แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า

ข่าวดี    มาระโก 14:12-16, 22-26
(12)วันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เมื่อเขาฆ่าลูกแกะปัสกา บรรดาศิษย์ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์มีพระประสงค์ให้เราจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาที่ไหน”  (13)พระองค์จึงทรงใช้ศิษย์สองคนไป สั่งเขาว่า “จงเข้าไปในกรุง แล้วจะพบชายคนหนึ่งกำลังเดินแบกหม้อน้ำอยู่ จงตามเขาไป  (14)เขาเข้าไปที่ไหน  จงถามเจ้าของบ้านว่า  “พระอาจารย์ถามว่า ห้องที่เราจะกินปัสกากับบรรดาศิษย์นั้นอยู่ที่ไหน”  (15)เขาจะชี้ให้ท่านเห็นห้องใหญ่ชั้นบนปูพรมไว้เรียบร้อย จงจัดเตรียมปัสกาไว้สำหรับพวกเราที่นั่นแหละ”  (16)ศิษย์ทั้งสองคนออกเดินทางเข้าไปในกรุง พบสิ่งต่าง ๆ ดังที่พระองค์ทรงบอกไว้ จึงจัดเตรียมปัสกา
(22)ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา”  (23)แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น  (24)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก  (25)เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด  จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า”
    (26)เมื่อขับร้องเพลงสดุดีแล้ว ทุกคนออกจากห้องเพื่อไปยังภูเขามะกอกเทศ



การเตรียมงานเลี้ยงปัสกา (ข้อ 12-16)
    ช่วงอาทิตย์สุดท้ายในชีวิตของพระเยซูเจ้า  เราได้เห็นอัจฉริยภาพของพระองค์ในการเตรียมการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ
    พระองค์ทรงเตรียมลูกลาสำหรับประทับนั่งเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า โดยทรงกำหนดรหัสไว้กับเจ้าของลาว่า “พระอาจารย์ต้องการใช้มัน” (มก 11:3; มธ 21:3; ลก 19:31)
    และวันนี้พระองค์ทรงเตรียมงานเลี้ยงปัสกากับเจ้าของบ้านโดยอาศัย “การแบกหม้อน้ำ” เป็นเครื่องหมาย (มก 14:13; ลก 22:10)
    ปกติการแบกหม้อน้ำเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ไม่มีผู้ชายคนไหนแบกหม้อน้ำ  การให้ผู้ชายแบกหม้อน้ำจึงสังเกตได้ง่ายพอ ๆ กับการให้ผู้ชายนุ่งกระโปรง !
    โดยทั่วไปบ้านของชาวยิวที่ค่อนข้างใหญ่จะมี “ห้องชั้นบน” ซึ่งมีลักษณะเหมือนกล่องใบเล็กวางอยู่บนกล่องที่ใหญ่กว่า โดยมีบันไดอยู่นอกบ้าน  ส่วนใหญ่ห้องชั้นบนมีไว้สำหรับสวดภาวนา พักผ่อน รับแขก เก็บของ และบางครั้งบรรดารับบียังใช้เป็นสถานที่สำหรับสอนศิษย์ผู้ใกล้ชิดแทนการใช้ศาลาธรรมอีกด้วย
    ชาวยิวเริ่มต้นวันใหม่เวลาหกโมงเย็น (18:00 น)  เพราะฉะนั้นวันปัสกาจึงเริ่มตั้งแต่หกโมงเย็นของวันศุกร์ และวันก่อนวันปัสกาเริ่มตั้งแต่หกโมงเย็นของวันพฤหัสบดี  สิ่งที่ชาวยิวต้องกระทำในวันก่อนวันปัสกาคือ
    “พิธีค้นหาเชื้อแป้ง”  ระหว่างงานเลี้ยงปัสกาครั้งแรกในอียิปต์ ชาวยิวใช้ปังไม่มีเชื้อเพื่อให้อบได้เร็ว กินได้เร็ว และรีบออกเดินทางได้เร็ว (อพย 12)  อีกประการหนึ่งเชื้อแป้งเกิดจากการหมักซึ่งเป็นสาเหตุของการเน่าเปื่อยพุพัง  ชาวยิวจึงต้องค้นหาและกำจัดเชื้อแป้งให้หมดไปจากบ้านก่อนงานเลี้ยงปัสกา
    พิธีเริ่มต้นโดยหัวหน้าครอบครัวจุดเทียนพร้อมกับภาวนาว่า “ขอถวายพรแด่พระเยห์โฮวาห์ พระเจ้าของข้าพเจ้าและกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล  พระองค์ได้ทรงทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยพระบัญญัติของพระองค์ และทรงบัญชาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายกำจัดเชื้อแป้งให้หมดสิ้น”
    หลังจากค้นหาและกำจัดเชื้อแป้งแล้ว หัวหน้าครอบครัวจะนำสวดภาวนาว่า “ขอโปรดให้เชื้อแป้งทั้งหมดของข้าพเจ้า ทั้งที่แลเห็นได้และไม่อาจแลเห็นได้ ถือว่าใช้ไม่ได้และเป็นเพียงฝุ่นดิน”
    สิ่งที่ชาวยิวต้องกระทำประการที่สองคือ “ถวายลูกแกะปัสกา” เป็นเครื่องเผาบูชาที่พระวิหาร โดยผู้ถวายจะเป็นผู้เชือดคอลูกแกะเอง  จากจุดที่เชือดลูกแกะไปจนถึงพระแท่นจะมีพระสงฆ์ยืนเรียงกัน 2 แถว แต่ละองค์ถือชามทำด้วยทองหรือเงินเพื่อรองรับเลือดของลูกแกะที่ถูกฆ่า แล้วส่งชามเลือดต่อกันไปในแถวจนถึงพระสงฆ์องค์สุดท้ายซึ่งจะพรมเลือดลูกแกะบนพระแท่น  ต่อจากนั้น แกะจะถูกถลกหนังแล้วนำเครื่องในและไขมันออกมาเพื่อเผาเป็นเครื่องบูชา
    ผู้ถวายจะนำแกะที่ถวายบูชาแล้วกลับบ้านเพื่อเสียบด้วยไม้ประเภททับทิม และย่างบนกองไฟโดยที่หัว ขา และหางยังติดอยู่กับลำตัว  ห้ามต้มหรือปล่อยให้สิ่งอื่นสัมผัสเนื้อแกะเด็ดขาด
    โต๊ะอาหารสี่เหลี่ยมมีด้านหนึ่งเปิดว่างไว้เพื่อให้ผู้รับเชิญเอนบนที่นอน โดยใช้แขนซ้ายหนุน และแขนขวาหยิบอาหาร
    สิ่งที่ศิษย์ทั้งสองของพระเยซูเจ้าต้องจัดเตรียมให้พร้อมสำหรับงานเลี้ยงปัสกา ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับพระองค์ ประกอบด้วย
    1.    ลูกแกะปัสกา (ดังได้กล่าวมาแล้ว) เพื่อเตือนให้ระลึกถึงเลือดลูกแกะที่ได้ช่วยชีวิตชาวยิวไว้เมื่อครั้งที่ทูตแห่งความตายผ่านไปทั่วอียิปต์
    2.    ขนมปังไร้เชื้อ เพื่อเตือนให้ระลึกถึงปังที่บรรพบุรุษของชาวยิวรีบเร่งกินก่อนหนีจากการเป็นทาส
    3.    ชามน้ำเกลือ เพื่อเตือนให้ระลึกถึงน้ำตาที่พวกเขาหลั่งในอียิปต์ และน้ำในทะเลแดงที่พวกเขาข้ามมาอย่างน่ามหัศจรรย์
    4.    ผักขมจำนวนหนึ่ง เพื่อเตือนให้ระลึกถึงความขมขื่นแห่งการเป็นทาสในอียิปต์
    5.    Charosheth (ชาโรเชท) มีลักษณะเหมือนแป้งเปียก แต่ผสมด้วยแอปเปิล อินทผลัม ทับทิม และลูกนัท แล้วใช้กิ่งอบเชยปักไว้ เพื่อเตือนให้ระลึกถึงดินเหนียวและฟางที่พวกเขาใช้ทำอิฐในอียิปต์
    6.    ถ้วยองุ่นสี่ใบ ใส่เหล้าองุ่นสามส่วนผสมกับน้ำสองส่วนสำหรับใช้ดื่มระหว่างอาหารสี่ครั้งด้วยกัน เพื่อเตือนให้ระลึกถึงพระสัญญา 4 ข้อดังที่ปรากฏในหนังสืออพยพบทที่ 6 ข้อ 6 และ 7 คือ
        - เราจะช่วยท่านให้พ้นจากงานหนักที่ชาวอียิปต์บังคับให้ทำ
        - เราจะช่วยท่านให้พ้นจากการเป็นทาส
        - เราจะช่วยท่านให้รอดพ้นเดชะอานุภาพของเรา
        - เราจะรับท่านไว้เป็นประชากรของเรา และเราจะเป็นพระเจ้าของท่านทั้งหลาย
    
งานเลี้ยงปัสกา (ข้อ 22-25)
    งานเลี้ยงปัสกามีหลายขั้นตอน เรียงตามลำดับได้ดังนี้
    1.    ดื่มเหล้าองุ่นถ้วยแรก  เรียกว่าถ้วย Kiddush (คิดดุช) ซึ่งแปลว่า “การทำให้ศักดิ์สิทธิ์” หรือการแยกอาหารมื้อนี้ให้แตกต่างจากมื้ออื่น โดยหัวหน้าครอบครัวจะหยิบถ้วยองุ่นผสมน้ำที่เตรียมไว้ สวดภาวนา แล้วยื่นให้ทุกคนดื่ม
    2.    ล้างมือ  (เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีการ)
    3.    เรียกน้ำย่อย ด้วยผักชีฝรั่งหรือผักกาดหอมที่นำมาจุ่มลงในชามน้ำเกลือที่เตรียมไว้แล้วรับประทาน
    4.    บิขนมปัง  บนโต๊ะมีขนมปังไร้เชื้อสามถาดกลม  เมื่อภาวนาแล้ว ขนมปังจากถาดกลางจะถูกบิ และกินแต่เพียงเล็กน้อยเพื่อเตือนให้ระลึกถึงขนมปังที่พวกเขากินด้วยความขัดสนในอียิปต์  ส่วนการบินั้นช่วยเตือนพวกเขาให้ระลึกว่าทาสไม่เคยได้กินขนมปังทั้งก้อน อย่างดีก็แค่ขนมปังที่ค้างจนแข็งและแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วเท่านั้น  ขณะบิขนมปังหัวหน้าครอบครัวจะกล่าวว่า “นี่คือขนมปังแห่งความทุกข์ยากลำบากซึ่งบรรพบุรุษของเราได้กินในแผ่นดินอียิปต์  ผู้ใดหิวจงมาและกินเถิด  ผู้ใดต้องการจงมาและกินปัสการ่วมกับเราเถิด”  (ปัจจุบันชาวยิวที่อาศัยอยู่ต่างแดน จะเพิ่มคำกล่าวว่า “ปีนี้เราจัดงานเลี้ยงปัสกาที่นี่ ปีหน้าในแผ่นดินอิสราเอล  ปีนี้ในฐานะทาส ปีหน้าในฐานะเป็นไท”)
    5.    เล่าเรื่องการช่วยให้รอด  ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นผู้ตั้งคำถามว่าทำไมวันนี้จึงแตกต่างจากวันอื่น  แล้วหัวหน้าครอบครัวจะเล่าประวัติศาสตร์อิสราเอลตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการช่วยให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ด้วยพระเมตตาและพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า
    6.    สรรเสริญพระเจ้า ด้วยการขับร้องเพลงสดุดีที่ 113 และ 114
    7.    ดื่มเหล้าองุ่นถ้วยที่สอง  เรียกว่าถ้วย Haggadah (ฮักกาดาห์) ซึ่งแปลว่าถ้วยแห่งการอธิบายหรือการประกาศ
    8.    ทุกคนล้างมือ เพื่อเตรียมรับประทานอาหาร
    9.    โมทนาคุณ  แล้วแจกขนมปังไร้เชื้อชิ้นเล็ก ๆ แก่ทุกคน
    10.    กินผักขม โดยจิ้มด้วย Charosheth ซึ่งเป็นผลไม้ผสม มีลักษณะเหมือนแป้งเปียกเพื่อเตือนให้ระลึกถึงดินเหนียวที่ใช้ทำอิฐ
    11.    กินอาหาร  ต้องกินลูกแกะปัสกาให้หมด  หากเหลือต้องทำลาย ห้ามนำไปกินร่วมกับมื้ออื่น
    12.    ล้างมืออีกครั้ง
    13.    กินขนมปังไร้เชื้อ ที่เหลือให้หมด
    14.    ดื่มเหล้าองุ่นถ้วยที่สาม เรียกว่าถ้วยแห่งการขอบพระคุณ  ช่วงนี้มีการวอนขอให้ประกาศกเอลียาห์เสด็จมาโดยเร็ว เพื่อพระเมสสิยาห์จะได้เสด็จตามมาโดยเร็วด้วย
    15.    สรรเสริญพระเจ้า ด้วยการขับร้องเพลงสดุดีที่ 115-118
    16.    ดื่มเหล้าองุ่นถ้วยที่สี่ พร้อมกับขับร้องเพลงสดุดีที่ 136 ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่สำคัญที่สุด
    17.    จบด้วยบทภาวนาสั้น ๆ สองบท
ระหว่างอาหารค่ำครั้งสุดท้าย สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำคือลำดับที่ 13 ซึ่งได้แก่การกินขนมปังไร้เชื้อจนหมด  ลำดับที่ 14 คือการดื่มเหล้าถ้วยที่สามเพื่อขอบพระคุณพระเจ้า  และสุดท้ายคือลำดับที่ 16 ซึ่งเป็นการร่วมกันขับร้องเพลงสดุดีที่ 136 ก่อนจะออกจากห้องชั้นบนเพื่อไปยังภูเขามะกอกเทศ
    การกระทำของพระองค์เป็นสิ่งที่บรรดาประกาศกในพระธรรมเก่าได้เคยกระทำมาก่อนแล้วเมื่อเห็นว่าลำพังการพูดอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสนใจหรือเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการสื่อถึงพวกเขา  จำเป็นต้องมีการแสดงออกด้วยกิจกรรมเพื่อให้ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไป
    และพระองค์ทรงแสดงออกอย่างน่าทึ่งโดยอาศัยงานเลี้ยงปัสกาที่ผู้คนต่างพากันคุ้นเคย ราวกับต้องการจะตรัสว่า “ดูสิ ขนมปังถูกบิหักอย่างไร ร่างกายของเราก็จะถูกหักอย่างนั้น  ถ้วยเหล้าองุ่นไหลรินอย่างไร โลหิตของเราก็จะหลั่งรินอย่างนั้น !”
    
ที่สุดพระองค์ตรัสว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก” (ข้อ 24)
    “พันธสัญญา” คือสาระสำคัญของศาสนายิว  พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับชาวอิสราเอล (อพย 24:3-8) โดยทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “พวกเราจะปฏิบัติตามพระวาจาทุกคำที่พระยาห์เวห์ตรัสกับเรา” (อพย 24:3)  แล้วโมเสสนำเลือดโคในชามประพรมประชากรพูดว่า “นี่คือโลหิตแห่งพันธสัญญาที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำกับท่าน” (อพย 24:8)
    ผลจากพันธสัญญานี้คือ ชาวอิสราเอลต้องถือตามบัญญัติ  เมื่อใดที่พวกเขาละเมิดบัญญัติ พันธสัญญาและความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอลก็แตกหัก
    ความสัมพันธ์นี้ขึ้นอยู่กับบัญญัติและการถือตามบัญญัติอย่างสิ้นเชิง !
    แต่เนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดในโลกสามารถถือตามบัญญัติได้ทั้งหมด พวกเขาจึงตกอยู่ในฐานะผู้ละเมิดพันธสัญญาเสมอมา
    วันนี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงแนะนำพร้อมกับให้สัตยาบันแก่ “พันธสัญญาใหม่” ซึ่งจะคงอยู่ชั่วนิรันดร
    พันธสัญญาใหม่นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบัญญัติอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับ “โลหิตของพระองค์ที่จะหลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก” (ข้อ 24)
    นั่นคือขึ้นอยู่กับ “ความรัก” !!!
    พระองค์กำลังตรัสกับเราวันนี้ว่า “เราทำสิ่งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงรักท่านมากสักเพียงใด” !
    มนุษย์เราไม่ได้ตกอยู่ใต้บัญญัติของพระเจ้าอีกต่อไป  แต่อาศัย “พระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า” ที่เราสมโภชในวันนี้ เราตกอยู่ภายใต้ความรักของพระองค์ตลอดไป
    นี่คือสาระสำคัญที่สุดของศีลมหาสนิท....
    ศีลแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ที่สุด !!!