรยา”
    แต่นี่เป็นการเตรียมงานศพของบุตรสาวหัวหน้าศาลาธรรม จึงมีผู้คนมากเป็นพิเศษ
    โดยไม่สนใจเสียงหัวเราะเยาะของพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงจับมือเด็ก ตรัสว่า “ทาลิธาคูม” แปลว่า “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น” (ข้อ 41)
    น่าแปลกที่คำ “ทาลิธาคูม” ซึ่งเป็นภาษาอาราไมอิค มาอยู่ในพระวรสารของมาระโกซึ่งเป็นภาษากรีกได้อย่างไร ?
    คำตอบนั้นชัดเจนมาก คือ มาระโกได้ข้อมูลจากเปโตรซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย  และแม้เปโตรจะพูดภาษากรีกได้ แต่เสียง “ทาลิธาคูม” ซึ่งเปี่ยมด้วยความรัก ความอ่อนโยน และความเอาใจใส่ คงดังก้องอยู่ในโสตประสาทของเปโตรชนิดไม่มีวันลืมเลือน จนท่านไม่อาจคิดเป็นภาษากรีกได้  ท่านจำได้แต่เสียงและคำพูดที่พระองค์ทรงตรัสเป็นภาษาอาราไมอิคเท่านั้น !
    จากการช่วยบุตรสาวของไยรัสให้กลับคืนชีพครั้งนี้  เราสามารถแยกแยะความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างผู้คนที่มาร่ำไห้พิลาปรำพันและพระเยซูเจ้า
    1.    ผู้คนที่มาร่ำไห้พิลาปรำพันล้วน “สิ้นหวัง”  ส่วนพระเยซูเจ้า “เต็มไปด้วยความหวัง”
        พวกเขาพูดว่า “ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไมเล่า  ไม่มีใครช่วยอะไรได้อีกแล้ว”  ส่วนพระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด”
    2.    พวกเขาร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก  ส่วนพระเยซูเจ้าเปี่ยมด้วยความสงบเยือกเย็น ปราศจากความหวั่นไหว
        สาเหตุเป็นเพราะพระองค์ทรงมีความวางใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม  พวกเขาหัวเราะเยาะพระองค์เพราะคิดว่าพระองค์ “หวังลม ๆ แล้ง ๆ”  แต่ที่สุดเสียงหัวเราะเยาะของพวกเขากลับกลายเป็นความ “ประหลาดใจอย่างยิ่ง” (ข้อ 42) เพราะสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเหลือเชื่อ ล้วนเป็นไปได้เสมอสำหรับพระเจ้า
        ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เราเผชิญหน้าไม่ได้ และไม่มีสิ่งใดที่เราเอาชนะไม่ได้ แม้แต่ความตาย หากเราเผชิญหน้าและเอาชนะมันอาศัยความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของเรา