แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี  มาระโก 9:30-37
    30)พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นพร้อมกับบรรดาศิษย์ผ่านแคว้นกาลิลี พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้  (31)ทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์ และตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ”  (32)บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้ แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม (33)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อเสด็จเข้าไปในบ้าน พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง”  (34)เขาก็นิ่ง เพราะระหว่างทางเขาถกเถียงกันว่า ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน  (35)พระองค์จึงประทับนั่ง  แล้วทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”  (36)ครั้นแล้วพระองค์ทรงจูงเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งมายืนกลางกลุ่มพวกเขา ทรงโอบเด็กนั้นไว้ ตรัสว่า  (37)”ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”


   
    พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากแคว้นกาลิลีทางเหนือ ดินแดนบ้านเกิดที่พระองค์สามารถประกาศข่าวดีได้อย่างปลอดภัย แล้วมุ่งหน้าลงใต้สู่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งมี “กางเขน” และความตายรอพระองค์อยู่เบื้องหน้า
    การเดินทางครั้งนี้ พระองค์ “ไม่ทรงต้องการให้ผู้ใดรู้” (ข้อ 30) จะได้ปลอดจากฝูงชนที่คอยห้อมล้อมติดตามพระองค์
เนื่องจากเวลาของพระองค์ในโลกนี้ใกล้หมดลง พระองค์จึงต้องการอยู่ตามลำพังกับบรรดาอัครสาวกเพื่อจะได้ “จารึกคำสั่งสอนไว้ในจิตใจ” ของพวกเขาซึ่งจะเป็นผู้สืบสานงานของพระองค์ต่อไปในโลกนี้
แต่มีคำสอนบางประการที่พระองค์ต้อง “เปลี่ยนความคิด” ของพวกเขาให้ได้ก่อน “จารึกลงในจิตใจ” ก็คือ พระองค์ไม่ใช่พระเมสสิยาห์ที่เป็นนักรบนองเลือด แต่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ “จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ” (ข้อ 31)
    นี่เป็นการทำนายถึงพระทรมานเป็นครั้งที่สอง ซึ่งมีข้อความว่า “จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย” เพิ่มขึ้นมาจากการทำนายครั้งที่หนึ่ง (มก 8:31)
ข้อความที่เพิ่มขึ้นมาแสดงว่าพระองค์ทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่า ยูดาสกำลังคิดทรยศด้วยการ “มอบ” พระองค์ให้อยู่ “ในเงื้อมมือ” ของฝ่ายตรงข้าม
คำทำนายครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการ “เตือน” และในเวลาเดียวกันก็ “เรียกร้องให้ยูดาสเปลี่ยนใจ” จากการคิดทรยศพระองค์
แต่น่าเสียดายที่ยูดาสไม่เปลี่ยนใจ !
และยิ่งน่าเสียดายมากขึ้นไปอีกเพราะไม่มีอัครสาวกคนใดเข้าใจคำทำนายเกี่ยวกับอนาคตของพระเมสสิยาห์  ทั้งที่ครั้งก่อนพวกเขาเคยได้ฟังพระองค์ทำนายเรื่อง “การประหารชีวิต” มาแล้ว  แต่สิ่งที่พระองค์ทรงเสริมเข้ามาครั้งนี้คือ “ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ” นั้น ไม่มีผู้ใดเข้าใจ
และที่สำคัญ “ไม่มีใครกล้าทูลถาม” อีกด้วย
เรื่อง “การกลับคืนชีพ” ที่ถือว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งใหญ่สูงสุดนี้ พวกเขาไม่เข้าใจ แล้วยังไม่ถามอีกด้วย !!
    น่าพิศวงจริง ๆ ที่สติปัญญาของมนุษย์มีกลไกพิเศษ สามารถปฏิเสธสิ่งที่ไม่อยากรู้ หรือไม่อยากเห็นได้
มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่เข้าใจคำวินิจฉัยโรคของแพทย์ แต่ไม่กล้าถามและไม่อยากรู้รายละเอียดด้วย เกรงว่าหากรู้ความจริงว่าเป็นโรคร้ายแรงแล้ว จะทำใจยอมรับไม่ได้
บรรดาอัครสาวกก็เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยประเภทนี้  พวกเขาไม่กล้าทูลถามเรื่องการกลับคืนชีพ เพราะกลัวจะได้ยินข่าวร้ายเรื่องการสิ้นพระชนม์ !
อันที่จริง เราคริสตชนก็ไม่น้อยหน้าบรรดาอัครสาวกเหมือนกัน
เราทุกคนต่างตระหนักดีว่าการตอบรับข่าวดีของพระเยซูเจ้านั้นนำความสุขสันติและความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่เพียงใดมาสู่เรา  และการปฏิเสธข่าวดีนั้นช่างเป็นโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงสักเพียงใด
แต่เราก็ยังห่างไกลจากการดำเนินชีวิตตามข่าวดีนั้น...
นั่นเป็นเพราะเรา “เลือกรับข่าวดีเฉพาะส่วนที่ชอบ” แล้วใช้กลไกพิเศษปฏิเสธ “ส่วนที่พระองค์ทรงเรียกร้องจากตัวเรา” มิใช่หรือ ???

    ด้วยเหตุที่ไม่เข้าใจแล้วไม่ถามนี้เอง บรรดาอัครสาวกจึงยึดติดกับความคิดที่ว่าพระเมสสิยาห์คือกษัตริย์นักรบที่สามารถปราบศัตรูและพิชิตนานาชาติจนราบคาบ แล้วสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาใหม่บนโลกนี้ โดยมีพวกเขาเข้าร่วมรัฐบาล
    ระหว่างเดินทาง ศิษย์ต้องเดินตามหลังอาจารย์  เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าดำเนินไปข้างหน้า พวกเขาคิดว่าพระองค์คงไม่ได้ยินและคงไม่มีทางทราบเรื่องที่พวกเขาจะพูดคุยกัน จึงเริ่มถกเถียงกันว่า “ใครจะเป็นใหญ่กว่ากัน” ในรัฐบาลที่พระองค์คงจะแต่งตั้งขึ้นในไม่ช้านี้
    ยังดีที่ในส่วนลึกของหัวใจ พวกเขาต่างรู้ดีว่า “ตนผิด”  ที่แย่งกันเป็นใหญ่ เพราะเมื่อเสด็จเข้าไปในบ้านที่เมืองคาเปอรนาอุมแล้ว พระองค์ตรัสถามพวกเขาว่า “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง”  พวกเขาก็นิ่ง (ข้อ 33-34)
    พวกเขานิ่งเพราะ “ความละอายใจ”
    พวกเขาเงียบสนิท  ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ หลุดออกมาจากปาก !
    เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้า พวกเขารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร !!!
หากเราคริสตชนนำทุกสิ่งทุกอย่างมาวางไว้ต่อหน้าพระพักตร์พระเยซูเจ้า ชีวิตของเราและสังคมของเราคงเปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่านี้อีกมาก
ก่อนจะทำสิ่งใด เราจึงควรถามตัวเองว่า “ฉันจะทำสิ่งนี้ไหมหากพระเยซูเจ้ากำลังเฝ้าดูฉันอยู่ ?”
ก่อนจะพูดสิ่งใด ขอให้เราถามตัวเองว่า “ฉันจะพูดแบบนี้ไหมหากพระเยซูเจ้ากำลังฟังฉันอยู่ ?”
    บังเอิญข้อเท็จจริงก็คือ ไม่มีคำว่า “หาก” หรือ “ถ้า” เพราะทุกสิ่งที่เราคริสตชนทำหรือพูด ล้วนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าเสมอ !
    
จะเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเอาจริงเอาจังกับประเด็น “ผู้ใดยิ่งใหญ่กว่ากัน” มาก เพราะทรง “ประทับนั่ง” แล้วเรียกอัครสาวกทั้งสิบสองคนเข้ามา (ข้อ 35)
การ “ประทับนั่ง” บ่งบอกว่าสิ่งที่จะสอนต่อไปนี้ “สำคัญ” และ “เป็นทางการ”
    คำสอนที่ว่านี้คือ “ถ้าผู้ใดอยากเป็นคนที่หนึ่ง ก็ให้ผู้นั้นทำตนเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน”
จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ห้ามเราทะเยอทะยานที่จะเป็นคนที่หนึ่ง  แต่ทรงทำให้ความทะเยอทะยานของเรามีความหมายใหม่และบริสุทธิ์สูงส่งยิ่งขึ้น
พระองค์ทรงทดแทนความทะเยอทะยานที่จะปกครองคนอื่นด้วย “ความทะเยอทะยานที่จะรับใช้ผู้อื่น”
และทรงทดแทนความทะเยอทะยานที่จะให้ผู้อื่นรับใช้ตนด้วย “ความทะเยอทะยานที่จะรับใช้ผู้อื่น” อีกเช่นกัน
คำสอนนี้หาได้เป็นเพียงอุดมการณ์อันเลื่อนลอยแต่ประการใดไม่  ดังจะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญและยิ่งใหญ่จำนวนมากที่ประวัติศาสตร์จารึกนามไว้ล้วนเป็นบุคคลที่เสียสละ “รับใช้” สังคม  ตรงกันข้าม บุคคลที่แสวงหาเกียรติยศชื่อเสียงหรือผลประโยชน์จากสังคมกลับไม่ได้รับการจารึกนาม หรือหากได้รับการจารึกนามก็ด้วยความเกลียดชังและดูหมิ่นเหยียดหยาม
คนที่ไม่เห็นแก่ตัวนั้นหายาก แต่เมื่อพบแล้วโลกจะจดจำไปชั่วกาลนาน ดังเช่นเรื่องเล่าของกรีกเกี่ยวกับชาวสปาร์ตาคนหนึ่งนามว่าเปดาเรตอส (Paedaretos)  
กรีกจัดให้มีการคัดเลือกสุดยอดผู้บริหาร 300 คนเพื่อปกครองเมืองสปาร์ตา  เปดาเรตอสเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิรับการคัดเลือก แต่เมื่อประกาศผลออกมากลับไม่มีชื่อของเขา  เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่า “เสียใจด้วยนะที่ไม่ได้รับเลือก ชาวสปาร์ตาน่าจะรู้ว่าพวกเขาพลาดนักปกครองที่ชาญฉลาดอย่างท่านไปคนหนึ่ง”  เปดาเรตอสตอบว่า “ผมกลับดีใจที่ชาวสปาร์ตามีคนดีกว่าผมตั้ง 300 คน”
เปดาเรตอสกลายเป็นตำนานของคนที่เห็นคนอื่นสำคัญกว่าตน โดยไม่รู้สึกอิจฉาหรือประสงค์ร้ายแต่ประการใด
    สังคมของเรา ชาติของเรา โลกของเรา และพระศาสนจักรของเรา จะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้อีกสักเพียงใด หากเราเห็นความสำคัญของคนอื่นและมุ่งรับใช้คนอื่น ไม่ใช่มัวแต่แสวงหาเกียรติยศและผลประโยชน์ใส่ตน
    ทุกวันนี้องค์กรใดขาด “จิตตารมณ์ของการรับใช้” (Serviced Mind) องค์กรนั้นอย่าได้หวังจะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” เลย เพราะลำพังยืนหยัดอยู่ต่อไปในสังคมให้ได้ก็เก่งแล้ว
    นี่จึงเป็นคำสอน หลักการ และความจริงอันยิ่งใหญ่ที่สุดและทรงคุณค่าสูงสุดประการหนึ่ง ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบแก่เราทุกคน !

    “ความทะเยอทะยานที่จะรับใช้ผู้อื่น” นอกจากจะเป็น “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ” ในชีวิตนี้แล้ว  พระเยซูเจ้ายังถือว่าเป็น “การรับใช้พระองค์เอง” และเป็น “การรับใช้ผู้ที่ทรงส่งพระองค์มา นั่นคือพระบิดา” อีกด้วย
    อย่างนี้ต้องเรียกว่าได้ผลประโยชน์ “สามเด้ง”
    หลายครั้งหลายคราที่พระองค์ตรัสว่าการรับใช้ผู้ต่ำต้อยก็คือการรับใช้พระองค์เอง ดังเช่น “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)
    ผู้ต่ำต้อยที่พระองค์ทรงตรัสถึงในวันนี้คือ “เด็กเล็ก ๆ”
    เด็กเล็ก ๆ คือตัวแทนที่ดีที่สุดของบรรดาผู้ต่ำต้อย ยากจน ขัดสน ไร้อิทธิพล ไร้เงินทองและไร้อำนาจ
    เพราะลักษณะของเด็กเล็ก ๆ คือไม่มีอิทธิพล ไม่สามารถช่วยให้เราก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ อีกทั้งไม่สามารถเพิ่มพูนชื่อเสียงและเกียรติยศให้แก่เราอีกด้วย
    ตรงกันข้าม เด็กเล็ก ๆ ต้องพึ่งพาเรา ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ต้องการให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้พวกเขา เช่นเปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนอาหาร ซักเสื้อผ้า เป็นต้น
พระวาจาที่ว่า “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย” (ข้อ 37) จึงควรดังก้องอยู่ในโสตประสาทและแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของเราผู้เป็นคริสตชน

แต่น่าเสียดายที่กระแสสังคมทุกวันนี้กลับเป็นตรงกันข้าม…..
เราชอบเข้าหา จัดงานเลี้ยง มอบของกำนัล หรือแม้แต่ยอมก้มหัวให้ผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพล ผู้กว้างขวาง ตลอดจนผู้มีบารมีที่สามารถดลบันดาลผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่เรา.....
แล้วเมินเฉย เย็นชา ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแม้แต่เกรี้ยวกราดใส่ผู้ที่ต่ำต้อย ยากจน ขัดสน และต้องการความช่วยเหลือจากเรา
    อย่างนี้ต้องเรียกว่า “คิดสั้น” แท้ ๆ ….
เพราะหวังเพียง “เด้งเดียว” !!!