แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 9:18-24
    (18)วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” (19) เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นเอลียาห์ บ้างว่าเป็นประกาศกในอดีตคนหนึ่งซึ่งกลับคืนชีพ”  (20)พระเยซูเจ้าตรัสถามเขาว่า “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า”  (21)พระองค์จึงทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด (22)พระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม” (23)หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา  (24)ผู้ใดใคร่รักษาชีวิต ผู้นั้นจะต้องสูญเสียชีวิต แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตเพราะเรา ผู้นั้นจะรักษาชีวิตได้


    ลูกาเล่าว่า “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว  พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลูกา 9:51)
    ทั้ง ๆ ที่ทรงทราบดีว่าสิ่งที่รอพระองค์อยู่เบื้องหน้าที่กรุงเยรูซาเล็มคือ กางเขนและความตาย !
    นี่จึงเป็นช่วงเวลาวิกฤติที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของพระองค์  และในยามนี้ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระองค์คือการ “อธิษฐานภาวนา” (ลก 9:18) !
    พระองค์ไม่เคยเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ตามลำพังโดยปราศจากคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากพระบิดาเจ้า !
    วิกฤติกาลครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความกลัวไม้กางเขน  แต่เกิดจากความวิตกว่าจะมีคนรู้จักและเข้าใจพระองค์ก่อนจะทรงลาจากโลกนี้ไปหรือไม่ ?!?
    หากไม่มีผู้ใดค้นพบว่าพระองค์ทรงเป็นใคร ก็เท่ากับว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทุ่มเทมาตลอดทั้งชีวิตล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า !
    แต่หากมีผู้หนึ่งผู้ใดค้นพบความจริงว่าพระองค์ทรงเป็นใคร ก็เท่ากับว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการจุดประกายไฟไว้ในหัวใจของมนุษย์ ซึ่งจะไม่มีวันมอดดับแม้วันเวลาจะล่วงเลยไปนานแสนนานก็ตาม
    เพราะฉะนั้น พระองค์ต้องรู้สึกใจชื้นขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อได้ยินเปโตรตอบว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” (ลก 9:20) !!!
    เพียงแต่ว่า บรรดาอัครสาวกยังต้องค้นให้พบอีกว่า “พระคริสต์” ทรงมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร ?
    เพราะเดิมทีพระคริสต์สำหรับพวกเขาคือ กษัตริย์ที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อนำพาชาวยิวพิชิตโลกด้วยกำลังทหาร และทำให้ชาติยิวเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับสมัยของกษัตริย์ดาวิด
    ซึ่งผิดกันลิบลับกับ “พระคริสต์” ที่พระองค์ตรัสว่า “จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ  และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม” (ลก 9:22)
    เมื่อความเข้าใจเกี่ยวกับพระคริสต์ยังยืนอยู่คนละขั้วเช่นนี้ พระองค์จึงต้องกำชับบรรดาอัครสาวกมิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด (ลก 9:21) หาไม่แล้วประชาชนคงลุกฮือตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ และพระองค์คงต้องถูกตรึงกางเขนเพราะข้อหากบฏ หาใช่เพราะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาแต่ประการใดไม่
    ทุกวันนี้ ปัญหาของบรรดาอัครสาวกก็ยังคงเป็นปัญหาของเราอยู่ !
    พวกเราบางคน “สร้าง” พระเยซูเจ้าขึ้นมาเองตามที่เราอยากให้เป็น  พระเยซูของเราอาจดูเคร่งครัดเรื่องกฎเกณฑ์และความผิดทางเพศ  แต่กลับหย่อนยานเรื่องความรักและการรับใช้เพื่อนมนุษย์ จนหลายครั้งเราวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินผู้อื่นราวกับว่าไม่เคยรู้จักหรือรักพระเยซูเจ้า “ตัว(พระองค์)จริง” มาก่อนเลย
     เราแต่ละคนจึงมีหน้าที่ ไม่เพียงค้นให้พบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ใดเท่านั้น แต่ยังต้องค้นให้พบด้วยว่าพระองค์ทรงมีความหมายต่อชีวิตของเราอย่างไร !?!?!
    โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า
    1.    เป็น “ตัวเราเอง” ที่ต้องค้นหาพระองค์ให้พบ
        หลังจากบรรดาอัครสาวกทูลพระเยซูเจ้าว่า ประชาชนบ้างว่าพระองค์เป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นเอลียาห์ บ้างว่าเป็นประกาศกในอดีตคนหนึ่งซึ่งกลับคืนชีพ (ลก 9:19) พระองค์ทรงยิงคำถามสำคัญทันที “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:20) ?
         แปลว่า ไม่เป็นการเพียงพอเลยที่จะรู้ว่า “ผู้อื่น” พูดหรือเขียนถึงพระองค์ว่าอย่างไร ?
         เราอาจจดจำได้หมดว่าพระคัมภีร์กล่าวถึงพระเยซูเจ้าไว้อย่างไร  เราอาจอ่านหนังสือเทวศาสตร์ทุกเล่มที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์  หรือเราอาจท่องจำสิ่งที่พระสงฆ์และครูคำสอนพูดถึงพระองค์ได้ทั้งหมด โดยที่ “ตัวเราเอง” ไม่เคยสัมผัสหรือไม่เคยดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์ของพระองค์เลยก็ได้ !
        ด้วยเหตุนี้ คริสตชนที่แท้จริงจึงต้องค้นให้พบ “ด้วยตนเอง” ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ใด  ทรงมีความรู้สึกนึกคิดและทรงมีความหมายต่อชีวิตของเราอย่างไร ?
        หากเราไม่สามารถรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง ก็เท่ากับว่าเรากำลังลดระดับศาสนาของเราให้เป็นเพียงเทพนิยายที่บรรพบุรุษของเราเล่าสืบต่อกันมา แล้วเราก็จะเล่าให้ลูกหลานของเราฟังสืบต่อกันไป !
    2.    เมื่อค้นพบพระองค์แล้ว ต้อง “นบนอบ”
     พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก” (ลก 9:22)
        ก่อนหน้านี้ พระองค์เคยตรัสคำว่า “ต้อง” หลายครั้ง เช่น “พ่อกับแม่ตามหาลูกทำไม พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ลก 2:49)
         “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าให้แก่เมืองอื่นด้วย เพราะเราถูกส่งมาก็เพื่อการนี้” (ลก 4:32)
          “วันนี้ พรุ่งนี้ และมะรืนนี้ เราจะต้องเดินทางต่อไป เพราะประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)
         “บุตรแห่งมนุษย์จำเป็นต้องรับการทรมานอย่างมาก” (ลก 17:25)
         “บุตรแห่งมนุษย์จำต้องถูกมอบในเงื้อมมือของคนบาป  จะต้องถูกตรึงกางเขนและจะกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (ลูกา 24:7)
        ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า พระเยซูเจ้าทรงมี “เป้าหมาย” ที่จะ “ต้อง” กระทำให้สำเร็จ ซึ่งเป้าหมายนั้นก็คือ “พระประสงค์ของพระบิดาเจ้า”
        หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือพระองค์ทรงนบนอบพระบิดาเจ้าและทรงน้อมรับ “พระประสงค์ของพระเจ้า” มาเป็น “พระประสงค์ของพระองค์” เอง !
        เมื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าก็เท่ากับว่า พระองค์กำลังคิดเหมือนพระเจ้า และกำลังปรารถนาเหมือนพระเจ้า !
        นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระองค์กล้าตรัสว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:9)
        ด้วยเหตุนี้ นอกจากต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าพระองค์คือใครแล้ว เรายัง “ต้อง” ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยการคิดเหมือนพระองค์ และปรารถนาเหมือนพระองค์อีกด้วย !!!

    สำหรับผู้ที่รู้จักพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริงและประสงค์จะติดตามพระองค์ พระองค์ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา” (ลก 9:23)
    1.    เลิกนึกถึงตนเอง ก็คือ ปฏิเสธตนเอง !
          เมื่อครั้งปฏิเสธพระเยซูเจ้า เปโตรพูดกับหญิงรับใช้ของมหาสมณะว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักเขา” (ลก 22:57)  เพราะฉะนั้นการปฏิเสธตนเองจึงหมายถึงการพูดว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักตนเอง”
         ปกติเรามักดำเนินชีวิตราวกับว่า “ตนเอง” สำคัญที่สุดในโลก จึงต้องทะนุถนอมและปรนเปรออย่างสุดเหวี่ยง  แต่หากเราคิดจะเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ เราต้องเลิกนึกถึงตนเอง แล้วดำเนินชีวิตราวกับว่าไม่มีตัวเราดำรงอยู่ในโลกนี้
         เพื่อจะเลิกนึกถึงตนเอง ท่านพุทธทาสภิกขุสอนให้เราละทิ้ง “ตัวกู-ของกู”
         ส่วนพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22:39)
         แปลว่าสำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว หนทางที่ดีที่สุดในการเลิกนึกถึงตนเองคือ ให้เรานึกถึง “ตัวมึง-ของมึง” มากกว่าหรืออย่างน้อยก็เท่ากับนึกถึง “ตัวกู-ของกู” !
    2.    แบกไม้กางเขนของตน 
         เมื่อพระเยซูเจ้าทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ยูดาสชาวกาลิลีได้ก่อการจลาจลบุกปล้นคลังอาวุธของโรมที่เมืองเซฟโฟริส (Sepphoris) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองนาซาเร็ธบ้านของพระองค์เพียง 6 กิโลเมตรเศษๆ  กองทัพโรมันตอบโต้ทันควันด้วยการเผาเมืองเซฟโฟริสจนราบเป็นหน้ากลอง  ชาวเมืองถูกขายเป็นทาส  ผู้ก่อการจลาจลสองพันคนถูกตรึงกางเขนเรียงรายสองข้างทาง เพื่อปรามมิให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่างอีก
         แน่นอนว่า พระเยซูเจ้าทรงเห็นหรืออย่างน้อยก็ได้รู้ซึ้งถึง “ความร้ายกาจ” ของกางเขนตั้งแต่วัยเด็กแล้ว !
     การแบกไม้กางเขนของตนจึงหมายถึงการพร้อมที่จะเผชิญหน้าและต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะ “ร้ายกาจ” เพียงใดก็ตาม
    ผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบ “สุขนิยม” ด้วยการหลบหลีกปัญหาไปวัน ๆ  หนักไม่เอา เบาไม่สู้  พวกเขาจะติดตามพระเยซูเจ้าได้อย่างไรในเมื่อพระองค์เองยังทรงเลือกหนทางของไม้กางเขน !?!
    ผู้ที่แบกไม้กางเขนของตนทุกวันจึงเป็นผู้ที่ติดตามพระองค์อย่างซื่อสัตย์  และแน่นอนว่า พระองค์จะไม่มีวันทอดทิ้งบรรดาผู้ที่ติดตามพระองค์ (มธ 28:20) แต่จะทรงประทานพลังและพระหรรษทานช่วยเหลืออย่างเกินพอ เพื่อให้พวกเขาเอาชนะปัญหาและอุปสรรคไม่ว่าจะร้ายกาจหรือหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม !
    ที่สำคัญ ยิ่งได้รับชัยชนะ เราจะยิ่งกล้าแกร่งและพร้อมสำหรับปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่า จนว่าสักวันหนึ่ง จะไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่เราจะต้องเกรงกลัวอีกต่อไป
    นี่คือ สันติสุขและความมั่นคงแท้จริงที่พระองค์ทรงนำมามอบแด่เราทุกคน !!!
    3.    ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานใหม่
     พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดใคร่รักษาชีวิต ผู้นั้นจะต้องสูญเสียชีวิต  แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตเพราะเรา ผู้นั้นจะรักษาชีวิตได้”  (ลก 9:24)
         ฟังเผิน ๆ ดูเหมือนพระองค์จะ “พูดผิด”  แต่พระดำรัสนี้เป็นความจริงแท้และไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นได้เลยนอกจากทรงเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลง “มาตรฐานของโลก” เสียใหม่ !!
        เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวัดและเคยถามว่า “ฉันจะได้อะไรจากกลุ่ม?” จำต้องเปลี่ยนคำถามเสียใหม่เป็น “ฉันจะให้อะไรแก่กลุ่มได้บ้าง?”
         เมื่อขับรถผ่านคนประสบอุบัติเหตุถูกรถชน เราเคยถามกันว่า “ฉันจะทำอย่างไรดีจึงจะปลอดภัย?”  บัดนี้เราต้องถามใหม่ว่า “ฉันจะทำอะไรดีจึงจะถูกต้อง?”
        หรือบางคนเคยถามว่า “มาฟังมิสซาหลังเทศน์ถือว่าขาดวัดหรือไม่?” เห็นทีจะต้องถามตัวเองใหม่ว่า “นับจากนี้ไป ฉันต้องมาถึงวัดก่อนเริ่มมิสซาเท่าใดจึงจะมีเวลาช่วยคุณพ่อแจกหนังสือ จัดวัด ซ้อมขับร้อง รวมทั้งเตรียมจิตใจของฉันเองเพื่อจะได้ร่วมพิธีบูชามิสซาอันสุดแสนประเสริฐ?”
        ขอให้เราระลึกถึงพระดำรัสของพระองค์อยู่เสมอว่า
         การใช้ชีวิตเพื่อตนเอง รังแต่จะทำให้ผู้อื่นลืมเลือนชีวิตของเรา...
         แต่การใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น ผลแห่งความดีของเราจะตกสู่ลูกหลานและคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร !!!