อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 14:25-33
(25)ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาตรัสกับเขาทั้งหลายว่า  (26)‘ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้  (27)ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน
(28)‘ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่  (29)มิฉะนั้นเมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า  (30)“คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้”  (31)หรือกษัตริย์ที่ทรงยกทัพไปทำสงครามกับกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง จะไม่ทรงคำนวณก่อนหรือว่า ถ้าใช้กำลังพลหนึ่งหมื่นคน จะเผชิญกับศัตรูที่มีกำลังพลสองหมื่นคนได้หรือไม่  (32)ถ้าไม่ได้  ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังอยู่ห่างไกล พระองค์จะได้ทรงส่งทูตไปเจรจาขอสันติภาพ  (33)ดังนั้น ทุกท่านที่ไม่ยอมสละทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ก็เป็นศิษย์ของเราไม่ได้



    “ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินไปกับพระเยซูเจ้า” โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม (ลก 14:25)
    พระองค์ตระหนักดีว่า ไปกรุงเยรูซาเล็มก็คือไปตายบนไม้กางเขน !
    แต่ประชาชนที่เดินตามพระองค์ไม่ได้คิดเช่นนั้น  พวกเขาคิดว่าพระองค์กำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรวบรวมกำลังพลสำหรับกอบกู้เอกราชจากโรม และนำพาชนชาติยิวให้กลับมายิ่งใหญ่เกรียงไกรดุจเดียวกับยุคสมัยของกษัตริย์ดาวิด บรรพบุรุษของพระองค์
พระองค์จึงต้องเปลี่ยนความคิดของพวกเขาด้วยการตรัสว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้   ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้เช่นเดียวกัน” (ลก 14:26-27)
หลายคนบ่นว่าพระวาจาครั้งนี้ “กระด้าง” จัง ใครจะฟังได้ ?!
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากแปลตรงตัวตามต้นฉบับภาษากรีก เราจะได้ความว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่เกลียดบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”
และเพราะมีบางคนแปลตรงตัวเช่นนี้เอง  ศาสนาคริสต์จึงตกเป็นจำเลยของสังคมในข้อหาสอนให้เกลียดชังบิดามารดาของตน
อันที่จริงนี่คือเสน่ห์ของภาษาฮีบรู ภาษากรีก และภาษาทางตะวันออกอื่น ๆ ที่นิยมพูดจาให้ “เห็นจริงเห็นจัง” มากที่สุดเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะจินตนาการได้
คำ “เกลียด” จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ผู้ฟังจินตนาการเห็นจริงเห็นจังว่า “หากผู้ใดไม่พร้อมเสียสละทุกสิ่งที่ตนรัก รวมถึงหนทางสู่อำนาจและความยิ่งใหญ่ทางโลก เพื่อมาร่วมชะตากรรมแบบเดียวกับที่พระองค์กำลังจะได้รับในกรุงเยรูซาเล็ม ผู้นั้นย่อมเป็นศิษย์ของพระองค์ไม่ได้”
คำ “เกลียด” ในที่นี้บ่งชี้ถึง “การไม่มีพันธะผูกพัน” เพื่อเราจะมีอิสระในการร่วมชะตากรรม “แบกไม้กางเขน” กับพระเยซูเจ้า  หาได้มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้ผู้หนึ่งผู้ใดเกลียดชังบิดามารดา ภรรยา บุตร หรือพี่น้องชายหญิงของตนแต่ประการใดไม่ !!!
นอกจากจะเป็นวิธีพูดเพื่อให้เห็นจริงเห็นจังแล้ว  เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ พระคัมภีร์ใช้คำ “เกลียด” เพื่อหมายถึง “รักน้อยกว่า” เท่านั้นเอง
    ตัวอย่างเห็นได้จากการใช้คำ sanē’ (ซาเน) ในภาษาฮีบรู  และ miséō (มีแซโอ) ในภาษากรีก ซึ่งต่างก็แปลว่า “เกลียด” เหมือนกัน
     กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุตรคนแรกกำหนดไว้ว่า “ถ้าชายผู้หนึ่งมีภรรยาสองคน รักคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง และทั้งสองคนคลอดบุตรชายให้เขา แต่บุตรชายคนแรกเป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (ซาเน - มีแซโอ)  เมื่อชายนั้นจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตร  เขาต้องไม่คิดว่าบุตรของภรรยาที่เขารักมีสิทธิเป็นบุตรคนแรกแทนบุตรคนแรกแท้จริงที่เป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (ซาเน - มีแซโอ)  แต่เขาต้องรับว่าบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า (ซาเน - มีแซโอ) เป็นบุตรคนแรก และต้องแบ่งทรัพย์สินให้บุตรคนแรกนี้เป็นสองเท่าของทรัพย์สินที่ให้แก่บุตรจากภรรยาที่เขารัก เพราะบุตรคนนี้เป็นผลแรกจากความหนุ่มของเขา และมีสิทธิของบุตรคนแรก” (ฉธบ 21:15-17)
หากเราแปล sanē’ (ซาเน) หรือ miséō (มีแซโอ) ตามตัวอักษรคือ “เกลียด” แทนคำว่า “รักน้อยกว่า”  ย่อมเท่ากับว่าชาวยิวถูกบังคับให้ยกทรัพย์สินถึงสองเท่าให้แก่ลูกของคนที่ตนเกลียดชัง ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นเมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้”  จึงบ่งบอกวัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
ประการแรก ให้เรา “รักผู้อื่นน้อยกว่าพระองค์” เพื่อจะเป็นอิสระจากพันธะทั้งปวงและสามารถดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ได้
ประการที่สอง ให้เรา “รักพระองค์มากกว่าผู้อื่น” ซึ่งหากฟังผ่าน ๆ ดูเหมือนจะเป็นการเห็นแก่ตัวเหลือเกิน !
แต่พระองค์ตรัสเช่นนี้ก็เพราะทรงปรารถนาดีและทรงรักเราจริง !!
เพราะความรักตามประสามนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัวเจือปนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย  คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ชายหญิงที่บอกว่ารักกันปานจะกลืนกินนั้น จริง ๆ แล้วต่างฝ่ายต่างคิดถึงความสุขและความมั่นคงของตนเองด้วยกันทั้งนั้น
ต่อเมื่อเรารักพระเยซูเจ้าเหนืออื่นใด  ความรักแบบ agapē  (อากาเป) ของพระองค์จะเปลี่ยนความรักที่เจือปนด้วยความเห็นแก่ตัวของเรา ให้เป็นความรักที่มีแต่ “ให้” และคิดคำนึงถึงความดีและความสุขสูงสุดของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง
เมื่อต่างคนต่างคิดถึงผู้อื่นก่อนเช่นนี้  ครอบครัวที่มีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางจึงมีความมั่นคง และดำรงอยู่ในความรักเป็นนิตย์ !

    อนึ่ง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดไม่แบกกางเขนของตนและติดตามเรา ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้” (ลก 14:27)  พระองค์กำลังบอกเราว่า
    ไม่ใช่ทุกคนที่เดินตามพระองค์จะเป็นศิษย์ของพระองค์ !!
     ดุจเดียวกับชาวยิวจำนวนมากที่เดินตามพระองค์ไปกรุงเยรูซาเล็มโดยไม่รู้วัตถุประสงค์ของพระองค์ และไม่พร้อมจะแบกกางเขนร่วมกับพระองค์
พวกเขาเป็นได้เพียงผู้ติดตาม แต่หาใช่ศิษย์ของพระองค์ไม่
น่าเสียดายที่ปัญหาของชาวยิวเมื่อสองพันปีก่อน  ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเราตราบจนถึงทุกวันนี้  นั่นคือ มีผู้รับศีลล้างบาปเข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรคาทอลิกจำนวนมากมายทั่วโลก  แต่มีสักกี่คนที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า ?
    ก่อนที่จะหันไปดูคนรอบข้างว่าเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า หรือเป็นเพียงผู้ผ่านการรับศีลล้างบาปเท่านั้น  เราควรตรวจสอบตนเองก่อนว่า “ได้มาตรฐานหรือไม่ ?”
    มาตรฐานในการเป็น “ศิษย์พระเยซูเจ้า” คือ “แบกกางเขน” และ “ติดตามพระองค์”
    ชาวยิวซาบซึ้งถึงความร้ายกาจของ “กางเขน” เป็นอย่างดี  เมื่อยูดาสชาวกาลิลีก่อการกบฏ  แม่ทัพโรมันชื่อวารูสได้ตรึงกางเขนชาวยิวสองพันคนเรียงรายสองข้างทางสู่แคว้นกาลิลี
    “กางเขน” คือฝันร้ายและความอัปยศอดสูอย่างยิ่งสำหรับชาวยิว
    แต่พระเยซูเจ้าทรงเลือก “กางเขน” ที่ชาวยิวถือว่าร้ายกาจและน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่งนี้เอง เพื่อบ่งบอกว่าความรักและความปรารถนาที่จะทำให้เราเป็น “วีรบุรุษ” และได้รับ “พระสิริรุ่งโรจน์” นั้น ยิ่งใหญ่ไพศาลเพียงใด !!!
    ไม่มีผู้ใดเป็น “วีรบุรุษ” หากไม่ผ่าน “สงคราม” ฉันใด  ก็ไม่มีผู้ใดได้รับ “พระสิริรุ่งโรจน์” หากไม่ผ่าน “กางเขน” ฉันนั้น
    สงครามยิ่งรุนแรง ความเป็นวีรบุรุษยิ่งมีความหมายมากขึ้นฉันใด  กางเขนยิ่งหนักและยิ่งอัปยศอดสู พระสิริรุ่งโรจน์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นฉันนั้น !
    “กางเขน” คือความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ซึ่งยิ่งต่อสู้และฟันฝ่าได้มากเท่าใด ยิ่งทำให้เราเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความทุกข์ยากแสนสาหัสมากขึ้นเท่านั้น  จนว่าจะมีสักวันหนึ่งที่เราไม่เกรงกลัวความทุกข์ยากใด ๆ อีกต่อไปแม้แต่ความตายเองก็ตาม
    นี่คือ “ความมั่นคง” สูงสุดในชีวิตของผู้เป็น “ศิษย์พระเยซูเจ้า” !!
อีกหนึ่ง “กางเขน” ใหญ่ที่ทุกคนต้องแบกคือ “อัตตา” หรือ “ตัวตน” ของเรานั่นเอง
เราต้อง “ดิ้นรนปฏิเสธ” อัตตาของเรา เพื่อเราจะมีอิสระในการ “ติดตาม” พระเยซูเจ้าซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานในการเป็นศิษย์ของพระองค์
    มีบางคนคิดว่าการติดตามพระเยซูเจ้าคือการมีกระแสเรียก จึงเป็นเรื่องของพระสงฆ์และนักบวชเท่านั้น  แต่จริง ๆ แล้วการติดตามพระองค์เป็นเรื่องของเราคริสตชนทุกคน
เพราะการติดตามพระเยซูเจ้าคือการ “ดำเนินชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้า” ซึ่งได้แก่การ “คิดเหมือนพระองค์ ปรารถนาเหมือนพระองค์ และทำเหมือนพระองค์” !
    ยิ่งดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์มากเท่าใด  อัตตาของเราจะยิ่งลดน้อยลงและพระองค์จะยิ่งครองราชย์ในตัวเราได้มากขึ้นเท่านั้น
    หากพระองค์ทรงครองราชย์ในตัวเราก็เท่ากับว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าได้รับการสถาปนาขึ้นในตัวเราแล้ว  เราเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรสวรรค์ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว !!!

    นอกจากทรงเรียกร้องให้เราเป็น “ศิษย์ของพระองค์” ไม่ใช่แค่ “เดินตามพระองค์” แล้ว  พระองค์ยังทรงเตือนเราให้ “คิดอย่างรอบคอบ” ก่อนตัดสินใจเป็นศิษย์ของพระองค์อีกด้วย
    พระองค์ตรัสว่า “ท่านที่ต้องการสร้างหอคอย จะไม่คำนวณค่าใช้จ่ายก่อนหรือว่ามีเงินพอสร้างให้เสร็จหรือไม่  มิฉะนั้นเมื่อวางรากฐานไปแล้ว แต่สร้างไม่สำเร็จ ทุกคนที่เห็นจะหัวเราะเยาะเขา พูดว่า ‘คนนี้เริ่มก่อสร้าง แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้’” (ลก 14:28-30)
    หอคอยที่พระองค์ตรัสถึงคือหอคอยในสวนองุ่น ซึ่งเจ้าของสวนนิยมสร้างไว้สำหรับเฝ้าระวังมิให้ขโมยเข้ามาขโมยผลผลิตได้
    ถ้าเริ่มต้นก่อสร้างแล้วทำไม่สำเร็จเพราะเงินหมด นอกจากจะอับอายขายขี้หน้าชาวบ้านเหมือนโครงการโอปเวลล์แล้ว พวกขโมยคงขำกลิ้งให้เจ้าของสวนต้องช้ำใจยกกำลังสองเป็นแน่
    แต่พระองค์ทรงยกอุปมาเรื่องนี้ขึ้นมาทำไม  พระองค์ไม่เต็มพระทัยให้เราเป็นศิษย์ของพระองค์กระนั้นหรือ ?
    หามิได้     พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้เพราะทรง “จริงใจ” กับเราต่างหาก !
พระองค์ไม่ประสงค์ใช้ “คำหวาน ๆ” หลอกล่อให้เราหลวมตัวมาเป็นศิษย์ของพระองค์ แต่ทรงปรารถนา “ท้าทาย” เราแบบสุด ๆ
    สิ่งที่พระองค์ต้องการบอกเราคือ “ยากนะที่จะเป็นศิษย์ของพระองค์ เพราะต้องสละทุกสิ่งที่เรารัก ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง  ดังนั้น จงคิดให้รอบคอบ”
    แต่ “รอบคอบ” ไม่ใช่ “ท้อแท้”…
เราต้องไม่ท้อแท้เพราะพระองค์ตรัสสั่งให้เรา “แบกกางเขนติดตามพระองค์” ไม่ใช่ให้เรา “แบกกางเขนตามลำพัง”
ความหมายของพระองค์ชัดเจนคือ พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเราให้แบกกางเขนหรือเผชิญหน้ากับชะตากรรมตามลำพัง  แต่จะทรงก้าวไปพร้อมกับเราทุกก้าว
    ขอเพียงเรารับคำ “ท้าทาย” และกล้าทุ่มเท “เกหมดหน้าตัก”
…เท่านั้น... !!!