แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

ข่าวดี    ลูกา 3:10-18
(10)เมื่อประชาชนถามยอห์นว่า “เราจะต้องทำอะไร”  (11)เขาก็ตอบว่า “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหาร ก็จงทำเช่นเดียวกัน”  (12)คนเก็บภาษีมาหายอห์นเพื่อรับพิธีล้างด้วย และถามเขาว่า “ท่านอาจารย์ พวกเราจะต้องทำสิ่งใด”  (13)ยอห์นตอบว่า “ท่านอย่าเรียกเก็บภาษีเกินพิกัด”  (14)พวกทหารถามเขาด้วยว่า “แล้วพวกเราเล่า เราจะต้องทำสิ่งใด” เขาตอบว่า “อย่าขู่กรรโชก อย่ากล่าวหาเป็นความเท็จเพื่อเอาเงิน จงพอใจกับค่าจ้างของตน”
(15)ขณะนั้น ประชาชนกำลังรอคอย ทุกคนต่างคิดในใจว่า ยอห์นเป็นพระคริสต์หรือ  (16)ยอห์นจึงประกาศต่อหน้าทุกคนว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย  แต่ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมา และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและด้วยไฟ  (17)เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”  (18)ยอห์นยังใช้ถ้อยคำอื่นอีกมากตักเตือนและประกาศข่าวดีแก่ประชาชน


    ประชาชนถามยอห์นว่า “เราจะต้องทำอะไร” (ข้อ 10)
    สาเหตุที่ประชาชนอยากรู้ว่าจะต้องทำอะไรเป็นเพราะเกิดความหวาดกลัวเมื่อได้ยินยอห์นประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “สัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำท่านให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด และอย่ามาอ้างว่า ‘เรามีอับราฮัมเป็นบิดา’ ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้  บัดนี้ ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่ออกผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ” (ลก 3:7-9)
    ยอห์นจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำรุนแรงเช่นนี้เพราะว่า ชาวยิวถือว่าตนเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงโปรดปรานและเลือกสรร  พระองค์จะทรงพิพากษาตัดสินชนชาติอื่นด้วยมาตรฐานหนึ่ง แต่จะตัดสินพวกเขาอีกมาตรฐานหนึ่ง
    พวกเขาวาดภาพพระเจ้าให้มี “สองมาตรฐาน” !!
    อันที่จริงพวกเขาเชื่อมั่นถึงขั้นที่ว่า “จะไม่ถูกพระเจ้าพิพากษา” ด้วยซ้ำเพราะพวกเขาเป็น “ชาวยิว” ซึ่งล้วนเป็น “ลูกหลานของอับราฮัม” ผู้เป็นพระสหายสนิทของพระยาเวห์
    แต่ยอห์นเห็นว่า มาตรฐานในการพิพากษาของพระเจ้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของแต่ละคน  ท่านจึงเตือนพวกเขาว่า “อย่ามาอ้างว่า ‘เรามีอับราฮัมเป็นบิดา’” พร้อมกับขู่สำทับไปว่า “บัดนี้ ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว  ต้นไม้ต้นใดที่ไม่ออกผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ”
    และตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ ยอห์นยังกำชับอีกว่า “เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ” (ข้อ 17)
    นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างคำสอนของยอห์น และคำสอนของพระเยซูเจ้า...
    พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอน “ข่าวดี” !
    ส่วนยอห์น “ขู่ให้กลัว” !
    ชาวยิวกลัวจนต้องถามว่า “เราจะต้องทำอะไร”
    ก่อนหน้านี้ (ข่าวดีวันอาทิตย์ที่แล้ว) ยอห์น “เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ลก 3:3)
วันนี้ ท่านเรียกร้องประชาชนให้ “ประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้ว” (ลก 3:8) พร้อมกับให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมไว้ดังนี้
    1.    เราจำเป็นต้องแบ่งปันซึ่งกันและกัน
         ยอห์นสอนประชาชนว่า “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี  คนที่มีอาหาร ก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ข้อ 11)
        นี่คือ “ข่าวดีด้านสังคม” ของคริสตชน !
     เราอาจสรุปเป็นหลักการได้ว่า “พระเจ้าจะไม่ประทานการอภัยแก่ผู้ที่มีความสุขอยู่กับการมีมากเกินไป ในขณะที่ผู้อื่นมีน้อยเกินไป”
    2.    เราต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
        ยอห์นสอนคนเก็บภาษีว่า “อย่าเรียกเก็บภาษีเกินพิกัด” (ข้อ 13)
        และสอนพวกทหารว่า “อย่าขู่กรรโชก อย่ากล่าวหาเป็นความเท็จเพื่อเอาเงิน จงพอใจกับค่าจ้างของตน” (ข้อ 14)
        จะเห็นว่า “การประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้ว” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “การดำเนินชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้า” ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งชีวิตหรือหน้าที่การงานดั้งเดิมที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้  แต่หมายถึงการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
        พระเยซูเจ้าได้รับมอบหมายภารกิจจากพระบิดาให้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อนำมนุษย์กลับไปหาพระเจ้า  และพระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจดังกล่าวจนสำเร็จลุล่วง กระทั่งกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” ก่อนจะทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์ (ยน 19:30)
        เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นพระสงฆ์ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ให้ดีที่สุด  ถ้าเราเป็นพ่อแม่ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่พ่อแม่ให้ดีที่สุด  หรือถ้าเราเป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ครูบาอาจารย์ให้ดีที่สุด ดังนี้เป็นต้น

     เพราะยอห์นเทศน์สอนให้ประชาชนกลับใจและรับพิธีล้าง อีกทั้งวิถีดำเนินชีวิตตลอดจนการกินอยู่ของท่าน ล้วนแตกต่างจากบรรดาคัมภีราจารย์และฟารีสี  ประชาชนจึงต่างคิดในใจว่า ยอห์นเป็นพระคริสต์หรือ ? (ข้อ 15)
วันนี้ ท่านจึงประกาศชัดเจนต่อหน้าประชาชนทุกคนว่า ท่านเป็นเพียง “ผู้เตรียมทาง” ให้แก่พระคริสต์เท่านั้น
ด้วยความสุภาพและสัตย์ซื่อท่านยืนยันว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย  แต่ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมา และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ข้อ 16)
     การแก้สายรัดรองเท้าเป็นงานของทาส  พวกรับบีสอนว่า “ศิษย์สามารถทำทุกสิ่งให้แก่อาจารย์ของตนได้ เว้นแต่การแก้สายรัดรองเท้า”
เท่ากับยอห์นยืนยันว่าตัวท่านนอกจากไม่ใช่พระคริสต์แล้ว ยัง “ไม่สมควรแม้แต่จะเป็นทาสของพระองค์” ด้วย
เหตุผลของยอห์นคือ พระองค์นอกจากจะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและไฟแล้ว พระองค์ยังเป็น “ผู้พิพากษาตัดสิน” ที่ “กำลังถือพลั่วอยู่  จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด  จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง  ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ” (ข้อ 17)
    “พลั่ว” ที่ยอห์นเอ่ยถึง ทำด้วยไม้ แบนและเรียบ มีขนาดใหญ่ ใช้สำหรับตักข้าวโยนขึ้นไปในอากาศ  ฟางซึ่งมีน้ำหนักเบาจะถูกลมพัดปลิวไป  ส่วนข้าวซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าจะตกลงสู่พื้น
    นี่คือวิธีแยกข้าวจากฟาง !
    แปลว่า ในสายตาของยอห์น พระคริสต์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งตัวท่านเองไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของพระองค์นั้น คือผู้พิพากษาที่จะเสด็จมาตัดสินและแยก “คนดี” ออกจาก “คนชั่ว”
    แต่การตัดสินของพระองค์ไม่น่ากลัวเลย  เพราะแม้เราจะไม่ใช่ “ชนชาติยิว” หรือไม่ได้เป็น “ลูกหลานของอับราฮัม”  ก็ตาม  แต่เราก็สามารถเป็นที่โปรดปรานและเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้เท่าเทียมกันหมด
หากเรา “กลับใจ” และประพฤติตนอย่างเหมาะสมด้วยการแบ่งปันแก่ผู้อื่น และปฏิบัติหน้าที่ประจำวันของตนอย่างดีที่สุด !!!